ชื่อผลงานทางวิชาการ : แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม กรณีศึกษา : บ้านโนนข่า อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

ปีที่พิมพ์ : 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทีทัศน์วัฒนธรรม สำนักศิลปวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 (มกราคม – ธันวาคม) 2560

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์สุเนตร ทวีถาวรสวัสดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทความวิจัย เรื่อง  แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม กรณีศึกษา : บ้านโนนข่า อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น Guideline for the development of cultural tourism  amphoe chonnabot ,  khonkaen province ผู้ศึกษาคือ อาจารย์สุเนตร ทวีถาวรสวัสดิ์ และนักศึกษา ชื่อ เทียนวัน แนบตู้ สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาลักษณะของการท่องเที่ยวและสภาพปัญหาของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม บ้านโนนข่า ตำบลวังแสง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มคณะบริหารงานองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชน และ กลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านโนนข่า

จุดเน้นของบทความนี้ จะกล่าวถึง

๑. สิ่งดึงดูดสิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นทั้งแบบวิถีชนบทและประเพณีวัฒนธรรมที่ควรจะส่งเสริมการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

๒. แหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตชาวชนบทของบ้านโนนข่ามีเอกลักษณ์ความโดดเด่นด้านการทอผ้าไหม การทอเสื่อ การสานสวิง การสานกระติบข้าว เพื่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่น ให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยว

๓. แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมประเพณี ตั้งแต่เดือน มกราคม – ธันวาคม ของบ้านโนนข่า ตำบลวังแสง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

๔.  สภาพปัญหาของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของบ้านโนนข่า ตำบลวังแสง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

ประโยชน์ที่ได้รับบทความวิจัยนี้

๑. ทราบถึงแนวทางและสภาพปัญหาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม บ้านโนนข่า ตำบลวังแสง อำเภอชนบท   จังหวัดขอนแก่น

๒. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนสามารถนำเอาข้อมูลที่ได้จากการวิจัย ใช้ในการวางแผนปรับปรุง และพัฒนาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม บ้านโนนข่า  ตำบลวังแสง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ที่ยังคงถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ทั้งแบบวิถีชนบทและประเพณีวัฒนธรรม ที่ควรจะส่งเสริมการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป

 

แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

กรณีศึกษา : บ้านโนนข่า อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

 Guideline for the development of cultural tourism 

amphoe chonnabot ,  khonkaen province

สุเนตร ทวีถาวรสวัสดิ์ / Sunate Thaveethavornsawat[1]

เทียนวัน แนบตู้ / Tienwon  Nabtu[2]

บทคัดย่อ

             การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม บ้านโนนข่า ตำบลวังแสง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น และศึกษาถึงสภาพปัญหาของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมด้วยการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคณะบริหารงานองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชน และ กลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านโนนข่า และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการสามเส้า

             ผลการศึกษาพบว่า การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบ้านโนนข่า มีเอกลักษณ์ความโดดเด่นด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี การทอผ้าไหม การทอเสื่อ การสานสวิง การสานกระติบข้าว และการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาพื้นบ้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ให้ความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชม ลักษณะการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบ้านโนนข่ามีการท่องเที่ยวแบบวิถีชนบทกับการท่องเที่ยวแบบประเพณีวัฒนธรรม ปัจจุบันการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านโนนข่า ทำให้คนในชุมชนได้รับรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวและกระจายรายได้ภายในชุมชนของตนซึ่งเป็นธุรกิจอีกอย่าง ได้แก่ การทอผ้าด้วยเส้นใยไหม การทอเสื่อ การสานสวิง และการสานกระติบข้าว กิจกรรมดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวชื่นชอบในวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของคนในชุมชนทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวซ้ำอีกครั้ง แต่การท่องเที่ยวของชุมชนยังไม่มีการจัดการการท่องเที่ยว เพราะปัญหาการการคมนาคมไม่สะดวกในการเดินเข้ามาเที่ยวชม รวมถึงคนภายนอกไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวภายในชุมชน ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่กลับมาเที่ยวซ้ำอีกครั้ง เป็นนักท่องเที่ยวคนเดิมๆ ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวคนใหม่ๆ นอกจากนี้พบว่าปัญหาที่สำคัญของการท่องเที่ยวในบ้านโนนข่าคือด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ที่พัก สถานที่จอดรถ ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าที่ระลึก ห้องสุขาสำหรับนักท่องเที่ยว และศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว

             จากผลการศึกษานี้ได้แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบ้านโนนข่า คือ สิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของหมู่บ้านโนนข่านั้นมีแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นทั้งแบบวิถีชนบทและประเพณีวัฒนธรรมที่ควรจะส่งเสริมการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และควรพัฒนาเรื่องการคมนาคมการเข้าถึงหมู่บ้านได้อย่างสะดวก ควรจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวของหมู่บ้านที่ช่วยจัดการเรื่องการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมด้วย

คำสำคัญ :  แนวทางการพัฒนา, การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม, อำเภอชนบท

[1] อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

[1] นักศึกษาสาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

Abstract

 

             The purpose of this research is to study the cultural tourism at Ban Nonka, Wangsang subdistrict, Chonnabot district, Khon Kaen province and to examine the problems in cultural tourism by conducting qualitative research which collects information from three main groups; Subdistrict Administrative Organization officers, community leaders, and the locals. The data collected is analyzed by triangulation method.

             The study shows that the cultural tourism at Ban Nonka is eminent in the preservation of traditional culture, e.g. silk weaving, mat weaving, hand net making, bamboo rice container plaiting, and the conception of folk wisdom to pass on knowledge and experience to tourists. The cultural tourism of Ban Nonka consists of countryside tourism and heritage tourism. Nowadays, locals at Ban Nonka benefit from the tourism and income distribution from their trades which are silk weaving, mat weaving, hand net making, bamboo rice container plaiting. Tourists enjoy these activities and local way of life; therefore, they revisit the place. However, there have not been tourism management at the moment due to inconvenient transportation. In addition, the local tourism is not widely known to the public. As a result, there are not many new tourists to the region. Additionally, the main problem of tourism at Ban Nonka is the lack of facilities such as accommodations, car park, restaurants, souvenir shops, toilets, and tourist information center

             The guideline for the development of cultural tourism at Ban Nonka is formed from the finding. Firstly, the attraction of cultural tourism of Ban Nonka is the countryside tourism and heritage tourism which should be preserved in order to encourage cultural tourism. Secondly, the transportation to the village should be improved. Lastly, a local tourism board should be established to oversee tourism management.

Keywords : Guideline for the development, Cultural tourism, Chonnabot district

 

บทนำ

             ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีศักยภาพด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลาย ทั้งด้านของทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทรัพยากรการท่องเที่ยวของประเทศไทยสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙  มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๙.๓๕ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ จำนวน ๑๔๕,๕๗๘,๒๖๙ คนแต่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ มีนักท่องเที่ยวจำนวน ๑๕๙,๑๙๑,๓๕๒  คน (กรมการท่องเที่ยว, ๒๕๕๙, ออนไลน์) นอกจากนี้การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่สร้างความโดดเด่นทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และกิจกรรมที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่นับว่าเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม สามารถสร้างภาพลักษณ์และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ พัฒนากันอย่างต่อเนื่องเพื่ออรองรับกับการท่องเที่ยวของประเทศ (จุฑามาศ คงสวัสดิ์, ๒๕๕๐: ๑)

             บ้านโนนข่า อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกพื้นที่หนึ่งของประเทศไทยที่มีการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งมีขนบธรรมเนียม ประเพณีที่สืบต่อกันมานาน มีการประกอบอาชีพเกษตร การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษมาเป็นเวลาหลายร้อยปีนับเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น และมีขนบธรรมเนียมประเพณี นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ศาลาไหมไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชุมชน (ศูนย์บริการข้อมูลอำเภอ, ๒๕๕๙)  แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบได้กับบ้านโนนข่าก็คือ ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวที่บ้านโนนข่าไม่มากนัก มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับไม่มากและมีการประชาสัมพันธ์น้อย จึงทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะเป็นนักท่องเที่ยวที่เคยมาเยี่ยมเยือนแล้วไม่กลับมาอีก อีกทั้งในบ้านโนนข่ายังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่จะจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ดังนั้นผู้วิจัยได้เห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของ บ้านโนนข่า ตำบลวังแสง จังหวัดขอนแก่น และจากศักยภาพของทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ควรจะมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ให้เป็นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดขอนแก่นได้  จึงศึกษาหาแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อนำข้อมูลที่ได้นี้พัฒนาบ้านโนนข่าให้มีการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศอีกต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

๑. เพื่อศึกษาลักษณะการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม บ้านโนนข่า ตำบลวังแสง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

๒. เพื่อศึกษาสภาพปัญหาของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม บ้านโนนข่า ตำบลวังแสง อำเภอชนบท  จังหวัดขอนแก่น

ประโยชน์ที่คาดว่าได้รับ

๑. ทราบถึงแนวทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ในบ้านโนนข่า ตำบลวังแสง อำเภอชนบทจังหวัดขอนแก่น

๒. ทราบถึงสภาพปัญหาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม บ้านโนนข่า ตำบลวังแสง อำเภอชนบทจังหวัดขอนแก่น

๓. สามารถนำเอาข้อมูลที่ได้จากแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ในบ้านโนน ข่าตำบลวังแสง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

วิธีดำเนินการวิจัย

             การศึกษาวิจัยครั้งนี้คัดเลือกประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านโนนข่า อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญจากกลุ่มตัวอย่าง ๓ กลุ่มโดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) และ เก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก (In deph – Interview) จากกลุ่มคณะบริหารงานองค์การบริหารส่วนตำบล  ผู้นำชุมชน และกลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านโนนข่าจัดเก็บข้อมูลที่อ้างอิงจากใช้ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับลักษณะที่สำคัญของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ๙ ประการ ได้แก่ การอนุรักษ์ การสืบถอด จุดดึงดูด ผลกระทบ จิตสำนึก การมีส่วนร่วม การบริการ ความพึงพอใจ และ  ความปลอดภัย ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การตรวจสอบความเชื่อถือได้ของข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation) ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวบมาจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่งทั้งการศึกษาจากเอกสาร การสังเกต และการสัมภาษณ์เพื่อใช้วิเคราะห์ตีความ เปรียบเทียบเพื่อจัดหาคุณสมบัติร่วมกันในประเด็นต่างๆ ที่ต้องการศึกษา  (สุภางค์  จันทวานิช, ๒๕๕๖:๓๒)

             ผู้วิจัยใช้การวิเคราะห์ข้อมูล โดยเก็บข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ และสังเกตผู้ให้ข้อมูลแต่ละคนแล้วนำมาหาประเด็นหลักและข้อสรุปร่วม จากนั้นทำการจำแนกข้อมูลตามประเด็นต่างๆ แล้วนำข้อมูลมาทำการเปรียบเทียบกันและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาเพื่อตอบปัญหาการวิจัย

ผลการศึกษา

๑. ลักษณะการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของบ้านโนนข่า อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

๑.๑ แหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตชาวชนบทของบ้านโนนข่ามีเอกลักษณ์ความโดดเด่นด้านการทอผ้าไหม การทอเสื่อ การสานสวิง การสานกระติบข้าว เพื่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่น ให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยว

             การทอผ้าไหมการนำเอาไหมดิบที่จะใช้เป็นเส้นพุ่งและเส้นยืนมาล้างเพื่อทำความสะอาดสิ่งแปลกปลอมให้หลุดออกจากส่วนของเส้นใยโดยการนำเส้นไหมดิบ ไปต้มในน้ำเดือดเพื่อลอกกาวไหมออกโดยใช้สารเคมีการย้อมสีไหมเริ่มต้นจากการนำเอาไหมที่ผ่านการฟอกขาวแล้วนำมาย้อมสี หลังจากย้อมเสร็จแล้วนำเส้นไหมไปซักล้างในน้ำร้อนและน้ำเย็นให้สะอาดนำไปตากให้แห้ง ใช้เวลารอประมาน ๑ -๒ วัน แล้วนำมาผ้ามาใส่กี่กระตุกเพื่อการทอผ้าไหม โดยใช้เส้นไหมยืน ๑ ชุด และไหมพุ่ง ๑ ชุด โดยการใช้เส้นไหมพุ่งสอดเข้าไประหว่างเส้นยืนที่ถูกแยกออกเป็นช่องด้วยการเหยียบตะกอแล้วใช้ฟันฟืมกระทบ   เส้นไหมพุ่งให้ติดกันทีละเส้นจนกลายเป็นผืนผ้า

ภาพที่ ๑ การทอผ้าไหม

(ที่มา: สุเนตร ทวีถาวรสวัสดิ์, ๒๕๖๐)

             การทอเสื่อ นำต้นกกมากรีดออกเป็นเส้นไปตากแดดประมาณ ๑ อาทิตย์ เมื่อแห้งแล้วนำมาย้อมสีตามต้องการ จากนั้นนำเชือกไนลอนหรือเชือกเอ็นขึงที่โฮมทอเสื่อ ให้เป็นเส้นตามโฮมและฟืม แล้วนำต้นกกสอดเข้ากับไม้สอดเพื่อที่จะสอดเข้ากับโฮมทอเสื่อ เมื่อสอดต้นกกเข้าไปแล้วผลักฟืมเข้าหาตัวเองให้ต้นกกแน่นติดกัน เป็นลายต่าง ๆ ลายเสื่อที่ทอเป็นประจำและเป็นที่นิยมคือ ลายมัดหมี่ ลายธรรมดา ลายกระจับ จากนั้นก็นำเสื่อที่ทอแล้วมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เสื่อพับ หมอนสามเหลี่ยม

ภาพที่ ๒ การทอเสื่อ

(ที่มา: สุเนตร ทวีถาวรสวัสดิ์, ๒๕๖๐)

             การสานสวิง นำด้ายไนล่อนมาใส่ไว้ในไม้กีม คล้ายกับลักษณะของกระสวยทอผ้า แต่วิธีการนั้น แตกต่างกันนิดหน่อย ซึ่งเรามักจะเรียกจอมนี้ว่าปมเพื่อให้ฐานแข็งแรงจะต้องให้ได้ขนาด ๒ – ๓ นิ้ว จากนั้นก็สานไปเรื่อยๆ จนได้ความลึกประมาณ ๕๐ – ๖๐ เซนติเมตรหรือได้ตามขนาดที่ต้องการ นำไม้ไผ่มาเหลาให้ได้ ๒ อัน อันแรกเป็นด้ามสวิงส่วนอันที่สองเหลาให้มีขนาดเล็กพอประมาณ นำไปสอดกับสวิงที่สานไว้และใช้เป็นตัวกำหนดขนาดของช่องแล้วนำไม้ไผ่อันแรกที่เหลาแล้วมาเฉือนปลายสองด้านให้ได้รูปและนำมาประกบกันจนเป็นทรงกลม จากนั้นก็มัดด้วยเชือกฟางไว้ก่อน แล้วค่อยตอกตะปูเข็มให้แน่น เสร็จแล้วนำสวิงที่สานเสร็จเรียบร้อยมาสอดกับไม้ไผ่อันที่สองที่เหลาไว้และนำมามัดติดกับไม้ไผ่อันแรกด้วยเชือกฟาง หลังจากนั้นก็เย็บติดกับขอบไม้ไผ่ด้วยการตอกตะปูเข็มอย่างประณีต เรียบร้อยแล้ว ก็นำมีดมาตัดเอาเชือกฟางออก พร้อมทั้งเก็บลายละเอียดของสวิงเล็กน้อย

              การสานกระติบข้าว กระติบข้าวสามารถทำได้จากวัสดุหลายอย่าง เช่น ใบจาก ใบตาล ใบลาน แต่ที่นิยมใช้ทำมาก และมีคุณภาพดีที่สุดต้องทำจากไม้ไผ่บ้าน หรือไม้ไผ่ใหญ่ อายุประมาณ ๑๐ เดือน ถึง ๑ ปี เพราะมีปล้องใหญ่และปล้องยาว เนื้อไม้เหนียวกำลังดี ไม่เปราะง่าย ทำเป็นเส้นตอกสวย ขาว วัตถุดิบที่นำใช้คือ ปล้องไม้ไผ่มาตัดหัวท้าย ตัดเอาข้อออก ผ่าเป็นซีกทำเส้นตอกกว้างประมาณ ๒-๓ ม.ม. ขูดให้เรียบและบางจากนั้นนำเส้นตอกที่ได้มาสานเป็นรูปร่างกระติบข้าว หนึ่งลูกมี ๒ ฝา มาประกอบกัน แล้วกระติบข้าวที่ได้มาพับครึ่งให้เท่า ๆ กัน เรียกว่า ๑ ฝา ทำฝาปิด โดยจักเส้นตอกที่มีความกว้าง ๑ นิ้ว สานเป็นลายตามะกอก และลายขัดนำฝาปิดหัวท้ายมาตัดเป็นวงกลม มาใส่เข้าที่ปลายทั้งสองข้าง ใช้ด้ายไนล่อน และเข็มเย็บเข้าด้วยกันรอบฝาปิดหัวท้ายนำก้านตาลที่ม้วนไว้มาเย็บติดกับฝาล่าง ที่เป็นตัวกระติบข้าว นำกระติบข้าวที่ได้ไปรมควันจากฟางข้าว เพื่อกันแมลงเจาะ และเพื่อความสวยงาม ทนทาน ไม่เกิดราดำ จากนั้นนำไม้มาเหลาเป็นเส้นตอก กลมยาวเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒-๓ ม.ม. ความยาวรอบบางเท่ากับฝากระติบพันด้วยด้ายไนล่อน แล้วเย็บติดฝาขอบบน เมื่อเสร็จแล้วเจาะรูที่เชิงกระติบข้าว ด้วยเหล็กแหลม   ๒ รู ให้ตรงข้ามกัน แล้วทำหูที่ฝาด้านบน ตรงกับรูที่เจาะเชิงไว้ ใช้ด้ายไนล่อนสอดเข้าเป็นสายไว้สะพายไปมาได้สะดวก จะได้กระติบข้าวที่สำเร็จเรียบร้อย สามารถนำมาใช้และจำหน่ายได้

                         ๑.๒ แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมประเพณี มีการจัดประเพณีขึ้นในทุก ๆ เดือนและมีบางเดือนที่มีช่วงเวลาสำคัญ เช่น ๒๙ เดือนพฤศจิกายน ถึง วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี มีการจัดงานเทศกาลไหม เป็นงานที่จังหวัดขอนแก่นได้จัดขึ้นทุกปีเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๒ จนถึงปัจจุบัน โดยมีประเพณีที่สำคัญดังต่อไปนี้

                         เดือนมกราคม (เดือนยี่) ทำบุญขึ้นปีใหม่  ในวันที่ ๑ ของเดือนมกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตกบาตรและอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก ไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป และจะเตรียมทำความสะอาดบ้านเรือนที่พักอาศัย

                         เดือนกุมภาพันธ์ (เดือนสาม) ทำบุญข้าวจี่,บุญข้าวกุ้มข้าวใหญ่  บุญข้าวจี่ เป็นงานบุญประเพณี ของชาวอีสานที่กระทำกันในเดือนสาม จนเรียกว่า บุญเดือนสาม บุญข้าวจี่เป็นบุญประเพณีสำคัญ ที่มีกำหนดอยู่ในฮีตสิบสอง ดังรู้จักกันทั่วไปว่า เดือนสามคล้อยจั่วหัวปั้นข้าวจี่ เดือนสี่คล้อยจัวน้อยเทศน์มะที (มัทรี)  ข้าวจี่ คือ ข้าวเหนียวนึ่งให้สุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนทาเกลือเคล้าให้ทั่ว เอาไม้เสียบย่างไฟเหมือนไก่ย่าง เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วก็เอาไข่ซึ่งตีไว้แล้วทาแล้วย่างซ้ำอีกกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียว เสร็จแล้วถอดไม้ออกเพื่อถวายพระเณรฉันตอนเช้า บุญข้าวกุ้มข้าวใหญ่ หรือบุญคูนลาน เป็นประเพณีทำบุญที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะนำมานวดที่ลาดนวดข้าว ก่อนนำข้าวไปเก็บในยุ้งฉาง เรียกว่า บุญคูนลาน โดยเชิญญาติพี่น้องมาร่วมทำบุญเพื่อร่วมบูชาแม่โพสพ โดยนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ โยงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว ถวายอาหาร บิณฑบาต เลี้ยงญาติมิตร พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำพระพุทธมนต์ผู้ร่วมพิธีตลอดจนประพรมลาดข้าว วัว ควาย เจ้าของนาเพื่อเป็นศิริมงคล

                         เดือนมีนาคม (เดือนสี่) บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศลให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญความดีที่ยิ่งยวดอันมีการสละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้นบรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณจึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลาย พึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญและได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป นอกจากนี้ยังเป็นการสังสรรค์ ระหว่างญาติพี่น้องจากแดนไกลสมกับคำกล่าวที่ว่า “กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ”

                         เดือนเมษา (เดือนห้า) บุญสงกานต์ เป็นประเพณีการสงน้ำพระพุทธรูป มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อขอพรจากญาติผู้ใหญ่ และมีการทำบุญตักบาตรก่อทรายภายในวัด

                     เดือนพฤษภาคม (เดือนหก) บุญบั้งไฟประจำปี เป็นการจัดขบวนแห่บั้งไฟ และการจุดบั้งไฟตามวิถีความเชื่อ ของชาวบ้านที่ว่า ผาแดงนางไอ่  พระยาคันคาก  ล้วนกล่าวถึงการจุดบั้งไฟ ถวายแด่พญาแถน  เพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล

                         เดือนมิถุนายน  (เดือนเจ็ด) บุญชำฮะ คือการชำระล้าง สิ่งสกปรก รกรุงรังให้สะอาดหมดจด เมื่อถึงเดือน ๗ ชาวบ้านจะรวมกันทำบุญโดยยึดเอา “ผาม หรือศาลากลางบ้าน” เป็นสถานที่ทำบุญ ชาวบ้านจะเตรียมดอกไม้ธูปเทียน โอน้ำ ฝ้ายใน ไหมหลอด ฝ้ายผูกแขน แห่ทรายมารวมกันที่ผามหรือศาลากลางบ้าน ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ตอนเช้าถวายอาหาร เมื่อเสร็จพิธีทุกคนจะนำน้ำพระพุทธมนต์ ฝ้ายผูกแขน แห่ทรายของตนกลับบ้าน นำน้ำมนต์ไปรดลูกหลาน ทรายนำไปหว่านรอบบ้าน ฝ้ายผูกแขนนำไปผูกข้อมือลูกหลานเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลตลอดปี ถ้ามีการเจ็บไข้ได้ป่วยต้องมีการสวดถอด

                     เดือนกรกฎาคม  (เดือนแปด) บุญเข้าพรรษา เป็นประเพณี ทางพุทธศาสนาคล้ายคลึง กับทางภาคกลาง คือจะมีงานทำบุญตักบาตร การถวายผ้าอาบน้ำฝน สงบ จีวรและเทียนพรรษา มีการประกวดความสวยงามของเทียนจากแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งตกแต่งสลักเสลาเทียนเป็นลวดลาย เรื่องราวทางพุทธศาสนาอย่างสวยงาม เมื่อแห่เทียนมาถึงวัด ชาวบ้านจะรับศีล รับพรฟังธรรม ตอนค่ำจะเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ

                         เดือนสิงหาคม (เดือนเก้า) บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวประดับดิน คือ บุญที่ทำในวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนเก้าประมาณเดือนสิงหาคมเป็นการนำข้าวปลาอาหารคาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ อย่างละเล็กอย่างละน้อยแล้วห่อด้วยใบตองทำเป็นห่อเล็กๆ นำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินบริเวณรอบๆ เจดีย์หรือโบสถ์ เป็นการทำบุญที่ชาวบ้านจัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

                         เดือนกันยายน (เดือนสิบ) บุญข้าวสาก คือบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าวที่ญาติโยมนำมาถวายและบุญนี้จะทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบ จึงเรียกชื่ออีกอย่างว่า บุญเดือนสิบ

                         เดือนตุลาคม (เดือนสิบเอ็ด) บุญออกพรรษา เป็นการเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ได้มีโอกาสว่ากล่าวตักเตือนกันได้ พระภิกษุสงฆ์สามารถเดินทางไปอบรมศีลธรรม หรือไปเยี่ยมถามข่าวคราว ญาติพี่น้องได้ และภิกษุสงฆ์สามารถหาผ้ามาผลัดเปลี่ยนได้ เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ตั้งแต่เช้ามืดจะมีการตีระฆังให้พระสงฆ์ไปรวมกันที่โบสถ์แสดงอาบัติเช้า จบแล้วมีการปวารณา คือเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกัน ว่ากล่าวตักเตือนกันได้

                         เดือนพฤศจิกายน   (เดือนสิบสอง) บุญมหากฐิน เป็นการใช้ผ้าที่ใช้สดึง ทำเป็นกรอบเย็บจีวร เรียกว่าผ้ากฐิน ผู้ใดศรัทธา ปรารถนาจะถวายผ้ากฐิน ณ วัดใดวัดหนึ่งให้เขียนสลาก (ใบจอง) ไปติดไว้ที่ผนังโบสถ์หรือศาลาวัด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้อื่นจองทับ เมื่อถึงวันกำหนดก็บอกญาติโยมให้มาร่วมทำบุญ มีมหรสพสมโภช และฟังเทศน์ รุ่งเช้าก็นำผ้ากฐินไปทอดถวายที่วัดเป็นอันเสร็จพิธี

                         เดือนธันวาคม (เดือนอ้าย) งานประเพณีลอยกระทง จัดขึ้นเพื่อขอขมาเจ้าแม่คงคา และปล่อยสิ่งที่ไม่ดีให้ลอยไปกับน้ำ

                         แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมและประเพณีเป็นการจัดงานประเพณีของจังหวัดขอนแก่นที่จัดขึ้นในช่วงเดือนต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมได้ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจของบ้านโนนข่า ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านโนนข่า ที่ได้เปิดการเรียนรู้ในรูปแบบให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย

 

๑. สภาพปัญหาของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบ้านโนนข่า อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

ในการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของบ้านโนนข่า อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่นนี้ยังพบว่า นักท่องเที่ยวที่เข้าไปท่องเที่ยวในหมู่บ้านมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาเพื่อที่จะซื้อผ้าไหม เนื่องจากได้ทราบถึงชื่อเสียงของการทอผ้าไหม จึงแวะเข้ามาเที่ยวชมการทอผ้าและทอเสื่อ ดังนั้นหากต้องการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็ต้องพิจารณาถึงปัญหาดังนี้

๑.๑ ปัญหาการคมนาคมไม่สะดวก การเดินทางเข้ามาเที่ยวชมจึงค่อนข้างยากลำบาก        การกระจายไฟฟ้าในบางส่วนยังเข้ามาไม่ถึง จึงยังไม่มีการจัดที่พักอาศัยสำหรับนักท่องเที่ยว

๑..๒ นักท่องเที่ยวไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวภายในชุมชน เพราะไม่มีสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการท่องเที่ยวของชุมชน ไม่มีบุคคลเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ในการท่องเที่ยว จึงมีจำนวนนักท่องเที่ยวน้อย และไม่มีป้ายโฆษณาหรือชักชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชม

๑.๓ ความปลอดภัยในการเดินทางมีความเสี่ยงสูงเพราะการเดินทางเข้ามามีป่าทึบและขาดแสงไฟตลอดเส้นทาง หากนักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวชมต้องมาในเวลากลางวัน

๑.๔ ปัญหาขยะเพิ่มมากขึ้นชุมชนเนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจึงต้องมีการจัดเก็บขยะทุกอาทิตย์โดยเก็บขยะอาทิตย์ละ ๑ – ๓ วัน

 

การอภิปรายผล

ได้พบประเด็นข้อมูลที่สำคัญดังนี้

๑. ลักษณะการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบ้านโนนข่า อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ได้แก่ การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่เที่ยวชมถึงวิถีชีวิตได้แก่ การทอผ้าด้วยเส้นใยไหม การทอเสื่อ การสานสวิง และการสานกระติบข้าว ซึ่งวิถีชีวิตความเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของหมู่บ้านในเรื่องการทอผ้าไหมที่มีลวดลายสวยงามกว่าที่หมู่บ้านอื่น และการทอเสื่อที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นประกอบกับการสานสวิงและกระติบข้าวที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเรียนรู้และซึมซับกับวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานที่สำคัญ รวมถึงงานประเพณีที่ทางจังหวัดได้จัดขึ้นทุกเดือนอีกด้วย กิจกรรมดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวชื่นชอบในวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของคนในชุมชน จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น จะส่งผลกับชุมชนที่จะได้รับรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว และก่อให้เกิดการกระจายรายได้ภายในชุมชนของตน สามารถทำเป็นธุรกิจของชุมชนที่สำคัญ แต่การท่องเที่ยวของชุมชนนี้เมื่อศึกษาแล้วพบว่า ไม่มีกระบวนการจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนนี้โดยเฉพาะกับรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ซึ่งปัญหาหนึ่งที่สำคัญในองค์ประกอบของการท่องเที่ยวคือ ปัญหาการเข้าถึงในแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากมีการคมนาคมที่ไม่สะดวก นักท่องเที่ยวมีความยากลำบากกับเดินทางเข้ามาเที่ยวชม รวมถึงเรื่องของการประชาสัมพันธ์กับคนภายนอก ทำให้ไม่ค่อยได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนและการท่องเที่ยวภายในชุมชน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพื่อนำผ้าไหมไปจำหน่าย มีนักท่องเที่ยวที่ได้ยินชื่อเสียงจากการทอผ้าไหมจึงแวะเข้ามาเที่ยวชม นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ จะมีน้อยที่ได้เข้ามาเที่ยวชมในบ้านโนนข่าและไม่มีความพร้อมของบุคคลากรที่รองรับการท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ (ภูสวัสดิ์ สุขเลี้ยง, ๒๕๔๕) ศึกษาเรื่อง การพัฒนาการแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม: กรณีศึกษาหมู่บ้านห้วยโป่งผาลาด อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย พบว่าพื้นที่มีศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับการพัฒนาทางการท่องเที่ยว แต่ต้องปรับปรุงในด้านความพร้อมของบุคลากร และสอดคล้องกับงานวิจัยของ (ประพัทธ์ชัย ไชยนอก, ๒๕๕๓) ศึกษาเรื่อง แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: กรณีศึกษาบ้านด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่พบว่า สภาพการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยมีการท่องเที่ยวดังนี้ ๑) ด้านสิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยว บ้านด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และสถานที่สำคัญต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่เช่น พระธาตุศรีสองรัก วัดป่าเนรมิตปัสสนา วัดโพนชัย และ พิพิธภัณฑ์ผีตา มีวัฒนธรรมและประเพณีบางอย่างที่ได้มีปฏิบัติสืบต่อกัน เช่น ประเพณีฮิตสิบสองคลองสิบสี่ ประเพณีบุญหลวง ประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัว และงานประเพณีแห่ผีตาโขน เป็นต้นเหมาะสมกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ในพื้นที่บ้านโนนข่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่เหมาะกับการดำเนินการเรื่องการท่องเที่ยว แต่ประสบปัญหาในหลายด้านที่ต้องพัฒนาให้รองรับกับการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อพัฒนาในปัญหาด้านต่างๆ แล้ว พื้นที่บ้านโนนข่าก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจของจังหวัดขอนแก่น

๒. ปัญหาท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบ้านโนนข่า อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น พบว่า ปัญหาการคมนาคมไม่สะดวกสอดคล้องกับงานวิจัยของ (อรวิชญ์ กันตะยา, ๒๕๕๖) แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในหมู่บ้านธาตุสบแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา พบว่า การที่หมู่บ้านมีเส้นทางคมนาคมที่ดีสามารถเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวแห่งอื่น ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบาย และนักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจในระดับมากดังนั้นถ้าจะให้หมู่บ้านโนนข่านี้มีการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต้องพัฒนาเรื่องการคมนาคมการเข้าถึงหมู่บ้านได้อย่างสะดวก และสอดคล้องกับงานวิจัยของ (ภูสวัสดิ์ สุขเลี้ยง, ๒๕๔๕) ศึกษาเรื่อง การพัฒนาการแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม: กรณีศึกษาหมู่บ้านห้วยโป่งผาลาด อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย พบว่าพื้นที่มีศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับการพัฒนาทางการท่องเที่ยว แต่ต้องปรับปรุงในด้านความพร้อมของบุคลากรและด้านสาธารณูปโภค เช่น ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าที่ระลึก ห้องสุขาสำหรับนักท่องเที่ยว และศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว โดยผู้วิจัยได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ดำเนินการทางการท่องเที่ยวภายในหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาท่องเที่ยว และให้หน่วยงานของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์และวางแผน ดังนั้นบ้านโนนข่าจะพัฒนาการท่องเที่ยวโดยใช้แนวทางจากงานวิจัยนี้ดังกล่าวจะช่วยให้พัฒนาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในหมู่บ้านได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

ข้อเสนอแนะ

๑. ข้อเสนอแนะจากการวิจัย

 ๑.๑ ด้านสิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของหมู่บ้านโนนข่านั้นมีแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นทั้งแบบวิถีชนบทและประเพณีวัฒนธรรมที่ควรส่งเสริมให้มีอนุรักษ์เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

๑.๒ ควรพัฒนาเรื่องการคมนาคมการเข้าถึงหมู่บ้านได้อย่างสะดวก เนื่องจากการศึกษาพบว่าเส้นทางการคมนาคมยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน

๑.๓ ควรจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวภายในหมู่บ้านโนนข่า เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีความพร้อมทั้งทรัพยากรทางการท่องเที่ยวซึ่งประกอบด้วย วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม และวิถีการดำเนินชีวิต มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เพียงพอสามารถให้บริการนักท่องเที่ยวและไม่มีศักยภาพในด้านคุณค่าทางการศึกษา ความปลอดภัย สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และไม่มีศักยภาพของพื้นที่ในด้านคุณค่าทางการศึกษา ความปลอดภัย สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และไม่มีศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับการพัฒนาทางการท่องเที่ยวและไม่มีศักยภาพในด้านความพร้อมของบุคลากร

๑.๔ ควรมีการปรับปรุง นอกจากนี้ต้องการเพิ่มเติมศักยภาพทางด้านสาธารณูปโภคขั้นสูงในสิ่งต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าที่ระลึก ห้องสุขาสำหรับนักท่องเที่ยว และศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว

๒. ข้อเสนอแนะการทำวิจัยครั้งต่อไป

จากการศึกษาวิจัยผู้วิจัยควรเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวในเรื่องของการท่องเที่ยวด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของหมู่บ้านโนนข่าอย่างยั่งยืน

 

เอกสารอ้างอิง

 

กรมการท่องเที่ยว. (๒๕๕๙). สถิตินักท่องเที่ยวภายในประเทศไทยปี พ.ศ.๒๕๕๘. ค้นเมื่อวันที่ ๒๕

พฤศจิกายน ๒๕๕๙. จาก  http://tourism2.tourism.go.th/home/details/11/221/25767.

จุฑามาศ  คงสวัสดิ์. (๒๕๕๐). การศึกษาแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัด

       นครปฐม.  นครปฐม :  ภาควิชาพื้นฐานทางการศึกษา.  มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ประพัทธ์ชัย  ไชยนอก. (๒๕๕๓). แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรณีศึกษา

       อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย.  วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต.  บัณฑิตวิทยาลัย.

มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.

ไทยตำบลดอดคอม. (๒๕๕๘). กลุ่มสตรีทอผ้าไหม.  ออนไลน์  สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐.

จาก http://www.thaitambon.com/shop/02516102414

หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนต้นแบบบ้านโนนข่า. (๒๕๖๐).  รูปการทอผ้าไหมและทอเสื่อ.  ออนไลน์

สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐. จาก https://www.facebook.com/%E0%B8%AB%

%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B

ภูสวัสดิ์  สุขเลี้ยง. (๒๕๔๕). การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม :  กรณีศึกษาหมู่บ้านห้วย

       โป่งผาลาด อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย.  การค้นคว้าอิสระปริญญามหาบัณฑิต

สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว. บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ศูนย์บริการข้อมูลอำเภอ. (๒๕๕๗). ที่ทำการปกครองอำเภอชนบท.  ค้นเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน

๒๕๕๙. จาก http://www.amphoe.com/menu.php?mid=1&am=63&pv=5.

สุภางค์  จันทวานิช. (๒๕๕๖). การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ. กรุงเทพฯ :

โครงการตำราพื้นฐานคณะรัฐศาสตร์.  สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อรวิชญ์  กันตะยา. (๒๕๕๖). แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของหมู่บ้าน

       ธาตุสบแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา.  การค้นคว้าโดยอิสระ  บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต

สาขาวิชาบริหารธุรกิจ. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง.