หลังจากการถ่ายภาพเสร็จสิ้นลง ขั้นตอนต่อมาคือการโอนข้อมูลไฟล์ภาพจากกล้องหรือจากการ์ดหน่วยความจำ เข้ามายังเครื่องคอมพิวเตอร์และจัดการกับไฟล์ภาพเหล่านั้น ซึ่งมีโปรแกรมช่วยในการโอนและจัดการไฟล์ภาพหลายโปรแกรม ในที่นี้จะนำเสนอด้วยโปรแกรม Adobe Bridge CS4ซึ่งเป็นโปรแกรมเสริมจากการติดตั้งในชุด Creative Suite CS4

ส่วนประกอบสำคัญของ Adobe Bridge CS4

แถบเครื่องมือพื้นฐาน

    เราสามารถจัดการกับไฟล์ภาพต่างๆ และเลือกใช้ Workspace ของ Adobe Bridge CS4 โดยใช้เครื่องมือพื้นฐานต่างๆ ต่อไปนี้

การเลือก Workspace เพื่อการใช้งาน

    Workspace เป็นพื้นที่ทำงานเพื่อดูภาพใน Adobe Bridge CS4 สามารถเลือกได้หลายรูปแบบตามความต้องการใช้งาน ดังนี้

    ESSENTIALS : แสดงภาพและพาเนลที่จำเป็นทั้งหมด

    FILMSTRIP : แสดงภาพและภาพตัวอย่างในแนวนอนเหมาะสำหรับการเปรียบเทียบภาพ

 

    METADATA : แสดงภาพพร้อมข้อมูลจำเพาะของภาพ

    OUTPUT : ใช้สร้าง Output ให้ภาพที่เลือกว่าจะ Export เป็น PDF หรือ WEB GALLERY

    KEYWORDS : แสดงภาพพร้อมกับคีย์เวิร์ด

    PREVIEW : แสดงภาพและภาพตัวอย่างในแนวตั้ง เหมาะสำหรับการเปรียบเทียบ

    LIGHT TABLE : แสดงภาพโดยซ่อนพาเนลทั้งหมด

    FOLDERS : แสดงภาพและพาเนล FOLDERS เท่านั้น เพื่อให้สามารถคลิกเลือกภาพจากแหล่งอื่นได้ง่ายขึ้น

การโอนไฟล์ภาพไว้ในคอมพิวเตอร์ด้วย Adobe Bridge CS4

    โปรแกรม Adobe Bridge CS4 ขอเรียกสั้นๆ ว่า Bridge การนำไฟล์ภาพมาไว้ในคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม Bridge มีขั้นตอนดังนี้

    ขั้นที่ 1 อันดับแรกให้เปิดโปรแกรม Bridge ขึ้นมาก่อนแล้วต่อกล้องที่ช่อง USB หรือเสียบการ์ดหน่วยความจำ ที่ช่อง Card Reader ของคอมพิวเตอร์ (อาจเสียบที่ Card Reader จากภายนอกก็ได้) จากนั้นคลิกที่ไอคอน Get Photos from Camera หรือคลิกที่เมนู File > Get Photo fromCamera

    ขั้นที่ 2 การคลิกที่ไอคอน Get Photos from Camera จะเป็นการเปิดกรอบ Photo Downloader ขึ้นมาในรูปแบบ Standard Dialog ให้คลิกเลือก แหล่งข้อมูลไฟล์ภาพจากเมนูป็อปอัพใต้ Get Photos from จะปรากฏภาพเพียงหนึ่งภาพทางด้านบนซ้าย แต่มองภาพไม่ชัดให้ลองเปลี่ยน มาเป็นรูปแบบ Advanced Dialog ตามขั้นที่ 3

    ขั้นที่ 3 คลิกที่ปุ่ม Advanced Dialog ตรงมุมด้านซ้ายล่าง ก็จะเปลี่ยนมาเป็น Advanced Dialog โดยมีภาพพรีวิวแบบทัมบ์เนลทางซ้ายทุกภาพและมีตัวเลือกสำคัญๆ อยู่ทางขวา ค่าที่กำหนดให้ (ดีฟอลต์) โปรแกรมจะโหลดภาพทุกภาพที่อยู่ในกล้องหรือในการ์ดที่แสดงเป็นทัมบ์เนลให้เห็นนี้เข้าคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แต่ถ้าไม่ต้องการภาพไหนให้เอาเครื่องหมาย / ตรงเช็คบ็อกซ์ของภาพนั้นออกไปและถ้าต้องการภาพเพียงบางภาพเท่านั้นให้คลิกปุ่ม Uncheck All ซึ่งอยู่ทางด้านล่างซ้ายแล้วกดคีย์ Ctrl ค้างไว้พร้อมกับคลิกบนภาพที่ต้องการโหลด ภาพที่ถูกเลือกจะปรากฏเป็นโฮไลต์ เมื่อเลือกภาพได้ตามต้องการแล้วให้คลิกทำเครื่องหมาย / ในเช็คบ็อกซ์ของภาพใดก็ได้ที่เลือกไว้ จะทำให้ภาพที่ทำไฮไลต์ไว้มีเครื่องหมาย / ทุกภาพ แสดงว่าภาพถูกเลือกแล้ว

    ขั้นที่ 4 เมื่อเลือกภาพได้แล้ว ให้ระบุว่าจะโหลดเอาภาพเหล่านี้ไปเก็บไว้ที่ไหน ซึ่งโดยปกติแล้ว ภาพจะถูกเก็บไว้ในโฟลเดอร์ My Pictures แต่ถ้าต้องการเก็บภาพไว้ที่อื่น ให้คลิกปุ่ม Browse แล้วเลือกว่าจะเก็บไว้ที่ใด

    ขั้นที่ 5 เมื่อเลือกที่เก็บภาพได้แล้วโปรแกรมจะสร้างโฟลเดอร์ ขึ้นมาเก็บภาพโดยตั้งชื่อโฟลเดอร์เป็นวันที่ถ่ายภาพ ถ้าเราต้องการตั้งชื่อโฟลเดอร์ใหม่ ให้มีความหมาย เกี่ยวข้องกับภาพที่ถ่าย ให้เลือกเมนูป็อปอัพตรง Create Subfolder(s) เป็น Custom Name แล้วตั้งชื่อใหม่ตามต้องการ

    ขั้นที่ 6 ชื่อของไฟล์ภาพที่โหลดมาจะเป็นชื่อตามที่กล้องตั้งให้ ซึ่งสื่อความหมายไม่ค่อยชัดเจน ถ้าจะตั้งชื่อใหม่ Photo Downloader สามารถช่วยให้เราตั้งชื่อไฟล์ภาพใหม่ได้ โดยคลิกตรงเมนูป็อปอัพ Rename Files แล้วเลือกรูปแบบการตั้งชื่อที่ต้องการ

    ขั้นที่ 7 ถ้าเลือกรูปแบบตั้งชื่อเป็น Custom Name ก็จะมีฟิลด์ข้อความปรากฏขึ้นมาใต้เมนูป็อปอัพ ให้พิมพ์ชื่อที่ต้องการลงไป ส่วนฟิลด์ที่อยู่ข้างขวาให้ใส่ค่าตัวเลขที่ต้องการให้เริ่มจัดลำดับภาพลงไป ซึ่งใต้ฟิลด์ที่กรอกชื่อลงไปนั้น จะแสดงตัวอย่างของชื่อตามเงื่อนไขที่เราตั้งไว้ให้เห็นและมีเช็คบ็อกซ์ให้เลือกอีกว่า จะเก็บชื่อเดิมของภาพเอาไว้หรือไม่ ก็ควรเลือกไว้เพราะไม่แน่ว่าเราอาจต้องใช้ภายหลังก็ได้

    ขั้นที่ 8 ในส่วนของ Advanced Options จะมีเช็คบ็อกซ์เลือกไว้ให้เปิดโปรแกรม Bridge ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เช็คบ็อกซ์ถัดมาใช้สำหรับแปลงไฟล์ RAW ซึ่งมีอยู่หลายฟอร์แมตตามยี่ห้อของกล้องให้เป็นไฟล์ DNG เพื่อให้สามารถนำมาใช้กับ Photoshop CS4 ได้ทันที เช็คบ็อกซ์ถัดมาคือ Delete Original File เช็คบ็อกซ์ตัวนี้ไม่ควรเลือกเพราะเป็นการสั่งให้ลบภาพทั้งหมดออกจากการ์ดหน่วยความจำเมื่อโอนย้ายภาพไปไว้ในคอมพิวเตอร์แล้ว เหตุที่ไม่ควรเลือกเพราะถ้าหากไฟล์ที่เรานำไปไว้ในคอมพิวเตอร์เกิดเสียหายขึ้นมาเราจะไม่มีไฟล์ภาพต้นฉบับไว้ใช้ เช็คบ็อกซ์ตัวสุดท้ายคือSave Copies to เพื่อให้โปรแกรมสำเนาไฟล์ภาพไปยังไดรฟ์อื่น ๆ ที่อยู่นอกเครื่องคอมพิวเตอร์โดยคลิกที่เช็คบ็อกซ์ Save Copies to แล้วคลิกปุ่ม Browse เลือกไดรฟ์ที่ต้องการเก็บสำเนาภาพ

    ขั้นที่ 9 ถัดลงมาเป็นส่วนของ Apply Metadata ใช้สำหรับใส่ข้อมูลเพิ่มเติมให้กับภาพ เช่น ชื่อผู้ถ่าย หรือข้อมูลลิขสิทธิ์ โดยคลิกในฟิลด์ Creator แล้วพิมพ์ชื่อผู้ถ่าย ต่อไปคลิกที่ฟิล์ด Copyright แล้วพิมพ์ข้อมูลลิขสิทธิ์ลงไป ข้อมูลเหล่านี้จะติดไปพร้อมกับภาพเมื่อภาพถูกโหลดเข้าคอมพิวเตอร์

    ขั้นที่ 10 เมื่อกำหนดค่าต่างๆ ที่ต้องการเสร็จแล้ว ให้คลิกที่ปุ่ม Get Photos ซึ่งอยู่ตรงมุมล่างขวา โปรแกรมก็จะโหลดภาพเข้าสู่คอมพิวเตอร์ ขณะโหลด เราสามารถมองเห็นภาพที่กำลังถูกโหลดด้วย

    ขั้นที่ 11 เมื่อโหลดไฟล์ภาพเสร็จแล้ว จะปรากฏภาพในลักษณะทัมบ์เนลแสดงอยู่ใน Bridge ซึ่งทำให้เราสามารถจัดการภาพเหล่านี้ได้สะดวกขึ้น ดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

การดูภาพแบบเต็มจอในโหมด Full Screen

    Full Screen เป็นโหมดแสดงภาพเต็มจอปกติ และในขณะดูภาพแบบเต็มจอเรายังสามารถย่อ-ขยาย ดูภาพในสัดส่วน 100-800 % ได้อีกด้วย มีขั้นตอนดังนี้

    ขั้นที่ 1 คลิกเลือกภาพแล้วไปที่เมนู View>Full Screen Preview หรือกดปุ่ม <Space Bar> ภาพจะแสดงออกมาเต็มจอ

    ขั้นที่ 2 คลิกเม้าส์บนภาพจะเป็นการขยายภาพ 100%

    ขั้นที่ 3 เลื่อน Mouse Wheel ที่ตัวเมาส์ เพื่อขยายภาพเป็น 800%

    ขั้นที่ 4 เมื่อขยายภาพสามารถใช้เมาส์ลากภาพเพื่อแสดงให้เห็นแต่ละส่วนของภาพได้

    ขั้นที่ 5 ขณะแสดงภาพในโหมด Full Screen ถ้าจะดูภาพต่อๆ ไป หรือย้อนกลับไปดูภาพเดิมให้กดปุ่มลูกศรที่แป้นคีย์บอร์ด ซ้าย-ขวา

    ขั้นที่ 6 เมื่อต้องการกลับเข้าสู่โหมดปกติให้กด ปุ่ม <Esc>

การดูภาพแบบ Slideshow

    การแสดงภาพแบบ Slideshow ใน Bridge มีเอฟเฟ็กต์การแสดงภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจหลายแบบ มีขั้นตอนดังนี้

    ขั้นที่ 1 ให้คลิกที่เมนู View>Slideshow ภาพก็จะแสดง Slideshow ตามค่าที่ตั้งมาแบบ ดีฟอลต์ หรือตามค่าที่เราตั้งไว้หลังสุด ที่มีการปรับตั้งค่า แต่ถ้าเราต้องการปรับเปลี่ยนตั้งค่าใหม่ ให้ทำตามขั้นที่ 2

    ขั้นที่ 2 การปรับตั้งค่าการแสดงแบบ Slideshow ให้คลิกที่เมนู View>Slideshow>Options จะปรากฏกรอบ Slideshow Options มาให้

    ขั้นที่ 3 ในกรอบ Slideshow Option ด้านบนสุดจะเป็นส่วนของ Display Options สำหรับคนที่ใช้ 2 หน้าจอ หากคลิกเลือกที่เช็คบ็อกซ์แรกจะเป็นการสั่งปิดหน้าจอหนึ่งไปเพื่อให้สไลด์ แสดงอยู่เพียงหน้าจอเดียวสำหรับเช็คบ็อกซ์ Repeat Slideshow หากเลือกจะทำให้แสดงสไลด์วนซ้ำไปเรื่อยๆ ถัดมาเป็นเช็คบ็อกซ์ Zoom Back And Forth หากเลือกจะทำให้ภาพค่อยๆ เลื่อนเข้ามาหาหน้าจอและเลื่อนออกไปช้าๆ ทำให้ภาพสไลด์ดูเหมือนเคลื่อนไหวได้

    ขั้นที่ 4 ส่วนต่อมาเป็น Slide Option เป็นตัวเลือกเกี่ยวกับการแสดงผลของสไลด์ เช่น ระยะเวลาที่ต้องการให้ภาพปรากฏอยู่บนจอ โดยคลิกเลือกที่เมนูป็อปอัพตรง Slides Duration ว่าจะให้ภาพแสดงอยู่กี่วินาที หรือจะเลือกเป็นแบบ Manual เมื่อต้องการเปลี่ยนภาพเองด้วยการกดลูกศรที่แป้นคีย์บอร์ด และถ้าต้องการกำหนดรายละเอียดของภาพแบบต่างๆให้คลิกเลือกที่เมนูป็อปอัพตรง Caption ถัดมาเป็นการกำหนดตำแหน่งและขนาดของภาพในการแสดง Slideshow ถ้าเลือก Centered ภาพจะอยู่กลางจอโดยมีพื้นสีเทาเป็นกรอบภาพ ถ้าเลือก Scaled to Fit ภาพจะพอดีกับความสูง(ถ้าเป็นภาพแนวตั้ง) หรือพอดีกับความกว้าง(ถ้าเป็นภาพแนวนอน) ตัวเลือกนี้ภาพบางขนาดจะมีสีเทาแสดงขึ้นมาเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเลือก Scaled to Fill ภาพจะขยายขึ้นจนเต็มจอทั้งภาพแนวตั้งและแนวนอน

    ขั้นที่ 5 ส่วนสุดท้ายคือ Transition Options เป็นส่วนที่ให้กำหนดรูปแบบการเปลี่ยนภาพ โดยคลิกเลือกที่เมนูป็อปอัพตรง Transition ซึ่งมีให้เลือกหลายรูปแบบ ส่วนตัวเลื่อน Transition Speed เป็นตัวกำหนดความเร็วขณะเปลี่ยนภาพโดยแดรกเมาส์ลากไปยังตำแหน่ง Faster หรือ Slowerตามต้องการ

    ขั้นที่ 6 คลิกที่ ปุ่ม Play จะเริ่มแสดงภาพแบบสไลด์โชว์ตามค่าที่ตั้งไว้

    ขั้นที่ 7 ขณะแสดงภาพถ้าต้องการหยุดภาพชั่วคราวให้กดที่ปุ่ม <Spacebar> และถ้าต้องการแสดงภาพต่อให้กดที่ปุ่ม <Spacebar> ซ้ำ เมื่อคลิกเมาส์ไปที่ภาพที่กำลังแสดงอยู่จะเป็นการซูมขยายภาพ 100 % นอกจากนี้ยังสามารถเลื่อน Mouse Wheel เพื่อซูมขยายภาพได้ถึง 800 % ขณะที่เรากำลังซูมขยายภาพ การแสดงภาพแบบ Slideshow จะหยุดทำงานชั่วคราว ถ้าต้องการให้แสดงภาพแบบ Slideshow ต่อให้กดที่ปุ่ม <Spacebar>

    ขั้นที่ 8 ถ้าต้องการออกจาก Slideshow ให้กดปุ่ม <Esc>

การหมุนภาพ

    การหมุนภาพใน Bridge เป็นการหมุนภาพเฉพาะทัมบ์เนลเท่านั้น ตัวภาพจริงไม่ได้ถูกหมุนตามไปด้วย การหมุนภาพสามารถหมุนภาพได้ 2 วิธี คือการหมุนเฉพาะภาพทัมบ์เนล และการหมุนภาพจริง มีขั้นตอนดังนี้

    การหมุนภาพเฉพาะทัมบ์เนล

    ขั้นที่ 1 ให้คลิกภาพที่ทัมบ์เนลก่อน

    ขั้นที่ 2 คลิกที่ไอคอนรูปลูกศรตรงมุมขวาบนของ Bridge ให้หมุนตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกา

    ขั้นที่ 3 ภาพทัมบ์เนลก็จะหมุนตามที่เราต้องการ

    การหมุนภาพจริง

    การหมุนภาพทัมบ์เนล ภาพตัวจริงจะไม่ถูกหมุนไปด้วยพิสูจน์ได้โดยลองเปิดดูภาพทัมบ์เนลในโฟลเดอร์ที่เก็บภาพ จะพบว่าภาพจริงยังไม่ถูกหมุนเลย

    การทำให้ภาพตัวจริงหมุนเหมือนภาพทัมบ์เนลที่หมุนไว้แล้ว

    ขั้นที่ 1 ให้ดับเบิ้ลคลิกภาพทัมบ์เนลที่หมุนไว้แล้วใน Bridge ภาพจะถูกเปิดขึ้นมาด้วยโปรแกรม Photoshop โดยจะปรากฏเป็นภาพที่ถูกหมุนไว้แล้วตามคำสั่งใน Bridge

    ขั้นที่ 2 จากนั้นให้คลิกเลือกเมนู File>Save จะขึ้นกรอบให้เลือกตั้งค่าคุณภาพของภาพ เมื่อเลือกแล้วให้คลิก OK เพื่อให้ภาพอยู่ในสภาพที่หมุนไว้แล้วตลอดไป

    ขั้นที่ 3 เมื่อเปิดดูภาพทัมบ์เนลในโฟลเดอร์ที่เก็บภาพจะพบว่าภาพจริงถูกหมุนแล้ว

การเข้าถึงไฟล์หรือโฟลเดอร์ที่เก็บภาพ

    การเข้าถึงไฟล์หรือโฟลเดอร์ที่เก็บภาพ สามารถเข้าถึงได้โดยใช้พาเนล FAVORITES และ FOLDERS

    พาเนล FAVORITES เป็นที่เก็บโฟลเดอร์ที่เราใช้งานบ่อยๆ เราสามารถเข้าสู่ไฟล์ภาพโดยคลิกไปที่โฟลเดอร์ที่เก็บไฟล์ภาพนั้นๆในพาเนล FAVORITES ภาพก็จะถูกแสดงออกมาเในรูปแบบทัมบ์เนล วิธีการนำโฟลเดอร์ที่ใช้งานบ่อยๆ มาไว้ในพาเนล FAVORITES มีขั้นตอนดังนี้

    ขั้นที่ 1 คลิกเลือกโฟลเดอร์ที่ต้องการใน CONTENT แล้วแดรกเมาส์ไปวางไว้ในพาเนล FAVORITES

    ขั้นที่ 2 โฟลเดอร์จะเข้าไปอยู่ในพาเนล FAVORITES ถ้าคลิกเม้าส์ที่โฟลเดอร์นั้น ภาพทั้งหมดจะถูกแสดงออกมาในรูปแบบทัมบ์เนลที่ CONTENT

    ขั้นที่ 3 เมื่อไม่ต้องการใช้งานโฟลเดอร์นี้ ให้คลิกขวาที่โฟลเดอร์แล้วเลือก Remove from Favorites

    พาเนล FOLDERS การใช้งานจะเหมือนกับโปรแกรมพื้นฐานทั่วๆไป จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

    การคัดกรองภาพ

    การคัดกรองภาพ เป็นการคัดเลือกภาพที่มีอยู่เป็นจำนวนมากให้เหลือเฉพาะภาพที่ต้องการเราสามารถค้นหาภาพและคัดเลือกภาพที่ต้องการได้หลายวิธีดังนี้

    การคัดกรองภาพด้วยวิธี Rating

    เป็นการจัดระดับคุณภาพหรือความต้องการให้กับภาพที่ถ่ายโดยการให้ดาว 5 , 4 , 3 , 2 , 1 ดวงภาพที่ได้ดาว 5 ดวง ก็จะเป็นภาพที่มีคุณภาพอยู่ในระดับสูงที่สุดหรือตรงกับความต้องการของผู้ถ่ายมากที่สุด ส่วนภาพที่มีดาวน้อยลงไปก็จะถูกจัดว่ามีคุณภาพหรือตรงกับความต้องการของผู้ถ่ายน้อยลงตามลำดับ วิธีการจัด Rating มีดังนี้

        ขั้นที่ 1 เปิดภาพขึ้นมาใน Bridge ภาพจะปรากฏเรียงไว้ตามลำดับตัวอักษรของชื่อไฟล์ภาพ เราสามารถเปลี่ยนวิธีการเรียงภาพใหม่โดยคลิกที่คำว่า Sort by Filename ในแถบเครื่องมือพื้นฐานจะปรากฏเมนูป็อปอัพขึ้นมาให้คลิกเลือกวิธีการเรียงลำดับภาพตามที่เราต้องการ

        ขั้นที่ 2 เลือกดูภาพที่เราต้องการ อาจดูภาพด้วยโหมด Full Screen Preview โดยคลิกเลือกภาพที่ต้องการแล้วกดที่ปุ่ม Spacebar จะทำให้ภาพเต็มจอและเมื่อกด Spacebar ซ้ำอีกภาพก็จะกลับไปเหมือนเดิม

        ขั้นที่ 3 ใส่ดาวให้กับภาพมี 5 ระดับ 5,4,3,2,1 ดวง ซึ่งเมื่อคลิกภาพจะปรากฏจุดใต้ภาพ 5 จุด ให้แดรกเมาส์ไปที่จุดเหล่านั้น จุดจะกลายเป็นรูปดาวตามจำนวนที่เราต้องการจุดละ 1 ดวง

        ขั้นที่ 4 เมื่อต้องการให้แสดงภาพตามที่เราเลือกไว้ ก็เพียงแต่คลิกปุ่มดาวที่แถบเครื่องมือมือพื้นฐาน จะปรากฏเมนูป็อปอัพขึ้นมาให้คลิกเครื่องหมาย / เพื่อแสดงภาพตามจำนวนดาวที่
เราต้องการ เช่น ถ้าต้องการให้แสดงภาพเฉพาะ 5 ดาว ให้คลิกปุ่มดาวที่แถบเครื่องมือพื้นฐาน แล้วคลิกเลือก Show 5 Stars ก็จะปรากฏภาพเฉพาะ 5 ดาว แสดงออกมาที่กรอบ Content และถ้าต้องการให้กลับมาเหมือนเดิมให้คลิกเอาเครื่องหมาย / ออก การแสดงภาพก็จะกลับมาเหมือนเดิม

การคัดกรองภาพด้วยการสร้าง Label

    การคัดกรองภาพด้วยการสร้าง Label เป็นการป้ายแถบสีตรงจุดใต้ภาพ เพื่อระบุให้ทราบข้อมูลต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ว่าแถบสีใดหมายความว่าอย่างไร เช่น แถบสีแดง หมายถึงภาพที่ถูกเลือก เป็นต้น ขั้นตอนการสร้างแถบสีมีดังนี้

    ขั้นที่ 1 คลิกเลือกภาพที่ต้องการสร้าง Label

    ขั้นที่ 2 คลิกเมนู Label แล้วเลือกลักษณะงานที่ต้องการ เช่น เลือก Select

    ขั้นที่ 3 ลักษณะแถบสีที่เกิดขึ้นจากการสร้าง

 

    ขั้นที่ 4 เมื่อสร้างแถบสีแล้วต้องการลบแถบสี ให้คลิกที่ภาพที่ต้องการลบแถบสี แล้วคลิกที่เมนู Label จากนั้นคลิกเลือก No Labelแถบสีจะหายไป

    ขั้นที่ 5 เราสามารถตั้งชื่อเพื่อแสดงความหมาย ของแถบสีต่างๆได้โดยคลิกปุ่ม Ctrl+K จะปรากฏกรอบPreferences แล้วคลิกที่หมวด Labelsทางซ้ายมือ จากนั้นเข้าไปตั้งชื่อให้กับแถบสีต่างๆ ใหม่ได้

    ขั้นที่ 6 การค้นหาภาพที่ใส่แถบสีไว้ ให้คลิกปุ่มดาวที่แถบเครื่องมือพื้นฐาน แล้วคลิกเลือก Show Labeled Items Only ก็จะแสดงภาพที่สร้างแถบสีไว้ทั้งหมดขึ้นมา

    การคัดกรองภาพด้วยพาเนล FILTER

    พาเนล FILTER ใช้คัดกรองภาพถ่ายจากข้อมูลจำเพาะ เช่น วันที่ถ่าย ความเร็วชัตเตอร์ การเปิดรูรับแสง ภาพแนวตั้ง ภาพแนวนอน ฯลฯ เป็นต้น ขั้นตอนมีดังนี้

    ขั้นที่ 1 คลิกเปิดพาเนล FILTER จะปรากฏเงื่อนไขต่างๆ ที่ใช้คัดกรองขึ้นมา

 

    ขั้นที่ 2 คลิกเลือกเงื่อนไข สำหรับคัดกรองภาพเช่น คลิกที่ Orientation แล้วคลิกว่า จะเลือกเฉพาะภาพแนวนอน (Landscape) หรือแนวตั้ง (Portrait)

    ขั้นที่ 3 จากขั้นตอนที่ 2 เมื่อคลิกเลือกภาพแนวตั้งภาพจะถูกคัดกรอง ให้แสดงเฉพาะภาพแนวตั้งเท่านั้น

    การคัดกรองภาพด้วยพาเนล COLLECTIONS

    เป็นการคัดกรองภาพโดยการสร้าง Collections ใหม่ให้กับไฟล์ภาพ เมื่อจะใช้งานก็เพียงแค่คลิกที่ COLLECTIONS ที่สร้างไว้ก็จะปรากฏภาพที่ต้องการ การสร้าง Collections ทำได้ 2 ลักษณะคือ การนำภาพที่คลิกเลือกมาสร้างเป็น Collections ใหม่ และอีกวิธีหนึ่งคือการสร้าง Collections ตามเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อเลือกเฉพาะภาพที่ต้องการเท่านั้น ขั้นตอนมีดังนี้

        การนำภาพที่คลิกเลือกมาสร้างเป็น Collections ใหม่มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 ให้คลิกที่คำว่า ESSENTIALS บนแถบเครื่องมือพื้นฐาน
ขั้นที่ 2 คลิกที่โฟลเดอร์ที่ต้องการดูภาพ จะปรากฏภาพขึ้นมาให้เลือกใน CONTENT จากนั้นกดคีย์ Ctrl + คลิกภาพที่ต้องการหรือกดคีย์ Ctrl + A เพื่อเลือกภาพทั้งหมด
ขั้นที่ 3 คลิกที่ปุ่ม New Collections ของพาเนล COLLECTIONS ที่อยู่ทางซ้ายของหน้าต่างโปรแกรม จะมีกรอบถามเราว่าต้องการนำภาพที่เลือกใส่ไว้ใน Collections ที่สร้างไว้หรือไม่ ให้คลิก Yes
ขั้นที่ 4 เมื่อคลิก “Yes” Bridge จะสร้าง Collections ใหม่ไว้ในพาเนล COLLECTIONS โดยยังไม่ตั้งชื่อ พร้อมแสดงภาพออกมาในเราสามารถคลิกเข้าไปตั้งชื่อใหม่ได้
ขั้นที่ 5 การเปิดดูภาพใน Collections ที่สร้างไว้คราวต่อ ๆ ไป ก็เพียงแค่คลิกตรงชื่อ Collections ที่สร้างไว้ ก็จะปรากฏภาพในCollections นั้นแสดงออกมาใน CONTENT

 

    การสร้าง Collections ตามเงื่อนไข มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 คลิกที่ปุ่ม New Smart Collections ที่อยู่คู่กับ New Collections
ขั้นที่ 2 กำหนดเงื่อนไขเพื่อเลือกภาพตามต้องการ เช่น เลือกค่า ISO
ขั้นที่ 3 กรอกค่า ISO ที่ต้องการลงไป แล้วคลิก Save
ขั้นที่ 4 เมื่อคลิก Save โปรแกรม Bridge จะสร้าง Collections ใหม่ไว้ในพาเนล COLLECTIONS โดยยังไม่ไม่ตั้งชื่อ เราสามารถคลิกเข้าไปตั้งชื่อใหม่ได้ และจะแสดงเฉพาะภาพตามค่า ISO ที่ต้องการออกมา

การเปิดดูข้อมูลและเพิ่มข้อมูลให้กับไฟล์ภาพ

ขณะที่ถ่ายภาพกล้องจะฝังข้อมูลบางอย่างลงในภาพเรียกว่าข้อมูล EXIF เช่น ยี่ห้อและรุ่นของกล้องที่ใช้ถ่าย เลนส์ที่ใช้ ความเร็วชัตเตอร์ ขนาดรูรับแสง ฯลฯ เป็นต้น เราสามารถดูข้อมูลเหล่านี้ผ่าน Bridge และเพิ่มข้อมูลลงไปได้ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ถ่าย ข้อมูลลิขสิทธิ์ และ Bridge ยังแสดงข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับตัวภาพได้อีกด้วย เช่น ขนาดภาพ จำนวนพิกเซล โหมดสี ฯลฯ เป็นต้น เราสามารถเปิดดูและเพิ่มข้อมูลภาพโดยใช้พาเนล METADATA มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 คลิกเลือก Workspace แบบ ESSENTIALS
ขั้นที่ 2 คลิกภาพที่ต้องการดูข้อมูลจะปรากฏภาพในส่วนของ Preview ใต้ภาพลงมาจะมี
พาเนล METADATA ให้คลิกที่พาเนล METADATA จะพบภาพจำลองหน้าจอ LCD ของกล้องแสดงอยู่ตรงด้านบนซ้ายของพาเนล ในหน้าจอนี้จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายภาพ เช่น ขนาดรูรับแสงความเร็วชัตเตอร์ ค่า ISO โหมดการวัดแสง ส่วนด้านบนขวาของพาเนลจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับไฟล์ภาพเช่น ความกว้างและความยาวของภาพ ขนาดของไฟล์ ความละเอียดของภาพ เป็นต้น ถัดลงมาด้านล่างจะเป็นส่วนของ File Properties เป็นส่วนที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับภาพอย่างละเอียด

 

ขั้นที่ 3 ลากแถบตัวเลื่อนลงมาถึงส่วน IPTC Core เราสามารถเพิ่มเติมข้อมูลต่าง ๆ ลงในส่วนของ IPTC Core เช่น ชื่อผู้ถ่าย ข้อมูลในการติดต่อ โดยคลิกที่ไอคอนสามเหลี่ยมใกล้ ๆ กับคำว่า IPTC Core จะปรากฏฟิลด์ให้เติมข้อมูล ฟิลด์ใดมีรูปดินสออยู่แสดงว่าเพิ่มเติมข้อมูลได้
ขั้นที่ 4 การเพิ่มข้อมูลทำได้โดยคลิกที่ฟิลด์นั้นๆ เช่น Creator ก็พิมพ์ชื่อผู้ถ่ายลงไปและกดคีย์ Tab เพื่อเลื่อนไปยังฟิลด์ถัดไป เมื่อพิมพ์ข้อมูลได้ตามต้องการแล้วให้กดคีย์ Enter หรือคลิกที่เครื่องหมาย/ ด้านล่างของพาเนล
ขั้นที่ 5 ถ้าต้องการเพิ่มข้อมูลให้ภาพครั้งละหลาย ๆ ภาพ ให้กดคีย์ Ctrl + A เพื่อเลือกภาพทั้งหมด หรือกดคีย์ Ctrl + คลิกเลือกภาพที่ต้องการ จากนั้นคลิกที่ดินสอด้านขวาของฟิลด์ข้อมูลที่ต้องการใส่ลงในภาพ และพิมพ์ข้อมูลลงไปตามต้องการ เสร็จแล้วกดคีย์ Enter


ขั้นที่ 6 ลากแถบตัวเลื่อนลงมาจะถึงส่วนของ Camera Data (EXIF) เป็นข้อมูลที่กล้องสร้างขึ้นมาขณะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ ใช้สำหรับดูข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้

การค้นหาภาพด้วยพาเนล KEYWORDS

    ถ้าเราต้องการคัดกรองค้นหาภาพ ตามประเภทของภาพที่ถ่ายออกมา เช่น ภาพดอกไม้ภาพบุคคล ภาพทิวทัศน์ สามารถใช้พาเนล KEYWORDS ซึ่งอยู่คู่กับพาเนล METADATA ค้นหาได้ขั้นตอนมีดังนี้

ขั้นที่ 1 คลิกที่ Workspace ESSENTIALS แล้วคลิกที่พาเนล KEYWORDS จะพบตัวอย่างประเภทของ Keywords ที่กำหนดไว้ให้ ถ้าต้องการสร้าง Keywords ใหม่ให้ทำตามขั้นที่ 2
ขั้นที่ 2 คลิกที่ปุ่ม ด้านล่างขวาของพาเนลแล้วกรอกชื่อ Keywords ที่ต้องการลงไปแล้วกดคีย์ Enter เมื่อตั้งชื่อเสร็จ Keywords ใหม่ (เมืองโบราณ) จะเพิ่มขึ้นมาจากที่มีอยู่เดิม เราสามารถลบออกได้โดยคลิกขวาที่ Keywords นั้น แล้วคลิก Delete
ขั้นที่ 3 คลิกเลือกภาพที่ต้องการเก็บไว้ใน Keywords ที่สร้างขึ้น โดยกดคีย์ Ctrl + คลิกภาพที่ต้องการ
ขั้นที่ 4 คลิกใส่เครื่องหมาย / ใน Keywords ที่สร้างขึ้น
ขั้นที่ 5 เมื่อต้องการค้นหาภาพจาก Keywords ให้กรอกชื่อ Keyword (เมืองโบราณ) ที่มุมบนขวา แล้วกดคีย์ Enter

ขั้นที่ 6 ภาพที่มี Keywordsตรงกันจะแสดงออกมาทั้งหมด
ขั้นที่ 7 ถ้าต้องการลบภาพใดออกจาก Keywords ให้คลิกที่ภาพนั้นแล้วเอาเครื่องหมาย / ที่Keywords ออก
ขั้นที่ 8 เมื่อเปิดดูโดยกรอกชื่อ Keyword (เมืองโบราณ) ที่มุมบนขวาแล้วกดคีย์ Enter ก็จะพบว่าภาพที่ลบ Keywordแล้วหายไป

การลบภาพหรือโฟลเดอร์ออกจาก Bridge

การลบภาพหรือโฟลเดอร์ออกจาก Bridge มีขั้นตอน 2 ขั้น

ขั้นที่ 1 คลิกเลือกภาพหรือโฟลเดอร์ที่ต้องการลบแล้วกดคีย์ Delete โปรแกรมจะยังไม่ลบแต่จะแสดงกรอบถามเราว่าจะแยกภาพไว้ใน Reject หรือต้องการลบเลย

1.1 ถ้าเราเพียงแต่ต้องการแยกภาพไว้ใน Reject ให้คลิกที่ Reject จะปรากฏข้อความ Reject สีแดงใต้ภาพ
1.2 เราสามารถซ่อนภาพ Reject ไม่ให้แสดง โดยคลิกที่รูปดาวในเครื่องมือพื้นฐานให้แสดงเฉพาะภาพที่เราต้องการได้ เช่น ให้แสดงเฉพาะภาพที่ไม่ได้ใส่ Rating ก็คลิกที่รูปดาวแล้วเลือก Show Unrated Item Only
1.3 ถ้าเราต้องการลบภาพเหล่านั้นเลยให้คลิก Delete ก็จะเข้าสู่ขั้นที่ 2 และถ้าเรากำหนดเป็น Reject ภาพไว้ แล้วจะยกเลิก Reject ให้เข้าไปที่เมนู Label>Increase>Rating ภาพจะกลับมาเหมือนเดิม

ขั้นที่ 2 เมื่อคลิก Delete ในข้อ 1.3 แล้วก็ยังมีกรอบข้อความขึ้นมาถามอีกว่า เราแน่ใจที่จะลบภาพนี้ทิ้งลงในถังขยะหรือ ถ้าต้องการลบทิ้งให้คลิก OK ภาพก็จะถูกลบทิ้งไปไว้ในถังขยะ ถ้าเราจะข้ามขั้นที่ 1 สู่ขั้นที่ 2 เลย เมื่อคลิกภาพหรือโฟลเดอร์ที่ต้องการลบแล้วให้กดคีย์ Ctrl+Delete หรือคลิกขวาที่ภาพหรือโฟลเดอร์ที่ต้องการลบแล้วคลิก Delete ก็จะเข้าสู่ขั้นที่ 2 ทันที

การใช้งานคำสั่งอัตโนมัติร่วมกับ Photoshop

    ในขณะทำงานอยู่ใน Bridge เมื่อดับเบิ้ลคลิกไปที่ภาพใด ก็จะเป็นการเปิดภาพนั้นเข้าสู่โปรแกรม Photoshop CS4 ทันที นอกจากนี้ยังมีคำสั่งอื่น ๆ อีกภายใน Bridge เช่น คำสั่งเกี่ยวกับ
การปรับขนาดภาพ การต่อภาพพาโนรามา ซึ่งเมื่อใช้คำสั่งเหล่านี้ โปรแกรม Photoshop CS4 ก็จะถูกเปิดใช้เพื่อจัดการภาพทันที รายละเอียดมี ดังนี้

การปรับขนาดภาพ

ในการทำงานกับภาพถ่ายใน Photoshop อาจต้องมีการปรับขนาดภาพให้เหมาะกับงานที่ทำซึ่งเราสามารถปรับขนาดภาพผ่าน Bridge ไปสู่ Photoshop ได้ดังนี้

ขั้นที่ 1 เลือกไฟล์ภาพที่ต้องการ แล้วคลิกเมนู Tool>Photoshop>Image Processor

 ขั้นที่ 2 คลิก Select Folder เพื่อเลือกโฟลเดอร์เก็บภาพ
ขั้นที่ 3 กำหนดความสูงและความกว้างที่ต้องการ
ขั้นที่ 4 กำหนดคุณภาพของภาพสูงสุดเป็น 12 แล้วคลิก Run ก็จะได้ภาพตามขนาดที่เราต้องการอยู่ในโฟลเดอร์ที่เลือกไว้

 การต่อภาพพาโนรามา

ภาพพาโนรามาเป็นภาพที่ถ่ายให้มองเห็นในมุมกว้างมาก ๆ โดยใช้วิธีถ่ายภาพที่อยู่ในระดับเดียวกันหลายๆ ภาพ มาจัดเรียงกันให้เป็นภาพในแนวยาว เราสามารถเรียกใช้คำสั่งนี้ผ่าน Bridge ได้ โดยคลิกที่เมนู Tools > Photoshop > Photomerge ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดในบทต่อไป

สรุป

Adobe Bridge CS4 เป็นโปรแกรมเสริมจากการติดตั้งในชุด Creative Suite CS4 ที่ใช้จัดการกับไฟล์ภาพจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการโอนข้อมูลไฟล์ภาพจากกล้อง หรือจากการ์ดหน่วยความจำเข้ามายังเครื่องคอมพิวเตอร์ ช่วยในการค้นหาภาพได้รวดเร็วขึ้น การจัดหมวดหมู่ภาพ หรือแม้แต่การต่อภาพแบบพาโนรามา

เนื้อหาในบทได้กล่าวถึง ส่วนประกอบสำคัญของ Adobe Bridge CS4 แถบเครื่องมือพื้นฐานการเลือก Workspace เพื่อการใช้งาน ซึ่งมีอยู่ 8 ประเภทได้แก่ ESSENTIALS, FILMSTRIP,METADATA, OUTPUT, KEYWORDS, PREVIEW, LIGHT TABLE, FOLDERS ต้องเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน และกล่าวถึง การโอนไฟล์ภาพไว้ในคอมพิวเตอร์ด้วย Adobe Bridge CS4 การดูภาพแบบเต็มจอในโหมด Full Screen การดูภาพแบบ Slideshow การหมุนภาพซึ่งมีทั้ง การหมุนภาพเฉพาะทัมบ์เนล และการหมุนภาพจริง การเข้าถึงไฟล์หรือโฟลเดอร์ที่เก็บภาพ การคัดกรองภาพซึ่งมีรูปแบบการคัดกรองที่สำคัญ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) การคัดกรองภาพด้วยวิธี Rating 2) การคัดกรองภาพด้วยการสร้าง Label 3) การคัดกรองภาพด้วยพาเนล FILTER 4) การคัดกรองภาพด้วยพาเนลCOLLECTIONS การเปิดดูข้อมูลภาพ เช่น ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์เท่าไร เปิดรูรับแสงกว้างแค่ไหนการเพิ่มข้อมูลให้กับไฟล์ภาพ เช่น ชื่อผู้ถ่ายภาพ หมายเลขโทรศัพท์ การค้นหาภาพด้วยพาเนลKEYWORDS การลบภาพหรือโฟลเดอร์ออกจาก Bridge การใช้งานคำสั่งอัตโนมัติร่วมกับ Photoshop

Adobe Bridge CS4 จึงมีความสำคัญช่วยในการจัดการไฟล์ภาพต่าง ๆ ที่ถ่ายมาให้เป็นระบบสะดวกแก่การค้นหาดูภาพ และสามารถคลิกส่งภาพจาก Adobe Bridge CS4 เข้าสู่โปรแกรม Adobe Photoshop CS4 ได้ในทันทีเพื่อปรับแต่งภาพต่อไป