สรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ  การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การเรียนรู้คำศัพท์โดยใช้ปริศนาคำทาย กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  ๕ โรงเรียนเซนต์โยเซฟทิพวัล

ประเภทผลงานทางวิชาการ  งานวิจัย

ปีที่พิมพ์  ๒๕๕๔

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ   รุจิพันธุ์  โรจนานนท์   มหาบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์   มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

ผลการวิจัยพบว่า   ประสิทธิภาพโดยรวมของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  เรื่อง  การเรียนรู้คำศัพท์โดยใช้ปริศนาคำทาย  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕  โรงเรียนเซนต์โยเซฟทิพวัล  มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ ๙๑.๖๐ / ๘๙.๓๐   ในกระบวนการของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ออกแบบเน้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นสำคัญ  และสามารถทบทวนเนื้อหาได้โดยอิสระตลอดทั้งมีสิ่งจูงใจอยู่ในบทเรียนเช่น เนื้อหากระชับ   เสียงดนตรี   คำบรรยาย ภาพประกอบ  เหมาะกับวัยผู้เรียนไม่ทำให้เบื่อหน่าย เข้าใจง่าย รายละเอียดค้นคว้าได้จาก web-online ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

รศ.ดร.อำนวย    เดชชัยศรี  บรรณากร     MST: คณิต / วิทย์ / เทคโนโลยี


บทนำบทที่ 1บทที่ 2บทที่ 3บทที่ 4บทที่ 5บรรณานุกรมภาคผนวก ขภาคผนวก คไฟล์ประกอบ

การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การเรียนรู้คำศัพท์โดยใช้ปริศนาคำทายกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ

สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ โรงเรียนเซนต์โยเซฟทิพวัล

 

รุจิพันธุ์  โรจนานนท์  *

 

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1)เพื่อพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศเรื่องการเรียนรู้คำศัพท์โดยใช้ปริศนาคำทาย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้ได้ประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80(2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียน โดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศเรื่องการเรียนรู้คำศัพท์โดยใช้ ปริศนาคำทาย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่( 1)บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ วิชาภาษาอังกฤษ เรื่องการเรียนรู้คำศัพท์โดยใช้ปริศนาคำทาย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน(3) แบบประเมินคุณภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงมาตรฐานและ t-test for Dependent  Sample

ผลการวิจัยพบว่าผลการทดลองหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนโดยรวม พบว่า มีค่าเป็น 90.16 /88.10 ตอนที่ 1 ประสิทธิภาพเป็น  90.30 /89.00 ตอนที่ 2  ประสิทธิภาพเป็น  88.60 /86.00 ตอนที่ 3  ประสิทธิภาพเป็น 91.60 /89.30 แสดงว่าบทเรียนคอมพิวเตอร์ กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ทั้ง 3 ตอนมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ 80 /80

จากการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ วิชาภาษาอังกฤษ เรื่องเรียนรู้คำศัพท์โดยใช้ปริศนาคำทายพบว่าประสิทธิภาพ โดยรวมบทเรียน คือ 90.16/88.10ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ 80/80และทำให้ผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนสามารถอภิปรายผลได้ว่า

1.บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80เนื่องจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการทดลองครั้งนี้เป็นบทเรียนที่สร้างโดยผ่านขั้นตอนการสร้างที่มีระบบ ได้รับการตรวจสอบข้อเสนอแนะของอาจารย์ที่ปรึกษา ผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา รวมถึงการดำเนินการทดลองตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา

2.บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนี้เน้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เปิดโอกาสได้เรียนได้เรียนตามความสามารถของตนเองอย่างอิสระ ผู้เรียนสามารถทบทวนบทเรียนใหม่ได้เมื่อไม่เข้าใจ และใช้เวลาในการเรียนรู้ได้ตามความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้เรียนจึงไม่มีความกดดัน หรือความเครียดในขณะเรียน

3.บทเรียนคอมพิวเตอร์มีกิจกรรมที่กำหนดให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน การนำภาพและภาพเคลื่อนไหวประกอบในบทเรียน ใช้คำบรรยายและเสียงดนตรีที่เหมาะสมกับเนื้อหาและวัยของผู้เรียน  ทำให้ผู้สนใจและไม่เกิดความเบื่อหน่าย และเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย การทำแบบฝึกหัดเมื่อทำผิดจะเฉลยคำตอบที่ถูกต้อง และผู้สามารถทราบคะแนนได้ทันทีส่วนประกอบทั้งหมดนี้ทำให้บทเรียนมีความน่าสนใจและเหมาะสมสำหรับใช้ในการเรียนการสอน

4.ในการศึกษาครั้งนี้ผลการเฉลี่ยจากแบบฝึกหัดระหว่างเรียนโดยรวมแล้ว สูงกว่าผลของคะแนนเฉลี่ยแบบทดสอบหลังเรียน เด็กทำแบบฝึกหัด จากความจำที่เพิ่งเรียนจบ ทำได้คะแนนสูงกว่าการทำแบบทดสอบที่ต้องเรียนเนื้อหาย่อยแต่และส่วนจบก่อนแล้วจึงประมวลความรู้ตั้งแต่เริ่มเรียนจนจบบทเรียน เนื้อหาที่มากขึ้นและระยะเวลาหลังเรียนนานขึ้นส่งผลต่อความจำของเด็ก ทำให้ค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบทดสอบต่ำกว่าแบบฝึกหัด ซึ่งผลที่ได้สอดคล้องกับผลการวิจัยของนุสรา ทองปอนด์ ( นุสรา ทองปอนด์, 2546 ) เรื่อง การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียวิชาภาษาอังกฤษโดยใช้บทสนทนาประกอบภาพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ผลการวิจัยพบว่าบทเรียนที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 94.90/91.90

 

ขั้นเสนอแนะทั่วไป

ข้อเสนอแนะ

จากการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ วิชาภาษาอังกฤษ   เรื่องเรียนรู้คำศัพท์โดยใช้ปริศนาคำทายผู้ศึกษาค้นคว้ามีข้อเสนอแนะดังนี้

1.ควรมีการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้นให้แก่นักเรียนในระดับประถมศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมทักษะแก่เด็กเพราะคอมพิวเตอร์มีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เด็กควรได้รู้จักอุปกรณ์พื้นฐานเพื่อสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้  เมาส์ คีบอร์ดเรียนรู้การพิมพ์การปิด เปิดเครื่อง

2.นักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 มีความสามารถในการควบคุมตนเองน้อยกว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เด็กจะขาดความสนใจเนื้อหาที่มีรายละเอียดมาก และนานเกินไปทำให้เด็กเลือกที่จะผ่านบทเรียนไปโดยไม่ตั้งใจเรียนควรสร้างบทเรียนให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในบทเรียนหลากหลายกิจกรรมและแบ่งเนื้อหาเป็นตอนย่อยหลายๆตอน จะดึงความสนใจผู้เรียนได้นานทำให้ผลการเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

  1. การจัดห้องเรียนเพื่อเรียนบทเรียนคอมพิวเตอร์ควรมีระยะห่างระหว่างผู้เรียนแต่ละคนอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการรบกวนซึ่งกันและกันระหว่างเรียนและการแข่งขันกันระหว่างผู้เรียนหากเป็นไปได้ผู้เรียนรู้สึกได้ถึงความเป็นสัดส่วนที่ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว เพื่อที่จะสามารถเรียนด้วยตนเองได้อย่างอิสระ ไม่มีสิ่งแวดล้อมรบกวนสมาธิในการเรียน
  2. ผู้สอนควรนำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไปใช้เสริมใน การเรียนการสอน เพราะการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 เน้นที่การฝึกทักษะการอ่าน การเขียน และการนำไปใช้ ซึ่งบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นสื่อการเรียนการสอน ที่มีคุณสมบัติตอบสนองการฝึกทักษะให้แก่ผู้เรียนได้ ทั้งนี้ผู้สอนควรเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่ผู้เรียนด้วย

 

ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาค้นคว้า

  1. ควรมีการวิจัยและพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ในรูปแบบอื่นๆเช่นรูปแบบเกม รูปแบบฝึกทักษะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อศึกษาผลของการเรียนรู้
  2. ควรมีการเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับรูปแบบการสอนอื่นๆ เพื่อศึกษาผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
  3. ควรมีการวิจัยและพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในวิชาอื่นๆ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน