ชื่อผลงานทางวิชาการ : สังคมไทยสังคมโลก (Thai and Global Society)

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการเรียนวิชา สังคมไทยสังคมโลก

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : วิชาการศึกษาทั่วไป สอนโดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางระพีพรรณ ภู่ผกาพันธ์พงษ์ ตัณฑรัตน์ และคณะ อาจารย์สังกัดภาควิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะกรรมการวิชาสังคมไทยและสังคมโลก

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : โลกาภิวัตน์ คือ การแพร่กระจายไปทั่วโลกประชาคมไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใดของโลก สามารถรับรู้สัมพันธ์หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง เพราะการพัฒนาระบบสารสนเทศ การเกิดของโลกาภิวัตน์จากการรื้อทิ้งระบบเก่า สร้างระบบและระเบียบโลกใหม่ เป็นช่วงของการขยายตัวของคลื่น 3 ลูก เนื่องจากการค้นพบโลกใหม่ ล่าเมืองขึ้นและขยายตัวของระบบตลาด

       คลื่นลูกที่หนึ่ง : สังคมเกษตรกรรม ปฏิวัติทางการเกษตร ไปสู่อุตสาหกรรม คิดค้นประดิษฐ์ปืนและปืนใหญ่ ก่อให้เกิดสงครามทางการค้า ค้นพบโลกใหม่ เกิดการขยายตัวของตลาด

       คลื่นลูกที่สอง : สังคมอุตสาหกรรม ปลายศตวรรษที่ 18 – 19 เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เกิดโรงงานขนาดใหญ่ผลิตสินค้าจำนวนมาก ส่งผลให้ปรับปรุงและขยายเส้นทางการคมนาคมขนส่ง ทางรถไฟ ถนน สะพาน ขุดคลองเชื่อม พัฒนาการเดินเรือ ฯลฯ เป็นต้น ทำให้ผู้คนที่อยู่ห่างไกลสามารถเดินทางติดต่อสื่อสารกันรวดเร็ว สังคมโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่คลื่นลูกที่ 3

       คลื่นลูกที่สาม : สังคมแห่งเทคโนโลยีระดับสูงเป็นยุคที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก พัฒนาด้านคอมพิวเตอร์และอิเลคทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายรวดเร็ว มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายและส่งอิทธิพลต่อกัน

       สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคสมัยทั้งด้านวิทยาการด้านการแพทย์ การพิมพ์ การศึกษาและการใช้ภาษาอังกฤษ สังคมไทยมีวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ทั้งในเมืองและชนบท อดีตถึงปัจจุบัน ลักษณะสังคมไทยเป็นสังคมใหญ่มีการเจริญก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง สภาพสังคมไทยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบเศรษฐกิจ สังคมเมืองใหญ่และเมืองหลวงมีการพาณิชย์และอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

       วัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของสมาชิกในสังคมและความเจริญของประเทศชาติ การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมไทยตามกระแสโลกาภิวัตน์ ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณีนิยมเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมสากล ความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีทันสมัยและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ เป็นต้น การศึกษาเศรษฐกิจประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคเศรษฐกิจสยามระบบดั้งเดิม ก่อน พ.ศ. 2398 ยุคเศรษฐกิจระบบใหม่ หลังพ.ศ. 2398 – 2504 และยุคเศรษฐกิจไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2504

       เศรษฐกิจสยามเคลื่อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเงินตราหรือระบบเศรษฐกิจแบบการค้าเสรีหลังจากการทำสัญญาเบาริ่ง โดยมีสาระสำคัญ คือ การวางรากฐานระบบการค้าเสรีทั่วประเทศ ส่งเสริมให้นายทุนต่างชาติเข้ามาค้าขายและเข้ามาลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น จึงกล่าวว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมมาเป็นเศรษฐกิจแบบเงินตรา (Money Economy) ส่งผลกระทบต่อประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ตามอย่างตะวันตกอยู่ในฐานะประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบพึ่งพาซึ่งต้องรับความช่วยเหลือโดยเฉพาะเงินทุนจากภายนอก ระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีกระบวนการการจัดสรรทรัพยากรปัจจัยการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ระบบเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้นจากความพยายามของสังคม จึงมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละสังคม ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันมาก ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมและระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมบังคับ

       สังคมโลกด้านการเมือง ในตะวันออกกลางกำลังมีความพยายามผลักดันให้เกิดสันติภาพในแอฟริกาใต้ แต่หลายประเทศก็ยังมีสงครามกลางเมือง จึงทำให้การมองอนาคตข้างหน้าเป็นไปได้ยาก จึงเกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชนชาติต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นสหภาพโซเวียต เนื่องจากสหภาพโซเวียตเน้นการปรับปรุงแก้ไขปัญหาภายในประเทศ ในลักษณะให้ความร่วมมือในกิจการระหว่างประเทศ แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างรวดเร็วเพราะเกิดปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ การอุบัติขึ้นของปัญหาที่ส่งผลกะทบทั่วโลก เช่น การก่อการร้าย สถานการณ์ยาเสพติดระหว่างประเทศ ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นต้น

       อนาคตของสังคมโลกด้านการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงไปจากระบบที่เป็นอยู่ก่อนหน้านี้มากจึงเป็นพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะเด่นของระบบระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจ การค้าและการเงินระหว่างประเทศไร้พรมแดนและสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศอภิมหาอำนาจทางทหารเพียงประเทศเดียวในโลก ฯลฯ เป็นต้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประเทศต่างๆ เกี่ยวข้องกันมากขึ้นทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และอยู่ในรูปของความร่วมมือระหว่างกัน จึงเกิดองค์การระหว่างประเทศ คือ สมาคมของรัฐที่ตั้งขึ้นมาโดยความตกลงระหว่างรัฐสมาชิกทั้งหลาย ให้หลักประกันในความร่วมมือและมีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ มี 2 ประเภท คือ องค์การระหว่างประเทศที่มีลักษณะสากลกับองค์การะหว่างประเทศในระดับภูมิภาค

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : ลักษณะสำคัญของสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ มีลักษณะ ดังนี้ คือ

       1. การใช้คอมพิวเตอร์เป็นกลไกสำคัญ

       2. การแพร่กระจายและเข้าถึง

       3. การเพิ่มขึ้นของแรงงานด้านข่าวสาร

       4. บทบาทและความสำคัญของสถาบันวิจัยและพัฒนา

       5. ระบบเศรษฐกิจประสานเป็นหนึ่งเดียว

       6. ชุมชนมนุษย์มีความใกล้ชิดกัน

       7. พฤติกรรมทางการเมือง

       สังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์มีสภาพ คือ สังคมที่สหรัฐอเมริกามีบทบาทนำโดยเน้น 4 เรื่อง ได้แก่ การปกครองแบบประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน การค้าเสรีและการรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับสังคมฐานความรู้ ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ การพัฒนาเทคโนโลยีคมนาคม และการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ สังคมที่มีวัฒนธรรมสากลและพหุวัฒนธรรม ในยุคโลกาภิวัตน์ประชาชนมีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงกลายเป็นพหุวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีสังคมไซเบอร์หรืออภิมิติหรือชุมชนออนไลน์ คือ เปลี่ยนรูปไปจากเดิม ส่วนสังคมเสมือนจริง ยุคโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดสถาบันแบบใหม่ เช่น ชุมชนอากาศหรือโทรคมนาคมและสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน

       สังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์มีผลทำให้วิทยาการสมัยใหม่เข้ามาสู่ไทยมากขึ้น ได้แก่ วิทยาการด้านการแพทย์ การพิมพ์ การศึกษาและการใช้ภาษาอังกฤษ มีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่สำคัญ ในสมัยรัชการที่ 5 ทรงตราพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร ประกาศเลิกทาสและระบบไพร่และพัฒนาบ้านเมือง เศรษฐกิจและสังคม สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญคือ กฎหมายสูงสุดในการพัฒนาประเทศ มีวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ทั้งในเมืองและชนบท ประเทศไทยทำการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544)  เศรษฐกิจอยู่ในระดับดีแต่สังคมมีปัญหา เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้นชนชาติไทยมีการแผ่กระจายทั่วไปในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงคาบสมุทรทางภาคใต้

       ลักษณะสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม พิจารณาจากวิวัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจและสภาพที่ตั้งของประเทศ เพราะพื้นฐานของสังคมไทยพิจารณาทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจพบว่ามีความสัมพันธ์กับสังคมชนบท พื้นที่ทั่วไปของสังคมชนบทจะอยู่นอกเขตเมืองมีพื้นที่ผืนใหญ่ต่อเนื่องกันห้อมล้อมด้วยเขตเมืองประกอบด้วย กลุ่มสังคมชนบทในอดีตกับกลุ่มสังคมชนบท ในปัจจุบันสำหรับสังคมเมืองแตกต่างจากสังคมชนบท โดยเฉพาะจำนวนของกลุ่ม ประชากรหรืออาณาเขตชุมชนเมืองมากกว่าชุมชนชนบท มีความเจริญทางวัตถุ โดยเฉพาะในปัจจุบันกลุ่มสังคมเมืองมีลักษณะ 3 ประการ คือ ทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองและทางสังคม สถาบันทางสังคมในสังคมไทย เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันการปกครองและสถาบันศาสนา เป็นต้น

       สาเหตุการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมมาจากสาเหตุสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ทางประชากรทางระบบชนชั้น ฯลฯ เป็นต้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเกิดจากสังคมอุตสาหกรรม ฯลฯ เป็นต้น เพราะสภาวการณ์แห่งยุคโลกาภิวัตน์ส่งผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพราะความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การสื่อสารที่รวดเร็ว วัฒนธรรม คือ ผลรวมของระบบความรู้ ความเชื่อ ศิลปะจริยธรรม กฎหมาย ประเพณี ตลอดจนความสามารถและอุปนิสัยต่างๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเป็นสมาชิกของสังคม วัฒนธรรมมี 2 กลุ่ม ได้แก่ การแบ่งตามสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยา มี 2 ประเภท คือ วัฒนธรรมทางวัตถุกับไม่ใช่วัตถุ แบ่งตามการจัดประเภทตามเนื้อหามี 4 ประเภท คือ คติธรรม เนติธรรม สหธรรมและวัตถุธรรม พื้นฐานที่สำคัญของวัฒนธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมเน้นความคิดร่วม เป็นสิ่งที่มนุษย์เรียนรู้และเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ ฯลฯ เป็นต้น เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยเกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในการจัดสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางสังคมได้อย่างกลมกลืนสะท้อนให้เห็นคุณงามความดีของการดำรงชีวิต เช่น สังคมไทยยกย่องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ เป็นต้น

       เศรษฐกิจประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคที่ 1 เศรษฐกิจสยามระบบดั้งเดิม ก่อน พ.ศ 2398 ยุคที่ 2 เศรษฐกิจระบบใหม่หลัง พ.ศ. 2398 – 2504 และยุคที่ 3 เศรษฐกิจไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2504 สถานการณ์เศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2541 – ปัจจุบัน มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับดูจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับค่อนข้างทรงตัว สรุปว่าเศรษฐกิจ พ.ศ. 2550 จะยังขยายตัวได้และมีเสถียรภาพและจะเห็นว่าภาคเกษตรกรรมเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะประชากรส่วนใหญ่ของประเทศดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการผลิตภาคเกษตรกรรมเสมอมา แนวคิดเศรษฐกิจพอพียงจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้ดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน สามารถเลี้ยงตนเองได้และสร้างความสามัคคีภายในสังคม หลักการเศรษฐกิจพอเพียงยึดความประหยัด ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพและหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์ยากด้วยการพึ่งตนเอง

       ระบบเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นจากความพยายามของสังคมโลกที่จะต้องต่อสู้เอาชนะความขาดแคลน ปัจจุบันมีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม (ทุนนิยม) ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมบังคับ และระบบเศรษฐกิจแบบผสม ระบบเสรีการเงินและระเบียบการค้าโลก ปัจจุบันประเทศต่างๆ มีนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องสัมพันธ์กันเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ มี 2 ชนิด คือ นโยบายการค้าแบบเสรีและนโยบายการค้าคุ้มกัน ในแต่ละประเทศพยายามมีมาตรการต่างๆ ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในลักษณะที่ไม่ร่วมมือกัน แต่แสวงหาประโยชน์เข้าสู่ประเทศตนอย่างเดียว ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า จึงมีการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เช่น จัดตั้งธนาคารโลก (World Bank) จัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF)  จัดตั้งองค์กรการค้าระหว่างประเทศ (General Agreement on Tariffs and Trade : GATT)

       การเมืองการปกครองของไทยมีประวัติศาสตร์และความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยสุโขทัยปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบกฎหมายมีศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญไทยและสมัยอยุธยามีความมั่นคง รุ่งเรืองมาก ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมือนกัน กฎหมายเลียนแบบจากขอมและมอญ กฎหมายว่าด้วย ศักดินา ฯลฯ เป็นต้น สำหรับสมัยปัจจุบันมีลักษณะการปกครองจากหลักการ 5 ประการ คือ หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หลักสิทธิเสรีภาพ หลักความเสมอภาค หลักกฎหมายและหลักเสียงข้างมาก โครงสร้างทางการเมืองการปกครองมีองค์กรหลัก คือ อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา อำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจฝ่ายตุลาการหรือศาล

จุดเด่น/ความน่าสนใจจากเอกสารประกอบการสอน : สาระในแต่ละบทมีจุดเด่นที่น่าสนใจแต่ละบทแตกต่างกัน อาทิเช่น

       ประเด็นที่ 1 สภาพสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ แต่ละยุคมีปัญหาและแนวทางแก้ไขแตกต่างกันทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งปรากฏมีปัญหาเกิดมากมาย เช่น ปัญหาการเพิ่มของประชากรรวดเร็ว ผลกระทบเกิดปัญหาตามมา เช่น การขาดแคลนอาหาร การแบ่งปันทรัพยากร ฯลฯ เป็นต้น

       แนวทางแก้ปัญหา องค์การสหประชาชาติได้ดำเนินการหลายวิธี เช่น การวางแผนครอบครัว การให้ศึกษาและการใช้มาตรการทางกฎหมาย เป็นต้น

       นอกจากนั้นยังเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก ได้แก่ สิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิผู้ลี้ภัย ฯลฯ เป็นต้น เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา ในเมียมมาร์ เป็นต้น

       แนวทางการแก้ไขปัญหา องค์การสหประชาชาติจะพยายามจะแก้ไขแต่ไม่ได้ผล สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายกดดันเมียนมาร์ให้ปฏิรูประบบการปกครองแบบประชาธิปไตย และต่อต้านไม่ให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศปล่อยเงินกู้หรือช่วยเหลือด้านเทคนิคใหม่ๆ ตลอดห้ามบริษัทเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ด้วย

       ประเด็นที่ 2 ความร่วมมือและความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พบว่าประเทศต่างๆ มีความพยายามที่จะรวมตัวกันเพื่อการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศมีความเสมอภาคกัน คือ การรวมกลุ่มแบบการค้าเสรี รวมกลุ่มแบบสหภาพศุลกากร รวมกลุ่มแบบตลาดร่วม และรวมกลุ่มแบบสหภาพเศรษฐกิจ

       สำหรับประเทศไทยรวมกลุ่มเศรษฐกิจเป็นสมาชิกได้แก่ 1) กลุ่มอาเซียนที่พัฒนาการค้าเสรีอาเซียน 2) กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิค

       ประเด็นที่ 3 ประเทศไทยกับองค์การสหประชาชาติ สำหรับการเข้าเป็นสมาชิกของไทยอันดับที่ 55 ผลการเป็นสมาชิกในด้านสังคมได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพที่เข้ามาพักพิงในประเทศ และมีการพัฒนามาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและส่งเสริมและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนภายในประเทศ รวมทั้งให้ความคุ้มครองแก่กลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด เช่น เด็กและสตรี

อื่นๆ ตามความเหมาะสมและการนำไปใช้ประโยชน์จากเนื้อหาสาระ : พบว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิตประจำวันและการนำไปเป็นพื้นฐานการศึกษาต่อได้ทุกสาขาวิชา โดยเฉพาะในปัจจุบันเป็นประชาคมอาเซียน พบว่าผลงานด้านเศรษฐกิจมีการดำเนินงานหลายประการ ดังนี้

       1. มีความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรม มีการจัดตั้งโครงการอุตสาหกรรมร่วมของอาเซียน ปัจจุบันจะมีแรงงานในอาเซียนเข้ามาทำงานในประเทศไทย ช่วยให้ด้านอุตสาหกรรมไม่หยุดชะงักลง กรณีขาดแคลนแรงงานด้วย

       2. ความร่วมมือด้านการค้า มีการให้สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างภาคีอาเซียน 2 ลักษณะ คือ ให้สิทธิพิเศษด้านภาษีอากร โดยการลดอากรขาเข้าระหว่างกันในอัตราต่ำกว่าปกติกับการให้สิทธิพิเศษทางด้านที่มีใช่ภาษีศุลกากร เช่น การทำสัญญาซื้อขายระยะยาว การให้การสนับสนุนด้านการเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร