ชวลิต  ผู้ภักดี    ชวนวิเคราะห์ “ชีเปลือย”   ผู้ย่างก้าวเข้ามาใน

เรื่อง

“พระอภัยมณี” แม้เพียงระยะสั้นแต่แท้จริงแลยาวมาก

เพราะ

ยังยืนยาวอยู่ในกมลสำนึกของผู้อ่านมากว่า ๒๐๐ ปี แล้วก็ตาม

หากแต่ว่าจะยังคงยืนยาวไปตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงความเป็น

มนุษย์สมบูรณ์แบบ

คือคนเกียจคร้านมักเอาแต่ด้านได้

คือคนไร้ปัญญาความกล้าหาญ

คือคนแก้ปัญหาอย่างดักดาน

คือคนล่าล้างผลาญแม้เผ่าพงศ์

คือคนล่อนจ้อนทั้งกายและใจ

คือคนที่ผู้ร้ายไม่ประสงค์

คือคนโง่อวดฉลาดทำอาจอง

คือคนที่โลกเจาะจงให้ดับไป(เร็วๆๆๆ)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

มองพระอภัยมณีในเชิงอุปลักษณ์

ตอน

ชีเปลือย! อุปลักษณ์ของ……

 

 

          ขึ้นชื่อว่าตัวละคร หรือ Character ในการนำเสนอของนักเขียนก็มีกฎเกณฑ์อยู่ในตัวแล้วว่า  ตัวละครต้องแสดงให้เด่นชัด แต่มีข้อแม้ว่าต้องยืนอยู่บนหักของจิตวิทยาความเป็นมนุษย์ หากแต่ว่าในวรรณกรรมแทบทั้งนั้น  ตัวละครอาจมีพฤติกรรมที่เกินกว่าความเป็นจริง  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสีสัน เพิ่มความสนุกสนานบันเทิงเป็นสำคัญ

สำหรับ “พระอภัยมณี”  ของท่านบรมครูสุนทรภู่นี้  ท่านให้ตัวละครขอท่านแต่ละตัวก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยที่แฝงฝังไว้อย่างแนบเนียน  ไม่ว่า ตัวพระอภัยมณี  ผีเสื้อสมุทร  สินสมุทร  สุดสาคร และบรรดาอมนุษย์ทั้งหลาย ล้วนมีบทบาทที่สร้างสรรค์ปัญญาทั้งสิ้น  บทประพันธ์ที่ตามมานี้  คงพอเห็นแคแร็กเตอร์ของตาชีเปลือย เป็นเงาแล้ว   แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น 

“ไม่นุงผ้าคากรองครองหนังเสือ          ประหลาดเหือโล่งโต้งโม่งโค่งขัน

น่าเหียนรากปากมีแต่ขี้ฟัน               กรนสนั่นนอนร้ายเหมือนป่ายปีน

                                                                                (๒๕๐๕ : ๓๗๒)                     

 

ก่อนอื่น ต้องท่านต้องตั้งสมาธิเสียก่อนว่า  หัวเรื่องเป็นเรื่องของ  “ชีเปลือย” ก็มาจากการประสมคำระหว่าง  ชี  กับ เปลือย  ที่ว่าเป็นคำประสมก็เพราะว่า  เราแปลจากคำหน้าซึ่งเป็นคำหลัก ไปหาคำหลัง คือคำขยาย

           ชี หมาย  ผู้(ชาย หรือ หญิง)ที่ประพฤติปฏิบัติผิดแผกแตกต่างจำบรรพชิต เกือบใกล้นักบวชก็ไกลนัก เกือบไกลก็เหมือนว่าจะใกล้ สรุปเอาว่า กรายๆ แต่หากว่าความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำดังกล่าวนั้นมีอะไรแฝงอยู่แน่นอน

          “ชี”   “เถน”   กับคำว่า “เถร”  ล้วนมีความหมายต่างกันทั้งสิ้น ระหว่าง เถน  กับ เถร นั้นเสียงพ้อง รูปต่าง ความหมายก็ต่าง ระวังอย่าปะปนกันจะทำให้ผิ้อานเข้าใจผิด

ส่วนคำว่า “เปลือย”  ความหมายเท่ากับ เปล่า ว่าง  ไม่ปกปิด  เปิดเผย  อย่างไรก็ดี คำนี้มีข้อแม้ขึ้นอยู่กับบริบท เช่น  เปลือยกาย  เปลือยเปล่า เปลือยใจ เปลือยผม  แต่

 ชีเปลือยในเรื่องนี้  ดูเผินก็เหมือนว่าจะเป็นการสร้าง ปมขัดแย้ง(conflict)ตามแบบงานเขียน ก็น่าจะจริง เพราะบทบาทดูเหมือนจะแพลมออกมานิดเดียว แต่ไม่ใช่เพียงสร้างความสนุก ตื่นเต้น แถมยังติดหูติตา แล้วติดใจคนอ่านได้เล่าขาน ได้นำเอาเป็นตัวอุปมา สาธกกันยืดยาว อย่างนี้และคนเขียนเก่ง เขียนสั้นแต่ยาว…..กลับกัน เรื่องนี้น่าจะยาวที่สุดในชีวิตของท่านบรมครู

จะกล่าวความพราหมณ์แขกซึ่งแปลกเพศ

อยู่เมืองเทศแรมทางที่กลางหน

ครั้นเสียเรือเหลือตายไม่วายชนม์

ขึ้นอยู่บนเกาะพนมในยมนา

ไม่นุ่งห่มสมเพชเหมือนเปรตเปล่า

เป็นคนเจ้าเล่ห์สุดแสนมุสา

ทำเป็นทีชีเปลือยเฉื่อยช้า

ไม่กินปลากินข้าวกินเต้าแตง

(๒๕๐๕  ๓๗๑)

      เหตุเกิดตาชีคนนี้ก็เพราะ  เรือแตกแต่ไม่ได้ขึ้นเกาะพระเจ้าตา ไปอยู่คนละเกาะ   แต่ไม่ใช่เกาะร้างห่างผู้คน ทำตัวสัปดนนอกรีต  

พวกสำเภาเลากาก็พาซื่อ

ชวนกันถือผู้วิเศษทุกเขตต์แขวง

คิดว่าขาดปรารถนาศรัทธาแรง

ไม่ตกแต่งตั้งแต่คิดอนิจจัง

ถ้าพิจารณาหามูลเหตุที่ทำเกิดคนประเภทนี้ก็น่าจะสืบเนื่องด้วยภาวการณ์ของยุคที่สืบต่อมาจากความยุคเข็ญของบ้านเมืองที่คนต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด หากแต่ว่า บ้างก็ใช้ความพยายามในทางสุจริต บ้างก็ออกนอกลู่นอกทางเหตุการณ์เช่นว่านี้เป็นทางเป็นแนวทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะทำมาหาเลี้ยงชีพที่ไม่ต้องใช้สติปัญญาเข้าตำราที่ว่า

     “นกเอี้ยงเลี่ยงงานหนักสมัครงานสบาย”

นี่มองในทางโลก แต่ท่านสุนทรภู่ก็ไม่ละเลยที่จะใช้ธรรมะแอบแฝง โดยให้บทบาทของชีเปลือยจบลงตรงที่ผู้คนทั้งหลายรู้ความจริง แต่ตรงนี้ลองพิจารณาใหม่ก็พอจะเห็นว่าท่านบอกไว้ให้คนอ่านเพลินกับความกะล่อนของตาเฒ่าผู้นี้ ความจริงน่าจะเป็นความฉลาด แต่มากไปด้วยความขลาดและเขลาของตาแก  ที่ว่าฉลาดคืออ้างอิงสถานการณ์ กับเพศของตนที่เป็นพราหมณ์ จึงแสดงออกในฐานะผู้ทรงศีลทรงคุณความรู้ และที่นับว่าเป็นความขลาดจนกลายเป็นเขลาก็คือ ขลาดที่จะประพฤติตนเยี่ยงมนุษย์ทั่วไป จึงทำตัว “แปลกแยก” ไม่นุ่งผ้านุ่งผ่อน สุนทรภู่ท่านน่าจะบอกความนัยว่า คนแปลคนประหลาดย่อมเป็นที่น่าสนใจ หรือเรียกร้องความสนใจได้มากกว่ามาก แต่เมื่อได้ง่ายจนชิน จึงกลายเป็นความเขลา ไม่รู้ ไม่หาวิธีคิดให้เดินทางที่ถูก เมื่อหลอกลวงได้แล้วก็เลยตามเลย จนกลายเป็นเปลีอยกาย เปลีอยความรู้ความคิดในที่สุด

 

 มาเร็ว มาต่อภาพตาชีเฒ่าเจ่าเล่ห์ กันต่อนะ  ว่าวิธีการของตาแกนั้นเป็นอย่างไร เมื่ออยากได้ของคนอื่น  โดยเฉพาะ เจ้าไม้เท้าอันวิเศษของสุดสาคร เป็นต้นเหตุของความอยากได้ และเมื่อใดลืมไม้เท้า เมื่อนั้นเป็นเรื่อง ดดยที่ท่านบรมครูท่านให้เกิดเหตุกับสุดสาครก่อน ก็นี่ไงตอนที่ตาชีเปลือยหลอกล่อให้ไปที่ปากเหวหัวใจของความอยู่ที่ วรรคสุดท้ายของคำกลอนข้างล่างนี้

แกล้งพูดล่อพอให้น้ำใจเพลิน

แล้วพาเดินดัดดั้นขึ้นบรรพต

ถึงปากปล่องช่องเหวเป็นเปลวโปร่ง

ตลอดโล่งฦกล้ำเหลือกำหนด

บอกให้นั่งตั้งประนมพรหมพรต

วางไม้เท้าดาวบสไว้ไว้ริมกาย

(๒๕๐๕  ๓๗๔)

ท่านสมาชิกที่รัก ตรงนี้น่าจะมีกุญแจไขความ  แต่ก็ดูเหมือนไม่ใช่ นี่แหละ ท่านสุนทรภู่บรมครูผู้ผูกเงื่อนให้ผู้อ่านแน่นแต่ไม่ถึงกับแนบสนิท   เพราะความสนุกลวงให้เราห่วงไม้เท้าว่ายังไงๆ ก็คงจะลืมแน่ๆ แต่เท่าที่ค้นหาดูว่า สุดสาครบอกอะไรเกี่ยวกับเรื่องไม้เท้าให้ชีเปลือยฟังก็เปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ต้องกังวล นอกจากคาดเดาได้ว่าตกเหวแน่ๆ 

เรื่องเป็นจริงดังคาด  ชีเปลือยจัดการให้สุดสาครไปนอนสลบไสลอยู่ก้นเหว แต่

 

สิ่งแรก ที่ชีเปลือยหยิบจับก็คือ

ชีเปลือยได้ไม้เท้าของดาวบส

แกถือจดจ้องเดินลงเนินไศล

ตรงมาหาพาชีด้วยดีใจ

แกเงื้อไม้ม้ากลัวก้มหัวลง

 

นี่ก็เป็นอีกบทหนึ่งของไม้เท้า ทีถูกชีเปลือยฉวยติดมือไป  คนปัญญานิ่มได้ไม้เท้าไปก็ใช้ไม้เท้าอย่างนิ่มๆ หรือไม่ก็ใช้ไม้เท้าจนนิ่ม อันที่จริงท่านบรมครูนี่แยบยลจริงๆ ตรงที่ท่านเจตนาจะบอกนัยว่า ไม้เท้านั่นแหละคือที่มาของความรู้ แต่ผู้บอดสนิทหรือเปลือยเปล่าเมื่อได้ไปก็ใช้ไม่เป็น ท่านจึงบอกไว้ในกลอนว่า แกถือจดๆจ้องๆ เก้ๆกังๆ เพื่อให้เป็นที่มาของคำสอนว่า

“รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา    รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

ความจริงพระฤษีท่านคงจะจารข้อความไว้รอบๆไม้เท้า ตั้งแต่โคนจดปลายนับว่า สุดสาครเป็นเด็กฉลาด IQ. ระดับไหนตอนนั้น ยังไม่มีการวัดความถนัดตามธรรมชาติ ที่ เรียกว่า Aptitude Test แต่อันที่จริง ท่านแอบบอกให้เทียบบัญญัติไตรยางค์เอาเองว่า

เป็นแถวเทือกเงือกบุรุษมนุษย์ปน       แรงกว่าคนเมืองเราชาวบุรี

ได้สิบเดือนเหมือนได้สักสิบขวบ         ดูขาวอวบอ้วนท้วนเป็นนวลศรี(๑)

ออกวิ่งเล่นเต้นได้ไกลกฎี                  เที่ยวไล่ขี่วัวควายสบายใจ(๒)

แล้วลงน้ำปล้ำปลาโกลาหล               ดาบสบ่นปากเปียกเรียกไม่ไหว(๓)

สอนให้หลานอ่านเขียนร่ำเรียนไป       แล้วก็ให้วิทยาวิชาการ(๔)

 

ตรงนี้ท่านบรมครูน่าจะรูเรื่อง  ไอคิว  อีคิว เป็นอย่างดี  ท่านซ่อนเงื่อนงำไว้ในบทกลอนลองวิเคราะห์ดูที่ว่าที่ยกเอาเรื่องของสุดสาครตอนนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างตาชีเปลือยกับสุดสาคร ซึ่งจะเป็นกระจกส่องสะท้อนให้เห็นชีเปลือย หรือพูดให้ตรงประเด็นก็คือ จะจับตาชีคนนี้มาเปลือยให้เห็นทั้งตัวนั่นเอง เอ้าวิเคราะห์ต่อไปนี้

  • ถ้าอ่านผิวเผินก็ดูเกินไป แต่ก็น่าเป็นไปได้เพราะความตอนแรกบอกว่า

 

“เป็นแถวเทือกเงือกมนุษย์

 

ตรงนี้ประหนึ่งว่า ท่านชวนให้เราหลงเอออวยด้วย มีความน่าจะเป็น เรา ก็เคลิ้มตามไป   แต่…ลองพิจารณาให้ลึกๆ   แล้วท่านกำลังจะบอกอะไรสักอย่างให้อ่านซ้ำตรงที่ขีดเส้นใต้  “เงือกมนุษย์” ท่านเน้นเป็นประโยคน้ำหนักว่า  “เงือกก็สกุลหนึ่งมนุษย์ก็อีกสกุลหนึ่ง” นั่นเอง ผลลัพธ์ คือได้ลูกฉลาด ขณะเดียวกันท่านสุนทรภู่ท่านก็ขยายความเชิงอุปมาไว้  ว่า  

“สิบเดือนเหมือนได้สักสิบขวบ”

 

นั่นคือ ความแข็งแรง  ความฉลาดที่ไม่ขาดเฉลียว นี่ย่อมชี้ให้เห็นว่า ชาติกำเนิดก็ดี สิ่งแวดล้อมก็ดี ทั้งของสุดสาคร และตาชีเปลือย ต่างกันโดยสิ้นเชิง ตาชีอยู่ในสกุลพราหมณ์ที่แวดล้อมไปด้วยสรรพวิทยาการ ส่วนสุดสาคร เกิดในน้ำ อาณาบริเวณที่เติบโต ก็เป็นเกาะที่ห่างไกล ครูก็มีตาฤษีเพียงผู้เดียว แต่ก็สามารถสร้างคนให้เป็นคนดี คนเก่งได้  และที่ต่างกันตามมาในข้อ

 

 

  • พิจารณาคำนี้

“ออกวิ่งเล่นเต้นได้ไกลกุฎี”

 

คำนี้เฉลยว่า ไว้ใจได้ ปล่อยได้ ไม่ต้องตามแจ หรือประกบติด กลัวจะหกล้มหกลุก  ที่สำคัญ อยู่ที่วรรคขยาย

“เที่ยวไล่ขี่วัวควายสบายใจ”

 

ท่านผู้อ่าน  คำว่า วัว  ควาย นี่น่าคิด คำสองคำนี้ พินิจดีๆ  ว่าท่านหมายความว่าอะไร  เป็นอุปลักษณ์โดยแท้ “ฉลาดกว่า และกว่า แน่นอน”“วัว ควาย” นัยของไทยคือคำเปรียบเปรย ส่วนคำว่า “ไล่” ในบริบทนี้ต้องหมายความถึง “เหนือกว่า เก่งกว่า ไวกว่า”

 

  • วรรคนี้

 

“แล้วลงน้ำปล้ำปลาโกลาหล”

 

วรรคนี้บอกอะไรอีกแล้ว  เรี่ยวแรง ความแข็งแรง แต่ก็นั่นแหละ เราถูกท่านบังไว้ว่า แม่เป็นเงือก ไหนเลยจะว่ายน้ำไม่ได้ น่าจใช่นะ แต่ท่านผู้อ่านต้อไม่ลืม เรื่องสภาพแวดล้อม สุดสาคร เกิดและอยู่บนเกาะ ใครที่อยู่ใกล้นำ ว่ายน้ำไม่เป็น็น่า….. ส่วนวรรคขยาย ที่ว่า ดาบสบ่นปากเปียกเรียกไม่ไหว  พระฤษีเอื้อระอา รึ  เปล่าเลย อความนี้เป็นภาษาไทยที่ใช้ในลักษณาการของความน่าเอ็น่าเอ็นดูต่างหาก ปากว่าต่ายิ้ม วางั้นเถอะ

 

  • ยังไงก็ตามพระฤษีก็ใช้เวลาที่เหลือ

 

“สอนอ่านสอนเขียนไปก่อน”

 

เมื่อได้จังหวะก็ให้ร่ำเรียนตำราวิชาการ  นี่เป็นการเรียนแบบเพลย์เวย์(play way) ไปพร้อมกับ บายดูอิ้ง(learning by doing) เหตุผลเหล่านี้พอสนับสนุนเรื่อง  อีคิว  ไอคิวที่ตื่นเต้นกันอยู่ในปัจจุบันนั้น  แท้จริงแล้ว ท่านสุนทรภู่ท่านก็รู้ไม่แตกต่างไปจากปัจจุบัน

         

ท่านผู้อ่าน..  เรื่องของ “ชีเปลือย”  จะเปลือยเปล่าไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าขาดความเกี่ยวพันกับ สุดาคร  ไม้เท้า และม้ามังกร แต่เหตุที่ต้องแยกวิเคราะห์ก็ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เราจะเปลือยตาชีเฒ่าเจ้าเล่ห์ แสนขี้เกียจสุดฤทธิ์สุดเดช เพื่อให้เหลือแต่ความล่อนจ้อน แต่ไม่น่าเวทนา

          เมื่อได้ไม้เท้าตาแกก็งกเงิ่น ใช้ผิดใช้ถูกเดาดุ่มเรื่อยไป สัญชาตญาณของ “ม้า” ซึ่งเป็นสัตว์แม้จะไม่ธรรมดา แต่ก็กลัวมือไม้ที่เงื้อง่า ไม่ว่า ม้า ช้าง เลือ ค่าง กวาง  หมี ย่อมหลบหลีก ยอมผ่อนให้เพราะต้องรักษาตัวให้รอดไว้ก่อน   เมื่อเงื้อไม้ ม้า  จึงจำยอม ให้บังคับ แต่ด้วยเหตุที่ ท่านสุนทรภู่ ท่านบ่งนัย ไว้ว่า “ไม้เท้า” ก็เป็นอลังการของผู้ที่อยู่บนหลัง   เมื่อบังคับม้าได้แล้ว ตาชีเปลือย ก็ใช้ประโยชน์ สร้างฐานะของตนให้ “ยิ่งใหญ่”ในสายตาของคนทั้งหลาย แต่ขอโทษ “ไม่ยิ่งยง” 

 

ลักษณะของ  “ชีเปลือย”  ที่ไม่มีปัญญา  เกียจคร้าน ถ้าจะต้องย้อนไปย้อนมาก็ เพราะอีตาชีคนนี้ ขึ้นมาเล่นบทน่าเวียนหัว แถมคลื่นเหียน ปั่นป่วน แต่ชวนอ่าน ตรงนี้ที่สำคัญนัก    มาวิเคราะห์ทีละเปราะให้มันกันบรรทัดต่อบรรทัดเลยนะ

 

“ไม่นุ่งผ้าคากรองครองหนังเสือ    ประหลาดเหลือโล่งโค้งโม่งโค่งขัน”

 

วรรคนี้  คืออะไรบอกเสียชัดเจน ผ้าไม่นุ่ง แม้แต่ใบหญ้าใบไม้ก็ไม่ปกปิด หรือจะห่มหนังเสือก็เปล่า ส่วนใหญ่มักจะมองหรือเข้าใจ หรืออธิบายว่า ห่มหนังเสือ แต่ความจริงวรรคนี้เป็นสรุปความทั้งหมด เอ้าลองดูต่อไปว่าอะไรเป็นเครื่องยืนยัน

 

“น่าเหียนรากปากมีแต่ขี้ฟัน               กรนสนั่นนอนร้ายเหมือนป่ายปีน”

 

วรรคนี้แจ้งเพื่อทราบปากเหม็นนอนแบบคนสิ้นท่า ที่ใส่ว่า “มีแต่ขี้ฟัน” ใช่ว่าสุดสาคร จะเข้าไปใกล้จนเห็น แค่ลมหายใจที่พุ่งโพลงออกมาพร้อมกับเสียงกรน ก็คงเหลือทน เหลือรับประทานแล้ว แต่ที่แท้ท่านต้องการสร้าง “อุปลักษณ์ของคนพูดจาสับปลับ” ที่กล่าวกันว่า  “อย่าไปฟัง พูดเมื่อไรก็เหม็นขี้ฟัน”  หรือ สำนวนว่า “ปากเหม็น” นั่นเอง

 

“ประหลาดใจใยหนอไม่นุ่งผ้า             จะเป็นบ้าไปหรือว่าถือศีล

หนวดถึงเข่าเคราถึงนมผมถึงตีน         ฝรั่งจีนแขกไทยก็ใช่ที”

 

ผ้าไม่นุ่ง บ้า หรือนักบวช ก็ไม่ชี้ชัด กลอนบาทแรก ช่วยย้ำอีกครั้งว่า ตาคนนี้เปลือยเปล่า โดยเฉพาะวรรคแรก  ส่วนวรรคที่สองเป็นเพียงการขยายความ ที่ชวนให้ดูว่า น่าจะมีเหตุและผลของการที่ต้องเปลือย ให้ไว้ สองท่า  ท่าทางคนบ้า หรือท่าทางนักบวช  แต่วรรคทื่ สาม นี่แหละสำคัญมาก ที่ยื่นยันความเกียจของมนุษย์

หนวดถึงเข่า  เคราถึงนม  ผมถึงตีน” 

อย่างไร หากพิศเพียงคำกลอน จะดูเหมือนว่า ท่านผู้รจนา คงไม่ต้องการให้เป็นภาพโป๊ หรือล่อนจ้อน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับบอกว่า ตาชียังมีความคิดอยู่บ้าง เพียงแต่ใช้ประโยชน์จากหนวด เครา  เผ้าผม เป็นเครื่องปิดความอาย  เปล่าเลย ท่านบรมครูท่านต้องการสร้างนัยว่า  สิ่งที่เกาะเกรอะกรังติดตัวคืออลังการแห่งความเกียจคร้าน อันหาประโยชน์มิได้ รกรุงรังจนไม่เห็นเนื้อหนังมังสาแห่งความเป็นนุษย์แม้แต่น้อยนิด

ส่วนเสริมของอุปลักษณ์ ที่ท่านผู้สร้างตัวละครตัวนี้ให้เห็นชัด เพื่อเป็น แม่บท แม่แบบ ของคนเกียจคร้าน  ไร้สติ ไร้ปัญญา ก็คือ  ความหยบคาย หน้าด้าน

 

“ส่วนตาเฒ่าเจ้าเล่ห์เหมือนเดระฉาน    หน้ามันด้านดื้อได้ไม่บัดสี

ดูสาวสาวชาวบุรินจนสิ้นดี                มาถึงที่ในวังนั่งยองยอง

     (๓๗๘)

 

หลังจากที่ได้ไม้เท้า กับ ม้ามังกร แล้ว พฤติกรรมของชีเปลือยจะเป็นอย่างไร น่าติดตาม แม้ท่านสุนทรภู่จะกำหนดเวลาให้ตัวละครตัวนี้เดินทางอยู่ในฉากเป็นเวลาอันแสนสั้น แต่ก็ย้าวยาวเหมือนหนวดถึงเข่า เคราถึงนม ผมถึงตีน

(ใช้ “ตีน” เถอะ อย่ารังเกียจคำนี้นักเลย ใช้ “ตีน” น่ะเหมาะแล้ว  มนุษย์ปัจจุบัน ริไปใช้ “เท้า”  กับนานาสารพัดสัตว์  ช้าง  ม้า  วัว  ควาย เสือ กวาง ช้าง หมี  ช่วยกันนะ ช่วย เอา “ตีน” คืนให้มันทีเถอะ ให้ “เท้า” มัน เดี๋ยวมันก็จะต้องเรียกร้องขอ “รองเท้า” แล้ว คนคงต้องไปใช้ “เกือก” แทน โลกคงจะสับสนมากขึ้นไปอีก)

 

              “ขึ้นขี่หลังรั้งสายหวายตะค้า              สงสารม้าร้องเพียงจะเสียงหลง(๑)

    แต่ป่วนปั่นหันเหียนวิ่งเวียนวง(๒)       ด้วยรักองค์หน่อนาถไม่คลาดคลา(๓)

              จนชีเปลือยเหนื่อยแรงแกว่งไม้เท้า     ความกลัวราวกับจะดิ้นสิ้นสังขาร์(๔)

              ต้องตามใจมิได้ขัดหัทยา                 ชีชราควบลองดูว่องไว”

                                                                                       (๒๕๐๕ ๓๗๔)

 

บทที่ยกมานั้น พิจารณาแล้วจะเห็นว่า ท่านสุนทรภู่ชี้ให้เห็นว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมจงรักจงภักดีต่อผู้ให้ความรัก เมตตาปรานี ที่มาจากใจ ใน

 

(๑) แต่ชีเปลือยใช้อาการที่ตรงกันข้าม นี่นับเป็นประการสำคัญอันดับแรก ส่วน   นัยของ

(๒) จะเห็นว่าท่านผู้รจนาลวงให้เพลินตามขนบนิทานในวรรคที่สองอันเป็นวรรคขยาย แต่ใจความหลักอยู่ที่ วรรคแรก จากคำว่า “ป่วนปั่นหันเหียนวิ่งเวียนวง”นี่แสดงว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างผู้ควบขี่ กับ ม้า อาการที่ไม่รูจักธรรมชาติม้าหนึ่งละ  กับความไม่เคยชินซึ่งกันและกัน ม้าย่อม “พยศ” หรือตื่นเป็นธรรมดา

(๓) ธรรมชาติของสัตว์ ย่อมคุ้นเคย และผูกพัน ภักดีต่อเจ้าของ หรือผู้ที่มีจิตเมตตา จนกระทั่ง

(๔) อาการอันหยาบคายที่แสดงออก ประการแรกคือ อาการ “พยศ” แต่ในที่สุด ความกลัว ม้าจึงต้องจำยอม

 

น่าแปลกใจที่ท่านสุนทรภู่ไม่ลืมที่จะแจ้งเหตุ คือข้อความตอนนี้ไงที่เจ้าเมืองการเวกถึงกับฝันร้าย  แล้วให้โหรทำนายทายทักว่า

 

          “จึงตรัสบอกโหราพฤฒาเฒ่า               คืนนี้เราหลับไปเมื่อไก่ขัน

“ฝัน” ว่าแร้งแดงทั่วทั้งตัวมัน               แต่ขนนั้นเลี่ยนโล้นดู้โกร๋นเกรียน(๑)

มันคาบแก้ว(๒)แล้วบินกลิ่นตระหลบ    เหม็นเหมือนศพทรากหืนให้คลื่นเหียน

          ครั้นแร้งหายพรายช่วงดวงวิเชียร(๔)    สว่างเวียนวงรอบขอบบุรี”

                                                                                   (๒๕๐๕ ๓๗๕)

 

บทวิเคราะห์ สำหรับช่วงนี้   “ฝัน” นี้จะเป็นเรื่องของความเชื่อ จะจัดอยู่ในประเภท บุพนิมิต  จิตนิวรณ์  เทพสังหรณ์ หรือ ธาตุโขภ   ท่านต้องไปศึกษาต่อส่วนผู้วิเคราะห์ไม่กล้าตัดสิน  โหรท่านทำนายเหมือนตาเห็น เหมือนเป็นผู้กำกับยังไงยังงั้น ว่ายังงี้

 

“ซึ่งแร้งสาบคาบแก้วมาแล้วหาย         คือคนร้ายรูปจริตผิดวิไสย

จะนำหน้าพระกุมารอันชาญไชย         เข้ามาในนัคราไม่ช้านัก”

                                                                      (๒๕๐๕ :  ๓๗๗)

ท่านสุนทรภู่  ท่านรจนาให้รวบรัดได้ใคร “เป็น” ใคร ชัดเจนทันที อุปลักษณ์ทั้งสิ้น เฉลยแล้วด้วยคำทำนาย

 

เหตุการณ์หลังจากม้ามังกรหลุดจากการบังคับบัญชาของชีเปลือยกลับไปตามหาสุดสาครแล้ว ชีเปลือยก็เปลือยเปล่าตามแบบฉบับของคนจนปัญญา สำแดงอาการตามบทที่ว่าดังนี้

 

            “ ส่วนชีเปลือยเมื่อยล้าเห็นม้ากลับ           ลมก็จับล้มกลิ้งนิ่งนอนหงาย

             เสนาในใหญ่น้อยพลอยวุ่นวาย               เข้ารอบกายแก้ไขก็ไม่ฟื้น

             กษัตรามาดูตาครูเฒ่า                          เห็นตัวเปล่าเปลือยเลี่ยนให้เหียนหืน

             แต่ทรงเดชเวทนาอุส่าห์ยืน                    เห็นริกริกพลิกฟื้นไม่พูดจา”

 

เป็นอย่างไรบ้าง ตาชีเจ้าเล่ห์ของเรา ยังไงๆก็ออกท่าทีแห่งความเปลือยเปล่าทางปัญญา และแล้วท่านบรมครูก็จบบทบาทให้ชีเปลือยออกจากฉากไปอย่างเปลือยๆ ด้วย

 

บทสรุปของบทกลอนดังนี้

 

ส่วนเสนีที่ศรัทธากับตาเฒ่า               หามมาเข้าทิมขวาพออาไศรย

หมอรักษายาวางต่างต่างไป               ชีเปลือยได้สมประดีไม่มีสบาย

เมื่อม้าหนีนี่จะไปข้างไหนรอด            ระทวยทอดทุกข์ซ้ำระส่ำระสาย

ให้หาวเรอเพ้อพกผงกกาย                เป็นไข้ใจไม่หายอยู่หลายวัน

 

นับเป็นอัจฉริยะของบรมครูผู้ยิ่งยงจนระบือไปทั่วโลก สำหรับการวิเคราะห์นี้ไม่เพียงแต่จะเสริมความเป็นจินตกวีเอกของโลกเท่านั้น หากแต่ท่านยังเป็นนักเขียนไทยที่เปิดความเป็นสากล ที่ควรแก่การยกย่องอย่างยิ่งด้วยเหตุผลที่พอสรุปได้อย่างจางๆดังนี้

การสร้างตัวละครขึ้นอย่างเป็นระบบและเข้าหลักจิตวิทยาของมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม

การสร้างปมของเรื่องและแก้ปมปัญหาของตัวละครแต่ละตัวมีความเป็นไปได้ การปล่อยตัวละครมีจังหวะเหมาะแก่สถานการณืและภาวะแวดล้อม

การปิดฉากของตัวละครปิดลงอย่างสมเหตุสมผล

การกำหนดฉากนับเป็นฉากที่มีสถานที่ที่ปรากฏจริง

บทบาทของตัวละครเหมาะสมตั้งแต่ พระเอก นางเอก พระรอง นางรอง ตัวสำคัญตัวประกอบ เป็นเข้าระบบของวรรณกรรมสากล

การใช้โวหารเชิงภาพพจน์ เป็นไปตามหลักที่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างแท้จริงและแนบเนียน

 

      ท่านที่รักต้องขออภัยที่ออกนอก THEME ที่ตั้งไว้ ดังนั้นเราสรุปกันได้อย่างชนิด

ที่เรียกว่าแก้ปมโดยวิธีที่นักเขียนรังเกียจนักหนาเลยเห็นจะดีเป็นแน่ทีเดียว

 

                                                บทสรุปบ่นความตอนนี้ก็คือ “อุปลักษณ์ของชีเปลือย”

 

คือคนเกียจคร้านมักเอาแต่ด้านได้

คือคนไร้ปัญญาความกล้าหาญ

คือคนแก้ปัญหาอย่างดักดาน

คือคนล่าล้างผลาญแม้เผ่าพงศ์

คือคนล่อนจ้อนทั้งกายและใจ

คือคนที่ผู้ร้ายไม่ประสงค์

คือคนโง่อวดฉลาดทำอาจอง

คือคนที่โลกเจาะจงให้ดับไป(เร็วๆๆๆ)

 

 

…………………………………………………………………………………………………………….

 

เอกสารอ้างอิง

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  ๒๕๓๙.

ชวลิต  ผู้ภักดี.  ภาษาเฉพาะกิจ  ภาควิชาภาษาไทย  คณะมนษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา,   ๒๕๓๙.

ณรุทธ์  สุทธิจิตต์.  สังคีตนิยม  สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  ๒๕๕๗.

พรรัตน์  ดำรุ่ง.  ละครประยุกต์ การใชละครเพื่อการพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  ๒๕๕๗.

วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ประวัติวรรณคดีไทย  ภาควิชาภาษาไทย  เอกสารสิ่งพิมพ์

๒๕๑๗.

http://sites. Google.com.> site< hom. เครื่องดนตรีไทยประเภทเป่า,  ๒๕๖๐.

                                                …………………………………………………………..