ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ “ม่อนไข่” มีอีกชื่อที่นิยมเรียกกันคือ “เซียนท้อ” และมีอีกหลายชื่อ เป็นไม้ผลที่มีผลสวย ใบสวย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับมากกว่าที่จะปลูกไว้รับประทานผล บางบ้านก็เก็บมาวางขายหน้าบ้านดีกว่าปล่อยให้ร่วงทิ้ง บางจังหวัดก็มีวางขายในตลาดตลอดปี เช่น ตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่ มีหลายร้าน ร้านละกว่าสิบกิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 60-80 บาท ผู้ขายต้องติดชื่อไว้ จะได้ไม่ต้องตอบคำถามตลอดทั้งวัน เคยเห็นผู้คนรุมล้อมดู“ม่อนไข่”ผลไม้แปลกในตลาดนัดที่อัมพวา เพราะเป็นผลไม้ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงเขียนบทความนี้มาเผยแพร่ให้รู้จัก“ม่อนไข่”กันกว้างขวางยิ่งขึ้น 

 

ม่อนไข่

ชื่อวิทยาศาสตร์  Pouteria campechiana (Kunth) Baehni

ชื่อวงศ์ SAPOTACEAE

ชื่อสามัญ  Canistel, Egg fruit, Tiesa, Yellow sapote, Chesa, Laulu lavulu

ชื่ออื่น เซียนท้อ ลูกท้อ ท้อไข่ ท้อเขมร  ทิสซา ท้อเทวดา ละมุดเขมร ละมุดสวรรค์ 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้มากกว่า 8 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของต้น 30-50 ซม. กิ่งก้านและลำต้นมียางสีขาว ลำต้นค่อนข้างตรง และแตกแขนงสาขาที่ความสูงประมาณ 1 เมตรเหนือระดับดิน   กิ่งอ่อนเป็นสีน้ำตาล ทรงพุ่มโปร่งกว้าง กว้าง 7-8 เมตร ใบเดี่ยว สีเขียวเข้มเป็นมันและบางเรียงสลับ ออกรวมกันเป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง  ใบรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม กว้าง 7-9 ซม. ยาว 15-28 ซม. ก้านใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน ดอกเดี่ยว ออกเป็นช่อสั้นๆจำนวนมากตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อละ 2-3 ดอก  กลีบดอกเล็ก ปลายแหลมสีขาวนวล จำนวน 24 กลีบ เรียงซ้อนกันสองชั้น มีกลิ่นหอม เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1–1.5 ซม. ผลเดี่ยว ทรงกลมรี ปลายผลแหลมหรือมีจะงอย กว้าง 6-8 ซม. ยาว 8-11 ซม. โคนผลกว้างมนและสอบแคบลงมาที่ก้นผลคล้ายลูกข่าง สีเขียวเรียบเนียน เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม  เปลือกผลบาง ขั้วผลใหญ่แต่สั้น เนื้อในผลเป็นสีเหลืองสด ลักษณะร่วนคล้ายไข่แดงต้ม รสหวาน มีเมล็ดขนาดใหญ่ 1 ถึง 2 เมล็ด  รูปรีสีน้ำตาล เพาะกล้าได้ง่าย

ถิ่นกำเนิด มีถิ่นกำเนิดในประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เช่น เม็กซิโก เบลีซ กัวเตมาลา คอสตาริกาเอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส ปานามา นิการากัว

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด จะงอกภายใน 1 เดือน

ประโยชน์ 1. ผลม่อนไข่ รับประทานเป็นผลไม้สด มีรสหวาน หอม ชาวฟลอริดานิยมรับประทานร่วมกับเกลือ พริกไทย มายองเนส หรือน้ำมะนาว

2. นำผลมาทำเป็นขนมได้ เช่น แพนเค้ก แยม คัสตาร์ด ทาร์ต 

3. ผลสุกอบให้สุก แล้วนำมาผสมกับนมหรือโยเกิร์ต

4. ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะผลสวย ใบสวย และให้ร่มเงาได้ดีเนื่องจากไม่มีการผลัดใบ

5.เนื้อไม้มีความละเอียดและแข็ง สามารถนำมาใช้ทำเป็นไม้กระดานหรือใช้ในงานก่อสร้างได้

หมายเหตุ ม่อนไข่เป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับ ละมุด ละมุดสีดา พิกุล จึงมีลักษณะหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะส่วนของดอก ที่นอกจากจะคล้ายกันแล้วยังมีกลิ่นหอมเหมือนกัน

1. https://medthai.com

2. https://th.wikipedia.org/wiki