อินกับจัน…ต่างกันอย่างไร
ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์
ความนำ จัน เป็นพืชวงศ์เดียวกับ พลับ ตะโก และมะเกลือ นิยมปลูกในวัด รูปร่างผลจะกลมแป้น เมื่อสุกมีสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรง รสชาติหวานอมฝาด มีขายในตลาดสดในชนบทช่วงกลางฤดูฝนในราคาไม่แพง ผู้ใหญ่มักซื้อกลับมาที่บ้านให้ลูกหลานรู้จัก เนื่องจากมีกลิ่นหอมแรง ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบ ผลของจันมีสองแบบคือ ผลที่กลมแป้นหรือค่อนข้างแบนคล้ายขนมเปี๊ยะ แบบนี้จะไม่มีเมล็ด เรียกว่า “ลูกจัน” ส่วนผลที่กลมคล้ายส้มเขียวหวานนั้น จะมีเมล็ด 2-4 เมล็ด เรียก “ลูกอิน” เมล็ดขนาดใหญ่นี้ นำไปเพาะกล้าได้ง่าย สรุปว่า จันกับอินนั้น เป็นชนิดเดียวกัน เกิดบนต้นเดียวกัน แต่มีข้อน่าสังเกตว่า บางปีต้นเดียวกันนี้ออกผลเป็น “ลูกจัน”ทั้งหมด บางปีก็ออกผลเป็น “ลูกอิน” ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาหาสาเหตุต่อไป
จัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros decandra Lour.
ชื่อวงศ์ EBENACEAE
ชื่ออื่นๆ จันอิน จันโอ จันขาว จันลูกหอม อิน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 20 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีดำ กิ่งก้านหนาแน่น เรือนยอดเป็นพุ่มหนา ยอดอ่อนและกิ่งก้านมีขนนุ่มสีน้ำตาลปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปวงรี กว้าง 2.5-3 ซม. ยาว 6-9 ซม. โคนใบมนสอบแคบ ปลายใบสอบทู่ หรือแหลม ขอบใบเรียบ ใบเรียบเป็นมันวาว สีเขียวเข้ม ใบอ่อนมีขนสีแดงคลุม ดอกแยกเพศคนละดอก อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้เป็นช่อเล็กๆ ช่อหนึ่งมีประมาณ 3 ดอก มีกลิ่นหอม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท สีขาวนวล ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกลักษณะคล้ายกับดอกตัวผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า ดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆตามกิ่งเล็กๆ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ กลีบเลี้ยงมี 4-5 กลีบ โคนเชื่อม ปลายแยกเป็น 4-5 แฉก กลีบดอกสีน้ำตาลอ่อน เชื่อมกันเป็นรูปคนโท ผลสด แบบเบอร์รี เส้นผ่านศูนย์กลางผล 4-6 ซม. ผลมีสองรูปร่างคือทรงกลมแป้น ผิวเกลี้ยง เรียกว่าจัน หรือลูกจัน และทรงกลมเรียกว่าอินหรือลูกอิน ซึ่งลูกอินจะมีเมล็ด ผลดิบมีสีเขียวเข้มปนเทา ผิวผลเรียบ เมื่อสุกสีเหลือง มีกลิ่นหอมรับประทานได้ กลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ขั้วผล เมล็ดกลมรี สีน้ำตาล ขนาด 1.2 x 2.5 ซม. มี 2-4 เมล็ดต่อผล
การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ดที่ได้จากผลแบบ “ลูกอิน”
ประโยชน์ 1. ผลดิบอ่อน ใช้ต้มจิ้มน้ำพริก เป็นผักได้ หรือทำส้มตำแบบอีสาน โดยสับทั้งเปลือก ใช้แทน
มะละกอ ปรุงรสเปรี้ยวด้วยมะยมและมะเฟือง ผลสุกมีกลิ่นหอม รสหวานรับประทานได้หรือนำไปแปรรูปเป็นของหวาน
2. ผลช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เนื้อไม้มีรสขมปนหวาน เป็นยาบำรุงประสาท แก้ร้อนใน แก้ไข้ ขับพยาธิ แก่นใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่น ใช้เป็นยาแก้ไข้
3. สรรพคุณทางสมุนไพรคือ แก้ไข บำรุงเลือดลม แกร้อนในกระหายน้ำ บำรุงประสาท แก้เหงื่อตกหนัก ตับปอดพิการ ขับพยาธิ แก้สะอึก แก้ท้องเสีย แก้ไข้กำเดา
ข้อมูลอ้างอิง Phargarden ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
จัน
อิน