อธิป จันทร์สุริย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีไทยเพื่อการอาชีพ ใช้ความอุตสาหะพยายามที่จะขุดค้นสาระของภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดกันมาจนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่กำลังจะสูญหายไปเพราะสภาพการณ์ที่ผันแปรไปตามกาลเวลาและค่านิยม ให้กลับมามีชีวิตชีวา และมีคุณค่าในทางสร้างเศรษฐทรัพย์ ให้กับท้องถิ่น และยังบังเกิดความชื่นชมต่อชื่อเสียงของ “ประเทศไทย” สู่ประชาคมโลกอย่างภาคภูมิ เรื่องราวอันเป็นสาระที่น่าสนใจที่ “อธิป จันทร์สุริย์” พูมใจ เสนอ เสนอ ในบทความนี้ คือ…. “เพลงนา” มรดกตกทอดทางภูมิปัญญาของบรรพชนชาวจังหวัดชุมพร ด้วยสาระอันละเอียดละออที่ผ่านการปรับประยุกต์ให้เป็น…. |
เพลงนา : การปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านผ่านศิลปะการแสดง เพื่อสื่อความหมายทางการท่องเที่ยว จังหวัดชุมพร
Plaeng Na : Adaptive Uses The Folk Wisdoms through Performing Arts for Tourism Interpretation
โดย
อธิป จันทร์สุริย์
ATHIP JANSURI
อาจารย์ประจำสาขาดนตรีไทยเพื่อการอาชีพ
วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
บทคัดย่อ
เพลงนาเป็นการละเล่นที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นในจังหวัดชุมพรเป็นครั้งแรก ดังคำกล่าวที่ว่า “ เพลงนาชุมพรกาพย์กลอนนครศรีธรรมราช ” นับว่าเป็นเพลงพื้นบ้านที่มีขับร้องกันอย่างแพร่หลายเมื่อครั้งในอดีตมีการสืบทอดกันมาอย่างช้านาน และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ปัจจุบันเพลงนากำลังจะสูญหายไป เนื่องจากประชาชนในจังหวัดชุมพรได้มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพจากการทำนาเป็นการปลูกพืชชนิดอื่นแทน และในอดีตผู้ที่ร้องเพลงนาได้มีจำนวนไม่มาก อีกทั้งยังขาดผู้สืบทอดศิลปะการแสดงเพลงนา ทั้งนี้แนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์ให้การเล่นเพลงนายังคงอยู่ คือ การปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านเพลงนาผ่านศิลปะการแสดงเพื่อสื่อความหมายทางการท่องเที่ยว โดยต้องอาศัยองค์ประกอบในการปรับใช้ศิลปะการแสดงเพลงนา อันได้แก่ 1. การคิดให้มีนาฏยประดิษฐ์ 2. การกำหนดความคิดหลัก 3. การประมวลข้อมูล การรวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นปัจจัยในการสร้างสรรค์ 4. การกำหนดขอบเขต 5. การกำหนดรูปแบบ 6. การกำหนดองค์ประกอบอื่นๆ เช่น เพลงและดนตรีที่ใช้ในการแสดงการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายนักแสดงที่ใช้ในการแสดงฉากที่ใช้ในการแสดง และเวลาที่ใช้ในการแสดง 7. การออกแบบนาฏยประดิษฐ์ ซึ่งการปรับใช้เพลงนาผ่านศิลปะการแสดง จะสามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้ และเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพรอีกทางหนึ่งซึ่ง ทำให้จังหวัดชุมพรเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีบทบาทในการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเกิดความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของตนเอง
คำสำคัญ : เพลงนา การปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ศิลปะการแสดง การสื่อความหมายทางการท่องเที่ยว
Abstract
Pleang Na is the performing art firstly found in Chumphon in accordance with the words “ Pleang Na Chumphon, Poem and Verse Nakhon Si Thammarat”. Pleang Na was a kind of folk song widely sung in the past, and it has been inherited continually with its uniqueness. Nowadays Pleang Na is going to be lost because the ways of life of people in Chumphon have changed. They do not do rice paddy anymore. They plant other agricultural plants instead. In addition, people who can sing Pleang Na were rare in the past, and they lacked of their successors for the performing arts in Pleang Na. However, the way to conserve Pleang Na is adaptively used the folk wisdoms through performing arts for tourism interpretation. The elements of adaptive usage of Pleang Na performing arts are 1) creating invented performance 2) determining principle objective 3) processing information and collecting various sources for creativity 4) scoping the setting 5) formulating the format and pattern 6) considering other aspects such as song and music, costume, actor, time in the performance 7) inventing dancing and performance. The adaptively usage of Pleng Na via performing arts can attract the attention of tourists and it will be another tool to promote tourism of Chumphon province. In this way, Chumphon will be the interesting destination for tourists increasingly. However, this will not accomplish without the cooperation from every sector, and all sectors should have their roles for creating the folk wisdoms; moreover, they will be proud of their art and culture.
Keywords: Pleang Na, Adaptive usage of the folk wisdoms, Performing arts, Tourism interpretation
การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันมนุษย์มักใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ในการเดินทางท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ และผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงาน เหตุที่มีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเพราะประเทศไทยมีต้นทุนทางด้านทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทั้งทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมที่มีส่วนสำคัญในการดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ทั้งศิลปวัฒนธรรม เทศกาลงานประเพณี การละเล่น วิถีชีวิตชุมชน และภูมิปัญญาพื้นบ้านซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนี้การท่องเที่ยวยังทำให้ศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบทอดจากคนในท้องถิ่น เพราะศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาตินั้นๆ ด้วยเหตุนี้ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท) ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวมักนำศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์และสื่อความหมายด้านการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น คลิปวีดีโอที่เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ชุด The Colour Of Thailand ซึ่งนอกจากจะมีการนำเสนอเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวแล้วยังมีการนำศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ไทย มวยไทย การรำแก้บน หุ่นละครเล็กโจหลุยส์ และการแสดงคาบาเร่ต์ คลิปวีดีโอชุด Welcome To Thailand Dreams For All seasons ที่นำเสนอศิลปะการแสดงโขน ฟ้อนเล็บ การเต้นรำของชาวเขา ฟ้อนเทียน เป็นต้น นอกจากการนำเสนอศิลปะการแสดงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านการทำเป็นคลิปวีดีโอเพื่อเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์แล้ว การจัดการแสดงแสง สี เสียง ก็เป็นอีกหนึ่งศิลปะการแสดงที่ถูกจัดขึ้นเพื่อใช้ในการสื่อความหมายด้านการท่องเที่ยว รูปแบบการแสดงแสงเสียงประกอบด้วยจินตภาพ เป็นการผสานศาสตร์แห่งศิลปะการแสดง ทั้งการละครและนาฏกรรมเข้าด้วยกันสู่ความเป็นเอกภาพของการแสดง เป็นการเล่าเรื่องความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง โดยการจินตนาการและจำลองตัวละครพิเศษขึ้นมาเพื่อเล่าย้อนรำลึกถึงอดีตกาล และเพื่อเชื่อมสถานการณ์ ผสมผสานยุคสมัยแห่งการพัฒนาของบ้านเมือง เน้นวิถีชีวิตของชาวอีสาน ขนบประเพณี และเอกลักษณ์จำเพาะของท้องถิ่นโดยการดำเนินเรื่องมีหลายรสหลากอารมณ์ (พีรพงศ์ เสนไสย 2546) การแสดงแสง สี เสียง เป็นการแสดงซึ่งเน้นความตระการตาของระบบแสงสี และดนตรี เสียงประกอบ โดยอาศัยบทประพันธ์และมีผู้บรรยายทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงความจริงผสานกับความฝันและจินตนาการจากอดีตกาลได้อย่างมีอรรถรส ยกตัวอย่างเช่น งานแสงสีเสียง 5 ธันวามหาราช ภายใต้แนวคิด “ ความสุขของคนไทยใต้แสงพระบารมี ” บริเวณถนนราชดำเนินวันที่ 3 – 7 ธันวาคม 2552 จัดให้มีการแสดงของหน่วยงานต่าง ๆ การแสดงวัฒนธรรมประเพณี การละเล่นต่าง ๆ การแสดงดนตรีคอนเสิร์ต งานแสงสีเสียงยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก 2556 ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และงานแสงสีเสียง “เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดกาญจนบุรี ให้ยิ่งใหญ่ในระดับชาติ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชาวจังหวัดกาญจนบุรี การแสดงแสง สี เสียง จัดเป็นศิลปะการแสดงประเภทหนึ่งที่จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราว เหตุการณ์ ประวัติความเป็นมา ให้ผู้ที่รับชมหรือนักท่องเที่ยวสามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นผ่านการแสดงเพื่อที่จะสามารถสื่อความหมายให้เห็นเป็นภาพซึ่งง่ายต่อการทำความเข้าใจและศึกษาอีกด้วย
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำเป็นต้องอาศัยการสื่อความหมายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูล โดยเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นระหว่างนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเพิ่มความสนใจในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว การสื่อความหมายหรือการแปลความหมายมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Interpretation” คือ การให้บริการอย่างหนึ่งแก่ผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวที่ได้เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่ง Freeman Tilden (1997) อธิบายว่าการสื่อความหมาย หมายถึง กิจกรรมการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดเผยความหมายและความสัมพันธ์โดยการใช้สิ่งของหรือวัตถุดั้งเดิม สิ่งที่ประสบด้วยตนเองและตัวกลางที่แสดงไว้มากกว่าการสื่อสารข้อเท็จจริงโดยวิธีธรรมดา มนุษย์มีความสัมพันธ์กับการสื่อความหมายมาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตกาลผ่านทางการคิดสร้างสรรค์ระบบหรือเครื่องมือบางอย่างขึ้นทั้งนี้เพื่อต้องการสื่อความหมายทางความคิด อารมณ์ หรือสิ่งที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้ที่ได้รับชม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การประดิษฐ์ภาษาขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารถึงความหมายบางอย่างระหว่างมนุษย์ในสังคมเดียวกันหรือต่างสังคมก็ตาม
การสื่อความหมายเป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับกระบวนการสื่อสารมีองค์ประกอบเหมือนกัน คือ ผู้ส่งสาร สาร สื่อหรือตัวกลางและผู้รับสารองค์ประกอบเหล่านี้มีความสำคัญต่อความสำเร็จของการสื่อสารทำให้ผู้รับสารเกิดความรู้ความเข้าใจ มีเจตคติ และพฤติกรรมไปในแนวทางที่ผู้ส่งสารปรารถนาเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความเพลิดเพลิน เกิดความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม เห็นความสำคัญของการเดินทางท่องเที่ยว โดยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมีการเรียนรู้และเข้าใจด้วยสื่อที่ผู้สื่อหรือผู้นำเที่ยวต้องการสื่อ การสื่อความหมายทางการท่องเที่ยวสามารถแบ่งได้ด้วยหลายวิธีการ เช่น การจัดศูนย์บริการนักท่องเที่ยว การจัดนิทรรศการ การจัดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ การจัดทำอุปกรณ์โสต แผ่นป้าย แผ่นพับ โปสเตอร์ โฆษณา และคู่มือสื่อความหมาย ซึ่งการสื่อความหมายไปยังนักท่องเที่ยวสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. การสื่อความหมายที่ใช้บุคคล เป็นการสื่อความหมายที่นักท่องเที่ยวสามารถรับข้อมูลข่าวสารกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง และนักท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อสงสัยที่เกิดขึ้นได้ ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องในการเดินทางท่องเที่ยว
2. การสื่อความหมายที่ไม่ใช้บุคคล เป็นการสื่อความหมายที่อาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆในการส่งข้อมูลข่าวสารให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้รับชม ซึ่งสื่อต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายที่มีความน่าสนใจทั้งเสียง สี รูปภาพต่างๆ ซึ่งการสื่อความหมายที่ไม่ใช้บุคคลจะสามารถเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ง่ายและทั่วถึง และเป็นสื่อที่นักท่องเที่ยวจะเกิดการตัดสินใจในการเลือกเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้การสื่อความหมายยังมีการนำเสนอรูปแบบการสื่อความหมายหรือการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสื่อความหมายที่ดีและมีประสิทธิภาพอีกด้วย เบอร์โล (Berlo) (อ้างถึงใน เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต 2532) เป็นผู้คิดค้นกระบวนการของการสื่อความหมายไว้ เรียกว่า รูปแบบจำลองนี้ว่า“S M C R Model” ซึ่งประกอบด้วย
ผู้ส่ง (Source) ต้องเป็นผู้ที่มีทักษะความชำนาญในการสื่อสาร โดยมีความสามารถในการเข้ารหัส (encode) เนื้อหาข่าวสาร มีเจตคติที่ดีต่อผู้รับเพื่อผลในการสื่อสารมีความรู้อย่างดีเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่จะส่ง และควรมีความสามารถในการปรับระดับของข้อมูลนั้นให้เหมาะสมและง่ายต่อระดับความรู้ของผู้รับ ตลอดจนมีพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับผู้รับด้วย
ข้อมูลข่าวสาร (Message) เกี่ยวข้องทางด้านเนื้อหา สัญลักษณ์และวิธีการส่งข่าวสาร
ช่องทางในการส่ง (Channel) หมายถึงการส่งข่าวสาร โดยการให้ผู้รับได้รับข่าวสาร ข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าหรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง คือ การได้ยิน การดู การสัมผัส การลิ้มรส หรือการได้กลิ่น
ผู้รับ (Receiver) ต้องเป็นผู้มีทักษะในการสื่อสาร โดยมีความสามารถในการถอดรหัสสาร (decode) เป็นผู้ที่มีเจตคติ ระดับความรู้และพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมเช่นเดียวหรือคล้ายคลึงกับผู้ส่งสารจึงจะทำให้การสื่อความหมายหรือการสื่อสารนั้นได้ผล
ซึ่งถ้าหากสรุป ตามลักษณะของ S M C R Model ของเบอร์โล สามารถนำมาประกอบเข้ากับกระบวน การสื่อความหมายโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านผ่านศิลปะการแสดงได้ดังนี้
ผู้ส่ง (Source) หมายถึง ตัวผู้แสดงที่เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวการแสดงไปยังผู้รับ เพื่อให้ผู้รับสามารถเข้าใจเรื่องราวที่ถ่ายทอดได้อย่างเข้าใจ
ข้อมูลข่าวสาร (Message) เกี่ยวข้องทางด้านเนื้อหา นั้นก็คือ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในท้องถิ่นนั้นๆ ได้แก่ เพลงนา
ช่องทางในการส่ง (Channel) หมายถึง การนำเสนอศิลปะการแสดงโดยการเล่าเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้นักท่องเที่ยวชมหรือผ่านช่องทางโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต เป็นต้น
ผู้รับ (Receiver) หมายถึง ผู้ชมเมื่อผู้ชมได้รับชมการแสดงเกิดก็ความเพลิดเพลินเกิด ความเข้าใจในเนื้อหาที่ผู้ส่งหรือนักแสดงถ่ายทอดมายังผู้ชม ซึ่งสามารถนำเสนอในรูปแบบของแผนภาพได้ดังนี้
จะเห็นได้ว่า การสื่อความหมายนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญในการอธิบาย ให้ความรู้หรือข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งถ้าหากรูปแบบการสื่อความหมายมีความน่าสนใจทั้งศิลปะการแสดง การเล่าเรื่องโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ก็จะทำให้การสื่อความหมายประสบความสำเร็จ ซึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านก็นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการสื่อความหมายทาง การท่องเที่ยว เพราะนอกจากจะสามารถทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเข้าใจแล้ว ยังทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลินอีกด้วย
การสื่อความหมายโดยนำศิลปะการแสดงมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อความหมาย เนื่องจากศิลปะการแสดงสามารถถ่ายทอดเรื่องราว เหตุการณ์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อให้ผู้ชมหรือนักท่องเที่ยวสามารถเข้าใจในเรื่องราวที่ต้องการจะนำเสนอได้ อีกทั้งศิลปะการแสดงยังทำให้สามารถมองเห็นภาพจริงโดยการนำเสนอผ่านจินตนาการ หรือเรื่องราวในอดีตที่เกิดขึ้น หลายๆประเทศได้นำเอาศิลปะการแสดงของแต่ละชนชาติออกมานำเสนอเพื่อใช้ในสื่อความหมายด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้เนื่องจากสามารถสื่อความหมาย และให้ผู้ที่รับชมเกิดความประทับใจ จะเห็นได้ว่าศิลปะการแสดงเป็นทั้งทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวและเป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายซึ่งสอดคล้องกับการให้ความหมายของสดใส พันธุมโกมล (2524 : 1) (ออนไลน์, 2556) ศิลปะการแสดง คือ ศิลปะที่เกิดขึ้นจากการนำภาพจากประสบการณ์ และจินตนาการของมนุษย์มาผูกเป็นเรื่อง และจัดเสนอในรูปแบบของการแสดงโดย มีผู้แสดงเป็นผู้สื่อความหมายและเรื่องราวต่อผู้ชม ซึ่งในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ก็มีศิลปวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ซึ่งจังหวัดชุมพรนับว่าเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ทีมีประวัติเก่าแก่ นับว่าเป็นจังหวัดแรกที่เป็นประตูเข้าสู่ภาคใต้ ดังคำขวัญที่ว่า ชุมพรประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือขึ้นชื่อรังนก
จังหวัดชุมพรนับว่ามีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลงใหลในเสน่ห์ของทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น หาดทรายรี หาดทรายสีขาวสะอาดตาแนวชายหาดเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานของพลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้ทรงสถาปนากองทัพเรือให้กับประเทศไทย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร มีจุดเด่นที่น่าสนใจทั้งในเรื่องของระบบนิเวศป่าชายหาด ป่าชายเลน พื้นที่ชุมน้ำที่อุดมด้วยนกนานาชนิด และแนวปะการังที่สมบูรณ์และสวยงามตามเกาะและกองหินต่างๆ นับเป็นแหล่งดำน้ำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวไทย และทรัพยากรการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เช่น ประเพณีแห่พระแข่งเรือ เป็นประเพณีเก่าแก่ของอำเภอหลังสวน ซึ่งมีมากว่า 100 ปี จะเริ่มงานตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี งานส่งเสริมประเพณีขึ้นเบญจา จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานประเพณีท้องถิ่นจังหวัดชุมพร และส่งเสริมการท่องเที่ยว ของอำเภอเมืองจังหวัดชุมพร ซึ่งวัฒนธรรมของจังหวัดชุมพรจะเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมภาคกลางและภาคใต้ เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจังหวัดแรกในการเดินทางเข้าสู่ภาคใต้ ซึ่งศิลปวัฒนธรรมหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นมรดกที่สำคัญของจังหวัดชุมพรอย่างแท้จริงนั่นก็คือ เพลงนา
เพลงนา ในอดีตจากการคำนวณของพ่อเพลงแม่เพลงรุ่นเก่า เท่าที่สืบค้นได้พบว่าเพลงนามีมาก่อนรัชกาลที่ 5 และเป็นที่นิยมกันมากจนกระทั่งมีการจัดประกวดเพื่อชิงรางวัล ดังที่ ภิญโญ จิตต์ธรรม (2516) กล่าวไว้ว่า “เพลงนาเป็นของดีที่ตายายเรารักษาไว้นานแสนนาน จนยายเราในสมัยรัชกาลที่ 5 เล่ากันว่าประมาณ พ.ศ. 2426 มีคหบดีผู้หนึ่งอยู่ที่อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ได้จัดประกวดการร้องเพลงเพื่อชิงรางวัลกันขึ้นทุกปี”
อีกหนึ่งข้อสันนิษฐานเพลงนาน่าจะเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากมีการเล่าขานกันต่อมาว่า ในสมัยนั้นเมือง ไชยา ประชาชนทั่วไปชอบการต่อสู้ จึงมีการฝึกการต่อสู้ด้วยอาวุธต่าง ๆ รวมทั้งการต่อสู้มือเปล่า จึงมีคำว่า “มวยไชยา” เกิดขึ้นจนกระทั่งบัดนี้ ส่วนเมืองชุมพร ประชาชนชอบสนุกสนาน ชอบร้องรำทำเพลง เมื่อมีการประลองฝีมือทางอาวุธหรือการต่อสู้คนไชยาจะชนะทุกครั้ง แต่ถ้ามีการประชันการขับร้อง คนชุมพรจะชนะทุกครั้งเช่นกัน มีการเล่าขานกันว่า ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 พระยาเพชรกำแหง ซึ่งมีที่นา 5,000 ไร่ ใช้คันไถ จอบและคราดเป็นเครื่องมือในการทำนา ใช้ควายและทาสเป็นแรงงาน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะมีการคลายร้อนหรือความเมื่อยล้าด้วยการร้องรำทำเพลงจึงได้มีการนำบทกลอนซึ่งเรียกว่า เพลงนา มาใช้
โอกาสในการแสดงเพลงนา สมัยก่อนเพลงนาใช้ในฤดูเก็บเกี่ยว เป็นการละเล่นกลอนโต้ตอบระหว่างหนุ่มสาวในท้องนา ต่อมามีการใช้ทั่วไป เช่น งานอุปสมบท งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานฉลองต่างๆ แม้กระทั่งงานศพ เพื่อใช้เป็นสื่อความรัก การเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวหรือเป็นการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ หรือใช้ประกวดในโอกาสต่างๆ ปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะเป็นการแสดงในลักษณะการสาธิตหรือการสอนในสถานศึกษาเพื่องานอนุรักษ์ (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร 2551)
เพลงนาสามารถแบ่งได้ตามความสั้นยาวของเนื้อเพลงได้ 2 ชนิด ได้แก่ เพลงนาขนาดสั้นและเพลงนาขนาดยาว เพลงนาขนาดสั้น เป็นเพลงนาที่มีความยาวเพียง 3 วรรค หรือ 6 วรรค เป็นเพลงร้องโต้ตอบขณะที่กำลังเกี่ยวข้าวอยู่กลางนาหรือตามสถานที่ต่างๆ เพื่อถามข่าว เพื่อผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยในการทำงานและเพื่อความสนุกสนาน ตัวอย่างเช่น
ถาม เพื่อนของพี่ทีรัก เราขอถามทักว่าเพื่อไปไหนมา
ตอบ เพื่อนรักเพื่อนรัก ช่วยเจ็บท้องอย่างหนักจะไปหาพี่สา
ให้มาประคองครรภ์ของแม่กัลยา
(จาง ดำคำ : บทสนทนา หน้า 252) ( อ้างใน สุปรียา สุวรรณรัตน์ 2539 )
เพลงนาขนาดยาว เป็นเพลงนาที่เล่นเป็นชุด ต้องใช้พ่อเพลงแม่เพลงโดยเฉพาะเป็นผู้ร้องในฤดูเกี่ยวข้าว ชาวนาบางคนจะบนบานศาลกล่าวว่า ถ้านาปีนี้ให้ผลผลิตดีจะจัดให้มีการเล่นเพลงนากันขึ้นในช่วงเก็บเกี่ยวข้าว ลำดับขั้นตอนในการเล่นมีตั้งแต่ บทไหว้ครู บทชมโฉมหรือเกี้ยวสาว บทฝากรัก บทลา ตามลำดับ ถ้ามีการเทียบคู่ก็จะมีบทฉะฟันด้วย ตัวอย่างเช่น
หญิง สีมานั้นมีกี่ทิศ ลูกนิมิตมีอยู่กี่ใบ
ตรงไหนนะพ่อร้อยชั่งที่เขาฝังพัทธ์ชัย
ชาย สีมาหมันมีแปดทิศ ลูกนิมิตมีอยู่เก้าใบ
หน้าพระประธานที่นั่งนั่นแหละเขาฝังพัทธ์ชัย
ชาย (ตอบเชิงสังวาส)
สีมาหมันมีแปดทิศ ลูกนิมิตมีอยู่สามใบ
ลูกหนึ่งเขาฝังไว้มิดสองลูกหมันปิดตูชัย
(อบ ศรียาภัย : บทฉะพัน หน้า 204) ( อ้างใน สุปรียา สุวรรณรัตน์ 2539 )
อุปกรณ์ประกอบและวิธีการเล่น ในการเล่นเพลงนา ใช้ผู้เล่น 1 คู่ ถ้าจะมีมากกว่านี้ ก็ต้องเป็นจำนวนคู่ แต่ที่นิยมกันมักไม่เกิน 2 คู่ แต่ละคู่จะมีแม่เพลงคนหนึ่งทำหน้าที่ร้องนำ เรียกว่า “แม่คู่” หรือ “ หัวไฟ” มีผู้รับหรือ “ทอย” คนหนึ่งเรียกว่า “ท้ายไฟ” ถ้าผู้เล่นมีคู่เดียว บทที่ร้องมักเป็นบทชม บทเกี้ยว และบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ แต่ถ้าเล่น 2 คู่ มักจะเป็น “กลอนรบ” หรือบท “ฉะฟัน” คือร้องเพลงโต้ตอบกัน โดยต่างฝ่ายต่างหยิบยกเอาปมด้อยของฝ่ายตรงข้ามขึ้นมาว่าและว่ากันอย่างเจ็บแสบ การร้องโต้ตอบนี้ ท้ายไฟของฝ่ายใดก็จะทำหน้าที่รับทอยของฝ่ายนั้น การเล่นเพลงนาจะเล่นกันเป็นกลอนสดหรือกลอนปฏิภาณ ผู้เล่นจะต้องมีสติปัญญาและไหวพริบดี การเล่นไม่มีดนตรีใดๆ ประกอบ ลักษณะบทกลอนที่ใช้เป็นกลอนสิบ คือ วรรคหนึ่งๆ นิยมบรรจุให้ได้ 10 คำ แต่อาจยืดหยุ่นเป็น 8 / 11 คำก็ได้ กลองเพลงนาจะบังคับคณะ โดยให้กลอนสามวรรคเป็น “หนึ่งลง” กลอนหกลงเป็น “หนึ่งลา” คือจบ 1 กระทู้ เว้นแต่บทไหว้พระ ซึ่งจะจบเพียงสามลงเท่านั้น คือ ไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
สำหรับการรับทอยของท้ายไฟ เมื่อแม่คู่ร้องส่งกลอนวรรคที่ 1 จบแล้ว ท้ายไฟก็จะรับทอย โดยร้องซ้ำวรรคแรกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้แม่คู่คิดผูกกลอนวรรคที่ 2 และที่ 3 ต่อไป และการทอยก็จะรับเพียงวรรค ที่ 1 เพียงวรรคเดียวเท่านั้น การร้องเพลงนาจะมีทั้งแม่เพลงและลูกคู่หรือคนคอยเสริม จะช่วยทำให้เพลงนาน่าฟังยิ่งขึ้น ซึ่งมีแบบแผน ดังนี้
(ลงที่ 1) ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ (เสียงสูง)
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ (เสียงต่ำ)
(ลงที่ 2) ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ (เสียงสูง)
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ (เสียงต่ำ)
(ลงที่ 3) ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ (เสียงสูง)
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ (เสียงต่ำ)
(ลงที่ 4) ฯลฯ
การร้องเพลงนาในฤดูเก็บเกี่ยว ยามเช้ามักจะร้องบทไหว้ ยามสายมักจะร้องบทชมโฉม ยามเที่ยงมักจะร้องบทรัก ยามบ่ายมักจะร้องบทลา เป็นต้น
ตัวอย่างเพลงนา
บทไหว้ เป็นบทกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มักเป็นบทแรกที่ใช้ร้องก่อนที่จะเล่นเพลงนา เนื้อหาเป็นการกล่าวบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ไหว้พระภูมิเจ้าที่นา
หัตถัง (มือ) ทั้งสองประคองไหว้ พระภูมิเจ้าไร่ พระภูมิเจ้านา
บรรดาศักดิ์สิทธิ์ไปทั้งแปดทิศา ขอไหว้ไม่หลงไปทุกองค์เทวดา
ออ.. บรรดาศักดิ์สิทธิ์ในที่นี้ ได้เบิกสร้างที่นาแต่ไหรมา
วันนี้ตำเหนิน (ผู้ร้อง) ขอเชิญพ่อมา
ยอไหว้พระภูมิเจ้านา ข้างตีน (ทิศเหนือ) ไหว้ไปจบที่ชุมพร
ข้างหัวนอน (ทิศใต้) ไหว้จบที่สงขลา วันนี้ลูกชายขอไหว้วันทา
ออ…. ท่านอย่าได้ขัดข้องในทำนิทำนองนะท่านหนา
อย่าให้เจ็บหัวหรือปวดท้อง ลูกจะร้องเพลงนา (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร, 2551)
บทชมโฉม
“จะดูไหนวิไลนั่น พี่ดูสารพัดไม่ขัดไม่ขวาง
น้องแขวนสร้อยหรือเพชร งามเหมือนสมเด็จนาง
ออ.. เมื่อเดินจะย่างงามไปสิ้น เหมือนหงส์ทองล่องบินไปขัดไม่ขวาง
ช่างงามบริสุทธิ์ เหมือนพระพุทธคยาง
สองกรอ้อนแอ้นดังงวงคชวัน (งวงช้าง) ดูพระพักตร์จอมเจ้าขวัญเหมือนพระจันทร์กระจ่าง”
(สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร, 2551)
บทรัก
“สงขลาพี่จะสร้างสวนฝ้าย พัทลุงนั้นไซร้พี่ไว้สร้างสวนพลู
สุราษฎร์ธานี พี่จะปลูกเรือนอยู่
ให้แม่ทอฝ้าย เจ้านั่งขายพลู
ออ…..เมื่อยามว่างขายของ พี่คอยประคับประคองเล้าโลมโฉมตรู
ความที่รักบุญลือ เหมือนจะใส่ฝ่ามือชู
ถ้าเปรียบเหมือนรามสูรประยูรศักดิ์ รูปหงส์นงลักษณ์เหมือนองค์เอกเมขลา
รามสูรอ้อนวอน เจ้าก็งอนหนักหนา
เหมือนพี่วอนเจ้า ไปทุกเช้าเวลา
ออ…รักแต่ข้างเดียว คิดไปใจเปลี่ยวเป็นหนักหนา
เหมือนพี่วอนเจ้า ไปทุกเช้าเวลา
ออ…รักแต่ข้างเดียว คิดไปใจเปลี่ยวเป็นหนักหนา
ใจฉวยขวานขว้างให้ถูกนางสักครา…” (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร, 2551)
บทรัก
“เคี้ยวข้าวเหมือนเคี้ยวแป้ง พี่เคี้ยวปลาแห้งเหมือนเคี้ยวไม้พุก
นับว่าชีวิตไม่มีความสุข ไม่ได้เห็นบังอรพี่ชายนอนเป็นทุกข์
ออ… นับว่าในโลกนี้ หาใครไม่มีจะมาให้ความสุข
ไม่ได้บังอร พี่ยิ่งร้อนยิ่งทุกข์
มารับรักกับพี่ ทุกเดือนทุกปีไม่ให้ทำไหร่
ให้เจ้าผัดแต่หน้า ให้เจ้าทาแต่แป้ง
ให้น้องนั่งแต่ง แต่งตามชอบใจ
ตัดผมรองทรงอ่อนอ่อนให้เจ้านั่งถอนไร…”
“มารับรักกับพี่ไปข้างเหนือจะให้เข (ขี่) ช้าง ไปข้างล่างพี่จะให้เข (ขี่) เรือพอ
พี่ไม่ให้เจ้าพาย พี่ไม่ให้เจ้าถ่อ
ให้แม่งามงอน เจ้านั่งอ่อนคอ
มารักรักกับพี่ ให้ใจดีเจ้านอนเตียงเรียงหมอน
ให้คนอยู่งานพัด ยามกำดัดหลับนอน (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร, 2551)
ตัวอย่างบทร้องเกี้ยวชมสาว
บรรดาหญิงสาวสาวมาเก็บเกี่ยวข้าวนานี้ สาวคนโน้นอยู่ดีผิวฉวีสดใส
ขาวตลอดมือตีน (เท้า) เหมือนพ่อจีนแม่ไทย
แม่หญิงสาวขาวสวยที่มาทั้งไกลแค่ (ไกลใกล้) น้องคนโน้นสวยแท้พี่เหลียวแลตะลึงไหล
ตาต่อตามองกันเกิดสัมพันธ์ถึงใจ
ผิวเนื้อสาวขาวแล้วยังไม่แคล้วทาแป้ง สวยแล้วยังชั่งแต่งต้องตามแบบสมัย
บรรดาสาวชาวนาน้องสวยกว่าใครใคร ฯลฯ (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร, 2551)
จะเห็นได้ว่า เพลงนา นับว่าเป็นเพลงพื้นบ้านที่มีขับร้องกันอย่างแพร่หลายเมื่อครั้งในอดีต และมีสืบทอดกันมาอย่างช้านาน และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เนื่องจากเพลงนาเป็นการละเล่นที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นในจังหวัดชุมพรเป็นครั้งแรก ดังคำกล่าวที่ว่า “เพลงนาชุมพรกาพย์กลอนนครศรีธรรมราช” และจากบทกลอนเพลงนาที่ว่า
มวยดีไชยา เพลงนาชุมพร
ขึ้นชื่อลือกระฉ่อนมานานนักหนา
ชุมพรต้นฉบับตำรับเพลงนา
เพลงนามีท่วงทำนองช้าเนิบนาบ ไม่มีดนตรีประกอบ มีผู้ขับร้องเป็นคู่ 2 คน คนหนึ่งเป็นแม่เพลงร้องนำ เรียกว่า ต้นไฟ แม่คู่หรือแม่เพลงมีคนรับทอดอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ท้ายไฟ เป็นการผลัดเปลี่ยนช่วยกันขับร้องนำ และรับข้อความ การรับอย่างกลมกลืน เรียกว่า ทอย เพื่อกันลืมและช่วยกันขัดเกลาสำนวนด้วย (พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาจังหวัดชุมพร 2542) เพลงนา มักนิยมเล่นในฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน จนลืมความเหน็ดเหนื่อยจากการเก็บเกี่ยว ในระยะแรกจะเล่นในท้องนา ต่อมาภายหลังร้องเล่นไม่จำกัดสถานที่และโอกาส เช่น งานสงกรานต์ งานบวชนาค งานขึ้นบ้านใหม่ วันขึ้นปีใหม่ งานมงคลสมรส และงานศพ สมัยก่อนนิยมร้องกันมากในตำบลหาดพันไกร ตำบลนาชะอัง ตำบลวังไผ่ ตำบลบางลึก ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร อำเภอปะทิว และอำเภอสวี แต่ปัจจุบันมีให้เห็นอยู่บ้างในพื้นที่อำเภอสวี และอยู่ในสถานภาพที่กำลังจะสูญหาย เนื่องจากผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้านที่ขับร้องเพลงนาชราภาพและเสียชีวิตไป (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร 2551)
ปัจจุบันเพลงนากำลังจะสูญหายไป เนื่องจากประชาชนในจังหวัดชุมพรได้มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพจากการทำนาเป็นการปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้ต่างๆ เป็นต้น จึงทำให้การเล่นเพลงนาเริ่มหายไป และในอดีตผู้ที่ร้องเพลงนาได้มีจำนวนไม่มากเมื่อผู้ที่ร้องเพลงนาเสียชีวิตไปก็เสมือนว่าเพลงนาได้หมดไปด้วย อีกทั้งยังขาดผู้สืบทอดและสืบสานศิลปะการแสดงเพลงนา ทั้งเยาวชนรุ่นหลัง ขาดความสนใจ และไม่ให้ความสำคัญที่จะสืบสาน การร้องเพลงนา รวมทั้งการเล่นเพลงนาไม่มีดนตรีใด ๆ ประกอบ จึงไม่เป็นที่ดึงดูดความสนใจของเยาวชนรุ่นหลัง ซึ่งสอดคล้องกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร (2551) ปัจจุบันศิลปะการแสดงเพลงนาอยู่ในสถานภาพที่กำลังจะสูญหาย อันเนื่องจาก ในอดีตเพลงนานิยมเล่นในฤดูเกี่ยวข้าวในท้องทุ่งนา แต่ในปัจจุบันการประกอบอาชีพทำนาลดน้อยลง ชาวบ้านหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทน การเล่นเพลงนาจึงค่อยๆเริ่มหายไป กับท้องทุ่งนาที่กลายเป็นสวนปาล์ม
การเล่นเพลงนาในอดีตสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมที่บรรพบุรุษใช้เวลาหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวในการประกอบกิจกรรมเพื่อความบันเทิงเริงใจ ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบการเล่นเพลงนาของจังหวัดชุมพรจะมีส่วนคล้ายคลึงกับการละเล่นหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวในภาคกลางซึ่งมีท่วงทำนองคล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่ร้องง่าย ร้องช้า มีการซ้ำวรรคเดิมบ่อยๆ จึงทำให้ทุกคนส่วนมีส่วนร่วมในการร้อง ผลัดกันทำหน้าที่เป็นผู้รับและลูกคู่ และการร้องรับลูกคู่ก็จะสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ทำในขณะนั้น เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำรำเคียว เพลงสงฟาง เป็นต้น
เพราะฉะนั้น หากมีการนำเพลงนาซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของจังหวัดชุมพร มาปรับใช้ผ่านศิลปะการแสดงเพื่อสื่อความหมายทางการท่องเที่ยวนั้น จะเป็นส่วนช่วยอนุรักษ์ ฟื้นฟู การเล่นเพลงนาชุมพรให้กลับมาเป็นศิลปะการแสดงที่ยังคงมีอยู่ท้องถิ่น สามารถเป็นการเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมของเยาวชนในท้องถิ่นซึ่งการปรับใช้ผ่านศิลปะการแสดงเพื่อสื่อความหมายทางการท่องเที่ยวนั้น จำเป็นมีต้องการศึกษาข้อมูลก่อนนำมาใช้อย่างแท้จริง เพื่อให้สามารถนำเพลงนามาปรับใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงการได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว สถานศึกษา ผู้มีส่วนร่วมในศิลปะการแสดงท้องถิ่น ประชาชนในท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีบทบาทในการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว ของชุมชนอีกด้วย โดยต้องอาศัยทฤษฎีนาฏยประดิษฐ์มาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ชุดระบำขึ้นใหม่ ซึ่งสุรพล วิรุฬห์รักษ์ (2544) ได้ให้ความหมายของคำว่า นาฏยประดิษฐ์ หมายถึง การคิด การออกแบบและสร้างสรรค์แนวคิด รูปแบบ กลวิธีของนาฏยศิลป์ชุดหนึ่งที่แสดงผู้แสดงคนเดียวหรือหลายคน ทั้งนี้รวมถึงการปรับปรุงผลงานในอดีต นาฏยประดิษฐ์จึงเป็น การทำงานที่ครอบคลุมปรัชญา เนื้อหา ความหมาย ท่ารำ ท่าเดิน การแปรแถว การตั้งซุ้ม การแสดงเดี่ยว การแสดงหมู่ การกำหนดดนตรี เพลง เครื่องแต่งกาย ฉากและส่วนประกอบอื่นๆที่สำคัญ ในการทำให้นาฏยศิลป์ชุดหนึ่งสมบูรณ์ตามที่ตั้งไว้ ผู้ออกแบบนาฏยศิลป์ เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผู้อำนวยการฝึกซ้อมหรือผู้ประดิษฐ์ท่ารำ แต่ในที่นี้ได้เสนอคำใหม่ว่า นักนาฏยประดิษฐ์ ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Choreographer และยังได้กล่าวถึงขั้นตอนในการประดิษฐ์นาฏยศิลป์ ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญในการปรับใช้เพลงนาผ่านศิลปะการแสดงเพื่อสื่อความหมายทางการท่องเที่ยว ประกอบด้วย
1. การคิดให้มีนาฏยประดิษฐ์ คือ เหตุผลที่เกิดการประดิษฐ์นาฏยศิลป์ในโอกาสต่างๆ ได้แก่ ซึ่งการปรับใช้เพลงนาผ่านศิลปะการแสดงเพื่อสื่อความหมายทางการท่องเที่ยว เป็นการคิดประดิษฐ์ชุดระบำขึ้นจากการละเล่นกลอนโต้ตอบระหว่างหนุ่มสาวในท้องนาหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ซึ่งการแสดงชุดดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของสังคมเกษตรกรรมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น
2. การกำหนดความคิดหลัก เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างสรรค์งานด้านนาฏยศิลป์ เพื่อให้ผลงานเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งการประดิษฐ์ชุดระบำขึ้นเพื่อเป็นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กำลังจะสูญหายนั่นคือ เพลงนา นำมาใช้ในการสื่อความหมายทางการท่องเที่ยวและเป็นการอนุรักษ์ สืบทอดการเล่นเพลงนาให้คงอยู่ต่อไป
3. การประมวลข้อมูล การรวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นปัจจัยในการสร้างสรรค์ ซึ่งข้อมูลจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การรวบรวมข้อมูลด้านเอกสาร ทั้งงานวิจัย เอกสารสำรวจข้อมูลทางด้านวัฒนธรรม เป็นต้น และการรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องเพลงนา
4. การกำหนดขอบเขต คือ การกำหนดว่านาฏยศิลป์ชุดนั้นจะครอบคลุมเนื้อหาสาระอะไรบ้างและอย่างไรบ้าง ซึ่งจะต้องมีการวางแผนว่าต้องการที่จะนำเสนออะไรบ้าง และเลือกรูปแบบการนำเสนอที่ชวนติดตาม ใช้เวลาในการแสดงที่มีความเหมาะสมไม่นานจนเกินไป มีการนำอุปกรณ์เข้ามาใช้เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับชุดการแสดง ซึ่งศิลปะการแสดงจะต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นดั้งเดิม
5. การกำหนดรูปแบบ โดยจะต้องเลือกบทของเพลงนาที่จะมีการนำเสนอ เช่น บทชมโฉม บทรัก บทเกี้ยวสาว โดยต้องมีการศึกษาหาข้อมูลและคำนึงถึงฉันทลักษณ์ในบทเพลงนาแต่ละบทอย่างถ่องแท้ เพื่อให้การนำเสนอไม่ทำให้บทของเพลงนาเกิดการสูญเสียอัตลักษณ์ ซึ่งในการเลือกบทเพลงนาควรเลือกบทที่ผู้ชมหรือนักท่องเที่ยวชมสามารถเข้าใจได้ง่าย ไม่มีความสลับซับซ้อน เลือกใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย
6. การกำหนดองค์ประกอบอื่นๆ คือ การกำหนดแนวคิดหรือรูปแบบขององค์ประกอบอื่นๆ ที่ใช้ในการแสดง เช่น
6.1 เพลงและดนตรีที่ใช้ในการแสดง ในอดีตการเล่นเพลงนามีท่วงทำนองช้าเนิบนาบ ไม่มีดนตรีประกอบ หากจะต้องนำมาปรับใช้เพื่อสื่อความหมายด้านการท่องเที่ยว อาจมีการนำดนตรีมาใช้ประกอบในการร้องเพลงนาหรือมีการเลือกใช้ดนตรีที่มีความเหมาะสมและสามารถถ่ายทอดความรู้สึกให้กับผู้ฟังเหมือนได้รับบรรยากาศเสมือนจริง ในการเล่นเพลงนาหลังช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว
6.2 การประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย เครื่องแต่งกายนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการแสดง เพราะการแต่งกายจะช่วยสร้างความงดงาม บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ และบุคลิกภาพที่ดีให้กับนักแสดง การเลือกใช้สีสันที่มีความเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง หรือฉากที่ใช้แสดง เช่น เรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ อาจเลือกใช้สีเขียว หรือในการเล่นเพลงนาผู้ที่แสดงอาจนำการแต่งกายเลียนแบบชาวนา ในการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายให้กับผู้แสดง เป็นต้น รวมทั้งรูปร่างที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลในการแสดง
6.3 นักแสดง นักแสดงที่ใช้ในการแสดงควรมีความเหมาะสมกับบทบาทของตัวละครแต่ละประเภท รวมทั้งรูปร่าง สัดส่วน หน้าตา และทักษะทางด้านการแสดง ควรมีการใช้นักแสดงทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อให้ง่ายต่อการแสดงเพลงนา ซึ่งต้องมีบทร้องตอบโต้กัน โดยเฉพาะบทเกี้ยวชมสาวที่ต้องอาศัยผู้ชายในการทำท่าทางในการจีบสาว
6.4 ฉากที่ใช้ในการแสดงควรมีความเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง และมีขนาดที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ที่ใช้ในการแสดง อาจมีการจัดทำฉากในการแสดงเพลงนาให้เป็นทุ่งนาเพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับผู้ชมเหมือนได้รับชมการเล่นเพลงนาในบรรยากาศเสมือนจริง
6.5 เวลาที่ใช้ในการแสดง เวลาที่ใช้ในการแสดงควรมีความเหมาะสม ไม่นานเกินไปจนทำให้ผู้ชมหรือนักท่องเที่ยวเกิดความเบื่อหน่าย ควรมีความกะทัดรัด หรือเลือกนำเสนอเพียงบางส่วนที่สำคัญเท่านั้น
7. การออกแบบนาฏยประดิษฐ์ มีลักษณะคล้ายกับการออกแบบทัศนศิลป์ซึ่งสามารถนำทฤษฎีต่างๆ มาใช้ ดังนี้
7.1. ทฤษฎีทัศนศิลป์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ องค์ประกอบทัศนศิลป์ ได้แก่ จุด เส้น รูปทรง สี พื้นผิว และการจัดองค์ประกอบทัศนศิลป์ ซึ่งมีหลัก 4 ประการ คือ ความมีเอกภาพ ความสมดุล ความกลมกลืน และความแตกต่าง
7.2. ทฤษฎีแห่งการเคลื่อนไหว หลักการที่มนุษย์ใช้ร่างกายเคลื่อนไหวให้เกิดอิริยาบถต่างๆโดยการออกแบบท่าทางในการแสดง การออกแบบท่าทางจะต้องสามารถสื่อถึงเนื้อหาในการแสดงได้อย่างชัดเจน ซึ่งการออกแบบท่าทางอาจมีการเลียนแบบท่าทางการเคลื่อนไหวในระหว่างที่มีการร้องเพลงนา หรืออาจทำการออกแบบท่าทางในการแสดงเพื่อเล่าขั้นตอนในการร้องเพลงนา โดยเริ่มตั้งแต่การร้องเพลงนาในช่วงเช้า มักจะร้องบทไหว้ ยามสายมักจะร้องบทชมโฉม ยามเที่ยงมักจะร้องบทรัก ยามบ่ายมักจะร้องบทลา เป็นต้น เพื่อเป็นการนำเสนอเรื่อวงราวระหว่างบทร้องที่สอดคล้องกับช่วงเวลา และสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของคนในท้องถิ่น
7.3. ขั้นตอนในการออกแบบนาฏยศิลป์ ประกอบด้วย กำหนดโครงสร้างรวม คือ การร่างภาพให้เห็นองค์ประกอบต่างๆของภาพตามจินตนาการของการประดิษฐ์ชุดระบำ การแบ่งช่วงอารมณ์ การออกแบบในแต่ละช่วงบทร้องเช่น บทชมโฉม บทรัก บทเกี้ยวสาว อาจใช้จำนวนนักแสดงและท่าทางที่แตกต่างกันเพื่อสะท้อนอารมณ์ที่ต้องการในช่วงนั้นๆ รวมทั้งการจัดรูปแบบแถว ทิศทาง การเข้าออก และการเคลื่อนที่ของผู้แสดงแต่ละช่วงบนเวทีเพื่อให้ได้ความหมายตามต้องการและเกิดความสวยงาม เหมาะสม
ดังนั้น การปรับใช้เพลงนาซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านผ่านศิลปะการแสดงเพื่อสื่อความหมายทางการท่องเที่ยว จำเป็นต้องมีการปรับใช้ผ่านศิลปะการแสดง เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และตรงกับความต้องการของผู้ชม โดยรูปแบบหรือลักษณะของการแสดงบางส่วนอาจปรับเปลี่ยนไปบ้างตามความเหมาะสม แต่การปรับใช้เพลงนาซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านผ่านศิลปะการแสดงก็ยังคงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายตำนานพื้นบ้านและศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทั้งนี้ยังเป็นการเชื่อมโยงบุคคลในท้องถิ่น และทุกภาคส่วนของการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งผลต่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความรัก ความสามัคคี และความเข้มแข็งของคนในชุมชน และถ้าสามารถนำมาปรับใช้โดยการนำเสนอในรูปแบบของศิลปะการแสดงเพื่อใช้สื่อความหมายทางการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพรได้จริง นอกเหนือจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ แผ่นพับ และโบรชัวร์ต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้การสื่อความหมายด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่จะช่วยให้ปัญหาด้านการสื่อความหมายด้านการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพรลดน้อยลง ทำให้ผู้ที่รับชมหรือนักท่องเที่ยวสามารถรับรู้ และเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น และการปรับใช้เพลงนาผ่านศิลปะการแสดง ยังเป็นเครื่องมือสื่อความหมายที่ยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามอันเป็นทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญ และเป็นการรักษา สืบทอดการเล่นเพลงนาจังหวัดชุมพรให้กลับมาเป็นศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง สามารถสร้างความตระหนักให้กับคนรุ่นหลังให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดชุมพรเพิ่มมากขึ้น ก่อนที่การเล่นเพลงนาจะสูญหายไปพร้อมกับบุคคลรุ่นสุดท้ายที่ยังคงสืบทอดการเล่นเพลงนาจากบรรพบุรุษ
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุวัฒนธรรม. (2542). พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดชุมพร . จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.
ภิญโญ จิตต์ธรรม. (2516). เพลงนา เพลงเรือ เพลงบอก และลำตัด. สงขลา : โรงพิมพ์เมืองสงขลา.
พีรพงศ์ เสนไสย. (2546). ความงามในนาฏยศิลป์. สาขานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สดใส พันธุมโกมล. (2524). ศิลปะการแสดง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2556. จาก : http://www.viewrpr.ob.tc/p1.html.
เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต. (2532). การสื่อความหมายเพื่อการเรียนรู้. โรงพิมพ์ วัฒนาพานิช.
สุปรียา สุวรรณรัตน์. (2539). วิเคราะห์เพลงนาจังหวัดชุมพร. การศึกษาตามหลักสูตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาเอกภาษาไทย. มหาวิทยาลัยทักษิณ.
สุรเชษฎ์ เชษฐมาส. (2543). ปรัชญาของการสื่อความหมายธรรมชาติ. กรุงเทพฯ : คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร. (2551). การมีส่วนร่วมของเครือข่ายวัฒนธรรมและชุมชนในการบริหารจัดการวัฒนธรรม กรณีศึกษา เพลงนา อำเภอสวี จังหวัดชุมพร. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.
สุรพล วิรุฬห์รักษ์. (2544). นาฏยศิลป์ปริทรรศน์. ภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาษาอังกฤษ
Tilden, F. (1977). Interpreting our heritage. Chapel Hill: University North Carolina Press.