ถาวร วัฒนปัญญา
นำสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์และจำเป็นในด้านของดนตรีแก่ผู้อ่าน

บันไดเสียงไดอาทอนิค
(DIATONIC SCALES)

 บันไดเสียงซีเมเจอร์ (C Major) ตัวโน้ตที่อยู่ในบันไดเสียงนี้เป็นโน้ตปกติที่ไม่มีแฟลตและชาร์ป บันไดเสียงเอฟเมเจอร์ (F Major) ต้องปรับตัวโน้ตตัวที่ 4 (โน้ตตัวฟา) ให้สูงขึ้นครึ่งเสียง เพื่อรักษาระยะห่างของขั้นบันไดเสียงให้เป็นไปตามโครงสร้างที่กำหนดไว้
บันไดเสียงจีเมเจอร์ (G Major)  ต้องปรับตัวโน้ตตัวที่ 7 (โน้ตตัวฟา) ให้สูงขึ้นครึ่งเสียง เพื่อรักษาระยะห่างของขั้นบันไดเสียงให้เป็นไปตามโครงสร้างที่กำหนดไว้
บันไดเสียงเอฟเมเจอร์ (F Major) ต้องปรับตัวโน้ตตัวที่ 4 (โน้ตตัวฟา) ให้สูงขึ้นครึ่งเสียง เพื่อรักษาระยะห่างของขั้นบันไดเสียงให้เป็นไปตามโครงสร้างที่กำหนดไว้

บันไดเสียงไดอาทอนิค

(DIATONIC SCALES)

โดย ถาวร วัฒนปัญญา

อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภักบ้านสมเด้จเจ้าพระยา

    ผู้เขียนขอขอบคุณ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่ได้จัดให้ มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และยังเปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้เขียนบทความได้อย่างอิสระเต็มที่ ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสนำสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์และจำเป็นในด้านของดนตรีแก่ผู้อ่าน เขียนลงบทความทางวิชาการได้อย่างสมบูรณ์

    เพราะฉะนั้นผู้เขียนจึงได้ตัดสินใจที่นำเสนอบทความทางวิชาการ เรื่อง บันไดเสียงไดอาทอนิค โดยเริ่มจากสิ่งที่ทำความรู้จักได้ง่ายที่สุด เหมาะสำหรับผู้เริ่มเรียนทฤษฏีดนตรีตะวันตก ยกตัวอย่าง ถ้าเรากำลังพูดกับใครสักคนหนึ่งถึงเพลงๆหนึ่ง แต่จำชื่อเพลงๆนั้นไม่ได้ วิธีที่จะสื่อสารให้คนๆนั้นเข้าใจได้เร็วที่สุดก็คือ ต้องร้องทำนองเพลง (Melody) ให้ฟังถึงจะพอจำและเข้าใจได้ เพราะถ้าเคาะจังหวะเพียงอย่างเดียวก็คงบอกไม่ได้ว่าเป็นเพลงอะไร

    ดังนั้น ทำนอง จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการที่จะสื่อสารให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด และทำนองก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของดนตรีด้วย แต่ก่อนที่จะพูดถึงองค์ประกอบของดนตรี จะขอนำองค์ประกอบของมนุษย์มาเปรียบเทียบ เพื่อช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากองค์ประกอบของมนุษย์มีสิ่งที่สำคัญที่เรียกว่า ธาตุ อยู่ 4 ธาตุ คือ

1. ธาตุดิน

2. ธาตุน้ำ

3. ธาตุลม

4. ธาตุไฟ

    ธาตุทั้ง 4 ของร่างกายมนุษย์จะต้องอยู่ในสภาวะที่สมดุลร่างกายของมนุษย์จึงจะเป็นปกติ แต่ถ้าขาดธาตุหนึ่งธาตุใดหรือขาดสภาวะที่สมดุลของธาตุใดธาตุหนึ่งแล้ว ร่างกายของมนุษย์ก็จะเกิดอาการผิดปกติ

องค์ประกอบของดนตรี (Elements of Music) ก็เช่นกัน มีอยู่ 4 องค์ประกอบ คือ

1. จังหวะ (Rhythm)

2. ทำนอง (Melody)

3. เสียงประสาน (Harmony)

4. น้ำเสียง (Tone Colour)

    ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 4 นี้ เป็นเครื่องมือหลักในการประพันธ์เพลงสำหรับผู้ประพันธ์เพลง ถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งก็จะทำให้เพลงนั้นไม่สมบูรณ์

    สำหรับองค์ประกอบของดนตรีนั้น ผู้อ่านคงสงสัยว่าทำไมถึงเรียงลำดับโดยเริ่มจากจังหวะก่อนทำไมไม่เริ่มที่ทำนองก่อน ด้วยเหตุว่าการเรียงจะเริ่มจากจำนวนแนวเสียงหรือขั้นของเสียง (Layer of Tone) ก่อน กล่าวคือ เริ่มจากองค์ประกอบที่ 1 คือจังหวะ มีแต่จังหวะไม่มีแนวเสียง, องค์ประกอบที่ 2 คือทำนอง มี 1 แนวเสียง, องค์ประกอบที่ 3 คือเสียงประสาน มีตั้งแต่ 2 แนวเสียงขึ้นไป และองค์ประกอบที่ 4 คือน้ำเสียง มีตั้งแต่ 2 แนวเสียงขึ้นไปเช่นกัน แต่ที่สำคัญก็คือมีการผสมน้ำเสียงของเครื่องดนตรีที่แตกต่างกันด้วย ทำให้มีสีสันที่เพิ่มเสน่ห์ให้เสียงดนตรีมากขึ้น เช่นกลุ่มเครื่องสาย กลุ่มเครื่องเป่า และเครื่องเคาะจังหวะ องค์ประกอบของดนตรีที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คนฟังทั่วไปจะคุ้นเคยที่สุดก็คือ ทำนอง (Melody) ทำนองนี้สร้างขึ้นจากโครงหลัก คือ สเกล (Scale) หรือบันไดเสียงนั่นเอง

    จากหนังสือ Harvard Dictionary (1950) หน้า 662 คำว่า Scale เป็นศัพท์ดนตรี (Term) ซึ่งโดยทั่วไปแปลกันว่า บันไดหมายถึง เสียงดนตรีที่เรียบเรียงจากระดับต่ำขึ้นไปหาระดับสูง สเกลมีหลายประเภท ตามความแตกต่างของวัฒนธรรมและยุคเวลา สเกลหลักของดนตรียุโรป คือ Diatonic Scale ซึ่งประกอบด้วยโน้ต C, D, E, F, G, A, B และ C’ และมักจะเรียกด้วยคำที่ออกเสียงได้ราบรื่นกว่า ว่า โด เร มี ฟา โซล ลา ที โด ดังรูปประกอบต่อไปนี้

สเกลสามารถขยายออกไปได้อีกหลายช่วง (Octave) ตัวอย่างของ Diatonic Scale สร้างได้ง่ายๆ โดยการกดคีย์บอร์ดสีขาวของเปียโน (ดังเห็นได้จากตัวโน้ตข้างบนและรูปด้านล่าง)

    บทความเรื่องบันไดเสียงนี้ จะนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจบันไดเสียงได้อย่างชัดเจน ครอบคลุม และบันไดเสียงที่เข้าใจง่ายที่สุด เป็นรากของดนตรีที่จะนำไปสู่ความเติบโต งอกงาม และมีประโยชน์สูงสุด ก็คือ  บันไดเสียงไดอาทอนิค (Diatonic  Scale)

บันไดเสียงไดอาทอนิค (Diatonic Scale) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้

1. บันไดเสียงไดอาทอนิคเมเจอร์ (Diatonic Major Scale) แต่โดยทั่วไปจะเรียกง่ายๆว่าบันไดเสียงเมเจอร์ประกอบด้วยโน้ต 7 ตัว และมีช่วงเสียง (Intervals) 2 ประเภท คือ เต็มเสียง (1 Whole Tone) และครึ่งเสียง (2 Half Tone หรือ 2 Semitones)

ตัวอย่างโครงสร้างของบันไดเสียงไดอาทอนิคเมเจอร์ (Diatonic Major Scale)

อักษร  T ย่อมาจาก Tone แปลว่า เสียงเต็ม หมายถึง คู่เสียงที่มีระยะห่างกัน 1 เสียงเต็ม (2 Semitones) 

อักษร  S ย่อมาจาก Semitone แปลว่า ครึ่งเสียง หมายถึง คู่เสียงที่มีระยะห่างกัน 1 ครึ่งเสียง (1 Semitone) 

    การจะสร้างบันไดเสียงเมเจอร์ชนิดต่างๆนั้นจะต้องยึดหลักของระยะห่างของแต่ละขั้นตามโครงสร้างที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น โดยสรุปมีช่วงเสียง (Interval) บันไดเสียงระหว่าง 3 กับ 4 และ 7 กับ 8 ห่างกัน 1 ครึ่งเสียง (1 Semitone) ส่วนขั้นอื่นห่างกัน เต็มเสียง หรือ 2 ครึ่งเสียง (2 Semitones) และบันไดเสียงทุกชนิดจะใช้โน้ตตัวแรกเป็นชื่อบันไดเสียง

    ในที่นี้จะขอเริ่มโดยยกตัวอย่างเพียง 3 บันไดเสียง โดยจะเป็นบันไดเสียงเมเจอร์ที่ไม่มีเครื่องหมายกำหนดบันไดเสียง (Key Signature) 1 บันไดเสียง บันไดเสียงเมเจอร์ทางชาร์ป 1 บันไดเสียง และบันไดเสียงเมเจอร์ทางแฟลต 1 บันไดเสียง ดังนี้

1. บันไดเสียงซีเมเจอร์ (C Major) ตัวโน้ตที่อยู่ในบันไดเสียงนี้เป็นโน้ตปกติที่ไม่มีแฟลตและชาร์ป ดังภาพด้านล่าง

ตัวอย่างบทเพลงในบันไดเสียง C Major

ชื่อเพลง “Do Re Mi” จากภาพยนตร์เรื่อง “The sound of Music”

    จะสังเกตได้ว่า 5 วลีแรก (5 บรรทัดแรก) จะอยู่ในบันไดเสียง C Major และ 2 ห้องสุดท้ายของบรรทัดสุดท้ายนั้น จะลงจบด้วยโน้ตตัวแรกของ Scale ก็คือ โน้ตตัว C ซึ่งภาษาที่วิชาการเรียกว่า ตัวทอนิค (Tonic) นั่นเอง

    เมื่อต้องการจะยกระดับเสียงของเพลง ให้สูงขึ้นหรือให้ต่ำลงมาจากระดับเสียงเดิมจะต้องเปลี่ยนตัวโน้ตตัวที่ 1 ของบันไดเสียง เมื่อเปลี่ยนตัวทอนิค ระยะความห่างของเสียงระหว่างขั้นก็จะคลาดเคลื่อน ไม่อยู่ตรงตามโครงสร้างเดิมที่กำหนด จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องหมายแปลงเสียง (Accidental) ชาร์ป หรือ แฟลต มาบังคับเพื่อรักษาระยะห่างของเสียงระหว่างขั้นให้อยู่ตามสูตรที่กำหนดไว้ในโครงสร้างของบันไดเสียงเมเจอร์  ดังเช่น บันไดเสียงต่อไปนี้

2. บันไดเสียงจีเมเจอร์ (G Major)  ต้องปรับตัวโน้ตตัวที่ 7 (โน้ตตัวฟา) ให้สูงขึ้นครึ่งเสียง เพื่อรักษาระยะห่างของขั้นบันไดเสียงให้เป็นไปตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ ดังภาพต่อไปนี้

3. บันไดเสียงเอฟเมเจอร์ (F Major) ต้องปรับตัวโน้ตตัวที่ 4 (โน้ตตัวฟา) ให้สูงขึ้นครึ่งเสียง เพื่อรักษาระยะห่างของขั้นบันไดเสียงให้เป็นไปตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ ดังภาพต่อไปนี้

    จริงๆแล้วบันไดเสียงเมเจอร์สร้างได้ถึง 15 บันไดเสียง ตามสูตรที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นบันไดเสียงเมเจอร์ที่ไม่มีเครื่องหมายกำหนดบันไดเสียง (Key Signature) 1 บันไดเสียง บันไดเสียงเมเจอร์ทางชาร์ป 7 บันไดเสียง และบันไดเสียงเมเจอร์ทางแฟลต 7 บันไดเสียง

    โดยมีหลักยึดในการสร้างคือ การสร้างบันไดเสียงทางชาร์ปให้นับจากโน้ตตัวทอนิค (Tonic) ตัวที่ 1 เรียงขึ้นไปถึงตัวที่ 5 (Dominant) จะได้บันไดเสียงเมเจอร์ทางชาร์ป 1 ชาร์ป เมื่อทำเช่นเดียวกันต่อไปเรื่อยๆจะได้บันไดเสียงเมเจอร์ทางชาร์ปครบทั้ง 7 ชาร์ป ส่วนการสร้างบันไดเสียงทางแฟลตให้นับจากตัวทอนิค (Tonic) ตัวที่ 8 เรียงลงมาถึงตัวที่ 4 (Subdominant) จะได้บันไดเสียงเมเจอร์ทางแฟลต 1 แฟลต เมื่อทำเช่นเดียวกันต่อไปเรื่อยๆจะได้บันไดเสียงเมเจอร์ทางแฟลตครบทั้ง 7 แฟลต

    ปัจจุบันคำจำกัดความของ Diatonic Scale ไม่ใช่แค่ไม่มีช่วงเสียงโครมาติค (Chromatic Alteration) และไม่มีการแตกออกจากกฎเท่านั้น แต่คำจำกัดความของ Diatonic Scale หลักๆ หมายถึง Major Scale และมีแนวโน้มรวมถึง Minor Scale มี 2 Scale ที่นิยมใช้คือ Harmonic Minor Scale และ Melodic Minor Scale ซึ่งต้องไม่มีช่วงเสียงโครมาติค และไม่มีการแตกออกจากกฎด้วยเช่นกัน

แต่เดิมคำจำกัดความ ของ Diatonic Scale จะหมายถึง 2 ความหมาย ดังนี้

จาก Oxford Dictionaries

Diatonic : (Of a scale, interval, etc.) Involving only notes proper to the prevailing key without chromatic alteration.

จาก Collins Dictionary

Diatonic : not involving the sharpening of flattening of the notes of the major of minor scale nor the use of such notes as modified by accidentals.

2. บันไดเสียงไดอาทอนิคไมเนอร์ (Diatonic Minor Scale) แต่โดยทั่วไปจะเรียกง่ายๆว่า บันไดเสียงไมเนอร์เป็นบันไดเสียงที่มีขั้นระยะห่างของเสียงไม่เหมือนกับบันไดเสียงเมเจอร์ ซึ่ง ระยะห่างของโน้ตตัวที่ 1 กับโน้ตตัวที่ 3 ของบันไดเสียงเมเจอร์จะเป็นคู่ 3 เมเจอร์ (คือมีระยะห่าง 4 ครึ่งเสียง หรือ 2 เสียงเต็ม) ส่วนบันไดเสียงไมเนอร์ระยะห่างของโน้ตตัวที่ 1 กับโน้ตตัวที่ 3 จะเป็นคู่ 3 ไมเนอร์ (คือมีระยะห่าง 3 ครึ่งเสียง หรือ หนึ่งเสียงครึ่ง) ดังภาพประกอบต่อไปนี้

ภาพแสดงระยะห่างของโน้ตขั้นที่ 1 กับ ขั้นที่ 3 ของบันไดเสียงซีเมเจอร์ (ห่างกันคู่ 3 เมเจอร์)

ภาพแสดงระยะห่างของโน้ตขั้นที่ 1 กับ ขั้นที่ 3 ของบันไดเสียงซีไมเนอร์ (ห่างกันคุ่ 3 ไมเนอร์)

ความแตกต่างระหว่างบันไดเสียงเมเจอร์กับบันไดเสียงไมเนอร์จะเห็นได้จากตัวอย่างด้านล่างนี้

โครงสร้างบันไดเสียงซีเมเจอร์ (C Major Scale)

โครงสร้างบันไดเสียงเอไมเนอร์ แบบฮาร์โมนิค (A Harmonic Minor Scale)

บันไดเสียงไมเนอร์ ที่นิยมใช้กันมีอยู่ 2 แบบ แต่ละแบบจะมีโครงสร้างแตกต่างกัน บันไดเสียงไมเนอร์มีโน้ตเรียงตามลำดับเหมือนบันไดเสียงเมเจอร์ แต่ระยะห่างของเสียงระหว่างช่วงเสียงไม่เหมือนกัน ดังนี้

2.1 บันไดเสียงไมเนอร์แบบฮาร์โมนิค (Harmonic Minor Scale) โครงสร้างของบันไดเสียงไมเนอร์แบบฮาร์โมนิค โดยเพิ่มเสียงของโน้ตตัวที่ 7 ของบันไดเสียงขึ้นอีกครึ่งเสียงทำให้ระยะห่างขั้นที่ 7 กับ 8 ซึ่งเดิมห่างกัน 1 เสียงลดลงมาเป็นระยะห่างครึ่งเสียง และทำให้ระยะห่างของขั้นที่ 6 กับ 7 เพิ่มขึ้นเป็น 1 เสียงครึ่ง หรือ 3 ครึ่งเสียง (3 Semitone หรือ 3S) ส่วนขั้นอื่นคงเดิมเหมือนกันทั้งขาขึ้นและขาลง โครงสร้างของบันไดเสียงมีดังนี้

โครงสร้างของบันไดเสียงเอไมเนอร์แบบฮาร์โมนิค (A Harmonic Minor Scale)

ตัวอย่างบทเพลง Come Back To Sorrento ในบันไดเสียง G Minor

    จะสังเกตได้ว่า ในห้องสุดท้ายของบทเพลง Come Back To Sorrento ในบันไดเสียง G Minor นั้น จะลงจบด้วยโน้ตตัวทอนิค (Tonic) ก็คือ โน้ตตัว G นั่นเอง

    โปรดสังเกตว่า บันไดเสียงไมเนอร์แบบฮาร์โมนิค (Harmonic Minor Scale) ขาขึ้นและขาลงไม่แตกต่างกันเหมือนกับบันไดเสียงเมเจอร์ (Major Scale)

โครงสร้างบันไดเสียงซีเมเจอร์ (C Major Scale)

โครงสร้างบันไดเสียงเอไมเนอร์ แบบฮาร์โมนิค (A Harmonic Minor Scale)

ในที่นี้จะขอเริ่มโดยยกตัวอย่างเพียง 3 บันไดเสียง โดยจะเป็นบันไดเสียงไมเนอร์ที่ไม่มีเครื่องหมายกำหนดบันไดเสียง (Key Signature) 1 บันไดเสียง บันไดเสียงทางชาร์ป 1 บันไดเสียง และบันไดเสียงทางแฟลต 1 บันไดเสียง ดังนี้

บันไดเสียง A  Minor แบบฮาร์โมนิค มีความสัมพันธ์ ( Relative ) กับ บันไดเสียง C Major

(ใช้ Key Signature เดียวกัน)

บันไดเสียง E  Minor แบบฮาร์โมนิค  มีความสัมพันธ์ ( Relative ) กับ บันไดเสียง G Major

(ใช้ Key Signature เดียวกัน)

บันไดเสียง D  Minor แบบฮาร์โมนิค มีความสัมพันธ์ ( Relative ) กับ บันไดเสียง F Major

(ใช้ Key Signature เดียวกัน)

    บันไดเสียงไมเนอร์แบบฮาร์โมนิค สามารถสร้างได้ 15 บันไดเสียงโดยใช้วิธีการสร้างเดียวกับบันไดเสียงเมเจอร์ ได้แก่บันไดเสียงไมเนอร์ที่ไม่มีเครื่องหมายกำหนดบันไดเสียง (Key Signature) 1 บันไดเสียง บันไดเสียงทางชาร์ป 7 บันไดเสียงและบันไดเสียงทางแฟลต 7 บันไดเสียง

2.2 บันไดเสียงไมเนอร์แบบเมโลดิค (Melodic Minor Scale) บันไดเสียงนี้เปลี่ยนแปลงมาจากบันไดเสียงแบบฮาร์โมนิค เนื่องจากในศตวรรษที่ 17 และ 18 ผู้ขับร้องของดนตรีตะวันตกที่ใช้บันไดเสียง     ไมเนอร์แบบฮาร์โมนิค มีความลำบากในการขับร้องระหว่างขั้นที่ 6 กับ 7 ซึ่ง มีระยะห่าง หนึ่งเสียงครึ่ง จึงมีการเพิ่มระยะห่างขั้นที่ 5 กับ 6 ให้เป็น 1 เสียง และลดระยะห่างขั้นที่ 6 กับ 7 ให้เป็น 1 เสียง ส่วนขั้นอื่นคงเดิมในบันไดเสียงขาขึ้น ส่วนในบันไดเสียงขาลง มีขั้นเสียงเหมือนกับบันไดเสียงไมเนอร์ โครงสร้างของขั้นบันไดเสียงมีดังนี้

โครงสร้างของบันไดเสียงเอไมเนอร์แบบเมโลดิค (A Melodic Minor Scale)

    ในที่นี้จะขอเริ่มโดยยกตัวอย่างเพียง 3 บันไดเสียง โดยจะเป็นบันไดเสียงไมเนอร์ที่ไม่มีเครื่องหมายกำหนดบันไดเสียง (Key Signature) 1 บันไดเสียง บันไดเสียงทางชาร์ป 1 บันไดเสียง และบันไดเสียงทางแฟลต 1 บันไดเสียง ดังนี้

บันไดเสียง A  Minor แบบเมโลดิค

บันไดเสียง E  Minor แบบเมโลดิค

บันไดเสียง D  Minor แบบเมโลดิค

    ความแตกต่างระหว่างบันไดเสียงไมเนอร์แบบฮาร์โมนิค (Harmonic Minor Scale) กับบันไดเสียงไมเนอร์แบบเมโลดิค (A Melodic Minor Scale) จะเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้

โครงสร้างบันไดเสียงเอไมเนอร์ แบบฮาร์โมนิค (A Harmonic Minor Scale)

โครงสร้างบันไดเสียงเอไมเนอร์ แบบเมโลดิค (A Melodic Minor Scale) 

    บันไดเสียงไมเนอร์แบบเมโลดิค สร้างได้ 15 บันไดเสียงเช่นเดียวกับบันไดเสียงเมเจอร์ เป็นบันไดเสียงไมเนอร์ที่ไม่มีเครื่องหมายกำหนดบันไดเสียง (Key Signature) 1 บันไดเสียง บันไดเสียงทางชาร์ป 7 บันไดเสียงและบันไดเสียงทางแฟลต 7 บันไดเสียง

    บันไดเสียงไดอาทอนิค (Diatonic Scale) ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ คงจะสรุปได้พอสังเขปว่า บันไดเสียงไดอาทอนิค มีโน้ตหรือเสียง 8 เสียงที่เรียงลำดับขั้นจากโน้ตตัวใดตัวหนึ่งไปยังคู่ 8 (octave) และประกอบด้วย 1 เสียงเต็ม และครึ่งเสียง ตามโครงสร้างของบันไดเสียง ชื่อของตัวโน้ตต้องเรียงตามลำดับโดยไม่มีการตัดทิ้งเลย บันไดเสียงไดอาทอนิค แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ บันไดเสียงไดอาทอนิคเมเจอร์ (Diatonic Major Scale) และบันไดเสียงไดอาทอนิคไมเนอร์ (Diatonic Minor Scale) แต่นักดนตรีส่วนใหญ่จะเรียกกันสั้นๆว่า บันไดเสียงเมเจอร์ (Major Scale) และบันไดเสียงไมเนอร์ (Minor Scale) และบันไดเสียงไดอาทอนิคก็ยังอาจจะรวมไปถึงบันไดเสียงเพนตาทอนิค (Pentatonic Scale) ด้วย เพราะไม่มีช่วงเสียงโครมาติค และไม่มีการแตกออกจากกฎด้วยเช่นกัน ซึ่งในวงดนตรีไทยนิยมนำมาใช้ในการประพันธ์เพลง เช่น เพลงเขมรไทรโยค ถ้าปฏิบัติโดยกดจากลิ้มเปียโนสีขาว ตามโน้ตเพลงด้านล่าง หรือสามารถกดจากลิ้มเปียโนสีดำก็ได้ทำนองเช่นเดียวกันแต่เปลี่ยนคีย์ เป็นต้น

ตัวอย่างเพลงเขมรไทรโยค

    แม้ว่าบันไดเสียงไดอาทอนิคไม่ว่าจะเป็นบันไดเสียงไดอาทอนิคเมเจอร์หรือบันไดเสียงไดอาทอนิค    ไมเนอร์ ที่นิยมใช้ในการแต่งเพลง หรือใช้ในการประสานเสียง แต่ในสมัยยุคโรแมนติกมาจนถึงปัจจุบันก็มีนักแต่งเพลงหลายๆท่านได้แสวงหารูปแบบของบันไดเสียงอื่นๆที่ทำให้ได้เสียงแปลกไปจากเดิม นอกเหนือไปจากบันไดเสียงไดอาทอนิคเมเจอร์และบันไดเสียงไดอาทอนิคไมเนอร์ และมักจะสอดแทรกบันไดเสียงใหม่ๆ เพื่อเพิ่มสีสันของเพลงให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

    อย่างไรก็ตามผู้เขียนหวังว่า นักดนตรีหลายท่านคงพอที่จะเข้าใจและทราบถึงที่มาของบันไดเสียงไดอาทอนิคได้ดียิ่งขึ้น ผู้เขียนได้พยายามเน้นในสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่นักดนตรีพึงจะต้องรู้ อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากก็คือ เวลาเราอ่านตำราวิชาการเกี่ยวกับดนตรีของไทย เราจะพบว่ามีคำหลายๆคำที่นักวิชาการดนตรีไทยใช้เขียนนั้น อาจทำให้สับสน เช่น คำว่า โทนิกบางตำราก็เขียน โตนิคซึ่งเป็นคำเดียวกันที่มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Tonic” หรือคำว่า ไดอาโทนิกบางตำราก็เขียน ไดอะโตนิคซึ่งเป็นคำเดียวกันที่มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Diatonic” วิธีที่จะไม่ทำให้เราสับสนคือ ให้ยึดการเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษไว้ใช้เป็นหลักอ้างอิงจะดีที่สุด

    ท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่า ท่านผู้อ่านและผู้ที่สนใจดนตรี คงจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อย หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ผู้เขียนขอน้อมรับไว้ ซึ่งผู้อ่านคงจะมองเห็นถึงความตั้งใจและเจตนาดีของผู้เขียนนะครับ


หนังสืออ้างอิง

กีรตินันท์   สดประเสริฐ. วารสารถนนดนตรี. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์ ,2530

ตรอง  ทิพยวัฒน์. ทฤษฏีดนตรีสากลขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพมหานคร : สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด

นพพร  ด่านสกุล. บันไดเสียงโมดอล. สงขลา: มหาวิทยาลัยทักษิณ , 2541

สมชาย อมะรักษ์. ทฤษฏีดนตรีสากลเบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร:โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์ , 2532

สำเร็จ  คำโมง. ทฤษฏีดนตรีสากล ฉบับสรรพสูตร. กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ ฐานบันฑิต จำกัด , 2553

Benward,Bruce and White,Gary.  Music in Theory and Pcitce. 4th ed. Dubuque,lowa :

Wm.C.Brown Publishers,College Division, 1989

Copland, Aaron. What to listen for in Music. New York : McGraw-Hill Companies, 1957.

Harder,Paul O. Basic Materials in Music Theory. New York, 1975.

Lovelock, William. The Rudiment of Music. London : Bell & hyman Limite, 1980.

Willi, Apel. Harvard Dictionary of Music : Cambridge Massachusetts, 1950.

J. A. Westrup, F. LI. Harrison. Collins Music Encyclopedia : London and Glasgow , 1980.