ชื่อผลงานทางวิชาการ : การสร้างองค์ประกอบแห่งการเรียนรู้ : การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย

ประเภทผลงานทางวิชาการ : บทความวิชาการจากการไปเข้าร่วม โครงการเสวนาทางวิชาการของสภามหาวิทยาลัย

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : โครงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 – 2562

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู สาขาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ผลงานบทความวิชาการนี้ ได้จากการเข้าร่วมโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง บทบาทของสภากับแนวทางการกำกับนโยบายและพัฒนามหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยฟรอนติสต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัยโรเซมไฮมด์ ประเทศเยอรมัน (Fontys University of Applied Science , Rosemheim University of Applied Science)

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : ในปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ที่ต้องใช้ความรู้และนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างความรู้ที่เข้มแข็งให้กับประเทศชาติให้ทันกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ดังนั้น มนุษย์ทุกชาติทุกศาสนาต้องมีความสามารถปรับตัวให้มีความรู้เท่าทันไม่ให้ตกอยู่ในฐานะผู้เสียเปรียบ ตลอดจนสร้างสภาพการณ์ให้คนไทยทุกคนมีสิทธิและความเสมอภาคในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

       มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันมีหน้าที่ให้การสนับสนุนส่งเสริม การพัฒนาหลักสูตรและมีระบบการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ต้องจัดและสร้าง สังคมแห่งการเรียนรู้ให้กับนิสิตนักศึกษา เพราะสังคมแห่งการเรียนรู้ต่างๆ จนสามารถสร้างองค์ความรู้ เกิดทักษะได้ ซึ่งระบบการจัดการความรู้และระบบการเรียนรู้ที่ดี มีการถ่ายทอดความรู้แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันทุกภาคส่วนได้ในสังคมทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์และเกิดภูมิปัญญา พร้อมบังเกิดความตระหนักถึงความสำคัญแห่งการเรียนรู้ของทุกคน ทุกภาคส่วนตลอดจนในสังคมโลกมีความใฝ่รู้ พร้อมที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดชีวิตจนสิ้นอายุขัย เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม ทางด้านอารมณ์ สังคมและสติปัญญาในทางที่ดีขึ้น

       การที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งการเรียนรู้บทบาทหน้าที่นั้นจัดว่าเป็นแหล่งพัฒนามนุษย์ เพราะมนุษย์สามารถพัฒนาตนเองได้ด้วยวิธีการแสวงหาความรู้อยู่เสมอ นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยยังเป็นแหล่งความรู้ที่มนุษย์สามารถมาศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ เนื่องจากมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อส่งทอดความรู้ มีเครือข่ายคอมพิวเตอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้และทำให้คนรู้จักวิธีแสวงหาความรู้และยิ่งสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้น กรณีเมื่อเกิดการเรียนรู้มากขึ้นก็สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ แล้วนำมาบูรณาการระหว่างความรู้เก่ากับความรู้ใหม่ก็จะเกิดความรู้ใหม่ ก็จะเกิดความรู้ใหม่ๆ ขึ้นอีกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เพราะเป็นวงจรต่อเนื่องที่ไม่สิ้นสุด จึงเรียกว่า “วงจรแห่งการเรียนรู้”

สรุปสาระสำคัญของบทความทางวิชาการ : บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเน้นที่ผลผลิต (Out Put) ของตนเองเป็นอันดับแรก จึงสามารถนำผลผลิตนั้นมาเป็นข้อกำหนดในการพัฒนาตนเองจากสังคมแห่งการเรียนรู้ได้ เนื่องจากสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นมาตรฐานการกล่อมเกลาบุคคลให้สามารถเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตตลอดเวลา มีผลทางเพิ่มคุณลักษณะด้านสมรรถภาพอย่างครบถ้วนให้บุคคลนั้นๆ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญของสังคมแห่งการเรียนรู้ประกอบด้วย

       1) บุคคลแห่งการเรียนรู้ เป็นบุคคลที่มีความตระหนักถึงความสำคัญ ความจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อให้มีทักษะ กระบวนการคิด การวิเคราะห์ สังเคราะห์และแก้ปัญหา มีความใฝ่รู้สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และสามารถใช้ความรู้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องอย่างมีคุณภาพตามความต้องการ ความสนใจและความถนัด

       2) แหล่งการเรียนรู้เป็นสถานที่ให้ความรู้และเพื่อให้มีแหล่งเรียนรู้ให้เพียงพอหลากหลายทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของแหล่งเรียนรู้ทุกประเภท โดยการจัดระบบเครือข่ายเชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้มีการพัฒนาทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีในสังคมให้มีลักษณะเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีศักยภาพในการบริการการเรียนรู้ มีความพร้อมอำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับศักยภาพของสังคม

       3) องค์ความรู้ มีระบบการจัดหาและรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดเก็บและค้นคว้าองค์ความรู้ได้อย่างรวดเร็ว มีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกเพราะบริบทของสังคมไทย โดยการพัฒนามาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่กับฐานความรู้ นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของบุคคล กลุ่มหรือชุมชนเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละชุมชน

       4) การจัดการความรู้เริ่มจากการพัฒนารูปแบบ การเรียนรู้ที่หลากหลาย พัฒนากลไก กระบวนการถ่ายทอดความรู้ให้ประชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้อย่างเสมอภาค พัฒนาระบบริหารจัดการ การใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการสร้างบรรยากาศเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ให้ประชาชนสามารถเข้าสู้องค์ความรู้ได้ตลอดเวลาและต้องมีการพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้จัดการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของประชน พัฒนาทักษะความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ให้สามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการใช้ความรู้เป็นฐานในการแก้ปัญหาและพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพชุมชน

       ในฐานะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีบทบาทหน้าที่จัดการเรียนรู้หรือเป็นผู้จัดการเรียนรู้ ผลิตผู้จะต้องไปจัดการเรียนรู้ จำเป็นต้องมุ่งเน้นที่ผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวของนิสิตนักศึกษา เพราะกระบวนการจัดการเรียนรู้คือ การทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นไปตามลักษณะที่สังคมยอมรับว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยจัดให้ ดังนั้นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจะมี 3 ลักษณะ ได้แก่

       1) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม หมายความว่า ก่อนการเรียนรู้และหลังการเรียนรู้จะต้องแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไปทั้งทางที่ดีและไม่ดีก็เป็นได้

       2) พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นต้องเป็นพฤติกรรมที่มีลักษณะถาวร

       3) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นจะต้องเนื่องจากประสบการณ์ ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงมาจากมูลเหตุอื่น เช่น วุฒิภาวะ ความพิการ ความคุ้นเคย จะไม่จัดว่าเป็นการเรียนรู้สืบเนื่องจากวุฒิภาวะ

       ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากเดิมไปสู่เป็นพฤติกรรมใหม่ สืบเนื่องจากประสบการณ์ การฝึกหัด ทำซ้ำๆ บ่อยๆ จนกลายเป็นพฤติกรรมถาวร จึงเรียกว่า “เกิดการเรียนรู้”

       ในการศึกษาเล่าเรียนย่อมต้องมีการประเมินผลการเรียนรู้ด้วย (Learning Assessment) หมายถึง กระบวนการที่ก่อให้เกิดสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ จะเริ่มประเมินขณะเรียนรู้ของผู้เรียน ผลการประเมินจะสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพการเรียนรู้ทั้งของผู้เรียนและประสิทธิภาพของการสอนของผู้สอนในเวลาเดียวกัน เพราะข้อมูลจากการประเมินสามารถนำไปปรับการเรียนรู้และเปลี่ยนวิธีการสอนของผู้สอนใหม่ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและเต็มศักยภาพพร้อมมีความสุข รวมทั้งสามารถกำหนดระดับคะแนนตามผลสัมฤทธิ์และระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย การประเมินการเรียนรู้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ เพื่อบ่งชี้ว่าผู้เรียนมีความรู้ ความคิด ทักษะและคุณลักษณะที่สำคัญเพียงพอหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลไปวินิจฉัยหาจุดเด่น จุดด้อยของผู้เรียนและเป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ด้วย

       ผลลัพท์ที่เกิดจากผลการเรียนรู้สามารถจำแนกได้ 4 ด้าน ได้แก่ ความดี ความรู้ ความคิดและความสามารถที่สอดคล้องกับกรอบมาตรฐาน คุณวุฒิระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะ   ด้าน คือ ด้านคุณธรรมและความเป็นพลเมือง โดยเฉพาะความฉลาดทางศีลธรรม ด้านแรงบันดาลใจและจินตนาการ ด้านความรู้เพื่อการดำรงชีวิตและศึกษาต่อ ด้านความคิดและเหตุผล ด้านทักษะ โดยเฉพาะการคำนวณ ภาษาและการสื่อสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทักษะชีวิตและอาชีพ และด้านภาวะผู้นำที่ประกอบด้วย การจัดการและควบคุมตัวเองการเป็นผู้นำและการจัดระบบงาน นอกจากนั้น ผลลัพท์จากการเรียนรู้ ยังสามารถนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานและการประเมินการเรียนรู้ หลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอนต้องให้บรรลุถึงผลลัพท์การเรียนการสอนและการจัดการกับบริบท สภาพแวดล้อมของสถานศึกษาให้เอื้อต่อการเรียนรู้และความสุขของผู้เรียนให้มากที่สุด

จุดเด่น / ความน่าสนใจจากสาระสำคัญของบทความและการนำไปใช้ประโยชน์ : จากการเข้าร่วมโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง บทบาทของสภากับแนวทางการกำกับนโยบายและพัฒนามหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยพรอนดิสต์ ของเนเธอร์แลนด์ กับมหาวิทยาลัยโรเซมไฮมด์ ของเยอรมัน (Fonty & University of Applied Science ; Resemheim University of Applied Science) นั้นพบว่ามหาวิทยาลัยของประเทศสาธารณรัฐเยอรมันนี เป็นรูปแบบที่เน้นวิธีการสอนและความรู้ในทางทฤษฎี การวิจัยและการสอนรวมอยู่ด้วยกัน จึงเรียกว่า มหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ “Full University” ที่มีการสอนทุกวิชา อาทิเช่น วิชากฎหมาย ศิลปะและมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ การบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ การฝึกอบรมครูและแพทย์ศาสตร์ จะเห็นได้ว่าโครงสร้างของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งนั้น เป็นมหาวิทยาลัย วิทยาศาสตร์ประยุกต์หลักสูตรที่ใช้จัดการเรียนรู้จะเน้นการปฏิบัติจริงมากกว่าภาคทฤษฎี จึงทำให้กระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องที่การลงมือปฏิบัติจริงตามที่ออกแบบหลักสูตรไว้ เพื่อสนองความต้องการของชีวิต ทำให้รูปแบบการศึกษาเป็นการนำมาบูรณาการระหว่างหลายสาขาวิชา มุ่งเน้นการแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย Fonty & University of Applied Science นั้นเป็นมหาวิทยาลัยก้าวหน้าทางด้าน Applied Science โดยเน้นให้นักศึกษานำหลักการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ โดยมีการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้มีการติดต่อชุมชนภายนอกหน่วยธุรกิจอุตสาหกรรมและหน่วยบริการสังคมด้านต่างๆ มีการลงทุนในการทำวิจัยกับภาคธุรกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมไปในเวลาเดียวกัน และสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นั้น มีการจัดทำแผนกลยุทธ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการ สนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาหลักสูตรและการจัดระบบการเรียนการสอนให้มีคุณภาพและยกระดับคุณภาพมาตรฐานของบัณฑิตเพื่อเข้าสู่สังคม

       จากองค์ประกอบและความสำคัญของสังคมแห่งการเรียนรู้นั้น เป็นลักษณะของหน่วยงานหรือชุมชนที่ดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องพร้อมๆ กัน เกี่ยวกับเรื่อง การอนุรักษ์บำรุงรักษา ฟื้นฟู ปกป้อง คุ้มครอง พิทักษ์ ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยหาสื่อ สืบสาน พัฒนาเผยแพร่และปลูกจิตสำนึกให้กับสมาชิกได้เรียนรู้ด้วยวิธีการผ่านผู้รู้ สื่อเทคโนโลยี สารสนเทศ แหล่งการเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและจากความรู้ต่างๆ นั้นทำให้สมาชิกสามารถสร้างความรู้สร้างทักษะและมีระบบการจัดการความรู้ที่ดีรวมทั้งสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ร่วมกันทั้งภายในและภายนอกกลุ่มสมาชิก ตลอดจนสามารถใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการเลือกและตัดสินใจแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาการดำเนินชีวิตให้มีความเหมาะสมกับสภาพของหน่วยงานหรือชุมชนนั้นๆ เพราะกระบวนการการเรียนรู้เป็นกระบวนการพัฒนาคนที่มุ่งประโยชน์ของคนเป็นหลัก เน้นกระบวนการคิดและปฏิบัติจริง โดยการเรียนรู้จากองค์ความรู้ต่างๆ ผ่านผู้รู้ สื่อ เทคโนโลยี สารสนเทศ แหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างสอดคล้องตามความสามารถ ความถนัดและความสนใจของคนนั้นๆ ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้คนมีความสุขและสามารถนำสิ่งเรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์

จุดเด่น / ความน่าสนใจของบทความทางวิชาการ : ดังสรุปเป็น 2 ประเด็น คือ

       1. กระบวนการจัดการเรียนรู้ เป็นสื่อกลางระหว่างผู้เรียนกับผู้จัดการเรียนรู้จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้เพราะการจัดการเรียนรู้ต้องทำตามระบบ มีทั้งระบบการทำงานระบบการสื่อสาร/ สื่อความหมายเพราะองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้มี 4 ส่วน คือ ผู้จัดการเรียนรู้ เนื้อหาสื่อการเรียนรู้และผู้เรียนรู้จึงเปรียบเสมือนกระบวนการ 3 เส้า เรียกว่า ไตรยางค์ การจัดการเรียนรู้ (OLE)

O = Objective จุดมุ่งหมาย

L = Learning Experience การจัดประสมการเรียนรู้

E = Evaluation การประเมินผล

แผนภูมิ ไตรยางค์การจัดการเรียนรู้

ที่มา : ไพฑูรย์ สินลารัตน์ , 2553.

จากแผนภูมิไตรยางค์การจัดการเรียนรู้สามารถวิเคราะห์จากองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้ได้ 2 แนวทาง ดังนี้

       1) มองในภาพรวม องค์ประกอบของการเรียนรู้ทั่วไป เมื่อมีการจัดการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ ต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ผู้จัดการเรียนรู้ ผู้เรียน และหลักสูตร

       2) มองในสภาพของการปฏิบัติการจัดการเรียนรู้จริงจะสมบูรณ์ได้ต้องมีองค์ประกอบครบถ้วนอย่างน้อย 7 ส่วน คือ ผู้จัดการเรียนรู้ ผู้เรียนรู้หลักสูตร จุดประสงค์การเรียนรู้ วิธีการจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ และการจัดประเมินผล

2. การจัดการเรียนรู้ต้องยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้นผู้จัดการเรียนรู้ต้องคำนึงถึง

       2.1 สมองของมนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้สูงสุด เพราะมนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ต้องอาศัยสมองและระบบประสาทสัมผัสซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ ดังนั้นผู้จัดการเรียนรู้ต้องสนใจและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนรู้และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสมองจิตใจและสุขภาพองค์รวม

       2.2 ความหลากหลายของสติปัญญา ผู้เรียนรู้แต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกันและมีรูปแบบการพัฒนาเฉพาะตัวบุคคล การจัดการเรียนรู้จึงควรจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมศักยภาพความสามารถของผู้เรียนเป็นรายบุคคล

       2.3 การเรียนรู้เกิดจากประสบการณ์ตรง แนวทางการจัดการเรียนรู้ ควรจัดให้สอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคล ลดการถ่ายทอดเนื้อหาลงบ้างและช่วยยกระดับผู้เรียนโดยการปฏิบัติทดลองด้วยตนเอง

 

การนำเนื้อหาไปใช้ประโยชน์ : จากเนื้อหาในบทความนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการพัฒนาหลักสูตรการผลิตบัณฑิตครู ในการจัดการเรียนรู้ของผู้จัดการเรียนรู้ ได้ทุกสาขาวิชาและทุกคณะวิชากล่าวคือ

       ขั้นตอนสำคัญของกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญที่สุด เพราะแต่ละหน่วยในการเรียนรู้จะประกอบด้วยขั้นตอนกางวางแผนการจัดการเรียนรู้ (Plan) ขั้นตอนการดำเนินงานจัดการเรียนรู้ (Do) ขั้นการประเมินการเรียนรู้ (Check) และขั้นตอนการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ (Action) ที่ดำเนินไปโดยต่อเนื่อง และในการจัดการเรียนรู้ทุกครั้ง ทุกเนื้อหา ต้องครบทุกขั้นตอน พร้อมรายงานผลการจัดการเรียนรู้ (Report) ซึ่งการจัดรายงานผล นิยมทำในรูปเอกสารมีแฟ้มการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้ (ดังแผนภูมิ)

แผนภูมิแสดงการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนสำคัญที่สุด

ที่มา : ศรีมงคล เทพเรณู , 2553

       ในภาคส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานสากล จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับสถาบันแห่งสังคมการเรียนรู้อย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องปรากฏในนโยบายของมหาวิทยาลัย เพราะสังคมแห่งการเรียนรู้แสดงถึงลักษณะของมหาวิทยาลัย เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่แสดงถึงลักษณะของมหาวิทยาลัยดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน เกี่ยวกับ การอนุรักษ์บำรุงรักษา ฟื้นฟู ปกป้อง คุ้มครอง พิทักษ์ ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือสืบสาน พัฒนา เผยแพร่และปลูกจิตสำนึกให้แก่สมาชิกได้เกิดการเรียนรู้ด้วยวิธีการผ่านผู้รู้ สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ แหล่งการเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและจากองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งทำให้สมาชิกสามารถสร้างองค์ความรู้สร้างทักษะและมีระบบการจัดการความรู้ที่ดี รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนสามารถใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตในสังคมแห่งการเรียนรู้ได้ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ควรมีบทบาทหน้าที่ของการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีลักษณะ ดังนี้

       1) ไม่จำกัดขนาด และสถานที่ตั้ง

       2) เน้นการจัดการเรียนรู้เป็นปัจจัยหลัก

       3) ประชาชนได้รับโอกาสการพัฒนา (Key Individuals)

       4) สถาบันทางสังคมในพื้นที่เป็นตัวหลักในการริเริ่ม / ดำเนินการ (Key Institutions)

       5) มีกลุ่มภาคประชาชนเป็นแกนกลาง (Core Groups) เพื่อรวมตัวกันจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชน

       6) มีการพัฒนานวัตกรรมและระบบการเรียนรู้

       7) มีภาคีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

       8) การริเริ่ม / การเปลี่ยนแปลงมีอยู่ตลอดเวลา

       9) สถานศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแห่งการเรียนรู้

       10) มีความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ของบุคคลและชุมชนร่วมกัน

       ทั้ง 10 ข้อดังกล่าวผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกภาคส่วนประกอบด้วย คณาจารย์ พนักงานบุคลากร ฯลฯ มีส่วนทำให้เกิดขึ้นได้ และมีส่วนสร้างมาตรฐานเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ทั้งนั้น ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่ที่นโยบายของมหาวิทยาลัย

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร