หลังจากที่เรามีพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพดิจิทัล รู้ขั้นตอนและเข้าใจศิลปะในการถ่ายภาพดิจิทัลกันมาแล้ว ต่อไปเราจะเรียนรู้ถึงการสร้างสรรค์ภาพถ่ายดิจิทัลในแบบต่างๆ ซึ่งก็มีเทคนิคที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเภทของการถ่ายภาพ ดังต่อไปนี้

การถ่ายภาพบุคคล (Portrait)

    ภาพถ่ายบุคคล เป็นภาพถ่ายที่แสดงความเป็นตัวตนของคน ๆ นั้น ให้ปรากฏออกมาในภาพโดยทั่วไปแล้วเมื่อพูดถึงการถ่ายภาพบุคคลส่วนใหญ่จะนึกถึงภาพที่นางแบบสวย ๆ มาโพสท่าต่าง ๆ แต่ความเป็นจริงการถ่ายภาพบุคคลมีความหมายกว้างกว่านั้น เพราะชีวิตผู้คนมีหลากหลายทั้ง ผู้ใหญ่ เด็ก ผู้ชาย ผู้หญิง รวมถึงอาชีพ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ เราสามารถนำมาเสนอถ่ายทอดเรื่องราวไว้ในภาพของเราได้ แต่สว่ นใหญ่ ภาพสาวสวย ที่แสดงสีหน้า แววตา อารมณ์และความรู้สึกมักจะเป็นหัวข้อหลักในการถ่ายภาพบุคคลอยู่เสมอ ซึ่งในที่นี้ก็จะเน้นการถ่ายภาพสาวสวยเช่นกัน การถ่ายภาพบุคคลที่พบมาก มีดังนี้

การถ่ายภาพบุคคลเดี่ยว แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ (วีรนิจ ทรรทรานนท์, ม.ป.ป. : 4)

  • ภาพเต็มตัว (Full Shot)
    จุดสำคัญของการถ่ายภาพเต็มตัวอยู่ที่การโพสท่า และเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง
    ตัวแบบกับสภาพแวดล้อม เวลาถ่ายพยายามอย่าให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
    หายไป ให้เหลือพื้นที่เหนือศีรษะและด้านล่างของเท้าลงไปอีกเล็กน้อย ถ้าเป็นรูป
    บุคคลยืนจะนิยมถ่ายในแนวตั้ง แต่ถ้านั่งพิงกำแพงทอดยาวหรือนอนลงบนพื้น
    สนามหญ้าอย่างนี้ก็ควรถ่ายในแนวนอน การถ่ายภาพเต็มตัวทำให้เห็นท่าทางใน
    การยืน นั่ง การวางมือ ซึ่งมีผลต่อภาพที่ออกมาผู้ถ่ายภาพควรแนะนำให้ผู้เป็นแบบ
    โพสท่าที่สวยงามชวนมอง เป็นธรรมชาติไม่เกร็งหรือยืนนิ่งแข็งทื่อจะดูไม่ดี
  • ภาพบุคคลเดี่ยว3/4 ของตัว (Three-Quarter Shot)
    เป็นการถ่ายภาพบุคคลที่ถ่ายตั้งแต่ศีรษะลงมา ถึงแนวขาท่อนบนหรือแนวหัวเข่า
    ส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายภาพบุคคลยืนในแนวตั้ง การถ่ายภาพลักษณะนี้ตัวแบบจะ
    ดูเด่นกว่าสภาพแวดล้อม แต่ก็ยังสามารถบ่งบอกได้ว่าสภาพแวดล้อมที่ถ่ายนั้น
    มีลักษณะอย่างไร การโพสท่าของตัวแบบจะเน้นการโพสท่าท่อนบนมากกว่า
    ท่อนล่าง
  • ภาพบุคคลเดี่ยวครึ่งตัว (Half Shot)
    เป็นการถ่ายภาพบุคคลที่ถ่ายตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงประมาณเอว ฉากหลังจะบ่งบอก
    สภาพแวดล้อมที่ถ่ายได้น้อยลง และส่วนใหญ่จะถ่ายภาพในแนวตั้งเพื่อให้เห็นทั้ง
    ส่วนใบหน้าและลำตัวของคนที่เป็นแบบได้ชัดเจน ข้อพึงระวังในการถ่ายภาพ
    ครึ่งตัวคือ อย่าตัดแขนและมือที่กางยื่นออกไปด้านข้างหายไปจากกรอบภาพจะทำ
    ให้ดูเหมือนคนแขนขาด หัวไหล่ก็เช่นกันควรให้เห็นส่วนโค้งของหัวไหล่ครบทั้ง
    2 ข้าง
  • ภาพถ่ายระยะใกล้หรือภาพเต็มหน้า (Close-up Shot) เป็นการถ่ายภาพที่เน้น
    บริเวณใบหน้าของตัวแบบเป็นหลัก อาจเห็นแค่ไหล่ ระดับอก หรือเห็นเต็มหน้า

การถ่ายภาพลักษณะนี้ แววตา สีหน้า รอยยิ้ม ผิวหน้า และทรงผม ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่จะสื่อความหมาย และแสดงความเป็นตัวตนของตัวแบบออกมา การถ่ายภาพเต็มหน้ามีอยู่ 2 ลักษณะ ที่นิยมถ่ายกันคือภาพหน้าตรงและภาพด้านข้าง

    ภาพหน้าตรง การถ่ายภาพลักษณะนี้ ถ้าสายตาของตัวแบบมองมาที่กล้องจะทำให้ภาพที่ออกมาเหมือน ตาของนางแบบจับมอง ไปที่คนดูภาพเป็นการสื่อความหมายหรือถ่ายทอดความรู้สึกออกมาสู่ผู้ดูภาพเหมือนพูดกับคนดูภาพโดยตรงถ้าไม่มองกล้อง จะเป็นการสื่ออารมณ์ส่วนตัวของตัวแบบ ซึ่งภาพออกมา จะเหมือนคนดูภาพนั้น กำลังแอบมองคนที่เป็นแบบอยู่ แต่ก็สื่ออารมณ์ได้เช่นกัน

    ภาพด้านข้าง ตัวแบบจะไม่สามารถมองมาที่กล้องได้ ต้องเน้นที่ อารมณ์ สีหน้า หรือเน้นไปที่การแสดงออกทางแววตาโดยไม่ต้องมองกล้อง เพื่อสื่อให้คนดูภาพสามารถทราบว่าคนที่เป็นแบบกำลังคิดและมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นไร ข้อพึงระวังการถ่ายภาพเต็มหน้านี้ คนดูจะมองที่ดวงตาของแบบก่อน แต่เมื่อแบบหันด้านข้างให้อาจทำให้โฟกัสภาพดวงตาทั้ง 2 ไม่เท่ากัน วิธีแก้เราควรใช้รูรับแสงที่แคบ เพื่อเพิ่มระยะให้ชัดมากขึ้น จากนั้นให้โฟกัสภาพไปที่ “หัวตา” ของดวงตา ที่อยู่ใกล้กล้อง จะช่วยให้เห็นดวงตาทั้ง 2 ข้างชัดเจนขึ้น

    การถ่ายภาพบุคคลเดี่ยวควรเลือกใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุด โดยวัดที่บริเวณใบหน้าของตัวแบบถ้ากล้องมีแต่ระบบวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ ต้องระวังเรื่องสีของฉากหลังเข้ามารบกวนทำให้การวัดแสงผิดพลาดต้องมีการชดเชยแสงช่วย นอกจากนี้การใช้แผ่นสะท้อนแสง (แผ่นรีเฟล็กซ์) หรือการใช้แสงแฟลชช่วยลบเงาบนใบหน้าเวลาถ่ายกลางแจ้ง จะทำให้ใบหน้าของนางแบบสดใส เด่นชัด และแววตามีประกายสวยงาม

    การถ่ายภาพหมู่ ภาพหมู่เป็นภาพที่สื่อความหมายได้หลายอารมณ์ทั้ง อบอุ่น เป็นมิตรสนุกสนาน เสน่ห์ของภาพหมู่อยู่ที่ปฏิสัมพันธ์ของบุคคลในภาพ เช่น ยิ้มแย้ม แจ่มใส ร่าเริง การถ่ายภาพหมู่มี 2 ลักษณะ คือ การถ่ายภาพแบบเป็นทางการที่มีการจัดฉากและสถานที่เตรียมไว้แล้วตัวแบบที่จะถ่ายเองก็มีการแต่งตัว แต่งหน้า แต่งผม เลือกเสื้อผ้าสวมใส่ไว้พร้อม เช่น การถ่ายภาพหมู่แบบพาโนรามา ของผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันต่างๆ ซึ่งมักจะถ่ายเรียงกันเป็นแถว 3-4 แถวจากแถวด้านล่างไปสู่ด้านบนไม่บดบังกันมองดูเป็นระเบียบ การถ่ายภาพหมู่อีกประเภทหนึ่งคือการถ่ายภาพหมู่แบบไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นการถ่ายภาพหมู่ที่เราพบเห็นมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงการถ่ายภาพหมู่อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งมีหลักการดังนี้

  • ไม่ควรยืนเรียงกันเป็นหน้ากระดานจากสูงไปต่ำหรือต่ำไปสูง
  • ให้คนที่มีความสูงแตกต่างกันยืนใกล้ ๆ กัน และให้คนที่มีความสูงระดับเดียวกันยืนห่าง ๆ กัน หรือใช้วิธี ก้มตัว ซ้อนไหล่ ซ้อนแถวกัน
  • ไม่ต้องยืนให้เป็นระเบียบเพราะการถ่ายภาพหมู่ลักษณะนี้ต้องการความเป็นธรรมชาติมากกว่า

    ข้อควรระวังในการถ่ายภาพหมู่ที่มีคนมากๆ และซ้อนแถวกันอย่าให้โฟกัสพลาด ควรโฟกัสคนที่อยู่แถวหน้า และใช้ขนาดรูรับแสงแคบ ๆ จะทำให้ได้ภาพชัดลึกคนที่อยู่แถวหลังจะชัดไปด้วย แต่ถ้ามีแถวซ้อนกันมาก ๆ ให้โฟกัสแถวค่อนมาทางด้านหน้า 1 ใน 3 เช่น ภาพหมู่มีคนซ้อนกันอยู่ 4 แถวให้โฟกัสแถวที่ 2 จากด้านหน้าก็จะได้ภาพชัดครอบคลุมทั้ง 4 แถว

การถ่ายภาพเด็ก

    เด็กเป็นวัยที่มีความน่ารัก มีความสดใสเป็นธรรมชาติ หากผู้ถ่ายภาพสามารถจับจังหวะได้เหมาะสมก็จะได้ภาพที่มีเสน่ห์ ดูมีชีวิตชีวา การถ่ายภาพเด็กในแต่ละวัยจะมีจุดเน้นในลักษณะที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นวัยทารกที่ยังเล็กมากช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ลักษณะของการถ่ายภาพเด็กในวัยนี้ ได้แก่ อิริยาบทต่าง ๆ ของเด็ก เช่น รอยยิ้มและแววตาอันสดใสของเด็ก การป้อนอาหาร การอาบน้ำกิริยาท่าทางที่เกิดจากการเย้าแหย่ของพ่อแม่ ข้อควรระวังในการถ่ายภาพเด็กในวัยนี้คือ ไม่ควรใช้แฟลชยิงไปที่ดวงตาเด็กโดยตรงในระยะใกล้ เพราะแสงแฟลชจะเข้าตาอาจส่งผลเสียต่อดวงตาของเด็กได้ ดังนั้นควรเลือกเวลาถ่ายที่มีแสงเพียงพอและควรเป็นแสงนุ่ม ถ้าถ่ายภาพภายในบริเวณบ้านก็ควรเลือกสถานที่ถ่ายบริเวณใกล้หน้าต่าง ประตู หรือพาออกไปนอกหน้าชานบ้าน เพื่อให้มีแสงเพียงพอในการถ่ายภาพ ถ้าแสงยังไม่พออาจใช้แผ่นสะท้อนแสงเข้าช่วย

    เมื่อเด็กโตขึ้นมาก็จะเข้าสู่วัยกำลังซน การควบคุมเด็กให้ทำโน่นทำนี่จะยากลำบากควรหาของเล่นมาให้เด็กเล่น และอาจหาเก้าอี้ ราว รั้ว ต่าง ๆ เพื่อให้เด็กจับทรงตัวจะช่วยลดความเคลื่อนไหวของเด็กให้น้อยลง หรือให้พ่อ-แม่ คนดูแลคอยมาช่วยเย้าเด็กเพื่อชักจูงความสนใจให้หยุดนิ่งชั่วขณะ จากนั้นผู้ถ่ายต้องรีบหาจังหวะที่เหมาะ ๆ โฟกัสภาพแล้วกดชัตเตอร์ลงไป ควรเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงพอสมควรในการถ่ายภาพ เพื่อให้สามารถหยุดการเคลื่อนไหวต่างๆของเด็กในจังหวะที่ต้องการ ก็จะได้ภาพที่มีความคมชัดที่สวยงามน่าดูได้อารมณ์เป็นอย่างดี

การถ่ายภาพทิวทัศน์

    การถ่ายภาพทิวทัศน์ทั่วๆ ไป ภาพทิวทัศน์หรือภาพแนว (Landscape) เป็นที่นิยมถ่ายกันมากในหมู่นักท่องเที่ยว จะมีลักษณะเป็นภาพมุมกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพภูเขา ทะเล หรือสถานที่ใดก็ตาม จะเน้นความคมชัดของทิวทัศน์ทั่วทั้งภาพ ดังนั้นจึงควรถ่ายภาพให้มีความชัดลึกจะทำให้วัตถุที่ถ่ายไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลมองเห็นชัดตลอด ภาพถ่ายจะมีความชัดลึกได้จะต้องใช้ขนาดรูรับแสงแคบๆ เช่น f/16 และควรเป็นเลนส์ไวด์ที่มีทางยาวโฟกัสสั้นๆ เช่น 18 มม. จะทำให้เกิดภาพชัดลึกได้ดีถ้าใช้กล้องดิจิทัลคอมแพ็คถ่าย ก็ให้ซูมเลนส์ให้เห็นภาพกว้างที่สุดจะทำให้เกิดภาพชัดลึกได้เช่นกันสำหรับกล้อง D-SLR การถ่ายภาพทิวทัศน์นิยมใช้โหมด A (Aperture Priority) โหมดนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ถ่ายเลือกขนาดรูรับแสงเองแล้วกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ ข้อพึงระวังถ้าเราใช้รูรับแสงแคบ ๆ ความเร็วชัตเตอร์มักจะต่ำ ถ้ากล้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำกว่า 1/30 วินาที ควรใช้ขาตั้งกล้องช่วยในการถ่ายภาพเพื่อไม่ให้ภาพสั่นไหว การถ่ายภาพทิวทัศน์ในโหมดนี้ยังสามารถปรับค่าชดเชยแสงได้อีกด้วย ช่วยให้ถ่ายภาพออกมาสวยงามอย่างที่ตามองเห็น แต่ถ้าไม่ถนัดใช้โหมดนี้ก็สามารถเลือกโหมดที่มีรูปภูเขาซึ่งมีทั้งในกล้อง D-SLR และกล้องดิจิทัลคอมแพ็ค เมื่อใช้โหมดนี้กล้องจะปรับขนาดรูรับแสงให้การถ่ายภาพมีความชัดลึกแต่ไม่สามารถปรับค่าชดเชยแสงได้ ซึ่งก็ยังดีกว่าการถ่ายภาพทิวทัศน์ด้วยโหมด Auto

    ในการถ่ายภาพทิวทัศน์นั้นเรื่องทิศทางของแสงนับว่ามีความสำคัญมาก การถ่ายภาพทิวทัศน์ทั่ว ๆ ไป ต้องการภาพที่เน้นรายละเอียด สีสัน ความสดใสของวัตถุ ดังนั้นควรจะถ่ายภาพในทิศทาง“ตามแสง” เป็นหลัก คือทิศทางที่ดวงอาทิตย์เยื้องไปข้างหลังเรา แสงจากดวงอาทิตย์จะส่องไปยังวัตถุที่จะถ่ายเต็มที่ แล้วจะสะท้อนเอาสีสันและรายละเอียดต่าง ๆ ของวัตถุมายังกล้องที่ถ่ายได้ดี ทำให้ภาพมีสีสันสดใสและมีรายละเอียดครบถ้วน

    สำหรับฟิลเตอร์ที่นิยมใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์ด้วยกล้อง D-SLR ได้แก่ ฟิลเตอร์ C-PLซึ่งมีสีเทาเข้มใช้สวมเข้าที่หน้าเลนส์สามารถหมุนฟิลเตอร์ได้ ให้หมุนฟิลเตอร์ไปมาแล้วมองดูที่ช่องมองภาพของกล้อง D-SLR หมุนไปจนได้ภาพวัตถุที่จะถ่ายมีสีเข้มสดใส ถ้าถ่ายเน้นท้องฟ้าก็หมุนฟิลเตอร์ไปมาจนได้ท้องฟ้ามีสีเข้มสวยงามก็กดชัตเตอร์ถ่ายได้ ฟิลเตอร์อีกชนิดหนึ่งที่ผู้ถ่ายภาพทิวทัศน์ควรมีติดตัวไว้คือ ฟิลเตอร์ Graduated Gray มีลักษณะเป็นสีเทาไล่ระดับความเข้ม ตั้งแต่ส่วนบนซึ่งจะเข้มที่สุดและอ่อนลงเรื่อย ๆ จนใสตรงบริเวณด้านล่าง ฟิลเตอร์ชนิดนี้ช่วยในการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีท้องฟ้าสว่างมากกว่าส่วนที่เป็นพื้นดิน โดยปกติถ้าไม่ใช้ฟิลเตอร์ชนิดนี้ถ่ายภาพในสภาพดังกล่าว ถ้าจะให้เห็นรายละเอียดของพื้นดินท้องฟ้าก็จะขาวโพลนไม่สวยงาม แต่พอปรับแสงให้ถ่ายภาพเห็นรายละเอียดของท้องฟ้าส่วนที่เป็นพื้นดินก็จะมืดไป เราจึงต้องใช้ฟิลเตอร์ชนิดนี้ช่วยโดยให้ส่วนสีเทาของฟิลเตอร์อยู่บริเวณท้องฟ้าแต่บริเวณพื้นดินจะอยู่ตรงส่วนที่ใสของฟิลเตอร์ จะทำให้ความสว่างของท้องฟ้าและพื้นดินมีความใกล้เคียงกัน สามารถถ่ายภาพให้เห็นรายละเอียดของท้องฟ้าและพื้นดินได้ดีขึ้น ฟิลเตอร์ชนิดนี้นิยมใช้แบบที่เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมไม่นิยมแบบวงกลม เพราะถ้าใช้แบบวงกลมเวลาถ่ายภาพจะต้องจัดให้เส้นขอบฟ้าอยู่กลางภาพเสมอ เนื่องจากแบบวงกลมไม่สามารถขยับเลื่อนส่วนที่เป็นสีเทาขึ้น-ลงได้ แต่แบบสี่เหลี่ยมสามารถขยับขึ้น-ลงได้ ทำให้สามารถวางเส้นขอบฟ้าไว้ในตำแหน่งที่เราต้องการได้

    ถึงแม้การถ่ายภาพทิวทัศน์ส่วนใหญ่จะใช้เลนส์ไวด์ถ่าย แต่ก็มีภาพทิวทัศน์สวย ๆ จำนวนไม่น้อยที่ถ่ายจากเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสยาว ๆ เช่น การถ่ายภาพให้เห็นลักษณะของ ดอกไม้ ต้นไม้ก้อนหิน อาจใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสมาก ๆ ถ่ายได้สวยงาม โดยหาฉากหลังที่สวย ๆ มารองรับเพราะเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสยาวจะบีบมุมรับภาพให้แคบ แต่จะทำให้ฉากหลังดูใหญ่ขึ้น

    ข้อพึงระวังในการถ่ายภาพทิวทัศน์ คือ อย่าให้ขอบฟ้าเอียงและไม่นิยมวางเส้นขอบฟ้าไว้ตรงกึ่งกลางภาพ ควรวางไว้ค่อนไปด้านล่างหรือด้านบนประมาณ 1/3 หรือ 2/3 ของภาพ จะทำให้ภาพมองดูเหมาะสมสวยงามยิ่งขึ้น

    การถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้น – ตก ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตก เป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้าจะเปลี่ยนสี ทำให้มีสีสัน หลากสีและ ถ้าหากเพิ่มองค์ประกอบของภาพ ที่เหมาะสมลงไป เช่น ภูเขาทุ่งหญ้า แม่น้ำต้นไม้ ก็จะได้ภาพทิวทัศน์ที่สวยงามมาก

    ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตกจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้น – ตกจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม อุปกรณ์สำคัญที่ควรนำไปคือขาตั้งกล้องเพราะสภาพแสงในช่วงเวลาดังกล่าวมีน้อยจะต้องถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ และจะต้องเผื่อเวลาในการติดตั้งกล้องและหามุมถ่ายภาพด้วย จึงต้องไปก่อนถึงเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น – ตก เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม

    การตั้งค่าถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้น – ตก ให้วัดแสงเฉพาะจุดที่ท้องฟ้าบริเวณใกล้ๆกับดวงอาทิตย์ซึ่งมักจะเป็นบริเวณที่มีสีสันมากที่สุดบนท้องฟ้า จะทำให้เราถ่ายภาพท้องฟ้าบริเวณนั้นได้แสง “พอดี” และควรนำเอาเทคนิคการถ่ายภาพคร่อม หรือ Bracketing (BKT) เข้ามาประกอบ คือถ่ายภาพแสงพอดี 1 ภาพ Over ไป 1 ภาพ และ Under ไป 1 ภาพ เพื่อเอาไว้สำหรับเลือกภาพที่สวยงามที่สุด

    ข้อพึงระวังในการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก คือ อย่าเล็งกล้องไปยังดวงอาทิตย์โดยตรงเป็นเวลานานๆ เพราะจะทำให้เซ็นเซอร์รับภาพของกล้องเสียได้ และควรถ่ายภาพในช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ในระดับต่ำ ๆ แสงจะไม่แรง ช่วยถนอมให้เซ็นเซอร์รับภาพใช้งานได้ยาวนานขึ้น นอกจากนี้การถ่ายภาพดวงอาทิตย์ตก เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้วอย่ารีบกลับเพราะช่วงนี้อาจมีแสงแปลก ๆ เช่น มีแสงสีแดงสะท้อนไปยังก้อนเมฆ ทำให้เราสามารถถ่ายภาพแสงแปลก ๆ ได้อีก การถ่ายภาพในช่วงเวลานี้เมื่อเห็นแสงสีอะไรแปลก ๆ ให้รีบถ่ายทันทีเพราะสภาพแสงดังกล่าวจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราเรียกช่วงเวลานี้ว่า “นาทีทองของการถ่ายภาพทิวทัศน์” (Twilight Zone) ช่วงนี้แสงจากท้องฟ้าจะมีความสว่างใกล้เคียงกับพื้นดิน ทำให้ถ่ายภาพเห็นรายละเอียดได้สวยงามทั้งท้องฟ้าและพื้นดิน

    การถ่ายภาพเงาดำ (Silhouette) ภาพเงาดำ หรือภาพ “ซิลลูเอท” คือภาพที่ฉากหลัง เช่น ท้องฟ้า มีสภาพแสงที่พอดีหรือ Under นิดหน่อย แต่ตัววัตถุหรือตัวแบบที่เราถ่ายมีลักษณะ Under จนมืดเป็นสีดำไปเลย ภาพชนิดนี้จะเน้นที่รูปร่างของวัตถุที่ถ่ายซึ่งให้ทั้งความงามให้อารมณ์และความแปลกตาไปอีกลักษณะหนึ่ง

    วิธีการตั้งค่าในการถ่ายภาพลักษณะนี้ ควรเปิดขนาดรูรับแสงแคบๆ เพื่อให้เกิดความชัดลึกและให้วัดแสงเฉพาะจุดไปยังท้องฟ้าบริเวณที่สว่างใกล้ ๆ ดวงอาทิตย์ แล้วปรับค่าวัดแสงให้พอดีกับแสงบริเวณนั้น ลองถ่ายภาพดูจะได้ท้องฟ้ามีแสงปกติแต่วัตถุที่ถ่ายจะดำ แต่ถ้าถ่ายภาพออกมาตัววัตถุยังดำไม่พอก็ให้ปรับค่าการรับแสงให้ต่ำลงอีกโดยใช้โหมดการชดเชยแสงทางลบ หรือถ้าเป็นกล้อง D-SLR ที่ถ่ายด้วยโหมด M จะทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนค่าแสงให้ Under ลงได้ง่ายอย่างอิสระ โดยอาจเพิ่มค่าความเร็วชัตเตอร์ให้เร็วขึ้นหรือหรี่ขนาดรูรับแสงให้แคบลงอีก เพียงเท่านี้ก็จะได้ภาพ Under ที่เป็นภาพเงาดำที่สวยงาม

    การถ่ายภาพน้ำตก ภาพน้ำตกเป็นภาพอีกประเภทหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชอบถ่ายกันมากแต่จะถ่ายอย่างไรจึงจะทำให้ภาพที่ออกมามองเห็นสายน้ำตกพริ้วสวยงาม นุ่มนวล คำตอบก็คือต้องเลือกใช้อุปกรณ์และความเร็วชัตเตอร์ในการถ่ายภาพให้เหมาะสม

    การถ่ายภาพน้ำตกให้เลือกโหมด S (สำหรับกล้องยี่ห้อทั่วๆ ไป) หรือโหมด TV (สำหรับกล้อง Cannon) โหมดนี้เราสามารถตั้งความเร็วชัตเตอร์เองแล้วกล้องจะปรับขนาดรูรับแสงที่เหมาะสมให้ แต่ถ้าใครถ่ายภาพชำนาญแล้วก็ให้ถ่ายด้วยโหมด M จะทำให้สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์และขนาดรูรับแสงได้อย่างอิสระ การถ่ายภาพน้ำตกนี้ให้เลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ ประมาณ 1/8 วินาที ลงไปจนถึง 2 วินาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณและความเร็วของสายน้ำตกด้วย หากปริมาณน้ำมีน้อยและไหลไม่แรงก็ต้องเปิดรับแสงนานหน่อย เพื่อให้กล้องบันทึกความต่อเนื่องของสายน้ำได้ยาวนานขึ้น แต่ถ้ามีปริมาณน้ำมากและไหลแรงก็ไม่จำเป็นต้องเปิดรับแสงนานมากนัก ก็จะได้ภาพที่มีการเคลื่อนไหวของสายน้ำตกที่พริ้วนุ่มชวนฝันแล้ว

    เนื่องจากการถ่ายภาพน้ำตกต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ จึงจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วย อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ ได้เสมอไปถ้าหากไปถ่ายภาพน้ำตกตอนที่มีแสดงแดดจัดในสภาพเช่นนั้นจำเป็นต้องใช้ฟิลเตอร์ ND ซึ่งมีสีเทาเข้มมาใส่เพื่อลดแสง ก็จะทำให้เราสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ ได้ แต่ส่วนใหญ่การถ่ายภาพน้ำตกนิยมถ่ายในสภาพแสงที่ไม่สว่างมากจนเกินไปเช่น ในช่วงตอนเช้าและตอนเย็นจะดีกว่า และควรถ่ายในลักษณะตามแสง เพียงเท่านี้เราก็สามารถถ่ายภาพน้ำตกให้มีสายน้ำไหลพริ้ว นุ่มนวล ชวนฝันได้แล้ว

การถ่ายภาพกลางคืน (Night Scene) บรรยากาศยามค่ำคืนมีแสงสีสวยงามทำให้เกิดมุมมองในการถ่ายภาพมากมาย เช่น การถ่ายภาพสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีไฟประดับไว้ การถ่ายบรรยากาศของสภาพบ้านเมืองยามที่มีแต่แสงไฟ การถ่ายพลุการถ่ายภาพการแสดงที่เน้นแสงสี ฯลฯ เป็นต้น

    การถ่ายภาพบรรยากาศยามค่ำคืนไม่ควรเปิดแฟลช เพื่อให้ได้แสงสีดังที่ตามองเห็น ดังนั้นการถ่ายภาพจึงต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ โดยใช้ขาตั้งกล้องช่วยป้องกันภาพสั่นไหว และบางครั้งก็จำเป็นต้องตั้งค่า ISO สูง ๆ เพื่อให้แสงเพียงพอต่อการถ่ายภาพ แต่ผลของการใช้ค่า ISO สูงๆ จะทำให้ภาพถ่ายเกิด Noise ตามมา อย่างไรก็ตามกล้องดิจิทัลรุ่นใหม่ๆ สามารถแก้ปัญหาช่วยลด Noise ที่เกิดจากการถ่ายภาพโดยใช้ ISO สูงๆ และความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ได้แล้ว เราลองมาศึกษาการถ่ายภาพกลางคืนรูปแบบต่างๆ กัน ดังนี้

    การถ่ายภาพสถาปัตยามค่ำคืน ตึก อาคารบ้านเรือน สะพานข้ามแม่น้ำ อนุสาวรีย์ เป็นสถาปัตยกรรม ที่มักมีไฟประดับไว้อย่างสวยงามยามค่ำคืน การถ่ายภาพลักษณะนี้ ผู้ถ่ายต้องหามุมกล้องและองค์ประกอบของภาพให้ดี ๆ เพราะถึงแม้สถาปัตยกรรมจะก่อสร้างและประดับไฟไว้อย่างงดงามแต่ถ้าถ่ายภาพในมุมไม่ดีภาพที่ออกมาจะไม่สวยงาม และควรเปิดขนาดรูรับแสงแคบ ๆ เพื่อให้ภาพมีความชัดลึกเมื่อเปิดขนาดรูรับแสงแคบความเร็วชัตเตอร์ก็จะต่ำดังนั้นต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยเพื่อป้องกันภาพสั่นไหว

    การถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของแสงไฟ การถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของแสงไฟในที่นี้ จะเน้นที่แสงไฟจากยานพาหนะตามท้องถนน วิธีการถ่ายภาพให้ตั้งกล้องบนขาตั้งและถ่ายโดยไม่ใช้แฟลชให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ B ในการถ่ายภาพ จากนั้นให้หามุมกล้องในการถ่ายในตำแหน่งที่เห็นการเคลื่อนไหวของรถยนต์อย่างชัดเจน เช่น บนสะพานลอย หรือมุมถนน เมื่อถ่ายภาพออกมาจะได้ภาพที่เห็นการเคลื่อนที่ของแสงไฟเป็นเส้น ๆ สวยงามแปลกตาดี เส้นของแสงไฟจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมากเท่าไรจะทำให้กล้องเปิดรับแสงนานก็จะเห็นเส้นของไฟยาว ส่วนความหนาของเส้นแสงไฟขึ้นอยู่กับขนาดของรูรับแสง ถ้าเปิดรูรับแสงกว้างเส้นแสงไฟจะหนามาก แต่ถ้าใช้ขนาดรูรับแสงแคบ ๆ จะทำให้เห็นเส้นแสงไฟมีขนาดเล็กต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม

    การถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของแสงไฟ ถ้าเป็นกล้อง D-SLR นิยมถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ B เปิดรูรับแสงแคบ ๆ ส่วนจะเปิดรับแสงนานเท่าใดเพื่อให้ได้ภาพพอดีไม่ Over หรือ Under ไปนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแสงบริเวณนั้นและปริมาณแสงจากรถยนต์ด้วย ให้ลองถ่ายแล้วดูภาพที่ออกมาว่ามีเส้นแสงไฟสวยงามหรือไม่ ภาพ Over หรือ Under ไปหรือเปล่า แล้วปรับเปลี่ยนเวลาในการเปิดรับแสงให้เหมาะสมจนได้ภาพที่สมบูรณ์สวยงามดังที่ใจต้องการ

การถ่ายภาพแสงไฟตอนกลางคืนให้เป็นแฉก การถ่ายภาพสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการประดับไฟไว้อย่างสวยงาม บางครั้งเราต้องการถ่ายให้เห็นแสงไฟในภาพออกมาเป็นแฉก ๆ ก็สามารถทำได้โดยการเปิดรูรับแสงให้แคบ เมื่อแสงวิ่งผ่านรูรับแสงที่แคบ ๆ จะมีแสงส่วนหนึ่งที่ไม่พุ่งออกมาตรง ๆ แต่จะเบี่ยงเบนเส้นทางออกไป ซึ่งแสงตรงที่เบี่ยงเบนออกไปนี้จะทำให้เห็นเป็นแฉก ๆ ติดเข้าไปในภาพทำให้เห็นดวงไฟเป็นแฉก ๆ แสงสว่างจากหลอดไฟแบบมีไส้ เช่น หลอดทังสเตน จะทำให้เกิดเป็นแฉกเห็นได้ชัดเจน กว่าแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์การถ่ายภาพแสงไฟตอนกลางคืนให้เป็นแฉกนี้ ถ้าเป็นกล้อง D-SLR นิยมใช้ขนาดรูรับแสง f/16 หรือ f/22 แต่สำหรับกล้องดิจิทัลคอมแพ็คให้ใช้ขนาดรูรับแสง f/8 หรือ f/11 การใช้ขนาดรูรับแสงแคบ ๆ นี้ทำให้ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำจึงต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วย

การถ่ายภาพการแสดงและแสงสี การถ่ายภาพการแสดงไม่ว่าจะเป็นการแสดง แสง สี เสียง การแสดงละคร โขน หรือคอนเสิร์ตต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จได้ภาพดังใจที่เราต้องการนั้น การรู้เพียงเทคนิคการถ่ายภาพเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัยอุปกรณ์ต่างๆ ประกอบ เพราะการแสดงส่วนใหญ่มักแสดงในที่มืดใช้ไฟที่มี แสง สีสัน ไม่สว่างมาก เมื่อเราถ่ายไม่ควรใช้แฟลชเพื่อเก็บสีสันบรรยากาศของการแสดงให้เหมือนกับที่ตามองเห็นและจะได้ไม่ไปรบกวนผู้แสดงด้วย ดังนั้นกล้องที่ใช้ถ่ายควรใช้เลนส์ที่สามารถเปิดรูรับแสงได้กว้าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ๆ จะได้จับจังหวะการแสดงให้หยุดนิ่งคมชัดไม่สั่นไหว นอกจากนี้ถ้าเรานั่งชมการแสดงอยู่ไกลเวทีมาก ๆ ก็จำเป็นต้องใช้เลนส์เทเลถ่าย ไม่เช่นนั้นตัวแสดงในภาพจะเล็กนิดเดียว และที่ขาดไม่ได้คือต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยในการถ่ายดังนั้นถ้าเป็นไปได้ในการถ่ายภาพการแสดงแสงสีผู้ถ่ายภาพ ควรอยู่ในระยะไม่ห่างเวทีมากเกินไปและไม่ใกล้ชิดเวทีเกินไปจนทำให้ต้องแหงนหน้ากล้องถ่ายจะทำให้ภาพผิดส่วน แต่ควรอยู่ในตำแหน่งที่ห่างเวทีพอสมควรเมื่อใช้กล้องเล็งจับภาพแล้วได้ภาพสวยงามไม่ผิดสัดส่วน ให้ใช้ขาตั้งกล้องช่วย ถ้าเป็นเลนส์ซูมจะเหมาะเพราะทำให้เราสามารถเลือกถ่ายได้ว่าจะถ่ายมุมกว้างทั้งเวทีการแสดงหรือจะเลือกเจาะถ่ายเฉพาะผู้แสดงบางคนหรือบางกลุ่มได้สะดวก ควรเปิดรูรับแสงให้กว้างที่สุดส่วนความเร็วชัตเตอร์ให้ใช้ความเร็วสูงสุดที่ทำให้แสงถ่ายออกมาพอดีแล้วเลือกถ่ายให้ตรงจังหวะ ลีลา ท่าทาง ของผู้แสดงที่เหมาะสม ก็จะได้ภาพที่เก็บบรรยากาศของการแสดงที่เป็นธรรมชาติ มีแสง สีสวยงาม ดังที่ตามองเห็น

    การถ่ายภาพคนในที่มีแสงน้อยยามค่ำคืน (Night Portrait) การถ่ายภาพบุคคลเวลากลางคืนด้วยวิธีการยิงแฟลชเข้าไปที่ตัวแบบตรงๆ ภาพที่ได้ตัวแบบที่ถ่ายจะสว่างแต่ฉากหลังจะมืด มองไม่เห็นบรรยากาศ สีสัน และแสงไฟด้านหลัง ควรเปลี่ยนมาถ่ายในโหมด ถ่ายภาพบุคคลเวลากลางคืน โหมดนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อของกล้อง เช่น Night Portrait, Night Shot, หรือใช้ระบบแฟลช Slow-Sync Flash ซึ่งได้ผลลัพธ์เหมือนกัน โดยกล้องจะยิงแสงแฟลชไปยังตัวแบบที่ถ่ายและใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เปิดหน้ากล้องค้างไว้เพื่อให้แสงจากฉากหลังวิ่งมาปรากฏบนภาพได้พอดีก่อนจึงค่อยปิดหน้ากล้อง ภาพที่ได้ออกมาด้วยการถ่ายโดยวีธีนี้ ตัวแบบที่ถ่ายจะได้รับแสงพอดีและได้ฉากหลังที่มีรายละเอียดครบถ้วนไม่มืดทึบดูเป็นธรรมชาติ

    สำหรับผู้ที่ถ่ายภาพชำนาญแล้วจะไม่ถ่ายภาพด้วยโหมดที่กล่าวมาก็ได้ เพราะบางกรณีอาจต้องการควบคุมความเร็วชัตเตอร์หรือปริมาณแสงเองอย่างอิสระก็ให้ถ่ายด้วยโหมด Manual (M) โดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ เช่น 1/15, 1/8, 1/4 แต่อย่าใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมากไปเพราะหากตัวแบบที่ถ่ายขยับตัวเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ภาพเบลอ จากนั้นก็เปิดแฟลชตามปกติหรือใช้แฟลชแบบแก้ตาแดงก็ได้ ภาพที่ออกมาก็จะเหมือนกับการถ่ายภาพด้วยโหมดการถ่ายภาพบุคคลเวลากลางคืนตามที่กล่าวมา

    การถ่ายภาพด้วยโหมดการถ่ายภาพบุคคลเวลากลางคืน หรือจะถ่ายด้วยโหมด M โดยใช้แสงแฟลชร่วมกับ ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกล้องจะต้องอยู่นิ่ง โดยใช้ขาตั้งกล้องช่วย และเวลาถ่ายควรบอกตัวแบบด้วยว่าเมื่อแสงแฟลชยิงไปแล้ว ให้หยุดนิ่งอยู่กับที่สักพักรอให้ชัตเตอร์ หยุดทำงานก่อนไม่เช่นนั้น ภาพจะสั่นไหวได้

    การถ่ายภาพพลุ คือ การบันทึกแสงของพลุอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำรูรับแสงแคบ จึงต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยและถ้าใช้สายชัตเตอร์ร่วมด้วยจะดี เพราะการถ่ายภาพพลุจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าการถ่ายภาพทั่วไป เพื่อให้ได้ลักษณะการแตกตัวของพลุเป็นเส้นสายที่สวยงาม

    การถ่ายภาพพลุ ถ้าเป็นกล้อง D-SLRให้เปลี่ยนระบบโฟกัสมาเป็นระบบ Manual เพราะระบบโฟกัสแบบ Auto มักจะปรับความชัดไม่ค่อยได้ทำให้กดชัตเตอร์ไม่ลง แล้วให้ปรับโฟกัสไปยังบริเวณที่คาดว่าพลุจะแตกตัว ปรับค่า ISO ให้ต่ำเพื่อให้ได้คุณภาพของภาพดี เช่น ISO 100-200 เลือกขนาดรูรับแสง f/8 ถ้าพลุสว่างมากให้ใช้ค่ารูรับแสงขนาด f/11 หรือ f/16 (ขนาดรูรับแสงยิ่งแคบเส้นแสงของพลุจะยิ่งเรียวเล็กจึงควรเลือกให้เหมาะสม) ปรับความเร็วชัตเตอร์ไปที่ B จากนั้นรอให้พลุจุด เมื่อเสียงพลุดังขึ้นให้รีบกดชัตเตอร์ค้างไว้ จนกระทั่งพลุแตกตัวใกล้จะดับจึงค่อยปล่อยปุ่มชัตเตอร์ การเปิดปิดชัตเตอร์สำคัญมากถ้าเปิดนานเกินไปภาพก็จะ Over ถ้าปิดเร็วเกินไปก็อาจไม่ได้ภาพพลุที่แตกตัวเป็นเส้นและภาพจะ Under ด้วย ต้องลองถ่ายแล้วดูภาพที่ได้ออกมาเป็นเช่นไร แล้วรีบปรับปรุงแก้ไขการตั้งค่าต่าง ๆ เพื่อถ่ายภาพพลุชุดต่อ ๆ ไปให้ออกมาสวยงาม

    การถ่ายภาพพลุ ควรหาสิ่งต่างๆ เช่น อาคาร สิ่งก่อสร้าง สะพาน หรือแม่น้ำ มาเป็นองค์ประกอบของภาพด้วย จะทำให้ภาพสวยงามกว่าการถ่ายภาพพลุเพียงอย่างเดียว และนิยมใช้เลนส์มุมกว้างในการถ่าย เพื่อเก็บองค์ประกอบของภาพให้ได้สัดส่วนสวยงาม หรืออาจใช้เลนส์ซูมถ่ายเมื่อไม่แน่ใจว่าตำแหน่งที่เราตั้งกล้อง จะได้องค์ประกอบในการถ่ายภาพสวยงามหรือไม่ เพราะเลนส์ซูมจะช่วยปรับมุม และองค์ประกอบในการถ่ายภาพให้สวยงามขึ้นได้

    สำหรับ กล้องคอมแพ็คในการถ่ายภาพพลุ ถ้ากล้องสามารถเลือกความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้ ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 2 หรือ 4 วินาทีแต่ถ้ามีความเร็วชัตเตอร์ B ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกล้องดิจิทัลคอมแพ็คระดับสูง ก็ให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ B ก็จะถ่ายภาพพลุได้สวยงาม

การถ่ายภาพวัตถุกำลังเคลื่อนที่

การถ่ายภาพวัตถุกำลังเคลื่อนที่อยู่ เช่น รถที่กำลังวิ่ง คนที่กำลังเล่นกีฬา มีเทคนิคในการถ่ายที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่วัตถุประสงค์ที่ต้องการว่าต้องการภาพให้ออกมาในลักษณะใด มีรายละเอียด ดังนี้

    การถ่ายภาพวัตถุกำลังเคลื่อนที่ให้หยุดนิ่ง ถ้าเราต้องการ ถ่ายภาพวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ให้หยุดนิ่ง ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ๆ แต่จะใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัตถุด้วย ถ้าวัตถุเคลื่อนที่ไม่เร็วมากนักก็ไม่ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง แต่ถ้าวัตถุเคลื่อนที่เร็วมาก เช่น รถวิ่ง นกบิน ก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงประมาณ 1/250 วินาทีขึ้นไป ยิ่งใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมากก็จะช่วยให้สามารถหยุดภาพให้วัตถุหยุดนิ่งได้ดี แต่เมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงก็จะส่งผลให้ต้องเปิดรูรับแสงกว้างขึ้นด้วย ซึ่งอาจเป็นปัญหาสำหรับกล้องดิจิทัลบางตัวที่ไม่สามารถเปิดรูรับแสงให้กว้างมากๆได้ โดยเฉพาะกล้องดิจิทัลคอมแพ็คที่แม้จะเปิดรูรับแสงกว้างที่สุดแล้วก็ยังไม่พอกับการใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมาก ๆ ในสภาพแสงปกติ จึงต้องแก้ปัญหาโดยตั้งค่า ISO ให้สูงขึ้นก็จะช่วยให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงได้ แต่ก็ยังมีปัญหาตามมาคือถ้าใช้ ISO สูงๆ เกรนความละเอียดของภาพจะลดลง จึงควรพิจารณาในหลาย ๆ แง่มุมและเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงให้เหมาะสม ก็จะได้ภาพที่หยุดการเคลื่อนที่ของวัตถุได้อย่างสวยงาม

 

    การถ่ายภาพให้เห็นการเคลื่อนที่ของวัตถุ การถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนที่ถ้าหากต้องการให้เห็นลักษณะการเคลื่อนที่ของวัตถุปรากฏในภาพให้ถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ จะทำให้เห็นว่าวัตถุที่ถ่ายมีการเคลื่อนที่อาจเป็นเงาเบลอ ๆ หรือเป็นเส้น ๆ ทำให้ภาพดูมีเสน่ห์ไปอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น การถ่ายภาพกิ่งไม้ที่กำลังโอนเอนไปมาตามกระแสลม การถ่ายภาพเครื่องเล่น BUMP CAR ลองถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ดูจะได้ภาพที่ออกมาดูแปลกตาดี

    การแพนกล้องตามวัตถุที่เคลื่อนที่ การแพนกล้องตามวัตถุ คือ การเล็งกล้องไปยังวัตถุที่จะถ่ายแล้วหมุนกล้องตามการเคลื่อนที่ของวัตถุไปด้วย ลักษณะของภาพที่ได้จากการแพนกล้องตามวัตถุที่มีการเคลื่อนที่จะได้ภาพตัววัตถุชัดเจนแต่มีฉากหลังเบลอ ทำให้ภาพสื่อความหมายให้รู้ว่าวัตถุมีการเคลื่อนที่มองดูเร้าใจดีเหมือนวัตถุเคลื่อนที่จริงๆ การถ่ายภาพลักษณะนี้ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ และ ควรใช้ระบบโฟกัสภาพแบบ Manual โฟกัสภาพไปตรงตำแหน่งที่วัตถุจะเคลื่อนที่ผ่าน เพราะถ้าใช้ระบบโฟกัสภาพแบบ Auto กล้องอาจจะปรับโฟกัสไม่ทัน ทำให้ไม่สามารถกดชัตเตอร์ได้ และเมื่อวัตถุเคลื่อนที่ผ่านมาได้จังหวะรีบกดชัตเตอร์ลงไป แล้วหมุนกล้องติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุไปด้วยการถ่ายภาพลักษณะนี้อาจต้องใช้จังหวะมากสักหน่อย และต้องอาศัยประสบการณ์ฝึกฝนให้ชำนาญไม่เช่นนั้นภาพที่ออกมาอาจจะเบลอไม่ชัดเจนทั้งวัตถุที่ถ่ายและฉากหลังก็ได้

การถ่ายภาพกีฬา การเล่นกีฬาแทบทุกประเภทมีการเคลื่อนไหว แต่เราจะเลือกถ่ายภาพด้วยเทคนิคใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการถ่ายภาพด้วยว่าจะสื่อภาพไปในลักษณะใด เช่น ถ้าต้องการจับจังหวะนักมวยต่อยปะทะหน้าคู่ต่อสู้ หรือจังหวะที่นักฟุตบอลกำลังแย่งกันเตะลูกบอลก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวให้นิ่ง หรือถ้าต้องการให้เห็นภาพเคลื่อนไหวของผู้เล่นฟุตบอลวิ่งแย่งลูกบอลกันก็อาจใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้ จะทำให้ดูเหมือนผู้เล่นมีการเคลื่อนไหว

    การถ่ายภาพหน้าจอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ จอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ที่เป็นหลอดภาพ CRT ในการสร้างภาพที่จอจะมีการวิ่งของความถี่สัญญาณภาพเป็นเส้นในแนวนอน ซึ่งเรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ถ้าลองมองผ่านจอ LCD ของกล้องจะเห็นว่าจอเป็นคลื่นไม่ราบเรียบดังที่ตาเรามองเห็น ดังนั้นเมื่อถ่ายภาพออกมามักจะมีแถบสีดำ ๆ ซึ่งเป็นความถี่ของสัญญาณภาพวิ่งติดมาด้วยเหตุที่กล้องถ่ายเห็นสีดำเพราะความเร็วชัตเตอร์มีค่าสูงพอที่จะจับความถี่ของสัญญาณตรงนั้นได้

    วิธีแก้ปัญหา เมื่อเราทราบแล้วว่าที่เห็นเป็นแถบสีดำเพราะความเร็วชัตเตอร์มีค่าสูงจึงสามารถจับความถี่ของสัญญาณตรงนั้นได้วิธีแก้ก็ง่ายนิดเดียวเพียงแต่เราลดความเร็วชัตเตอร์ลงให้ถ่ายด้วยความเร็วต่ำๆ เช่น 1/8, 1/15, วินาที แล้วไม่ใช้แฟลชซึ่งเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยเพื่อให้กล้องนิ่งและถ่ายในระดับที่พอดีกับจอภาพเพียงเท่านี้ก็จะไม่เห็นแถบสีดำแล้วส่วนการถ่ายภาพจากจอภาพแบบ LCD ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นเพราะการสร้างภาพเป็นคนละระบบกับหลอดภาพ CRT

การถ่ายภาพขาว-ดำ

    ภาพขาว-ดำ เป็นภาพที่เน้นแสงและเงาของทิวทัศน์ธรรมชาติ อารมณ์ สีหน้า กิริยาท่าทางของบุคคลในภาพ หรือเน้นให้เห็นพื้นผิวของวัตถุที่ถ่าย มองดูคลาสสิก ไม่น่าเบื่อ ในกล้องถ่ายภาพทั่วไปมีโหมดการถ่ายภาพ ขาว-ดำ มาให้อยู่แล้ว ก่อนถ่ายอาจต้องตั้งค่าที่กล้องตามคู่มือเพื่อให้เป็นการถ่ายภาพขาว-ดำก่อนแล้วจึงถ่ายภาพ หรือถ่ายเป็นภาพสีก่อนแล้วมาปรับให้เป็นภาพขาว-ดำ หรือเป็นภาพสี Sepia แบบโบราณในภายหลังได้

การถ่ายภาพ Candid

    ภาพ Candid เป็นภาพที่ถ่ายในลักษณะที่ผู้ถูกถ่ายไม่รู้ตัว บางครั้งเรียกภาพชนิดนี้ว่าภาพแอบถ่าย ทำให้ได้ภาพที่เป็นธรรมชาติ แสดงอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นกล้องดิจิทัลที่จะถ่ายภาพประเภทนี้ได้ดี ต้องเป็นกล้องที่ สามารถปรับถ่ายได้รวดเร็ว และถ้าหากใช้เลนส์ที่สามารถซูมได้ไกล ๆ ถ่ายก็จะะดี จะยิ่งทำให้ผู้ถูกถ่ายไม่รู้ตัว ภาพที่ได้ก็จะเป็นธรรมชาติ สื่ออารมณ์ได้ดี
ยิ่งขึ้น

การถ่ายภาพระยะใกล้ (Close Up)

การถ่ายภาพระยะใกล้มักจะถ่ายกับวัตถุเล็ก ๆ ทำให้วัตถุเด่นและใหญ่ขึ้น มองเห็นรายละเอียดชัดเจนแต่ให้ความสำคัญกับฉากหลังน้อย การถ่ายภาพระยะใกล้นี้ในกล้องดิจิทัลจะถ่ายด้วยโหมดมาโคร ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นรูปดอกไม้ ผู้ถ่ายสามารถใช้โหมดนี้ได้เลยโดยไม่ต้องปรับค่าใด ๆ กล้องจะปรับขนาดรูรับแสงแคบ ๆ ให้ เพราะการถ่ายภาพระยะใกล้ยิ่งถ่ายใกล้ ๆ ระยะชัดลึกจะน้อยลงทำให้เกิดภาพชัดตื้น ดังนั้นจึงต้องปรับโฟกัสเฉพาะจุดให้แม่นยำ และตัวกล้องต้องนิ่งโดยใช้ขาตั้งกล้องช่วยเนื่องจากเมื่อใช้รูรับแสงแคบ ความเร็วชัตเตอร์จะต่ำ

การถ่ายภาพประเภทนี้ ต้องดูความสามารถของกล้องด้วยว่า สามารถถ่ายได้ใกล้มากที่สุดเท่าใดและ ไม่นิยมใช้แฟลชเพราะแสงแฟลชจะทำให้วัตถุมีแสงสว่างจ้าเกินไปอาจไปลบ รายละเอียดของวัตถุที่ต้องการถ่ายได้สำหรับกล้อง D- SLR ถ้าเน้นการถ่ายภาพระยะใกล้มากจริง ๆ ควรเลือกใช้เลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับ การถ่ายภาพมาโครโดยเฉพาะ จะทำให้ได้ภาพ ที่มีคุณภาพดีขึ้น

 

การถ่ายภาพสัตว์

สัตว์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทใดมักจะไม่หยุดนิ่ง มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ดังนั้นถ้าต้องการเก็บท่าทางของสัตว์ในอิริยาบถต่างๆไว้ ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงและต้องรอจังหวะที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ภาพออกมาสวยได้อารมณ์ ในการเข้าไปถ่ายภาพสัตว์ตามธรรมชาติต่างๆ ควรทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น ใส่เสื้อผ้าที่มีโทนสีเดียวกับธรรมชาติจะช่วยทำให้สัตว์ไม่ตกใจวิ่งหนีไป และอุปกรณ์ที่นำไปใช้อาจต้องใช้กล้องในระดับที่มีประสิทธิภาพสูง มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปพร้อม เช่น เลนส์เทเลมีความจำเป็นมากเพื่อใช้ถ่ายในกรณีที่ไม่สามารถเข้าไปถ่ายในระยะใกล้ ๆ ได้ เพราะสัตว์อาจวิ่งหนีหรืออาจเกิดอันตรายกับผู้ที่จะเข้าไปถ่าย แต่ถ้าเป็นการถ่ายภาพสัตว์ตัวเล็ก ๆ เช่น แมลงก็ต้องอาศัยวิธีการถ่ายภาพระยะใกล้แบบมาโครดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

 

สรุป

การสร้างสรรค์ภาพถ่ายดิจิทัลในแบบต่างๆ มีเทคนิคที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้

    การถ่ายภาพบุคคลเดี่ยว แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ 1) ภาพเต็มตัว จุดสำคัญอยู่ที่การโพสท่าและเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวแบบกับสภาพแวดล้อม ควรเหลือพื้นที่เหนือศีรษะและด้านล่างของเท้าลงไปเล็กน้อย 2) ภาพ 3/4 ของตัว เป็นการถ่ายภาพบุคคลที่ถ่ายตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงแนวขาท่อนบนหรือแนวหัวเข่า 3) ภาพบุคคลเดี่ยวครึ่งตัว เป็นการถ่ายภาพบุคคลที่ถ่ายตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงประมาณเอว 4) ภาพถ่ายระยะใกล้หรือภาพเต็มหน้า เป็นการถ่ายภาพที่เน้นบริเวณใบหน้าของตัวแบบเป็นหลักซึ่งอาจเห็นแค่ไหล่ ระดับอก หรือเห็นเต็มหน้า การถ่ายภาพลักษณะนี้ แววตา สีหน้า และรอยยิ้มผิวหน้า ทรงผม ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่จะสื่อความหมายและแสดงความเป็นตัวตนของตัวแบบออกมา

    การถ่ายภาพหมู่ เสน่ห์ของภาพหมู่อยู่ที่ปฏิสัมพันธ์ของบุคคลในภาพ เช่น ยิ้มแย้ม แจ่มใสร่าเริง การถ่ายภาพหมู่มี 2 ลักษณะ คือ แบบเป็นทางการ ที่มีการจัดฉากและสถานที่เตรียมไว้แล้วตัวแบบมีการแต่งตัว แต่งหน้า แต่งผม เลือกเสื้อผ้าสวมใส่ไว้พร้อม เช่น การถ่ายภาพหมู่แบบพาโนรามาของผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันต่างๆ อีกประเภทหนึ่งคือ แบบไม่เป็นทางการ การถ่ายภาพหมู่แบบไม่เป็นทางการนี้ ไม่ควรยืนเรียงกันเป็นหน้ากระดานจากสูงไปต่ำหรือต่ำไปสูง ควรให้คนที่มีความสูงแตกต่างกันยืนใกล้ๆ กันและให้คนที่มีความสูงระดับเดียวกันยืนห่างๆ กัน หรือใช้วิธี ก้มตัว ซ้อนไหล่ซ้อนแถวกัน ไม่ต้องยืนให้เป็นระเบียบเพราะการถ่ายภาพหมู่ลักษณะนี้ต้องการความเป็นธรรมชาติ

    การถ่ายภาพเด็ก เด็กในแต่ละวัยจะมีจุดเน้นในลักษณะที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นวัยทารกที่ยังเล็กมากช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นิยมถ่ายอิริยาบทต่าง ๆ ของเด็ก เช่น รอยยิ้มและแววตาอันสดใสของเด็กกิริยาท่าทางที่เกิดจากการเย้าแหย่ของพ่อแม่ และไม่ควรใช้แฟลชยิงไปที่ดวงตาเด็ก ควรเลือกเวลาถ่ายที่มีแสงเพียงพอและควรเป็นแสงนุ่ม เมื่อเด็กโตขึ้นมาเข้าสู่วัยกำลังซนการควบคุมเด็กให้ทำโน่นทำนี่จะยากลำบากควรหาของเล่นมาให้เด็กเล่น และอาจหาเก้าอี้ ราว รั้ว ต่างๆ เพื่อให้เด็กจับทรงตัวจะช่วยลดความเคลื่อนไหวของเด็กให้น้อยลง ผู้ถ่ายต้องรีบดูจังหวะที่เหมาะๆ ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงพอสมควร เพื่อให้สามารถหยุดการเคลื่อนไหวต่างๆ ของเด็กในจังหวะที่ต้องการ

    การถ่ายภาพทิวทัศน์ มีหลายลักษณะ เช่น 1) การถ่ายภาพทิวทัศน์ทั่วๆ ไป มีลักษณะเป็นภาพมุมกว้าง เช่น การถ่ายภาพภูเขา ทะเล จะเน้นความคมชัดของทิวทัศน์ทั่วทั้งภาพ จึงควรถ่ายภาพให้มีความชัดลึกโดยใช้ขนาดรูรับแสงแคบๆ เช่น f/16 ควรใช้เลนส์ไวด์ที่มีทางยาวโฟกัสสั้นๆ เช่น 18 มม.ถ้าใช้กล้องดิจิทัลคอมแพ็คถ่าย ก็ให้ซูมเลนส์ให้เห็นภาพกว้างที่สุดจะทำให้เกิดภาพชัดลึกได้เช่นกันควรถ่ายภาพในทิศทาง “ตามแสง” เป็นหลัก จะทำให้ภาพมีสีสันสดใสและมีรายละเอียดครบถ้วนฟิลเตอร์ที่นิยมใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์ได้แก่ ฟิลเตอร์ C-PL ซึ่งมีสีเทาเข้ม ใช้สวมเข้าที่หน้าเลนส์จะทำให้ได้ภาพที่มีท้องฟ้าหรือน้ำทะเลสีเข้มขึ้น อีกชนิดหนึ่งคือ ฟิลเตอร์ Graduated Gray มีลักษณะเป็นสีเทาไล่ระดับความเข้ม ส่วนบนจะเข้มที่สุดและอ่อนลงเรื่อยๆจนใสตรงบริเวณด้านล่าง ช่วยในการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีท้องฟ้าสว่างมากกว่าส่วนที่เป็นพื้นดิน การถ่ายภาพในสภาพดังกล่าวนี้ถ้าจะให้เห็นรายละเอียดของพื้นดินท้องฟ้าก็จะขาวโพลนไม่สวยงาม แต่พอปรับแสงให้เห็นรายละเอียดของท้องฟ้าส่วนที่เป็นพื้นดินก็จะมืดไป จึงต้องใช้ฟิลเตอร์ชนิดนี้ช่วยโดยให้ส่วนสีเทาของฟิลเตอร์อยู่บริเวณท้องฟ้าแต่บริเวณพื้นดินจะอยู่ตรงส่วนที่ใสของฟิลเตอร์ จะทำให้ความสว่างของท้องฟ้าและพื้นดินมีความใกล้เคียงกัน ทำให้ถ่ายภาพเห็นรายละเอียดของท้องฟ้าและพื้นดินได้ดีขึ้น ในการถ่ายภาพทิวทัศน์อย่าให้ขอบฟ้าเอียง และไม่นิยมวางเส้นขอบฟ้าไว้ตรงกึ่งกลางภาพ ควรวางไว้ค่อนไปด้านล่างหรือด้านบนประมาณ 1/3 หรือ 2/3 ของภาพ จะทำให้ภาพมองดูเหมาะสมสวยงามยิ่งขึ้น 2) การถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก เป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้าจะเปลี่ยนสีทำให้มีสีสันหลากหลายสี และหากเพิ่มองค์ประกอบของภาพที่เหมาะสมลงไป เช่น ภูเขา ทุ่งหญ้า แม่น้ำ ต้นไม้ ก็จะได้ภาพทิวทัศน์ที่สวยงามมาก อุปกรณ์สำคัญที่ควรนำไปคือขาตั้งกล้องเพราะสภาพแสงในช่วงเวลาดังกล่าวมีน้อยจะต้องถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ และควรถ่ายภาพแสงพอดี 1 ภาพ Over ไป 1 ภาพ และ Under ไป 1 ภาพเอาไว้สำหรับเลือกภาพที่สวยงามที่สุด 3) การถ่ายภาพเงาดำ จะเน้นที่รูปร่างของวัตถุที่ถ่าย การตั้งค่าในการถ่ายภาพควรเปิดขนาดรูรับแสงแคบๆ เพื่อให้เกิดความชัดลึกและให้วัดแสงเฉพาะจุดไปยังท้องฟ้าบริเวณที่สว่างใกล้ๆดวงอาทิตย์ แล้วปรับค่าวัดแสงให้พอดีกับแสงบริเวณนั้น จะได้ภาพท้องฟ้ามีแสงปกติแต่วัตถุที่ถ่ายจะดำสวยงามดี 4) การถ่ายภาพน้ำตก ให้เลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ ประมาณ 1/8 วินาที ลงไปจนถึง 2 วินาที จึงจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วย เพื่อให้กล้องบันทึกความต่อเนื่องของสายน้ำได้ยาวนานขึ้น ก็จะได้ภาพที่มีการเคลื่อนไหวของสายน้ำตกที่พริ้วนุ่ม

    การถ่ายภาพกลางคืน 1) การถ่ายภาพสถาปัตยามค่ำคืน ตึก อาคารบ้านเรือน สะพานข้ามแม่น้ำอนุสาวรีย์ เป็นสถาปัตยกรรมที่มักมีไฟประดับไว้อย่างสวยงามยามค่ำคืน การถ่ายภาพควรเปิดขนาดรูรับแสงแคบๆ เพื่อให้ภาพมีความชัดลึก เมื่อขนาดรูรับแสงแคบความเร็วชัตเตอร์ก็จะต่ำ ต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยเพื่อป้องกันภาพสั่นไหว ควรหามุมกล้องและองค์ประกอบของภาพให้ดี ๆ 2) การถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของแสงไฟ จากยานพาหนะตามท้องถนน ให้ตั้งกล้องบนขาตั้งและถ่ายโดยไม่ใช้แฟลชใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ B จะได้ภาพที่เห็นการเคลื่อนที่ของแสงไฟเป็นเส้นๆซึ่งจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมากเท่าไรจะทำให้กล้องเปิดรับแสงนานก็จะเห็นเส้นของไฟยาว ส่วนความหนาของเส้นแสงไฟขึ้นอยู่กับขนาดของรูรับแสงถ้าเปิดรูรับแสงกว้างเส้นแสงไฟจะหนา แต่ถ้าใช้ขนาดรูรับแสงแคบๆ จะทำให้เห็นเส้นแสงไฟมีขนาดเล็กต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม 3) การถ่ายภาพแสงไฟตอนกลางคืนให้เป็นแฉก ทำได้โดยการเปิดรูรับแสงให้แคบ เมื่อแสงวิ่งผ่านรูรับแสงที่แคบๆ จะมีแสงส่วนหนึ่พุ่งเบี่ยงเบนเส้นทางออกไป ซึ่งแสงตรงที่เบี่ยงเบนออกไปนี้จะทำให้เห็นเป็นแฉกๆ 4) การถ่ายภาพการแสดงและแสงสี ควรใช้เลนส์ที่สามารถเปิดรูรับแสงได้กว้างๆ เพื่อให้สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์สูงๆ ได้ เพื่อจับจังหวะการแสดงให้หยุดนิ่งคมชัดไม่สั่นไหว ผู้ถ่ายภาพควรอยู่ในระยะไม่ห่างเวทีมากเกินไปและไม่ใกล้ชิดเวทีเกินไปจนทำให้ต้องแหงนหน้ากล้องถ่ายจะทำให้ภาพผิดส่วน ควรให้ใช้ขาตั้งกล้องช่วย ถ้าเป็นเลนส์ซูมจะเหมาะทำให้สามารถเลือกถ่ายมุมกว้างทั้งเวที หรือเลือกเจาะถ่ายเฉพาะผู้แสดงบางคนหรือบางกลุ่มได้สะดวก แล้วถ่ายให้ตรงจังหวะของ ลีลา ท่าทาง ของผู้แสดงที่เหมาะสม 5) การถ่ายภาพคนในที่มีแสงน้อยยามค่ำคืนควรถ่ายในโหมดการถ่ายภาพบุคคลเวลากลางคืน โหมดนี้มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น Night Portrait, Night Shot, Slow Sync Flash กล้องจะยิงแสงแฟลชไปยังตัวแบบที่ถ่ายและใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เพื่อเปิดหน้ากล้องค้างไว้ให้แสงจากฉากหลังวิ่งมาปรากฏบนภาพได้พอดีก่อนจึงค่อยปิดหน้ากล้อง จะได้ภาพที่ตัวแบบที่ถ่ายได้รับแสงพอดีและได้ฉากหลังที่มีรายละเอียดครบถ้วน ไม่มืดทึบดูเป็นธรรมชาติ 6) การถ่ายภาพพลุ ควรใช้ระบบโฟกัสภาพแบบ Manual เพราะระบบโฟกัสแบบ Auto มักจะปรับความชัดไม่ได้ทำให้กดชัตเตอร์ไม่ลง ให้โฟกัสไปยังบริเวณที่คาดว่าพลุจะแตกตัว ใช้ขนาดรูรับแสง f/8 ถ้าพลุสว่างมากให้ใช้ค่ารูรับแสงขนาด f/11 หรือ f/16 แล้วปรับความเร็วชัตเตอร์ไปที่ B เมื่อเสียงพลุดังขึ้นรีบกดชัตเตอร์ค้างไว้จนกระทั่งพลุแตกตัวใกล้จะดับจึงปล่อยปุ่มชัตเตอร์ ชัตเตอร์ถ้าเปิดนานเกินไปภาพก็จะ Over ถ้าปิดเร็วเกินไปก็อาจไม่ได้ภาพพลุที่แตกตัวเป็นเส้นและภาพจะ Under ต้องลองถ่ายแล้วดูภาพที่ออกมาเป็นเช่นไร จึงรีบปรับปรุงแก้ไขการตั้งค่าต่างๆ เพื่อถ่ายภาพพลุชุดต่อ ๆ ไป

    การถ่ายภาพวัตถุกำลังเคลื่อนที่ 1) การถ่ายภาพวัตถุกำลังเคลื่อนที่ให้หยุดนิ่ง ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัตถุด้วย ถ้าวัตถุเคลื่อนที่ไม่เร็วมากนักก็ไม่ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมาก แต่ถ้าวัตถุเคลื่อนที่เร็วมาก เช่น รถวิ่ง นกบิน ก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงประมาณ 1/250 วินาทีขึ้นไป ยิ่งใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมากก็จะช่วยให้สามารถหยุดภาพให้วัตถุหยุดนิ่งได้ดี แต่เมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงก็ต้องเปิดรูรับแสงกว้างขึ้นด้วย ซึ่งอาจเป็นปัญหาสำหรับกล้องดิจิทัลบางตัวที่ไม่สามารถเปิดรูรับแสงให้กว้างมากๆได้ จึงต้องแก้ปัญหาโดยตั้งค่า ISO ให้สูงขึ้นจะช่วยให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือถ้าใช้ ISO สูง ๆ เกรนความละเอียดของภาพจะลดลงจึงควรพิจารณาในหลายๆ แง่มุมและเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงให้เหมาะสม 2) การถ่ายภาพให้เห็นการเคลื่อนที่ของวัตถุ ถ้าต้องการให้เห็นลักษณะการเคลื่อนที่ของวัตถุปรากฏในภาพ ให้ถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ จะทำให้เห็นว่าวัตถุที่ถ่ายมีการเคลื่อนที่อาจเป็นเงาเบลอๆ หรือเป็นเส้นๆ 3) การแพนกล้องตามวัตถุที่เคลื่อนที่ จะได้ภาพตัววัตถุชัดเจนแต่มีฉากหลังเบลอสื่อความหมายให้รู้ว่าวัตถุมีการเคลื่อนที่ ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำและใช้ระบบโฟกัสภาพแบบ Manual โฟกัสภาพไปตรงตำแหน่งที่วัตถุจะเคลื่อนที่ผ่าน เมื่อวัตถุเคลื่อนที่ผ่านมาได้จังหวะรีบกดชัตเตอร์ลงไป แล้วหมุนกล้องติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุไปด้วย ก็จะได้ภาพในลักษณะดังกล่าว 4) การถ่ายภาพกีฬา การเล่นกีฬาแทบทุกประเภทมีการเคลื่อนไหว แต่จะถ่ายภาพด้วยเทคนิคใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการถ่ายภาพด้วยว่าจะสื่อภาพไปในลักษณะใด เช่น ถ้าต้องการจับจังหวะนักมวยต่อยปะทะหน้าคู่ต่อสู้ หรือจังหวะที่นักฟุตบอลกำลังแย่งกันเตะลูกบอล ก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวให้นิ่ง หรือถ้าต้องการให้เห็นภาพเคลื่อนไหวของผู้เล่นฟุตบอลวิ่งแย่งลูกบอลกัน ก็อาจใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำจะทำให้ดูเหมือนผู้เล่นมีการเคลื่อนไหว 5) การถ่ายภาพหน้าจอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ จอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ที่เป็นหลอดภาพ CRT ในการสร้างภาพที่จอจะมีการวิ่งของความถี่สัญญาณภาพเป็นเส้นในแนวนอนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่เมื่อถ่ายภาพออกมามักจะมีแถบสีดำๆ เพราะความเร็วชัตเตอร์มีค่าสูงพอที่จะจับความถี่ของสัญญาณตรงนั้นได้ออกมาเป็นสีดำ วิธีแก้ไขให้ถ่ายภาพด้วยความเร็วต่ำๆ เช่น 1/4, 1/8 วินาที โดยไม่ใช้แฟลชและใช้ขาตั้งกล้องช่วย ก็จะไม่เห็นแถบสีดำแล้ว

    การถ่ายภาพ Candid เป็นภาพที่ถ่ายในลักษณะที่ผู้ถูกถ่ายไม่รู้ตัวทำให้ได้ภาพที่เป็นธรรมชาติแสดงอารมณ์ได้เป็นอย่างดี หากใช้เลนส์ที่สามารถซูมได้ไกล ๆ ถ่ายก็จะดียิ่งทำให้ผู้ถูกถ่ายไม่รู้ตัวภาพที่ได้ก็จะเป็นธรรมชาติ สื่ออารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น

    การถ่ายภาพระยะใกล้ การถ่ายภาพระยะใกล้มักจะถ่ายกับวัตถุเล็กๆ ทำให้วัตถุเด่นและใหญ่ขึ้นมองเห็นรายละเอียดชัดเจน ถ่ายได้ด้วยโหมดมาโครซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นรูปดอกไม้ ถ้าเน้นการถ่ายภาพระยะใกล้มากจริงๆ ควรเลือกเลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับการถ่ายภาพมาโครโดยเฉพาะจะทำให้ได้ภาพที่มีคุณภาพดีขึ้น

    การถ่ายภาพสัตว์ สัตว์มักไม่หยุดนิ่งมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ถ้าต้องการเก็บท่าทางของสัตว์ในอิริยาบถต่างๆควรใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงและรอจังหวะที่เหมาะสม การถ่ายภาพสัตว์ตามธรรมชาติควรทำตัวให้กลมกลืน เช่น ใส่เสื้อผ้าที่มีโทนสีเดียวกับธรรมชาติจะช่วยทำให้สัตว์ไม่ตกใจวิ่งหนีไปเลนส์เทเลมีความจำเป็นมากในกรณีที่ไม่สามารถเข้าไปถ่ายในระยะใกล้ๆได้ แต่ถ้าเป็นการถ่ายภาพสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น แมลงก็ต้องอาศัยวิธีการถ่ายภาพระยะใกล้แบบมาโครดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

    เทคนิคต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้เราสร้างสรรค์ภาพถ่ายดิจิทัลในแบบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี