บทความวิจัย
เรื่อง การสร้างหนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
พล หิรัณยศิริ *
หนังสือการ์ตูน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีบทบาทในการนำเสนอความรู้ด้วยภาพที่มีลักษณะพิเศษ สำหรับคำบรรยายหรือตัวหนังสือในหน้าหนังสือแบบนี้จะยังคงวางอยู่บนพื้นราบที่เหมาะสมของหน้าหนังสือ (หทัย,2529: 14) ดังที่มณีรัตน์ (2537: 5) กล่าวว่า “รูปแบบของหนังสือการ์ตูนเป็นจุดเด่นที่ทำให้เด็กสนใจ โดยเฉพาะการสื่อความหมายด้วยภาพ แม้แต่เด็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกก็สามารถลำดับเรื่องได้จากภาพ” รวมทั้ง จินตนา (2534: 57) ยังได้กล่าวถึงหนังสือการ์ตูนไว้ดังนี้ มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่ง ที่คนในวงการหนังสือสำหรับเด็กยอมรับ คือ การ์ตูนอยู่คู่กับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนทีวี การ์ตูนภาพยนตร์และหนังสือการ์ตูน ทั้งที่อยู่ในรูปแบบหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารและการ์ตูนเล่มล้วนแล้วแต่ได้รับอย่างปรีดิ์เปรมจากผู้ดูผู้อ่านในวัยเยาว์ทั้งสิ้น และล่าสุดญี่ปุ่นได้พัฒนารูปแบบการ์ตูน และใช้เทคนิคหลายอย่างที่จะ ผันแปรการ์ตูนให้เป็นสื่อความรู้ เช่นเดียวกับหนังสือเรียนและหนังสือตำรับตำราวิชาการสูงๆทั้งหลายไปแล้วเมื่อเป็นเช่นนี้ การ์ตูนจึงเป็นเรื่องน่าศึกษามาก โดยเฉพาะเมื่อการ์ตูนได้ถูกนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนอย่างหนึ่งในโรงเรียน ดังนั้น สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือการ์ตูนภาพสามมิตินี้ เป็นสื่อที่มีต้นทุนในการผลิตไม่สูงนัก อีกทั้งเป็นสื่อที่ใช้ได้สะดวกทุกสถานที่ เก็บรักษาง่าย มีอายุการใช้งานได้นาน และเป็นสื่อที่ช่วยพัฒนาทักษะในการอ่าน รวมทั้งยังช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เด็กด้วย
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างหนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานส่งเสริมคุณธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) เปรียบเทียบคะแนนทดสอบก่อนเรียนกับคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยหนังสืออ่านเสริมการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรมชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อหนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรมชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4 ที่สร้างขึ้น
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 30 คน ที่เรียนอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 โรงเรียนชุมทางตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ หนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินคุณภาพของผู้เชี่ยวชาญ และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อหนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรม สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t – test
ผลจากการวิจัยครั้งนี้ ทำให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีทักษะในการเรียนรู้คำศัพท์และเข้าใจเนื้อเรื่องจากหนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานส่งเสริมคุณธรรมมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยให้นิยามศัพท์เฉพาะเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ดังนี้
1. หนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูน หมายถึง หนังสือการ์ตูนที่มีเนื้อหาสาระอิงหลักสูตร วิชา สังคมศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยสร้างให้เนื้อหามีความน่าสนใจและเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน โดยมีลักษณะเป็นภาพการ์ตูนที่ใช้ประกอบเนื้อหา ใช้อธิบายข้อความเพื่อความเข้าใจของผู้อ่านง่ายขึ้น
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง ความรู้ความสามารถทางการเรียน ซึ่งวัดผลจากคะแนนที่ได้จากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน เปรียบเทียบหลังเรียนจากการใช้หนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูน กลุ่มสาระการเรียน สังคมศึกษา ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นและผ่านการหาประสิทธิ์ภาพตามเกณฑ์ 80 /80 มาแล้ว
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ได้สร้างและพัฒนาหนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนส่งเสริมคุณธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
2. ได้สื่อสิ่งพิมพ์ที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน มีความกระตือรือร้น และสนใจค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตนเองสอดคล้องกับแนวคิดการศึกษาสมัยใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยผู้เรียนสามารถเรียนรู้เองได้ตลอดเวลา ตามความสามารถของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
กรอบแนวคิดในการวิจัย
สรุปผลการวิจัย
1. หนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้ผ่านการประเมินคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเนื้อหา และด้านสื่อการเรียนการสอน ผลปรากฏว่าด้านเนื้อหาอยู่ในระดับดีมากมีระดับคะแนนเฉลี่ย 3.75 และด้านสื่อการเรียนการสอนอยู่ในระดับดี โดยมีระดับคะแนนเฉลี่ย 3.27
2. นักเรียนที่เรียนโดยใช้หนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อหนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรม ทั้ง 4 ด้านได้แก่ ด้านเนื้อหา รูปภาพ ภาษา และประโยชน์ที่ได้รับ นักเรียนมีความคิดเห็นอยู่ในระดับ ดีมาก โดยมีระดับคะแนนเฉลี่ย 3.66
ข้อเสนอแนะ
จากการวิจัยเรื่อง การสร้างหนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
ข้อเสนอแนะทั่วไป
1. ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่ใช้หนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ดังนั้นครูควรที่จะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมนี้ไปใช้ประกอบการเรียนการสอนควบคู่กับหนังสือเรียน เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กเข้าใจในเนื้อหาบทเรียนมากขึ้น หรือสามารถนำไปเป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนได้
2. ควรทดลองผลิตหนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรมใช้ประกอบการเรียนทุกวิชาและทุกระดับชั้นเรียน
3. หนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นหนังสือที่ส่งเสริมคุณธรรมการเรียนรู้ในกลุ่มสาระ ดังนั้นจึงสามารถนำไปใช้สอนนักเรียนเป็นรายบุคคลหรือกลุ่ม เนื่องจากภาพการ์ตูนส่งเสริมคุณธรรม สามารถช่วยสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนได้ง่ายขึ้น
4. การใช้ภาษาในหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาพการ์ตูนส่งเสริมคุณธรรม สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา 4 ควรใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัยของนักเรียน เป็นภาษาที่เข้าใจง่ายและมีภาพการ์ตูน ประกอบ จะทำให้นักเรียนเกิดความเพลิดเพลิน เกิดความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียนรู้
หนังสืออ่านเสริมภาพการ์ตูนนิทานเสริมคุณธรรม มิได้สื่อความหมายด้วยข้อความเพียงอย่างเดียว แต่ยังสื่อความหมายด้วยภาพ อีกทั้ง เนื้อเรื่องให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน เข้าใจง่าย รูปภาพมีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน และได้ข้อคิดที่สามารถนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ดังที่ จินตนา (ม.ป.ป.: 249 – 252) ได้อธิบายถึงคุณค่าของหนังสือภาพการ์ตูนในการเรียนการสอนไว้ว่า ใช้เป็นหนังสืออ่านเสริมหรือประกอบการเรียนการสอนในวิชาต่างๆดังที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่าในระยะหลังๆนี้ หนังสือภาพการ์ตูนนั้นได้รับการเลื่อนสถานะจากหนังสือเพื่อความบันเทิงมาสู่การเป็นหนังสือที่เป็นสื่อให้ความรู้โดยตรง นั่นคือหนังสือภาพการ์ตูนสามารถให้ความรู้วิชาต่างๆ อาทิเช่น วิชาพุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ สุขศึกษา วัฒนธรรมประเพณี วรรณคดี เป็นต้น วิชาเหล่านี้สามารถจะนำเนื้อหาซึ่งจัดเป็นหน่วยๆมาจัดทำเป็นภาพการ์ตูนประกอบการบรรยายด้วยคำพูดก็ได้ ซึ่งจะทำให้เด็ก ผู้อ่านได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินชวนอ่าน เพราะมีภาพประกอบคำบรรยายทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ง่าย และในขณะอ่านยังมีความเพลิดเพลินไปกับภาพด้วย
เอกสารอ้างอิง
ถวัลย์ มาศจรัส. 2538. เทคนิคและตัวอย่างการเขียนหนังสือส่งเสริมการอ่านและหนังสืออ่านเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: L.T. PRESS.
. 2540. การเขียนหนังสือส่งเสริมการอ่านและหนังสืออ่านเพิ่มเติม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: บริษัทเลิฟแอนด์ลิพเพรสจำกัด.
. 2545. การเขียนเชิงสร้างสรรค์เพื่อการศึกษาและอาชีพตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติและหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด.