บทที่ 5 สรุปผล อภิปราย และข้อเสนอแนะ

     ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะเรื่องการหารสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดบางปะกอก ซึ่งมีขั้นตอน และผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้

  1. สรุปผลการวิจัย
  2. อภิปรายผล
  3. ข้อเสนอแนะ

สรุปผลการวิจัย

ในการวิจัยครั้งนี้ พบว่า

  1. ชุดฝึกทักษะ เรื่อง การหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีค่าประสิทธิภาพ E1/ E2 เท่ากับ 74.49/82.60 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ คือ 70/70
  2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องการหาร หลังเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

อภิปรายผล

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะ เรื่องการหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดบางปะกอก ผลการวิจัยมีดังนี้

  1. ชุดฝึกทักษะ เรื่องการหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีค่าประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 74.49/82.60 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ คือ 70/70 ที่กำหนดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับ ณิชาภา ภัทรมณีนิล (2555, บทคัดย่อ) ได้ศึกษาถึงผลการใช้ชุดกิจกรรมฝึกทักษะพัฒนาการคิด เรื่องการหารไม่ลงตัว สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านหนองตะขบ ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ชุดกิจกรรมฝึกทักษะพัฒนาการคิดเรื่องการหารไม่ลงตัวของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2  มีประสิทธิภาพเท่ากับ 77.78/76.07 สูงกว่าเกณฑ์ 70/70 แสดงว่า ชุดฝึกทักษะนี้มีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้จริง
  2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดบางปะกอก ที่เรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะเรื่องการหาร มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ 2) ที่ตั้งไว้ สอดคล้องกับผลการวิจัย ปราณี จิณฤทธิ์ (2552, บทคัดย่อ) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังการใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้

  1. การนำวิธีการสอนโดยการใช้ชุดฝึกทักษะไปใช้นั้นควรคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนเป็นสำคัญเพราะนักเรียนอาจให้ความสำคัญ และให้ความสนใจใส่ใจชุดฝึกทักษะมากน้อยต่างกันซึ่งอาจทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเกิดความรู้รวบยอดได้เร็วเพราะฉะนั้นผู้วิจัยควรคอยให้คำชี้แนะ และอธิบายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้เรียนได้คิดตามได้ทัน
  2. ในการสอนโดยใช้ชุดฝึกทักษะนั้นผู้สอนอาจเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นเปิดโอกาสให้ได้ถาม และตอบในส่วนที่ผู้เรียนไม่เข้าใจเพื่อเป็นการอธิบายเพิ่มเติมในจากคำชี้แจงที่ผู้วิจัยได้เขียนอธิบายไว้ในชุดฝึกทักษะจะทำให้ประสิทธิภาพทางการเรียนการสอนดียิ่งขึ้น

ข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยครั้งต่อไป

  1. ควรกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพของชุดฝึกทักษะให้สูงขึ้น ให้มีความสอดคล้องกับสภาพของนักเรียนหรือควรเพิ่มเติมจำนวนชุดฝึกทักษะให้มีปริมาณมากขึ้นเพื่อให้เกิดความคงทนของความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่สอน
  2. ในการวิจัยครั้งนี้นักเรียนส่วนน้อยที่ไม่ใส่ใจการเรียน ไม่สนใจกิจกรรม และไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนเท่าที่ควร การวิจัยครั้งต่อไปควรหาวิธีการ หรือกระบวนการที่ทำให้นักเรียนสนใจเรียน และให้ความสำคัญกับการเรียนเพิ่มมากขึ้น