บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

       ในการศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเว็บช่วยสอนระบบมัลติมีเดีย (MMWBI) วิชาการใช้โปรแกรมกราฟิก สำหรับนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 2 แผนกวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรีผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแบ่งเป็นหัวข้อได้ดังนี้

  1. หลักสูตรวิชาการใช้โปรแกรมกราฟิก
  2. บทเรียนเว็บช่วยสอนระบบมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (MMWBI)
  3. การออกแบบและสร้างเว็บช่วยสอนระบบมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (MMWBI)
  4. ความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต
  5. การหาประสิทธิภาพของบทเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน
  6. แนวคิดเกี่ยวกับความพึงพอใจ
  7. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

หลักสูตรวิชาการใช้โปรแกรมกราฟิก

       หลักสูตรเป็นการจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน การวิเคราะห์หลักสูตรนั้นมีประโยชน์หลายประการ โดยเฉพาะด้านการสอนและการวัดผล จึงจำเป็นต้องนำผลการวิเคราะห์หลักสูตร ไปเป็นแนวทางในการวางแผนการสอน เพื่อให้การสอนถูกต้องตามความต้องการของหลักสูตรและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น ในปีพุทธศักราช 2546สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้จัดการวิเคราะห์หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเพื่อจัดเป็นรายวิชา ในส่วนของเนื้อหา วิชาการใช้โปรแกรมกราฟิก ได้กำหนดรายวิชาของหลักสูตรได้ดังนี้

  1. วิชาการใช้โปรแกรมกราฟิก รหัสวิชา 2201 -2419
  2. สภาพรายวิชาเป็นหลักสูตรวิชาชีพสาขาวิชาพณิชยกรรมใช้เวลาศึกษา 72 ชั่วโมง ทฤษฏี 2 คาบ ปฏิบัติ 2คาบ
  3. ในปีการศึกษาหนึ่ง ๆ ให้แบ่งภาคเรียนออกเป็นภาคเรียนปกติภาคเรียนละ20  สัปดาห์ปี พ.ศ.2549 ปรับเป็น ภาคเรียนละ 18 สัปดาห์ )72)
  4. การเรียนในระดับชั้นเรียนให้สถานศึกษาเปิดทำการสอนสัปดาห์ 5 วัน คาบละ 60 นาที(1 ชั่วโมง)

จุดประสงค์รายวิชา

  1. เพื่อให้มีความเข้าใจหลักการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก
  2. เพื่อให้สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิกสร้างภาพรูปแบบต่าง ๆ
  3. เพื่อให้มีกิจนิสัยในการทำงานด้วยความประณีต รอบคอบและปลอดภัย ตระหนักถึงคุณภาพของงานและมีจริยธรรมในงานอาชีพ

มาตรฐานรายวิชา

  1. เข้าใจหลักการสร้างภาพกราฟิกด้วยคอมพิวเตอร์
  2. ประยุกต์ใช้เทคนิคการสร้างและเก็บภาพย่อขยายภาพย้ายตำแหน่งการหมุนการตัดภาพ
  3. ประยุกต์ใช้เทคนิคการสร้างภาพเคลื่อนไหว

คำอธิบายรายวิชา

     ศึกษาและปฏิบัติเกี่ยวกับหลักการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ โครงสร้างข้อมูลสำหรับกราฟิก เทคนิคการสร้างและการเก็บภาพ  การย่อภาพ การขยายภาพ การย้ายตำแหน่ง การหมุน การตัดภาพ กระบวนการสร้างภาพและระบายสี การทำภาพเคลื่อนไหว รูปกราฟิกโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปด้านกราฟิก

สมรรถนะรายวิชา

  1. อธิบายหลักการทำงานและการแสดงผลของภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกได้ 90%
  2. สามารถปฏิบัติการใช้โปรแกรมกราฟิกได้ 90%

บทเรียนเว็บช่วยสอนระบบมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (MMWBI)

ความหมายของบทเรียนเว็บช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

     คลาร์ก (Clark, 1996) ได้ให้คำจำกัดความของการเรียนการสอนผ่านเว็บว่าเป็นการเรียนการสอนรายบุคคลที่นำเสนอโดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์สาธารณะหรือส่วนบุคคลและแสดงผลในรูปของการใช้เว็บบราวเซอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ติดตั้งไว้ได้โดยผ่านเครือข่าย

     คอลลีน (Colleen, 1996) ได้ให้คำจำกัดความของโปรแกรมการเรียนการสอนผ่านเว็บว่าเป็นสื่อใหม่ซึ่งรวมคุณประโยชน์ของไฮเปอร์มีเดีย ซึ่งประกอบไปด้วยข้อความเสียงวิดีโอภาพกราฟิกและภาพเคลื่อนไหวเป็นการสอนรายบุคคลโดยผ่านเครือข่ายการออกแบบการสอนต้องใช้หลักทฤษฎีเพื่อการออกแบบเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษาแก่ผู้เรียน

     ดริสคอล(Driscoll, 1997, p.3-5) ได้ให้ความหมายของการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตว่า เป็นการใช้ทักษะหรือความรู้ต่างๆถ่ายโยงไปสู่ที่ใดที่หนึ่งโดยการใช้เวิลด์ไวด์เว็บเป็นช่องทางในการเผยแพร่สิ่งเหล่านั้น

     คาน(Khan, 1997) ได้ให้ความหมายของWeb-Based Instruction (WBI) คือโปรแกรมเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่มีลักษณะเป็นการเชื่อมโยงสื่อหลายมิติซึ่งสามารถจะใช้ทรัพยากรและเครื่องมือต่างๆของเวิลด์ไวด์เว็บในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการเรียนการสอน

     รีแลนและกิลลานิ (Relan and Gillani, 1997) ได้ให้คำจำกัดความของเว็บในการสอนเอาไว้ว่าเป็นการกระทำของคณะหนึ่งในการเตรียมการคิดในกลวิธีการสอนโดยกลุ่มคอนสตรัคติวิซึ่มและการเรียนรู้ในสถานการณ์ร่วมมือกันโดยใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะและทรัพยากรในเวิลด์ไวด์เว็บ

     กิดานันท์  มลิทอง (2543) ให้ความหมายว่าการเรียนการสอนผ่านเว็บเป็นการใช้เว็บในการเรียนการสอนโดยอาจใช้เว็บเพื่อนำเสนอบทเรียนในลักษณะสื่อหลายมิติของวิชาทั้งหมดตามหลักสูตรหรือใช้เพียงการเสนอข้อมูลบางอย่างเพื่อประกอบการสอนก็ได้รวมทั้งใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะต่างๆของการสื่อสารที่มีอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ต เช่นการเขียนโต้ตอบกันทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์และการพูดคุยสดด้วยข้อความและเสียงมาใช้ประกอบด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

     ใจทิพย์ ณ สงขลา (2542, น.18-28)ได้ให้ความหมายการเรียนการสอนผ่านเว็บว่า หมายถึง การผนวกคุณสมบัติไฮเปอร์มีเดียเข้ากับคุณสมบัติของเครือข่ายเวิลด์ไวด์เว็บเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนในมิติที่ไม่มีขอบเขตจำกัดด้วยระยะทางและเวลาที่แตกต่างกันของผู้เรียน (Learning without Boundary)

     วิชุดา รัตนเพียร (2542, น.29-35) กล่าวว่าการเรียนการสอนผ่านเว็บเป็นการนำเสนอโปรแกรมบทเรียนบนเว็บเพจโดยนำเสนอผ่านบริการเวิลด์ไวด์เว็บในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งผู้ออกแบบและสร้างโปรแกรมการสอนผ่านเว็บจะต้องคำนึงถึงความสามารถและบริการที่หลากหลายของอินเทอร์เน็ตและนำคุณสมบัติต่างๆเหล่านั้นมาใช้เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนให้มากที่สุด

     จากความหมายของบทเรียนเว็บช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถสรุปได้ว่าการเรียนการสอนผ่านเว็บเป็นการจัดสภาพการเรียนการสอนที่ได้รับการออกแบบอย่างมีระบบโดยอาศัยคุณสมบัติและทรัพยากรของเวิลด์ไวด์เว็บมาเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเพื่อส่งเสริมสนับสนุน      การเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพโดยอาจจัดเป็นการเรียนการสอนทั้งกระบวนการหรือนำมาใช้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดและช่วยขจัดปัญหาอุปสรรคของการเรียนการสอนทางด้านสถานที่และเวลาอีกด้วย

ลักษณะและประเภทของการเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

     อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณสมบัติหลากหลายต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาดังนั้นการเรียนการสอนบนเครือข่ายจึงสามารถทำได้ในหลายลักษณะแต่ละสถาบันและแต่ละเนื้อหาของหลักสูตรก็จะมีวิธีการจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บที่แตกต่างกันออกไปซึ่งในประเด็นนี้ได้สรุปเกี่ยวกับประเภทของการเรียนการสอนบนเครือข่ายของนักการศึกษาดังต่อไปนี้ (ปรัชญนันท์ นิลสุข,2545, ออนไลน์)

  1. การนำเสนอ(Presentation)ในลักษณะของเว็บไซต์ที่ประกอบไปด้วยข้อความภาพกราฟิกโดยมีวิธีการนำเสนอคือ
    1.1 การนำเสนอแบบสื่อเดี่ยว เช่น ข้อความหรือรูปภาพ
    1.2 การนำเสนอแบบสื่อคู่ เช่น ข้อความกับรูปภาพ
    1.3 การนำเสนอแบบมัลติมีเดีย คือ ประกอบด้วยข้อความภาพนิ่งเสียงและภาพเคลื่อนไหว
  1. การสื่อสาร (Communication) การสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ทุกวันในชีวิต ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของอินเทอร์เน็ตโดยมีการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตหลายแบบ เช่น
    2.1 การสื่อสารทางเดียวเช่นการดูข้อมูลจากเว็บเพจ
    2.2 การสื่อสารสองทางเช่นการส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์โต้ตอบกัน
    2.3 การสื่อสารแบบหนึ่งแหล่งไปหลายที่เป็นการส่งข้อความจากแหล่งเดียวแพร่กระจายไปหลายแหล่งเช่นการอภิปรายจากคนเดียวให้คนอื่นๆได้รับฟังด้วยหรือการประชุมผ่านคอมพิวเตอร์ (Computer Conferencing)
    2.4 การสื่อสารหลายแหล่งไปสู่หลายแหล่งเช่นการใช้กระบวนการกลุ่มในการสื่อสารบนเว็บโดยมีคนใช้หลายคนและคนรับหลายคนเช่นกัน
  1. การทำให้เกิดความสัมพันธ์ (Dynamic Interaction) เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของอินเทอร์เน็ต ซึ่งมี 3 ลักษณะคือ
    3.1 การสืบค้นข้อมูล
    3.2 การหาวิธีการเข้าสู่เว็บ
    3.3 การตอบสนองของมนุษย์ต่อการใช้เว็บ

ส่วนประกอบของบทเรียนWBI/WBT

ระบบการเรียนการสอนบทเรียนWBI/WBTประกอบด้วย 4 ส่วนดังนี้ (มนต์ชัย เทียนทอง, 2545, น.356-357)

  1. สื่อสำหรับนำเสนอ (Presentation Media) หมายถึงส่วนของเนื้อหาบทเรียนกิจกรรมการเรียนและการวัดและประเมินผลที่นำเสนอผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังผู้เรียนโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้แก่
    1.1 ข้อความ (Text)
    1.2 ภาพนิ่ง (Still Image)
    1.3 กราฟิก (Graphic)
    1.4 ภาพเคลื่อนไหว (Animation)
    1.5 วีดิทัศน์ (Video)
    1.6 เสียง (Sound)
  1. การปฏิสัมพันธ์ (Interactivity) หมายถึงส่วนของการสนับสนุนให้มีการโต้ตอบระหว่างผู้เรียนกับบทเรียน
  2. การจัดการฐานข้อมูล (Database Management) หมายถึงการจัดการเกี่ยวกับบทเรียนเริ่มตั้งแต่การลงทะเบียนจนถึงการประเมินผลการเรียน
  3. ส่วนสนับสนุนการเรียนการสอน (Course Support) หมายถึงการบริการต่างๆที่มีอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้สนับสนุนการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆได้แก่
    4.1 Asynchronous หมายถึงส่วนสนับสนุนการเรียนการสอนที่ใช้งานในลักษณะ Off-line สำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียนกับบทเรียนหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
    4.1.1 กระดานข่าวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Board) เช่น BBS, Webboard
    4.1.2 จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail)
    4.2 Synchronous หมายถึงส่วนสนับสนุนการเรียนการสอนที่ใช้งานในลักษณะOn-line ซึ่งเป็นเวลาจริงสำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียนกับบทเรียนหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
    4.2.1 การสนทนาผ่านเครือข่าย (Internet Relay Chat) เช่น MSN, ICQ
    4.2.2 การประชุมทางไกลด้วยวีดิทัศน์ (Video Conferencing)
    4.2.3 การบรรยายสด (Live Lecture)
    4.2.4 การติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายเช่น Internet Phone, Net Meetings

นอกจากนี้ยังมีส่วนสนับสนุนการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการใช้เครื่องมือหรือการบริการที่มีอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่ออำนวยความสะดวกในการศึกษาบทเรียนบนเว็บได้แก่

  1. เครื่องมือสำหรับค้นหาข้อมูลได้แก่Search Engine Tool ต่างๆ
  2. เครื่องมือสำหรับเข้าสู่ระบบเครือข่ายได้แก่ Telnet, FTP

ส่วนประกอบ 3 ส่วนแรก เป็นสื่อต่างๆ ที่ใช้ในการนำเสนอโดยใช้หลักการของไฮเปอร์เท็กซ์ โดยเน้นการปฏิสัมพันธ์ พร้อมทั้งมีระบบการจัดการฐานข้อมูลเพื่อใช้ควบคุมและจัดการบทเรียน อันได้แก่ ระบบการลงทะเบียน การตรวจเช็คข้อมูลส่วนตัวของผู้เรียน และการตรวจสอบความก้าวหน้าทางการเรียน เป็นต้น ในขณะที่ส่วนสนับสนุนการเรียนการสอนเป็นส่วนที่อำนวยความสะดวกต่อกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถติดต่อกับผู้ดูแลบทเรียนหรือใช้สนับสนุนการทำกิจกรรมของบทเรียน เช่นการอภิปรายปัญหาร่วมกันผ่านบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์(Electronic Board) รวมทั้งการซักถามปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการเรียนโดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในส่วนนี้จะไม่มีในบทเรียนCAI/CBT

ภาพที่ 2 ส่วนประกอบของบทเรียน WBI/WBT (มนต์ชัย เทียนทอง, 2545 ,น.357)

ประเภทของของบทเรียนWBI/WBT

     บทเรียนWBI/WBTจำแนกออกเป็น 3 ประเภทตามระดับความยากดังนี้ (มนต์ชัยเทียนทอง, 2545, น.358)

  1. Embedded WBI เป็นบทเรียนบนเว็บที่นำเสนอด้วยข้อความและกราฟิกเป็นหลักจัดว่าเป็นบทเรียนขั้นพื้นฐานที่พัฒนามาจากบทเรียน CAI/CBT ส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นด้วยภาษา HTML
  2. IWBI (Interactive WBI) เป็นบทเรียนบนเว็บที่พัฒนามาจากบทเรียนประเภทแรกโดยเน้นให้มีการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนนอกจากจะนำเสนอด้วยสื่อต่างๆทั้งข้อความกราฟิกและภาพเคลื่อนไหวการพัฒนาบทเรียนในระดับนี้จึงต้องใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ยุคที่ 4 ได้แก่ภาษาเชิงวัตถุ (Object Oriented Programming) เช่น Visual Basic, Visual C++ รวมทั้งภาษาXML, Perl  เป็นต้น
  3. IMMWBI (Interactive Multimedia WBI) เป็นบทเรียนบนเว็บที่นำเสนอโดยยึดคุณสมบัติทั้ง 5 ด้านของมัลติมีเดียได้แก่ข้อความภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวเสียงและการปฏิสัมพันธ์จัดว่าเป็นบทเรียนบนเว็บระดับสูงสุดเนื่องจากการปฏิสัมพันธ์เพื่อจัดการทางด้านภาพเคลื่อนไหวและเสียงของบทเรียนโดยใช้เว็บเบร๊าเซอร์นั้น มีความยุ่งยากมากกว่าบทเรียนที่นำเสนอแบบเพียงลำพังผู้พัฒนาบทเรียนจะต้องใช้เทคนิคต่างๆเข้าช่วยเพื่อให้การตรวจปรับบทเรียนจากการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนเป็นไปด้วยความรวดเร็วและราบรื่น เช่น การเขียนคุกกี้(Cookies) เพื่อช่วยสื่อสารข้อมูลระหว่างเว็บเซิร์ฟเวอร์กับตัวบทเรียนที่อยู่ในไคลแอนท์เป็นต้น ตัวอย่างของภาษาที่ใช้พัฒนาบทเรียนระดับนี้ได้แก่ Java, ASP, JSP และ PHP เป็นต้น

การจัดการเรียนผ่านเว็บ

     การจัดการเรียนผ่านเว็บมีลักษณะการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติที่คุ้นเคยกันดีซึ่งการจัดการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมในชั้นเรียนส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่เน้นให้ผู้สอนเป็นผู้ป้อนความรู้ให้แก่ผู้เรียนทำให้ผู้เรียนไม่ใฝ่ที่จะหาความรู้เพิ่มเติมการจัดการเรียนการสอนโดยการใช้เว็บช่วยสอนจะมีวิธีการจัดที่แตกต่างไปจากการจัดการเรียนการสอนตามปกติเพราะคุณลักษณะและรูปแบบของเว็บเป็นสื่อที่มีลักษณะเฉพาะของตนเองซึ่งแตกต่างไปจากการจัดการเรียนการสอนด้วยสื่อแบบอื่น ๆจึงต้องคำนึงถึงการออกแบบระบบการสอนที่สอดคล้องกับคุณลักษณะของเว็บ เช่นการสื่อสารระหว่างผู้เรียนกับครู การสื่อสารระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนที่กระทำได้แตกต่างไปจากการเรียนการสอนแบบเดิม เช่น การใช้เว็บช่วยสอนสามารถสื่อสารกันได้โดยผ่านเว็บโดยตรงในรูปคุยกันในห้องสนทนา (Chat Room) การฝากข้อความบนกระดานอิเล็กทรอนิกส์หรือกระดานข่าวสาร(Bulletin Board) หรือจะสื่อสารกันโดยผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ก็สามารถกระทำได้ในระบบนี้ความเป็นเว็บช่วยสอนจึงไม่ใช่แค่การสร้างเว็บไซต์เนื้อหาวิชาหนึ่งหรือรวบรวมข้อมูลซักเรื่องหนึ่งแล้วบอกว่าเป็นเว็บช่วยสอนเว็บช่วยสอนมีความหมายกว้างขวางอันเกิดจากการรวมเอาคุณลักษณะของเว็บโปรแกรมและเครื่องมือสื่อสารในระบบอินเทอร์เน็ตและการออกแบบระบบการเรียนการสอนเข้าด้วยกันทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นอย่างมีความหมายไม่เป็นเพียงแค่แหล่งข้อมูลเท่านั้น (ปรัชญนันท์ นิลสุข, 2543, น.53-56) ได้สรุปหลักการพื้นฐานของการจัดการเรียนการสอนกับการเรียนการสอนผ่านเว็บ 5 ประการ ดังนี้คือ

  1. ในการจัดการเรียนการสอนโดยทั่วไปแล้วควรส่งเสริมให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลาการติดต่อระหว่างผู้เรียนและผู้สอนมีส่วนสำคัญในการสร้างความกระตือรือร้นกับการเรียนการสอนโดยผู้สอนสามารถให้ความช่วยเหลือผู้เรียนได้ตลอดเวลาในขณะกำลังศึกษาทั้งยังช่วยเสริมสร้างความคิดและความเข้าใจผู้เรียนที่เรียนผ่านเว็บสามารถสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นรวมทั้งซักถามข้อข้องใจกับผู้สอนได้โดยทันทีทันใดเช่น การมอบหมายงานส่งผ่านอินเทอร์เน็ตจากผู้สอนผู้เรียนเมื่อได้รับมอบหมายก็จะสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายและส่งผ่านอินเทอร์เน็ตกลับไปยังอาจารย์ผู้สอนหลังจากนั้นอาจารย์ผู้สอนสามารถตรวจและให้คะแนนพร้อมทั้งส่งผลย้อนกลับไปยังผู้เรียนได้ในเวลาอันรวดเร็วหรือในทันทีทันใด
  2. การจัดการเรียนการสอนควรสนับสนุนให้มีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างผู้เรียนความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้เรียนจะช่วยพัฒนาความคิดความเข้าใจได้ดีกว่าการทำงานคนเดียวทั้งยังสร้างความสัมพันธ์เป็นทีมโดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดเป็นการพัฒนาการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้และการยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นมาประกอบเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดผู้เรียนที่เรียนผ่านเว็บแม้ว่าจะเรียนจากคอมพิวเตอร์ที่อยู่กันคนละที่แต่ด้วยความสามารถของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกไว้ด้วยกันทำให้ผู้เรียนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทันทีทันใด เช่นการใช้บริการสนทนาแบบออนไลน์ที่สนับสนุนให้ผู้เรียนติดต่อสื่อสารกันได้ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปจนถึงผู้เรียนที่เป็นกลุ่มใหญ่
  3. ควรสนับสนุนให้ผู้เรียนรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง (Active Learners) หลีกเลี่ยงการกำกับให้ผู้สอนเป็นผู้ป้อนข้อมูลหรือคำตอบผู้เรียนควรเป็นผู้ขวนขวายใฝ่หาข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆเองโดยการแนะนำของผู้สอนเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่าอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลกดังนั้นการจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถหาข้อมูลได้ด้วยความสะดวกและรวดเร็วทั้งยังหาข้อมูลได้จากแหล่งข้อมูลทั่วโลกเป็นการสร้างความกระตือรือร้นในการใฝ่หาความรู้
  4. การให้ผลย้อนกลับแก่ผู้เรียนโดยทันทีทันใดช่วยให้ผู้เรียนได้ทราบถึงความสามารถของตนอีกทั้งยังช่วยให้ผู้เรียนสามารถปรับแนวทางวิธีการหรือพฤติกรรมให้ถูกต้องได้ผู้เรียนที่เรียนผ่านเว็บสามารถได้รับผลย้อนกลับจากทั้งผู้สอนเองหรือแม้กระทั่งจากผู้เรียนคนอื่นๆได้ทันทีทันใดแม้ว่าผู้เรียนแต่ละคนจะไม่ได้นั่งเรียนในชั้นเรียนแบบเผชิญหน้ากันก็ตาม
  5. ควรสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่ไม่มีขีดจำกัดสำหรับบุคคลที่ใฝ่หาความรู้การเรียนการสอนผ่านเว็บเป็นการขยายโอกาสให้กับทุกๆคนที่สนใจศึกษาเนื่องจากผู้เรียนไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปเรียน ณ ที่ใดที่หนึ่งผู้ที่สนใจสามารถเรียนได้ด้วยตนเองในเวลาที่สะดวกจะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนผ่านเว็บนี้มีคุณลักษณะที่ช่วยสนับสนุนหลักพื้นฐานการจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 ประการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนประกอบของบทเรียนเว็บช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ส่วนประกอบของบทเรียนเว็บช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตประกอบด้วยส่วนต่างๆดังนี้ (วลัยพร ดวงดี, 2551,.17-19)

  1. บทนำเรื่อง (Title) บทนำเรื่องประกอบด้วยภาพนำเรื่องชื่อเรื่องและเทคนิคต่างๆประกอบส่วนนี้เป็นส่วนแรกของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่สร้างความสนใจและกระตุ้นให้ผู้เรียนติดตามบทเรียนตามหลักการของ Robert Gagne กล่าวว่าในขั้นนี้จะต้องใช้เทคนิคต่างๆทั้งภาพเคลื่อนไหวภาพกราฟิกสีเสียงผสมผสานกันเพื่อเร่งเร้าความสนใจของผู้เรียนด้วยการนำเสนอสื่อต่างๆในเวลาอันสั้นกระชับและตรงจุดซึ่งอาจตามด้วยข้อหัวเรื่องบทเรียนแล้วอาจจะค้างภาพดังกล่าวนี้ไว้บนจอภาพจนกระทั่งผู้เรียนกดแป้นใดๆเพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในบทเรียนบทนำเรื่องจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนติดตามบทเรียนผู้ออกแบบบทเรียนจึงควรให้ความสำคัญในการนำเสนอภาพข้อความและเทคนิคต่างๆที่ช่วยสร้างความสนใจได้สูงอย่างไรก็ตามไม่ควรใช้เวลาในการนำเสนอมากเกินไปผู้เรียนอาจเกิดความเบื่อหน่ายได้
  2. คำชี้แจงบทเรียน (Instruction) เป็นส่วนที่แจ้งให้ผู้เรียนทราบถึงวิธีการใช้บทเรียนและการควบคุมบทเรียนเช่นการใช้แป้นพิมพ์การใช้เมาส์ตลอดจนการคิดคะแนนและการเก็บรักษาบทเรียนเป็นต้นตามที่ผู้ออกแบบบทเรียนเห็นว่ามีความจำเป็นที่ควรชี้แจงเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความมั่นใจในการใช้บทเรียนในส่วนนี้ควรนำเสนอด้วยข้อความสั้นๆให้กระชับเป็นทางการและไม่ควรใช้เทคนิคพิเศษแต่อย่างใดแต่อาจจะใช้เทคนิคพิเศษในการปฏิสัมพันธ์บ้างก็ได้เมื่อเห็นว่าคำชี้แจงส่วนนั้นสามารถสร้างเสริมให้ผู้เรียนมีกิจกรรมร่วมได้เช่นการใช้เมาส์อาจสร้างสถานการณ์จำลองการใช้เมาส์เพื่อฝึกฝนให้นักศึกษาคุ้นเคยก่อนใช้
  3. วัตถุประสงค์บทเรียน (Objective) เป็นส่วนที่กำหนดไว้เพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบความคาดหวังของบทเรียนหรือพฤติกรรมที่ผู้เรียนจะแสดงออกเมื่อสิ้นสุดบทเรียนโดยจะระบุเป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมตามหลักการเรียนรู้ถือว่าวัตถุประสงค์มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นเป้าหมายที่บทเรียนกำหนดไว้ให้ผู้เรียนไขว่คว้าความรู้ให้บรรลุตามเป้าหมายนั้นจำนวนข้อของวัตถุประสงค์ขึ้นอยู่กับปริมาณของเนื้อหาที่ได้วิเคราะห์ไว้การนำเสนอวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมในส่วนนี้อาจจะนำเสนอครั้งละข้อหรือนำเสนอครั้งเดียวครบทุกข้อก็ได้แต่ไม่ควรใช้เวลามากนักนอกจากนี้ยังอาจสร้างไว้เป็นรายการให้ผู้เรียนเลือกก็ได้เพื่อให้เรียนได้เลือกอ่านเมื่อต้องการเท่านั้น
  4. รายการให้เลือก (Main Menu) เป็นส่วนที่แสดงหัวเรื่องย่อยๆทั้งหมดที่มีอยู่ในบทเรียนเพื่อให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามลำดับความสำคัญก่อนหลังหรือตามความสามารถของตนเอง (ถ้าบทเรียนเปิดโอกาสให้เลือก) โดยวิธีการเลือกอาจป้อนเป็นตัวเลขหรือตัวอักษรเลื่อนแถบแสงคลิกเมาส์หรือวิธีการอื่นๆก็ได้การนำเสนออาจทำในลักษณะของแผนผังการเรียน (Learning map)ก็ได้ซึ่งหมายถึงการแสดงหัวเรื่องย่อยในลักษณะของไดอะแกรมเช่นบล็อกไดอะแกรมแสดงรายชื่อของหัวเรื่องย่อยทั้งหมดในรูปของความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องกันเพื่อแสดงให้นักศึกษาทราบถึงความสัมพันธ์ของหัวเรื่องทั้งหมด
  5. แบบทดสอบก่อนบทเรียน(Pretest)มีไว้เพื่อประเมินความรู้ความสามารถของผู้เรียนในขั้นต้นก่อนที่จะเริ่มเรียนว่ามีความรู้พื้นฐานเพียงพอหรือไม่หรือมีอยู่ในระดับใดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบบทเรียนว่าจะนำผลการทดสอบไปใช้หรือไม่อย่างไรเช่นนำไปใช้จัดลำดับการเข้าสู่บทเรียนผู้ที่ได้คะแนนแบบทดสอบค่อนข้างดีอาจจะข้ามบทเรียนบางส่วนแล้วไปเรียนในเนื้อหาส่วนที่ยากขึ้นในทางตรงกันข้ามหากผู้เรียนคนใดที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์อาจจะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เรียนหรือต้องเรียนตั้งแต่ต้นก็ได้แบบทดสอบที่นิยมใช้จะเป็นแบบที่ตรวจวัดง่ายและแปลผลเป็นคะแนนได้สะดวกเช่นเลือกตอบถูกผิดจับคู่บางกรณีอาจจะใช้แบบเติมคำตอบสั้นๆก็ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะเนื้อหาและวัตถุประสงค์โดยการพิจารณาว่าควรมีแบบทดสอบก่อนบทเรียนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบและลักษณะของเนื้อหาถ้าวิชาทั่วไปอาจไม่ต้องมีแบบทดสอบก็ได้
  6. เนื้อหาบทเรียน (Information) เป็นส่วนสำคัญของบทเรียนและใช้เวลามากกว่าส่วนอื่นๆเป็นส่วนที่นำเสนอเนื้อหาใหม่ให้กับผู้เรียนตามหลักการนำเสนอเนื้อหาใหม่ของ Robert Gagne ได้เสนอแนะว่าควรใช้วิธีนำเสนอด้วยภาพประกอบข้อความโดยใช้คำถามสร้างสรรค์บทเรียนและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆที่บทเรียนกำหนดไว้ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญได้แก่ส่วนของเนื้อหาใหม่ส่วนของเฟรมช่วยเหลือและสื่อประกอบสำหรับส่วนของเนื้อหาใหม่ของบทเรียนเว็บช่วยสอนจะนำเสนอเป็นเฟรมๆประกอบด้วยข้อความนั้นๆโดยพยายามใช้ภาพแทนคำพูดหรือคำอธิบายให้มากที่สุดนอกจากนี้การนำเสนอเนื้อหาใหม่ยังต้องยึดหลักการเรียนรู้รายบุคคล
  7. การตรวจปรับเนื้อหา (Feedback) เกิดจากคำถามที่ใช้ในระหว่างการนำเสนอเนื้อหาเพื่อดำเนินบทเรียนไปตามแนวทางที่กำหนดไว้โดยใช้คำถามเพื่อตรวจปรับความเข้าใจเป็นระยะๆ โดยใช้หลักประสบการณ์การเรียนรู้จากสิ่งที่ง่ายไปสู่ยากจากสิ่งที่รู้แล้วไปสู่สิ่งที่ยังไม่รู้
  8. การเสริมแรง(Reinforcement) เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการนำเสนอบทเรียนเพื่อเสริมกำลังใจให้กับนักศึกษาและสนใจติดตามบทเรียนภายหลังจากที่นักศึกษาโต้ตอบกับบทเรียนการนำเสนอในส่วนนี้อาจใช้เป็นคำพูดเช่นถูก/ผิดใช้รูปภาพ/กราฟิกหรือใช้คะแนนก็ได้โดยตามด้วยการสรุปเนื้อหา (Summary) เป็นส่วนที่มีความสำคัญยิ่งซึ่งใช้สรุปเนื้อหาต่างๆหลังจากการนำเสนอเนื้อหาแต่ละส่วนๆเพื่อสรุปประเด็นให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาส่วนนั้นไปใช้งานต่อไป
  9. แบบทดสอบท้ายบทเรียน (Posttest) มีไว้เพื่อตรวจสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนและประเมินผลว่าผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่เพียงใดถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้อาจจะออกแบบบทเรียนให้ไปเรียนซ้ำในส่วนที่ทำแบบทดสอบไม่ได้หรือกลับไปสู่รายการให้เลือกใหม่ก็ได้วัตถุประสงค์หลักของแบบทดสอบท้ายบทเรียนใช้เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนหลังจากที่ได้ศึกษาเนื้อหาที่ผ่านไปแล้วนอกจากนี้ยังใช้เพื่อประเมินคุณภาพของบทเรียนตามหลักสถิติการศึกษาโดยการเปรียบเทียบผลคะแนนของแบบทดสอบและผลการทดสอบท้ายบทเรียน
  10. บทสรุปและการนำไปใช้งาน (Summary and Application) เป็นส่วนสุดท้ายของบทเรียนประกอบด้วยเฟรมนำเสนอข้อความที่สรุปความคิดรวบยอดเนื้อหาที่ผ่านมาในบทเรียน

สภาพการเรียนการสอนบนเครือข่าย

     การเรียนการสอนบนเว็บมีลักษณะการจัดสภาพการเรียนการสอนที่แตกต่างจากการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติผู้เรียนจะเรียนผ่านจอคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าสู่ระบบเครือข่ายเพื่อศึกษาเนื้อหาบทเรียนจากที่ใดและเวลาใดก็ได้และผู้เรียนแต่ละคนยังสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้สอนหรือผู้เรียนคนอื่นๆได้ทันทีทันใดเหมือนกับได้เผชิญหน้ากันจริงๆการเรียนการสอนบนเว็บมีสภาพและขั้นตอนการเรียนการสอนดังตัวอย่างต่อไปนี้

  1. ผู้เรียนที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตเข้าสู่ระบบด้วยการบันทึกเข้า (login)
  2. พิมพ์ที่อยู่ของเว็บเพจที่ต้องการเข้าไปศึกษาเมื่อเข้าสู่เว็บเพจที่ต้องการแล้วผู้เรียนศึกษาเนื้อหาบทเรียนที่นำเสนอผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ในบางช่วงบางตอนของบทเรียนจะถูกกระตุ้นให้มีปฏิกิริยาสนองตอบเนื้อหาของบทเรียนโดยผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับบทเรียนบนเว็บหรือสามารถโต้ตอบกับผู้เรียนคนอื่นๆหรือแม้แต่ผู้สอนที่เข้าสู่บทเรียนในเวลาเดียวกันหรือคนละเวลาก็ได้
  3. ผู้เรียนสามารถศึกษาเนื้อหาเท่าที่กำหนดในเว็บเพจหนึ่งๆ หรืออาจเข้าสู่เว็บเพจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้เพื่อเป็นการขยายขอบเขตของความรู้หลักการพื้นฐานการจัดการเรียนการสอนการสอนกับการจัดกิจกรรมการสอนบนเว็บดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าเทคโนโลยีมีบทบาทต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งด้วยความสามารถของเทคโนโลยีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบันเป็นการช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษาทางไกล (Boettcher, Judith, 2000)

ความแตกต่างระหว่างการเรียนการสอนบนเครือข่ายกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน

     การเรียนการสอนรูปแบบนี้มีลักษณะการเรียนการสอนที่แตกต่างจากการเรียนการสอนในชั้นปกติที่คุ้นเคยกันดีอีกทั้งการจัดการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมในชั้นเรียนส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่เน้นให้ผู้สอนเป็นผู้ป้อนความรู้ทำให้ผู้เรียนไม่ใฝ่ใจที่จะหาความรู้เพิ่มเติมซึ่งในลักษณะดังกล่าวจะคำนึงถึงแต่การเรียนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถทำการสอบให้ผ่านเท่านั้นซึ่งตามหลักการพื้นฐานของการเรียนรู้นั้นเชื่อว่าผู้เรียนที่แสวงหาความรู้ด้วยตนเองจะเกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งกว่าการจัดการเรียนการสอนบนเว็บสนับสนุนให้ผู้เรียนใฝ่หาความรู้ด้วยตนเองอีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆกับกลุ่มผู้เรียนและระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนทั้งในเชิงเสาะแสวงหาข้อมูลด้วยบริการในอินเทอร์เน็ตด้วยตนเองและการตอบโต้ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หากมองในภาพกว้างจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมในชั้นเรียนนั้นผู้สอนจะเป็นฝ่ายพูดและแสดงความคิดเห็นมากกว่าผู้เรียนซึ่งเห็นได้จากเวลาที่ใช้สอนจะถูกจำกัดด้วยเวลาที่สอนเท่านั้น ไม่มีความต่อเนื่องหากการเรียนการสอนจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าที่มีอยู่ทำให้การเรียนการสอนในบางครั้งเกิดขึ้นในลักษณะการเรียนร่วมกันในหมู่คณะที่ใหญ่ไม่เกิดความคล่องตัวและไม่สามารถตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยแต่ละคนก็มีการรับรู้และความสามารถในการเรียนไม่เท่ากันนอกจากนั้นการจัดวางโต๊ะและเก้าอี้ในชั้นเรียนโดยปกติมีการจัดวางให้ผู้เรียนหันไปมองเฉพาะผู้สอนความสนใจจะอยู่ที่ผู้สอนเท่านั้นแต่หากมองในลักษณะการเรียนการสอนผ่านเว็บแบบใหม่ผู้เรียนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้นและการเรียนการสอนก็เป็นไปอย่างทั่วถึงอีกทั้งยังสามารถกำหนดการเรียนการสอนเป็นกลุ่มย่อยได้หากต้องการผู้เรียนสามารถกำหนดและเลือกหัวเรื่องที่ต้องการเรียนผู้สอนสามารถให้อำนาจบางส่วนหรือทั้งหมดแก่ผู้เรียนในการกำหนดวิธีการเรียนการสอนการตอบสนองการให้รางวัลหรือการทำโทษเป็นไปตามระบบเสรีมากขึ้นอีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนแนวคิดที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียน (วิชุดา รัตนเพียร, 2542)

ความหมายของระบบมัลติมีเดีย

     ศิริอร  มโนมัธยา (2546, น.17) ได้ให้ความหมายของมัลติมีเดีย หมายถึง การใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับโปรแกรมซอฟต์แวร์ในการสื่อความหมายโดยการผสมสื่อหลายชนิดโดยสื่อหลายชนิดนี้จะทำงานผสมผสานกัน เพื่อให้สื่อออกมานั้นเป็นสื่อที่มีการเรียนรู้ได้หลากหลายสามารถสื่อความคิดไปสู่ผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งมีการปฏิสัมพันธ์หรือโต้ตอบกันได้เป็นการเชื่อมโยงทฤษฎีและการปฏิบัติเข้าด้วยกัน โดยจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นตัวกลางในการควบคุมการทำงานเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

     จุฬารัตน์  มีสูงเนิน (2548, น.13) กล่าวว่ามัลติมีเดีย หมายถึง การนำสื่อหลาย ๆ อย่าง                   มาผสมผสานกันเพื่อนำเสนอในรูปแบบของตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวและเสียง ซึ่งทำให้บทเรียนมีความน่าสนใจและบรรลุตามวัตถุประสงค์การเรียนมากยิ่งขึ้น

     มนต์ชัย  เทียนทอง (2545, น.82-83) ได้กล่าวไว้ว่า มัลติมีเดีย (Multimedia) เป็นศัพท์ที่ใช้ในวงการศึกษามานานแล้ว คำว่า มัลติมีเดีย แปลว่า สื่อประสม ซึ่งหมายถึง การใช้สื่อหลายๆ ชนิดในบทเรียนสำเร็จรูป เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกกิจกรรมการเรียนที่ตนเองถนัดในกระบวนการเรียนรู้ สื่อที่จัดไว้จึงมีหลายชนิด ทั้งแผ่นใส ใบเนื้อหา สไลด์ประกอบเสียงและเอกสาร

     จากความหมายของมัลติมีเดียมีหลาย ๆ ท่านได้กล่าวไว้ข้างต้น พอสรุปได้ว่ามัลติมีเดียจะต้องเกี่ยวข้องกันหลาย ๆ แขนง เช่น วิชาการด้านเสียง กราฟิก การสร้างภาพ เคลื่อนไหว อีกทั้งยังรวมแนวคิดใหม่ ๆ หลายอย่างที่กำลังพัฒนากันอยู่ในขณะนี้ เช่น การับสัญญาณภาพเข้ามาเป็นอินพุต มีการประมวลผล  การย่อสัญญาณภาพ เพื่อให้แสดงผลได้อย่างรวมเร็วและทันที โดยการควบคุมด้วยเครื่องพีซีได้โดยตรง

หลักการและทฤษฎีการผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ระบบมัลติมีเดีย

หลักการและทฤษฎี ที่ควรคำนึงในการผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ระบบมัลติมีเดียมีดังนี้ (เสาวณีย์  สิกขาบัณฑิต, 2548, น.292)

  1. ความแตกต่างระหว่างบุคคล  (Individual differences)การผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย ต้องสอดคล้องกับความสามารถ สติปัญญา ความต้องการ ความสนใจ ร่างกาย อารมณ์และสังคม ของแต่ละบุคคล
  2. การนำสื่อมัลติมีเดียมาใช้ (Multi-media approach) ในการนำสื่อมัลติมีเดียมาใช้ในการผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียต้องพิจารณาเลือกสื่อให้เหมาะสม และเป็นระบบเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และประสบการณ์ที่ชัดเจน
  3. ทฤษฎีการเรียนรู้(Learning theory) โดยการนำหลักจิตวิทยาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนได้ด้วยตนเองประกอบด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง การตรวจสอบผลการเรียนด้วยตนเองและมีการเสริมแรงให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจ
  4. การใช้วิธีวิเคราะห์ระบบ (System analysis) โดยจัดเนื้อหาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และวัยของผู้เรียน โดยทุกสิ่งทุกอย่างที่จัดไว้บทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย จะต้องสร้างขึ้นอย่างมีระบบมีการตรวจสอบทุกขั้นตอนและทุกอย่างจะต้องสัมพันธ์ สอดคล้องกันเป็นอย่างดีมีการทดสอบปรับปรุงจนมีประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และเป็นที่เชื่อถือได้ก่อนนำไปใช้

องค์ประกอบของระบบมัลติมีเดีย

มัลติมีเดียเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่รวมความสามารถหลายๆด้านช่วยสร้างความน่าสนใจในสื่อที่มีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้ (วิไล  องค์ธนสุข, 2543, น.34)

  1. ข้อความ (text) ข้อความเป็นส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาของมัลติมีเดียใช้แสดงรายละเอียดหรือเนื้อหาของเรื่องที่นำเสนอซึ่งปัจจุบันมีหลายรูปแบบได้แก่
    1.1 ข้อความที่ได้จากการพิมพ์เป็นข้อความปกติที่พบได้ทั่วไปได้จากการพิมพ์ด้วยโปรแกรมประมวลผลงาน(Word Processor) เช่น notepad, text editor, Microsoft word โดยตัวอักษรแต่ละตัวเก็บในรหัสเช่น ASCII
    1.2 ข้อความจากการสแกนเป็นข้อความในลักษณะภาพหรือ image ได้จากการนำเอกสารที่พิมพ์ไว้แล้ว (เอกสารต้นฉบับ) มาทำการสแกนด้วยเครื่องสแกนเนอร์ (scanner) ซึ่งจะได้ผลออกมาเป็นภาพ (image) 1 ภาพปัจจุบันสามารถแปลงข้อความภาพเป็นข้อความปกติได้โดยอาศัยโปรแกรม OCR
    1.3 ข้อความไฮเปอร์เท็กซ์ (hypertext) เป็นรูปแบบของข้อความที่ได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบันโดยเฉพาะการเผยแพร่เอกสารในรูปของเอกสารเว็บเพจเนื่องจากสามารถใช้เทคนิคการลิงค์หรือเชื่อมข้อความไปยังข้อความหรือจุดอื่นๆได้
  1. กราฟิก (graphics) ภาพกราฟิก (graphics) เป็นสื่อในการนำเสนอที่ดีเนื่องจากมีสีสันมีรูปแบบที่น่าสนใจสามารถสื่อความหมายได้กว้างประกอบด้วย
    2.1 ภาพบิตแมพ (bitmap) เป็นภาพที่มีการเก็บข้อมูลแบบพิกเซล (pixel)หรือจุดเล็กๆที่แสดงค่าสีดังนั้นภาพหนึ่งๆจึงเกิดจากจุดเล็กหลายๆจุดประกอบกันคล้ายๆ กับการปักผ้าครอสติสทำให้รูปภาพแต่ละรูปเก็บข้อมูลจำนวนมากเมื่อจะนำมาใช้จึงมีเทคนิคการบีบอัดข้อมูลฟอร์แมตของภาพบิตแมพที่รู้จักกันดีได้แก่.BMP, .PCX, .GIF, .JPG, .TIF
    2.2 ภาพเวกเตอร์ (vector) เป็นภาพที่สร้างด้วยส่วนประกอบของเส้นลักษณะต่างๆและคุณสมบัติเกี่ยวกับสีของเส้นนั้นๆ ซึ่งสร้างจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เช่น ภาพของคนจะถูกสร้างด้วยจุดของเส้นหลายๆจุดเป็นลักษณะของโครงร่าง (outline) และสีของคนก็เกิดจากสีของเส้นโครงร่างนั้นๆกับพื้นที่ผิวภายในนั่นเองเมื่อมีการแก้ไขภาพก็จะเป็นการแก้ไขคุณสมบัติของเส้นทำให้ภาพไม่สูญเสียความละเอียดเมื่อมีการขยายภาพตัวอย่างภาพแบบ vector คือภาพ.wmf ซึ่งเป็นClipArt ของMicrosoft Office ภาพจากโปรแกรม Adobe Illustrator หรือ Macromedia freehand เป็นต้น
  1. เสียง (sound) เสียงเป็นอีกองค์ประกอบของมัลติมีเดียอันจะช่วยให้เกิดบรรยากาศที่น่าสนใจในการรับรู้ทางหูโดยอาศัยจะนำเสนอในรูปของเสียงประกอบเพลงบรรเลงเสียงพูดเสียงบรรยายหรือเสียงพากษ์เป็นต้นลักษณะของเสียงประกอบด้วย
    3.1 คลื่นเสียงแบบออดิโอ (audio) ซึ่งมีฟอร์แมตเป็น .wav, .au การบันทึกจะบันทึกตามลูกคลื่นเสียงโดยมีการแปลงสัญญาณให้เป็นดิจิทัลและใช้เทคโนโลยีการบีบอัดเสียงให้เล็กลง(ซึ่งคุณภาพก็ต่ำลงด้วย)
    3.2 เสียง CD (compact disc) เป็นรูปแบบการบันทึกที่มีคุณภาพสูงได้แก่เสียงที่บันทึกลงในแผ่น CD เพลงต่างๆ
    3.3 MIDI (musical instrument digital interface) เป็นรูปแบบของเสียงที่แทนเครื่องดนตรีชนิดต่างๆสามารถเก็บข้อมูลและให้วงจรอิเล็กทรอนิกส์สร้างเสียงตามตัวโน้ตเสมือนการเล่นของเครื่องเล่นดนตรีนั้นๆ

วีดิทัศน์ (video)

วีดิทัศน์ นับเป็นสื่ออีกรูปหนึ่งที่นิยมใช้กับเทคโนโลยีมัลติมีเดียเนื่องจากสามารถแสดงผลได้ทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียงไปพร้อมๆกันเป็นรูปแบบที่ใช้บันทึกภาพและเสียงที่สามารถทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้เลยทำให้เกิดความน่าสนใจในการนำเสนอทั้งนี้มีหัวข้อที่เกี่ยวข้องดังนี้

  1. AVI (audio/video interleave) เป็นฟอร์แมตที่พัฒนาโดยบริษัทไมโครซอฟต์เรียกว่า Video for Windows มีนามสกุลเป็น.avi ปัจจุบันมีโปรแกรมแสดงผลติดตั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการMicrosoft Windows คือ Windows Media Player
  2. MPEG (moving pictures experts group) รูปแบบของไฟล์ที่มีการบีบอัดไฟล์เพื่อให้มีขนาดเล็กลงโดยใช้เทคนิคการบีบข้อมูลแบบ inter frame หมายถึงการนำความแตกต่างของข้อมูลในแต่ละภาพมาบีบและเก็บโดยสามารถบีบข้อมูลได้ถึง 200:1 หรือเหลือข้อมูลเพียง 100 kb/secโดยคุณภาพยังดีอยู่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดย MPEG-1 มีนามสกุลคือ .mpg
  3. Quick Time เป็นฟอร์แมตที่พัฒนาโดยบริษัท apple นิยมใช้นำเสนอข้อมูลไฟล์ผ่านอินเทอร์เน็ตมีนามสกุลเป็น .mov

การวางระเบียบหรือการจัดระบบเนื้อหา

     การจัดระบบเนื้อหาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมี 3 ลักษณะคือ (สมัย เพ็งเลีย, 2548,      น.11-13)

  1. บทเรียนแบบเรียงลำดับเส้นตรง (Linear Programming)ลักษณะของการเขียนบทเรียนเป็นแบบให้ความรู้แล้วติดตามด้วยคำถามให้ผู้เรียนตอบว่าถูกหรือผิดหรือเว้นช่องว่างให้ตอบถ้าผู้เรียนตอบผิดในขั้นตอนใดจะต้องอ่านทำความเข้าใจซ้ำจนกว่าจะสามารถตอบได้ถูกต้องแล้วจึงจะก้าวหน้าไปอ่านในกรอบต่อๆไปได้บทเรียนแบบเส้นตรงเหมาะสำหรับสอนวิชาที่เน้นเนื้อหาสาระหรือเน้นความรู้ความจำและความเข้าใจแต่ไม่เหมาะที่จะสอนเนื้อหาที่เป็นความคิดเห็นเนื่องจากคำตอบที่ถูกต้องอาจมีได้หลายคำตอบตัวอย่างบทเรียน

ภาพที่  3 โครงสร้างเนื้อหาแบบเรียงลำดับเส้นตรง
(สมัย  เพ็งเลีย, 2548, น.12)

  1. บทเรียนแบบแตกกิ่งหรือแบบสาขา(Branching Programming)บทเรียนโปรแกรมแบบสาขานี้จะแสดงให้ความสำคัญของความแตกต่างทางสติปัญญาของผู้เรียนแต่ละคนดังนั้นการให้ผู้เรียนตอบสนองในบทเรียนชนิดนี้จะใช้คำถามแบบเลือกตอบจากการเลือกคำตอบของผู้เรียนจะทำให้แต่ละคนก้าวหน้าไปในลักษณะที่แตกต่างกันผู้เรียนที่ตอบคำถามถูกต้องเนื่องจากมีความเข้าใจในเนื้อหานั้นๆแล้วก็จะข้ามกรอบปัญหาบางกรอบที่ไม่จำเป็นสำหรับไปได้ทำให้ทุ่นเวลาในการเรียนส่วนผู้ที่ตอบไม่ถูกซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขายังไม่เข้าใจบทเรียนในกรอบใดกรอบหนึ่งบทเรียนโปรแกรมชนิดนี้ก็จะกำหนดให้เข้าไปสู่กรอบที่จัดไว้เพื่อแนะนำหรือชี้แจงว่าเหตุใดเขาจึงตอบผิดแล้วจึงกำหนดให้เขากลับมาตอบปัญหาในกรอบเดิมให้ถูกเสียก่อนที่จะก้าวไปสู่กรอบหลักหรือกรอบอื่นๆ ต่อไป

ภาพที่  4 โครงสร้างเนื้อหาแบบแตกกิ่งหรือแบบสาขา
(สมัย  เพ็งเลีย, 2548, น.13)

  1. บทเรียนโปรแกรมแบบแอ๊ดจังทีฟ (Adjunctive Program) เป็นบทเรียนสำเร็จรูปที่มีลักษณะแบบแตกแขนง แต่การเสนอเนื้อหาจะมากกว่า และการตอบคำถาม จะกระทำในตอนท้ายบทแล้วอาจข้ามไปยังหน่วยย่อยอื่นเลย ถ้าผู้เรียนสามารถแสดงให้รู้ว่ามีความรู้ ในส่วนที่จะข้ามไปนั้นแล้ว (มนต์ชัย  เทียนทอง, 2545, น.12)

ภาพที่ 5 บทเรียนสำเร็จรูปแบบแอ๊ดจังทีฟ
(สมัย  เพ็งเลีย, 2548, น.13)

ประโยชน์ของมัลติมีเดีย

     ประโยชน์ของมัลติมีเดียมี 12 ประการ (มนต์ชัย เทียนทอง, 2545, น.7-8) ดังต่อไปนี้

  1. การเรียนการสอนด้วยระบบมัลติมีเดียสร้างความสนใจได้สูง ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายได้ยาก เนื่องจากสื่อต่าง ๆ ของมัลติมีเดียช่วยสร้างบรรยากาศในการเรียนได้ดีและช่วยให้ติดตามตลอดบทเรียน
  2. ทำให้ผู้เรียนฟื้นคืนความรู้เดิมได้เร็วขึ้นและเร็วกว่าการใช้สื่อชนิดอื่น ๆ
  3. การสื่อความหมายชัดเจน เนื่องจากเป็นการผสมผสานสื่อหลาย ๆ ประเภทเข้าด้วยกันจึงสื่อความหมายได้ดีกว่าและชัดเจนกว่า
  4. ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างดี เนื่องจากการได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับบทเรียนที่นำเสนอผ่านจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์
  5. เกิดความคงทนในการจดจำเนื้อหาได้ดีกว่าการใช้สื่อชนิดอื่น ๆ
  6. ให้ความรู้แก่ผู้เรียนเหมือนกันทุกครั้ง นอกจากนี้ผู้เรียนยังจะได้รับความรู้เท่าเทียมกันทั้งผู้เรียนเก่งและผู้เรียนอ่อน
  7. การเรียนรู้แบบส่วนตัว ทำให้ผู้เรียนสามารถจัดการด้านเวลาเรียนของตนเองได้ตามความต้องการ โดยไม่ถูกบังคับด้านเวลาซึ่งผู้เรียนบางคนอาจไม่มีความพร้อม
  8. กระตุ้นเรียกร้องความสนใจ เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ผ่านโสตประสาทหลายทาง ทั้ง ทางตา ทางหู และการปฏิบัติตามคำสั่ง สามารถทำผิดซ้ำอีกได้โดยไม่ถูกตำหนิ
  9. ใช้เป็นเครื่องมือสาธิตในเนื้อหาที่ยากหรือซับซ้อน เช่น การจำลองสถานการณ์ การอธิบายสิ่งของเล็ก ๆ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ของจริงไม่สามารถนำมาให้ดูได้ หรือมีความเสี่ยงเกินไปที่จะลงมือปฏิบัติกับของจริง
  10. ลดค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะเป็นการลงทุนสูงในระยะแรกก็ตาม แต่ในระยะยาวแล้ว สามารถลดค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยถึง 40% ในการใช้ระบบมัลติมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกอบรม
  11. แก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัยได้ง่าย เนื่องจากระบบงานมัลติมีเดียเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์จึงสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ทันสมัยได้ง่าย
  12. เหมาะสำหรับการใช้งานผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในรูปของเว็บช่วยสอนและระบบงานนำเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเรียนการสอนทางไกล หรือระบบมหาวิทยาลัยเสมือน

ประเภทของมัลติมีเดีย

     กิดานันท์  มลิทอง (2540, น.262) ได้แบ่งประเภทมัลติมีเดียทางการศึกษาในลักษณะต่าง ๆ ได้แก่

  1. เกมเพื่อการศึกษาการใช้เกมในลักษณะของมัลติมีเดียจะเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างดีนอกเหนือไปจากความสนุกสนานจากการเล่นเกมตามปกติเกมต่างๆจะมีการสอดแทรกความรู้ด้านต่างๆเช่นคำศัพท์ความหมายของวัตถุแผนที่ทางภูมิศาสตร์การฝึกทักษะด้านความเร็วในการคิดคำนวณเกมจะแบ่งออกเป็นหลายประเภทเพื่อการเรียนรู้ในแต่ละด้านเช่นเกมเพื่อการกีฬาจะช่วยให้เรียนรู้ด้านกฎเกณฑ์การแข่งขันเปิดโอกาสให้เด็กปลดปล่อยความก้าวร้าวในตัวออกมาช่วยให้ความว้าวุ่นสงบลงหรือเกมด้านความเร็วจะช่วยพัฒนาทักษะและประสาทมือและทำให้มีการทำงานที่สัมพันธ์กันเป็นต้น
  2. การสอนและทบทวนมัลติมีเดียทางการศึกษาเพื่อการสอนและทบทวนจะมีด้วยกันหลายรูปแบบเช่นการฝึกสะกดคำการคิดคำนวณและการเรียนภาษาผู้เรียนจะมีโอกาสเรียนรู้จากการสอนในเนื้อหาและฝึกปฏิบัติเพื่อทบทวนไปด้วยในตัวจนกว่าจะเรียนเนื้อหาในแต่ละตอนได้เป็นอย่างดีแล้วจึงเริ่มในเนื้อหาใหม่ตามหลักของการสอนใช้คอมพิวเตอร์เช่นตัวอย่างของการเรียนภาษาสเปนสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเพื่อให้สามารถสื่อสารกับผู้ที่พูดภาษาสเปนได้การเรียนจะเริ่มจากการเรียนคำศัพท์แต่ละคำโดยมีภาพวิดีทัศน์ของเจ้าของภาษาพูดให้ฟังเพื่อให้ผู้เรียนพูดตามการฝึกพูดนี้สามารถบันทึกเสียงไว้ได้เพื่อให้ผู้เรียนฟังเสียงที่ตนพูดนั้นว่าถูกต้องหรือไม่
  3. สารสนเทศอ้างอิงมัลติมีเดียที่ใช้สำหรับสารสนเทศอ้างอิงเพื่อการศึกษามักจะบรรจุอยู่ใน CD-ROMเนื่องจากสามารถบรรจุข้อมูลได้เป็นจำนวนมากโดยจะเป็นลักษณะเนื้อหาข้อมูลนานาประเภทเช่นสารานุกรมพจนานุกรมเป็นต้น
  4. การจำลองมัลติมีเดียทางการศึกษาในลักษณะการจำลองสถานการณ์เป็นวิธีการเลียนแบบหรือสร้างสถานการณ์โดยผู้เรียนได้สัมผัสกับเหตุการณ์ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับประสบการณ์จริงการสัมผัสกับเหตุการณ์อาจหมายถึงการทำความเข้าใจในสถานการณ์การเรียนรู้ที่จะควบคุมเหตุการณ์นั้นๆการตัดสินใจแก้ปัญหาและการเรียนรู้การตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จำลองได้โดยที่ในชีวิตจริงผู้เรียนอาจไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาเหล่านี้ได้มัลติมีเดียแบบการจำลองจะเริ่มด้วยการนำเสนอการจำลองสถานการณ์ที่มีรูปแบบและกิจกรรมในลักษณะที่หลากหลายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของเนื้อหาข้อมูลและประเภทของการจำลองซึ่งกิจกรรมต่างๆจะช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาจนกระทั่งเกิดการเรียนรู้ขึ้นนอกจากนี้บางประเภทของการจำลองจะมีการนำลักษณะของมัลติมีเดียประเภทเกมมาผสมผสานเพื่อทำให้การเรียนมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน

ความหมายของอินเทอร์เน็ต

     กิดานันท์ มลิทอง(2543, น.80) กล่าวว่า อินเทอร์เน็ต หมายถึง เครือข่ายแห่งเครือข่าย  หมายถึง การเชื่อมโยงระหว่างระบบเครือข่ายจำนวนมาหาศาลเข้าด้วยกัน ภายใต้หลักเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน คือ โพรโตคลอทีซีพี/ไอพี ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหลายในเครือข่ายสามารถติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงกันได้โดยสะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะอยู่ในรูปแบบใดอาจเป็นข้อความ ภาพหรือเสียงได้ทั้งสิ้น

     ครรชิต มาลัยวงศ์ (2539, น.186) ให้ความหมายว่าอินเทอร์เน็ตคือเครือข่ายของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระดับโลกคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อถึงกันในระบบอินเทอร์เน็ตมีมากกว่าสองล้านเครื่องและจำนวนนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วคือประมาณวันละ 150,000 คน

     พรศักดิ์  อุรัจนัทชัยรัตน์ (2540, น.2-3) ให้ความหมายว่าอินเทอร์เน็ตหมายถึงเครือข่ายแห่งเครือข่ายสื่อกลางในการติดต่อระหว่างคอมพิวเตอร์กับเครือข่ายผู้คนจะใช้อินเทอร์เน็ตในการจะแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันทุกรูปแบบข้อมูลที่มีความหมายกับสังคมสุดคณานับผลการวิจัย และข้อมูลถูกส่งกลับไปกลับมาอย่างไม่หยุดหย่อนมันเป็นโลกของการเคลื่อนไหวที่ไม่รู้จักหยุดนิ่งไม่มีขอบเขตข้อจำกัดมีเพียงสิ่งเดียวคือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์

     สัตตพฤศ์  คงวงษ์ (2542, น.15) ให้ความหมายว่าอินเทอร์เน็ตหมายถึงรูปแบบของการใช้งานคอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่าย (Network System) เครือข่ายหนึ่งโดยที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่มากและถือเป็นการใช้งานของคอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันโดยมีการเชื่อมต่อของเครื่องคอมพิวเตอร์จากทุกๆมุมโลกเป็นจำนวนนับล้านๆเครื่อง

     วิทยาเรืองพรวิสุทธิ์ (2539, น.11) ให้ความหมายว่าอินเทอร์เน็ตหมายถึงเครือข่ายที่สำคัญต่อการสื่อสารในระบบเว็บ (Web) หรือการสื่อสารแบบใยแมงมุมซึ่งการสื่อสารแบบนี้สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งข้อมูลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวางและทั่วโลกดังนั้นการสื่อสารแบบนี้จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าการสื่อสารระบบเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web)

     นฤชิต แววศรีผ่อน (2544, น.82) ได้ให้วามหมายว่าอินเตอร์เน็ตคือเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเข้าด้วยกัน เรียกอีกว่าหนึ่งว่า       ไซเปอร์สเปซ คำเต็มของอินเตอร์เน็ตเวิร์กกิง ต่อมานิยมเรียกสั้นๆว่าอินเตอร์เน็ตหรือเน็ต

1.บริการบนอินเทอร์เน็ต

     ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นเครือข่ายของโลก ซึ่งในอินเทอร์เน็ตมีบริการต่าง ๆ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถใช้เครือข่ายเพื่อประโยชน์หลัก ๆ 5 ประการด้วยกัน ดังนี้ (ถนอมพร เลาหจรัสแสง,  2539, น.3-4)

1.1 เพื่อติดต่อสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล และความคิดเห็น ซึ่งสามารถกระทำได้โดยการส่งข้อความผ่านทางไปรษณีย์อิเลคทรอนิกส์ ที่เรียกสั้นๆ ว่าอีเมลล์ (Email) รวมทั้งการสนทนาแบบออนไลน์
1.2 การเข้าไปใช้คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ที่ต่ออยู่ในเครือข่าย ผู้ใช้สามารถเรียกโปรแกรมในเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นๆ มาใช้งานได้โดยการใช้คำสั่งเทลเน็ต Telnet
1.3 เพื่อการสืบค้นข้อมูลต่างๆ วิธีที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษในขณะนี้ ก็คือบริการที่มีชื่อว่า เวิลด์ ไวด์ เว็บ ซึ่งอยู่ในลักษณะของไฮเปอร์มีเดีย(Hypermedia) คือมีการเชื่อมโยงของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันเอาไว้ โดยที่ข้อมูลนั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากแหล่งเดียวกัน
1.4 เพื่อการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำได้โดยการใช้คำสั่งเอฟทีพีหรือการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่ช่วยในการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูล
1.5 เพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร ความคิดเห็น คำถาม คำตอบ คำแนะนำ คำประกาศ รวมทั้งรับทราบเรื่องราวความเป็นไปต่าง ๆ โดยการใช้บริการทางอินเทอร์เน็ตที่มีชื่อว่า ยูสเน็ต(USENET) ซึ่งย่อมาจาก User’s Net

2.ความสำคัญของอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา

     เครือข่าย Internet ได้กลายเป็นสื่อการศึกษาของโลกยุคใหม่ ซึ่งสาเหตุของความนิยมในการประยุกต์ใช้ Internet การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ก็คือคุณค่าของ Internet ที่มีต่อการศึกษา ดังที่ (ถนอมพร เลาหจรัสแสง, 2540 – 2541, น.58-60) กล่าวไว้ดังนี้

2.1 ช่วยเปิดโลกกว้างให้กับผู้เรียน มีผลให้ผู้เรียนมีการรับรู้เกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรมโลกมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการที่เครือข่ายการศึกษาบนInternetทำให้ผู้เรียนสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้คนทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นลักษณะการปฏิสัมพันธ์โต้ตอบทันทีทันใด เช่น Chat, Talk หรือบริการอื่น ๆ เช่น บริการไปรษณีย์อีเล็คทรอนิกส์ (E-Mail), บริการเวิลด์ไวด์เว็บ, FTP และอื่นๆ  ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถสืบค้นข้อมูลสารสนเทศได้ทั่วโลก โดยไม่จำเป็นว่าข้อมูลนั้นจะได้มาจากส่วนใดของโลก
2.2 เป็นแหล่งรวบรวมขุมทรัพย์ทางปัญญาอย่างมากมาย ในลักษณะที่สื่อประเภทอื่นไม่สามารถทำได้ ผู้เรียนจะมีความสะดวกต่อการค้นหาข้อมูลในลักษณะใดก็ได้ เช่น การค้นหาหนังสือ หรืออ่านบทคัดย่อจากห้องสมุดออนไลน์ ตำรา วารสารต่างๆ โดยผู้ใช้จะเข้าไปใช้ในเครือข่ายในเวลาสถานที่ใดก็ได้
2.3 ก่อให้เกิดทักษะการคิดอย่างมีระบบ(High-OrderThinkingSkills) โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์แบบสืบค้น (Inquiry-Based Analytical Skills) การคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) การวิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหาและการคิดอย่างอิสระ
2.4 สนับสนุนการทำกิจกรรมร่วมกันได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในลักษณะเรียนร่วนกันหรือเรียนต่างห้องกัน หรือเรียนต่างสถาบันกัน เพราะลักษณะการเรียนการสอนดังกล่าวจะต้องมีการสืบค้นข้อมูลการสนทนาการอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาระหว่างครูนักเรียน ระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง
2.5 เป็นกิจกรรมที่สามารถเชื่องโยงและบูรณาการการเรียนการสอนเข้าด้วยกันเป็นอย่างดีนักการศึกษาสามารถที่จะบูรณาการการเรียนการสอนในวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่อง
2.6 ช่วยขยายขอบเขตของห้องเรียนออกไปให้กว้างขึ้น เพราะผู้เรียนสามารถที่จะใช้เครือข่ายในการสำรวจข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้เรียนสนใจ
2.7 เป็นตัวเชื่อมให้ผู้เรียนเข้าถึงผู้ให้คำปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

3.ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา

     ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษามีดังนี้ (ไพฑูรย์ ศรีฟ้า,2543, น.96-97)

3.1 เปิดโอกาสให้ครู อาจารย์ นักเรียนและนักศึกษาสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้หลากหลาย หรือ เสมือนหนึ่งมี ห้องสมุดโลก” (Library of the World) ครูและนักเรียนสามารถค้นหาหรือสืบค้นข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่างๆ ได้ทั่วโลกโดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านสถานที่และเวลา  (Anywhere and Anytime)
3.2 พัฒนาการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน เนื่องจากการที่อินเทอร์เน็ตสามารถให้บริการไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ และง่ายต่อการใช้ ทำให้เกิดการสื่อสารเพิ่มมากขึ้นในระบบการศึกษา ทั้งที่เป็นการสื่อสารระหว่างครู และครู กับ นักเรียนและระหว่างนักเรียนกับนักเรียน ซึ่งการสื่อสารระหว่างนักเรียนช่วยส่งเสริมการทำงานกลุ่มการปรึกษาหารือกับครูและเพื่อนนักเรียนในเชิงวิชาการตลอดจนการติดต่อกับเพื่อนทั้งในและต่างประเทศ
3.3 เปลี่ยนบทบาทของครูและนักเรียนในการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อการเรียนการสอนจะทำให้บทบาทของครูปรับเปลี่ยนไปจากการเน้นความเป็น ผู้สอนมาเป็น ผู้แนะนำมากขึ้นและกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนจะเป็นการเรียนรู้ เชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากฐานข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่จะเอื้ออำนวยให้นักเรียนสามารถเรียนและค้นคว้าได้ด้วยตนเอง (independent learning) ได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

4.ผลกระทบของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีต่อการเรียนการสอน

     ในยุคโลกาภิวัฒน์การสื่อสารย่อมไม่มีขอบเขตจำกัด มนุษย์สามารถเลือกช่องทางการสื่อสารได้หลากหลาย ไม่มีขอบเขตจำกัดทั้งในเรื่องของเวลา สถานที่ ในการแสวงหาความรู้ข่าวสาร และความบันเทิงที่มีให้เลือกและตักตวงอย่างเสรี ผู้ที่มีความกระตือรือร้นใฝ่รู้ เสาะแสวงหาความรู้และเทคโนโลยี ย่อมได้เปรียบและมีโอกาสที่จะครอบครองสารมากกว่าใคร  โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นความรู้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้า(สุรชัย สิกขาบัณฑิต, 2540, น.47) เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือเป็นเทคโนโลยีทางการศึกษาที่สำคัญมากอันหนึ่งเหมือนกับเทคโนโลยีการศึกษาอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคยกันเช่น หนังสือ วีดิทัศน์ โทรทัศน์ วิทยุ  คอมพิวเตอร์ และเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า การศึกษาตามประสงค์ (Education on Demand) คือ ต้องค้นหา ศึกษาด้วยตนเองจากเครือข่ายนี้ ความพร้อมของคนที่จะรับสิ่งเหล่านี้ก็จะต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ระบบการศึกษาต้องให้ความสนใจว่าจะทำอย่างไรให้นักการศึกษาครู อาจารย์ นักเรียน นิสิตนักศึกษา มีนิสัยแสวงหาความรู้ที่อยู่นอกห้องเรียน หรืออยู่รอบ ๆ ตัวให้มากที่สุด แต่อย่าลืมว่า  อินเทอร์เน็ตเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง ระบบการเรียนการสอนที่ทำอยู่ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพียงแต่เครื่องมือในการถ่ายทอดเปลี่ยนไป เครื่องมือในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลเปลี่ยนไป ในโลกปัจจุบันของนักเรียนสมัยใหม่ จะไม่ได้พูดถึงแหล่งข้อมูลห้องสมุดที่มีหนังสือวางอยู่ในโรงเรียน เพราะปัจจุบันห้องสมุดของนักเรียนสามารถเป็นห้องสมุดของทั่วโลกได้ สิ่งนี้จะมีผลกระทบหลายส่วนต่อการเรียนการสอน แต่ผลกระทบที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ บทบาทของผู้เรียนและผู้สอนต้องเปลี่ยนไป

ความหมายของการเรียนการสอนผ่านเว็บ

     ภาสกร  เรืองรอง (2544) ได้กล่าวถึงการเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web Based Instruction: WBI) เป็นเครื่องมือสำหรับการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ E-Learning ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ    E Education และเป็นส่วนย่อยของระบบใหญ่ E Commerce ดังแสดงภาพที่ 6

ภาพที่  6  องค์ประกอบต่างๆภายในระบบ E-Commerce
(ภาสกร  เรืองรอง, 2544)

การเรียนการสอนผ่านเว็บ เป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบ Web Knowledge Based On Line เป็นการจัดสภาวการณ์การเรียนการสอน ในรูปแบบ On Line โดยมีข้อกำหนดว่าการจะเป็นการเรียนการสอนผ่านเว็บจะต้องมีสิ่งต่อไปนี้อย่างสมบรูณ์ ได้แก่

  1. ความเป็นระบบ
  2. ความเป็นเงื่อนไข
  3. การสื่อสารหรือกิจกรรม
  4. Learning Root

1. ความเป็นระบบ

ภาพที่  7  ความเป็นระบบของการศึกษาบนอินเตอร์เน็ต
(ภาสกร  เรืองรอง, 2544)

ความเป็นระบบสามารถแบ่งเป็น

     Input ได้แก่

  1. ผู้เรียน
  2. ผู้สอน
  3. วัตถุประสงค์การเรียน
  4. สื่อการสอน
  5. ฐานความรู้
  6. การสื่อสารและกิจกรรม
  7. การประเมินผล
  8. อื่น ๆ

     Process ได้แก่การสร้างสถานการณ์หรือการจัดสภาวะการเรียนการสอน โดยใช้วัตถุดิบจาก Input อย่างมี กลยุทธ์ หรือตามที่กำหนดไว้ในแผนการสอน

     Output ได้แก่ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ ซึ่งได้จากการประเมินผลการเรียน

2. ความเป็นเงื่อนไข

ภาพที่ 8 ความเป็นเงื่อนไขของการเรียนการสอนผ่านเว็บ
(ภาสกร  เรืองรอง, 2544)

     เงื่อนไขเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเรียนการสอนผ่านเว็บเช่นกำหนดเงื่อนไขว่าเมื่อเสร็จสิ้นจากการเรียนแล้วจะต้องทำแบบประเมินการเรียนหากทำแบบประเมินผ่านตามคะแนนที่กำหนดไว้ก็สามารถไปศึกษาบทเรียนอื่นๆหรือบทเรียนที่ยากขึ้นเป็นลำดับได้แต่ถ้าไม่ผ่านตามเงื่อนไขที่กำหนดก็จะต้องเรียนซ้ำจนกว่าจะผ่าน

3. การสื่อสารหรือกิจกรรม

ภาพที่  9  การเรียนการสอนผ่านเว็บกับการสื่อสาร
(ภาสกร  เรืองรอง, 2544)

     การสื่อสารและกิจกรรมจะเป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการปฏิสัมพันธ์หรือการสื่อสารขึ้นภายในสถานการณ์การเรียนโดยไม่ต่างจากห้องเรียนปกติอาจเรียกว่าเวอร์ชวลคลาสรูม(Virtual Classroom)กิจกรรมจะเป็นตัวช่วยให้การเรียนเข้าสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น เช่น ใช้ Mail Chat Web board Search ฯลฯ ติดต่ออาจารย์หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียนเพื่อถามข้อสงสัย

     การเรียนการสอนผ่านเว็บสามารถทำการสื่อสารภายใต้ระบบ Multiuserได้อย่าง         ไร้พรมแดน โดยผู้เรียนสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เรียนด้วยกันอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ฐานข้อมูลความรู้และยังสามารถรับส่งข้อมูลการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Education Data) อย่างไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่ไม่มีพรมแดนกีดขวางภายใต้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรืออาจเรียกว่าเป็นเวอร์ชวลคลาสรูม (Virtual classroom) เลยก็ได้และนั้นก็คือการกระทำกิจกรรมใดๆ ภายในโรงเรียน ภายในห้องเรียนสามารถทำได้ทุกอย่างในระบบการเรียนการสอนผ่านเว็บที่อยู่บนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจนกระทั่งจบการศึกษา

     การสื่อสารในการเรียนการสอนผ่านเว็บ สามารถแยกออกได้หลายอย่างเช่น E-mail Web board Chat Conference Electronics Home Work และอื่นๆ อีกมากมาย ตามที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจะคิดพัฒนาขึ้นมา

Email

ความหมาย ลักษณะการใช้ในการเรียนการสอน
ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างเฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ผู้อื่นจะไม่สามารถอ่านได้ (Two Way) ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างอาจารย์ หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียนด้วยกันใช้ส่งการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมาย

Webboard

ความหมาย ลักษณะการใช้ในการเรียนการสอน
ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่าง ผู้เรียน อาจารย์ และผู้เรียน (Three Way) ใช้กำหนดประเด็นหรือกระทู้ตามที่อาจารย์กำหนด หรือตามแต่นักเรียนจะกำหนด เพื่อช่วยกันอภิปรายตอบประเด็น หรือกระทู้นั้น

Chat

ความหมาย ลักษณะการใช้ในการเรียนการสอน
ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่าง ผู้เรียน อาจารย์ และผู้เรียน (Three Way) โดยการสนทนาแบบ Real Time มีทั้ง Text Chat และ Voice Chat ใช้สนทนา ระหว่างผู้เรียนและอาจารย์ในห้องเรียนหรือชั่วโมงเรียน นั้น ๆ เสมือนว่ากำลังคุยกันอยู่ในห้องเรียนจริงๆ

Conference

ความหมาย ลักษณะการใช้ในการเรียนการสอน
ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่าง ผู้เรียน อาจารย์ และผู้เรียน (Three Way ) แบบ Real Time โดยที่ผู้เรียนและอาจารย์ สามารถเห็นหน้ากันได้โดยผ่านทางกล้องโทรทัศน์ที่ติดอยู่กับคอมพิวเตอร์ทั้งสองฝ่าย ใช้บรรยายให้ผู้เรียนกับที่อยู่หน้าเครื่อง
เสมือนว่ากำลังนั่งเรียน อยู่ในห้องเรียนจริงๆ

Electronics Home Work

ความหมาย ลักษณะการใช้ในการเรียนการสอน
ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียนอาจารย์เป็นเสมือนประจำตัวนักเรียนโดยที่นักเรียนไม่ต้องถือสมุดการบ้านจริงๆเป็นสมุดการบ้านที่ติดตัวตลอดเวลา   ใช้ส่งงานตามที่อาจารย์กำหนดเช่นให้เขียนรายงานโดยที่อาจารย์สามารถเปิดดู Electronics Home Work ของนักเรียนและเขียนบันทึกเพื่อตรวจงานและให้คะแนนได้ แต่นักเรียนด้วยกันจะเปิดดูไม่ได้

อย่างไรก็ตามการดำเนินจัดการกิจกรรมสื่อสารบนการเรียนการสอนผ่านเว็บจำเป็นต้องทำภายใต้แผนการสอนที่มีการกำหนดแนวทางการทำกิจกรรมอย่างชัดเจน

การออกแบบและสร้างเว็บช่วยสอนระบบมัลติมีเดีย บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต(MMWBI)

     การเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ที่ใดก็ตาม อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนใฝ่หาความรู้ได้มากยิ่งขึ้น รับรู้ได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นแทนการจำกัดด้านเวลาและสถานที่เรียน (Brown, Collins and Duguid,1989) การเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนนั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับหลักการออกแบบและพัฒนาเว็บเพจเพื่อการเรียนการสอน ซึ่งเปรียบได้ว่าเป็นหัวใจหลักสำคัญในการจัดการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

     ในการออกแบบและพัฒนาเว็บการเรียนการสอนผ่านให้มีประสิทธิภาพนั้น มีนักการศึกษา หลายท่านให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการที่จะใช้เป็นแนวทางในการออกแบบการเรียนรู้  ดังนี้

     ฤทธิชัย  อ่อนมิ่ง (2547) ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับวิธีการจัดการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดังนี้

  1. กำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน
  2. การวิเคราะห์ผู้เรียน
  3. การออกแบบเนื้อหารายวิชาใช้เนื้อหาตามหลักสูตร และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน จัดลำดับเนื้อหา จำแนกหัวข้อตามหลักการเรียนรู้ และลักษณะเฉพาะในแต่ละหัวข้อ กำหนดระยะเวลา และตารางการศึกษาในแต่ละหัวข้อ กำหนดวิธีการศึกษา กำหนดสื่อที่ใช้ประกอบการศึกษาในแต่ละหัวข้อ กำหนดวิธีการประเมินผล กำหนดความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียน และสร้างประมวลรายวิชา
  4. การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยใช้คุณสมบัติของอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นๆ
  5. การเตรียมความพร้อมทางการเรียนการสอนและสภาพแวดล้อม
  6. สร้างเว็บเพจเนื้อหาความรู้ตามหัวข้อ
  7. การเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนโดยการแจ้งวัตถุประสงค์ทางการเรียน อธิบายเนื้อหา และวิธีการเรียนการสอน
  8. จัดการเรียนการสอนตามแบบที่กำหนดไว้
  9. ทำการประเมินผลทั้งระหว่างเรียนและเมื่อสิ้นสุดการเรียน ประเมินผลผู้สอน และประเมินผลการจัดการเรียนการสอนทั้งรายวิชา เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไขการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

     เพอร์นิซิและคาซาติ (Pernici & Casati, 1997) ได้แยกย่อยกระบวนการออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ขั้นตอนที่หนึ่ง เป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ที่จำเป็นต่อการออกแบบซึ่งประกอบด้วย การตั้งวัตถุประสงค์ การกำหนดผู้เรียน และสิ่งที่จำเป็นในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
  2. ขั้นตอนที่สอง ผู้สอนต้องกำหนดแนวทางในการสร้างเว็บไซด์ ได้แก่ เนื้อหาที่จะใช้ กิจกรรม ต่างๆ ขั้นตอนการเรียนการสอน
  3. ขั้นตอนที่สามเป็นการออกแบบในแนวกว้าง (Design in the Large) โดยผู้สอนจะต้อง วางแผนลักษณะการเข้าสู่เนื้อหา (Navigation) ซึ่งรวมถึงการกำหนดรายการต่างๆ (Menus) และการ เรียงลำดับของข้อมูล
  4. ขั้นสุดท้ายเป็นการออกแบบในแนวแคบ (Design in the Small) คือ การกำหนดรายละเอียดต่างๆ ที่มีในแต่ละหน้า

     อาวานิติส (Arvanitis, T.N., 1997)ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าในการสร้างเว็บไซต์นั้น ควรจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. กำหนดวัตถุประสงค์ โดยพิจารณาว่าเป้าหมายของการสร้างเว็บไซด์นี้เพื่ออะไร
  2. ศึกษาคุณลักษณะของผู้ที่จะเข้ามาใช้ ว่ากลุ่มเป้าหมายใดที่ผู้สร้างต้องการสื่อสาร ข้อมูล อะไรที่พวกเขาต้องการ โดยขั้นตอนนี้ควรจะปฏิบัติควบคู่ไปกับขั้นตอนที่หนึ่ง
  3. วางลักษณะโครงสร้างของเว็บ
  4. กำหนดรายละเอียดให้กับโครงสร้าง ซึ่งพิจารณาจากวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยตั้งเกณฑ์ใน การใช้ เช่น ผู้ใช้ควรจะทำอะไรบ้าง จำนวนหน้าควรมีเท่าใด มีการเชื่อมโยงมากน้อยเพียงไร
  5. หลังจากนั้น จึงทำการสร้างเว็บ แล้วนำไปทดลองเพื่อหาข้อผิดพลาดและทำการปรับปรุงแก้ไขแล้วจึงค่อยนำเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นขั้นตอนสุดท้าย

     คีนแลน (Quinlan, L.A., 1997) เสนอวิธีดำเนินการ 5 ขั้นตอนเพื่อการออกแบบและพัฒนาการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ คือ

  1. สิ่งแรกคือผู้สอนต้องทำการวิเคราะห์ความต้องการของผู้เรียน รวมทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ของผู้เรียน
  2. ขั้นที่สอง ต้องกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และกิจกรรม
  3. ควรเลือกเนื้อหาที่จะใช้นำเสนอพร้อมกับหางานวิจัยอื่น ๆ ที่ขั้นที่สาม ผู้สอนเกี่ยวข้องและช่วยสนับสนุนเนื้อหา
  4. ขั้นที่สี่ผู้ออกแบบควรวางโครงสร้างและจัดเรียงลำดับข้อมูลรวมทั้งกำหนดสารบัญ เครื่องมือ การเข้าสู่เนื้อหา (Navigational Aids) โครงร่างหน้าจอและกราฟิกประกอบ
  5. ขั้นตอนสุดท้าย คือ ดำเนินการสร้างเว็บไซด์ โดยอาศัยแผนโครงเรื่อง ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการออกแบบและพัฒนาการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นแนวคิดที่ใกล้เคียงกันจะแตกต่างกันบ้างในส่วนของขั้นตอนบางขั้นที่เพิ่มขึ้นในบางกลุ่ม ซึ่งผู้วิจัยสรุปออกได้เป็น 5 ขั้นตอนหลัก ดังนี้
    5.1 วิเคราะห์(Analyze) เป็นขั้นตอนแรกของการออกแบบและพัฒนาการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำหรับการวางแผนในขั้นตอนอื่นๆ โดยผู้สอนหรือผู้ออกแบบจะต้องวิเคราะห์องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนทั้งหมดได้แก่ วิเคราะห์ผู้เรียนและความต้องการในการเรียน วิเคราะห์เนื้อหาวิชา เป้าหมายทางการศึกษา วิเคราะห์งานที่จะต้อง ปฏิบัติ รวมทั้งวิเคราะห์ทรัพยากรต่างๆ ที่จะต้องใช้ทั้งในด้านของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
    5.2 ออกแบบ (Design) เป็นการนำผลจากการวิเคราะห์องค์ประกอบที่สำคัญมาแล้วในขั้นแรก มาใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบการเรียนการสอน โดยเริ่มจากการเขียนวัตถุประสงค์เป็นตัวหลัก จากนั้นกำหนดเนื้อหาและกิจกรรม วิธีการประเมินผล วางโครงสร้างของเว็บไซด์ วิธีการเข้าสู่เนื้อหา (Navigation) วิธีการสร้างความสนใจ ลักษณะการมีปฏิสัมพันธ์จากนั้นจึงทำการเขียนแผนโครงเรื่อง เพื่อกำหนดรายละเอียดแต่ละหน้า
    5.3 พัฒนา (Develop) ดำเนินการผลิตเว็บไซด์โดยใช้โปรแกรมต่างๆ เข้ามาช่วย ซึ่งในปัจจุบัน มีโปรแกรมที่ช่วยให้การสร้างเว็บง่ายยิ่งขึ้น เช่น Microsoft FrontPage, Macromedia Dream Weaver, Adobe Golive และ Net objects Fusion เป็นต้น
    5.4 นำไปใช้ (Implement) เป็นการนำเว็บที่ได้รับการพัฒนาแล้วไปใช้ในการเรียนการสอนจริง โดยในขั้นนี้อาจเป็นเพียงแค่การทดลองในลักษณะนำร่อง (Pilot Testing) ซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างเพียงแค่ ไม่กี่คน หรือจะนำไปใช้กับกลุ่มใหญ่เลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สอนและความเหมาะสม
    5.5 ประเมินและปรับปรุง(Evaluate and Improve) เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะช่วยให้เว็บที่ได้รับการพัฒนามามีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยประเมินจากการนำไปใช้ดูว่ามีประสิทธิภาพเพียงใดและมีส่วนใดที่ยังบกพร่อง ทั้งนี้การประเมินสามารถประเมินได้ทั้งจากผู้เรียน โดยพิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนของผู้เรียนและความคิดเห็นที่มีต่อการเรียน รวมทั้งประเมินจากความคิดเห็นจากผู้สอน หรือผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นนำผลที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

     ผู้วิจัยได้นำขั้นตอนการสร้างเว็บช่วยสอน มาใช้เป็นหลักในการดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. วิเคราะห์เนื้อหา
    1.1 วิเคราะห์หลักสูตร และเนื้อหาโดยใช้วิธีปะการัง (Coral-pattern Method) เพื่อดูเนื้อหาสาระทั้งหมดของเรื่องการดำรงชีวิตของพืช และการดำรงชีวิตของสัตว์
    1.2 ทำการประเมินความสำคัญของหัวข้อเนื้อหา โดยวิเคราะห์รายวิชาและเนื้อหาของหลักสูตรรวมถึงแผนการสอน และคำอธิบายรายวิชา หนังสือ ตำราและเอกสารประกอบในการสอนหลังจากได้รายละเอียดของเนื้อหามาแล้ว จึงมากระทำดังนี้
         1.2.1 กำหนดวัตถุประสงค์ทั่วไป
         1.2.2 จัดลำดับเนื้อหาให้มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน
         1.2.3 เขียนหัวข้อเรื่องตามลำดับเนื้อหา
         1.2.4 เลือกหัวเรื่องและเขียนหัวข้อย่อย
         1.2.5 นำเรื่องที่เลือกมาแยกเป็นหัวข้อย่อย แล้วจัดความต่อเนื่องและความสัมพันธ์ในหัวข้อย่อยของเนื้อหา
         1.2.6 กำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
         1.2.7 จัดทำเนื้อหาทั้งหมดส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความสมบูรณ์ของเนื้อหา
    1.3 วิเคราะห์สื่อและกิจกรรมการเรียนการสอน
         1.3.1 กำหนดเนื้อหา ยุทธวิธีการสอน กิจกรรมการเรียนที่ต้องการให้ผู้เรียนทราบ
         1.3.2 เขียนเนื้อหาสั้นๆ ทุกหัวข้อย่อยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม  แล้วเรียงลำดับเนื้อหา
         1.3.3 เลือกรูปแบบการนำเข้าสู่บทเรียนการนำเสนอเนื้อหา  การสรุปผลการตรวจสอบ การเสริมแรง และการมีปฏิสัมพันธ์ เลือกชนิดของข้อสอบให้เหมาะสม กับคำถามระหว่างบทเรียน แบบทดสอบก่อนเรียน และแบบทดสอบหลังเรียน
  1. ออกแบบบทเรียน โดยเริ่มจากการออกแบบหน้าจอโครงร่าง (Template) และบทดำเนินเรื่อง ตั้งแต่หน้าของการแสดงวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม หน้าของแบบทดสอบ หน้าของการนำเข้าสู่บทเรียน หน้าของการแสดงเนื้อหาตั้งแต่เฟรมแรกจนถึงเฟรมสุดท้ายและหน้าของการสรุปผล
  2. สร้างบทเรียน เตรียมสิ่งต่างๆ ที่ใช้ในบทเรียน เช่น บทดำเนินเรื่อง (Storyboard) ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ข้อสอบ แล้วนำมาจัดสร้างเป็นเนื้อหาบทเรียนตามที่ได้ออกแบบไว้ ก่อนนำไปทดลองและประเมินผลบทเรียนต่อไป

     การจัดการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนเว็บช่วยสอนระบบมัลติมีเดียเป็นนวัตกรรมใหม่ สนับสนุนการเรียนเอกัตบุคคลโดยอาศัยเครือข่ายอินเตอร์เน็ท สร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้อย่างไม่มีขอบเตจำกัดด้วยระยะทาง เวลาและความแตกต่างของผู้เรียน เป็นสื่อที่รวมเอาประโยชน์ของไฮเปอร์มีเดีย เร้าความสนใจด้วยมิติภาพและเสียง ผู้วิจัยเห็นว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้เว็บ           ช่วยสอนระบบมัลติมีเดียมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งกับการศึกษาในยุคนี้

ความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต

ประวัติความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต

     ในยุคของสังคมแห่งข่าวสารปัจจุบัน การสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เครือข่ายคอมพิวเตอร์สามารถแลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกันได้ในปัจจุบันมี เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกันทุกทิศทั่วโลก ผู้ใช้ในซีกโลกหนึ่งสามารถติดต่อกับผู้ใช้ในซีกโลกหนึ่งได้ในเวลาอันรวดเร็ว เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่รู้จักกันในชื่อของอินเทอร์เน็ต นับได้ว่าเป็นเครือข่ายที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในยุคของสังคมข่าวสารในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตมีขอบข่ายครอบคลุมพื้นที่แทบทุกมุมโลกสมาชิกในอินเทอร์เน็ต สามารถใช้คอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งก็ตามเพื่อทำการส่งข้อมูลและข่าวสารระหว่างกันได้ การบริการข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมีหลากหลายรูปแบบและมีผู้สนใจเข้ามาใช้เพิ่ม ขึ้นทุกวันมีเครือข่ายทั่วโลกที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตประมาณ 50,000 เครือข่าย จำนวนผู้ใช้จากการคาดการณ์โดยประมาณแล้วในปัจจุบันมีเครือข่ายทั่วโลกคาดว่า มีประมาณ 100 ล้านคนและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเราจึงกล่าวได้ว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขว้างมีการขยายตัวสูง และมีสมาชิกมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเครือข่ายที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตมิได้เป็นเครือข่ายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเจาะจง หากแต่มีประวัติความ เป็นมาและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเกิดของเครือข่ายอาร์พาเน็ตในปี พ.ศ.2512 ก่อนที่จะก่อตัวเป็นอินเทอร์เน็ตจนกระทั่งทุกวันนี้

     อินเทอร์เน็ตมีพัฒนาการมาจาก อาร์พาเน็ต (ARP Anet) ซึ่งเป็นเครื่องข่ายคอมพิวเตอร์ภายใต้การรับผิดชอบของอาร์พาเน็ต (Advanced Pesearch Projects Agency) ในสังกัดกระทรวง กลาโหมของสหรัฐอเมริกาอาร์พาเน็ตและโดยเนื้อแท้แล้วอาร์พาเน็ตเป็นผลพวงมาจากการเมืองโลกในยุคสงครามเย็นระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์และค่ายเสรีประชาธิปไตย ยุคสงครามเย็นในทศวรรษของปี พ.ศ.2510 นับเป็นเวลาแห่งความตึงเครียดเนื่องจากภาวะสงครามเย็นระหว่างประเทศในค่าย คอมมิวนิสต์และค่ายเสรีประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มเสรีประชาธิปไตยได้ก่อตั้งห้องทดลองเพื่อค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีด้านระบบคอมพิวเตอร์ (จิราวรรณ สีดาเกี้ยม, 2556, ออนไลน์)

ความหมายของอินเทอร์เน็ต

     พรทิพย์ โลห์เลขา (2537, น.4-5) ให้ความหมายว่า ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกเป็นกระบวนการสื่อสารข้อมูลทางสายระหว่างคอมพิวเตอร์ต่างระบบและต่างชนิดรวมกับสายเคเบิล และผู้ใช้จำนวนมากอาศัยซอฟต์แวร์และเครื่องช่วยสื่อสารต่างๆ ในแง่วิชาการอินเทอร์เน็ต คือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่สื่อสารกันโดย Transmission Control Protocol/Internet Protocol(TCP/IP)ซึ่งหมายถึงกฎเกณฑ์ที่คอยควบคุมกระบวนการส่งข่าวสารไปมาระหว่างคอมพิวเตอร์หลายชนิดที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต

     กิตติ บุญยกิจโณทัย  มีชัย เจริญลักษศรีและอมรเทพ เลิศทัศนวงศ์ (2539) ให้ความหมายว่า อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลกและไม่ได้เป็นเพียงส่วนของซอฟท์แวร์ แต่เป็นสิ่งที่รวมไปด้วยคอมพิวเตอร์สายเคเบิลและคนจำนวนมากมายในแง่มุมทางด้านเทคนิค อินเทอร์เน็ต คือ เครือข่ายของคอมพิวเตอร์ที่พูดคุยกับเครื่องอื่นได้โดยใช้ข้อกำหนดที่เรียกว่า “Transmission Control Protocol/Internet Protocol” (TCP/IP) เป็นชุดของเกณฑ์วิธีที่กำหนด วิธีการที่ข่าวสารจะถูกส่งไประหว่างคอมพิวเตอร์ข้อกำหนดหรือที่เรียกว่า“โปรโตคอล” (Protocol) ของการสื่อสารจะอนุญาตให้คอมพิวเตอร์ต่างชนิดกัน ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการต่างกันสามารถติดต่อกันได้ถูกส่งไประหว่างคอมพิวเตอร์

     วิทยาเรือง พรวิสุทธิ์ (2539, น.21) ให้ความหมายว่า อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายจำนวนมากกระจายอยู่เกือบทั่วมุมโลก โดยที่เครือข่ายย่อยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตประกอบด้วยเครือข่ายย่อยจำนวนมากกว่า 22,000 เครือข่าย

     พรชัย อุรัจนัทชัยรัตน์ (2540, น.2-3) ให้ความหมายว่า เครือข่ายแห่งเครือข่าย สื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์กับเครือข่าย ผู้คนจะใช้อินเทอร์เน็ตในการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันทุกรูปแบบ ข้อมูลที่มีความหมายกับสังคมสุดคณานับ ผลการวิจัยและข้อมูลถูกส่งกลับไปกลับมาอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งเป็นโลกของการเคลื่อนไหวที่ไม่รู้จักหยุดนิ่ง ไม่มีขอบเขตข้อจำกัดมีเพียงสิ่งเดียวคือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทั้งด้านซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์

     ประเวส นามสีฐาน(2555, ออนไลน์) ให้ความหมายว่า อินเทอร์เน็ต (Internet) เป็นชื่อของเครือข่ายคอมพิวเตอร์สาธารณะที่เชื่อมต่อบรรดาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเข้าด้วยกัน ระบบการเชื่อมต่อใช้วิธีรับส่งข้อมูลแบบแพคเก็ตสวิตชิง (Packet  Switching) ซึ่งหมายถึงการดัดแปลงข้อมูลออกเป็นส่วน ๆ  แต่ละส่วนอาจถูกส่งไปด้วยเส้นทางที่แตกต่างกัน เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางจะนำส่วนต่างๆ  เหล่านั้นมาประกอบเข้าด้วยกันใหม่ วิธีการเช่นนี้ อาศัยเกณฑ์วิธี (Protocol) มาตรฐานที่มีชื่อเรียกว่า อินเทอร์เน็ตโปรโตคอล (Internet Protocol: IP)

     จากความหมายสามารถสรุปได้ว่าอินเทอร์เน็ต (Internet) คือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระบบต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน มาจากคำว่า Inter Connection Network อินเทอร์เน็ต (Internet) เป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องทั่วโลก สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้โดยใช้มาตรฐาน ในการรับส่งข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียว หรือที่เรียกว่าโปรโตคอล (Protocol)ซึ่งโปรโตคอล ที่ใช้บนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีชื่อว่า ทีซีพี/ไอพี(TCP/IP: Transmission Control Protocol/Internet Protocol) ลักษณะของระบบอินเทอร์เน็ต เป็นเสมือนใยแมงมุมที่ครอบคลุมทั่วโลกในแต่ละจุดที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนั้น สามารถสื่อสารกันได้หลายเส้นทางตามความต้องการ โดยไม่กำหนดตายตัว และไม่จำเป็นต้องไปตามเส้นทางโดยตรงอาจจะผ่านจุดอื่นๆ หรือเลือกไปเส้นทางอื่นได้หลายๆ เส้นทางการติดต่อสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตทางการศึกษา

     Barron and Ivers (1996, p. 4-8) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางการศึกษา ดังนี้

  1. ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตที่มีต่อผู้เรียน
         อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้รับความรู้ใหม่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมหลากหลายเรียนรู้ประสบการณ์จากสภาพความเป็นจริงของโลกปัจจุบันเกิดทักษะความคิดขั้นสูงและเป็นการช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรวมถึงเป็นการฝึกให้เกิดทักษะการเขียนด้วยเหตุผลสนับสนุนดังต่อไปนี้
    1.1 การศึกษาวัฒนธรรมที่หลากหลายในสังคมผู้สอนจะเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจและยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างจากตนเองการสอนให้ผู้เรียนยึดแต่วัฒนธรรมแบบเดิมจะเป็นการเตรียมผู้เรียนให้เป็นคนที่ไม่สามารถทำงานร่วมเป็นกลุ่มได้ประโยชน์จากการใช้อินเทอร์เน็ต คือการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนคนอื่นที่มีภูมิหลังต่างจากตนเองการสื่อสารทางไกลทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและความเคารพในวัฒนธรรมต่างแดนมากขึ้น
    1.2 เรียนรู้ประสบการณ์จากสภาพที่เป็นจริงการเรียนในโรงเรียนจะได้ประโยชน์อย่างมากเมื่อได้จัดกิจกรรมให้สัมพันธ์กับแหล่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้เรียนเข้าถึงข้อมูลที่ทันสมัยเมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนแบบเดิมแล้วพบว่าการสื่อสารทางไกลเปิดโลกทัศน์ของผู้เรียนให้กว้างขึ้น
    1.3 การเพิ่มทักษะการคิดอย่างมีระบบผู้เรียนที่ใช้การสื่อสารทางไกลจะมีทักษะการคิดแบบสืบสวนสอบสวนและทักษะการคิดอย่างมีระบบเพราะลักษณะของการใช้อินเทอร์เน็ตที่ผู้เรียนต้องมีทักษะการคิดวิเคราะห์ในการเลือกรับข้อมูลและได้สื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญ
    1.4 สร้างแรงจูงใจให้มีทักษะในการเขียนผู้เรียนที่มีประสบการณ์การใช้การสื่อสารทางไกลจะมีความสามารถในการเขียนเพิ่มขึ้นนอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ในการเขียนและเพิ่มแรงจูงใจให้มีการเขียนและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับเพื่อนร่วมอภิปราย
  1. ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตที่มีต่อผู้สอน
         เมื่อมีการใช้อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้สอนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางการศึกษาการวิจัยการวางแผนการสอนและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเช่นกันคุณค่าของการเปิดรับข้อมูลทำให้ได้รับรู้กลยุทธ์การสอนที่หลากหลายสามารถนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพของการเรียนการสอนที่เป็นประโยชน์ทั้งผู้เรียนและผู้สอนดังต่อไปนี้
    2.1 การสอนแบบร่วมมือ(collaborative) ทำให้ผู้สอนมีความสามารถเพิ่มขึ้นเมื่อใช้วิธีการสอนแบบร่วมมือผ่านเครือข่าย เช่นการออกแบบให้มีสภาพและการประชุมระหว่างผู้สอนเพื่ออภิปรายประเด็นอันหลากหลาย เช่นการบริหารโรงเรียนการประเมิน แนวทางการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เป็นต้นอินเทอร์เน็ตยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อของผู้สอนอีกด้วย
    2.2 กลยุทธ์การสอนที่หลากหลาย เมื่อมีการสื่อสารทางไกลทำให้การสอนเปลี่ยนทิศทางการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นการช่วยเพิ่มเวลาที่ผู้เรียนทำให้ติดต่อสื่อสารกับผู้สอนเป็นรายบุคคลมากขึ้นลดเวลาในการจดคำบรรยายในชั้นเรียนและทำให้ผู้เรียนมีเวลาทำรายงานมากขึ้น
    2.3 พัฒนาหลักสูตรเมื่อการสื่อสารทางไกลด้วยอินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลกับหลักสูตรทำให้ประเด็นในการเรียนการสอนสอดคล้องกับสภาพของสังคมมากขึ้น ยกระดับของทักษะความคิดในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการเรียนด้วยการใช้สื่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแตกต่างจากสิ่งที่สอนในห้องเรียนเพราะเป็นวิธีการที่นำไปสู่โครงการที่เขียนจากความร่วมมือของทุกฝ่ายอินเทอร์เน็ตทำให้ได้ข้อสรุปจากหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญซึ่งทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพนอกจากการสอนแบบเดิมผู้สอนและผู้เรียนสามารถใช้ข้อมูลจากสารานุกรมหนังสือ เอกสารงานวิจัย และโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษาจากอินเทอร์เน็ต
  1. ประโยชน์ที่มีต่อผู้เชี่ยวชาญการผลิตสื่อ
         ทำให้ได้พบกับแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ที่ดีกว่าประหยัดเวลากว่าและพบผลงานที่แตกต่างจากในท้องถิ่นของตนเอง
    3.1 แหล่งข้อมูลความรู้ การใช้อินเทอร์เน็ตทำให้ได้พบกับแหล่งข้อมูล เช่น นิตยสารวารสาร ฐานข้อมูล ผลการวิจัย การสำรวจความคิดเห็น ภาพกราฟิก เสียงภาพยนตร์และซอฟแวร์ เหมือนกับย่อโลกทั้งใบมาไว้ในจอคอมพิวเตอร์
    3.2 ข้อมูลที่ทันสมัย ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเป็นข้อมูลที่ทันสมัยเหมาะกับการศึกษาความสามารถในการติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญทำให้ได้รับข้อมูลแบบปฐมภูมิได้คำตอบครบประเด็นกับปัญหาที่ถามและการได้รับทราบความคิดเห็นจากแหล่งอื่นอีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงเอกสารไปยังห้องสมุดหรือแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
    3.3 เครื่องมือสอนให้ผู้เรียนมีทักษะอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้เรียนมีทักษะในการศึกษาวิจัยผู้เรียนสามารถตั้งสมมติฐาน วิเคราะห์และทำรายงานได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเพราะมีระบบและเครื่องมือในการสืบค้นมากมายและทำให้ผลที่จัดทำขึ้นมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจำนวนมาก
    3.4 การพบปะกับสมาชิกพบว่าเหตุผลอันดับหนึ่งสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารต่อการใช้อินเทอร์เน็ต คือ ความสะดวก ประหยัดเวลา ความเป็นหมวดหมู่ สามารถสื่อสารกับสมาชิกอื่นๆ ทั่วโลกโดยเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงและช่วยลดความรู้สึกว่าทำงานอยู่คนเดียวในโรงเรียน
  1. ประโยชน์ที่มีต่อเจ้าหน้าที่
         ในระดับของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานการใช้อินเทอร์เน็ตช่วยลดความซับซ้อน การจัดเตรียมและเอกสารเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยิ่งในการรับและปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องรับ และส่งข้อมูลภายนอกองค์กร
    4.1 การจัดการเอกสาร การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการสื่อสารเป็นการประหยัดงบประมาณลดการใช้กระดาษ มีความรวดเร็วมีประสิทธิผลและเป็นการบันทึกข้อมูลรวมถึงยังช่วยลดความผิดพลาดในการสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย
    4.2 การสื่อสารภายนอกองค์กรการใช้อินเทอร์เน็ตทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลที่ทันสมัยทันทีจากที่ประชุมทางการศึกษาการวิจัย และจากผู้สอน การติดต่อกับธุรกิจเอกชนหรือหน่วยงานอื่นๆก็ต้องใช้อินเทอร์เน็ต
  1. ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตที่มีต่อการสื่อสาร
         การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแนวทางที่ดีที่ทำให้การสื่อสารระหว่างโรงเรียนกองทุนสนับสนุนการศึกษา โครงการเพื่อการศึกษา องค์กรพิเศษอื่นๆ และอาสาสมัครในการเชื่อมโยงไปถึงผู้นำธุรกิจในท้องถิ่นผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่สามารถเข้าใช้อินเทอร์เน็ตได้
    5.1 การสื่อสารกับโรงเรียนการใช้อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้ปกครองมีโอกาสเป็นผู้ช่วยกำหนดการบ้านของบุตรหลานและยังได้ร่วมประชุมกับครูหรือผู้ปกครองคนอื่น
    5.2 กิจกรรมการสื่อสารของผู้เรียนการใช้อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เรียนจำนวนมากได้รับคำแนะนำอบรมสั่งสอนที่มีค่าจากผู้สูงอายุผ่านทางอินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ตกับการเรียนการสอน

     การนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการเรียนการสอนมีหลายรูปแบบแต่ในประเทศไทยยังนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการเรียนการสอนโดยตรงนับว่ายังน้อยอยู่สถาบันการศึกษาทั้งในระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัยจะมีการใช้อินเทอร์เน็ตในรูปแบบของการใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียนซึ่งการเรียนการสอนโดยใช้ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้หลายรูปแบบ

มนต์ชัย เทียนทอง (2545, น.360-361) จำแนกรูปแบบการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการเรียนการสอน ออกเป็น 4 รูปแบบ คือ

  1. Standalone Courseเป็นลักษณะการเรียนที่ตัวเนื้อหาบทเรียนและส่วนประกอบต่างๆทั้งหมดถูกนำเสนอบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผู้เรียนเพียงแต่ต่อเชื่อมเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ากับระบบโดยป้อนชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านก็สามารถเข้าไปศึกษาบทเรียนได้ เริ่มตั้งแต่การลงทะเบียน การเลือกวิชาเรียนการศึกษา การวัดประเมินผล และการรายงานผลการเรียนขั้นตอนทั้งหมดนี้จะดำเนินการโดยระบบการจัดการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปศึกษาในชั้นเรียนจริงก็สามารถศึกษาจนจบหลักสูตรได้การเรียนการสอนลักษณะนี้เปรียบเสมือนเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่ไม่มีกำแพงกั้นหรือเรียกว่า “No Wall School หรือ No Classroom” องค์ความรู้ทั้งหมดจะถูกนำเสนอผ่านบทเรียนผู้เรียนเพียงแต่ต่อเชื่อมมาจากสถานที่ต่างๆก็สามารถเข้าศึกษาในชั้นเรียนเดียวกันได้ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Cyber Class หรือ Cyber Classroom
  2. Web Supported Course เป็นลักษณะการเรียนการสอนปกติแบบเผชิญหน้าในชั้นเรียนระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนแต่ใช้บทเรียนที่นำเสนอบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สนับสนุนหรือสอนเสริมเพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้หลากหลายขึ้นไม่เฉพาะทางด้านการนำเสนอเนื้อหาบทเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำกิจกรรมการทำกรณีศึกษา การแก้ปัญหาหรือการติดต่อสื่อสาร ซึ่งบทเรียนที่นำเสนอบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ใช้สนับสนุนการเรียนการสอน ปกติตามรูปแบบนี้กำลังมีบทบาทอย่างสูงต่อระบบการศึกษาในปัจจุบันอันเนื่องมาจากความไม่พร้อมของคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์และการแพร่ขยายของระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้การจัดการเรียนการสอนในลักษณะของ Standalone Course ยังทำไม่ได้ในบางชุมชนการใช้บทเรียนที่นำเสนอบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสนับสนุนการเรียนการสอนปกติจึงเป็นทางเลือกใหม่ในการจัดการศึกษาปัจจุบันซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการที่ผู้เรียนนั่งฟังคำบรรยายจากผู้สอนเฉพาะเพียงแต่ในชั้นเรียนเท่านั้น
  3. Collaborative Learning เป็นลักษณะการเรียนการสอนแบบร่วมมือโดยใช้บทเรียนที่นำเสนอบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยที่ผู้เรียนจากชุมชนต่างๆทั้งในและนอกประเทศต่อเชื่อมระบบเข้าสู่บทเรียนในเวลาเดียวกันพร้อมกันหลายๆคนและศึกษาบทเรียนเรื่องเดียวกัน ซึ่งสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการตอบคำถามแก้ปัญหา ทำกิจกรรมการเรียนการสอน และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการร่วมกันสร้างสรรค์บทเรียนทำให้เกิดเป็นเครือข่ายองค์ความรู้ขนาดใหญ่ที่ท้าทายและชวนให้ผู้เรียนติดตามบทเรียนโดยไม่เกิดความเบื่อหน่าย
  4. Web Pedagogical Resources เป็นการเรียนการสอนลักษณะที่มีการนำแหล่งข้อมูลที่มีอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาใช้สนับสนุนการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆซึ่งได้แก่ แหล่งเว็บไซต์ที่เก็บรวบรวมข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว วีดิทัศน์และเสียง รวมทั้งบทเรียนที่นำเสนอบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตลักษณะของการใช้สนับสนุนจึงสามารถใช้ได้ทั้งการประกอบการเรียนการสอนและการทำกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ

สรุปได้ว่า อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก คอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารกันด้วยมาตรฐานโปรโตคอล ซึ่งทำให้ระบบอินเตอร์เน็ทมีประโยชน์มหาศาลต่อทุกๆคน  ทุกๆด้าน รวมทั้งด้านการศึกษา ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้จากอินเตอร์เน็ท ซึ่งเปรียบเสมือนห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้สอน สามารถนำ เอาอินเตอร์เน็ทมาประยุกต์จัดสภาพการเรียนรู้ให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้หลากหลายวิธี ดังเช่น การสร้างเว็บไซต์เพื่อการศึกษา ประโยชน์ที่เด่นชัดคือ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงบทเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา และยังมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูเหมือนอยู่ในชั้นเรียนปกติ ซึ่งในอนาคต ศตวรรษที่21 เครือข่าย อินเตอร์เน็ทจะมีมากขึ้นจะเป็นปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นต่อการศึกษาทุกระบบ

การหาประสิทธิภาพของบทเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน

     ประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Efficiency) หมายถึงความสามารถของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในการสร้างผลสัมฤทธิ์ให้ผู้เรียนมีความสามารถทำแบบทดสอบระหว่างบทเรียนแบบฝึกหัดหรือแบบทดสอบหลังบทเรียนได้บรรลุวัตถุประสงค์ในระดับเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ (มนต์ชัย เทียนทอง, 2545, น.329-332)

1. การหาประสิทธิภาพของบทเรียน

การหาประสิทธิภาพของบทเรียนจึงต้องกำหนดเกณฑ์มาตรฐานขึ้นก่อนโดยทั่วไปจะใช้ค่าเฉลี่ยของคะแนนที่เกิดจากแบบฝึกหัดหรือคำถามระหว่างบทเรียนกับคะแนนเฉลี่ยจากแบบทดสอบแล้วนำมาคำนวณเป็นร้อยละเพื่อเปรียบเทียบกันในรูปของ Even 1/ Even 2 โดยเขียนอย่างย่อเป็นE1/E2เช่น 90/90 หรือ 85/85 และจะต้องกำหนดค่าE1และE2 เท่านั้นเนื่องจากง่ายต่อการเปรียบเทียบและการแปลความหมายสำหรับความหมายของประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีดังนี้

ร้อยละ 95–100 หมายถึงบทเรียนมีประสิทธิภาพดีเยี่ยม (Excellent)

ร้อยละ 90–94 หมายถึงบทเรียนมีประสิทธิภาพดี (Good)

ร้อยละ 85–89 หมายถึงบทเรียนมีประสิทธิดีพอใช้ (Fairly Good)

ร้อยละ 80-84 หมายถึงบทเรียนมีประสิทธิภาพพอใช้ (Fair)

ต่ำกว่าร้อยละ 80 หมายถึงบทเรียนต้องปรับปรุงแก้ไข (Poor)

ข้อพิจารณาสำหรับเกณฑ์การกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพของบทเรียนก็คือถ้ากำหนดเกณฑ์ยิ่งสูงจะทำให้บทเรียนมีคุณค่าต่อการเรียนการสอนมากขึ้นแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะพัฒนาบทเรียนให้ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนบรรลุถึงเกณฑ์กำหนดในระดับนั้นอย่างไรก็ตามโดยทั่วไปไม่ควรกำหนดไว้ต่ำกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากจะทำให้บทเรียนลดความสำคัญลงไปซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนไม่สนใจบทเรียนและเกิดความล้มเหลวทางการเรียนในที่สุดข้อพิจารณาในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของบทเรียนสามารถกำหนดคร่าวๆ ได้ดังนี้

  1. บทเรียนสำหรับเด็กเล็กควรกำหนดไว้ระหว่างร้อยละ 95 – 100
  2. บทเรียนที่เป็นเนื้อหาวิชาทฤษฎีหลักการมโนมติและเนื้อหาพื้นฐานสำหรับวิชาอื่นๆควรกำหนดไว้ระหว่างร้อยละ 90 – 95
  3. บทเรียนมีเนื้อหาวิชายากและซับซ้อนต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษามากกว่าปกติควรกำหนดไว้ระหว่างร้อยละ 85 – 90
  4. บทเรียนวิชาปฏิบัติวิชาประลองหรือวิชาทฤษฎีกึ่งปฏิบัติควรกำหนดไว้ระหว่างร้อยละ 80 – 85

2. การหาประสิทธิภาพของบทเรียนตามเกณฑ์มาตรฐาน E1/E2

เป็นวิธีการหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุดเนื่องจากเป็นเกณฑ์ที่ผ่านการวิจัยมาแล้วหลายครั้งและได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้เกณฑ์ดังกล่าววัดประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้ตรงที่สุดโดยที่ E1และE2ได้จากค่าระดับคะแนนดังต่อไปนี้

2.1 E1ได้จากคะแนนเฉลี่ยของผู้เรียนทั้งหมดจากการทำแบบฝึกหัด (Exercise)แต่ละชุดหรือคะแนนเฉลี่ยของผู้เรียนทั้งหมดจากการทำแบบฝึกหัดแต่ละชุด

2.2 E2ได้จากคะแนนเฉลี่ยของผู้เรียนทั้งหมดจากการทำแบบทดสอบหลังบทเรียน (Posttest)

ดังนั้นประสิทธิภาพของบทเรียนจึงมีค่าเท่ากับ E1/E2เช่น 88/86 ซึ่งสามารถแปลความหมายได้ว่าบทเรียนมีความสามารถในการสร้างผลสัมฤทธิ์ให้ผู้เรียนสามารถทำแบบทดสอบหลังบทเรียนแต่ละชุดได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 88 และสามารถทำแบบทดสอบหลังบทเรียนได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 86 แสดงว่าเป็นบทเรียนที่มีประสิทธิภาพบทเรียนในขั้นดีพอใช้ (Fairly Good)สามารถนำไปใช้งานได้โดยปกติค่าของE2จะมีค่าต่ำกว่าค่าของE1เนื่องจากE1เกิดจากการวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนจากการทำแบบทดสอบแบบฝึกหัดหรือคำถามระหว่างบทเรียนซึ่งเป็นการวัดผลในระหว่างการนำเสนอเนื้อหาหรือวัดผลทันทีที่ศึกษาเนื้อหาจบในแต่ละเรื่องระดับคะแนนจึงมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าของE2ซึ่งเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนจากการทำแบบทดสอบหลังบทเรียนที่ศึกษาเนื้อหาผ่านมานานแล้วซึ่งอาจเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายสัปดาห์จึงอาจเกิดความสับสนหรือลืมเลือนการหาประสิทธิภาพของบทเรียนตามเกณฑ์มาตรฐานE1/E2จึงมักหาความคงทนทางการเรียนของผู้เรียน (Retention Of Learning) ควบคู่กันไปด้วยเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของผลคะแนนที่ได้

3. การหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน (Effectiveness)

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Effectiveness) หมายถึง ความรู้ของผู้เรียนที่แสดงออกในรูปแบบของคะแนน หรือระดับความสามารถในการทำแบบทดสอบ หรือแบบฝึกหัดได้ถูกต้อง หลังจากที่ศึกษาเนื้อหาบทเรียนแล้ว ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจึงสามารถแสดงผลได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพแต่ไม่นิยมนำเสนอเป็นค่าโดดๆ มักจะเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เงื่อนไขต่างๆหรือเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้เรียนด้วยกัน เช่น มีค่าสูงขึ้น หรือค่าไม่เปลี่ยนเมื่อเทียบ กับผู้เรียน 2กลุ่ม เป็นต้น

แม้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสามารถแสดงผลได้ทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพก็ตาม แต่ที่นิยมในทางปฏิบัติมักจะนำเสนอในเชิงคุณภาพ ยกตัวอย่างเช่น หลังจากศึกษาบทเรียนแล้วผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อเปรียบเทียบก่อนการเรียน เป็นต้น ถ้าเป็นการแสดงผลในเชิงปริมาณ การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนจะหมายถึงค่าระดับคะแนนที่ผู้เรียนทำได้จากแบบฝึกหัดหรือแบบทดสอบ เช่น หลังจากศึกษาเนื้อหาบทเรียนแล้ว ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น10 % เป็นต้น ซึ่งการนำเสนอกรณีอย่างหลังนี้จะไม่เป็นที่นิยมกัน เนื่องจากแปลความหมายได้ยากและไม่มีข้อเปรียบเทียบ

การหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนตามแบบแผนการทดลอง ที่ใช้ในการประเมินเว็บช่วยสอน จึงต้องใช้หลักสถิติ เพื่อสรุปความหมายในเชิงของการเปรียบเทียบแต่ละแนวทางสถิติที่ใช้เปรียบเทียบได้แก่ ทีเทส (T-test) เอฟเทส (F-test) อะโนวา (ANOVA) แอนโควา (ANCOVA) และสถิติอื่นๆ โดยแปลความหมายในเชิงคุณภาพหรือเปรียบเทียบในการพัฒนาเว็บช่วยสอนสำหรับการวิจัยขึ้น เพื่อยืนยันด้านคุณภาพบทเรียน นอกจากจะต้องหาประสิทธิภาพของบทเรียนตามเกณฑ์มาตรฐาน E1/E2เพื่อการประเมินผลบทเรียน แล้วยังต้องเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน เมื่อเรียนด้วยเว็บช่วยสอนเรื่องดังกล่าวด้วย ถ้าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนสูงขึ้นหลังจากเรียนด้วยเว็บช่วยสอนที่พัฒนาขึ้น  เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการเรียนเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึงความสามารถของผู้เรียนที่เกิดการเรียนรู้ขึ้นจากการเรียนด้วยเว็บช่วยสอนเรื่องดังกล่าวต้องการหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน จึงต้องประกอบด้วยทั้งแบบทดสอบก่อนเรียน และแบบทดสอบหลังเรียน โดยทำการทดสอบก่อนเรียน (T1) และหลังจากการจบการศึกษาเนื้อหาบทเรียนจึงทำแบบทดสอบหลังเรียน (T2) ไปเปรียบเทียบความแตกต่างตามแบบแผนการทดลอง โดยใช้สถิติเปรียบเทียบความสัมพันธ์ และสรุปผลที่ได้ตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

งานวิจัยนี้ผู้วิจัยใช้วิธีการประเมินผลบทเรียน 2 วิธี คือ การหาประสิทธิภาพบทเรียนโดยใช้เกณฑ์การประเมิน 85/85 และการหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนด้วยสถิติ t-test ที่มีระดับนัยสำคัญที่ .05

แนวคิดเกี่ยวกับความพึงพอใจ

ความหมายของความพึงพอใจ

     พจนานุกรมฉบับบัณฑิตสถาน พุทธศักราช 2525 ให้ความหมายไว้ว่าพึงเป็นคำช่วยกริยาอื่นหมายความว่าควรเช่นพึงใจหมายความว่าพอใจชอบใจและคำว่าพอหมายความว่าเท่าที่ต้องการเต็มความต้องการถูกชอบเมื่อนำคำสองคำมาผสมกันพึงพอใจหมายถึงชอบใจถูกใจตามที่ต้องการ

     ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2535, น.36) กล่าวว่าความพึงพอใจในการปฏิบัติงานเป็นความรู้สึกส่วนรวมของบุคคลต่อการทำงานในทางบวกเป็นความสุขของบุคคลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานและได้รับผลตอบแทนคือผลที่เป็นความพึงพอใจที่ทำให้บุคคลเกิดความกระตือรือร้นมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานมีขวัญและกำลังใจสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานรวมทั้งส่งผลต่อความสำเร็จและเป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร

     พรศักดิ์ ตระกูลชีวิพานิตต์ (2541,  น.345) ให้ความหมายไว้ว่าความพึงพอใจหมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับผลสำเร็จตามความมุ่งหมายและความพึงพอใจเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนแต่สามารถคาดคะเนได้ว่ามีหรือไม่มีจากการสังเกตพฤติกรรมของคนเท่านั้นการที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจจะต้องศึกษาปัจจัยและองค์ประกอบที่เป็นสาเหตุแห่งความพึงพอใจนั้น

     วอลเลอร์สเตน (Wallerstein, 1971, p.256) กล่าวว่าความพึงพอใจหมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับผลสำเร็จตามความมุ่งหมายและอธิบายว่าความพึงพอใจเป็นขบวนการทางจิตวิทยาไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนแต่สามารถคาดคะเนได้ว่ามีหรือไม่มีจากการสังเกตพฤติกรรมของคนเท่านั้นการที่จะทำให้คนเกิดความพึงพอใจจะต้องศึกษาปัจจัยและองค์ประกอบที่เป็นสาเหตุของความพึงพอใจ

     กู๊ด (Good, 1973, p.320) ได้ให้ความหมายความพึงพอใจไว้ว่าความพึงพอใจหมายถึงสภาพคุณภาพหรือระดับความพึงพอใจซึ่งเป็นผลมาจากความสนใจต่างๆ และทัศนคติที่บุคคลมีต่อสิ่งที่ทำอยู่

     คอตเลอร์ (Kotler, 2000, p.36) กล่าวว่าเป็นความรู้สึกของบุคคลเมื่อได้รับความสุขหรือความผิดหวังซึ่งเกิดจากการเปรียบเทียบการรับรู้กับความคาดหวังในผลลัพธ์ของสิ่งที่ต้องการถ้าการรับรู้ต่อสิ่งที่ต้องการพอดีกับความคาดหวังลูกค้าจะเกิดความพึงพอใจ

     จากความหมายต่างๆข้างต้นสรุปได้ว่าความพึงพอใจเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องความรู้สึกและทัศนคติของบุคคลอันเนื่องมาจากสิ่งเร้าและแรงจูงใจของบุคคลจากการปฏิบัติงานปรากฏออกมาทางพฤติกรรมของคนและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการทำกิจกรรมต่างๆ

ธีระสุภาวิมล (2551) นักจิตวิทยาแบ่งการจูงใจเกี่ยวกับการศึกษาออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

  1. แรงจูงใจภายใน(Intrinsic Motivation)ได้แก่การจูงใจที่เกิดจากความรู้สึกภายในของผู้เรียนเองเช่นความต้องการความสนใจและทัศนคติที่ดีต่อวิชาที่เรียนทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นอยากเรียนเต็มใจและตั้งใจเรียนเพราะต้องการความรู้มิใช่เรียนเพราะหวังผลอย่างอื่น
  2. แรงจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation)ได้แก่การจูงใจที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอกมาใช้จูงหรือกระตุ้นให้เกิดการจูงใจภายในขึ้นเป็นต้นว่าวิธีสอนบุคลิกภาพของผู้สอนและเทคนิคที่ครูใช้ในการสอนจะเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกอยากเรียนการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจภายนอกไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อความสำเร็จในสิ่งนั้นอย่างแท้จริงแต่เป็นการกระทำเพื่อสิ่งจูงใจอย่างอื่นเช่นการเรียนที่หวังคะแนนนอกเหนือไปจากการได้รับความรู้การศึกษาเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พึงประสงค์การจูงใจภายในจึงเป็นลักษณะการจูงใจที่ดีและมีอิทธิพลที่สุดต่อกระบวนการเรียนรู้ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจภายในขึ้นโดยใช้การจูงใจภายนอกยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดความสนใจเช่นใช้หลักการให้รางวัลและลงโทษการชมเชยและการตำหนิการแข่งขันและการร่วมมือต่างๆแต่ในความเป็นจริงการจัดการศึกษาโดยทั่วไปมักพบว่าการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจภายในขึ้นนั้นกระทำได้ยากมากเพราะเหตุนี้ในการจัดการศึกษาจึงพบเสมอว่าส่วนใหญ่จะสร้างแรงจูงใจภายนอกก่อนเพื่อก่อให้เกิดแรงจูงใจภายในขึ้นภายหลังและในการสร้างแรงจูงใจไม่ว่าจะเป็นแรงจูงใจภายในหรือภายนอกจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดเวลาจึงจะบังเกิดผลดีทั้งนี้เพราะว่าเมื่อร่างกายเกิดความต้องการจะทำให้เกิดแรงขับหรือแรงจูงใจที่เป็นตัวกระตุ้นหรือผลักดันให้ร่างกายแสดงพฤติกรรมเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการพฤติกรรมที่กระทำจึงมีทิศทางหรือจุดมุ่งหมายเมื่อร่างกายได้สิ่งที่ต้องการแล้วก็จะเกิดความพึงพอใจแรงขับก็จะลดลงเพราะฉะนั้นในการเรียนการสอนผู้สอนจะต้องพยายามสร้างสิ่งจูงใจให้ผู้เรียนเกิดแรงขับหรือแรงจูงใจอย่างสม่ำเสมอเพื่อผู้เรียนจะได้สนใจติดตามบทเรียนอย่างต่อเนื่องทำให้เรียนรู้อย่างได้ผลแต่เนื่องจากแรงจูงใจเกิดจากความต้องการผู้สอนจึงจำเป็นต้องทราบถึงความต้องการพื้นฐานของผู้เรียนว่าประกอบด้วยอะไรบ้างเพื่อจะได้หาแนวทางสร้างสิ่งจูงใจตอบสนองได้อย่างเหมาะสม

ทฤษฏีที่เกี่ยวกับความพึงพอใจ

     ความพึงพอใจเป็นความรู้สึกที่ดีที่ชอบที่พอใจหรือที่ประทับใจของบุคคลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้รับโดยสิ่งนั้นสามารถตอบสนองความต้องการทั้งด้านร่างกายและจิตใจบุคคลทุกคนมีความต้องการหลายสิ่งหลายอย่างและมีความต้องการหลายระดับซึ่งหากได้รับการตอบสนองก็จะก่อให้เกิดความพึงพอใจการจัดการเรียนรู้ใดๆที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจการเรียนรู้นั้นจะต้องสนองความต้องการของผู้เรียนทฤษฏีเกี่ยวกับความต้องการที่ส่งผลต่อความพึงพอใจที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ทฤษฏีลำดับชั้นของความต้องการ Maslow (Needs-Herarchy Theory) เป็นทฤษฏีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางโดยตั้งอยู่บนสมมติฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ดังนี้มาสโลว์ (Maslow, 1970, p.69-80)

  1. ลักษณะความต้องการของมนุษย์ได้แก่
    1.1 ความต้องการของมนุษย์เป็นไปตามลำดับชั้นความสำคัญโดยเริ่มระดับความต้องการขั้นสูงสุด
    1.2 มนุษย์มีความต้องการอยู่เสมอเมื่อความต้องการอย่างหนึ่งได้รับการตอบสนองแล้วก็มีความต้องการสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่
    1.3 เมื่อความต้องการในระดับหนึ่งได้รับการตอบสนองแล้วจะไม่จูงให้เกิดพฤติกรรมต่อสิ่งนั้นแต่จะมีความต้องการในระดับสูงเข้ามาแทนและเป็นแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมนั้น
    1.4 ความต้องการที่เกิดขึ้นอาศัยซึ่งกันและกันมีลักษณะควบคู่คือเมื่อความต้องการอย่างหนึ่งยังไม่หมดสิ้นไปก็จะมีความต้องการอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมา
  1. ลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์มี 5 ระดับได้แก่
    2.1 ความต้องการพื้นฐานทางด้านร่างกาย (Physiological Needs) เป็นความต้องการเบื้องต้นเพื่อความอยู่รอดของชีวิตเช่นความต้องการอาหารน้ำอากาศเครื่องนุ่งห่มยารักษาโรคที่อยู่อาศัยและความต้องการทางเพศความต้องการทางด้านร่างกายจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนก็ต่อเมื่อความต้องการทั้งหมดของคนยังไม่ได้รับการตอบสนอง
    2.2 ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Security Needs) เป็นความรู้สึกที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยในปัจจุบันและอนาคตซึ่งรวมถึงความก้าวหน้าและความอบอุ่นใจ
    2.3 ความต้องการทางสังคม (Social or Belonging Needs) ได้แก่ความต้องการที่จะเข้าร่วมและได้รับการยอมรับในสังคมความเป็นมิตรและความรักจากเพื่อน
    2.4 ความต้องการที่จะได้รับการยกย่องหรือมีชื่อเสียง (EsteemNeeds) เป็นความต้องการระดับสูงได้แก่ความต้องการอยากเด่นในสังคมรวมถึงความสำเร็จความรู้ความสามารถความเป็นอิสรภาพและเสรีและการเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั้งหลาย
    2.5 ความต้องการที่จะได้รับความสำเร็จในชีวิต (Self ActualizationNeeds) เป็นความต้องการระดับสูงของมนุษย์ส่วนมากจะเป็นการนึกอยากจะเป็นอยากจะได้ตามความคิดเห็นของตัวเองแต่ไม่สามารถแสวงหาได้

     มัมฟอร์ด (Muford อ้างถึงใน ณัทฐา กรีหิรัญ, 2550, .12-13)ได้จำแนกแนวความคิดเกี่ยวกับความพึงพอใจในงานจากผลการวิจัยออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้

  1. กลุ่มความต้องการทางด้านจิตวิทยา (The Psychological Needs School) กลุ่มนี้ได้แก่มาสโลว์ (Maslow) เฮอร์ซเบิร์ก (Herzberg) ลิเคิร์ท (Likert) โดยมองความพึงพอใจในงานเกิดจากความต้องการของบุคคลที่ต้องการความสำเร็จของงานและความต้องการการยอมรับจากบุคคลอื่น
  2. กลุ่มภาวะผู้นำ (Leadership School) มองความพึงพอใจในงานจากรูปแบบและ         การปฏิบัติงานของผู้นำที่มีต่อผู้ใต้บังคับบัญชากลุ่มนี้ได้แก่เบลค (Blake) มูตัน (Mouton) ฟิดเลอร์ (Fiedler)
  3. กลุ่มความพยายามต่อรองรางวัล (Effort-Reward Bargain School) เป็นกลุ่มที่มองความพึงพอใจในงานจากรายได้เงินเดือนและผลตอบแทนอื่นกลุ่มนี้ได้แก่กลุ่มบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยแมนเซสเตอร์ (Manchester Business School)
  4. กลุ่มอุดมการณ์ทางการจัดการ (Management Ideology School) มองความพึงพอใจจากพฤติกรรมการบริหารขององค์การได้แก่โครซิเอร์และโกลเนอร์ (Crozier &Gouldner)
  5. กลุ่มเนื้อหาของงานและการออกแบบงาน (Work Content and Job Design) ความพึงพอใจในงานเกิดจากเนื้อหาของตัวงานกลุ่มแนวความคิดนี้ได้แก่นักวิชาการจากสถาบันทาวิสตอค (Tavistock Institute) มหาวิทยาลัยลอนดอน.

     การจัดการเรียนรู้ไม่ว่าผู้สอนจะใช้เทคนิคกระบวนการอย่างไรก็ตามเป้าประสงค์ คือ มุ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนเป็นสำคัญ หากผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงมากเท่าใด นั่นหมายถึงเป็นความสำเร็จของการจัดการเรียนรู้มากเท่านั้น ทั้งนี้สื่อและเทคนิคกระบวนการสอนที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบล้วนแต่เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ หากผู้เรียนพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนจะกระตือรือร้น อยากรู้อยากเรียน  ผู้วิจัยคาดว่า การใช้เว็บช่วยสอนมัลติมีเดียในการจัดการเรียนรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจด้วยภาพและเสียง น่าจะเป็นเป็นสื่อที่ทันสมัยที่สุดในยุคนี้ ผู้วิจัยจึงได้สร้างเว็บช่วยสอนโดยได้ผ่านการการปรับปรุงและเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค และการจัดการเรียนรู้โดยใช้เว็บช่วยสอนระบบมัลติมีเดีย จะเหมาะสมเพียงใดหรือไม่นั้น ผู้เรียนเป็นผู้ที่ตอบได้ชัดเจนที่สุดจากแบบสำรวจความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้ในงานวิจัยฉบับนี้

การวัดความพึงพอใจ

     หทัยรัตน์  ประทุมสูตร (2547, น. 14) กล่าวว่า การวัดความพึงพอใจเป็นเรื่องที่เปรียบเทียบได้กับความเข้าใจทั่ว ๆ ไป ซึ่งปกติจะวัดได้โดยการสอบถามจากบุคคลที่ต้องการจะถามมีเครื่องมือที่ต้องการจะใช้ในการวิจัยหลาย ๆ อย่าง อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าจะมีการวัดอยู่หลายแนวทางแต่การศึกษาความพึงพอใจอาจแยกตามแนวทางวัดได้สองแนวคิด กล่าวคือ

  1. วัดจากสภาพทั้งหมดของแต่ละบุคคล เช่น ที่ทำงาน ที่บ้าน และทุก อย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตการศึกษาตามแนวทางนี้จะได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ แต่ทำให้เกิดความยุ่งยากกับการที่จะวัดและเปรียบเทียบ
  2. วัดได้โดยแยกออกเป็นองค์ประกอบ เช่น องค์ประกอบที่เกี่ยวกับงาน การนิเทศงานเกี่ยวกับนายจ้าง

     นวพรรษ จันทร์คำ (2548, น. 71 – 79) กล่าวถึง แนวทางการวัดความพึงพอใจไว้ดังนี้

  1. กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่า ต้องการประเมินไปเพื่อประโยชน์อะไร เช่น หากต้องการเพียงเพื่อทราบความพึงพอใจในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจในประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยเฉพาะ ก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการวางกรอบการวัดอย่างต่อเนื่อง
  2. กำหนดปัจจัยที่จะใช้วัดความพึงพอใจ โดยกำหนดว่า จะใช้ปัจจัยใดบ้างมาเป็นตัวชี้วัดคะแนนความพึงพอใจโดยรวมและควรให้น้ำหนักแต่ละปัจจัยเท่าไร เช่น ในการวัดความพึงพอใจของนักเรียน ของครู ปัจจัยที่ใช้วัดก็แยกเป็น 3 กลุ่ม หลัก ๆ คือ การเรียนของนักเรียนหรือการสอนของครู เป็นต้น การได้มาซึ่งปัจจัยที่จะใช้เป็นตัวชี้วัด เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความร่วมมือระดมความเห็นจากหลายฝ่ายและควรทำการทดสอบปัจจัยเหล่านี้ก่อนนำมาทำการประเมินจริง  เพื่อให้แน่ใจว่า ปัจจัยที่กำหนดไม่ซ้ำซ้อนกันเกินไปหรือขาดปัจจัยสำคัญบางตัวไป รวมถึงควรทำการประเมินความสำคัญของปัจจัยแต่ละตัว เพื่อนำมาใช้ถ่วงน้ำหนักในการวัดความพึงพอใจรวมด้วย
  3. กำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการวัด ปกติแล้วจะใช้ Likert Scale ด้วยการให้คะแนน ความพึงพอใจในแต่ละปัจจัย คือ 1 พอใจน้อย  2 ปานกลาง 3 พอใจ 4 พอใจมากและ 5 พอใจมากที่สุด
  4. กำหนดวิธีการวัดความพึงพอใจ ในขั้นนี้ก็คือ ขั้นของการทำวิจัยเชิงปริมาณ(Quantitative Research) ที่ต้องกำหนดวิธีการสุ่มตัวอย่างในเชิงสถิติ เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของลูกค้าที่สุ่มมาทำการวัดความพึงพอใจ รวมถึงการกำหนดขนาดของตัวอย่างที่ใช้ในการวัดว่า ควรมีจำนวนเท่าไร โดยอาศัยเทคนิคการวิจัยเป็นตัวกำหนดวิธีการวัด

     สรุปได้ว่าการวัดความพึงพอใจบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนระบบมัลติมีเดียบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผู้วิจัยใช้วิธีการวัดโดยใช้แบบสอบถามเพื่อศึกษาความคิดเห็นประกอบด้วยชุดคำถาม มีลักษณะเป็นแบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับของลิเคิร์ท (Likert, 1932) โดยกำหนดเป็นคะแนนดังนี้

ระดับ  5  หมายถึง พึงพอใจมากที่สุด
ระดับ  4  หมายถึง พึงพอใจมาก
ระดับ  3  หมายถึง พึงพอใจปานกลาง
ระดับ  2  หมายถึง พึงพอน้อย
ระดับ  1  หมายถึง ไม่มีความพึงพอใจ

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

     ผลงานวิจัยภายในประเทศ

     ทิพสุดา คิดเลิศ (2551) ได้ทำวิจัยเรื่องการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับงานโรงแรมสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีมีจุดมุ่งหมาย คือ หาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์บนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับงานโรงแรมให้ได้ตามเกณฑ์ 85/85 ในการวิจัยครั้งนี้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตชั้นปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 จำนวน 50 คน ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 ได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่ายเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือบทเรียนคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบทดสอบหลังเรียนจำนวน 90 ข้อซึ่งมีการนำไปหาค่าความเชื่อมั่นและแบบประเมินบทเรียนคอมพิวเตอร์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ยและค่าร้อยละผลการวิจัยได้บทเรียนคอมพิวเตอร์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับงานโรงแรมสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีคุณภาพในระดับดีมากและมีประสิทธิภาพ 85.73/89.08 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

     จินตนา พันจันดา (2551) ได้ทำวิจัยเรื่องการสร้างบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายเรื่องการตัดเย็บเสื้อเชิ้ตสตรีสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายเรื่องการตัดเย็บเสื้อเชิ้ตสตรีสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียนให้เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 และเพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนในการเรียนเสื้อเชิ้ตสตรีผ่านบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายกลุ่มประชากรเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 แผนกวิชาผ้าและเครื่องแต่งกายสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ภาคเรียนที่ 3 ปีการศึกษา 2550 จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายเรื่องการตัดเย็บเสื้อเชิ้ตสตรีสร้างบทเรียนโดยใช้โปรแกรม Dreamweaver เวอร์ชั่น CS3 แบบทดสอบความรู้แบบประเมินทักษะการปฏิบัติของผู้เรียนและแบบสอบถามความคิดเห็นต่อการใช้บทเรียนการวิเคราะห์ข้อมูลหาประสิทธิภาพของบทเรียนและวิเคราะห์ความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อบทเรียนใช้ค่าร้อยละค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1)ได้การสร้างบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายแบ่งบทเรียนออกเป็น4 บทได้แก่ความรู้ทั่วไปของเสื้อเชิ้ตสตรีการสร้างและแยกแบบตัดเสื้อเชิ้ตสตรีการเตรียมผ้าและการวางแบบตัดและขั้นตอนและเทคนิคการเย็บเสื้อเชิ้ตสตรีบทเรียนประกอบไปด้วยวัตถุประสงค์ของบทเรียนเนื้อหาประจำบทเรียนแบบทดสอบท้ายบทและแบบฝึกทักษะการปฏิบัติหลังการศึกษาแต่ละบทแล้วมีแบบทดสอบท้ายบทและแบบฝึกทักษะการปฏิบัติในบทนั้นๆโดยผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 ขึ้นไป 2) บทเรียนอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 87.85/90.36 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ 80/80และ 3)นักศึกษาส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายมีความเหมาะสมในการนำเสนอบนเครือข่ายมีความน่าสนใจโดยภาพรวมแล้วนักศึกษามีความเห็นว่าด้านเนื้อหาสาระของบทเรียนอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.40 สามารถนำไปศึกษาได้ในช่วงเวลาและสถานที่ตามต้องการและสามารถนำความรู้จากบทเรียนฯไปประยุกต์ใช้ในการตัดเย็บเสื้อผ้าได้จริง

     ดวงดาว อุบลแย้ม (2549) ได้ทำวิจัยเรื่องการพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของสื่อการเรียนการสอนเรื่อง “หลักการและเทคนิคการดูแลบาดแผล” ด้วยระบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ Atutor สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 2 การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของสื่อการเรียนการสอนเรื่องหลักการและเทคนิคการดูแลบาดแผลด้วยระบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ Atutor (Atutor Learning Management System) สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 2 โดยกระบวนการของการผลิตสื่อในด้านเนื้อหาของสื่อจะแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่การดูแลบาดแผลการตัดไหมและการพันผ้าและได้นำไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาตรวจสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหาหลังจากนั้นได้นำเนื้อหาไปดำเนินการผลิตสื่อซึ่งในแต่ละหัวข้อจะนำเสนอสื่อในรูปของสไลด์และวีดิทัศน์และนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษาประเมินคุณภาพของสื่อส่วนกระบวนการทดลองได้นำสื่อไปทดลองใช้กับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ปีการศึกษา 2548 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสระบุรีจำนวน 45 คนจากจำนวนนักศึกษาทั้งหมด 105 คนโดยวิธีการสุ่มอย่างง่ายกระบวนการนำสื่อการเรียนการสอนไปทดลองใช้ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ1)สุ่มกลุ่มตัวอย่าง 3 คนศึกษาบทเรียนและสัมภาษณ์เพื่อปรับปรุง2)สุ่มกลุ่มตัวอย่าง 12 คนศึกษาบทเรียนทำแบบฝึกหัดและแบบทดสอบเพื่อหาแนวโน้มของประสิทธิภาพของสื่อสัมภาษณ์และปรับปรุงแก้ไขบทเรียนและ 3)สุ่มกลุ่มตัวอย่าง 30 คนศึกษาบทเรียนทำแบบฝึกหัดและแบบทดสอบเพื่อหาประสิทธิภาพของสื่อเครื่องมือที่ใช้ในการทดลองได้แก่ระบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ Atutor เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลประกอบด้วยแบบฝึกหัดแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ภายหลังเรียนและแบบประเมินคุณภาพของสื่อด้านเนื้อหาและด้านเทคโนโลยีการศึกษาสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือร้อยละและค่าเฉลี่ยซึ่งนำมาใช้ในการคำนวณหาประสิทธิภาพของสื่อโดยคำนวณจากคะแนนเฉลี่ยของจำนวนข้อที่นักศึกษาตอบถูกคะแนนเต็มของแบบฝึกหัดและแบบทดสอบจำนวนนักศึกษาแล้วนำมาคำนวณเป็นร้อยละผลการวิจัยครั้งนี้พบว่าได้สื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพด้านเนื้อหาและเทคโนโลยีการศึกษาอยู่ในระดับดีมากและดีตามลำดับโดยมีประสิทธิภาพE1/E2 คือผลจากการทดสอบระหว่างเรียนE2 คือผลจากการทดสอบหลังเรียน 89.56/85.00 เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 จากผลการวิจัยเสนอแนะว่าสามารถนำสื่อการเรียนการสอนออนไลน์เรื่อง “หลักการและเทคนิคการดูแลบาดแผล” ให้นักศึกษาใช้เป็นสื่อในการเรียนเสริมได้ด้วยตนเองเพื่อช่วยให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจในบทเรียนเพิ่มมากขึ้น

     น้ำมนต์ เรืองฤทธิ์ (2546) ได้ทำวิจัยเรื่องการพัฒนาบทเรียนผ่านเว็บวิชาเทคโนโลยีการถ่ายภาพเรื่องกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์ในการถ่ายภาพสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีภาควิชาเทคโนโลยีทางการศึกษาคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพาวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพบทเรียนผ่านเว็บที่สร้างขึ้นตลอดจนเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังตัวอย่างคือนักศึกษาชั้นปีที่ 2ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2546 ภาควิชาเทคโนโลยีทางการศึกษาคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพาโดยการสุ่มอย่างง่ายจำนวน 30 คนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย1) แบบสอบถามเทคนิคเดลฟายสำหรับสร้างบทเรียนผ่านเว็บ 2) บทเรียนผ่านเว็บเรื่องกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์ในการถ่ายภาพ” 3) แบบประเมินคุณภาพบทเรียน และ 4) แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและแบบวัดความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียนการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่ามัธยฐานและพิสัยระหว่างควอไทล์เพื่อการวิเคราะห์แบบสอบถามเทคนิคเดลฟายใช้ค่าเฉลี่ยในการหาคุณภาพบทเรียนผ่านเว็บและใช้ Paired samples t – test เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังจากการศึกษาบทเรียนผ่านเว็บที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นผลการวิจัยพบว่าประสิทธิภาพของบทเรียนผ่านเว็บที่สร้างขึ้นมีค่า 81.8/80 บทเรียนมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 29.8 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาหลังเรียนแตกต่างก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากคะแนนเต็ม 40 คะแนนพบว่าคะแนนหลังเรียนค่าเฉลี่ยเท่ากับ 29.8 สูงกว่าคะแนนก่อนเรียนค่าเฉลี่ยเท่ากับ17.9 และความคิดเห็นของนักศึกษาจากคะแนนเต็ม 5 คะแนนที่มีต่อบทเรียนผ่านเว็บอยู่ในระดับดีมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.07

     วรวุฒิ มั่นสุขผล (2545) ได้ทำวิจัยเรื่องการพัฒนาบทเรียนบนเว็บวิชาคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษางานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบทเรียนบนเว็บและศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือนักศึกษาระดับปริญญาตรีคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากรที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2545 จำนวน 25 คนใช้วิธีทดลองโดยให้นักศึกษาทำการเรียนบทเรียนบนเว็บใช้ระยะเวลาในการทดลอง 4 สัปดาห์ๆละ2 คาบ คาบเรียนละ 50 นาทีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1)บทเรียนบนเว็บวิชาคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา 2)แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3)แบบสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและ4)แบบประเมินคุณภาพของบทเรียนบนเว็บการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคเดลฟาใช้มัธยฐานและพิสัยระหว่างควอไทล์สำหรับวิเคราะห์แบบสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและใช้ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในการหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้1)ประสิทธิภาพของบทเรียนบนเว็บมีค่า82.40/84.4422) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการเรียนด้วยบทเรียนผ่านเว็บหลังเรียนค่าเฉลี่ยเท่ากับ22.24 สูงกว่าก่อนเรียนค่าเฉลี่ยเท่ากับ 18.80โดยมีผลต่างเท่ากับ 3.44(ร้อยละ17.2)จากคะแนนเต็ม 20

ผลงานวิจัยต่างประเทศ

     Rendall, Lisa Tall (2001) ได้ทำวิจัยเรื่องการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ระหว่างการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน กับการเรียนด้วยวิธีการสอนแบบปกติในวิชาพีชคณิต และเรขาคณิตกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย จำนวน 80 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และกลุ่มควบคุมเรียนด้วยวิธีการสอนแบบปกติผลการวิจัยพบว่าคะแนนทดสอบหลังเรียนของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01และยังพบว่าเพศหญิงมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเวลาในการปฏิบัติภาระงานสูงกว่าเพศชายอย่างนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05

     Tyanandother (2000) ได้ทำวิจัยเรื่องการใช้การติดต่อสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ในระดับอุดมศึกษาภาคเอกชนของไต้หวัน ด้วยการจัดระบบการศึกษาที่นำเอา CMC (Computer Mediated Communication) มาพัฒนาในการจัดสภาพแวดล้อมทางการศึกษาด้วยอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาคุณภาพการศึกษา นักเรียนแต่ละคนต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนจะใช้การอภิปรายแบบเผชิญหน้าในห้องเรียนแบบปกติ ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้แบบร่วมมือกัน และการเรียนรู้โดยผู้เรียนเองได้เป็นอย่างดี

     Lang (1997, p.3505) ได้ทำวิจัยเรื่องการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบสื่อทางไกลในการศึกษาของนักเรียนชั้นปีที่1 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างในภาควิชาภาษาอังกฤษจำนวน 300 คน ผลการวิจัยพบว่าการใช้นวัตกรรมทางการศึกษาแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบสื่อทางไกลในการศึกษาช่วยให้มีผลการเรียนที่ดี

     Schoon (1997) ได้ทำวิจัยเรื่องประสิทธิภาพของการกำหนดเส้นทางในการสืบค้นข้อมูลบนเวิลด์ไวด์เว็บที่มีรูปแบบการเชื่อมโยง (Link) ที่แตกต่างกันรวมทั้งพิสูจน์ความแตกต่างระหว่างการมีประสบการณ์และการไม่มีประสบการณ์ของผู้ใช้ในด้านประสิทธิภาพในการสืบค้นด้วยรูปแบบโครงสร้างที่แตกต่างกันผลการวิจัยพบว่ารูปแบบของเว็บไซต์ที่มีการสืบค้นแบบดาว (Star) และแบบลำดับขั้น (Hierarchy) มีประสิทธิภาพในการสืบค้นข้อมูลมากกว่าแบบเส้นตรง (Linear) และแบบเรียงลำดับ (Sequential) นอกจากนี้พบว่าเพศหญิงใช้เวลาในการสืบค้นข้อมูลมากกว่าเพศชายและเพศหญิงที่มีประสบการณ์น้อยกว่าเพศชายมักจะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่และเข้าไปสืบค้นใหม่อยู่บ่อยครั้ง

     Houston(1986, p.1-39) ได้ทำวิจัยเรื่องการเปรียบเทียบการสอนโดยการใช้โปรแกรมสไลด์เทปและการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเพื่อสอนนักเรียนพยาบาลเรื่องกระดูกโดยให้กลุ่มทดลองเรียนด้วยคอมพิวเตอร์และกลุ่มควบคุมเรียนด้วยสไลด์เทปและทำการทดสอบทันทีหลังจบบทเรียนและทดสอบซ้ำอีกครั้งหลังจาก 6 สัปดาห์ผ่านไปแล้วโดยใช้โปรแกรมทดสอบแบบเดิมผลปรากฏว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในการทดสอบครั้งแรกระหว่าง 2 กลุ่มพบว่ากลุ่มที่เรียนโดยการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มที่เรียนโดยใช้โปรแกรมสไลด์เทปอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ.01 ส่วนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ทดสอบครั้งที่ 2 ไม่ได้แสดงความแตกต่างอย่างนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01

     จากการศึกษาเอกสารและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่าการใช้บทเรียนเว็บช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยสอนแบบในห้องเรียนปกติหรือใช้แบบสื่อทางไกลมีผลช่วยทำให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสามารถของตนและไม่จำกัดเวลาและสถานที่สื่อการเรียนสามารถแสดงได้ทั้งภาพนิ่งวีดิทัศน์ ภาพเคลื่อนไหวและเสียงจึงทำให้เสริมแรงจูงใจในการเรียนซึ่งส่งผลต่อผู้เรียนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อบทเรียนเว็บช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนสูงขึ้นเพราะมีการทำแบบทดสอบก่อนเรียน แบบฝึกหัดระหว่างเรียน แบบทดสอบหลังเรียน อีกทั้งมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและบทเรียนทำให้เกิดความรู้จากเนื้อหา และทักษะจากการฝึกปฏิบัติไปด้วย ทำให้ผู้เรียนมีความสามารถปฏิบัติงานจริงได้ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้พัฒนาบทเรียนเว็บช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาการใช้โปรแกรมกราฟิก สำหรับนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพของนักเรียนชั้นปีที่ 2 แผนกวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรีเพื่อให้ได้บทเรียนที่มีประสิทธิภาพมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนที่สูงขึ้น และผู้เรียนมีความพึงพอใจกับบทเรียนซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้