“คนไทยเข้าใจประชาคมอาเซียนมากเพียงพอหรือยัง”

   สรรพัชญ์ เจียระนานนท์ เสนอแนวคิดในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันนั้น จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนในภูมิภาคนี้ ให้เกิดความใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อการสานสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการสร้างสันติวัฒนธรรม ในรูปแบบของความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม การสื่อสารข้ามวัฒนธรรมนับเป็นความสำคัญยิ่ง

   ปัจจัยที่จะเสริมสร้างการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม ที่กะทัดรัด น่าสนใจ และน่าติดตามอย่างเป็นรูปธรรมในบทความฉบับนี้ เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ควรติดตาม

 

โทรทัศน์กับการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม : กรณีศึกษา ประชาคมอาเซียน

Cross-cultural communication on Television : Case Study ASEAN Communities

 

สรรพัชญ์ เจียระนานนท์

 

อาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทนำ

       การสื่อสารเป็นกระบวนการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการส่งสาร การรับสาร การรับรู้และการตีความ องค์ประกอบของการสื่อสารได้แก่ ผู้ส่งสาร ผู้รับสาร สาร และช่องทาง ดังที่แบบจำลองของเบอร์โล ได้แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ในปัจจุบัน การสื่อสาร ทำได้กว้างไกลและไร้ขีดจำกัด เนื่องด้วยเทคโนโลยีที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากสมัยก่อนที่การสื่อสารระหว่างคนสองคนจากแดนไกลต้องใช้ระยะเวลาหลายวัน สมัยปัจจุบันใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที จากสมัยก่อนที่การสื่อสารมวลชน การแพร่ภาพกระจายเสียงของสื่อมวลชนจะถ่ายทอดไปยังประชาชน ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์จำนวนมาก และใช้ระยะเวลาในการเชื่อมต่อสัญญาณ แต่ปัจจุบัน ใช้เพียงโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนผนวกกับระบบอินเทอร์เน็ต ก็สามารถเชื่อมต่อสัญญาณถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชนต่างๆ รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกได้แบบวินาทีต่อวินาที

       ในปีพ.ศ.2558 จะเป็นปีที่มีความสำคัญต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เวียดนาม ไทย บรูไน สิงคโปร์ กัมพูชา อินโดนีเซีย และลาว เพราะจะเป็นปีที่ทั้ง 10 ประเทศก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบ แม้ว่าเราจะเป็นประเทศที่ประชาชนไปมาหาสู่กันเป็นประจำ แต่การก้าวขึ้นมาเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันนั้น ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภูมิภาคอาเซียนจะมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น มีการสื่อสาร ติดต่อ ปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน ในแง่ปัจเจกบุคคลและในแง่ของมวลชนมากขึ้น มีการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนและการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมมากขึ้น และทำให้การสื่อสารของคนในภูมิภาคเดียวกันนี้มีความใกล้ชิดและสื่อสารต่อกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อมวลชน ในช่วงภาวะที่มีความตึงเครียดระหว่างแนวชายแดน เราจะเห็นข่าวที่นำเสนอว่า ประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยเช่น ประเทศกัมพูชานั้น สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ของประเทศไทยและติดตามรับชมข่าวสารบ้านเราอยู่เป็นประจำ สอดคล้องกับงานวิจัยของ อำพา แก้วกำกง (2551) ซึ่งศึกษาทัศนคติด้านสังคมและวัฒนธรรมของชาวกัมพูชาในประเทศไทยที่มีต่อความสัมพันธ์ไทยกัมพูชาพบว่าชาวกัมพูชาเริ่มเห็นความสำคัญของการศึกษาและมีค่านิยมให้ลูกหลายเรียนสูงๆ เรียนภาษาไทยและต้องการให้คนไทยเรียนภาษาเขมรเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น

       ในขณะนี้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนกำลังจะผนึกรวมกันเป็นหนึ่งเดียว จากเดิมที่อยู่แยกกันอย่างหลวมๆ มาวันนี้ 10 ประเทศดังกล่าวซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่ของการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ คล้ายคลึงกันในบางอย่าง เช่น ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ กำลังจะมีการเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแง่มุมมองด้านวัฒนธรรมทั้งจากตัวบุคคลและจากสื่อสารมวลชน ถึงแม้ว่าเวลาที่คนสองคนมาสื่อสารกัน มักจะเป็นการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมอยู่แล้ว โดยอาจจะเป็นวัฒนธรรมระหว่างเพศ อายุ ระดับการศึกษา ฉะนั้น ในความเป็นระหว่างวัฒนธรรม (Intercultural ness) นั้นจึงมีขอบเขตได้หลายแบบ โดยในที่นี้จะได้กล่าวถึงวัฒนธรรมที่มีจุดร่วมกันบางประการในสถานะที่มีพื้นแผ่นดินใกล้ชิดกัน และจุดต่างกันอย่างสิ้นเชิงในบางสถานะตามลักษณะความเป็นอยู่ของคนในแต่ละสังคม เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ

ทำไมต้องเป็นประชาคมอาเซียน

       ประชาชนหลายคนในสังคมยังสับสน และอาจจะไม่เข้าใจว่า การเป็นประชาคมอาเซียน คืออะไรจะส่งผลอย่างไรต่อการดำเนินชีวิตต่อไปในอีก2ปี ข้างหน้า และอีกหลายๆปีถัดจากนั้น ถึงแม้ว่าจะมีเวทีสัมมนาหลายๆเวทีในขณะนี้ที่เป็นการสัมมนาให้ความรู้ วิเคราะห์เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้เข้าร่วมงานจะเข้าใจประชาคมอาเซียนมากกว่าเดิมหรือไม่ และถึงแม้ว่าจะมีหนังสือที่อธิบายความเป็นอาเซียน ประชาคมอาเซียนที่วางขายอยู่เป็นจำนวนมากในร้านหนังสือ ก็ยังไม่มีอะไรที่จะยืนยันได้ว่า ประชาชนคนไทยเข้าใจประชาคมอาเซียนมากเพียงพอ จากงานวิจัยของ     ทิพย์พาพร มหาสินไพศาล เรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในระหว่างเดือนสิงหาคมกันยายน 2555 พบว่า ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครมีระดับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนอยู่ในระดับปานกลางและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครต่อประชาคมอาเซียน คือ ปัจจัยด้านสาเหตุการรับรู้ ระดับการรับรู้ ประโยชน์การพัฒนา แสดงให้เห็นว่าไทยแม้กระทั่งคนในกรุงเทพมหานครที่ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีการศึกษาที่ค่อนข้างสูง มีสื่อมวลชน มีข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายแต่ก็ยังมีการรับรู้ที่น้อยมากแล้วถ้าหากเป็นคนชนบทห่างไกลที่ขาดการรับรู้ข่าวสาร ขาดเทคโนโลยีในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพคงจะยิ่งลดน้อยลงไปอีก

       ดังนั้นเราลองมาทำความเข้าใจกันเบื้องต้นก่อนว่า ประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศอยู่แล้ว เราเป็นอาเซียนกันมานาน ติดต่อค้าขายลงทุน มีการจัดการประชุมหลายต่อหลายครั้งทั้งในประเทศไทยของเราเองและในกลุ่มประเทศสมาชิกด้วยกัน

       การเป็นประชาคม หมายถึง การมีส่วนร่วม การเป็นเจ้าของร่วมกัน ต่างจากการเป็นบริษัทหรือสมาคม ประชาคมมีความหมายลึกซึ้งกว่า  เพราะมีมิติทางมนุษยธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ถูกต้อง มีความห่วงใย ความภาคภูมิใจแฝงอยู่ อย่างมีนัยสำคัญอยู่ในคำคำนี้ ซึ่งเราควรทำให้เกิดขึ้น (สุรินทร์ พิศสุวรรณ, 24-25)

       ทั้งนี้ในปี 2558 นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของกฎบัตรอาเซียน ที่ว่า การสร้างประชมคมอาเซียนที่สมบูรณ์นั้น ประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ 1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน หรือ เอพีเอสซี (ASEAN Political-Security Community: APSC) 2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (SAEAN Economic Community : AEC) และสุดท้าย 3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หรือเอเอสซีซี (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)

       หลังจากนี้เมื่อประเทศไทยเป็นเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ในแง่ของการติดต่อสื่อสาร การค้าขาย การเป็นประชาคมเดียวกัน ที่ไม่ได้แบ่งแยกกันแล้ว การทำความเข้าใจในข่าวสาร สภาพบ้านเมือง วัฒนธรรม ความคิด ของคนในประเทศต่างๆทั้ง10 ประเทศ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เราจะเริ่มเห็นการทำข่าว การนำเสนอสารคดี และรายการ ที่พูดถึงประเด็นต่างๆเหล่านี้ในจอโทรทัศน์มากขึ้น

 

การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม

       ในการศึกษาเรื่องการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมนั้น มีแนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 แนวคิด คือ 1. เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Culture Identity) 2. การศึกษาองค์ประกอบทางวัฒนธรรม และ 3. การเปลี่ยนแปลงหรือการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม (Cultural change/exchange)

       1. เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม  (Culture Identity)

       มีผู้ให้ความสนใจศึกษาเรื่อง เอกลักษณ์ กล่าวไว้ว่า เอกลักษณ์เป็นความต้องการของมนุษย์ที่จะไม่เหมือนคนอื่นและต้องการที่จะแตกต่าง (Need to be Difference) ซึ่งก็แล้วแต่บุคคลในสังคมนั้นๆว่าต้องการมีความแตกต่างมากน้อยเพียงใด เช่น หากเป็นผู้หญิงไทย จะต้องมีกิริยามารยาทที่เรียบร้อย นุ่งห่มสไบ เวลาที่เราจะแสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้คนต่างชาติดูก็จะใช้สัญลักษณ์เช่น วัดพระแก้ว เรือสุพรรณหงส์ ลายผ้าไหมไทย อาหารไทย มวยไทย รถตุ๊กๆเป็นต้น  หรือถ้าหากหมายถึงคนพม่าจะนุ่งโสร่ง สาวพม่าจะมีผิวพรรณที่งดงาม ดังสำนวนไทยที่ว่า “ผิวพม่า นัยน์ตาแขก” 

       2. การศึกษาองค์ประกอบทางวัฒนธรรม

       ในแง่มุมขององค์ประกอบทางวัฒนธรรม “อำนาจ” ของผู้นำจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบการแสดงออกของคนในชาติ ในแง่นี้ผู้ทำสื่อมวลชน องค์กรสื่อต่างๆ สามารถนำเสนอให้เราได้เห็นว่า การเข้าไปทำข่าวในประเทศของสมาชิกกลุ่มอาเซียนนั้นจะมีมากขึ้น โดยมีสิ่งที่น่าจับตามองคือ การทำข่าวนั้นมีสิ่งที่สื่อมวลชนยึดหลักหนึ่งก็คือเรื่องของ เสรีภาพของการ นำเสนอ แต่เราจะพบว่าในบางประเทศ เช่น ประเทศพม่า ซึ่งมีการปกครองแบบเผด็จการทหาร และรัฐบาลยังมีบทบาทในการควบคุมสื่ออยู่มาก การรับรู้ก็เพียงแต่ข่าวที่ออกมาจากสื่อของรัฐเท่านั้น ในขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงในพม่าเพียงแค่หนังสือพิมพ์ของเอกชนที่เคยเป็นสิ่งต้องห้าม เพิ่งจะได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์ได้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประชาชนต่างตื่นเต้นและดีใจที่จะได้รับรู้ข่าวสารอย่างอิสระ ไม่มีการเซ็นเซอร์จากรัฐบาลพม่าอีกต่อไป

       ระบบค่านิยมทางวัฒนธรรม ศาสนา ของคนในอาเซียนในบางประเทศก็ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ดังเช่น ชาวกัมพูชาเห็นว่าศาสนาพุทธ มีความใกล้เคียงกันระหว่างของไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีที่จะเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกันได้ อาทิ การทอดผ้าป่า ทอดกฐิน การจัดงานบุญร่วมกัน อีกทั้งในเรื่องของการแต่งกาย ไทยและกัมพูชามีลักษณะการแต่งกายคล้ายกัน แม้แต่ภาษาก็มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีสันสกฤตเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ กัมพูชายังรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้ ในขณะที่ไทยปรับเปลี่ยนและเพี้ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก เนื่องจากการยอมรับกระแส         โลกาภิวัตน์ ที่มากกว่าชาวกัมพูชา

       3. การเปลี่ยนแปลงหรือการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

       นักวิชาการกลุ่มหนึ่งนำโดยฟรานส์ โบแอส (Franz Boas) แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เชื่อในเรื่องการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม จากจุดศูนย์กลางของสังคมหนึ่ง และขยายวงกว้างออกไปยังชุมชนอื่นหรือสังคมอื่น วัฒนธรรมที่แผ่ขยายออกไปยังชุมชนอื่นนี้ อาจเป็นวัฒนธรรมย่อย ส่วนใดส่วนหนึ่งในลักษณะขนบธรรมเนียมประเพณี หรือความเชื่อ หรือประติมากรรมและสถาปัตยกรรมก็ได้ (อมรา พงศาพิชญ์, 2553)

       การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมภายในสื่อโทรทัศน์ ในอดีตเราเคยรับเอาภาพยนตร์ฮ่องกง ภาพยนตร์จีน ภาพยนตร์ฝรั่ง หรือภาพยนตร์เกาหลีเข้ามาฉายทางโทรทัศน์ของไทย อย่างเช่น เรื่อง แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง3 นับเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีผ่านสื่อละครโทรทัศน์โดยผูกวัฒนธรรมเข้ากับการดำเนินเรื่องราว ซึ่งจากการวิเคราะห์เนื้อหาทางวัฒนธรรมทั้ง 3 ด้าน คือ 1 วัฒนธรรมด้านการบริโภค 2 วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย และ 3 วัฒนธรรมด้านการท่องเที่ยว เมื่อละครได้รับความนิยมจากผู้ชม ผู้ชมก็จะเกิดการเรียนรู้และซึมซับวัฒนธรรมจากประเทศเกาหลีไปโดยปริยาย

       หากเราได้ยินข่าวว่า มีการห้ามมิให้ผู้ที่มีหางเสียงทองแดงแบบคนใต้ไปอ่านข่าวโทรทัศน์ เพราะคนอ่านข่าวโทรทัศน์จะต้องอ่านด้วยสำเนียงแบบคนกรุงเทพ ข่าวนี้ได้แสดงว่าผู้ที่ออกกฎนั้นมีความคิดว่า “ภาษาไทยนั้นเป็นวัฒนธรรมที่ต้องมีเพียงแบบเดียว คือ แบบกรุงเทพ” และไม่ยอมรับภาษาในสำเนียงอื่นๆ เมื่อเรามีการเปิดเสรีทางการค้า เศรษฐกิจ ในอาเซียน ไม่ได้มีเพียงแค่ภาษากลางแบบกรุงเทพ แต่ยังมีภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาลาว ภาษามาเลย์หรือภาษามลายู ภาษาอังกฤษ ที่เป็นภาษาสากล ที่จะเริ่มมีบทบาทในหน้าสื่อโทรทัศน์มากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งกลุ่มวัฒนธรรมย่อย (Subculture) เหล่านี้ เราเริ่มได้เห็นจากโทรทัศน์หลายๆช่องที่เริ่มมีการสอนภาษาต่างๆของกลุ่มประเทศในอาเซียน เช่น คำทักทายง่ายๆ ซึ่งเป็นภาษาแบบเบื้องต้นที่ใช้ในการสื่อสาร เพื่อให้คนไทยเริ่มรับรู้ภาษาเพื่อไว้ใช้สื่อสารกับเพื่อนบ้านของเรา ทำให้สำเนียงที่จะเกิดในโทรทัศน์ต่อไป คงไม่ใช่เพียงสำนวนคนกรุงเทพ หรือสำนวนแบบภาคกลางในสื่อโทรทัศน์เพียงอย่างเดียวในอนาคต

       เสรีภาพในการนำเสนอที่แตกต่างกันตามระบอบการปกครองที่ต่างกันของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่สื่อผ่านสื่อโทรทัศน์ เราจะได้เห็นวัฒนธรรมที่แปลกแตกต่างกันนอกจากสภาพหน้าตาของบ้านเมืองที่แตกต่างกัน เห็นการนับถือศาสนา ที่แตกต่างกัน พิธีกรรม การทำบุญตักบาตร การไหว้พระ การสวดมนต์ มีอยู่หลายๆรายการตามโทรทัศน์ที่นำเสนอมุมของพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา เช่น ในประเทศพม่า ลาว หรือกัมพูชา ที่นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับของเรา แต่ความเคร่งครัดและความนับถือ แตกต่างกันค่อนข้างมาก คนพม่ายังไม่รับวัฒนธรรมอื่นๆเข้ามามากอย่างไทย ประเทศยังปิดรับในบางเรื่องทำให้ ในมุมของศาสนา ประชาชนยังเลื่อมใสศรัทธาและเคร่งครัดในการนับถือปฏิบัติ หรือเคารพสักการะพระสงฆ์อยู่มาก

       ปลายปี 2558 ประเทศไทยและอีก 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะจับมือกันก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) เพื่อสร้างประชาคมที่มีความแข็งแกร่งทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ประชาคมอาเซียนจะทำให้ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมภายในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้นทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมมากขึ้น อาจเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเกิดขึ้น เพราะถึงแม้บางประเทศจะอยู่ใกล้ชิดกับเรา แต่วัฒนธรรม ความคิด ความเป็นอยู่นั้นแตกต่างกัน คนใน 10 ชาติอาเซียนมีความเหมือนกันแค่บางส่วน คนไทยเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมอเมริกันกันมานาน และเราก็เข้าใจหลายอย่างเราก็ซึมซับมาแบบไม่รู้ตัว เรารู้จักญี่ปุ่นและเกาหลี วัฒนธรรม อาหาร ตอนนี้เราคงต้องเริ่มหันมาสนใจวิถีและเรื่องราวของผู้คนที่กำลังจะรวมตัวกัน 550 ล้านคนนี้ว่าเขาเป็นใคร มาจากไหนกันบ้าง และจะเกิดการกลืนกินของวัฒนธรรมหรือไม่

บทสรุป

       ปัญหาที่เราอาจจะพบในอนาคตในเรื่องของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม น่าจะแบ่งได้ออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ 1.การรับวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาในสังคมของตนเอง และ 2.การส่ง วัฒนธรรมไทยออกสู่โลกภายนอก  ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกลไปอย่างไม่หยุดยั้งของสื่อ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ที่สามารถส่งต่อวัฒนธรรมต่างๆ ถ่ายทอด นำมาเผยแพร่มาสู่คนไทย ซึ่งเป็นคนที่รับวัฒนธรรมต่างชาติได้ง่าย ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมผสม การปรับเปลี่ยนทางสังคมดังเช่นการเปิดประชาคมอาเซียน ย่อมทำให้การสื่อสารเรื่องราวต่างๆผ่านสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลเช่นโทรทัศน์ที่จะเผยแพร่ความเชื่อของคนในแต่ละชนชาติให้ส่งผ่านเพื่อสร้างความรับรู้ร่วมกัน ผู้คนมากหน้า หลากหลายภาษา หลากหลายวัฒนธรรมจะเดินทางไปมาหาสู่กัน มีการสื่อสารระหว่างกัน คนไทย ลาว พม่า เขมร เวียดนาม ฯลฯ จะมีการสื่อสารผ่านสื่อสารมวลชน ซึ่งทำให้เกิดการซึมซับวัฒนธรรม ดังเช่นที่อดีต คนจีนอพยพมาเมืองไทย มาอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ทำให้เรามีวัฒนธรรมการให้แต๊ะเอีย การไหว้พระจันทร์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของคนในสังคมไทยและวัฒนธรรมนี้ยังปรากฏเนื้อหาบนหน้าจอโทรทัศน์ในทุกๆปีเมื่อถึงวันเวลาของเทศกาลนั้นๆ ทำให้เรา ซึมซับและปฏิบัติสืบทอดต่อๆกันมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากการเปิดประชาคมอาเซียน เราอาจจะมีวัฒนธรรมอาเซียน เกิดขึ้น โดยเป็นการผสมผสานความเป็นเอเชียเข้าไว้ด้วยกัน

       เมื่อโทรทัศน์สามารถสื่อสารข้ามพรมแดนระหว่างประเทศได้ซึ่งภูมิประเทศของคนในอาเซียนที่มีความแตกต่างในเชิงภูมิศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และศาสนา ฯลฯ ผู้ผลิตที่ส่งข่าวสารผ่านโทรทัศน์ จึงต้องศึกษาวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ถูกต้อง เพราะมีผลต่อการสร้างและสื่อสารวัฒนธรรมไปสู่ประชาชนต่อไปในอนาคต

 

บรรณานุกรม

หนังสือ

กาญจนา แก้วเทพ. (2542). ศาสตร์แห่งสื่อและวัฒนธรรมศึกษา. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

______________. (2553). แนวพินิจใหม่ในสื่อสารศึกษา. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์

เกษม ศิริสัมพันธ์. (2551). ทฤษฎีสื่อสารมวลชน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุรินทร์ พิศสุวรรณ. (2555). อาเซียน รู้ไว้ ได้เปรียบแน่. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์.

อมรา พงศาพิชญ์. (2553). “บทที่ 2 มนุษย์กับวัฒนธรรม” ใน สังคมและวัฒนธรรม เอกสารประกอบการศึกษา วิชา 313-183. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

วิทยานิพนธ์

ดุริยางค์ คมขำ. (2553). การผลิต การเผยแพร่ และการบริโภคละครซีรี่ส์เกาหลี กรณีศึกษา เรื่อง แดจังกึมและเจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

 

บทความวิจัย

ทิพย์พาพร มหาสินไพศาล. (2555). “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนวารสารปัญญาภิวัฒน์ 4, 1 (กรกฎาคมธันวาคม) : 1-10

อำพา แก้วกำกง. (2551). “ทัศนคติด้านสังคมและวัฒนธรรมของชาวกัมพูชาในประเทศไทยที่มีต่อความสัมพันธ์ไทยกัมพูชา วารสารเอเชียตะวันออกศึกษา : 7-32

 

เว็บไซต์

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2556). ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน?. [ออนไลน์]. ค้นคืนวันที่ 12 พฤษภาคม 2556. จาก http://bit.ly/YggnrN.

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. (2556). มิติใหม่เสรีภาพสื่อมวลชนพม่า. [ออนไลน์] ค้นคืนวันที่ 12 พฤษภาคม 2556 จาก http://www.dailynews.co.th/article/84/194104.