ชื่อผลงานทางวิชาการ : ภาษาและวัฒนธรรม

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือเรียนวิชาภาษาและวัฒนธรรม

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : กลุ่มวิชาชีพครู คระครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางประณีต ม่วงนวล และคณะ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : ภาษา คือ วิธีที่มนุษย์แสดงความในใจสื่อความคิดให้ผู้อื่นเข้าใจความหมายได้ ภาษาจำแนกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ภาษาถ้อยคำ คือ ความหมายที่แสดงออกได้โดยวิธีตัวอักษรเป็นสัญญาลักษณ์ในการสื่อความหมายทางการพูดและการเขียนและภาษาท่าทางที่แสดงออกได้ โดยการแสดงอากัปกิริยา ได้แก่ สีหน้า แววตา ท่าทาง เช่น การใช้นิ้วมือในภาษาใบ้และการรำละคร เป็นต้น ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของชาติ เพราะภาษาเป็นสื่อให้ติดต่อกันและทำให้วัฒนธรรมอื่นๆ เจริญขึ้น พร้อมทั้งยังเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวคนทั้งชาติ วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์นับแต่เกิดจนตาย การใช้ภาษาอย่างมีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่แสดงออกในภาษาเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และแสวงหาความรู้ เป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน เป็นเครื่องมือในการบันทึกเป็นเครื่องมือสร้างเอกภาพของชาติและเป็นเครื่องมือช่วยจรรโลงใจระดับภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร แบ่งได้ดังนี้ ภาษาระดับพิธีการ ภาษาระดับทางการ ระดังกึ่งทางการ ไม่เป็นทางการและระดับกันเอง มนุษย์ต้องใช้ภาษาจึงเกิดความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรม อาทิเช่น ภาษาช่วยถ่ายทอดวัฒนธรรมไว้ไม่ให้สูญหาย เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตคนไทย สำหรับวัฒนธรรมไทยแสดงถึงความรุ่งเรืองในประวัติศาสตร์ประเทศเอกลักษณ์ ศักดิ์ศรีและความสามัคคี นำมาซึ่งความเป็นปึกแผ่นมั่นคง โดยเฉพาะทักษะการฟัง คือ การรับรู้เรื่องราวข่าวสารจากการได้ยิน แล้วทำความเข้าใจจนสามารถนำสารนั้นไปใช้ประโยชน์ เป็นกระบวนการสื่อสารที่มนุษย์ใช้มาก่อนทักษะอื่น เพราะการฟังมีจุดมุ่งหมายฟังเพื่อให้เกิดความรู้ ฟังเพื่อความบันเทิงและผ่อนคลาย ฟังเพื่อให้เกิดความคิดและตัดสินใจ ฟังเพื่อสร้างความเข้าใจหรือฟังความคิดเห็น ฟังเพื่อได้คติสอนใจและฟังเพื่อพัฒนาสมองและรักษาสุขภาพจิต การฟังต้องมีมารยาทเพราะเป็นวัฒนธรรมประจำชาติต้องยึดถือความถูกต้องเหมาะสม อาทิเช่น มีความตั้งใจและพร้อมที่จะฟัง มีสมาธิ คิดตามเนื้อหาที่ฟังตลอด มีใจเป็นกลาง ให้เกียรติผู้พูด บันทึกการฟังอย่างถูกต้องและหากสงสัยให้ถามผู้พูด

       ทักษะการพูด เป็นพฤติกรรมการสื่อสารโดยการถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความรู้สึกและความต้องการ การพูดจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ต่อทุกอาชีพ เสริมสร้างความเจริญก้าวหน้า การพูดแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การพูดโดยกะทันหัน การพูดโดยเตรียมมาก่อนและการอ่านจากต้นฉบับที่เตรียมไว้ ทักษะการอ่านเป็นกระบวนการพัฒนาทักษะทางการรับรู้ความหมายของคำ สัญลักษณ์ ความคิด ความรู้สึกตามเจตนารมณ์ของผู้เขียน การอ่านเป็นการรับสาร ซึ่งเกิดจากปฏิสัมพันธ์ที่สายตารับรู้ข่าวสารเป็นอักษรโดยผู้อ่านสามารถเข้าใจหน่วยงานต่างๆ ของภาษาผ่านตัวอักษรถูกต้อง เพราะการอ่าน คือ การแปลความหมายของตัวอักษรออกมาเป็นความคิดแล้วนำความคิดไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ส่วนตัวอักษรใช้สัญลักษณ์แทนคำพูด ซึ่งคำพูดเป็นเสียงใช้สื่อสาร การอ่านหนังสือหรือสิ่งตีพิมพ์แต่ละประเภท ผู้อ่านย่อมมีวิธีการอ่านแตกต่างกัน ดังนั้นลักษณะการอ่านมี 4 ประเภท คือ การอ่านแบบคราวๆ การอ่านปกติ การอ่านละเอียด ทักษะการเขียนเป็นทักษะการใช้ภาษาไทยที่สำคัญเป็นการถ่ายทอดความรู้ ความรู้สึกนึกคิด เรื่องราวประสบการณ์ต่อๆ ไปสู่ผู้อื่น โดยใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือ การเขียนภาษาไทยอย่างถูกต้องมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย โดยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งทางการสื่อสาร การนำไปใช้เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างเสริมและพัฒนาทั้งด้านวิชาความรู้และอาชีพ การใช้ภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน

       ภาษาที่ใช้สื่อสารในกลุ่มประเทศอาเซียน นั้นภาษามาตรฐานที่ใช้สื่อสารกลุ่มอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นยังมีภาษาทางการ ภาษาประจำชาติของประเทศในกลุ่มอาเซียนประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาพม่า ภาษาลาว ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม ภาษามาเลย์ ภาษาฮาซาอินโดนีเซีย ภาษามาลายู บรูไน และภาษาฟิลิปปิโน

       พลวัตของภาษาไทยและภาษาต่างประเทศกับสังคม วัฒนธรรมนั้นจะพบว่า ยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงภาษาเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารของมนุษย์ทางสังคม เนื่องจากมนุษย์ทุกชาติทุกสังคมมีศักยภาพติดต่อสื่อสารแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นภาษาจึงเป็นรากฐานที่สำคัญ คือ ทุกอย่างมาจากสังคมและวัฒนธรรมไทยรวมทั้งต่างประเทศด้วย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสังคมมนุษย์ตามลำดับ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของภาษา หมายถึง การที่ภาษาต่างยุคต่างสมัยกันจะมีรูปแบบภาษาที่แตกต่างกัน โดยมีการพัฒนามาจากการแปลภาษาจะเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงของภาษามี 4 ประเภท ได้แก่ เปลี่ยนแปลงทางเสียง ทางไวยากรณ์ คำศัพท์ เปลี่ยนแปลงความหมายและอายุด้วย

       สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นจะเกิดขึ้นกับพฤติกรรมของบุคคลในสังคม สืบเนื่องมาจากการมีความสัมพันธ์ทางสังคมต่อกันมากกว่า นอกจากนั้นยังเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการจากสภาพดั้งเดิมอยู่ด้วยกันอย่างง่ายๆ ไปสู่ขั้นสลับซับซ้อน กลายเป็นวัฏจักรของความเจริญกับความเสื่อม ซึ่งมีทฤษฎีรองรับ เช่น ทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict theory) ทฤษฎีความทันสมัย (Modernization Theory) และทฤษฎีพึ่งพา (Dependency Theory) การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นในวัฒนธรรมของประชาชาติหนึ่งๆ แต่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความต้องการ การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม เกิดขึ้นกับการเคลื่อนย้ายจากถิ่นหนึ่งไปยังแหล่งอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว การค้าขาย การเผยแพร่ศาสนา และการไปศึกษาหาความรู้ ฯลฯ เป็นต้น จะมีการทำนุวัฒนธรรมติดตัวไปด้วย พร้อมรับวัฒนธรรมจากสังคมที่ไปติดต่อกลับมา จัดว่าเป็นการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม เช่น อาหาร เครื่องมือ เครื่องใช้ ฯลฯ เป็นต้น

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : หนังสือภาษาและวัฒนธรรมเล่มนี้สามารถสรุปสาระสำคัญๆ เชิงวิชาการได้หลายหัวเรื่อง อาทิเช่น

       หัวเรื่องที่ 1. ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรม ได้แก่

          1.1 ภาษาเป็นเครื่องแสดงความเป็นชาติและวัฒนธรรมของชาติแสดงถึงความผูกพันของชนชาติเดียวกัน
1.2 ภาษาเป็นเครื่องมือแสดงปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในฐานะของผู้ส่ง ผู้รับภาษาและฐานะความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติ
1.3 ภาษาเป็นตัวแทนของพฤติกรรมและกิจกรรมที่ถ่ายทอดความเป็นสังคมของมนุษย์
1.4 ภาษาเป็นเครื่องมือทางการเมืองและกิจกรรมที่ถ่ายทอดความเป็นสังคมของมนุษย์
1.5 ภาษาเป็นเครื่องช่วยบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์จากอดีตถึงปัจจุบัน
1.6 ภาษาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สังคม

 

       หัวเรื่องที่ 2. การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ คือ 

          2.1 ทางสัญลักษณ์ (Symbols) ทั้งทางธรรมชาติและจากมนุษย์เป็นผู้สร้าง เช่น สัญญาณไฟ เป็นต้น
2.2 ทางด้านของระบบ (System) ภาษาทุกภาษามีระบบ เช่น ระบบหน่วยคำ ระบบไวยากรณ์ ฯลฯ เป็นต้น
2.3 ทางด้านอำนาจทางสังคมสะท้อนออกมาจากภาษา (The Reflection of Power in a society) เช่น อำแดง ฯลฯ เป็นต้น

 

       หัวเรื่องที่ 3. ลักษณะของวัฒนธรรม มีลักษณะเฉพาะเป็นวัฒนธรรมที่มีลักษณะเด่นหลายประการ เช่น

          3.1 การมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
3.2 การมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
3.3 อักษรไทยและภาษาไทย
3.4 ประเพณีไทย
3.5 วัฒนธรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน เช่น เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย จรรยามารยาทของคนไทยและจิตใจ

 

       หัวเรื่องที่ 4. การสืบทอดวัฒนธรรมไทยให้ดำรงไว้เป็นมรดกไทยสืบไป ต้องพิจารณาถึงพัฒนาการของวัฒนธรรมของสังคมทั่วไปและสามารถถ่ายทอดได้จากสังคมหนึ่งไปอีกสังคมหนึ่ง พัฒนาการของวัฒนธรรมมี 3 ประการ คือ

          4.1 การสะสมวัฒนธรรม จากสิ่งแวดล้อมโดยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือบอกเล่าและบันทึกวัฒนธรรม
4.2 การปรับปรุงวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการดำเนินชีวิตตามยุคสมัย โดยการเลือกสรรค์
4.3 การสืบทอดวัฒนธรรม อย่างต่อเนื่องโดยการใช้ภาษา

 

หัวเรื่องที่ 5. กระบวนการสร้างทักษะสัมพันธ์ทางภาษาเป็นกระบวนการที่เป็นขั้นตอน หรือกลวิธีสร้างกระบวนการทักษะสัมพันธ์ทางภาษา ดังนี้

          5.1 การแปลความ เกี่ยวข้องกับทักษะการอ่าน การฟัง จัดว่ามีส่วนเสริมสร้างทักษะการรับสารเป็นไปอย่างสร้างสรรค์
5.2 การถอดความ จะใช้กับบทประพันธ์ที่เป็นร้อยกรอง เรียกการถอดคำประพันธ์
5.3 การย่อความ การเก็บใจความสำคัญของเรื่องต่างๆ แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่จากสำนวนภาษาหรือข้อความ
5.4 การจับใจความสำคัญ เป็นการอ่านเข้าถึงสาระสำคัญของข้อเขียนในแง่ต่างๆ เช่น เนื้อเรื่องสำคัญ เพราะใจความสำคัญ คือ ความคิดของผู้เขียนที่แสดงไว้
5.5 การสรุปความ เป็นการอ่านต่อเนื่องจากการอ่านจับใจความสำคัญ
5.6 การขยายความ อ่านเพื่อขยายความคิดของผู้อ่านให้ลึกซึ้ง กว้างไกล จากเหตุผลประกอบ

 

หัวข้อเรื่องที่ 6. ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประกอบด้วย

          6.1 สิ่งแวดล้อมทางสรีระธรรมชาติ (Physiological Environment) เช่น แถบทะเลทรายของทวีปแอฟริกา เคยเป็นพื้นที่เขียวชอุ่มเพาะปลูกดี ต่อมาดินถูกทำลายเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ทำความเสียหายให้แก่มนุษย์
6.2 การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร (Population Change) เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมประชากรเพิ่มอย่างรวดเร็ว เพราะจากที่หนึ่งอพยพไปอีกที่หนึ่ง
6.3 การอยู่โดดเดี่ยวและการคิดต่อเกี่ยวข้อง (Isotact and Contact) สังคมใดการคมนาคมเจริญ ทันสมัยจะกลายเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนแปลง เช่น การค้นพบเส้นทางการเดินเรือ ฯลฯ เป็นต้น
6.4 โครงสร้างของสังคมและวัฒนธรรม (Structure of Society and Culture) มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น สังคมเกิดการแข่งขันกัน มีค่านิยมต่างกัน
6.5 ทัศนคติทางค่านิยม (Attitudes and Value) ช่วยให้รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นมากหรือน้อย
6.6 ความต้องการที่รับรู้ (Perceived Peers) ความต้องการรับรู้หรือมองเห็นได้ของสมาชิกในสังคม เช่น การคิดค้น การประดิษฐ์ใหม่ ฯลฯ เป็นต้น
6.7 พื้นฐานทางวัฒนธรรม (Culture Base) เมื่อมีสิ่งประดิษฐ์เกิดขึ้นจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ค่านิยมของคนแตกต่างกัน

 

หัวเรื่องที่ 7 พลวัตของภาษาไทยและภาษาต่างประเทศกับสังคมและวัฒนธรรม มีลักษณะสำคัญ ได้แก่ ลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางภาษา สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง ประเภทของการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ดังแผนภูมิ

ภาษา สื่อสาร / การใช้เสียง / การถ่ายทอดความรู้ / การถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนและสังคม

การเปลี่ยนแปลงของภาษา

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของภาษา

ประเภทของการเปลี่ยนแปลง

– ทางเสียง , ทางไวยากรณ์ , ทางคำศัพท์ , ที่ไม่มีผลกระทบต่อจำนวนคำในคลัง

– สาเหตุการเปลี่ยนแปลงทางความหมาย

– ผลการเปลี่ยนแปลงความหมาย

– ผลการเปลี่ยนแปลของภาษา

– การลู่ออกจากคำและการลู่เข้าของคำ

การเปลี่ยนแปลงความหมาย (ภาษากับอายุ)

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

ความหมายการเปลี่ยนแปลทางสังคม

– ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

– ความหมายการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

– การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม

– การล้าทางวัฒนธรรม

– ช่องว่างทางวัฒนธรรม

การสร้างสรรค์ระหว่างวัฒนธรรม

จุดเด่น / ความน่าสนใจจากสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : สาระของหนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นที่สามารถนำไปใช้ประยุกต์ใช้ได้ทั้งผู้เป็นครูและทุกอาชีพเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาการสื่อสารและวัฒนธรรม อาทิเช่น

หลักการฟังอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ได้รับความรู้เพลิดเพลิน ช่วยให้สติปัญญาเจริญงอกงามต้องมีหลักการ คือ หลักการฟังทั่วไป ต้องฝึกฝนตลอดเวลา สามารถเริ่มจากมีสมาธิในการฟัง พยายามจับประเด็นสำคัญ พิจารณาไตร่ตรองเรื่องที่ฟังด้วย หลักการฟังสารประเภทต่างๆ มี 3 ประเภท คือ เนื้อหามุ่งความรู้ ข้อเท็จจริง ต้องฟังแล้ววิเคราะห์ ตีความจากประเด็นสำคัญและทบทวนสิ่งที่ได้ฟัง และต้องพัฒนาทักษะการฟังต้องเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง ฝึกการจดบันทึกขณะฟังและสรุปใจความในขณะฟัง สำหรับหลักการฟังอย่างสร้างสรรค์นั้นต้องเลือกฟังสิ่งที่ดี เลือกสารที่จะฟังโดยการเข้าใจพื้นฐานทางภาษาก่อนและเลือกสื่อช่วยฟังอย่างเหมาะสม

       ทักษะการพูดเป็นพื้นฐานในการสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธาในบุคคล การพูดมี 3 ประเภท คือ การพูดโดยกระทันหันพูดโดยเตรียมมาก่อนและอ่านจากต้นฉบับที่เตรียมไว้ การฝึกพูดในโอกาสต่างๆ มี  3 ขั้นได้แก่

          ขั้นที่ 1 ขั้นฝึกทักษะพื้นฐานทางการพูด
ขั้นที่ 2 ขั้นเตรียมบทพูด
ขั้นที่ 3 ขั้นฝึกพูด

       ทักษะการอ่าน คือ การรับรู้ความหมายของคำ สัญลักษณ์ ความคิด และความรู้สึกตามเจตนาของผู้เรียน วัตถุประสงค์ของการอ่านได้แก่ อ่านเพื่อความรู้ เพื่อความบันเทิงเพื่อความทันสมัยและฆ่าเวลา ฯลฯ เป็นต้น  ลักษณะการอ่าน คือ การอ่านคราวๆ อ่านเร็ว อ่านปกติและอ่านละเอียด สำหรับทักษะการเขียนจำเป็นและสำคัญเพราะเป็นการถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ ความต้องการอารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียน

       ประเภทของการเปลี่ยนแปลงทางภาษาเกิดจาก

          1) การเปลี่ยนแปลงทางเสียง
2) การเปลี่ยนแปลงทางไวยากรณ์
3) การเปลี่ยนแปลงทางคำศัพท์ เช่น การสูญคำ การสร้างคำใหม่และการยืมคำ

       ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ได้แก่

          1. ทฤษฎีความขัดแย้ง เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จะเกิดขึ้นตลอดเวลาเป็นสัญลักษณ์ธรรมชาติที่มีอยู่ในระบบสังคม
2. ทฤษฎีความทันสมัย เป็นการเปลี่ยนแปลงจากสภาพสังคม ประเพณี ไปสู่สังคมสมัยใหม่ที่มีลักษณะตามอย่างสังคมที่พัฒนาแล้ว เริ่มจากสภาพล้าหลัง
3. ทฤษฎีการพึ่งพา เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เกิดจากการพัฒนาหลายด้านหลายแนวคิดประกอบกัน

       ดังนั้นวัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนแปลงเสมอ เนื่องจากความต้องการ  สามารถกำหนดจากการทำนุบำรุงส่งเสริมวัฒนธรรมให้เจริญงอกงาม คิดค้นใหม่หรือดัดแปลงของเดิมหรือเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ สภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงจากความต้องการของมนุษย์ และเกิดจากพัฒนาการความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมจากสังคมหนึ่งไปสู่สังคมหนึ่งถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่เท่าเทียมกันจะเกิดความล้าหลังทางวัฒนธรรมได้ เช่น วัฒนธรรมทางวัตถุง่ายกว่าวัฒนธรรมทางความคิด ปรัชญา ลัทธินิยมและขนบธรรมเนียมประเพณี

การนำเอาไปใช้ประโยชน์ / อื่นๆ : หนังสือเล่มนี้เนื้อหาภาษาและวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อวิถีชีวิตมนุษย์ กล่าวคือ

       วัฒนธรรมการใช้ภาษาถิ่น เป็นภาษาย่อยๆ ที่ใช้พูดจากันในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งเกิดจากการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารความหมาย ความเข้าใจกันระหว่างผู้คนที่อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นนั้นๆ แตกต่างกันไปตามบริบท ซึ่งสามารถแบ่งได้ 4 ถิ่นใหญ่ๆ ได้แก่ ภาษาถิ่นกลาง ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอีสานและภาษาถิ่นใต้

       วัฒนธรรมครอบครัว ประกอบด้วยบุคคลมาอยู่ร่วมกันจากการสมรส ผูกพันมาจากสายโลหิต เป็นต้น สมาชิกอยู่ร่วมกันภายในครัวเรือนเดียวกัน บางครั้งแยกกันอยู่ ครอบครัวเป็นหน่วยของการกระทำระหว่างกัน เช่น สามีภรรยา พ่อแม่ลูก พี่น้อง สังคมและแต่ละแห่งจะกำหนดบทบาทของแต่ละครอบครัวไว้ขึ้นอยู่กับประเพณี ครอบครัวถ่ายทอดวัฒนธรรม แบบประพฤติปฏิบัติต่อกัน

       ดังนั้น ถ้าคนในสังคมปฏิบัติและยึดถือ ย่อมก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมได้ ค่านิยมที่ควรแก้ไข ได้แก่

1. ให้ความสำคัญกับวัตถุ หรือเงินตรา
2. ยึดถือในตัวบุคคล ยกย่องผู้มีอำนาจมีตำแหน่งมีเงิน
3. รักความหรูหรา ฟุ่มเฟือย นิยมใช้สินค้ามีแบรนด์ดัง ราคาแพง
4. ไม่ตรงเวลา ขาดระเบียบวินัย ขาดความกระตือรือร้นและขาดความอดทน
5. เชื่อเรื่องโชคลาง อำนาจเหนือธรรมชาติ ชอบเล่นการพนัน
6. ขาดความเคารพผู้อาวุโส
7. นับถือวัตถุมากกว่าพระธรรมคำสั่งสอนของพระศาสดา ทำบุญเอาหน้า ทำบุญเพื่อหวังความสุขในชาติหน้า
8. นิยมตะวันตก สืบภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาของธรรมชาติจนทำให้ภาษาไทยผิดเพี้ยน
9. นิยมวัฒนธรรมการแต่งกาย ตามแฟชั่นและการบริโภคอาหารแบบตะวันตกและแบบเกาหลีญี่ปุ่น ทำให้หลงลืมละเลยอัตลักษณ์ความเป็นไทย

       เพื่อการเสริมสร้างประเทศไทยในอนาคต คนเป็นทรัพยากรที่สำคัญของธรรมชาติ ควรมีค่านิยม 12 ประการ เพื่อเป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติ เช่น กตัญญูพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ใฝ่หาความรู้หมั่นศึกษา เล่าเรียนทางตรงและทางอ้อมและรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม ฯลฯ เป็นต้น

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร