การถ่ายภาพเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งศิลปะในการถ่ายภาพดิจิทัลที่จะกล่าวถึงในบทนี้เป็นเพียงข้อแนะนำอย่างมีหลักการที่จะช่วยทำให้ภาพที่ถ่ายออกมางดงามมากขึ้น มีองค์ประกอบที่ดี แสงเงาสีสันลงตัว แต่อย่างไรก็ตามภาพถ่ายที่ออกมาจะสวยงามเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือความขยันหมั่นฝึกฝนประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคลด้วย ดังจะได้กล่าวในรายละเอียดดังต่อไปนี้

การจัดองค์ประกอบภาพ

การจัดองค์ประกอบภาพ ถือได้ว่าเป็นหลักการเบื้องต้นของการถ่ายภาพเพื่อให้ภาพออกมาสวยงาม ซึ่งต้องคิดคำนึงอยู่เสมอว่าจะจัดวางวัตถุหลักที่เราจะถ่ายไว้ในตำแหน่งใด ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของก็ตาม การมองภาพอย่ามองเฉพาะวัตถุหลักที่เราจะถ่าย ต้องมองให้ทั่วทั้งกรอบภาพและให้ความสำคัญกับทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในกรอบภาพ และจัดองค์ประกอบภาพให้เหมาะสมเพื่อให้ภาพที่ถ่ายออกมาลงตัวสวยงาม หลักการจัดองค์ประกอบภาพมีดังนี้

    เลือกฉากหลังที่เหมาะสม การถ่ายภาพที่ดีต้องดูรอบๆ และดูด้านหลังวัตถุหลักที่จะถ่ายว่ามีสิ่งใดทำให้ภาพด้อยคุณภาพลงหรือไม่ ถ้าหากพบว่ามีอยู่ก็ควรหาวิธีทำให้สิ่งที่รกรุงรังนั้นหายไปจากกรอบภาพ อาจใช้วิธีการเปลี่ยนมุมกล้อง หรือเปลี่ยนตำแหน่งวัตถุหลักที่เราจะถ่ายเสียใหม่ ก็สามารถแก้ปัญหาได้ หรือใช้วิธีถ่ายภาพแบบชัดตื้นจะได้ไม่ต้องพะวงกับฉากหลัง
มากนัก

    ความสมดุลของภาพ วัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในภาพต้องมีความสมดุลกัน ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งจนเกินไป เช่น ถ้าวัตถุหลักที่เราจะถ่ายอยู่ชิดทางด้านซ้ายมาก ก็ควรหาจุดอะไรสักอย่างทางขวาเพื่อคานน้ำหนักกับวัตถุหลักที่เราจะถ่ายให้กลับมาวัตถุขนาดใหญ่จะให้น้ำหนักในภาพมากกว่าวัตถุขนาดเล็ก แต่ถ้าวางวัตถุที่เล็กห่างออกไปจากจุดศูนย์กลาง ก็สามารถสร้างพลังให้มีน้ำหนักมากขึ้นเพื่อมาถ่วงดุลกับวัตถุขนาดใหญ่อีกฟากหนึ่งได้นอกจากนี้ความสมดุลของภาพไม่ได้เกิดจากวัตถุเพียงอย่างเดียว สีสันก็ทำให้เกิดการรับรู้ถึงความหนัก-เบาได้ กล่าวคือวัตถุที่มีสีเข้มจะให้ความรู้สึกว่าหนักกว่าวัตถุที่มีสีอ่อนดังนั้น ในการวางตำแหน่ง ของวัตถุต่าง ๆ ในภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องเอาวัตถุก้อนใหญ่ ๆ สองอันมาวางไว้สองด้าน เพื่อให้น้ำหนักเท่ากัน (สมดุลแบบสองข้างเท่ากัน) เพราะบางครั้งก็ดูธรรมดาจืดชืดได้เหมือนกัน แต่การจัดองค์ประกอบภาพที่เหมาะสม เป็นเรื่องของความเหมาะเจาะพอดีของขนาดวัตถุ สีสันหรือ โทนความเข้มของวัตถุ ที่มาคานน้ำหนักกันพอดีไม่เอียง ดูภาพแล้วลงตัว ถือว่ามีความสมดุล (สมดุลแบบสองข้างไม่เท่ากัน) เป็นอันใช้ได้

การนำลักษณะของเส้นมาสร้างภาพ วัตถุต่างๆที่อยู่ตามธรรมชาติ ถ้าเรารู้จักมองวัตถุเหล่านั้นให้ออกมาเป็นเส้นลักษณะต่างๆ แล้วถ่ายภาพออกมาตามลักษณะเส้นเหล่านั้น ภาพที่ได้จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันตามคุณสมบัติของเส้นแต่ละประเภท เช่น

  • เส้นแนวนอน เป็นเส้นที่ดูแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ให้ความสงบสุข ดังนั้นถ้าเราถ่ายภาพให้มีเส้นขอบฟ้าหรือแนวพื้นน้ำ ออกมาในลักษณะเป็นเส้นแนวนอน และเพิ่มเติมองค์ประกอบอื่นลงไปบ้าง เช่น ปุยเมฆ ต้นไม้ ภูเขาก็จะได้ภาพที่งดงาม มองแล้วรู้สึกสบาย เกิดการผ่อนคลายได้

  • เส้นแนวตั้ง เป็นเส้นที่แสดงความแข็งแกร่งมั่นคง ถ้านำเอาเส้นแนวนอนมารวมกับเส้นแนวตั้ง จะได้ภาพที่ทรงพลังมากขึ้น วัตถุที่มีลักษณะเป็นเส้นแนวตั้ง เช่น ตึก อาคาร ต้นไม้ เสาชิงช้า ถ้าเราจะเน้นให้เห็นถึงความสูงของวัตถุเหล่านั้น ให้ถ่ายภาพในลักษณะแนวตั้ง แล้วซูมภาพเข้าไปให้วัตถุใหญ่ขึ้น จะได้ภาพที่สะท้อนความรู้สึกแข็งแกร่งมั่นคงมากยิ่งขึ้น

  • เส้นทแยงมุม เป็นเส้นที่ดูแล้วให้ความรู้สึกตื่นเต้น แต่ในการถ่ายภาพอย่าให้เส้นทแยงมุมนี้ แบ่งภาพออกเป็น 2 ส่วน จากมุมหนึ่งไปยัง อีกมุมหนึ่งของภาพ เพราะจะทำให้ภาพนั้น
    สูญเสีย แรงขับเคลื่อนไปควรถ่ายภาพ ให้ออกมาในลักษณะ เป็นเส้นทแยงมุมจากด้านหนึ่ง ไปยังอีกด้านหนึ่งของมุมตรงข้ามกัน จะได้ภาพที่เร้าใจมาก

    การใช้เส้นนำสายตา ในการถ่ายภาพถ้าภาพนั้นมีการใช้เส้นนำสายตา ซึ่งอาจเป็น ขอบถนนลำธาร รั้ว สะพาน เป็นตัวช่วยนำสายตาของผู้ดูภาพให้ไล่ตามเส้นนั้นไปยังจุดสนใจในภาพ จะทำให้ภาพมองดูน่าสนใจและยังช่วยทำให้ภาพมีมิติมากขึ้น

รูปทรงและรูปร่าง

  • รูปทรง (Form) คนเราจะมองเห็นรูปทรงของวัตถุต่างๆ ก่อนที่จะเห็น
    รายละเอียดอย่างอื่น ๆ ดังนั้นเวลาถ่ายภาพควรเน้นให้เห็นรูปทรงที่เด่น
    ภาพที่มีรูปทรงคือภาพที่ให้มิติทั้ง ความกว้าง ยาว ลึก ได้แก่ ทรงกลม
    ทรงกระบอก ทรงสี่เหลี่ยม ฯลฯ เป็นต้น เราสามารถถ่ายวัตถุต่างๆให้เห็น
    รูปทรงได้ เช่น ถ่ายภาพ ผลไม้ ตึก อาคาร โดยเลือกถ่ายในทิศทางของแสงที่
    ทำให้เกิดเงาที่กลมกลืนบนวัตถุที่จะถ่าย เลือกมุมที่จะถ่ายให้เหมาะสม ก็จะ
    ได้ภาพที่มีมิติที่สวยงาม

  • รูปร่าง (Shape) ได้แก่ภาพที่เน้นเฉพาะโครงร่างของวัตถุที่จะถ่าย ไม่แสดงรายละเอียดของวัตถุ เช่น การถ่ายภาพย้อนแสงให้เกิดเงาดำของวัตถุเป็นรูปร่างต่างๆ มองดูแล้วได้อารมณ์ไปอีกลักษณะหนึ่ง

กฏสามส่วน การวางวัตถุหลักที่เราจะถ่ายไว้ตรงจุดกึ่งกลางภาพจะทำให้ภาพแข็งทื่อไม่ชวนมอง ตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการวางวัตถุหลักที่เราจะถ่ายควรอยู่ในตำแหน่งของกฏ 3 ส่วน
โดยเวลาถ่ายภาพให้สมมุติว่าเราลากเส้นแนวตั้ง 2 เส้นเพื่อแบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วน และนำวัตถุหลักที่เราจะถ่ายวางไว้บนเส้นนั้น จะวางตรงเส้นใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของลักษณะภาพด้วย

ในทางกลับกันเราอาจลากเส้นตามแนวนอนเพื่อแบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วนและให้นำวัตถุหลักที่เราจะถ่ายไว้บนเส้นนั้นได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นภาพที่มีเส้นขอบฟ้าถ้าเอาเส้นขอบฟ้าไว้ตรงกลางภาพจะทำให้ภาพดูไม่น่าสนใจ แต่หากวางเส้นขอบฟ้าบนกฏ 3 ส่วนจะทำให้ภาพดูสวยงามน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

    จุดตัดเก้าช่อง จุดตัดเก้าช่องพัฒนามาจากกฏ 3 ส่วน การจัดองค์ประกอบภาพลักษณะนี้ เวลาถ่ายภาพให้สมมุติว่าเราลากเส้นเพื่อแบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วน ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน จะเกิดช่องทั้งหมด 9 ช่อง มีจุดตัดของเส้นทั้งหมดเพียง 4 จุดซึ่งจุดตัดเหล่านี้เป็นตำแหน่ง ที่เหมาะสมต่อการวางวัตถุหลักที่เราจะถ่าย แต่จะวางไว้ที่จุดใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของลักษณะภาพด้วย

 

    รายละเอียดบนพื้นผิวของสิ่งที่ถ่าย รายละเอียดของสิ่งที่อยู่บนพื้นผิวของสิ่งที่ถ่าย ช่วยให้ภาพดูเหมือนของจริงเพราะดูเหมือนจะจับต้องได้ ให้ความรู้สึกถึงน้ำหนักและสัณฐานของสิ่งต่างๆ รวมทั้งความนุ่มนวล ความแข็งกระด้าง หรือความราบเรียบได้อีกด้วย แสงที่ส่องเข้าทางด้านข้างจะช่วยให้เห็นลวดลายของพื้นผิวได้ชัดเจน

    ภาพลวดลาย วัตถุใดๆ ก็ตามเมื่อมีรูปร่าง เส้นสาย หรือสีเหมือนๆ กัน วางเรียงรายซ้ำซ้อนเว้นระยะห่างใกล้เคียงกันจะทำให้เกิดภาพลวดลายขึ้นมา ภาพลวดลายเช่นนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น มีอยู่มากมายรอบตัวเรา เช่น รถยนต์ที่จอดเป็นแนวในลานจอดรถ คนเข้าแถวซื้อตั๋วดูภาพยนตร์ ทหารเดินแถว หรือต้นมะพร้าวที่ปลูกไว้เป็นทิวแถวอย่างเป็นระเบียบในสวนเราสามารถ นำสิ่งเหล่านี้มาสร้างลวดลายให้ดูกลมกลืนจะทำให้ ภาพดูแล้วสบายอารมณ์ น่าสนใจไปอีกรูปแบบหนึ่ง และในภาพลวดลายนี้ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดผิดปกติกว่าสิ่งอื่นๆ ในภาพก็จะ ดึงดูดความสนใจผู้ดูให้ไปอยู่ตรงจุดนั้นได้

    เว้นที่ว่างสร้างความน่าสนใจ การเว้นที่ว่างให้กับภาพถ่ายถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการจัดองค์ประกอบภาพ เพราะภาพทุกภาพจะต้องมีที่ว่างอยู่ในภาพเสมอไม่มากก็น้อยและภาพที่น่าสนใจส่วนใหญ่จะเกิดจากการเลือกช่องว่างอย่างเหมาะสม ถ้าเป็นการถ่ายภาพบุคคล นิยมเว้นที่ว่างไว้ทางด้านที่สายตาของบุคคลที่เราถ่ายมองทอดสายตาออกไป หรือถ้าเป็นภาพบุคคลกำลังถือกล้องถ่ายภาพ ก็นิยมเว้นที่ว่างไว้ในทิศทางที่บุคคลกำลังเล็งกล้องถ่ายภาพไป

    ความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการถ่ายภาพเราควรคำนึงถึงความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของเรื่องราว สีสัน หรือรูปทรงของวัตถุต่างๆ ในภาพ เช่น การถ่ายภาพธรรมชาติที่มีต้นไม้เขียวครึ้ม ก็ควรถ่ายภาพแสดงให้เห็นถึงความร่มรื่นด้วยการเน้นที่ส่วนของเงาของต้นไม้ หรือรูปทรงของวัตถุในภาพให้สอดรับกันจะทำให้ภาพน่าชวนมองมากขึ้น

    หากรอบให้กับภาพที่ถ่าย

การใส่กรอบให้กับภาพหมายถึง การเอาวัตถุบางอย่าง มาใส่ไว้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของภาพ โดยอาจจะใช้กิ่งไม้ ต้นไม้ มาทำเป็นกรอบให้กับภาพที่เราถ่าย อาคาร สถานที่ต่างๆ ที่มีรูปทรงแหลมๆ เนื้อที่ด้านบนจะว่างมาก เมื่อนำกิ่งไม้ หรือต้นไม้บริเวณใกล้เคียงมาวางชดเชยในตำแหน่งที่ว่างๆ นั้นก็จะกลายเป็นกรอบนำสายตา หรือสร้างมิติความลึกให้กับภาพที่ถ่ายได้ วัตถุที่นิยมนำมาทำเป็นกรอบให้กับภาพได้แก่ ประตู หรือหน้าต่าง เมื่อถ่ายภาพผ่านออกไปให้เห็นประตูหน้าต่างเป็นกรอบบังคับสายตาให้มองตรงไปยังวัตถุหลักที่เราจะถ่ายจะทำให้ภาพน่าสนใจยิ่งขึ้น

เรื่องของแสง

แสงมีความสำคัญในการถ่ายภาพมาก จิตรกรจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องของสีเพื่อสร้างสรรค์ภาพวาดฉันใด นักถ่ายภาพก็จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องแสงเพื่อสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่ดีฉันนั้น เรื่องของแสงนั้นแม้ว่าแสงจะมีจำนวนเพียงเล็กน้อยปานใดก็ตาม ปริมาณ ทิศทาง และคุณภาพของแสงจะมีอิทธิพลต่ออารมณ์และเรื่องราวของภาพอยู่เสมอ ในด้านปริมาณของแสงได้กล่าวไว้ในบทต้นๆ แล้วว่าเราจะควบคุมปริมาณแสงได้อย่างไร โดยใช้เครื่องวัดแสงในตัวกล้องช่วยวัดปริมาณแสงเพื่อให้ถ่ายภาพออกมาดีตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ส่วนในบทนี้จะพูดรายละเอียดเกี่ยวกับแสงที่สำคัญๆ ดังนี้

    ทิศทางของแสง ทิศทางของแสงส่งผลกับวัตถุที่เราจะถ่ายโดยสามารถเน้นให้เห็นรูปทรงหรือทำให้ดูแบนราบได้ วัตถุได้รับแสงจากทิศทางที่สำคัญ 3 ทางคือ

  1. แสงจากด้านหน้า แสงลักษณะนี้ดวงอาทิตย์จะอยู่ด้านหลังของผู้ถ่ายภาพ วัตถุหรือตัวแบบจะได้รับแสงสม่ำเสมอกันดี ทำให้เห็นรายละเอียดของวัตถุได้อย่างชัดเจนและมีสีสันสดใสแต่ภาพจะดูไม่มีมิติเนื่องจากเงาต่างๆตกไปอยู่ข้างหลังวัตถุ จึงมองเห็นว่าวัตถุนั้นมีลักษณะแบนไป ไม่มีเงาช่วยให้เห็นรูปทรงและความลึก
  2. แสงจากด้านข้าง แสงที่เข้าทางด้านข้างของวัตถุที่จะถ่ายจะทำให้เกิดเงาที่ตัววัตถุ ทำให้ภาพดูมีมิติเหมาะสำหรับถ่ายบุคคล นอกจากนี้ยังสามารถใช้ถ่ายภาพที่ต้องการเงาเพื่อสร้างอารมณ์จากภาพ
  3. แสงจากด้านหลัง หรือที่เรียกกันว่าถ่ายภาพย้อนแสง บางคนบอกว่าอย่าถ่ายภาพย้อนแสงภาพจะไม่สวย ความจริงแล้วการถ่ายภาพย้อนแสงสามารถทำให้ภาพสวยงามสร้างอารมณ์
    ได้ดีถ้าผู้ถ่ายมีความเข้าใจหลักการวัดแสงและรู้เทคนิคการใช้แฟลชลบเงา ภาพถ่ายที่ได้จากการถ่ายย้อนแสง ตัววัตถุมักจะเป็นเงาดำทำให้เห็นโครงร่างของวัตถุที่ถ่ายมองแล้วได้
    อารมณ์ดีเช่นกัน และถ้าถ่ายภาพย้อนแสงใบหน้าบุคคล แสงจะส่องเส้นผมให้แวววาวสวยงามแต่ใบหน้าจะมืด ให้ใช้แฟลชช่วยในการถ่ายด้วย จะทำให้แสงแฟลชไปเปิดเงาดำที่
    ใบหน้าคนให้สว่างสดใสสวยงาม แต่ถ้าไม่ใช้แฟลชช่วยให้ถ่ายภาพให้ Over ไว้ 1-2 Stop แล้วแต่สภาพแสง นอกจากนี้ถ้าถ่ายภาพย้อนแสงวัตถุที่โปร่งแสงก็จะทำให้เห็นสีสันของ
    วัตถุที่ถ่ายสวยงาม เช่น ถ่ายภาพย้อนแสงใบไม้จะเห็นสีสันใบไม้สดใสขึ้นมองดูแปลกตาดี

การจัดแสงเบื้องต้น ในการถ่ายภาพแม้ว่าจะใช้แสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์เป็นหลัก แต่ในบางครั้งก็ต้องจัดแสงไฟเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ภาพออกมาดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายภาพใน Studioจะต้องใช้ไฟที่มนุษย์สร้างขึ้นในการให้แสงสว่าง และมักจะใช้ไฟหลายดวงประกอบกันเพื่อให้ภาพออกมามีแสงเงาสวยงามตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การจัดแสงเบื้องต้นประกอบด้วยแสงหลัก 4 อย่าง คือ

  1. ไฟหลัก (Main Light หรือ Key Light) เป็นไฟที่ใช้ส่องไปยังวัตถุทำให้เห็นส่วนต่างๆ ของวัตถุอย่างชัดเจน ไฟชนิดนี้นิยมวางไว้ข้างกล้องด้านขวา ในตำแหน่งเฉียงทำมุม
    30 องศา
  2. ไฟลบเงา (Fill Light) เป็นไฟที่ใช้ส่องไปยังวัตถุเช่นเดียวกับไฟหลัก ไฟลบเงาจะช่วยเพิ่มความสว่างให้กับวัตถุในส่วนที่เป็นเงาซึ่งเกิดจากไฟหลัก แต่มีกำลังส่องสว่างน้อยกว่า
    ไฟหลักในอัตราส่วน 1:2 ไฟลบเงานิยมตั้งไว้ด้านซ้ายของกล้องเฉียงเป็นมุม 60 องศา
  3. ไฟส่องหลัง (Back Light หรือ Accent Light) เป็นไฟที่วางไว้ด้านหลังของวัตถุส่องตรงไปยังด้านหลังวัตถุเพื่อแยกวัตถุและฉากหลังออกจากกัน และยังช่วยเน้นรูปทรง
    ของวัตถุให้เห็นเด่นชัดขึ้น
  4. ไฟส่องฉากหลัง (Background Light) เป็นไฟสำหรับส่องฉากหลังให้สว่างมองเห็นองค์ประกอบต่างๆ ของฉากหลังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จะติดตั้งไว้ถัดจากไฟส่องหลังและหัน
    หน้าเข้าหาฉากหลัง

ตัวอย่างภาพถ่ายจาก Studio
    คุณภาพของแสง คุณภาพของแสงก็คือ สภาพของแสงที่แปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและสภาพภูมิอากาศในแต่ละวัน มีหลายลักษณะแต่พอแยกเป็นลักษณะที่สำคัญๆ ได้ 2 ลักษณะ คือ

  • แสงแข็ง เป็นแสงที่ส่องมาจากดวงอาทิตย์โดยไม่โดนเมฆบังเอาไว้ เป็นสภาพแสงที่เหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ ที่ต้องการสีสันสวยงามนอกจากนี้ยังทำให้เกิดความเปรียบต่าง (Contrast) ในภาพสูง ทำให้ส่วนที่ได้รับแสงและส่วนที่เกิดเงาต่างกันชัดเจน เหมาะกับภาพที่ต้องการเน้นให้เห็นรูปทรงของวัตถุอีกด้วย
  • แสงนุ่ม เป็นแสงที่ส่องมาจากดวงอาทิตย์แล้วมีเมฆมาบดบัง แสงจากดวงอาทิตย์ต้องวิ่งฝ่าความหนาของเมฆลงมา ทำให้แสงกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง สภาพแสงที่ได้จะเป็นแสงที่นุ่มนวล แต่จะส่งผลให้ภาพทิวทัศน์ที่ถ่ายมีสีสันไม่ค่อยดีสีออกตุ่นๆ ท้องฟ้ามักขาวโพลน ไม่สดใส เหมาะสำหรับการถ่ายภาพบุคคลมากกว่า โดยเฉพาะภาพของสาววัยรุ่นที่ต้องการเน้นความอ่อนหวานควรถ่ายด้วยแสงนุ่มนอกจากนี้แสงนุ่มจะทำให้ภาพมีความเปรียบต่างต่ำจึงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการแสดงให้เห็นรายละเอียดของวัตถุ

เวลาที่เหมาะสมกับการถ่ายภาพ

การถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพทิวทัศน์ วัตถุ หรือภาพบุคคลถ้าเป็นช่วงเช้าควรถ่ายเวลาประมาณ 6.00 น.- 9.00 น. ถ้าเป็นช่วงบ่ายควรถ่ายเวลาประมาณ 16.00 น.- 18.00 น. เพราะทิศทาง และคุณภาพของแสงจะดีกว่าการถ่ายตอนกลางวันที่มีแสงแดดจัดเปรี้ยงสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ยังมีช่วงเวลาอีกช่วงหนึ่ง ที่ทำให้ถ่ายภาพทิวทัศน์ได้สวยงาม คือเวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเล็กน้อย และหลังดวงอาทิตย์ตกเล็กน้อย ช่วงนี้ท้องฟ้าจะเปลี่ยนสีหลายสีในระยะเวลาอันสั้นทำให้ภาพมีสีแปลกๆ น่าตื่นตาตื่นใจแต่การถ่ายภาพ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้แสงสว่างมีน้อย ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ จึงต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยในการถ่ายภาพ (รายละเอียดในบทที่ 6)

มุมกล้อง

มุมกล้อง หมายถึง การส่องกล้องไปยังวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพ ซึ่งอาจจะส่องกล้องในระดับสายตาปกติ หรืออาจแหงนหน้ากล้องขึ้น ก้มหน้ากล้องลง เข้าไปถ่ายใกล้ๆวัตถุเพื่อทำให้วัตถุใหญ่ขึ้นหรือเอียงกล้องถ่ายภาพ ทำให้เกิดมุมมองในลักษณะต่างๆ เรียกว่ามุมกล้อง มุมกล้องที่สำคัญๆ มีดังนี้

มุมปกติ เป็นมุมกล้องที่คนส่วนใหญ่ถ่ายอยู่เป็นประจำเพราะเพียงแค่ยกกล้องขึ้นมาส่องที่ระดับสายตาแล้วเล็งภาพมองไปยังวัตถุที่จะถ่ายจากนั้นก็กดชัตเตอร์ ดังนั้นภาพที่ออกมาจะเป็นมุมมองที่ระดับสายตาหรือเรียกว่ามุมปกติ เป็นมุมมองที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วทำให้ภาพดูธรรมดาๆไม่โดดเด่นหรือสร้างความน่าสนใจขึ้นมาได้ เราควรเปลี่ยนมุมกล้องในการถ่ายภาพดูบ้างแล้วจะได้ภาพที่แปลกตาน่าสนใจขึ้นมาก

มุมก้ม หรือที่เรียกว่า (Bird-Eye View) เป็นมุมกล้องที่มองจากที่สูงก้มลงไปยังที่ต่ำ จะได้ภาพเสมือนหนึ่งว่าเป็นมุมมองของนกที่บินอยู่ในอากาศแล้วมองลงมา แต่การถ่ายมุมก้มจากที่สูงไม่จำเป็นว่าจะต้องถ่ายจากที่สูงๆแล้วก้มถ่ายลงมาเสมอไป อาจแค่เป็นการตั้งกล้องให้สูงกว่าวัตถุที่เราจะถ่ายเท่านั้นแล้วก้มถ่ายลงมา ซึ่งวัตถุที่ถ่ายอาจจะไม่สูงมากนักก็เรียกว่าถ่ายมุมก้มแล้ว การถ่ายภาพด้วยมุมกล้องแบบนี้ฉากหลังของภาพมักจะเป็น พื้นแผ่นดิน พื้นน้ำ มุมกล้องแบบนี้จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถสร้างสรรค์ภาพให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

    มุมเงย หรือที่เรียกว่า (Ant-Eye View) เป็นมุมกล้องที่ถ่ายจากที่ต่ำขึ้นมายังที่สูง ภาพถ่ายที่ได้ออกมา จะเสมือนหนึ่งว่าเป็น มุมมองของมดตัวหนึ่งที่ไต่ผ่านมาแล้วแหงนมองขึ้นไป จะได้ภาพวัตถุที่ถ่าย มองดูเหมือนผู้ยิ่งใหญ่สูงเด่นโดยมีฉากหลัง เป็นท้องฟ้า ตัวอาคารที่อยู่ห่างออกไป หรือยอดไม้ สวยงามแปลกตาดี

    มุมแปลกๆ เป็นมุมกล้องที่ผู้ถ่ายแต่ละคนคิดค้นขึ้นเองเพื่อให้ได้ภาพออกมาดูแปลกตาสวยงามดี อาจใช้วิธีดัดแปลงการถ่ายจากมุมปกติ มุมก้ม มุมเงย แล้วใช้วิธีเอียงกล้องเข้าไปผสมด้วย หรือเข้าไปถ่ายให้ใกล้วัตถุมากกว่าปกติ หรือตัดบางส่วนของภาพออกไป ซึ่งบางครั้งการถ่ายด้วยมุมกล้องแปลกๆนี้อาจเป็นการถ่ายภาพที่ไม่ตรงตามหลักการทฤษฎีที่กล่าวไว้ก็ได้ เพราะการถ่ายภาพเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ยืดหยุ่น และสร้างสรรค์มุมกล้องใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อให้ภาพออกมามีลักษณะแปลก ๆ ดูแล้วไม่จำเจ

โทนสีกับการถ่ายภาพ

สีของภาพมีอิทธิพลในการสร้างอารมณ์ให้ภาพถ่ายมาก เรารู้สึกกระปรี้กระเปร่าเมื่อเห็นสีแดงหรือสีส้ม แต่รู้สึกเยือกเย็นเมื่อเห็นสีน้ำเงิน การเลือกโทนสีเพื่อนำมาใช้ในการถ่ายภาพในที่นี้จะขอแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

    โทนสีกลมกลืน คือสีต่าง ๆ ในภาพจะอยู่ในโทนเดียวกัน จะช่วยสร้างอารมณ์ของภาพได้เป็นอย่างดี อาจเป็นภาพที่มีสีใดสีหนึ่งหรือกลุ่มสีที่มีวรรณสีใกล้เคียงกันรวมอยู่ในภาพเป็นส่วนใหญ่ภาพถ่ายโทนสีกลมกลืนสามารถใช้ได้ทั้งในภาพถ่ายบุคคลและภาพถ่ายทิวทัศน์

    โทนสีตัดกัน สีตัดกันคือสีที่อยู่ตรงกันข้ามในวงล้อวรรณของสี เช่น สีแดงตัดกันกับสีเขียวสีนํ้าเงินตัดกับสีส้ม สีเหลืองตัดกับสีม่วง เราสามารถเลือกสีที่มีโทนสีตัดกัน มาสร้างความน่าสนใจให้เกิดขึ้น ในภาพถ่ายของเราได้ การใช้โทนสีตัดกันนิยมแบ่งสัดส่วนของสี ในอัตราส่วน 80:20 คือให้สีหนึ่งมีปริมาณ ร้อยละ 80 ของภาพ และอีกสีหนึ่งมีปริมาณร้อยละ 20 ของภาพ เมื่อนำสีตัดกันมา จัดองค์ประกอบ ในการถ่ายภาพ วัตถุที่มีปริมาณสีน้อยกว่า จะกลายเป็นจุดเด่นในภาพที่รองรับหรือรายล้อมด้วยวัตถุที่มีปริมาณสีมากกว่า คล้ายเป็นฉากให้กับวัตถุที่เราถ่าย

 

จับภาพตรง “จังหวะอันเหมาะ”

คือการจับภาพให้ตรงจังหวะที่เหมาะสมที่สุด เสี้ยววินาทีช่วงนั้นองค์ประกอบต่าง ๆ จะประกอบกันขึ้นเป็นภาพที่เล่าเรื่องราวได้สมบูรณ์ เช่น ภาพคนกระโดดตัวลอย เมื่อกระโดดสูงสุดก็กดชัตเตอร์ทันที หรือการถ่ายภาพ ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันถ้าจับได้จังหวะที่เหมาะสม ก็จะได้ภาพที่ดีอย่างไม่คาดคิด เช่น ภาพกิริยาท่าทางของคน ที่สื่ออารมณ์ต่าง ๆ

สรุป

    การถ่ายภาพให้ออกมางดงาม มีองค์ประกอบที่ดี แสงเงา สีสันลงตัว ผู้ถ่ายต้องเรียนรู้ศิลปะในการถ่ายภาพ ซึ่งมีหลักการที่สำคัญ ดังนี้

    การจัดองค์ประกอบภาพ ถือได้ว่าเป็นหลักการเบื้องต้นของการถ่ายภาพเพื่อให้ภาพออกมาสวยงาม หลักการจัดองค์ประกอบภาพมีดังนี้

  1. เลือกฉากหลังที่เหมาะสม ไม่รกรุงรัง ถ้าหากพบว่าฉากหลังรกรุงรัง ก็ควรทำให้สิ่งที่รกรุงรังนั้นหายไปจากกรอบภาพ อาจใช้วิธีการเปลี่ยนมุมกล้อง หรือเปลี่ยนตำแหน่งวัตถุหลักที่เราจะถ่ายเสียใหม่ หรือใช้วิธีถ่ายภาพแบบชัดตื้นจะได้ไม่ต้องพะวงกับฉากหลังมากนัก
  2. ความสมดุลของภาพ ในการวางตำแหน่งของวัตถุต่างๆ ในภาพไม่จำเป็นต้องเอาวัตถุก้อนใหญ่ๆ สองอันมาวางไว้สองด้านเพื่อให้น้ำหนักเท่ากัน(สมดุลแบบสองข้างเท่ากัน) เพราะบางครั้งก็ดูธรรมดาจืดชืด แต่การจัดองค์ประกอบภาพที่เหมาะสม เป็นเรื่องของความเหมาะเจาะพอดีของขนาดวัตถุ สีสัน หรือโทนความเข้มของวัตถุที่มาคานน้ำหนักกันพอดีไม่เอียง ดูภาพแล้วลงตัวถือว่ามีความสมดุล(สมดุลแบบสองข้างไม่เท่ากัน)
  3. การนำลักษณะของเส้นมาสร้างภาพ เช่นเส้นแนวนอนของท้องฟ้าดูแล้วรู้สึกผ่อนคลายให้ความสงบสุข เส้นแนวตั้งของตึกเแสดงความแข็งแกร่งมั่นคง เส้นทแยงมุมของสิ่งต่างๆ ให้ความรู้สึกตื่นเต้น
  4. การใช้เส้นนำสายตา ซึ่งอาจใช้ ขอบถนน ลำธาร รั้ว สะพานเป็นตัวช่วยนำสายตาของผู้ดูภาพ ให้ไล่ตามเส้นนั้นไปยังจุดสนใจในภาพ
  5. รูปทรงและรูปร่างคนเราจะมองเห็นรูปทรงของวัตถุต่างๆ ก่อนที่จะเห็นรายละเอียดอย่างอื่นๆ ดังนั้นเวลาถ่ายภาพควรเน้นให้เห็นรูปทรงที่เด่นมีมิติ ส่วนรูปร่างได้แก่ภาพที่เน้นเฉพาะโครงร่างของวัตถุที่จะถ่าย ไม่แสดงรายละเอียดของวัตถุ เช่น การถ่ายภาพย้อนแสงให้เกิดเงาดำของวัตถุเป็นรูปร่างต่างๆ
  6. กฏสามส่วนตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการวางวัตถุหลักที่เราจะถ่ายควรอยู่ในตำแหน่งของกฏ 3 ส่วน โดยเวลาถ่ายภาพให้สมมุติว่าเราลากเส้นแนวตั้ง 2 เส้นเพื่อแบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วน และนำวัตถุหลักที่เราจะถ่ายวางไว้บนเส้นนั้น
  7. จุดตัดเก้าช่อง เวลาถ่ายภาพให้สมมุติว่าเราลากเส้นเพื่อแบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วน ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน จะเกิดช่องทั้งหมด 9 ช่อง มีจุดตัดของเส้นทั้งหมดเพียง 4 จุด ซึ่งจุดตัดเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการวางวัตถุหลักที่เราจะถ่าย
  8. รายละเอียดบนพื้นผิวของสิ่งที่ถ่าย ช่วยให้ภาพดูเหมือนของจริงเพราะดูเหมือนจะจับต้องได้ และแสงที่ส่องเข้าทางด้านข้างจะช่วยให้เห็นลวดลายของพื้นผิวได้ชัดเจน
  9. ภาพลวดลาย เช่น รถยนต์ที่จอดเป็นแนวในลานจอดรถ หรือต้นมะพร้าวที่ปลูกไว้เป็นทิวแถวอย่างเป็นระเบียบในสวน เราสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างลวดลายให้ดูกลมกลืน ทำให้ภาพดูแล้วสบายอารมณ์ และในภาพลวดลายนี้ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดผิดปกติกว่าสิ่งอื่นๆ ในภาพ ก็จะดึงดูดความสนใจผู้ดูภาพให้ไปอยู่ตรงจุดนั้นได้
  10. เว้นที่ว่างสร้างความน่าสนใจ ภาพที่น่าสนใจส่วนใหญ่จะเกิดจากการเลือกช่องว่างอย่างเหมาะสม เช่น การถ่ายภาพบุคคล นิยมเว้นที่ว่างไว้ทางด้านที่สายตาของคนที่เราถ่ายมองทอดสายตาออกไป
  11. ความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของเรื่องราว สีสัน หรือรูปทรงของวัตถุต่างๆ ในภาพ เช่น การถ่ายภาพธรรมชาติที่มีต้นไม้เขียวครึ้ม ก็ควรถ่ายภาพแสดงให้เห็นถึงความร่มรื่นด้วยการเน้นที่ส่วนของเงาของต้นไม้ หรือรูปทรงของวัตถุในภาพให้สอดรับกัน
  12. หากรอบให้กับภาพที่ถ่าย วัตถุที่นิยมนำมาทำเป็นกรอบให้กับภาพได้แก่ ประตู หรือหน้าต่าง เมื่อถ่ายภาพผ่านออกไป ประตูหน้าต่างจะเป็นกรอบบังคับสายตาให้มองตรงไปยังวัตถุหลักที่เราจะถ่าย

  เรื่องของแสง หลักการเกี่ยวกับแสงที่สำคัญๆ มีดังนี้

  1. ทิศทางของแสง วัตถุได้รับแสงจาก ทิศทางที่สำคัญ 3 ทางคือ แสงจากด้านหน้า วัตถุหรือตัวแบบจะได้รับแสงสม่ำเสมอกันดี ทำให้เห็นรายละเอียดของวัตถุได้อย่างชัดเจนและมีสีสันสดใส แต่ภาพจะดูไม่มีมิติเนื่องจากเงาต่างๆ ตกไปอยู่ข้างหลังวัตถุ ไม่มีเงาช่วยให้เห็นรูปทรงและความลึก แสงจากด้านข้าง จะทำให้เกิดเงาที่ตัววัตถุ ทำให้ภาพดูมีมิติ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ถ่ายภาพที่ต้องการเงาเพื่อสร้างอารมณ์จากภาพ แสงจากด้านหลังหรือที่เรียกกันว่าถ่ายภาพย้อนแสง ภาพถ่ายที่ได้จากการถ่ายย้อนแสงตัววัตถุมักจะเป็นเงาดำทำให้เห็น
    โครงร่างของวัตถุที่ถ่ายมองแล้วได้อารมณ์ดี และถ้าถ่ายภาพย้อนแสงใบหน้าบุคคลแสงจะส่องเส้นผมให้แวววาวสวยงามแต่ใบหน้าจะมืด ให้ใช้แฟลชช่วยในการถ่ายด้วยจะทำให้แสงแฟลชไปเปิดเงาดำที่ใบหน้าคนให้สว่างสดใสสวยงาม
  2. การจัดแสงเบื้องต้น การถ่ายภาพใน Studio จะต้องใช้ไฟที่มนุษย์สร้างขึ้นในการให้แสงสว่างและมักจะใช้ไฟหลายดวงประกอบกัน เพื่อให้ภาพออกมามีแสงเงาสวยงามการจัดแสงเบื้องต้นประกอบด้วยแสงหลัก 4 อย่าง คือ ไฟหลัก เป็นไฟที่ใช้ส่องไปยังวัตถุทำให้เห็นส่วนต่างๆ ของวัตถุอย่างชัดเจน นิยมวางไว้ข้างกล้องด้านขวาเฉียงทำมุม 30 องศา ไฟลบเงา ใช้ส่องไปยังวัตถุเช่นเดียวกับไฟหลัก ช่วยเพิ่มความสว่างให้กับวัตถุในส่วนที่เป็นเงาซึ่งเกิดจากไฟหลัก มีกำลังส่องสว่างน้อยกว่าไฟหลักในอัตราส่วน 1:2 นิยมตั้งไว้ด้านซ้ายของกล้องเฉียงเป็นมุม 60 องศาไฟส่องหลังวางไว้ด้านหลังของวัตถุ ส่องตรงไปยังด้านหลังวัตถุเพื่อแยกวัตถุและฉากหลังออกจากกัน ช่วยเน้นรูปทรงของวัตถุให้เห็นเด่นชัดขึ้น ไฟส่องฉากหลัง ใช้ส่องฉากหลังให้สว่างมองเห็นองค์ประกอบต่างๆของฉากหลังชัดเจนยิ่งขึ้น นิยมตั้งไว้ถัดจากไฟส่องหลังและหันหน้าเข้าหาฉากหลัง
  3. คุณภาพของแสงมีลักษณะที่สำคัญ 2 ลักษณะ คือ แสงแข็ง เป็นแสงที่ส่องมาจากดวงอาทิตย์โดยไม่โดนเมฆบังเอาไว้เหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่ต้องการสีสันสวยงาม ทำให้เกิดความเปรียบต่างในภาพสูง ส่วนที่ได้รับแสงและส่วนที่เกิดเงาต่างกันชัดเจน จึงเหมาะกับภาพที่ต้องการเน้นให้เห็นรูปทรงของวัตถุอีกด้วยแสงนุ่ม เป็นแสงที่ส่องมาจากดวงอาทิตย์แล้วมีเมฆมาบดบัง ถ้าถ่ายภาพทิวทัศน์สีสันจะออกตุ่นๆท้องฟ้ามักขาวโพลนไม่สดใส แสงนุ่มเหมาะสำหรับการถ่ายภาพบุคคลมากกว่า โดยเฉพาะภาพของสาววัยรุ่นที่ต้องการเน้นความอ่อนหวาน นอกจากนี้แสงนุ่มจะทำให้ภาพมีความเปรียบต่างต่ำ จึงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการแสดงให้เห็นรายละเอียดของวัตถุอีกด้วย

    เวลาที่เหมาะสมกับการถ่ายภาพ การถ่ายภาพทั่วไปด้วยแสงธรรมชาติ ถ้าเป็นช่วงเช้าควรถ่ายเวลาประมาณ 6.00 น.- 9.00 น. ช่วงบ่ายควรถ่ายเวลาประมาณ 16.00 น.- 18.00 น. เพราะทิศทางและคุณภาพของแสงจะดีกว่าการถ่ายตอนกลางวันที่มีแสงแดดจัดเปรี้ยง แต่ยังมีช่วงเวลาอีกช่วงหนึ่งที่ทำให้ถ่ายภาพทิวทัศน์ได้สวยงาม คือเวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเล็กน้อยและหลังดวงอาทิตย์ตกเล็กน้อย ช่วงนี้ท้องฟ้าจะเปลี่ยนสีหลายสีในระยะเวลาอันสั้นทำใหภ้ าพมีสีแปลกๆ น่าตื่นตาตื่นใจ

    มุมกล้อง มุมกล้องที่สำคัญๆ มีดังนี้ มุมปกติ เพียงแค่ยกกล้องขึ้นมาส่องที่ระดับสายตาแล้วเล็งภาพมองไปยังวัตถุที่จะถ่ายจากนั้นก็กดชัตเตอร์ ภาพที่ออกมาจะเป็นมุมมองที่ระดับสายตาที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ทำให้ภาพดูธรรมดาๆ ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร มุมเงย เป็นมุมกล้องที่ถ่ายจากที่ต่ำขึ้นมายังที่สูง จะได้ภาพวัตถุที่ถ่ายมองดูเหมือนผู้ยิ่งใหญ่สูงเด่น โดยมีฉากหลังเป็น ท้องฟ้า ตัวอาคาร ที่อยู่ห่างออกไป หรือยอดไม้ สวยงามแปลกตาดี มุมก้ม เป็นมุมกล้องที่มองจากที่สูงก้มลงไปยังที่ต่ำ ไม่จำเป็นว่าจะต้องถ่ายจากที่สูงๆ แล้วก้มถ่ายลงมา อาจแค่เป็นการตั้งกล้องให้สูงกว่าวัตถุที่เราจะถ่ายเท่านั้นแล้วก้มถ่ายลงมา ซึ่งวัตถุที่ถ่ายอาจจะไม่สูงมากนักก็เรียกว่าถ่ายมุมก้มแล้ว การถ่ายด้วยมุมกล้องแบบนี้ฉากหลังของภาพมักจะเป็นพื้นแผ่นดิน สว่ นตัววัตถุที่ถ่ายจะมองเล็กลง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถสร้างสรรค์ภาพให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น มุมแปลกๆ เป็นมุมกล้องที่ผู้ถ่ายแต่ละคนคิดค้นขึ้นเองเพื่อให้ได้ภาพออกมาดูแปลกตาสวยงามดี อาจใช้วิธีดัดแปลงการถ่ายจากมุมปกติ มุมก้ม มุมเงย แล้วใช้วิธีเอียงกล้องเข้าไปผสมด้วย หรือเข้าไปถ่ายให้ใกล้วัตถุมากกว่าปกติ หรือตัดบางส่วนของภาพออกไป

    โทนสีกับการถ่ายภาพ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ โทนสีกลมกลืน อาจเป็นภาพที่มีสีใดสีหนึ่งหรือกลุ่มสีที่มีวรรณสีใกล้เคียงกันรวมอยู่ในภาพเป็นส่วนใหญ่ สามารถใช้ได้ทั้งในภาพถ่ายบุคคลและภาพถ่ายทิวทัศน์ โทนสีตัดกัน คือสีที่อยู่ตรงกันข้ามในวงล้อวรรณของสี เช่น สีแดงตัดกันกับสีเขียว การใช้โทนสีตัดกันนิยมแบ่งสัดส่วนของสีในอัตราส่วน 80:20 คือให้สีหนึ่งมีปริมาณร้อยละ 80 ของภาพ และอีกสีหนึ่งมีปริมาณร้อยละ 20 ของภาพ เมื่อนำสีตัดกันมาจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพวัตถุที่มีปริมาณสีน้อยกว่าจะกลายเป็นจุดเด่นในภาพ ที่รองรับหรือรายล้อมด้วยวัตถุที่มีปริมาณสีมากกว่าคล้ายเป็นฉากให้กับวัตถุที่เราถ่าย

    จับภาพตรง “จังหวะอันเหมาะ” คือการจับภาพให้ตรงจังหวะที่เหมาะสมที่สุด เสี้ยววินาทีช่วงนั้นองค์ประกอบต่าง ๆ จะประกอบกันขึ้นเป็นภาพที่เล่าเรื่องราวได้สมบูรณ์ เช่น ภาพคนกระโดดตัวลอย เมื่อกระโดดสูงสุดก็กดชัตเตอร์ทันทีศิลปะในการถ่ายภาพที่กล่าวมา หากนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมก็จะทำให้ภาพที่เราถ่ายออกมาสวยงาม เด่น สะดุดตา ได้อารมณ์ น่าสนใจ ทำให้การสร้างสรรค์ภาพถ่ายดิจิทัลแบบต่าง ๆมีคุณภาพดียิ่งขึ้น