ชื่อผลงานทางวิชาการ การบัญชีเพื่อการจัดการ(Accounting Management)

ประเภทผลงานทางวิชาการ ตำรา

ปีที่พิมพ์ ปรับปรุง ปี 2557

มูลเพิ่มเติม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ
รองศาสตราจารย์ปรียานุช กิจรุ่งโรจน์เจริญ


 

การบัญชีเพื่อการจัดการ

 

   หนังสือ การบัญชีเพื่อการจัดการ เล่มนี้ ผู้เขียนได้เรียบเรียงขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาบัญชี หรือบริหารธุรกิจและการจัดการทั่วไป ที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านบัญชีมาก่อนได้เรียนและศึกษา โดยผู้เขียนได้เขียนถึงแนวคิดพื้นฐานทางบัญชีต้นทุน ต้นทุนการผลิตสินค้า การบัญชีต้นทุนงานสั่งทำ การบัญชีต้นทุนช่วงการผลิต การวิเคราะห์ปัญหาและการตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผนกำไร ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ผู้ศึกษาได้รับความรู้เกี่ยวกับบัญชีเพื่อการจัดการที่สมบูรณ์ โดยมีรายละเอียดเนื้อหา 9 บท ซึ่งแต่ละบทจะมีแบบฝึกหัด เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้ฝึกปฏิบัติ มีทักษะเพิ่มมากขึ้น ดังนี้

บทที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับบัญชีเพื่อการจัดการ

   ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่เต็มไปด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนโยบายการค้าแบบเสรี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการลงทุน เกิดการขยายตัวของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจซื้อมาขายไปหรือธุรกิจที่ให้บริการ ธุรกิจต่างๆ เหล่านี้ต้องเผชิญกับภาวการณ์แข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ธุรกิจจึงจำเป็นต้องพัฒนาและวิจัยเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนาการดำเนินงานทั้งด้านการผลิตและการขาย โดยอาศัยเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศที่เข้ามามีบทบาทต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานของธุรกิจ

   ผู้บริหารของธุรกิจซึ่งมีหน้าที่หลักในการวางแผนควบคุมและตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจในการกำหนดแนวทางในการใช้ทรัพยากรของธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด การกำหนดราคาของสินค้าและบริการ การตัดสินใจผลิตหรือไม่ผลิตสินค้าชนิดหนึ่งชนิดใด รวมทั้งการกำหนดระดับการผลิตที่เหมาะสม ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องพยายามช่วงชิงความได้เปรียบในการตัดสินใจในปัญหาต่างๆ ของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและด้วยความรวดเร็ว โดยต้องอาศัยข้อมูลที่ผู้บริหารทุกฝ่ายได้รับมาทั้งภายในและภายนอกเพื่อประกอบการพิจารณาเพื่อการตัดสินใจดังกล่าว

   ดังนั้น การตัดสินใจปัญหาต่างๆ ของผู้บริหาร จึงจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ เหมาะสม และทันต่อเหตุการณ์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจ ข้อมูลทางบัญชีในยุคปัจจุบันจึงได้ถูกปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการใช้ข้อมูล โดยมุ่งเน้นถึงการจัดทำข้อมูล

   เพื่อตอบสนองความต้องการของฝ่ายบริหาร เพื่อที่ฝ่ายบริหารจะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในการวางแผน ควบคุม และตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในบทนี้มีหัวข้อรายละเอียดประกอบด้วย ผู้ใช้ข้อมูลทางบัญชี ประเภทของข้อมูลทางบัญชี ความแตกต่างของการบัญชีการเงินและการบัญชีเพื่อการจัดการ คุณสมบัติของข้อมูลการบัญชีเพื่อการจัดการ ข้อมูลทางการบัญชีกับกระบวนการจัดการ การบริหารและการจัดการยุคใหม่

บทที่ 2 แนวความคิดเกี่ยวกับต้นทุน

   ในการดำเนินธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectives) นั้น การมีความรู้เรื่องของต้นทุน (Cost) เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารจะละเลยเสียไม่ได้ เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนจะเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ การวางแผน ควบคุมและการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร กิจการที่ให้ความสำคัญและสนใจในการบริหารต้นทุน เพื่อคำนวณหาต้นทุนที่แท้จริง การพิจารณาและบริหารต้นทุนในแง่ของการลดต้นทุนถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ เนื่องจากสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของฝ่ายบริหาร ได้แก่ การตั้งราคาขาย การให้ส่วนลดแก่ลูกค้า การลดราคา การแจกของแถม การพิจารณารับคำสั่งซื้อพิเศษ การยกเลิกผลิตสินค้าชนิดหนึ่งชนิดใด การปิดโรงงานชั่วคราว ฯลฯ เหล่านี้เป็นการวางแผนและตัดสินใจของฝ่ายบริหารที่ต้องอาศัยต้นทุนที่เกี่ยวข้อง (Relevant Costs) มาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจดังกล่าว ดังนั้น การนำความรู้ทางด้านบัญชีต้นทุนมาช่วยในการจัดทำรายงานข้อมูลทางบัญชี เพื่อการบริหารจึงเป็นสิ่งจำเป็น

   ด้วยเหตุนี้ นักบัญชีเพื่อการจัดการหรือฝ่ายบริหาร จึงจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับประเภทต้นทุน การจำแนกต้นทุน ลักษณะและความแตกต่างของต้นทุน การคำนวณต้นทุน การพิจารณาเพื่อจำแนกและรายงานข้อมูลต้นทุนที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถวางแผนตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในบทนี้ ยังมีหัวข้อเกี่ยวกับ ความหมายของต้นทุน ลักษณะการดำเนินงานของกิจการ การจำแนกประเภทต้นทุน ส่วนประกอบของต้นทุนการผลิต กระบวนการผลิตทางบัญชี วิธีการทางบัญชีต้นทุนและต้นทุนการผลิตในงบกำไรขาดทุน

บทที่ 3 การบัญชีต้นทุนงานสั่งทำ

ในการผลิตสินค้านั้น การคำนวณต้นทุนของสินค้าเป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารต้องเข้าใจถึงระบบบัญชีต้นทุน (Cost Accounting System)” ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการควบคุมต้นทุน (Cost Control) ให้มีประสิทธิภาพและสามารถประเมินผลการปฏิบัติงานของแต่ละแผนกได้ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่

ระบบบัญชีต้นทุน เป็นวิธีการรวบรวม จดบันทึก และสะสมต้นทุน เพื่อคำนวณหาต้นทุนของสินค้า (Product Costing) และต้นทุนต่อหน่วย ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดราคาขายของสินค้าได้อย่างมีเหตุผล นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถตัดสินใจในการผลิตหรือยกเลิกสินค้าชนิดหนึ่งชนิดใด

ในการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรมโดยทั่วไป สามารถแบ่งลักษณะการผลิตได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

1. การผลิตสินค้าตามคำสั่งของลูกค้า (Job-order) เป็นการผลิตที่ผู้ผลิตจะผลิตสินค้าที่มีลักษณะ รูปแบบ ตามที่ลูกค้าต้องการหรือที่สั่งให้ผลิต ทั้งนี้เพื่อให้ทราบว่าสินค้าที่ผลิตแต่ละชนิดหรือแต่ละงาน (Job) มีต้นทุนเท่าไร ลักษณะการบันทึกข้อมูลต้นทุนที่แยกงานแต่ละงานนี้ เรียกว่า ระบบต้นทุนงานหรือ ระบบต้นทุนงานสั่งทำ(Job-order Costing System)”

2. การผลิตสินค้าแบบต่อเนื่อง (Process Cost) เป็นการผลิตสินค้าชนิดเดียวหรือหลายชนิด ด้วยปริมาณครั้งละมากๆ โดยผลิตต่อเนื่องกันตามมาตรฐานการผลิต ซึ่งอาจผ่านกระบวนการผลิตแผนกเดียวหรือหลายแผนก สินค้าที่ผลิตจะมีต้นทุนต่อหน่วยเท่ากัน เนื่องจากสินค้าทุกหน่วยจะมีส่วนประกอบการผลิต ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบทางตรง แรงงานทางตรง และค่าใช้จ่ายการผลิตที่เหมือนกันและเท่ากัน เหตุนี้การรวบรวมและบันทึกต้นทุนจึงไม่จำเป็นต้องแยกบันทึกต้นทุนต่อหน่วย แต่สามารถทราบต้นทุนต่อหน่วยได้จาก การนำต้นทุนรวมของสินค้าสำเร็จรูปหารด้วยจำนวนหน่วยที่ผลิตได้ทั้งหมด วิธีการบันทึกบัญชีสำหรับกิจการที่ผลิตสินค้าแบบต่อเนื่องนี้ เรียกว่า ระบบต้นทุนงานช่วง (Process Costing System)”

รูปที่ 3.1 ระบบบัญชีต้นทุน

 

บทที่ 4 การบัญชีต้นทุนช่วงการผลิต

ประกอบด้วยหัวข้อ คือ ระบบต้นทุนช่วงการผลิตลักษณะของการผลิตที่ควรใช้ระบบต้นทุนช่วงการผลิต ชนิดของระบบต้นทุนช่วงการผลิต การสะสมต้นทุนตามระบบต้นทุนช่วงการผลิส่วนประกอบต้นทุนช่วงการผลิต หน่วยเทียบสำเร็จรูป การจัดทำรายงานต้นทุนช่วงการผลิต

บทที่ 5 การบัญชีต้นทุนมาตรฐาน

ต้นทุนมาตรฐาน(Standard Costs) คือ ต้นทุนในการผลิตสินค้าซึ่งประมาณขึ้นก่อนที่จะทำการผลิตจริง การประมาณขึ้นก่อนที่จะทำการผลิตจริงนั้น จะทำขึ้นอย่างมีเหตุผล ณ ระดับการผลิตหนึ่ง ภายใต้สภาพการณ์ที่คาดคะเนไว้ ทั้งนี้เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับต้นทุนที่จ่ายจริง

เนื่องจากระบบบัญชีต้นทุนจ่ายจริง (Normal Accounting System) ที่นิยมใช้และยอมรับโดยทั่วไปนั้นจะมีการคำนวณต้นทุนได้ก็ต่อเมื่อการผลิตสิ้นสุดลงแล้ว ดังนั้นฝ่ายบริหารจะทราบถึงความไม่มีประสิทธิภาพก็เมื่อต้นทุนนั้นๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว ทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ การจะควบคุมต้นทุนหรือการแก้ไขปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพอันเนื่องมาจากการผลิตนั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการเปรียบเทียบต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงกับต้นทุนในอดีต หรือต้นทุนที่ประมาณการขึ้น จากสถานการณ์ทำงานจริง เหตุนี้จึงมีการประมาณการต้นทุนมาตรฐานขึ้น ซึ่งก็คือต้นทุนที่กำหนดขึ้นล่วงหน้าอย่างรอบคอบและมีเหตุผลภายใต้สภาพการณ์ที่เป็นอยู่จริง โดยวิศวกรโรงงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนมาตรฐานนั้นเชื่อถือได้ สามารถใช้ในการวางแผนการผลิตและควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในบทนี้ยังมีหัวข้อที่สำคัญ คือ ชนิดของต้นทุนมาตรฐาน ประโยชน์ของต้นทุนมาตรฐานหน่วยมาตรฐาน การตั้งมาตรฐาน การวิเคราะห์ผลแตกต่างเกี่ยวกับวัตถุทางตรง การวิเคราะห์ผลแตกต่างเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการผลิตทางตรง

บทที่ 6 ต้นทุนเต็มและต้นทุนแปรผัน

ในการคำนวณหาต้นทุนของสินค้าโดยทั่วไป จะถือเอาต้นทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นหลักในการคำนวณต้นทุนของสินค้า กล่าวคือ ต้นทุนเหล่านี้จะถูกเฉลี่ยเข้าเป็นต้นทุนของสินค้า ตามปริมาณการผลิต วิธีเช่นนี้เราเรียกว่า ระบบต้นทุนเต็ม (Full Costing หรือ Absorption Costing) ซึ่งมีลักษณะโดยสรุปก็คือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดคือต้นทุนคงที่และต้นทุนแปรผัน จะคิดเข้าเป็นต้นทุนสินค้าที่ผลิตในงวดนั้น สินค้าที่ขายก็จะถูกปันส่วนตามปริมาณขาย และสินค้าคงเหลือก็จะถูกเฉลี่ยต้นทุนตามส่วนและจะเป็นต้นทุนของสินค้านั้นตลอดไป

วิธีการคิดต้นทุนของสินค้าอีกชนิดหนึ่งคือระบบต้นทุนแปรผัน (Variable Costing / Direct Costing / Marginal Costing) เป็นวิธีคิดต้นทุนสินค้าเฉพาะต้นทุนแปรผันหรือต้นทุนทางตรงเท่านั้น ส่วนต้นทุนคงที่ที่เกิดขึ้นในงวดใดให้ตัดจ่ายเป็นรายจ่ายทั้งหมดในงวดนั้นๆ ซึ่งหมายความว่าต้นทุนแปรผันหรือต้นทุนทางตรงเท่านั้นที่ถือเป็นต้นทุนของสินค้า ส่วนต้นทุนคงที่ให้ถือเป็นต้นทุนสำหรับงวด (Period Cost) โดยโอนเข้ากำไรขาดทุนทั้งหมด

มีปัญหาที่เกิดขึ้นในการคำนวณต้นทุนของสินค้าตามวิธี Full Costing ก็คือ ต้นทุนบางประเภทไม่อาจระบุได้ว่า เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นในการผลิตสินค้าชนิดใด หรือเป็นของสินค้าแต่ละชนิดจำนวนเท่าใด จึงต้องมีการปันส่วนหรือจัดสรรต้นทุนบางอย่างเข้าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมา แต่ก็เป็นการยากว่าหลักเกณฑ์ใดจะเป็นหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะต้นทุนคงที่ เป็นต้นทุนที่ก่อให้เกิดปัญหาในการแบ่งต้นทุน เนื่องจากเป็นต้นทุนที่ขึ้นอยู่กับขนาดหรือ ปริมาณการผลิต การจัดสรรต้นทุนซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิต ทำให้การคำนวณต้นทุนการผลิตตามวิธีนี้ กระทบกระเทือนต่องบกำไรขาดทุนในงวดนั้นๆ เพราะนอกจากกำไรขาดทุนจะผันแปรตามปริมาณขาย ราคาขายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตด้วย ในบทนี้ ยังมีหัวข้อที่สำคัญ คือ ระบบต้นทุนเต็ม

ระบบต้นทุนแปรผัน การเปรียบเทียบการคิดต้นทุนของสินค้าตามระบบต้นทุนเต็มและต้นทุนแปรผัน การเปรียบเทียบงบกำไรขาดทุนตามระบบต้นทุนเต็มและต้นทุนแปรผัน และผลดีของการคิดต้นทุนของสินค้าต้นทุนแปรผัน

บทที่ 7 การวิเคราะห์จุดคุ้มทุนและการวางแผนกำไร

การดำเนินงานของฝ่ายบริหารในระยะเริ่มดำเนินธุรกิจ มักจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนปริมาณการผลิตและปริมาณขาย เพื่อให้ได้กำไรตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ผู้บริหารจึงต้องสนใจในเรื่องของค่าใช้จ่ายและรายได้ ค่าใช้จ่ายมีความสัมพันธ์กับปริมาณอยู่ 2 ลักษณะคือ ค่าใช้จ่ายผันแปรซึ่งจะผันแปรไปตามกิจกรรมการผลิตและขาย และค่าใช้จ่ายคงที่ ซึ่งจะไม่เปลี่ยนตามระดับกิจกรรม ดังนั้นจะเห็นว่าถ้ากิจการผลิตและขายสินค้ามาก ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมากตามสัดส่วนคือค่าใช้จ่ายผันแปร ส่วนค่าใช้จ่ายคงที่จะไม่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าปริมาณสินค้าที่ผลิตและขายมากกำไรจะยิ่งมากในอัตราส่วนที่สูง ถ้าปริมาณสินค้าที่ผลิตและขายต่า กำไรจะลดลงในอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูง เพราะต้นทุนคงที่ไม่ว่าจะผลิตมากหรือน้อยก็ยังคงต้องจ่ายเท่าเดิม

ดังนั้นผู้บริหารซึ่งทำการวิเคราะห์จุดคุ้มทุนและวางแผนกำไรของกิจการ จะต้องมีข้อมูล 5 ประการ คือ ราคาขาย หรือรายได้ จำนวนหน่วยที่ผลิตและขาย ต้นทุนผันแปร ต้นทุนคงที่รวมจำนวนสินค้าแต่ละชนิด ในบทนี้ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ คือ การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน วิธีการวิเคราะห์จุดคุ้มทุน การวางแผนกำไร และการคำนวณจุดคุ้มทุนเมื่อขายสินค้าหลายชนิด

 

บทที่ 8 การวิเคราะห์ ต้นทุนเพื่อการตัดสินใจ

การดำเนินงานของฝ่ายบริหารมักเผชิญปัญหาต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น ปัญหาในการยกเลิกการผลิต และขายผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือไม่ จะกำหนดราคาขายสินค้าอย่างไร การตัดสินใจเลือกชนิด ขนาด และคุณภาพของวัตถุดิบอย่างไรเป็นต้น ฝ่ายบริหารจะนำข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

การนำข้อมูลทางการบัญชีมาช่วยในการตัดสินใจ จะต้องนำช้อมูลนั้นมาปรับปรุงให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น จึงจะนำไปใช้อย่างได้ผล ข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจก็คือ ข้อมูลต้นทุนที่ได้ปรับปรุงและนำไปใช้ให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ข้อมูลต้นทุนเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต และเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมอย่างหนึ่ง แต่ข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจเป็นข้อมูลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ข้อมูลทางการบัญชีอาจแสดงให้เห็นต้นทุนการผลิตเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ต้นทุนที่ใช้ในการตัดสินใจอาจคำนวณเพื่อแสดงให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตที่ควรจะเป็น หากใช้วิธีการผลิตอย่างหนึ่ง ในบทนี้มีหัวข้อที่สำคัญ คือ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ประเภทของต้นทุนที่ใช้ในการตัดสินใจ การตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลต้นทุน (1. การตัดสินใจซื้อจากบุคคลภายนอกหรือผลิตเอง 2. การตัดสินใจจะขายหรือผลิตต่อ 3. การตัดสินใจยกเลิกหรือไม่ยกเลิกผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งชนิดใด 4. การตัดสินใจปิดโรงงานชั่วคราว)

บทที่ 9 การงบประมาณ

ในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จบรรลุตามเป้าหมาย (Objective) ที่วางไว้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนตามโครงการต่าง ๆ (Project Planning) การวางแผนโดยทั่วไปนั้น มีทั้งการวางแผนระยะสั้นและการวางแผนระยะยาว การวางแผนระยะสั้นหรือการวางแผนประจำงวดเป็นเครื่องมือที่ฝ่ายบริหารใช้ในการพิจารณาและตัดสินใจ ว่าจะทำอะไรบ้างในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมักจะเป็นการวางแผนในรูปของงบประมาณ (Budgeting) ของระยะเวลาในปีหน้า ส่วนการวางแผนระยะยาวมักจะเป็นการจัดทำแผนในอนาคตของฝ่ายบริหารสำหรับ 3 – 5 ปี ข้างหน้าหรือนานกว่านั้น ดังนั้น งบประมาณประจำปี ก็คือ แผนงานปีแรกของแผนระยะยาว ซึ่งมีลักษณะการทาเหมือนกัน จะแตกต่างกันที่รายละเอียดของข้อมูลเท่านั้น ในบทนี้มีหัวข้อที่สำคัญ คือ ประโยชน์ของการจัดทำงบประมาณ ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ และหลักในการจัดทำงบประมาณ

ประวัติผู้แต่ง: รองศาสตราจารย์ปรียานุช กิจรุ่งโรจน์เจริญ

: อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบัญชี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

: อาจารย์พิเศษในสถาบันอุดมศึกษาได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยหัวเฉียว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เป็นต้น

: หัวหน้าภาควิชาบริหารธุรกิจ

: รองคณบดีคณะวิทยาการจัดการ

: รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาการศึกษา : บช.. บัญชีบัณฑิต (บัญชีการเงิน) คณะบัญชี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

: บช.. บัญชีมหาบัณฑิต (บัญชีต้นทุน) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเหตุ : สนใจ ติดต่อ โทร. 089-1258379 ราคาเล่มละ 170 บาท