เชาว์มนัส  ประภักดี


มองผลกระทบจากการสร้างวาทกรรมพม่าในละครอิงประวัติศาสตร์และเพลงปลุกใจ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันของคนในชาติ 

ณ ขณะนั้น หรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน

แต่

ชุดวาทกรรมดังกล่าว กลับกลายเป็นการแช่แข็งชุดความรู้ความจริง และนำเสนอภาพลักษณ์ของความเป็นพม่าที่เชื่อมโยงไปกับการเป็นผู้ร้ายให้กับคนในสังคมไทย ได้จดจำภาพลักษณ์ จนยากที่จะลบเลือน

“เสียงในความทรงจำกับการสร้างภาพลักษณ์ในเพลงปลุกใจหลวงวิจิตรวาทการ”

โดย เชาว์มนัส ประภักดี

อาจารย์ประจำวิทยาลัยการดนตรี

มหาวิทยาลัยราชภักบ้านสมเด้จเจ้าพระยา

 

    ในฐานะที่คุณเป็นคนไทยที่ถือกำเนิดบนผืนแผ่นดินไทยคนหนึ่ง คุณเคยสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของตัวคุณเองหรือเคยสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่รายล้อมรอบตัวคุณบ้างหรือไม่ ว่าเพราะเหตุใดหรือทำไมคุณและเขาเหล่านั้นจึงต้องมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมบางอย่างที่แสดงออกผ่านพฤติกรรมในรูปแบบต่างๆ ต่อคนอื่นหรือต่อเรื่องราวต่างๆ ที่คุณและเขาได้ปะทะในลักษณะที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอารมณ์ความรู้สึกร่วมที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นทางประวัติศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีชื่อว่า “พม่า” ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

    อรรถจักร   สัตยานุรักษ์ (๒๕๕๑) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นในเรื่องของการแสองออกทางอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคม ในที่นี้คือคนในสังคมไทยที่แสดงออกต่อคนอื่นที่ไม่ใช่คนไทย ว่าอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกระทั่งส่งผ่านมาในรูปแบบของพฤติกรรมนั้น ล้วนมีที่ไปที่มาหรือมีประวัติศาสตร์ในการสร้างหรือการทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมเหล่านั้นทั้งสิ้น อารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมนั้นมิได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ เพียงแต่เรานั้นอาจมิได้สำรวจ ตั้งคำถามหรือย้อนกลับไปพิจารณาถึงมูลเหตุที่ทำให้เราเกิดอารมณ์ความรู้สึกในลักษณะนั้นๆ อย่างลุ่มลึกเพียงพอ ซึ่งอรรถจักรเสนอว่าหากเราหวนกลับไปพิจารณาถึงกระบวนทางประวัติศาสตร์ที่มีส่วนอย่างมากต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทยในอดีต ที่ผู้คนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำได้เลือกที่จะบรรจุเนื้อหาหรือต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งทางประวัติศาสตร์(ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและถูกสร้างขึ้น) และกระทำการถ่ายทอดเนื้อหาเหล่านั้นผ่านเครื่องมือและสถาบันต่างๆ ให้กับคนในสังคม ดังนั้น เนื้อหาหรือข้อมูลในประวัติศาสตร์ที่ถูกคัดสรรและถ่ายทอดให้กับคนในสังคมนั้นๆ จึงได้กลายเป็นความทรงจำร่วมกันของคนในสังคมในยุคสมัยนั้นๆ หรือถูกสถาปนาให้เป็น “ความจริง” ซึ่งความจริงดังกล่าวมีผลอย่างมากต่อการก่อรูปสังคมให้ผู้คนในสังคมเป็นไปในรูปแบบที่สังคมต้องการหรือเป็นไปตามความคาดหวังที่สังคมหรือผู้มีอำนาจกำหนดเอาไว้ โดยที่คนในสังคมเองก็ยินดีที่จะรับเอาข้อมูลความรู้ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านั้นมาใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิต และนำไปสู่การกำหนดมโนทัศน์ แสดงออกผ่านอารมณ์ความรู้สึก กระทั่งนำไปสู่การคิด การตัดสินและแก้ไขปัญหาระหว่างตนเองกับคนอื่นๆ ในด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการในการสร้างความทรงจำร่วมหรือการสร้างประวัติศาสตร์ดังกล่าว ถือเป็นเรื่องปกติของมนุษยชาติที่จะต้องกระทำการสร้างสรรค์ ผลิตซ้ำและสืบทอดเรื่องราวต่างๆ ให้แก่คนในสังคมในแบบฉบับที่คนในสังคมเห็นพร้องต้องกัน เพื่อเป็นพลวัตรในการขับเคลื่อนสังคมให้ดำรงอยู่ได้

แม้กระบวนการสร้างประวัติศาสตร์หรือการสร้างความทรงจำร่วมจะมีผลดีอยู่ในหลายกรณีในหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เช่น การรวมศูนย์กลางอำนาจในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อใช้ให้อาณาจักรผ่านพ้นการตกเป็นเมืองอาณานิคมจากมหาอำนาจตะวนตก การปรับปรุงประเทศในสมัยเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองหลังปี พ.ศ.๒๔๗๕ แต่ในขณะเดียวกันกระบวนการสร้างความทรงจำร่วมดังกล่าวกลับเป็นการแช่แข็งเรื่องราวหรือข้อมูลข้อเท็จจริงบางประการที่หยุดนิ่ง ไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนหรืออธิบายให้สอดคล้องตามยุคสมัยและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือในหลายครั้งเรื่องราวที่ได้ถูกประกอบสร้างขึ้นโดยกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจในการสร้างความจริงหรือความชอบธรรมให้แก่กลุ่มของตน ที่ได้ส่งผ่านกระบวนการทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นผ่านสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมในการตอบสนองอุดมการณ์หรือตามความต้องการที่แตกต่างกันออกไป โดยมิได้คำนึงถึงกลุ่มคนอื่นๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายในสังคมแห่งความเป็นจริง ดังนั้นจึงส่งผลนำไปสู่การทำให้เกิดปัญหาทั้งในระดับคนกับคน สังคมกับสังคม และระดับประเทศกับประเทศ ดังหลากหลายกรณีปัญหาที่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งล้วนมีต้นสายปลายเหตุส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมกันที่เปิดพื้นที่ให้เฉพาะกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มิได้มีพื้นที่ให้กับคนอื่นหรือมิหนำซ้ำเนื้อหาในประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านั้น ยังถูกสร้างให้มีเนื้อหานำไปสู่การสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นอื่นหรือเป็นศัตรูให้กับผู้คนกลุ่มต่างๆ จนกระทั่งสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับผู้คนทั้งในอดีตกระทั่งถึงปัจจุบัน

ดังกรณีตัวอย่างในบทความนี้ที่ผู้เขียนต้องการทำความเข้าใจกับอารมณ์ความรู้สึกขัดแย้งของคนไทยที่มีต่อคนพม่าหรือประเทศพม่า ที่ผู้เขียนมีสมมุติฐานว่า อารมณ์ความรู้สึกขัดแย้งของคนไทยที่มีต่อคนพม่านั้น มิได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ แต่อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวล้วนมีที่มาและมีประวัติศาสตร์ในการสร้างความรู้ หรือข้อเท็จจริงบางประการให้ฝังอยู่ในมโนทัศน์และแสดงออกเป็นความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของคนไทย ที่ถูกนำเสนอผ่านสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่นี้คือ การเพ่งพินิจไปที่สัญลักษณ์ทางการเมืองที่เรียกว่า “ดนตรี”

คุณสมบัติพิเศษด้านสุนทรียะของศาสตร์ที่ว่าด้วยดนตรี ที่มีอำนาจในการเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกกระทั่งชี้นำความคิดของผู้คนที่ได้สัมผัสด้วยโสตศิลป์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสอดแทรกเนื้อหาและข้อเท็จจริงบางประการทางประวัติศาสตร์ให้มีขนาดที่สั้นกะทัดรัด ทำให้ผู้ที่รับรู้รับฟังสามารถเข้าใจและเข้าถึงสารที่ศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์ผลงานถ่ายทอดออกมาได้อย่างง่ายดาย ซึ่งประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับความคิดที่ว่า “ประวัติศาสตร์ยิ่งมีขนาดยาวเท่าไร ก็ยิ่งมีอายุสั้นเท่านั้น” (Burckhardt, 1950, น.24 อ้างถึงใน สุเทพ สุนทรเภสัช, 2548, น.44) ดังนั้นการย่นย่อประวัติศาสตร์ให้สั้นและเข้าใจง่าย โดยการนำเสนอในรูปของสัญลักษณ์ผ่านการแสดงผลงานดนตรี จึงถือเป็นกุศโลบายอันทรงประสิทธิภาพของมนุษย์ที่จะช่วยให้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ตนสร้างขึ้นนั้นมีอายุยืนยาวขึ้น หรืออาจเป็นเพราะผลงานศิลปะคืออาหารของจิตใจ ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถจับต้องได้ แต่ก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดขึ้นแก่ผู้รับได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงทำให้เรื่องราวที่บอกเล่าผ่านงานศิลปะจึงสามารถแทรกซึมเข้าสู่จิตใต้สำนึกของมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว ไร้ซึ่งข้อสงสัยหรือการตั้งคำถาม และติดตรึงใจยากแก่การที่จะลืมเลือน (กิตติ  คงตุก, 2557) โดยบทความนี้จะยกตัวอย่างการศึกษาผลงานดนตรีของหลวงวิจิตรวาทการ ที่เรียกว่า “เพลงปลุกใจ” ซึ่งมีประวัติศาสตร์ของการประกอบสร้างเนื้อหาและข้อมูลความจริงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพม่า โดยที่เนื้อหาในบทเพลงดังกล่าวนั้นถือว่ามีพลวัตที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดความรู้ ความจริงของคนในสังคมไทยที่มีต่อคนพม่า และผลิตซ้ำความรู้ ทัศนคติ รวมถึงปลูกฝังค่านิยมแห่งอคติให้เกิดขึ้นกับคนในรัฐไทยที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่าและคนพม่า

“หลวงวิจิตรวาทการ” เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากหลังยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร์ หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญที่หลวงวิจิตรวาทการได้ประดิษฐ์และร่วมคิดค้นขึ้น โดยมีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดและวางแบบแผนให้กับคนในชาติได้ประพฤติปฏิบัติตาม อาทิ รัฐนิยม กฎหมาย ระเบียบ แบบแผน จารีต บทลงโทษ ฯลฯ แล้วนั้น ผลงานด้านศิลปกรรมโดยเฉพาะด้านดนตรีประเภทเพลงปลุกใจ นับเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อถ่ายทอดข้อมูลและอุดมการณ์ของรัฐให้เกิดขึ้นกับประชาชนในยุคชาตินิยม ผลงานด้านดนตรีที่ถูกผลิตขึ้นเป็นบทเพลงต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอยู่ในละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องต่างๆ นั้น ล้วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุดมการณ์รัฐให้กับประชาชนในชาติได้เกิดความรักชาติ เคารพและเทิดทูลต่อสัญลักษณ์ต่างๆ ทางวัฒนธรรมที่รัฐเป็นผู้สร้างและกำหนดขึ้น ซึ่งเราคงจะปฏิเสธมิได้ว่าสัญลักษณ์ทางการเมืองเหล่านี้ แม้หลายส่วนจะมีประโยชน์และเกิดคุณูปการต่อประเทศชาติให้ผ่านพ้นภัย แต่จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ถูกผลิตขึ้นในยุคสมัยดังกล่าวพบว่า สัญลักษณ์ทางการเมืองหลายชนิดที่ถูกผลิตขึ้นในยุคสมัยการปกครองแผ่นดินโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเฉพาะจากหลวงวิจิตรวาทการและคณะ ที่มีส่วนในการกำหนดแบบแผนให้กับผู้คนและชาติในขณะนั้น ได้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ส่งผลเสียและสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับผู้คนกลุ่มต่างๆ สืบเนื่องมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์จากส่วนกลางหรือกลุ่มที่ถูกนิยาม กำหนดคุณค่าและความหมายจนกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ผิดปรกติจากประชาชนหลักของประเทศ และกลุ่มอื่นๆ ที่รัฐขนานนามว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องหรือประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัญหาดังกล่าวล้วนเกิดขึ้นจากการเสพข้อมูลที่มีนัยยะสื่อถึงการสร้างความขัดแย้งระหว่าง “เรา” และ “เขา” ซึ่งปรากฏอยู่ในผลงานด้านดนตรีของหลวงวิจิตรวาทการ จนกระทั่งกลายเป็นวาทกรรมแห่งความขัดแย้งที่ยังคงถูกนำมาผลิตซ้ำเพื่อถ่ายทอดอุดมการณ์ชาตินิยมอยู่ตลอดเวลา

จากการทบทวนผลงานด้านดนตรีของหลวงวิจิตรวาทการและทบทวนวรรณกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างมโนทัศน์ของคนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การศึกษาแบบเรียนประวัติศาสตร์ของไทย ที่ผู้เขียนนิยามว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการกำหนดความรู้ความจริงและนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงให้กับคนในสังคมได้มีทัศนคติไปในทิศทางตามที่แบบเรียนต้องการ ในชื่องานศึกษาชาตินิยมในแบบเรียนไทย โดยสุเนตร ชุตินธรานนท์และคณะ (๒๕๕๒), ประอรรัตน์ บูรณมาตร์ ในงานศึกษาเรื่องหลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์ (๒๕๒๘), กฤตยา  อาชวนิจกุลและคณะ ในชุดโครงการศึกษา จินตนาการความเป็นไทย (๒๕๕๑), สายชล สัตยานุรักษ์ ในงานศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงในการสร้างชาติไทยและความเป็นไทยโดยหลวงวิจิตรวาทการ (๒๕๔๕) และนิธิ เอียวศรีวงศ์ กับงานการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ชาติปัญญาชน(๒๕๔๘) เป็นต้น ผู้เขียนพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์พม่า ถือเป็นกลุ่มผู้คนที่ถูกนิยามหรือถูกสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นศัตรูของชาติไทย โดยเฉพาะการที่กลุ่มพม่าถูกบันทึกอยู่ในเรื่องราวที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สงครามของชาติไทยในอดีต กระทั่งกลุ่มพม่าได้ถูกนิยามว่าเป็นผู้ร้ายหรือเป็นศัตรูของชาติ โดยกระบวนการผลิตซ้ำผ่านข้อมูลต่างๆ ในสังคมกระแสหลัก เช่น หนังสือ ตำรา สถานศึกษา ภาพยนตร์ ละคร เรื่องเล่า ตำนาน อนุสาวรีย์ และในที่นี้คือดนตรี ทั้งที่ในความเป็นจริงกลุ่มชาติพันธุ์พม่าหรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศพม่าที่ได้อพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้ามาสู่ประเทศไทยทั้งก่อนหน้าที่จะมีการก่อตั้งประชาคมอาเซียนกระทั่งมีการก่อตั้งอย่างเป็นทางการนั้น มีอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวพม่าถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาคแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานประมง การเกษตร แม่บ้าน และพนักงานรับจ้าง ฯลฯ ข้อมูลจากเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ที่ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากรแรงงานข้ามชาติซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๕๖ ซึ่งได้ประมาณการแรงงานข้ามชาติจำนวน ๓ สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา ในประเทศไทย ว่าในปัจจุบันมีประมาณแรงงานถึง ๒ – ๒.๕ ล้านคนเป็นอย่างต่ำ ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เคยได้รับการจดทะเบียนและเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมายในช่วงต้นปี ๒๕๕๕โดยแรงงานจำนวนดังกล่าวนี้ เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าประมาณ ๘๔% กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร ได้ปรากฏแรงงานข้ามชาติชาวพม่าอยู่เป็นจำนวนมาก กลุ่มแรงงานต่างๆ เหล่านี้มีการรวมตัวกันเพื่อพักอาศัยตามชุมชนต่างๆ ในจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับมีการธำรงรักษาและปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนเองในมิติต่างๆ เพื่อความอยู่รอดและการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้การปกครองของรัฐบาลไทย (ขวัญจิต  ศศิวงษาโรจน์, ๒๕๕๖) ซึ่งจากข้อมูลที่ได้นำเสนอให้เห็นถึงจำนวนและความสำคัญของกลุ่มคนชาวพม่าที่ถือว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของชาติไทย จึงถือเป็นความท้าทายของแวดวงวิชาการโดยเฉพาะรัฐบาลที่จะร่วมรณรงค์ในการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างคนไทยกับคนพม่า ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริงของผู้คน

บริบททางสังคมในยุคการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีของหลวงวิจิตรวาทการ

ภายใต้บริบทของการผันแปรของอำนาจการปกครองแผ่นดินที่เปลี่ยนผ่านจากฐานอำนาจเดิมซึ่งเคยแฝงอยู่กับสถาบันกษัตริย์และกลุ่มเจ้านายชั้นสูง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมโครงสร้างทางสังคมของสยามมาอย่างยาวนาน และถือเป็นพระราชอำนาจโดยชอบธรรมตามสิทธิอำนาจบารมีที่ถูกกำกับไว้โดยชาติกำเนิดและประเพณี มาสู่กลุ่มอำนาจใหม่ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มคณะราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ที่มองว่าการปกครองในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เคยมีมาตั้งแต่ครั้งเก่าก่อนนั้น มิได้สร้างความชอบธรรมและเป็นประโยชน์สูงสุดให้กับมหาชน อีกทั้งยังมีการอิงอำนาจประโยชน์กับกลุ่มเจ้านายเป็นหลัก ดังนั้น  คณะราษฎร์จึงมีมติเห็นสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อให้ประโยชน์สุขเกิดขึ้นแก่มหาชนอย่างเท่าเทียมภายใต้กรอบคิดที่เรียกว่าประชาธิปไตย อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นอารยะของประเทศชาติที่มีความเจริญเทียบเท่ากับชาติตะวันตก ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนั้น

หลวงวิจิตรวาทการ บุคคลผู้ความสำคัญยิ่งต่อรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เนื่องจากเป็นผู้ร่วมวางรากฐานและดำเนินนโยบายในการเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ผลิตขึ้นจากรัฐบาลแล้วนำไปเผยแพร่สู่ประชาชนในรัฐ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีความสำคัญในการปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทและหน้าที่ความเป็นพลเมืองที่ตะหนักถึงความเป็นไทยและชาติไทย โดยเฉพาะการเบี่ยงเบนความสนใจและความคิดที่ถูกสร้างมาจากการเขียนประวัติศาสตร์ในอดีตว่า ชาติ กับ พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งเดียวกัน (สายพิน  แก้วงามประเสริฐ, ๒๕๓๘: ๒๑๗) ผ่านการใช้เครื่องมือชิ้นสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรม บทบาทของหลวงวิจิตรวาทการคือ การทำหน้าที่ ปลูกต้นรักชาติในจิตใจให้แก่ประชาชนชาวไทย ซึ่งจะเห็นได้จากผลงานต่างๆ ดังเช่น การประพันธ์บทละครประวัติศาสตร์และบทเพลงที่มีเนื้อหาในการปลุกเร้าจิตใจประชาชนให้เล็งเห็นความสำคัญของประเทศชาติ หรือการได้เป็นผู้จัดตั้งสถาบันหลักในสังคม เพื่อทำหน้าที่สนองนโยบายรัฐบาลและกล่อมเกลาจิตใจให้กับประชาชนโดยใช้กิจกรรมบันเทิงเป็นเครื่องมือ ได้แก่ โรงเรียนนาฏดุริยางค์ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ  และกรมศิลปากร ผลงานของหลวงวิจิตรวาทการได้ถูกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ ในหนังสือวิชาการ คำบรรยายหรือปาฐกถา และเพลงปลุกใจ ทั้งนี้ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งมีอำนาจในการควบคุมสื่อและสามารถถ่ายอุดมการณ์และนโยบายชาตินิยมให้เข้าถึงจิตใจของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและสัมฤทธิ์ผลอย่างมาก (ชนิดา พรหมพยัคฆ์, ๒๕๔๖: ๑๕๓)

บทบาทในการปลูกต้นรักชาติของหลวงวิจิตรวาทการภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผ่านผลงานด้านศิลปกรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี พ..๒๔๗๗ เมื่อท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ผลงานด้านศิลปกรรมประเภทบทละครสำหรับใช้ในการแสดงละคร ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกผลิตขึ้นอย่างมากมาย ได้แก่ บทละครเรื่องใหญ่ จำนวน ๒๒ เรื่อง บทละครเรื่องเล็ก จำนวน ๑๘ เรื่อง นวนิยายขนาดต่างๆ จำนวน ๘๔ เรื่อง รวมถึงผลงานด้านอื่นๆ อีกมากมายที่ถูกผลิตขึ้นจากหลวงวิจิตรวาทการแล้วถ่ายเนื้อหาผ่านสถาบันต่างๆ ในสังคม ล้วนแฝงไว้ด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์ให้คนในสังคมไทยขณะนั้นเกิดความตระหนักถึงบทบาทของความเป็นไทย ที่จะต้องมีความเชื่อถือ ศรัทธาและปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นพลเมืองของชาติตามที่รัฐบาลต้องการ

อุดมการณ์ในการสร้างชาติที่ตกทอดมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ได้ยกภาพของพม่ามาใช้เป็นศัตรูของชาติ ที่มีชนชั้นปกครองเป็นผู้ดำเนินการ โดยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์สืบเนื่องมาเป็นรูปธรรมดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และถูกสานต่อมายังตำราทางประวัติศาสตร์เล่มแรกของชาติคือ ไทยรบพม่า  อันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กลายเป็นมรดกตกทอดของความรู้ที่มีผลต่อการต่อยอดความคิดของปัญญาชนรุ่นต่อมาในการผลิตซ้ำภาพลักษณ์เดิมของความเป็นพม่าที่เป็นศัตรูของชาติ ผ่านแบบเรียนชื่อหลักไทยของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนนาคพันธุ์) และได้แพร่กระจายกรอบคิด ข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ผ่านองค์กรและสถาบันการศึกษาในรายวิชาที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ บทบาทหน้าที่ของพลเมือง วรรณกรรม ฯลฯ กระทั่งสืบเนื่องมาถึงผลงานของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งจากผลงานด้านศิลปกรรมของหลวงวิจิตรวาทการกว่า ๘๔ ผลงานนั้น ละครอิงประวัติศาสตร์ที่มีการประพันธ์ขึ้นโดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการสงครามระหว่างไทยพม่า พบว่ามีอยู่จำนวน เรื่อง ได้แก่ .พระนเรศวรประกาศอิสรภาพ (..๒๔๗๗) .เลือดสุพรรณ (..๒๔๗๙) .พระเจ้ากรุงธน (..๒๔๘๐) และ .ศึกถลาง (..๒๔๘๐) และมีเพลงปลุกใจที่ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการปลุกเร้าให้ละครเกิดความน่าสนใจ รวมทั้งปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกของคนดูและแผ่ขยายไปสู่คนในชาติให้เกิดความตระหนักถึงในลัทธิชาตินิยม ได้แก่ เพลงยากเย็น เพลงดวงจันทร์ เพลงมังราย และเพลงเลือดสุพรรณ (ละครเรื่องเลือดสุพรรณ) เพลงเมืองของเรา เพลงอยุธยา เพลงกรุงธนฯ เพลงธนบุรี และเพลงจีนไทยสามัคคี (ละครเรื่องพระเจ้ากรุงธน) เพลงคลื่นถลาง เพลงขวัญใจ เพลงชาวไร่ เพลงกราวถลาง เพลงตื่นเถิดชาวไทย เพลง  ศึกถลาง เพลงเเสงทินกร และเพลงแหลมทอง (ละครเรื่องศึกถลาง) ซึ่งในจำนวนเพลงปลุกใจที่ถูกบรรจุอยู่ในละครอิงประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ พบว่าเพลงต้นตระกูลไทย รักเมืองไทย เลือดสุพรรณ ตื่นเถิดชาวไทย แหลมทอง และกราวถลาง ถือเป็นบทเพลงที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมละครอิงประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการอย่างมาก กระทั่งบทเพลงดังกล่าวถูกนำไปใช้เผยเเพร่ในสื่อและโอกาสต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง

ภาพลักษณ์ของพม่าและผลการทบจากผลงานเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ

       การสร้างภาพลักษณ์ของพม่าผ่านผลงานดนตรีในเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ ถือเป็นกลไกที่สำคัญในการผลิตซ้ำตัวตนและโฉมหน้าของพม่าในบทบาทของผู้ร้ายของชาติไทยที่สืบเนื่องมาจากอดีต โดยตัวตนหรือภาพลักษณ์ของพม่าที่ถูกสร้างขึ้นจนกลายเป็นวาทกรรมในการกำหนดกรอบมโนทัศน์ของคนในชาติทั้งในอดีตและเนื้อหาอีกหลายส่วนที่ได้กลายเป็นมรดกทางความคิดฝังแน่นอยู่ในสำนึกของคนไทยในปัจจุบัน

       เพลงปลุกใจที่ปรากฏอยู่ในละครประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บทละครอิงประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการโดดเด่นและทำให้คนในสังคมขณะนั้นเกิดความเข้าใจประวัติศาสตร์ของชาติไทยตามประวัติศาสตร์ชาตินิยมของหลวงวิจิตรวาทการ (ประอรรัตน์  บูรณมาตร์, ๒๕๒๘: ๒๕๘) ดังนั้น เนื้อหาของบทเพลงจึงสอดคล้องกับเนื้อหาของบทละคร ซึ่งในละครแต่ละเรื่องที่มีเพลงปลุกใจประกอบอยู่นั้นได้นำเสนอตัวตนของคนพม่าด้วยการทำให้พม่ากลายเป็นศัตรูของชาติด้วยการผูกโยงเข้าเป็นเรื่องราว เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนไทย พอสรุปได้ ดังนี้ ๑. ละครเรื่องเลือดสุพรรณ ถึงแม้โดยความมุ่งหวังของหลวงวิจิตรวาทการที่ตั้งใจจะสร้างให้ละครดังกล่าวเป็นการสร้างความสามัคคีปรองดองระหว่างคนไทยและพม่า แต่นัยยะที่แฝงอยู่เบื้องหลังหรือข้อเท็จจริงที่ประชาชนรับรู้จากเนื้อหาของบทละครและเพลงปลุกใจที่ประกอบอยู่ในบทละคร และถือเป็นละครเรื่องที่มีอิทธิพลสูงต่อสังคมในการกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความรักชาติอย่างยิ่ง ก็ปรากฏเนื้อหาที่กล่าวถึงพม่าในการเป็นชนชาติศัตรู แต่ก็ได้แฝงเนื้อหาที่ว่าด้วยการปรากฏคนดีอยู่ในชาติศัตรู เช่น มังรายและมังมหาสุรนาท ๒. พระเจ้ากรุงธนบุรี เน้นแสดงถึงการกอบกู้เอกราชของไทยหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า ครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๑๐) ซึ่งเนื้อหาพยายามดำเนินเรื่องไปตามเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง จากการบันทึกในพระราชพงศาวดารและเอกสารต่างๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้า ซึ่งล้วนแต่นำเสนอภาพของกรุงศรีอยุธยาที่ถูกทำลายโดยกองทัพพม่า และ ๓. ศึกถลาง เป็นการเน้นการสร้างความสามัคคีของคนในชาติโดยการร่วมมือกันป้องกันเมืองถลางจากการรุกรานของพม่าในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าแม้เนื้อหาจะเน้นหนักในการสร้างวีรกรรมของชนชั้นปกครองในอดีตหรือผูกเรื่องราวให้มีความเกี่ยวข้องกับการรักชาติเหนือความรักระหว่างหนุ่มสาว แต่ตัวละครซึ่งถูกนำมาใช้เป็นฝ่ายตรงข้าม (ศัตรู) ที่สำคัญของทั้ง ๓ เรื่องก็คือ พม่า ในบทบาทของผู้ร้าย ผู้ก่อปัญหา หรือผู้เข้ามากระทำการทารุณแก่สยาม

       จากการสร้างบทละครอิงประวัติศาสตร์และเพลงปลุกใจที่ใช้ประกอบอยู่ในละครแต่ละเรื่อง เพื่อช่วยในการกระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจแก่ละครเรื่องนั้นๆ ซึ่งเกิดจากการผสมผสานวัตถุดิบทั้งทางประวัติศาสตร์และจินตนาการของหลวงวิจิตรวาทการ เพื่อให้เกิดอรรถรสกับผู้เสพผลงาน พบว่าผลงานที่หลวงวิจิตรวาทการสร้างขึ้นนี้ได้เกิดพลวัตอย่างมหาศาลต่อผู้คนและสังคมทั้ง ณ ขณะนั้นและมีผลสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมของละครอิงประวัติศาสตร์และเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ ที่มีผลอย่างมากนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่หลวงวิจิตรวาทการได้รับการดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีกรมศิลปากรในช่วงแรก ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่บริบททางสังคมการเมืองเอื้ออำนวยอย่างมาก ทั้งการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ และการมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้สนับสนุน ดังนั้นด้วยปัจจัยสำคัญสองประการนี้จึงส่งผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการกระตุ้นให้คนในสังคมไทยขณะนั้นต่างนิยมผลงานของหลวงวิจิตรวาทการ และผลงานดังกล่าวจึงมีอิทธิพลเหนือจิตใจของประชาชนชาวไทย ดังกรณีที่ได้นำผลงานดนตรีของหลวงวิจิตรวาทการนำไปใช้ในโอกาสต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเมืองการปกครอง อาทิ การเรียกร้องดินแดน การรวมกลุ่มทางการเมือง และการสร้างความสามัคคีของกลุ่มต่างๆ เป็นต้น

       ผลกระทบอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเสพผลงานของหลวงวิจิตรวาทการคือ การสร้างเนื้อหาหรือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เป็นผลให้ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่รับข้อมูลโดยตรงจากสถาบันการศึกษาและการเสพงานบันเทิงที่ง่ายต่อการรับรู้มากกว่าหนังสือประวัติศาสตร์ และทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่มีต่อพม่า ตามแบบฉบับชาตินิยมอันเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นโดยหลวงวิจิตรวาทการ และด้วยคุณสมบัติสำคัญของเพลงปลุกใจที่มีเนื้อหาจดจำได้ง่าย มีท่วงทำนองที่สนุก และดูว่าจะสามารถกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้หน่วยงานต่างๆ ขณะนั้นได้นำเพลงหลากหลายบทเพลงในละครอิงประวัติศาสตร์ไปใช้ในวาระต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง เช่น การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสใน พ.ศ.๒๔๘๔ กรณีสงครามมหาเชียบูรพา กรณีเขาพระวิหาร การปฏิวัติในประเทศ หรือทุกวันนี้ที่เพลงปลุกใจหลากหลายบทเพลงของหลวงวิจิตวาทการยังคงเผยแพร่อยู่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และวลีสำคัญที่ปรากฏอยู่ในบทเพลง เช่น “ไปด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย” “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี” ซึ่งแม้ด้านหนึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับคนไทย แต่ในขณะเดียวกันกับเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของฝ่ายตรงข้ามคือพม่าให้กลายเป็นศัตรูของชาติที่ปรากฏในจิตสำนึกของคนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมมาโดยตลอด

       กระทั่งปัจจุบันถึงแม้วันเวลาจะเปลี่ยนผ่านไป หรือเกิดองค์ความรู้ต่างๆ จากสหสาขาวิชา โดยเฉพาะด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่มีการนำเสนอองค์ความรู้ที่เปิดกว้างไม่สร้างอคติ แต่ก็ดูเหมือนว่ารัฐไทยและคนในรัฐไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงตกอยู่ภายใต้มโนทัศน์แห่งอคติ ที่ต่างได้รับจากการผลิตซ้ำและสถาปนาชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์ฉบับชาตินิยม ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นมรดกตกทอดทั้งมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และยุคเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง โดยเฉพาะจากผลงานทางดนตรีของหลวงวิจิตรวาทการ ที่เต็มไปด้วยเนื้อหา ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่แอบแฝงไว้ซึ่งการสร้างอคติทางชาติพันธุ์ต่อกลุ่มพม่า ดังปรากฏในเนื้อหาของบทเพลงปลุกใจ โดยเฉพาะการนำเสนอและผลิตซ้ำชุดวาทกรรมดังกล่าวผ่านระบบการสื่อสารมวลชน ทั้งในรูปแบบของภาพยนตร์ บทเพลง ละคร โฆษณา ฯลฯ ซึ่งถือว่ามีอำนาจและมีบทบาทอย่างมากต่อการจูงใจและปลูกฝังความรู้ให้กับคนในสังคมวงกว้างได้มีทัศนคติไปในทิศทางที่สื่อต้องการ ความรู้เหล่านั้นก็ยังคงยึดถือและยึดติดอยู่กับกับดักแห่งอคติ (Myth) ทางเชื้อชาติ ดังเนื้อหาและข้อความที่ปรากฏต่อสาธารณชน ล้วนเป็นการประโคมข่าวเพื่อสร้างความจริงเฉพาะมุมมองเดียวที่ผลิตซ้ำวัฒนธรรมแห่งอคติให้คนไทยมีต่อคนพม่าดังที่ปรากฏภาพของพม่าที่เป็นตัวตลก ตัวร้ายในภาพยนตร์ ในละครที่มีพระเอกคือวีรบุรุษของชาติไทยที่ได้กระทำการสู้รบกับพม่า เนื้อหาในวรรณกรรม ถ้อยคำและวลีล้อเลียน รวมถึงผลงานด้านศิลปกรรมและในที่นี้คือผลงานด้านดนตรี

บทส่งท้าย

       ดังจะเห็นได้ว่าอารมณ์ความรู้สึกขัดแย้งของคนไทยที่มีต่อคนพม่าหรือประเทศพม่า มิได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ แต่ล้วนมีที่มาและมีประวัติศาสตร์ในการสร้างความรู้หรือมโนทัศน์ที่ฝังอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยตามแนวคิดเรื่องการวิพากษ์วาทกรรมทั้งสิ้น กระบวนการประกอบสร้างความจริงที่ส่งผ่านสัญลักษณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ จากผู้คนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะชนชั้นปกครองและผู้นำประเทศในยุคสมัยที่แตกต่างกันออกไป ล้วนมีพลวัตที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดความรู้ ความจริงของคนในสังคม โดยเฉพาะในที่นี้คือการเพ่งพินิจไปที่ผลงานด้านละครอิงประวัติศาสตร์และเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งมีนัยยะในการปลูกฝังและถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพม่าให้เกิดขึ้นกับคนไทย ที่ได้เสพผลงานต่างๆ เหล่านั้นสืบเนื่องจากอดีตมาถึงปัจจุบัน กระทั่งนำไปสู่การกำหนดกรอบคิดว่าข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นคือความจริง และส่งผลต่อการมองและตัดสินคนพม่าและประเทศพม่าไปในทางลบ

       จากการทำความเข้าใจกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ของความรู้และการรื้อวาทกรรมเกี่ยวกับพม่าที่ปรากฏอยู่ในผลงานดนตรีดังกล่าว พบว่าประวัติศาสตร์ของการสร้างความรู้เกี่ยวกับพม่าที่มีผลต่อการรับรู้ของคนไทยในแต่ละยุคสมัยแม้จะมีความแตกต่างกันออกไป แต่สาระสำคัญล้วนมีความเกี่ยวข้องกับชนชั้นปกครองในการกำหนดกรอบความรู้ทั้งสิ้น เริ่มต้นจากการสร้างวาทกรรมพม่าในภาพของการเป็นศัตรูของพระศาสนาในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และด้วยปัจจัยของลัทธิล่าอาณานิคมที่แพร่กระจายเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ๕ และ ๖ พม่าได้ถูกทำให้กลายเป็นศัตรูของชาติ ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ของพม่าให้ปรากฏอยู่ในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และชุดความรู้นี้ได้กลายเป็นแบบเรียน ซึ่งถูกแพร่กระจายความรู้เหล่านั้นไปสู่ประชาชนในชาติด้วยระบบการศึกษาสมัยใหม่ กระทั่งความรู้ดังกล่าวได้กลายเป็นข้อมูลหลักทางวิชาการในการอ้างอิงสำหรับกลุ่มของปัญญาชนในยุคหลัง และปรากฏในผลงานของ หลวงวิจิตรวาทการผ่านผลงานละครอิงประวัติศาสตร์และเพลงปลุกใจ ซึ่งด้วยอานุภาพของการสร้างภาพลักษณ์ของพม่าในบทบาทของการเป็นศัตรูของชาติดังที่ได้กล่าวมานี้ จึงพอที่จะทำให้เห็นได้ว่า ความรู้เรื่องพม่าในการเป็นศัตรูของชาติที่ฝังแน่นอยู่ในจิตสำนึกของคนไทย มิได้ปรากฏขึ้นมาอย่างลอยๆ แต่ความรู้เรื่องพม่าและอารมณ์ความรู้สึกของคนในรัฐไทยตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบันที่มีอคติทางชาติพันธุ์กับกลุ่มดังกล่าว ล้วนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทั้งสิ้น

       การปรากฏตัวตนของพม่าในเพลงปลุกใจและละครอิงประวัติศาสตร์ ถือเป็นการปรากฏตัวของชุดความรู้หรือวาทกรรมชิ้นสำคัญที่มีเนื้อหาในการสร้างความจริงบางประการเกี่ยวกับคนพม่าและพม่าให้กับคนในสังคมไทย โดยเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นศัตรูแห่งชาติ มีพฤติกรรม การกระทำหรือบทบาทที่ส่อไปในทางลบหรือเป็นผู้สร้างปัญหากระทำการทารุณให้กับผู้คนและประเทศชาติในยุคสมัยต่างๆ เช่นการกล่าวถึงพม่าในการเป็นต้นเหตุของการล่มสลายของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมื่อ ปี พ.ศ.๒๓๑๐ และกรณีอื่นๆ ดังที่ปรากฏอยู่ในละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องเลือดสุพรรณ พระเจ้ากรุงธนบุรี และศึกถลาง   

       ผลกระทบจากการสร้างวาทกรรมพม่าในละครอิงประวัติศาสตร์และเพลงปลุกใจ แม้จะมีอานุภาพอย่างมากต่อการสร้างความสามัคคีให้กับผู้คนในสังคมไทย ณ ขณะนั้น ในการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันของคนในชาติหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ดังกรณีการแย่งชิงดินแดนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ชุดวาทกรรมดังกล่าว กลับกลายเป็นการแช่แข็งชุดความรู้ความจริงและนำเสนอภาพลักษณ์ของความเป็นพม่าที่เชื่อมโยงไปกับการเป็นผู้ร้ายให้กับคนในสังคมไทย ได้จดจำภาพลักษณ์ดังกล่าวจนยากที่จะลบเลือน ฝังลึกอยู่ในโครงสร้างทางสังคมมาอย่างยาวนานถึงปัจจุบัน ดังปรากฏอยู่ในสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งละคร ภาพยนตร์ โฆษณา หนังสือ ตำรา และผลงานด้านดนตรี และถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างคนไทยกับคนพม่า จนกลายเป็นการจำกัดกรอบความคิดในการแก้ไขปัญหาหรือหาทางออกในกรณีปัญหาต่างๆ ระหว่างสองประเทศ ซึ่งฝังลึกอยู่ในมโนทัศน์ของผู้คนในสังคมไทย 

       ดังนั้น บทความนี้จึงถือเป็นอีกความพยายามในการศึกษาและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของชุดวาทกรรมที่แอบแฝงอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่คนในสังคมมีการปฏิสัมพันธ์ โดยเฉพาะผลงานด้านศิลปกรรม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงจิตใจและกำหนดความรู้ความจริงให้กับคนในสังคมได้ตกอยู่ภายใต้มายาคติของชุดวาทกรรมเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย ซึ่งการทำความเข้าใจกระบวนการและกลไกในการทำงานของอำนาจและชุดวาทกรรมครั้งนี้ จะได้นำไปสู่การทำให้เกิดความรู้ที่เท่าทันต่อกระบวนการทำงานของชุดวาทกรรม อันจะส่งผลต่อการสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของคนพม่าและประเทศพม่า อันจะเชื่อมโยงถึงการเห็นคุณค่าของความแตกต่างของผู้คนในสังคม เพื่อการดำรงอยู่อย่างสงบสุขต่อไป

เอกสารอ้างอิง

กฤตยา อาชวนิจกุล (บรรณาธิการ). (2551). จินตนาการความเป็นไทย. กรุงเทพฯ: บริษัทเอดิสัน เพรส โพรดัก จำกัด.

กิตติ  คงตุก. (2557). มายาคติของระบำชุดโบราณคดี. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ดนตรี),  มหาวิทยาลัยมหิดล.

ขวัญจิต  ศศิวงษาโรจน์. (2556). โครงการวิจัยเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะแรงงานข้ามชาติด้วย “สมรรถนะทางวัฒนธรรม”. รวมบทความในดวงพร คำนูณวัฒน์และคณะ .(2557). ภาษาและวัฒนธรรม: หลักประกันของสังคมสุขภาวะ.กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดธิ้งค์ เมท.

จันทนี เจริญศรี. (2545). โพสต์โมเดิร์น Postmodern & สังคมวิทยา Sociology. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ วิภาษา.

ชนิดา พรหมพยัคฆ์. (2546). การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. กรุงเทพฯ:บริษัทพิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด.

ธงชัย วินิจจะกูล. (2534). วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบวงศาวิทยา(Genealogy).รายงานโครงการ วิจัยเสริมหลักสูตร คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.(ม.ป.ท.).(เอกสารอัดสำเนา).

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2548). ประวัติศาสตร์ชาติปัญญาชน. กรุงเทพฯ: บริษัทพิมพ์ดี จำกัด.

ประอรรัตน์ บูรณมาตร์. (2528). หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วีระ สมบูรณ์. (2541). ความไม่รู้ไร้พรมแดน.กรุงเทพฯ: พิมพ์ไทย.

สายชล สัตยานุรักษ์.(2545). ความเปลี่ยนแปลงในการสร้างชาติไทยและความเป็นไทยโดยหลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด.

สายพิน แก้วงามประเสริฐ. (2538). การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์พิฆเณศ พริ้นติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด.

สุเทพ สุนทรเภสัช. (2548). มานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์.