การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  โรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

THE DEVELOPMENT OF COMPUTER-ASSISTEDINSTRUCTION ON THE UNIVERSAL AND SPACE IN SCIENCE FOR PRATHOMSUKSA 4 STUDENTS THE  ELEMENTARY DEMONSTATION SCHOOL OF  BANSOMDEJCHAOPRAYA RAJABHAT UNIVERSITY

 

พิมลรัตน์  ปัทมโรจน์

[email protected]

 

บทคัดย่อ

       การวิจัยครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์ 1) พัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ วิชาวิทยาศาสตร์สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80  และ 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องจักรวาลและอวกาศ วิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ผลการวิจัยสรุปว่า

       1.  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องเรื่องจักรวาลและอวกาศ วิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีคุณภาพดีและมีประสิทธิภาพ 82.89/85.86 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

       2.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01

 

ABSTRACT

       The purposes of  this research were 1) to develop the computer assised instruction on “The Universal and Space” in Science Subtance for Fourth Grade and 2)compare  the learner’s a achievement of student using computer Assisted Instruction on “The Universal and Space” in science .

 

The finding revealed  as follows:

       1. The Development of  computer  assisted  instruction  on  “The Universal and Space”  in Science  Substance  for  Fourth Grade Students at good level and the efficiency was 82.89/85.86. which was consistent with the criteria.

       2. The learning achievement after the experiment was higher significantly at .01 level.

 

บทนำ

       การจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันตามแนวของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่ง คือ ต้องการพัฒนานักเรียนให้มีความรู้  ความสามารถมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และนำความรู้ และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปใช้แก้ไขปัญหา  และแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบ  แต่จากการวิจับพบว่าในสภาพการเรียนการสอนจริงนั้น  ครูผู้สอนมักยึดเนื้อหาและยึดหนังสือแบบเรียนมากเกินไป  จึงเน้นการสอนเนื้อหามากว่าทางด้านทักษะกระบวนการต่างๆ  นอกจากนี้ยังพบอีกว่าครูผู้สอนไม่นิยมใช้กิจกรรมและเทคนิคการสอนที่หลากหลายมาประกอบกิจกรรมการสอนในแต่ละครั้ง  ทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่บรรลุวัตถุประสงค์  แม้เด็กไทยมีโอกาสเรียนวิทยาศาสตร์มานาน  แต่ไม่มีโอกาสได้ฝึกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบเสริมสร้างปัญญาอย่างถูกต้องแบบสมบูรณ์พอ  ที่จะทำให้เกิดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

       จากการสัมภาษณ์ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เกี่ยวกับการจัดการสอนในเนื้อหา เรื่อง จักรวาลและอวกาศ พบว่า นักเรียนบางส่วนไม่ค่อยเข้าใจเนื้อหาบทเรียน เนื่องจากบทเรียนเรื่องจักรวาลและอวกาศเป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนตลอดเวลา  เนื้อหาที่เป็นรูปธรรมแต่ยากต่อการสัมผัสจริง และอยู่ไกลตัวนักเรียน อีกทั้งสื่อการสอนที่มีอยู่ก็ไม่สามารถดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้ดีเท่าที่ควร การที่นักเรียนจะเรียนรู้จากหนังสือแบบเรียนเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวนักเรียนได้ทั้งหมด เช่น ไม่เห็นภาพที่ชัดเจนหรือไม่ใกล้เคียงกับของจริง ไม่เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงทิศทางโคจรของดวงดาว สี แสง เงา และสภาพแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงในอวกาศ  รวมถึงปัญหานักเรียนที่มีพื้นฐานความรู้แตกต่างกัน มีความสามารถในการรับรู้ไม่เท่าเทียมกัน ครูผู้สอนจึงไม่สามารถที่จะสอนให้นักเรียนมีความรู้รอบตัวได้เท่าเทียมกันในเวลาอันจำกัด ส่งผลให้นักเรียนบางส่วนทำคะแนนวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร  จึงได้คิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ วิธีหนึ่งที่สามารถใช้ได้ดี คือ การใช้สื่อการเรียนการสอน  ถ้ามีสื่อที่เป็นรูปธรรมที่นักเรียนสามารถนำไปศึกษาได้ด้วยตนเอง นักเรียนเหล่านี้ก็จะสามารถเข้าใจเนื้อหาของบทเรียนได้ดีมากขึ้น การบรรลุจุดประสงค์ของการเรียนรู้ก็จะประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น  พบว่า  คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถนำมาพัฒนาปรกอบการสอนได้หลากหลายวิชา  ผู้เรียนสามารถศึกษาหาความรู้ได้จากที่บ้าน  ที่โรงเรียน  หรือทุกสถานที่  ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์  ผู้เรียนสามารถเรียนได้ซ้ำๆ  หรือตามความต้องการ  และยังสอดคล้องกับความแตกต่างระหว่าบุคคล  ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ดีของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  ทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะพัฒนาคอมพิวเตอร์ช่วยสอน วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องจักรวาลและอวกาศ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

       1. เพื่อพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ วิชาวิทยาศาสตร์สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80

       2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนและหลังจากการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ  วิชาวิทยาศาสตร์

 

ขอบเขตของการวิจัย

       ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยาภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 จำนวน 2 ห้องเรียน รวม 77 คน

       กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/1  โรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยาภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553  จำนวน 39 คน 1 ห้องเรียนโดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling) โดยการจับฉลากเลือกห้อง

 

ตัวแปรที่ศึกษา

       1.  ตัวแปรต้น ได้แก่  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ  วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

       2.  ตัวแปรตาม  ได้แก่

            2.1 ประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 80/80

            2.2  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ  วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

 

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

       1. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ

       2. แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

       3. แบบประเมินคุณภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

 

การวิเคราะห์ข้อมูล

       การวิเคราะห์ผลข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละและค่าเฉลี่ย

 

สรุปผลการวิจัย 

       1.  ได้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ ที่มีคุณภาพดีและมีประสิทธิภาพ 82.89/85.86

       2.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ วิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

 

อภิปรายผล

       การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ วิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ผู้วิจัยมีประเด็น  อภิปรายจากผลการวิจัย   ดังนี้

       1.  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ มีผลการประเมินคุณภาพอยู่ในระดับดี และมีประสิทธิภาพ 82.89/85.86  ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้    ทั้งนี้เนื่องจากขั้นตอนการผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ  เริ่มจากผู้วิจัยได้ศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาที่จะนำมาผลิตโดยการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 1 หน่วยการเรียน มี 2 บทเรียน ตามลำดับความรู้   กำหนดจุดประสงค์ของการเรียนในแต่ละบทเรียน    ทำการเขียนบทและออกแบบลักษณะการดำเนินเรื่องของแต่ละบท   จากนั้นดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ   เมื่อปรับปรุงแก้ไขแล้ว  จึงนำไปทดลองตามขั้นตอน   เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน คือ  การทดลองครั้งที่  1   กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 3 คน โดยเรียนพร้อมกัน 1 คนต่อ1เครื่อง ซึ่งนักเรียนมีความพอใจและสนใจเป็นอย่างดี    ในการทดลองครั้งที่  ทดลองกับนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน   จำนวน  10   คน   เพื่อหาแนวโน้มของประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้   68/78.67   ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้    ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาปัญหาพบว่า   ปัญหาเกิดจาก สีและขนาดของตัวอักษรในบทเรียนยังไม่ค่อยชัดเจน ภาพเคลื่อนไหวเคลื่อนไหวเร็วเกินไป ภาพประกอบมีความสอดคล้องกับเนื้อหาน้อย และการบรรยายเร็วเกินไป ผู้วิจัยจึงทำการปรับปรุงบทบรรยายและภาพประกอบให้มีความชัดเจนเข้าใจง่ายขึ้น   จากนั้นทำการทดลองครั้งที่  กับนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน   จำนวน  25 คน   ซึ่งได้ประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  82.89/85.86 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80

       2.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน   ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องจักรวาลและอวกาศ เป็นการเรียนที่สอดคล้องกับทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล   ซึ่งผู้เรียนแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้ช้าเร็วแตกต่างกัน  ดังนั้น   บทเรียนนี้จะช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกพอใจ  และไม่เกิดความกดดันขณะเรียนเมื่อเรียนไม่ทันผู้อื่น   ทำให้รู้สึกผ่อนคลายในขณะที่เรียน   ส่งผลให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ยังทำให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้  และให้ความสนใจบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นพิเศษ  เนื่องจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  ประกอบไปด้วยการออกแบบหน้าจอ   เสียงบรรยาย  ภาพกราฟิกและภาพเคลื่อนไหว   ผู้วิจัยได้ทำการสังเกตระหว่างการทดลองพบว่า   ผู้เรียนที่เรียนจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีความสนใจและตั้งใจ  ที่จะเรียนรู้จากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เนื่องจากผู้เรียนสามารถทบทวนบทเรียนได้ทันที    เมื่อมีเนื้อหาที่ไม่เข้าใจหรือสงสัย   ผู้เรียนสามารถย้อนกลับมาศึกษาเนื้อหาได้ใหม่   อีกทั้งผู้เรียนยังทำแบบฝึกหัดระหว่างเรียน   แบบทดสอบ

       วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพื่อประเมินผลการเรียน   ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสทบทวนทำความเข้าใจในบทเรียนเพิ่มเติม   ทำให้ผู้เรียนไม่เกิดความเบื่อหน่ายขณะทำแบบฝึกหัดหรือแบบทดสอบ  ช่วยให้ผู้เรียนตั้งใจทำแบบฝึกหัดและแบบทดสอบมากยิ่งขึ้น

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ

       1. การเรียนด้วยคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ครูผู้สอนต้องคำนึงถึงพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์ของผู้เรียนด้วย   ผู้เรียนควรมีความรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์ในระดับเบื้องต้น

       2.  ในการผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน นอกจากจะอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์แล้ว  ครูผู้สอนจะต้องอาศัยการออกแบบด้านศิลป์และจิตวิทยาการรับรู้  จึงสามารถทำให้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีคุณภาพมากขึ้น

       3.  ในการผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ครูผู้สอนควรศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ   เพิ่มเติมเพื่อใช้สนับสนุนการสร้างสรรค์บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

       4.  เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ครูผู้สอนควรให้นักเรียนได้ศึกษาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ในช่วงที่มีการจัดการเรียนการสอนในเรื่องดังกล่าว และให้นักเรียนได้ทบทวนบทเรียนอีกครั้งหลังจากนักเรียนได้เรียนในชั้นเรียน   เพื่อเป็นการทบทวนความรู้

       5. ไม่ควรกำหนดเวลาในการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีอิสระในการใช้บทเรียน

 

กิตติกรรมประกาศ

       ขอบพระคุณคณาจารย์และเพื่อนๆพี่ๆ ทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือในเรื่องคำแนะนำ และข้อมูลสนับสนุนในการวิจัยครั้งนี้ ทำให้การวิจัยครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

 

เอกสารอ้างอิง

กิดานันท์  มลิทอง. 2543. เทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ถนอมพร  เลาหจรัสแสง. 2541. คอมพิวเตอร์ช่วยสอน. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโสตทัศนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

________. 2542. คอมพิวเตอร์ช่วยสอน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วงกมลโพรดักชั่น.

ทรงพล  เฮงพระธานี. 2546. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน. คอมพิทูเดย์,1(22) : 11-12.

ทักษิณา  สวนานนท์. 2530. คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา. กรุงเทพฯ : องค์การคุรุสภา.

บุญชม  ศรีสะอาด. 2535. การวิจัยเบื้องต้น. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ :  สุวีริยาสาส์น.

________. 2545. การวิจัยเบื้องต้น. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ:  สุวีริยาสาส์น.

ประกิจ รัตนสุวรรณ. 2525. การวัดและประเมินผลทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร.

ล้วน  สายยศและอังคณา  สายยศ. 2538. เทคนิคการวิจัยทางการศึกษา. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ :สุวีริยาสาส์น.

สนธยา  ศรีบางพลี. (กรกฎาคม-กันยายน 2542, 27(106):66.การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่สอนโดยใช้แบบฝึกกับการสอนตามคู่มือครู. วารสาร สสวท.