ชื่อผลงานทางวิชาการ : การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ (Learning Measurement and Evaluation)

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือประกอบการเรียนรู้วิชาพื้นฐานของหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขาวิชาการประเมินผลและการวิจัยทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : ดร.อัครเดช เกตฉ่ำ และคณะ อาจารย์สาขาวิชาการประเมินผลและวิจัยทางการศึกษา คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : การทดสอบ หมายถึง กระบวนการใช้เครื่องมือชนิดหนึ่งในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อวัดพฤติกรรมของมนุษย์ออกมาเป็นตัวเลข เช่น การตรวจสอบความสามารถในการเรียน

       การวัดผล หมายถึง กระบวนการหรือวิธีการในการกำหนดตัวเลขให้กับคุณลักษณะต่างๆ ของคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่างๆ อย่างมีกฎเกณฑ์ คือ จะต้องดำเนินการอย่างมีขั้นตอน เป็นระเบียบแบบแผน โดยมีเครื่องมือช่วยวัด ซึ่งจะทำให้ตัวเลขใช้แทนลักษณะของสิ่งที่เราต้องการ

       การประเมินผล หมายถึง การนำเอาผลจากการวัดหลายๆ ครั้งมาสรุป ตีราคา คุณภาพของผู้เรียนอย่างมีหลักเกณฑ์ว่า สูง ต่ำ ดี เลว อย่างไร

       หลักของการวัดผลการศึกษา ได้แก่

       1. กำหนดวัตถุประสงค์การวัดให้ชัดเจน

       2. วัดให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

       3. เลือกเครื่องมือให้เหมาะสมกับ 1 และ 2

       4. ใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพเชื่อถือได้

       5. มีความยุติธรรมในการวัด

       6. แปลผลอย่างถูกต้อง

       7. นำผลที่วัดได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า

       เครื่องมือที่ใช้ในการวัดการศึกษา มีหลายชนิดแต่ละชนิดต่างก็มีความเหมาะสมกับการวัดแตกต่างกัน ประกอบด้วย

       1. การทดสอบ (Testing)

       2. แบบสอบถาม (Questionnaires)

       3. แบบสำรวจ (Checkists)

       4. มาตรประมาณค่า (Rating Scale)

       5. การสังเกต (Observation)

       6. การสัมภาษณ์ (Interview)

       7. การบันทึก (Records)

       8. สังคมมิติ (Sociometry)

       9. การศึกษารายกรณี (Case Study)

       10. การให้สร้างจินตนาการ (Projective Technique)

ประเภทของแบบทดสอบ มีดังต่อไปนี้

       1. แบ่งโดยใช้วิธีตอบเป็นเกณฑ์ ประกอบด้วยแบบทดสอบเขียนตอบ (Essay Test) แบบทดสอบปรนัย (Objective Test) และแบบทดสอบให้ปฏิบัติ (Performance Test)

       2. แบ่งโดยใช้วิธีดำเนินการสอบเป็นเกณฑ์ มี 6 ชนิด คือ แบบทดสอบรายบุคคล เป็นกลุ่ม วัดความเร็ว วัดความสามารถสูงสุด ข้อเขียนและปากเปล่า

       3. แบ่งโดยใช้สิ่งที่ต้องการวัดเป็นเกณฑ์ มี 5 ประเภท ได้แก่ วัดผลสัมฤทธิ์ ความถนัด วัดบุคลิกภาพและเจตคติ

       คุณลักษณะที่ดีของแบบทดสอบ ต้องประกอบด้วยความยาก อำนาจจำแนก ความเชื่อมั่นหรือความเชื่อถือได้ ความเที่ยงตรง ความเป็นปรนัย ความยุติธรรม สามารถนำไปใช้ได้ดี ถามลึก จำเพาะเจาะจง ยั่วยุและประสิทธิภาพ สำหรับความเที่ยงตรง (Validity) เป็นเรื่องราวของความต้องการหรือตั้งใจจะให้ข้อเสนอวัดอะไร ชนิดของความเที่ยงตรงมี 3 ชนิด ได้แก่ ความเที่ยงตรงตามเนื้อหา ความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างและความเที่ยงตรงเชิงสัมพันธ์กับเกณฑ์

       สถิติเบื้องต้นสำหรับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ผู้ประเมินต้องเข้าใจวิธีการและเลือกสถิติที่เหมาะสมใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการประเมิน การวัดแนวโน้มสู่ส่วนกลางเป็นการหาค่าสถิติเพื่อบอกลักษณะที่เป็นตัวแทนของข้อมูล ค่าสถิติที่นิยมใช้ได้แก่ ค่าเฉลี่ยหรือมัชฌิมเลขคณิต (Mean : ) มัธยมฐาน (Median : Mdn.) และฐานนิยม (Mode : Mo.) คะแนนมาตรฐาน (Standard Score) หมายถึง คะแนนดิบที่แปลงรูปให้มีหน่วยวัดเท่ากันเพื่อให้สามารถนำเปรียบเทียบหรือรวมกันอย่างมีความหมาย ทั้งนี้เพราะคะแนนดิบหรือคะแนนสอบแต่ละวิชาไม่สามารถนำมารวมกันหรือเปรียบเทียบกันได้ เช่น คะแนนเต็มไม่เท่ากัน เป็นต้น การแปลงคะแนนดิบเป็นคะแนนมาตรฐาน ต้องอาศัยพื้นฐานที่สำคัญ คือ ค่าเฉลี่ย () และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (s)

       การประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง เป็นการใช้เทคนิคประเมินผลหลากหลายวิธี เกณฑ์ที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาประเมินผลตามสภาพจริงนั้น ประกอบด้วย เกณฑ์ระดับคุณภาพและเกณฑ์การพิจารณาตัดสิน ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้

       1. วิเคราะห์จุดประสงค์การเรียนรู้ เป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม สามารถวัดหรือสังเกตเห็นได้ด้วยความรู้ ความเข้าใจทักษะ กระบวนการและด้านจิตใจ

       2. ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้หรือภาระงานการปฏิบัติในลักษณะผลผลิตหรือผลงาน ผลการกระทำหรือพฤติกรรมและกระบวนการ เช่น การทดลอง เป็นต้น

       3. เลือกวิธีการและเครื่องมือวัดและประเมินผล

       4. สร้างเครื่องมือและประเมินผลการเรียนรู้

              – กำหนดเกณฑ์การประเมินตามสภาพจริง

              – เกณฑ์การให้คะแนนแบบภาพรวม

              – เกณฑ์แบบแยกองค์ประกอบ

       การประเมินตามสภาพจริงนั้น ต้องใช้เทคนิคหลากหลาย ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์ การรายงานตนเอง บันทึกจากผู้เกี่ยวข้อง แบบทดสอบปฏิบัติจริง และใช้แฟ้มผลงาน

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : หนังสือการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ สามารถสรุปเป็นประเด็นดังต่อไปนี้

       ประเด็นที่ 1 ธรรมชาติของการวัดผลทางการศึกษา

       1.1 การวัดผลการศึกษา เป็นการวัดในสิ่งที่เป็นนามธรรม

       1.2 มีหน่วยการวัดไม่คงที่หรือมีความแตกต่างกัน เพราะหน่วยการวัดจะเปลี่ยนตามเครื่องมือ

       1.3 มีความคลาดเคลื่อน อาจเกิดจากเครื่องมือที่ใช้วัด

       1.4 เป็นการวัดที่ไม่สมบูรณ์ทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถวัดลักษณะต่างๆ ได้ วัดได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น เช่น วัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคำศัพท์ เป็นต้น

       1.5 เป็นงานสัมพันธ์ เพราะผลจากการวัดไม่มีความหมายในตัวเอง ต้องนำผลไปสัมพันธ์กับสิ่งอื่น เช่น คะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม เกณฑ์ที่ตั้งไว้ล่วงหน้า เป็นต้น

       ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การวัดผลทางการศึกษาจะประสบกับปัญหาและข้อยุ่งยากหลายประการ เพราะเป็นการวัดทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือมนุษย์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยากแก่การควบคุม แต่จัดว่าเป็นเครื่องมือ (Tools) หรือ วิถีทาง (Means) ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย (Ends) และมีส่วนให้ครู ผู้บริหาร ผู้เกี่ยวข้องสามารถพัฒนางานการศึกษาของเด็กให้ดีขึ้นได้

       ประเด็นที่ 2 การวัดพฤติกรรมทางการศึกษา นั้นต้องศึกษาจุดมุ่งหมายทางการศึกษาทุกวิชา เพื่อเน้นให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรม 3 ด้าน คือ

       2.1 ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) เป็นพฤติกรรมทางสมองมี 6 ขั้น ได้แก่ ความรู้ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้วิเคราะห์ การสังเคราะห์และการประเมินค่า

       2.2 ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) เป็นพฤติกรรมทางด้านจิตใจ ความรู้สึกของมนุษย์มี 5 ขั้น ได้แก่ การรับรู้ การตอบสนอง การสร้างคุณค่า การจัดระบบคุณค่าและการสร้างลักษณะนิสัย

       2.3 ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เป็นพฤติกรรมด้านทักษะในการปฏิบัติกิจกรรมมี 7 ขั้น ได้แก่ การรับรู้ การเตรียมพร้อมปฏิบัติ การตอบสนองตามแนวทางที่กำหนดให้ ความสามารถด้านกลไก การตอบสนองที่ซับซ้อน การดัดแปลงให้เหมาะสมและการริเริ่ม

       ดังนั้นผู้สอนทุกวิชาควรสอนให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมทั้ง 3 ด้าน จะเป็นด้านใดมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของแต่ละวิชาและการวัดผลก็ต้องวัดพฤติกรรมทั้ง 3 ด้านด้วยและต้องวัดให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของแต่ละวิชา

       ประเด็นที่ 3 การสร้างแบบทดสอบ ในการประเมินผลขึ้นอยู่กับประเภทของการประเมิน วัตถุประสงค์ และลักษณะของการประเมินที่แตกต่างกัน ซึ่งการประเมินมี 2 ประเภท คือ

       3.1 การสร้างแบบทดสอบแบบอิงกลุ่ม จะเป็นการวัดความสามารถทางสมอง 6 ด้าน คือ ความรู้ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์และการประเมินค่า ขั้นตอนในการวางแผนสร้างแบบทดสอบ ได้แก่

              – กำหนดวัตถุประสงค์ของการวัดว่าต้องการอะไร วัดใคร นักเรียนชั้นใด ระดับใด เป็นต้น

              – ศึกษาเนื้อหาทั้งหมดที่จะนำมาทดสอบ โดยพิจารณาจากขอบเขตของเนื้อหาที่ต้องการทดสอบ ประกอบด้วย เนื้อหาอะไร แต่ละเนื้อหามีขอบเขตอย่างไร

              – ศึกษาจุดมุ่งหมายของการสอนเนื้อหา เพื่อเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าข้อสอบนั้นเน้นพฤติกรรมด้านใด มากน้อยเพียงใด จึงสามารถวัดได้ตรงจุดมุ่งหมายของการสอน

              – สร้างตารางวิเคราะห์หลักสูตร จำเป็นมากในการวางแผนสร้างข้อสอบ และใช้เป็นแนวยึดในการเป็นข้อมูลการทดสอบ (Test Content)

       3.2 การสร้างข้อสอบแบบอิงเกณฑ์ เป็นการวัดผลตามจุดประสงค์เชิงคุณภาพ ข้อสอบจึงต้องเป็นการวัดพฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงออกได้ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ สิ่งที่ต้องพิจารณาในการวัดพฤติกรรมตามจุดประสงค์ คือ

              – พฤติกรรมต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ เมื่อวางแผนเงื่อนไขหรือมีการเร้าเสียก่อน ดังนั้นการวัดผลตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมจึงต้องเตรียมเงื่อนไขหรือสถานการณ์ที่จะทำให้พฤติกรรมนั้นขึ้นไว้ก่อนเสมอ

              – พฤติกรรมที่เกิดขึ้นนั้น คาดหวังว่าเมื่อเรียนรู้ไปได้สมควรแก่เวลาน่าจะเกิดพฤติกรรมอย่างนั้น พฤติกรรมนี้เองเป็นสิ่งที่ผู้ทำหน้าที่ต้องการวัดเพื่อดูผลการเรียนรู้ของเด็กบรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังหรือไม่

       พฤติกรรมที่คาดหวังพิจารณาแบ่งได้ 2 พวก คือ

       1. พฤติกรรมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในลำดับขั้นของการเรียนรู้พฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นในลำดับขั้นของการเรียนรู้พฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นภายหลัง เกิดการเรียนรู้ผ่านมา

       2. พฤติกรรมที่คาดหวังปลายทาง เป็นพฤติกรรมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในขั้นสุดท้าย เมื่อกระบวนการเรียนการสอนสิ้นสุดลง จะเกิดในลักษณะจุดประสงค์การเรียนการสอนหรือเป้าหมายของการเรียนการสอน

            – เกณฑ์ที่จะยอมรับพฤติกรรมต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขหรือสถานการณ์ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อให้พฤติกรรมนั้นเกิดขึ้น แต่อาจจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่แท้จริง เกิดโดยบังเอิญจึงไม่คงทนถาวร

การนำเนื้อหาจากสาระจากหนังสือเล่มนี้ไปใช้ : ในฐานะผู้สรุปเนื้อหาและอ่านเนื้อหาทั้งเล่ม พบว่า กรณีที่ผู้นำไปใช้เป็นครูผู้สอนในทุกระดับชั้น สามารถนำประโยชน์จากข้อมูลไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ เนื่องจากการวัดและประเมินผลผู้เรียนนั้นเป็นส่วนหนึ่งและขั้นตอนหนึ่งของการสอน สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สอนมาก เรียงลำดับได้ดังนี้

       1. การวัดและประเมินผลผู้เรียน ซึ่งมีวิธีหลายวิธี เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม การใช้ข้อทดสอบ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งวิธีที่ผู้สอนควรทำได้ง่ายที่สุดเพื่อดูพฤติกรรมเบื้องต้นของผู้เรียนได้ทันที คือ การสังเกต (Observation) และควรทำขณะสอนได้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง

       การสังเกตเป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์หรือพฤติกรรมของผู้เรียนขณะปรากฏ โดยอาศัยประสาทสัมผัสของผู้สังเกตโดยตรง เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยตรง ทำให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความจริง น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นของการสังเกตแต่ละครั้ง การสังเกตแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

       1. การสังเกตโดยตรง (Direct Observation) หมายถึง การที่ผู้สังเกตเข้าไปร่วมในหมู่ผู้ถูกสังเกตหรือร่วมกิจกรรมนั้นๆ โดยตรง
2. การสังเกตโดยอ้อม (Indirect Observation) หมายถึง การสังเกตที่เก็บรวบรวมข้อมูล โดยการทั้งผู้หนึ่งผู้ใดเล่าถึงพฤติกรรมของผู้ถูกสังเกต

       การสังเกตจำเป็นต้องมีการจดบันทึกและตีความหมายของพฤติกรรม บางครั้งจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ ช่วย เช่น แบบบันทึก แบบสำรวจรายการ หรือมาตรประมาณค่า การสังเกตจะได้ผลดี ผู้สังเกตต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ คือ ต้องมีความใส่ใจ (Attention) ต่อสิ่งจะสังเกต มีประสาทสัมผัส (Sensation) ที่ดีมีการับรู้ (Perception) ที่ดีและมีความคิดรวบยอด (Conception) ที่ดี คือ สามารถสรุปเรื่องราวได้อย่างถูกต้องเชื่อถือได้ สำหรับลำดับขั้นในการสังเกต ประกอบด้วย

       1. ตั้งจุดมุ่งหมาย ก่อนสังเกตทุกครั้งและจะนำผลจากการสังเกตไปใช้ประโยชน์อะไร

       2. ต้องเข้าใจพฤติกรรมที่จะสังเกตจึงจะสามารถทำการสังเกตได้ถูกต้อง

       3. ศึกษาปรากฏการณ์ของสิ่งที่จะสังเกตว่าชนิดใดมีค่าต่อการสังเกต จะได้สามารถกำหนดหัวข้อที่จะสังเกตและวิธีการสังเกตได้ถูกต้อง

       4. วางแผนการดำเนินงานโดยกำหนดระยะเวลาที่จะสังเกตพฤติกรรมให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและพฤติกรรมที่จะสังเกต

       5. เตรียมเครื่องมือที่จะใช้ในการสังเกตให้เหมาะสมกับวิธีการและพฤติกรรมที่จะสังเกต

       6. บันทึกผลการสังเกตขณะทำการสังเกต ต้องบันทึกผลการสังเกตในเครื่องมือบันทึกผลอย่างละเอียดและตรงตามความเป็นจริงทุกประการ

       7. ตีความหมายจากข้อมูลที่ได้บันทึกไว้

       8. สรุปผลจากการสังเกตหลายๆ คน หลายๆ ครั้ง เพื่อให้การสรุปผลถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร