ชื่อผลงานทางวิชาการ : วิทยาศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิต

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือเรียนในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : พิมพ์ครั้งที่ 4 โดยสำนักพิมพ์  21 เซ็นจูรี่ จำกัด กทม. จัดจำหน่ายโดย ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางสาววันทนี สว่างอารมณ์ ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ และคณะ

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : เน้นทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่มนุษย์กำเนิดขึ้นมาบนโลก การค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในปรากฏการณ์ธรรมชาติ เริ่มจากความสงสัยที่เป็นคำถาม What How และ Why ส่วนเทคโนโลยีเป็นความรู้ทางเทคนิค / กระบวนการผลิตที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ เป็นต้น ส่วนนวัตกรรมนั้นเป็นการนำความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นกลยุทธ์หรือวิธีการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ทางความคิดทางปัญญา นำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทักษะการวัด ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปสและสเปสกับเวลา ทักษะการใช้ตัวเลข เป็นต้น การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ในการสื่อสารและอยู่ร่วมกับผู้อื่นนั้น วิทยาศาสตร์มีอิทธิพลต่อคุณค่าของมนุษย์และต่อความเข้าใจของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งต่างๆ ทำให้มีเหตุผล เทคโนโลยีที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในปัจจุบัน ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีพลังงาน เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีนาโน เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีอวกาศ เป็นต้น

มาตรฐานและตัวชี้วัดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมไทยมีทั้งหมด 20 ดัชนี อาทิเช่น เครื่องชี้ภาวะสังคม ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน ดัชนีการศึกษา เป็นต้น สำหรับมิติของคุณภาพชีวิตมีมิติทางด้านการศึกษา มิติทางด้านสุขภาพอนามัย มิติด้านการทำงานและการประกอบอาชีพ เป็นต้น สุขภาพและคุณภาพชีวิตมีปัจจัย 3 ด้าน คือ ร่างกาย สภาพแวดล้อมและระบบบริการสุขภาพ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ สืบเนื่องจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ทางด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม สำหรับความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับสุขภาพมีความเชื่อเกี่ยวกับอาหารและเรื่องเพศ

การเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพนั้น เพื่อให้คนไทยออกกำลังกายจนเป็นวิถีชีวิตและส่งเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายด้วย ผู้ที่มีสมรรถภาพทางกายดีจะมีลักษณะ คือ สมรรถภาพทางจิต อารมณ์มั่นคง อวัยวะในร่างกายทำงานได้ดี เป็นต้น ร่างกายควรมีการทำกิจกรรมนันทนาการสม่ำเสมอเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : หนังสือวิทยาศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิตนั้น มีประโยชน์และคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน เพราะมนุษย์ต้องการความอยู่รอดปลอดภัย ในทรัพยากรเกินความจำเป็น ทำลายสิ่งแวดล้อม เสื่อมถอยทางคุณธรรมและจริยธรรม ถึงแม้จะมีหลักการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงก็ตาม ซึ่งสอนให้ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมด้านจิตใจให้มีคุณธรรมความซื่อสัตย์ เห็นคุณค่าของสิ่งของเครื่องใช้ มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ล้มเหลวในชีวิต จึงมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ประกอบด้วย เทคโนโลยีพลังงานสะอาด ระบบเกษตรอินทรีย์ การออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงเศรษฐกิจนิเวศ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนโยบายสาธารณะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

จุดเด่น / ความน่าสนใจ / การนำไปใช้ประโยชน์ : หนังสือวิทยาศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิต มีจุดเด่นที่น่าสนใจ อาทิเช่น

1) รูปแบบของผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อคุณภาพชีวิตมีการพัฒนาขึ้น พบว่ามีทั้งทางบวกและทางลบ กล่าวคือ การพัฒนาเทคโนโลยีโดยไม่คำนึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต กลายเป็นการทำลาย เช่น การใช้ยาฆ่าศัตรูพืช เป็นต้น

2) การใช้เทคโนโลยีควรคำนึงถึงปัญหาการสูญเสียวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงานของคนไทย เพราะการพัฒนาที่รวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต เช่น การแต่งกาย ความประพฤติ การบันเทิงเริงรมย์ ฯลฯ เป็นต้น มีลักษณะเป็นสากลมากขึ้น คุกคามเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยที่ดีงามหมดสิ้น

3) ปรากฏการณ์เรือนกระจก การเพิ่มขึ้นของแก๊สซึ่งเกิดจากการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมของมนุษย์ เช่น การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์จากยานพาหนะ จากโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น สะท้อนกลับทำให้ผิวโลกร้อนอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคม และต่อคุณภาพชีวิตของประชากรโลก

สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย : จากรายละเอียดเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ได้แก่

1) ด้านการผลิตบัณฑิตทุกสาขาวิชา ควรเน้นการกระจายความรู้ด้านเทคโนโลยีให้ทั่วถึง อย่าทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ สามารถทำได้ด้วยวิธีการจัดทำโครงการ เรียนรู้เทคโนโลยีสู่การประยุกต์ในชีวิตประจำวัน หรือ การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติด้วยการจัดค่ายเพื่อชีวิต

2) ด้านการบริหารงานบุคคล มหาวิทยาลัยควรร่วมมือกับบุคลากรทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองเศรษฐกิจ ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองอำนาจ” วิธีนี้จะช่วยให้บุคลากรทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยพัฒนามหาวิทยาลัยก้าวไปข้างหน้าควบคู่กับเอกลักษณ์ทางวิชาการนั่นคือ เป็นการรู้จักปรับปรุงพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทของงานแต่ละส่วนๆ

3) มหาวิทยาลัยให้สวัสดิการแก่บุคลากรทุกภาคส่วนให้นิสิตนักศึกษาอย่างทั่วถึง โดยมุ่งหวังผลสำเร็จของงาน แต่ในความเป็นจริงความสุขที่ได้ลักษณะสวัสดิการนั้นหมายรวมถึง จริยธรรมด้วย และความสุขมิใช่เพิ่มขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะเกิดจากการเปรียบเทียบจากคนรอบข้างระหว่างตนเองกับเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นในปัจจุบันมหาวิทยาลัยควรเน้นด้านสุขภาพมากกว่าสวัสดิการด้านผลประโยชน์ เช่น การจัดเสริมการออกกำลังกายในเวลาช่วง 15 – 17 นาฬิกาทุกวันศุกร์ เป็นต้น

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : ในด้านการจัดกิจกรรมนันทนาการของหนังสือวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพนี้ กล่าวว่าจะต้องเป็นกิจกรรมนันทนาการที่ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย อารมณ์ จิตใจเป็นพื้นฐาน พร้อมประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคม