พฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพเพื่อสุขภาพของประชาชน

ในชุมชนนิคมหนองบัว    ตำบลหนองอีบุตร  อำเภอห้วยผึ้ง  จังหวัดกาฬสินธุ์

Behavior of bio-fermented juice consuming for health of people in Nongeebut  Huaiphueng, Kalasin Province

 

ณภัทร เตียววิไล*, นิสา  บุญแสง*, สุภาวัลย์  โฮมแพน*

*สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 1061 ซอยอิสรภาพ แขวงหิรัญรูจี เขตะนบุรี กรุงเทพฯ 10600

บทคัดย่อ
             การวิจัยเชิงสำรวจนี้ (Survey research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพเพื่อสุขภาพของประชาชน ในชุมชนนิคมหนองบัว ต.หนองอีบุตร  อ.ห้วยผึ้ง   จ.กาฬสินธุ์ เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (purposive sampling) จำนวน 108 คน ใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป (SPSS for Windows) ใช้สถิติเชิงพรรณนาหาความถี่    ค่าร้อยละและค่าความสัมพันธ์

ผลการศึกษาพบว่า 1) ส่วนใหญ่ประชาชนมีความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค อยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 56.3 และ 72.2 ตามลำดับ 2) พฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 90.7  3) ภาวะสุขภาพของประชาชน อยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 70.4นอกจากนี้พบว่าความรู้และทัศนคติมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ (P–value<0.05) ดังนั้นควรมีการส่งเสริมให้ความรู้และทัศนคติกับกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นกระบวนการผลิตที่สะอาดถูกหลักอนามัย และควรพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพที่ดีต่อไป

 

คำสำคัญ : พฤติกรรมการบริโภค, น้ำหมักชีวภาพ, สุขภาพ

 

Abstract

This survey research aimed  to  studies  Behavior  of  bio-fermented  juice consuming for health of people in Nongeebut  Huaiphueng ,  Kalasin  Province.  A total of 108 peoples were purposive sampling. A questionnaire was used as data collecting tool. Data analysis was done by using SPSS for window, frequency, percentage and Chi-square.

The result revealed that: 1) Most people is knowledge and attitude for Bio-fermented juice consuming were high levels 56.3 and 72.2 respectively. 2) Behavioral consuming bio-fermented juice were high levels (90.7%). 3) Health status of people were high levels (70.4%). In addition, knowledge and attitude were found to be associated with behavioral consume   (p-value < 0.05) Thus, recommendation should be promoting knowledge and attitude for hygiene processing and to develop bio-fermented  juice for good health product.

Keyword: behavioral consuming, bio-fermented juice, health

 

บทนำ

ปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทยมีสาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัจจัยเสี่ยงที่เป็นผลมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมเพิ่มขึ้น (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2557) โดยเฉพาะกลุ่มของโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมไปถึงโรคที่เกิดจากการทำงาน การรักษาที่ยาวนานและไม่ค่อยได้ผลทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มใช้ภูมิปัญญาของชุมชนเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของตนเอง เช่น ยาดอง ยาสมุนไพรพื้นบ้าน น้ำหมักชีวภาพ หรือพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น

น้ำชีวภาพหรือน้ำสกัดชีวภาพนี้เกิดขึ้นเมื่อ ประมาณ กลางปี พ.ศ. 2540 เกิดขึ้นในขณะที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ (สุริยา สาสนรักกิจ, 2550) อันเป็นผลมาจากการเติบโตทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีการนำสารเคมีหลายชนิดและหลายรูปแบบเข้ามาใช้เพื่อให้ได้ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค โดยในภาคการเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2526 เป็นการผสมผสาน จุลินทรีย์หลายชนิดเข้าด้วยกันในตัวกลางที่เป็นกากน้ำตาลหรือน้ำตาลมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร หลังจากนั้น ในราวปี พ.ศ. 2529 ศาสตราจารย์คาซูโอะ วาคุกามิ ประธานมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา ได้ร่วมกันนำแนวความคิดและเทคนิคเกี่ยวกับการใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเข้าเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก รู้จักกันภายใต้ชื่อที่หลากหลาย คือ น้ำสกัดชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ น้ำเอนไซม์ น้ำจุลินทรีย์ น้ำหมักพืช เป็นต้น (ชีววิถี, 2551)

ซึ่งน้ำหมักชีวภาพที่ใช้ในการบริโภค หรือ เอนไซม์ เป็นสารโปรตีน วิตามินเอ บี ซี ดี อี เค อะมิโนแอซิค (Amino acid) และ อะเซทิลโคเอ (Acetyl Coa) ที่ได้จาก หมักผลไม้นานาชนิด    เมื่อหมักระยะเริ่มแรกจะเป็นแอลกอฮอล์ ระยะต่อมา เป็นน้ำส้มสายชู ซึ่งมีรสเปรี้ยว อีกระยะหนึ่งเป็นยาธาตุ มีรสขม ก่อนจะได้เป็นน้ำหมักชีวภาพ (เอ็นไซม์) ซึ่งใช้เวลาหมักขยายประมาณ 2 ปี แต่หากจะนำไปดื่มกินควรผ่านการหมักขยายเป็นเวลา 6 ปีขึ้นไป โดยประโยชน์จากน้ำหมักชีวภาพนั้น หากมีนวัตกรรมการผลิตที่ดีจะส่งผลดีต่อสุขภาพของระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ทำให้ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น และช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ แต่น้ำหมักชีวภาพ ที่ขายอยู่ตามท้องตลาด มักเป็นน้ำหมักชีวภาพที่อยู่ในสภาพเป็นแอลกอฮอล์ ดังนั้นเมื่อดื่มกินแล้วอาจมีอาการร้อนวูบวาบ มึนงง และอาจทำให้ฟันผุกร่อนได้ เพราะน้ำหมักชีวภาพ (เอนไซม์) มีสภาพเป็นกรดสูง ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มน้ำหมักชีวภาพแบบเข้มข้น (รสสุคนธ์  พุ่มพันธุ์วงศ์, 2555)

ปัญหาสำคัญของการผลิตน้ำหมักชีวภาพ คือ คุณภาพและความปลอดภัย โดยผู้ผลิตเองยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ และข้อควรระวังในกระบวนการผลิต ส่วนผู้บริโภคเองก็ยังมีความสับสนในความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้น้ำหมักชีวภาพเช่นเดียวกัน รวมถึงหลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีคุณภาพและปลอดภัย อาจเป็นเพราะ     ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่มีกฎหมายมากำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพขึ้นมาอย่างเป็นทางการเพื่อรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพที่มีการผลิตและวางจำหน่าย ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ได้ (ไชยวัฒน์  ไชยสุต, 2550)

ปัจจุบันในชุมชนนิคมหนองบัว  ต.หนองอีบุตร  อ.ห้วยผึ้ง  จ.กาฬสินธุ์ พบว่าประชาชนมีการผลิตน้ำหมักชีวภาพ และมีการบริโภคตามความเชื่อ ด้วยเหตุผลที่ว่าน้ำหมักชีวภาพช่วยป้องกันโรคต่างๆ หรือช่วยแก้ อาการของบางโรคได้  ดังนั้นผู้ศึกษาจึงมีความสนใจที่ศึกษาถึงพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพเพื่อสุขภาพ เป็นชุมชนที่มีการบริโภคน้ำหมักชีวภาพเพื่อสุขภาพเป็นจำนวนมาก โดยผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมในการนำน้ำหมักชีวภาพไปบริโภค ให้กับประชาชนในชุมชนต่อไป

วัตถุประสงค์การวิจัย

1.เพื่อศึกษาความรู้และทัศนคติในการบริโภคน้ำหมักชีวภาพเพื่อสุขภาพของประชาชน

2.เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพเพื่อสุขภาพของประชาชน

3.เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ความรู้ ทัศนคติ กับพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพเพื่อสุขภาพของประชาชน

 

วิธีดำเนินการวิจัย

1.ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ ประชาชนที่บริโภคน้ำหมักชีวภาพที่อาศัยอยู่ในชุมชนนิคมหนองบัว ตำบลหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนที่บริโภคน้ำหมักชีวภาพ โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) จำนวน 108 คน

2.เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบสอบถามที่สร้างขึ้นใหม่โดยการทบทวนวรรณกรรมของผู้วิจัย แบบสอบถามแบ่งเป็น 5 ส่วน ส่วนที่ 1 สอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ วัตถุประสงค์ในการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ ส่วนที่ 2 ความรู้เกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค ส่วนที่ 3 ทัศนคติต่อการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ ส่วนที่ 4 พฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ และส่วนที่ 5 สอบถามเกี่ยวกับภาวะสุขภาพ แบ่งย่อยออกเป็น 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 ภาวะสุขภาพทางกาย และตอนที่ 2 ภาวะสุขภาพทางจิต

3.การเก็บรวบรวมข้อมูล มีการประชาสัมพันธ์โครงการวิจัยให้ชุมชนรับทราบก่อนล่วงหน้า ก่อนลงเก็บข้อมูล 1 สัปดาห์ มีการนัดหมายกับชุมชน จากนั้นจะลงชุมชนแจกแบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่างกรอกข้อมูล โดยผู้วิจัยจะอธิบายลักษณะและวิธีรการตอบแบบสอบถาม หลังจากนั้น 1 สัปดาห์จะมาเก็บแบบสอบเพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป

4.การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ทัศนคติ กับพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพด้วยสถิติ Chi-square

ผลการวิจัย

จากกลุ่มตัวอย่าง 108 คนที่บริโภคน้ำหมักชีวภาพส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 54.6) มีอายุ 46- 50 ปี (ร้อยละ 23.1) สถานภาพสมรส (ร้อยละ 76.9) จบการศึกษาระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 69.4) อาชีพเกษตรกร (ร้อยละ 76.9) รายได้อยู่ในช่วง 5,001-10,000 บาทต่อเดือน วัตถุประสงค์ในการบริโภคคือเพื่อป้องกันโรค (ร้อยละ 56.5) (ตารางที่ 1)

 

ตารางที่ 1 คุณลักษณะทางประชากรของกลุ่มตัวอย่างที่บริโภคน้ำหมักชีวภาพ

ปัจจัยส่วนบุคคล จำนวน ร้อยละ
เพศ
      ชาย 49 45.4
      หญิง 59 54.6
อายุ
      35 – 40 23 21.3
      41 – 45 18 16.7
      46 – 50 25 23.1
      51 – 55 22 20.4
      56 – 60 20 18.5
สถานภาพ
    โสด 9 8.3
    สมรส 83 76.9
   หม้าย อย่า แยกกันอยู่ 16 14.8
ระดับการศึกษา
      ไม่ได้เรียน 16 14.8
      ประถมศึกษา 75 69.4
     มัธยมศึกษา 8 7.4
      อนุปริญญา/ เทียบเท่า 3 2.8
      ปริญญาตรีหรือสูงกว่า 6 5.6
อาชีพ
      อาชีพอิสระ 5 4.6
      ค้าขาย 10 9.3
      รับราชการ 5 4.6
      เกษตรกร 83 76.9
      รับจ้าง 5 4.6
ตารางที่ 1  (ต่อ)

ปัจจัยส่วนบุคคล                                      จำนวน                ร้อยละ

รายได้ ( บาท / เดือน )                                      

ต่ำกว่า 5,000                                                   14                   15.4

5,001 – 10,000                                               69                   75.8

มากกว่า 15,000                                                 8                    8.8

วัตถุประสงค์ในการบริโภค*

รักษาโรคเก๊าท์                                                   2                     7.9

รักษาโรคความดันโลหิตสูง                                     9                     8.3

รักษาโรคเบาหวาน                                              7                     6.5

รักษาอาการปวดเมื่อย                                        27                    25.0

รักษาโรคกระดูกทับเส้น                                        2                     1.9

ป้องกันโรค                                                      61                    56.5

 

* ตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ

 

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 56.3) มีทัศนคติต่อการบริโภคน้ำหมักชีวภาพอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 72.2) พฤติกรรมการบริโภคอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 90.7) (ตารางที่ 2)

 

ตารางที่ 2 จำนวนและร้อยละของระดับความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างที่บริโภค

น้ำหมักชีวภาพ

ระดับความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรม จำนวน ร้อยละ
ความรู้เรื่องน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบิโภค
      ต่ำ 0 0.0
      ปานกลาง 45        43.7
     สูง 58 56.3
ทัศนคติต่อการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ    
      ต่ำ 0 0.0
      ปานกลาง 30 27.8
     สูง 78 72.2
พฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ    
      ต่ำ 0 0.0
      ปานกลาง 10 9.3
     สูง 98 90.7

ผลการสำรวจภาวะสุขภาพทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่บริโภคน้ำหมักชีวภาพมีระดับค่าดัชนีมวลกาย ( BMI )   อยู่ในระดับปกติ (ร้อยละ 73.2)  และมีภาวะสุขภาพทางกายและทางจิตส่วนใหญ่ในภาพรวมอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 70.4) (ตารางที่ 3)

ตารางที่ 3  จำนวนและร้อยละค่าระดับดัชนีมวลกาย และภาวะสุขภาพทางกายและทางจิต ของ

กลุ่มตัวอย่างที่บริโภคน้ำหมักชีวภาพ

 

 

ภาวะสุขภาพทั่วไป จำนวน ร้อยละ
ค่าระดับดัชนีมวลกาย ( BMI )  

      น้อยกว่า                                      

 

9

 

8.3

      18.50-22.90                79 73.2
      มากกว่า 23.00 20 18.5
ระดับภาวะสุขภาพทางกายและทางจิต    
       ต่ำ    0                      0.0
       ปานกลาง   32                    29.6
       สูง   76                    70.4

 

 

ผลการทดสอบความสัมพันธ์ของความรู้ ทัศนคติ กับพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ พบว่าทั้งความรู้และทัศนคติมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพที่ระดับความเชื่อมั่น 95%  (p < 0.05) (ตารางที่ 4 และ ตารางที่ 5 )

ตารางที่ 4  ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพของประชาชน

 

 

ความรู้ความเข้าใจ

พฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ df P – value
ต่ำ กลาง สูง
จำนวน

(ร้อยละ)

จำนวน

(ร้อยละ)

จำนวน

(ร้อยละ)

ปานกลางค่อนข้างต่ำ 0

(0.00)

0

(0.00)

10

(100.0)

7.872 1 0.005**
ระดับสูง 0

(0.00)

45

(45.92)

53

(54.08)

**P<0.01

ตารางที่ 5  ความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติกับพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพของประชาชน

 

ทัศนคติต่อการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ

พฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ df P – value
ต่ำ กลาง สูง
จำนวน

(ร้อยละ)

จำนวน

(ร้อยละ)

จำนวน

(ร้อยละ)

ปานกลางค่อนข้างต่ำ 0

(0.00)

7

(70.0)

3

(30.0)

9.793 1 0.002**
ระดับสูง 0

(0.00)

23

(23.47)

75

(76.53)

**P<0.01

อภิปรายผล

ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคน้ำหมักชีวภาพมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพของประชากร อยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 54.08 มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร  จึงทำให้มีความสนใจในการหาความรู้เกี่ยวกับการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค เรื่องของการคัดเลือกวัตถุดิบในการผลิต เช่น พืช ผัก ผลไม้ ตามคุณสมบัติเพื่อการบริโภค และสรรพคุณของพืชนั้นๆรวมถึงภาชนะที่บรรจุ และที่สำคัญ คือ กระบวนการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคจะต้องคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายทั้งจากวัตถุดิบ อุปกรณ์ต่างๆ  ประชากรส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในประโยชน์ของการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ เช่น การบริโภคน้ำหมักชีวภาพช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น        การบริโภคน้ำหมักชีวภาพสามารถกำจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคในระบบทางเดินอาหารได้ (ศศิธร  ศิริลุน, 2555)

          ทัศนคติเกี่ยวกับการการบริโภคน้ำหมักชีวภาพมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพของประชากร อยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 76.53 มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เนื่องจากประชากรมีทัศนคติอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จึงทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพที่ดี โดยทัศนคติมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพของบุคคล เช่นประชากรส่วนใหญ่มีทัศนคติในเรื่องของการทำน้ำหมักชีวภาพไว้บริโภคเองมีความปลอดภัยมากกว่าการซื้อน้ำหมักชีวภาพจากที่อื่นมาบริโภค การบริโภคน้ำหมักชีวภาพไม่ใช่การดื่มสุรา จึงไม่ทำให้เกิดอาการเมา เพราะการทำสุรานั้นต้องมีการเติมยีสต์ แต่การทำน้ำหมักชีวภาพไม่มีสวนประกอบของยีสต์ แต่การบริโภคน้ำหมักชีวภาพถือว่าเป็นยาชนิดหนึ่ง และการบริโภคน้ำหมักชีวภาพยังสามารถช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ไชยวัฒน์  ไชยสุต (2553).

จากการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนในชุมชนนิคมหนองบัว มีความรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมในการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ อยู่ในระดับสูง ดังนั้นควรมีการให้ความรู้ในกระบวกการผลิตที่สะอาดถูกสุขลักษณะ เพราะการบริโภคน้ำหมักชีวภาพต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ ทางวิทยาศาสตร์มาประกอบเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพที่ดีต่อไป

ข้อเสนอแนะ
1 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีหนังสือและเอกสารของการบริโภคน้ำหมักชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพไว้ในห้องสมุดชุมชน เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าของประชาชนที่สนใจ รวมทั้งมีการเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ ตามโอกาสที่เหมาะสมและต่อเนื่อง เพื่อจะช่วยเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการบริโภคน้ำหมักชีวภาพมากยิ่งขึ้น

2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ เพื่อให้ประชาชนเห็นประโยชน์และโทษของการบริโภคน้ำหมักชีวภาพ

3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแนะนำประชาชนในเรื่องพฤติกรรมการบริโภคน้ำหมักชีภาพที่ได้มาตราฐาน กรรมวิธีในการผลิตที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้น้ำหมักชีวภาพที่มีความสะอาดและมีความปลอดภัยต่อผู้ที่บริโภค

 


เอกสารอ้างอิง

ชีววิถี. (2551). อีเอ็ม คืออะไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2557, จาก
http://www.chivavithee.net/pdf/chivavithee.zip

ไชยวัฒน์ ไชยสุต. (2550). น้ำหมักชีวภาพเทคโนโลยีเพื่อความพอเพียง. กรุงเทพมหานคร: งาน

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชนบทและชุมชน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงาน

พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.

ไชยวัฒน์ ไชยสุต. (2553a). น้ำหมักชีวภาพ หนังสือชุด สุขภาพดีและความงามเริ่มจากข้างใน. พิมพ์
ครั้งที่ 1, ปทุมธานี: ไทยเอฟเฟค สตูดิโอ.

รสสุคนธ์ พุ่มพันธุ์วงศ์.(2555). เอนไซม์-น้ำหมักชีวภาพจากผลไม้สำหรับดื่ม. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556, จาก https://sites.google.com/site/baanmaklomp/xensim-na-
hmak- chiwphaph

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2557). ท้องถิ่นชุมชนแข้มแข็งพัฒนาสุขภาวะ
อย่างยั่งยืน.
กรุงเทพฯ: กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

สุริยา  สาสนรักกิจ. (2550) น้ำสกัดชีวภาพ. กรุงเทพมหานคร: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และ      เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ศศิธร  ศิริลุน. (2555). การทำน้ำหมักชีวภาพเทคโนโลยีเพื่อความพอเพียง เพื่อสุขภาพชุมชน.    โครงการประชุมเพื่อฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ. วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2555 ณ ศูนย์ 3 วัย         บ้านถ่ำ ต.ดอกคำใต้: มหาวิทยาลัยพะเยา.

View Fullscreen