ไม้งามสามสหาย : ตะแบก เสลา อินทนิล
ความนำ
ตะแบก เสลา และอินทนิล ไม้ต้นดอกสวยทั้ง 3 ชนิดนี้อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือวงศ์ตะแบก หรือ
FAMILY LYTHRACEAE ต่างก็มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ตกแต่งในสวนสาธารณะ สถานศึกษา อาคารบ้านเรือน หรือแม้กระทั่งริมถนนในเมือง และกรุงเทพมหานคร คุณสมบัติดังกล่าวได้แก่ ดอกสวย ดอกดก สีสวย ทรงพุ่มมีรูปทรงที่สวยงามไม่ต้องตัดแต่ง ที่สำคัญคือ ระบบรากลึกไม่ไชชอนผิวดินหรือฟุตบาท
ผู้พบเห็นไม้ต้นดอกสวย 3 ชนิดนี้มักจะสับสนกับความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็น ใบ ดอก ผล หรือแม้กระทั่งลำต้นและทรงพุ่ม จึงขอนำเนื้อหาและภาพประกอบมาให้เห็นความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจน สามารถนำไปบอกกล่าวหรือเป็นบทเรียนได้ ดังนี้
ตะแบก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia calyculata Kurz
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 25 เมตร ทรงพุ่มกลม เปลือกลำต้นสีครีมหรือเทาอมเหลือง มีรอยหลุมตื้นๆมีสะเก็ดแผ่นบางหลุดเป็นแผ่นได้ดูคล้ายกับเปลือกต้นยูคาลิปตัส ใบเดี่ยวออกตรงข้าม ใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก โคนใบทู่หรือกลม ใบด้านหรือสากคาย กว้าง 4-6 ซม. ยาว 8-12ซม.
ดอกเป็นช่อแขนงขนาดใหญ่ ตามปลายกิ่ง มีขนสากๆทั้งช่อ ดอกขนาดเล็ก บานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 ซม. กลีบดอก 6 กลีบ สีชมพูหรือสีม่วงอมชมพู ออกดอกมากในช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูอื่นอาจมีบางต้นออกดอกได้แต่ไม่มาก ผลเป็นผลแห้งที่มีขนาดเล็ก ขนาด 1 ซม. เมื่อแก่แล้วจะแห้งแตกออกเป็นแฉก มีเมล็ดแบนจำนวนมาก เพาะกล้าได้ง่าย
เสลา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia loudoni Teijsm. & Binn.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบเมื่อออกดอก สูงได้ถึง 20 เมตร ทรงพุ่มเรือนยอดสูงชะลูดทรงกระบอก ใบทึบหนาแน่นกิ่งโน้มลงรอบทรงพุ่ม เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีรอยแตกเป็นทางยาวตลอดลำต้น ใบเดี่ยว ปลายเรียวแหลมเป็นติ่ง โคนมน ออกตรงข้าม รูปขอบขนาน กว้าง 5-10 ซม. ยาว 15-20 เซนติเมตร เนื้อใบหนาปานกลาง เส้นใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ใบอ่อนสีน้ำตาล สามารถขูดเอาขุยหน้าใบออกได้ ดอกสีม่วง ม่วงอมชมพู หรือม่วงกับขาว ปนกันในช่อเดียว ออกช่อดอกทุกซอกใบตามยาวของกิ่ง กลีบดอก 6กลีบ ปลายกลีบหยักพลิ้ว เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-6 ซม. ออกดอกมากในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ส่วนฤดูอื่นอาจมีบางต้นออกดอกได้แต่ไม่มาก ผลรูปไข่หรือรี ผิวแข็ง ขนาด 1.5 ซม. ผลแห้งแตกเป็นพู มีเมล็ดจำนวนมาก เพาะกล้าได้ง่าย
อินทนิล
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia speciose
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นต้นไม้ขนาดกลาง สูงได้ถึง 15 เมตร ทรงพุ่มกลมเรือนยอดแหลม ใบทึบหนาแน่น เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เปลือกลำต้นแตกเป็นเกล็ดเล็ก ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกตรงข้าม หรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้าง 5 – 10 ซม. ยาว 11 -26 ซ.ม. เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง เป็นมันทั้งสองด้าน โคนใบมน ปลายใบเรียวและเป็นติ่งแหลม ขอบใบเรียบ เกลี้ยงไม่มีขน ดอกขนาดใหญ่ออกเป็นช่อแขนง รวมกันเป็นใหญ่ตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบใกล้ ๆ ปลายกิ่ง บานไม่พร้อมกันทั้งช่อ กลีบดอกสีม่วงสด ม่วงอมชมพูหรือชมพูล้วน ตรงส่วนบนสุดของช่อจะมีดอกตูมหลายขนาดรอบาน กลีบดอก 6 กลีบ เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 ซ.ม. ออกดอกมากในช่วงฤดูร้อน ส่วนฤดูอื่นอาจมีบางต้นออกดอกได้แต่ไม่มาก ผลโตรูปไข่หรือรี ผิวแข็ง ขนาด 2.5-3 ซม. ผลแห้งแตกเป็นพู มีเมล็ดจำนวนมาก เพาะกล้าได้ง่าย
ตารางเปรียบเทียบตะแบก เสลา อินทนิล
ชื่อ / ข้อสังเกต |
ตะแบก |
เสลา |
อินทนิล |
ทรงพุ่ม |
กลม |
สูงชะลูด |
กลมยอดแหลม |
เปลือกลำต้น |
แตกเป็นแผ่นใหญ่ |
แตกเป็นทางยาวตลอดลำต้น |
แตกเป็นเกล็ดเล็ก |
ใบ |
สากกระด้าง |
มีขุยลอกได้ที่ใบอ่อน |
ขนาดใหญ่ หนา เป็นมัน |
ดอก |
เล็ก |
กลาง |
ใหญ่ |
สีดอก |
ชมพู |
ขาว ชมพู ม่วงในช่อเดียวกัน |
ชมพูหรือม่วงในแต่ละต้น |
ช่วงที่ออกดอก |
ในช่วงฤดูฝน |
ปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน |
ในช่วงฤดูร้อน |
ผล |
เล็ก |
กลาง |
ใหญ่ |