บทที่ 1 บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

          คณิตศาสตร์สามารถใช้ในการพัฒนาคน พัฒนาเทคโนโลยี เนื่องจากคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ฝึกให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุผล มีความคิดที่เป็นระบบ เป็นคนริเริ่มสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่มีความยุ่งยาก และสลับซับซ้อนหลายอย่าง เช่น การผลิตเครื่องจักรกล การสำรวจดวงดาว การสร้างอาคารฯลฯ จะสำเร็จลงได้ก็ต้องใช้ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ (นวลนภา บรรพตาธิ, 2553, น.1) นอกจากนี้อุไรวรรณ สระกระวี, อุษาวดี จันทรสนธิ และกัญจนา ลินทรัตนศิริกุล (2554, ออนไลน์) ได้กล่าวว่า คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการคิด และการใช้สติปัญญาของมนุษย์ เป็นวิธีที่นำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ สามารถใช้อธิบายสิ่งต่างๆ และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ การที่รัฐบาลได้จัดให้มีการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จึงเป็นการวางพื้นฐานในเรื่องการคิดคำนวณซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต และเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ในการศึกษาต่อ แต่การเรียนการสอนคณิตศาสตร์นั้นยังประสบปัญหาหลายประการ

          จากความสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า คณิตศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความคิดมนุษย์ แต่ในสภาพปัจจุบัน พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ จะเห็นได้จากผลสอบ O-NET ของวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ย 41.95 คะแนน จาก 100 คะแนน ซึ่งเป็นวิชาที่มีคะแนนเฉลี่ยที่ยังต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ในปี 2556 (สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ, 2556) จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นจะสะท้อนให้เห็นว่า การเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ยังคงเป็นปัญหา และจำเป็นต้องมีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          สิ่งสำคัญคือ ผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จโดยผู้เรียนคิดว่าวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ยาก ประกอบกับครูส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการสอนตามแบบเรียนเพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้เรียนไม่สนใจเรียน ซึ่งสมวงษ์  แปลงประสพโชค, สมเดช บุญประจักษ์ และจรรยา ภูอุดม (2552, น.21)ได้สำรวจความคิดเห็นของครูและนักเรียนเกี่ยวกับสาเหตุเด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์พบว่า มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับคุณลักษณะของครู และนักเรียนโดยครูโทษนักเรียนว่านักเรียนไม่ชอบคิดไม่ชอบแก้ปัญหาขาดการฝึกฝน และทบทวนบทเรียนส่วนนักเรียนก็โทษครูว่าเพราะครูสอนไม่ดี มีวิธีการสอนที่ไม่น่าสนใจ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ

          กนกพร  พั่วพันธ์ศรี (2555, น.4) ได้ศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งพิจารณาแล้วว่าแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เป็นสื่อการเรียนอย่างหนึ่งที่น่าจะสามารถใช้ในการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า แบบฝึกทักษะช่วยให้นักเรียนได้มีทักษะเพิ่มขึ้น โดยการทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความสนใจ และพอใจหลังจากนักเรียนได้เรียนรู้เรื่องนั้นๆมาบ้างแล้วถ้านักเรียนได้ทำแบบฝึกหลายครั้งหลายหนพฤติกรรมของนักเรียนจะเปลี่ยนไปคือทำได้คล่องแคล่วรวดเร็วขึ้นทำได้ถูกต้องแม่นยำขึ้นทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติช่วยให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง เป็นการฝึกด้วยการกระทำจริง จึงทำให้จดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดี และนำไปแก้ไขปัญหาในสถานการณ์เดียวกันได้ เพราะได้รับประสบการณ์ตรงมาแล้วทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้น เพราะแบบฝึกทักษะจะเป็นเครื่องมือทบทวนความรู้ที่นักเรียนได้เรียน และทำให้เกิดความชำนาญคล่องแคล่วในเนื้อหายิ่งขึ้นทำให้ครูทราบความเข้าใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียน ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถปรับปรุง เนื้อหา วิธีการสอน และกิจกรรมในแต่ละบทเรียนตลอดจนสามารถช่วยนักเรียนให้เรียนได้ดีที่สุดตามความสามารถ ฝึกให้นักเรียนมีความเชื่อมั่น และสามารถประเมินผลงานของตนเองได้ และยังฝึกให้นักเรียนได้ทำงานตามลำพัง โดยมีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายให้ได้ฝึกใช้ความคิดเชิงคณิตศาสตร์ เข้าใจวิธีการคิดคำนวณและดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ ได้

          การสอนคณิตศาสตร์ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เรื่องที่ผู้วิจัยเลือกจะทำการศึกษาก็คือ เรื่อง การหาร ในเรื่องการหารนักเรียนยังมีความบกพร่อง และสับสนในเรื่องตัวหารกับผลหาร และมักจะนำเอาตัวหารมาเป็นคำตอบ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชุดฝึกทักษะของ มัทนา  สีแสด (2552, บทคัดย่อ) ได้ศึกษาการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการคิดคำนวณ เรื่องการหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ผลการศึกษาพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เรื่องการหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีจำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 มีจำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 90.00 และคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์คิดเป็นร้อยละ 72.57 และสอดคล้องกับผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้แบบฝึกทักษะของ ทองจันทร์  ปะสีรัมย์ (2555, บทคัดย่อ) ทำการวิจัยเรื่องผลการใช้ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่องการบวก และการลบเศษส่วนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผลการวิจัยพบว่า การเปรียบเทียบผมสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน และหลังเรียนด้วยชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องการบวกและการลบเศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า ค่าเฉลี่ยผลการเรียนรู้ของนักเรียนหลังเรียนด้วยชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ มีคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

          ดังนั้น ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับผลของชุดฝึกทักษะที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง การหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่2โรงเรียนวัดบางประกอก โดยใช้ชุดฝึกทักษะ เรื่อง การหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งผลการวิจัยในครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

คำถามของการวิจัย

ชุดฝึกทักษะจะส่งผลอย่างไรต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เรื่อง การหารของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดวัตถุประสงค์ ไว้ดังนี้

  1. เพื่อหาสร้างชุดฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การหาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี ที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ คือ E1/E2 เท่ากับ 70/70
  2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชา เรื่อง การหาร นักเรียนชั้นประถมศึกษาปี   ที่ 2 ก่อนเรียน และหลังเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะ

สมมติฐานของการวิจัย

  1. ชุดฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์เรื่องการหารของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/6 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ E1/E2 เท่ากับ 70/70
  2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เรื่อง การหารของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/6หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะ

ขอบเขตของการวิจัย

ประชากรที่ใช้ในงานวิจัย
          ประชากรที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนวัดบางปะกอก สำนักงานราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร จำนวน 7 ห้องเรียน รวมทั้งหมด 245 คน

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัย
          กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่  2 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนวัดบางปะกอก สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 ห้องเรียน รวมทั้งสิ้น 35 คน โดยวิธีการสุ่มเลือกแบบเจาะจง เนื่องจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ห้อง 6 มีผลการเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนด

ตัวแปรที่ศึกษา

ตัวแปรต้น คือชุดฝึกทักษะเรื่องการหาร
ตัวแปรตาม คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องการหาร
เนื้อหา
          เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยเป็นเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน เรื่อง การหาร ชั้นประถมศึกษาปี   ที่ 2 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551
ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา
          ระยะเวลาที่ใช้ในการทดลอง ทําการทดลองในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา2558 โดยกําหนดเวลาทําการทดลองจํานวน 11 คาบ (คาบละ 50 นาที) ซึ่งแบ่งเป็นการดําเนินกิจกรรม การเรียนการสอนเรื่องการหาร จํานวน 9 คาบ และทดสอบก่อนเรียน 1 คาบ ทดสอบหลังเรียน 1 คาบ

นิยามศัพท์เฉพาะ

  1. นักเรียน หมายถึง ผู้เรียนที่กำลังศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดบางปะกอก ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558
  2. ชุดฝึกทักษะ หมายถึง แบบฝึกทักษะเรื่อง การหาร ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นให้นักเรียนได้ศึกษาและฝึกทักษะด้วยตนเองเพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาและปฏิบัติกิจกรรมโดยการทําแบบฝึกหัดอย่างเป็นลําดับขั้นจนเกิดความชํานาญ ชุดฝึกทักษะมีหัวข้อดังนี้
    2.1 ชื่อชุดฝึกทักษะ
    2.1.1 ชุดฝึกทักษะที่ 1 เรื่องการหารลงตัว
    2.1.2 ชุดฝึกทักษะที่ 2 เรื่องการหารไม่ลงตัว
    2.2 คําชี้แจง อธิบายวิธีการใช้ชุดฝึกทักษะ เรื่องการหารลงตัว และการหารไม่ลงตัว
    2.3 จุดประสงค์การเรียนรู้
    2.4 การประเมินผลเป็นแบบทดสอบหลังการใช้ชุดฝึกทักษะให้นักเรียนได้ประเมินความรู้ความสามารถของตนเองซึ่งเป็นแบบทดสอบที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้
  3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง ความรู้ความสามารถในการเรียน โดยใช้ชุดฝึกทักษะเรื่อง การหาร ซึ่งวัดได้จากคะแนนการทดสอบก่อนเรียน และหลังเรียนจากการใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
  4. เรื่องการหาร หมายถึง เนื้อหาที่ใช้ในการเรียนการสอน และเป็นเนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551
  5. ประสิทธิภาพของชุดฝึกทักษะ หมายถึง การนําชุดฝึกทักษะที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นไปทดลองใช้และปรับปรุงแก้ไขพัฒนาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 70/70
  6. เกณฑ์มาตรฐาน 70/70 หมายถึง 70 ตัวแรก คือ ค่าร้อยละของคะแนนเฉลี่ยที่ได้จากการทำแบบทดสอบระหว่างเรียนของผู้เรียนที่เรียนด้วยชุดฝึกทักษะเรื่อง การหาร ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และ70 ตัวหลัง คือ ค่าร้อยละของคะแนนเฉลี่ยที่ได้จากการทําแบบทดสอบหลังเรียนของผู้เรียนที่เรียนด้วยชุดฝึกทักษะเรื่องการหารไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

กรอบแนวคิดในการวิจัย

     การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะเรื่อง การหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดบางปะกอก