การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องสีของวัตถุกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์

THE DEVELOPMENT OF COMPUTER-ASSISTED INSTRUCTION COURSE ON COLOR OF MATERIALS,

FOR MATHAYOMSUKSA 5 STUDENTS, ASSUMPTION CONVENT SCHOOL.

เจษฎา   วรรณวิมลกุล

       คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์  :  รองศาสตราจารย์ ดร. อำนวย  เดชชัยศรี

                                                                        :  รองศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์คเรศ  ประกอบผล

       คณะกรรมการสอบภายนอก               :  รองศาสตราจารย์ ดร. สุรศักดิ์  หลาบมาลา

Abstract

This study is based on the purposes for (1) developing the lesson used a computer assisted in teaching the lesson about the colours of objects in the science subject for Mattaysuksa 5 students to have the efficiency based on the criteria of 80/80 (2) To compare the achievement of learning between  the pre-test scores and the post-test scores from learning the lesson used the computer assisted in teaching.

The findings of the study revealed that :

1) The lesson used a computer assisted in teaching the colours of objects in the science subject has the efficiency of  81.50/80.50 which is close to the expected scores of 80/80

2) The lesson used a computer assisted in teaching has post-test scores higher than thepre-test scores. There was ststistically significant difference .01

 

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องสีของวัตถุ  กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ คือ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียน จากการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

ผลการวิจัยปรากฎ ดังนี้

1) บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องสีของวัตถุ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ประสิทธิภาพเป็น 81.50/80.50 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้

2) บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มตัวอย่างหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .0

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

       การศึกษาในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญ ทั้งในแง่เป็นเครื่องมือ ช่วยในการเรียนรู้ให้ง่ายขึ้น ช่วยแสวงหาความรู้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ การจัดการศึกษาจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ จากผลการวิจัย การสำรวจความคิดเห็น สอดคล้องกันว่าสื่อเทคโนโลยีและสารสนเทศที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน คือ คอมพิวเตอร์ และนักเรียนเองก็เห็นว่า สื่อดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการเรียน ทำให้เกิดความรู้อย่างกว้างขวางทันต่อโลกทันต่อเหตุการณ์ และชุมชนมากกว่าร้อยละ 90 เห็นว่า สื่อที่ควรนำมาใช้ในการพัฒนาการศึกษาคือ คอมพิวเตอร์ (กรมวิชาการ. 2545 : 1) สอดคล้องกับคำกล่าวของ นิพนธ์ สุขปรีดี (2531 : 26) ที่ว่า  คอมพิวเตอร์เป็นสื่อการสอนที่กำลังมีบทบาทในวงการศึกษา เพราะความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทางด้านวัสดุ เครื่องมือ และวิธีการของคอมพิวเตอร์มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันพบว่า คอมพิวเตอร์เป็นสื่อที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพต่อการเรียนการสอน เป็นสื่อที่สามารถสืบค้นได้ดีกว่าสื่อชนิดอื่น จึงถือได้ว่าคอมพิวเตอร์เป็นสื่อส่วนบุคคล และเป็นสื่อชนิด 2 ทาง ที่มีประสิทธิภาพในการเรียนการสอนใกล้เคียงกับบุคคลมากกว่าสื่อชนิดอื่นซึ่งคอมพิวเตอร์เป็นสื่อการเรียนการสอนที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูง ที่ได้มีการนำมาเป็นคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ CAI (Computer Assisted Instruction) เป็นซอฟต์แวร์ทางการศึกษาชนิดหนึ่ง ซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสอน และ CAI มีลักษณะเด่น 3 ประการ คือ ประหยัด ได้ผล และฉลาด นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่า การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเรียนการสอน สอดคล้องกับการสอนแบบเอกัตบุคคล หรือการสอนที่สอดคล้องกับเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล คือ การสอนแบบโปรแกรมหรือบทเรียนสำเร็จรูปตามแนวคิดของ สกินเนอร์ (Skinner) ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพของการดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาและการเรียนการสอนเป็นอย่างดี (ไชยยศ เรืองสุวรรณ. 2533 : 147)  แต่เหตุผลสำคัญที่มีการนำเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยในการเรียนการสอน ในรูปของ CAI ได้แก่ การเสนอสิ่งเร้าให้กับผู้เรียน ได้แก่ เนื้อหา ภาพนิ่ง คำถาม ภาพเคลื่อนไหว แสง เสียง ประเมินการตอบสนองของผู้เรียน ได้แก่ การตัดสินคำตอบ ให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อการเสริมแรง ได้แก่ การให้รางวัลหรือคะแนน ให้ผู้เรียนเลือกสิ่งเร้าในลำดับต่อไป

       บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน นับเป็นสื่อการเรียนการสอนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้จากสภาพจริง และเหมาะที่จะนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เปรียบได้เสมือนครูผู้สอน สอนให้นักเรียนได้เรียนรู้ไปทีละขั้นตอน จากง่ายไปหายาก เป็นการจัดระบบการเรียนการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสามารถของตนเองด้วยการลงมือประกอบกิจกรรมตามลำดับขั้น มีโอกาสได้รับการติชมทันที และก้าวไปตามลำดับความสามารถของแต่ละบุคคล (ธีระชัย ปูรณโชติ. 2539) นอกจากนี้ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนยังเอื้ออำนวยให้นักเรียน ได้มีโอกาสเรียนด้วยตนเองตามความสามารถ ช่วยให้ครูผู้สอนให้เวลาดูแลนักเรียนได้มากขึ้นกว่าการสอนเนื้อหา กระตุ้นให้นักเรียนเกิดความอยากเรียน ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ช่วยลดเวลาในการสอนบทเรียน เพราะสามารถสอนเนื้อหาได้มากกว่าวิธีสอนอื่นๆ และทำให้นักเรียนมีความรับผิดชอบ มีวินัยในตนเอง (ไชยยศ เรืองสุวรรณ. 2521 : 177-178) และจากรายงานวิจัยของศิริวรรณ วรรณสุทธิ์ (2545 : 71-73) พบว่า คุณค่าของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหา ความพอใจที่จะศึกษา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าการเรียนตามปกติ มีความรู้เพิ่มขึ้นจากการเรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ช่วยให้เข้าใจง่าย มีความกระตือรือร้น และมีความสนใจอยากรู้ อยากเรียน เพราะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทราบคำตอบทันที

       จากความสำคัญของการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและผลการวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า สื่อการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ยังมีน้อย และสื่อที่มีขายก็มีราคาแพง จึงควรสร้างและใช้ให้มากขึ้น เพื่อทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนประสบผลสำเร็จ จึงควรที่จะมีการพัฒนาสื่อ เพื่อเป็นการสนองนโยบายการใช้สื่อ และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนดังกล่าวผู้วิจัยเล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญของคอมพิวเตอร์ โดยนำบทเรียนคอมพิวเตอร์มาช่วยในการจัดการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนระดับช่วงชั้นที่ 4 (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5) ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้พัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่องสีของวัตถุ สำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ซึ่งเนื้อหาเรื่องสีของวัตถุ เป็นเรื่องที่นักเรียนเข้าใจยาก เนื้อหาสลับซับซ้อนสื่อส่วนใหญ่มีแต่รูปภาพ ขาดการเรียนรู้จากสภาพจริง เพราะเวลาจำกัด ประกอบกับครูขาดการใช้สื่อ วัสดุ และอุปกรณ์ที่เสริมหลักสูตร เนื่องจากมีราคาแพง จึงไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียน เกิดการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน อีกทั้งยังไม่สามารถชักจูงให้ผู้เรียน
เกิดความสนใจ มองเห็นภาพพจน์ และเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสื่อที่เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด โดยการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จะช่วยกระตุ้นความสนใจ และความเอาใจใส่ต่อบทเรียนของนักเรียนมากขึ้นอีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียน มีโอกาสศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ตามความสามารถของแต่ละบุคคล เป็นการช่วยให้ผู้เรียน เกิดทักษะในด้านการใช้คอมพิวเตอร์ให้มากขึ้น ทำให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียน ตลอดจนจะเป็นการเน้นย้ำให้ผู้เรียน มีความเข้าใจเกี่ยวกับสีของวัตถุ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และเพื่อให้การสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ บรรลุเจตนารมณ์ของหลักสูตร

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

ในการวิจัยครั้งนี้ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ ไว้ดังนี้

1. เพื่อพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องสีของวัตถุ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80

2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียนจากการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องสีของวัตถุ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

ขอบเขตของการวิจัย

ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย

1. ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียน
อัสสัมชัญคอนแวนต์ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 จำนวน 3 ห้องเรียน ซึ่งมีนักเรียนทั้งสิ้น 161 คน

2. กลุ่มตัวอย่าง ได้มาโดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) จากนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 ของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ จำนวน 1 ห้องเรียน 44 คน

ขั้นตอนดำเนินการวิจัย

ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) เพื่อพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียนจากการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องสีของวัตถุ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล

1.  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องสีของวัตถุ วิชาวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต 1

2.  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องสีของวัตถุ วิชาวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต 1

3.  แบบประเมินคุณภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ด้านเนื้อหาและด้านเทคโนโลยีการศึกษา

การเก็บรวบรวมข้อมูล

1.  นำหนังสือจาก คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ไปติดต่อกับผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

2.  จับฉลากเลือกห้องเรียนจำนวน 1 ห้องเรียน จากจำนวนห้องเรียนทั้งหมด 3 ห้องเรียน และจับฉลากเลือกสุ่ม โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling)

3.  ติดต่อประสานงานกับครูประจำห้องเรียน และครูประจำห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เพื่อแจ้งวันและเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูล

4.  นำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไปทดสอบก่อนเรียน (Pre-test)

5.  นักเรียน เรียนเนื้อหาบทเรียนให้เข้าใจ ทำแบบฝึกหัด และทำแบบทดสอบเป็นลำดับสุดท้าย เพื่อประเมินผลการเรียน เสร็จแล้วจึงเรียนเนื้อหาในสาระการเรียนรู้ถัดไปจนจบ

6.  ให้นักเรียนทำแบบทดสอบหลังเรียน

7.  หาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จากคะแนนแบบฝึกหัดระหว่างเรียน และแบบทดสอบหลังเรียน โดยใช้สูตร E1/E2

8.  นำผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียน (Pretest) มาเปรียบเทียบกับผลสัมฤทธิ์หลังเรียน (Posttest) ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป โดยใช้สูตร t-test

การวิเคราะห์ข้อมูล

1.  การหาคุณภาพของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดังนี้

     1.1 หาดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อสอบกับพฤติกรรมที่ต้องการวัด โดยหาค่าเฉลี่ยการประเมินของผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด โดยใช้สูตร IOC

     1.2 หาค่าความยาก (p) และอำนาจจำแนก (r) ของแบบทดสอบแต่ละข้อ โดยใช้วิธีวิเคราะห์ข้อสอบแบบอิงกลุ่ม ซึ่งมีค่าความยากตั้งแต่ 0.20 0.80 และค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.20 – 1.00

     1.3 หาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับ โดยใช้สูตร KR-20 ของ Kuder and Richardson

2.  วิเคราะห์การประเมินบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญโดยใช้ค่าเฉลี่ย (X) แล้วนำค่าเฉลี่ยไปเทียบกับเกณฑ์การประเมินสื่อ ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ ถือค่าเฉลี่ยตั้งแต่ระดับดีขึ้นไป จึงจะถือว่าผ่านเกณฑ์ต้องมีการแก้ไขปรับปรุง

3.  วิเคราะห์หาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ด้วยวิธีการหาค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และร้อยละของค่าเฉลี่ยของคะแนนที่ได้จากการทำแบบฝึกหัด และร้อยละของค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

4.  วิเคราะห์เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้ t-test (Dependent Samples)

สรุปผลการวิจัย

1. ได้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องสีของวัตถุ ที่มีคุณภาพดีและมีประสิทธิภาพ 81.50/80.50

2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียนบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องสีของวัตถุ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

การอภิปราย

การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยเรื่องสีของวัตถุ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ผู้วิจัยมีประเด็น  อภิปรายจากผลการวิจัย   ดังนี้

1.  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องสีของวัตถุ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีผลการประเมินคุณภาพอยู่ในระดับดีและมีประสิทธิภาพ  81.50/80.50  ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้    ทั้งนี้เนื่องจากขั้นตอนการผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องสีของวัตถุ เริ่มจากผู้วิจัยได้ศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาที่จะนำมาผลิตโดยการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 สาระการเรียนรู้ ตามลำดับความรู้   กำหนดจุดประสงค์ของการเรียนในแต่ละบทเรียน ทำการเขียนบทและออกแบบลักษณะการดำเนินเรื่องของแต่ละบท จากนั้นดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ เมื่อปรับปรุงแก้ไขแล้ว จึงนำไปทดลองตามขั้นตอน เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน คือ การทดลองครั้งที่ 1 กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 3 คน โดยเรียนพร้อมกัน 1 คนต่อหนึ่งเครื่องซึ่งนักเรียนมีความพอใจและสนใจเป็นอย่างดี ในการทดลองครั้งที่ 2 ทดลองกับนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน จำนวน 15 คน เพื่อหาแนวโน้มของประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้ 76/78 ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาปัญหาพบว่า ปัญหาเกิดจากสีและขนาดของตัวอักษรในบทเรียนยังไม่ค่อยชัดเจน ภาพเคลื่อนไหวเร็วเกินไป ภาพประกอบมีความสอดคล้องกับเนื้อหาน้อย และการบรรยายเร็วเกินไป ผู้วิจัยจึงทำการปรับปรุงบทบรรยายและภาพประกอบให้มีความชัดเจนเข้าใจง่ายขึ้น จากนั้นทำการทดลองครั้งที่ 3 กับนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน จำนวน 30 คน ซึ่งได้ประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 81.50/80.50 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

2.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องสีของวัตถุ เป็นการเรียนที่สอดคล้องกับทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคลซึ่งผู้เรียนแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้ช้าเร็วแตกต่างกัน ดังนั้น บทเรียนนี้จะช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกพอใจ และไม่เกิดความกดดันขณะเรียนเมื่อเรียนไม่ทันผู้อื่น ทำให้รู้สึกผ่อนคลายในขณะที่เรียน ส่งผลให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ยังทำให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และให้ความสนใจบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นพิเศษ เนื่องจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ประกอบไปด้วยการออกแบบหน้าจอ เสียงบรรยาย ภาพกราฟิกและภาพเคลื่อนไหว ผู้วิจัยได้ทำการสังเกตระหว่างการทดลองพบว่า ผู้เรียนที่เรียนจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีความสนใจและตั้งใจที่จะเรียนรู้จากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เนื่องจากผู้เรียนสามารถทบทวนบทเรียนได้ทันทีเมื่อมีเนื้อหาที่ไม่เข้าใจหรือสงสัย ผู้เรียนสามารถย้อนกลับมาศึกษาเนื้อหาได้ใหม่ อีกทั้งผู้เรียนยังทำแบบฝึกหัดระหว่างเรียน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพื่อประเมินผลการเรียน ทำให้ผู้เรียน
มีโอกาสทบทวนทำความเข้าใจในบทเรียนเพิ่มเติม ทำให้ผู้เรียนไม่เกิดความเบื่อหน่ายขณะทำแบบฝึกหัดหรือแบบทดสอบ ช่วยให้ผู้เรียนตั้งใจทำแบบฝึกหัดและแบบทดสอบมากยิ่งขึ้น

ข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปปฏิบัติ   

1. การเรียนด้วยคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ครูผู้สอนต้องคำนึงถึงพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์ของผู้เรียนด้วย ผู้เรียนควรมีความรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์ในระดับเบื้องต้น

2. ในการผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน นอกจากจะอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์แล้ว ครูผู้สอนจะต้องอาศัยการออกแบบด้านศิลป์ และจิตวิทยาการรับรู้ จึงสามารถทำให้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีคุณภาพมากขึ้น

3. ในการผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ครูผู้สอนควรศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อใช้สนับสนุนการสร้างสรรค์บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

4. เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ครูผู้สอนควรให้นักเรียน
ได้ศึกษาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ในช่วงที่มีการจัดการเรียนการสอนในเรื่องดังกล่าว และ
ให้นักเรียนได้ทบทวนบทเรียนอีกครั้งหลังจากนักเรียนได้เรียนในชั้นเรียน เพื่อเป็นการทบทวนความรู้

ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป 

1. ควรมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้แบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในสาระการเรียนรู้อื่นต่อไป

2. ควรศึกษาเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ระหว่างคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับการเรียน
การสอนแบบปกติ

 

บรรณานุกรม

ไชยยศ  เรืองสุวรรณ. ทคโนโลยี การศึกษา :ทฤษฏีและการวิจัย. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2533.

ธีระชัย  ปูรณโชติ. การสร้างบทเรียนสำเร็จรูปเส้นทางสู่อาจารย์ 3. พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.

ไชยยศ  เรืองสุวรรณ. เทคโนโลยีทางการศึกษาและแนวปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิชย์, 2521.

ศิริวรรณ  วรรณสุทธิ์. “การพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง เรื่องแรง กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4.” รายงานการศึกษาอิสระปริญญาการศึกษามหาบัณฑิตสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2545