ชื่อผลงานทางวิชาการ : จิตวิทยาการติดต่อสื่อสาร

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือประกอบการเรียนการสอน วิชา จิตวิทยาการติดต่อสื่อสารและการโน้มน้าวใจ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : พิมพ์ที่ โรงพิมพ์พลัฎฐกรการพิมพ์ จัดจำหน่ายโดย ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางสาวปัญจนาถร วรวัฒนชัย ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดสาขาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงาน : ความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิทยากับการสื่อสาร รูปแบบพฤติกรรมการสื่อสาร กฎเกณฑ์เกี่ยวกับพฤติกรรม ปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรม พฤติกรรมมนุษย์กับการสื่อสาร แนวคิดเรื่องการสื่อสารของมนุษย์ องค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการสื่อสารของมนุษย์ ภาษากับการสื่อสารของมนุษย์ การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ องค์ประกอบพื้นฐานของการโน้มน้าวใจ ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการโน้มน้าวใจและกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : จิตวิทยามุ่งศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ทุกด้าน เพราะการสื่อสารเกิดมาพร้อมๆ กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมเป้าหมายการศึกษาที่สำคัญมี 4 ประการ คือ เพื่อวัดและพรรณนาลักษณะพฤติกรรม เพื่อพยากรณ์พฤติกรรม เพื่อควบคุมหรือปรับพฤติกรรมและเพื่ออธิบายพฤติกรรม รูปแบบของพฤติกรรมสื่อสารของมนุษย์ประกอบด้วย พฤติกรรมการสื่อสารภายในตัวบุคคล สื่อสารระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล สื่อสารในองค์กร สื่อสารมวลชนและสื่อสารไซเบอร์

       ลักษณะของการสื่อสาร ได้แก่ การสื่อสารเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นกระบวนการถ่ายทอดที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้รับสารแต่ละบุคคล เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามลำดับ เป็นเรื่องเกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมและเป็นสิ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์มี 4 ปัจจัย คือ ปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางด้านสังคมและจิตวิทยา และปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม

       การรับรู้กับการสื่อสารมีความเกี่ยวข้องกันและมนุษย์จะต้องมีการเลือกรับรู้ ซึ่งจะมีลักษณะบางอย่างสามารถกระตุ้นให้ผู้รับสารเกิดความสนใจที่จะเลือกรับรู้มี 5 ประการ คือ ความเข้มข้น ขนาด การเคลื่อนไหว ความถี่และความแปลกใหม่ในชีวิตประจำวัน การกระทำทุกอย่างเกี่ยวข้องกับความรู้สึกและอารมณ์เสมอ ด้านอารมณ์ของมนุษย์ในระยะแรกจะสื่อสารเพื่อการอยู่รอด เช่น การแสดงออกทางด้านเสียง อากับกิริยา และแสดงออกทางใบหน้า การเกิดอารมณ์ของมนุษย์สามารถศึกษาจากทฤษฎี อาทิเช่น ทฤษฎีของเจมส์-แลง (Jams-Lange) ทฤษฎีของแคนนอน-บอร์ด (Cannon-Bard) ทฤษฎีการรู้คิดของลาซาร์ลและแชอเตอร์ (Lazarus-Schackter)

       มนุษย์จะได้รับการจูงใจไม่เท่าเทียมกัน การจูงใจจะช่วยทำให้เกิดการแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตรงตามที่ผู้ส่งสารต้องการ ได้แก่ ทฤษฎีแรงขับทางชีวภาพ ทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ ทฤษฎีการจูงใจของเฮอร์สเบอร์ก ทฤษฎีความต้องการของแมคคลีแลนด์และทฤษฎีความคาดหวังของรูม ฯลฯ เป็นต้น สำหรับด้านเจตคติของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งไม่คงที่ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับความสนใจ ความเข้าใจ ดังนั้นกระบวนการการที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเจตคติ คือ การสื่อสารซึ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาข่าวสารจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงมาก จึงควรมีลักษณะดังนี้ คือ ลักษณะของแหล่งข่าว ลักษณะการดึงดูดใจและลักษณะโครงสร้างของข่าวสาร รูปแบบการเปลี่ยนแปลงเจตคติมี 3 ลักษณะ คือ รูปแบบการสื่อสารข้อความแบบทางเดียว รูปแบบการสื่อสารข้อความสองขั้นตอน และรูปแบบการสื่อสารข้อความชนิดการสื่อสารระหว่างกัน ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงเจตคติมีรายละเอียด 3 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีความต้องการ ทฤษฎีสมดุลและทฤษฎีความขัดแย้งทางความคิด

       หลักสำคัญของการสื่อสารมี 5 ประการ ได้แก่ เช่น ความสำคัญต่อความเป็นสังคม สำคัญต่อชีวิตประจำวัน สำคัญต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจ สำคัญต่อการปกครองและสำคัญต่อการเมืองระหว่างประเทศ การสื่อสารมีหลายรูปแบบเพราะมีเกณฑ์พิจารณาแตกต่างกัน ซึ่งแบ่งเป็น 5 เกณฑ์ คือ เกณฑ์จำนวนผู้ที่ทำการสื่อสาร เรื่องภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร การเห็นหน้าค่าตากันระหว่างผู้สื่อสาร ความแตกต่างระหว่างผู้สื่อสารและตามหลักเนื้อหารายวิชาที่มีการนำการสื่อสารเข้าไปใช้ สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการสื่อสารของมนุษย์มีหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ผู้ส่งสาร สาร สื่อ/ช่องทางการสื่อสารและผู้รับสาร กระบวนการสื่อสารมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ดังนั้นการศึกษาพฤติกรรมการสื่อสารของมนุษย์จำเป็นต้องอาศัยแบบจำลองของการสื่อสารแบบต่างๆ คือ แบบการสื่อสารทางเดียว (One Way Conmunication ) แบบสื่อสารของแซรมม์ (Schramm) การสื่อสารของลาสเวลส์ (Laswell) การสื่อสารแบบเดวิด เบอร์โล (David Berlo) ฯลฯ เป็นต้น การใช้ภาษาเพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการสื่อสาร คือ ความสมบูรณ์ครบถ้วนความกระทัดรัดและการพิจารณาไตร่ตรอง การตีความวัจนภาษาก็จะผันแปรตามความหมายโดยตรง/ตามพจนานุกรม/อ้างอิง ตามหลักของภาษา/ในไวยากรณ์ นัยประหวัด/ความหมายแฝง ความหมายกำกวม ตามบริบทในประโยคตามเจตนาของผู้พูด ตามที่ผู้ฟังตีความ ภาษาแสลงความหมายเฉพาะกลุ่ม

       การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ คือ การส่งสารเพื่อเปลี่ยนแปลงเจตคติ ความเชื่อและพฤติกรรมของคนหรือกลุ่มเป็นการสื่อสารให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ อารมณ์ความรู้สึก โดยผู้สื่อสารต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการโน้มน้าวใจ กระบวนการโน้มน้าวใจ และข้อจำกัด โดยต้องมีองค์ประกอบ คือ ความน่าเชื่อถือของผู้ส่งสาร การเป็นเหตุและผล การใช้อารมณ์และความรู้สึก

จุดเด่น / ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ :  ในหนังสือเล่มนี้มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการโน้มน้าวใจ 5 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ (Maslow’s – hierarehy of human Needs) ทฤษฎีสิ่งเร้าและการตอบสนอง (S-R Theory) ฯลฯ เป็นต้น นั้นจึงทำให้ผู้อ่านหรือนำไปใช้สามารถประยุกต์ใช้ทฤษฎีเป็นกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ ได้แก่ การเสนอข่าวซ้ำๆ การเชื่อมโยงการแต่งรูปโฉมการสื่อสาร วิธีการละเว้นไม่พูดถึง การหันเหความสนใจและการสร้างความสับสน

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : เนื้อหาสาระของผลงานทางวิชาการเล่มนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะการอยู่รวมกันในสังคมเพราะภาษา คือ เครื่องมือสำคัญที่มนุษย์ใช้สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และแสดงถึงอารยธรรมอันสูงส่ง ภาษาจึงมีลักษณะสากล ความสำเร็จในการสื่อสารจำเป็นต้องอาศัยเทคนิคเหมาะสมสอดคล้องกับการสื่อสารทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา มุ่งความสนใจไปยังตัวผู้รับโดยตรง เพราะมนุษย์ใช้ถ้อยคำเพื่อสะท้อนภาพความเป็นตัวตนให้บุคคลอื่นรับรู้ถือเป็นลักษณะพื้นฐานของมนุษย์และการอยู่ร่วมกันในสังคม

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร