สุธี   จันทร์ศรี*

*วิทยาลัยการดนตรี  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

การวิจัยเรื่อง ไทดำ: พลวัตวัฒนธรรมกับการธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ผ่านดนตรี  เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง  การแปรตามภูมิภาคของภาษาและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น ประจำปี 2558  โดยมีศาสตราจารย์ ดร. สมทรง บุรุษพัฒน์ เป็นหัวหน้าโครงการ  ระยะเวลาในการวิจัย 3 ปี (1 พฤษภาคม 2558 ถึง 30 เมษายน 2561)   ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 

          กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ใน 4 ประเทศ คือ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งอธิบายการธำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำผ่านการวิเคราะห์องค์ประกอบทางดนตรีในฐานะเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหวภายใต้การเปลี่ยนผ่านของบริบททางสังคมใน 3 ประเทศ คือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย

          ผลการศึกษาพบว่าบทบาทของการขับไทดำมี 2 ลักษณะ ได้แก่ การขับในพิธีกรรมและการขับที่เป็นวัฒนธรรมบันเทิง การขับไทดำในพิธีกรรมนั้นมีการสืบทอดในลักษณะของการคงสภาพ เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับความเชื่อ โดยผู้ขับจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามแบบแผนของพิธีกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาอย่างเคร่งครัด ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะขาดผู้สืบทอดและลดบทบาทเหลือเพียงการสาธิต ส่วนการขับไทดำในวัฒนธรรมบันเทิง  พบการปรับเปลี่ยนโดยการผสมผสานองค์ประกอบทางดนตรีแบบดั้งเดิมเข้ากับดนตรีสมัยนิยมรวมถึงการผลิตและเผยแพร่โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
สะท้อนให้เห็นว่า การสืบทอดในลักษณะคงสภาพดนตรีแบบดั้งเดิม แม้จะสามารถตอกย้ำจิตสำนึกความเป็นไทดำได้ดี แต่กลายเป็นข้อจำกัดในการธำรงอยู่ท่ามกลางบริบทสังคมสมัยใหม่ ในขณะที่การปรับเปลี่ยนสะท้อนถึงการต่อรองผ่านการนำองค์ประกอบและเทคโนโลยีในสังคมกระแสหลักมาปรับใช้ ทำให้การขับมีความทันสมัยและมีคุณค่าเชิงสุนทรียะมากขึ้น จึงมีแนวโน้มของการเรียนรู้และสืบทอดอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทดำในพื้นที่ทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตต่อไปได้

Abstract

The Tai Dam or Black Tai is an ethnic group living in four China-ASEAN countries, namely, PR China, Lao PDR, Vietnam, and Thailand. This article aims to describe the identity maintenance of  the Tai Dam through an analysis of musical components of Tai Dam folksongs or Khab Tai Dam which is part of a cultural heritage shared by Tai ethnic groups such as Tai Dam, Dai (Tai Lue), and  Zhuang. The Tai Dam in Lao PDR, Vietnam, and Thailand have been chosen for a case study to see how Tai Dam folksongs have been varied in accordance with the social context of each country. The study result found that Khab Tai Dam has two functions. First, it is performed at ritual  ceremonies and second, it is sung for entertainment culture. The first function is tied to Tai Dam belief that the singer has to learn and strictly follow the traditional practice of Khab Tai Dam as it has been preserved by their ancestors and transmitted from one generation to another. However,  this function is dying out because, currently, there are few successors available to sing Khab Tai Dam. The second function involves an adaptation of Khab Tai Dam by blending the traditional rhythm and content with rhythmic patterns of modern musical instruments such as electone in

order to appeal to a wider audience, especially Tai Dam teenagers.  The roles of Khab Tai Dam in Lao PDR, Vietnam, and Thailand are not much different. In all  countries, both features of Khab Tai Dam are found but their roles have diminished. Khab Tai Dam

The roles of Khab Tai Dam in Lao PDR, Vietnam, and Thailand are not much different. In all  countries, both features of Khab Tai Dam are found but their roles have diminished. Khab Tai Dam  these days is mainly used for demonstration purposes on important occasions because it is rarely transmitted down to qualified successors. This reflects the fact that, without a willing new generation  to take over the art, traditional Khab Tai Dam no longer functions as a cultural symbol. On the other hand, modern Khab Tai Dam, which has been changed and adapted for learning and succession purposes, has retained the typical features of Tai Dam music whilst also blending with modern  music. Consequently, modern Khab Tai Dam is able to continue to express Tai Dam identity within the dynamic societies of the three countries.

 

Keywords:   Tai Dam, Black Tai,   Ethnomusicology, Ethnic Identity, Khab Tai Dam, Black                            Tai folksong

          การขับไทดำเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการขับลำนำร่วมกับการเป่าปี่ไม้ไผ่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์ที่มีร่วมกันมากว่า 3000 ปี มีบทบาทในการประกอบพิธีกรรม การละเล่นบันเทิง การเกี้ยวพาราสี การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม รวมถึงการเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่บ่งชี้ถึงความเป็นไทดำ  ปัจจุบันกระแสของการเปลี่ยนแปลงของระบบสังคมแบบโลกาภิวัตน์ทำให้สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆได้รับผลกระทบรวมถึงดนตรี ซึ่งมักปรากฏในรูปแบบของการถูกกลืนกลายวัฒนธรรมดนตรีโดยสังคม กระแสหลัก เป็นดนตรีสมัยนิยมที่ไม่หลงเหลือจิตวิญญาณความเป็นชาติพันธุ์ ดังนั้น การขับไทดำภายใต้บริบทสังคมสมัยใหม่จะเป็นสัญลักษณ์ธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทดำได้อย่างไรจึงเป็นสิ่งที่สนใจศึกษา ทั้งนี้งานวิจัยที่ประยุกต์ใช้แนวทางการศึกษาแบบดนตรีวิทยาร่วมกับมานุษยวิทยาวัฒนธรรมในประเด็นของการธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ผ่านดนตรีในประเทศไทยยังมีอยู่น้อย องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้จึงอาจเป็นส่วนเสริมให้งานวิจัยด้านมานุษยวิทยาการดนตรีมีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยยกกรณีศึกษาการขับไทดำภายใต้บริบทสังคม 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว และเวียดนาม เพื่อเป็นแนวทางของการธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ผ่านดนตรีทั้งไทดำและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆที่มีวัฒนธรรมการขับร่วมกันต่อไป

วัตถุประสงค์การวิจัย

        1. เพื่อศึกษาบทบาทและการใช้วัฒนธรรมดนตรีของไทดำในมิติทางประวัติศาสตร์และสถานภาพในปัจจุบัน
        2. เพื่อเปรียบเทียบกระบวนการสร้างลักษณะเฉพาะและการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมดนตรีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำในประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสังคมนิยมเวียดนาม
        3. เพื่อศึกษาการธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และการสร้างสำนึกความเป็นชาติพันธุ์ผ่านวัฒนธรรมดนตรีของชาวไทดำท่ามกลางพลวัตทางสังคม

วิธีการดำเนินการวิจัย
         การคัดเลือกพื้นที่วิจัย
          งานวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มีแนวทางการวิจัยแบบมานุษยวิทยาการดนตรีเป็นเครื่องชี้นำสู่ข้อมูล  โดยอาศัยข้อมูลภาคสนามเป็นหลัก จาก 3 พื้นที่ ได้แก่
           1) จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทยซึ่งเป็นพื้นที่แรกของการตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยและเป็นพื้นที่หลักในการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำในประเทศไทย
           2) แขวงหลวงน้ำทา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวลาว เป็นพื้นที่ที่มีชาวไทดำอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายรวมทั้งชาวลาวซึ่งเป็นกลุ่มคนในสังคมกระแสหลัก
           3) จังหวัดเซินลา และจังหวัดเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม เป็นพื้นที่ของการรวมสำนึกทางประวัติศาสตร์  ชาติพันธุ์ไทดำว่าเป็นถิ่นฐานเดิม และชาวไทดำในพื้นที่ดังกล่าวดำเนินชีวิตในฐานะชนพื้นเมืองดั้งเดิมของเวียดนาม

การเก็บรวบรวมข้อมูล
          การเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยการค้นคว้าเอกสารและการเก็บข้อมูลภาคสนาม วิธีเก็บข้อมูลภาคสนาม แบ่งเป็น 2 วิธี ได้แก่การสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก โดยการคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลหลักได้แก่ ศิลปิน นักดนตรี หมอขับ ผู้แต่งเพลง และผู้มีประสบการณ์ร่วมทางด้านดนตรี ข้อมูลภาคสนามแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลทางด้านวัฒนธรรมดนตรีและข้อมูลบริบททางสังคมวัฒนธรรม

การวิเคราะห์ข้อมูล
          ผู้วิจัยแบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกวิเคราะห์ตามแนวทางดนตรีวิทยา คือการแยกส่วน องค์ประกอบทางดนตรี ได้แก่ จังหวะ ทำนอง โครงสร้างฉันทลักษณ์ เนื้อหา เครื่องดนตรี ส่วนที่สองเป็นการวิเคราะห์ด้วยการตีความประเด็นทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมโดยอาศัยกรอบความคิดว่าด้วยการธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ผ่านดนตรี โดยเริ่มต้นจากการมองอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ว่าเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่งตายตัว

เต็มไปด้วยการประกอบสร้างความหมายและเปลี่ยนผันไปตามสภาพสังคม โดยอาศัยสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความแตกต่างและลักษณะเฉพาะ องค์ประกอบทางดนตรีมีลักษณะเป็นสัญญะเต็มไปด้วยการสร้างความหมาย การปลุกจิตสำนึกร่วม  การสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรม ทัศนคติ ค่านิยม และอารมณ์ความรู้สึกของคนในวัฒนธรรม การธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ผ่านดนตรีภายใต้บริบทสังคมสมัยใหม่จึงเต็มไปด้วยการประกอบสร้างสัญญะในรูปแบบต่างๆ เช่น การตอกย้ำความเป็นชาติพันธุ์ การผสมผสานคุณค่าเชิงสุนทรียะ การแสดงออกถึงพฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ในดนตรีเป็นต้น

ผลการวิจัย

1. บทบาทและการสืบทอดขับไทดำ 3 ประเทศ
     1) บทบาทในพิธีกรรม
          แม้ไทดำจะมีการโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของทั้ง 3 ประเทศ แต่ก็พบว่าการขับในพิธีกรรมเป็นวัฒนธรรมดนตรีที่มีบทบาทในการสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยมีหมอมดผู้นำพิธีจะเป็นผู้ขับเรียกว่า ขับมดแต่มีรายละเอียดของพิธีกรรมแตกต่างกันไปบ้าง
             – ประเทศลาวและเวียดนาม มีการขับร่วมกับการเป่า ปี่ลาวหลวง
             – ประเทศไทย ขับร่วมกับปี่ใหญ่และปี่น้อยประสานกันเป็นวงเรียกว่า วงปี่ไม้แมน
ทั้ง 3 พื้นที่มีความเชื่อร่วมกันว่า การขับมดและการเป่าปี่ในพิธีกรรมเป็นวัฒนธรรมดนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถขับหรือบรรเลงนอกพิธีกรรมได้ และยังมีข้อกำหนดในการบรรเลง เช่น บทขับ ขั้นตอน ทำนองการขับ และข้อกำหนดการสืบทอดอย่างเคร่งครัด

     2) บทบาทในวัฒนธรรมบันเทิง ดั้งเดิมขับไทดำมีบทบาทต่อสังคมไทดำที่หลากหลาย เช่น
             – การปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่เยาวชนผ่านการขับกล่อมลูก
             – การสร้างสถาบันครอบครัวผ่านการขับเกี้ยวพาราสี
             – การสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ในการขับเล่าเรื่อง
ขับในวัฒนธรรมบันเทิงจะขับร่วมกับการเป่าปี่ ลาวเรียกปี่ปั๊บ เวียดนามปี่ตามไล แต่ไม่พบการขับร่วมกับปี่ในไทย
         ลักษณะเด่นของการขับในวัฒนธรรมบันเทิงใน 3 ประเทศได้แก่
             มีโครงสร้างฉันทลักษณ์ที่กำหนดคำร้องอย่างหลวมๆ สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาไปตามโอกาส                  ได้ค่อนข้างอิสระเรียกว่าการด้น
             – มีการร้องตอบโต้กันเรียกว่าเพลงปฏิพากษ์ ทดสอบปฏิภาณไหวพริบ ทดสอบทักษะในการใช้                    ภาษาและองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
             – การขับทั้ง 3 ประเทศอยู่ในบันไดเสียงเดียวกัน ลาวและเวียดนามดำเนินทำนองลักษณะ                              เดียวกัน  แต่ไทยมีการดำเนินทำนองที่แตกต่าง

     3) การสืบทอดการขับไทดำ
             ขับมดในพิธีกรรมผู้สืบทอดต้องเป็นทายาทโดยตรงหรือผู้ที่มีภาวะพิเศษ เช่น ฝันแปลก เจ็บไข้ได้ป่วย จำเป็นต้องสืบทอด ผู้ที่มีความสนใจไม่สามารถสืบทอดได้การขับในวัฒนธรรมบันเทิงมีการสืบทอดมากกว่าเนื่องจาก ลักษณะเฉพาะทางดนตรีง่ายต่อการจดจำ โอกาสในการขับมีมากกว่า และไม่มีข้อกำหนดในการสืบทอด

2. การคงสภาพองค์ประกอบทางดนตรี  ภายใต้บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปของทั้ง 3 ประเทศ ส่งผลให้การขับไทดำธำรงอยู่ในบริบทสังคมสมัยใหม่ในรูปแบบของการคงสภาพและปรับเปลี่ยนองค์ประกอบทางดนตรีดังนี้
– คงสภาพบันไดเสียงแบบ “Pentatonic” ซึ่งเป็นโครงสร้างของการควบคุมการดำเนินทำนอง ทำให้เกิดเป็นทำนองที่มีลักษณะเฉพาะ มีความสัมพันธ์กับระบบวรรณยุกต์ในการใช้ภาษาไทดำ
– คงสภาพการใช้ภาษา ทั้ง 3 พื้นที่ยังคงสภาพฉันทลักษณ์ในการด้นกลอนและการเนื้อหาของการขับที่ตอบสนองกิจกรรมทางสังคมไว้เช่นเดิม
การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบทางดนตรี  ประเทศลาวมีการนำกระสวนจังหวะแบบ “ลำเพลิน” เข้ามาผสมผสาน มีการใช้เครื่องดนตรี “อิเลคโทน” บรรเลงประกอบการขับ เรียกว่า “ขับไทดำประยุกต์” ประเทศเวียดนาม พบการคงสภาพของการขับไว้เช่นเดิม แต่ปรับเปลี่ยนบทบาทระหว่างผู้ขับกับผู้ฟังเป็นรูปแบบของการแสดงโชว์มากกว่าการร่วมและสลับบทบาทกันระหว่างผู้ฟังและผู้ขับ อย่างในอดีตมีการพัฒนารูปแบบการเผยแพร่โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผลิตเป็นรูปแบบวีซีดีคาราโอเกะมีการทำมิวสิควีดีโอแสดงวิถีชีวิตของชาวไทดำประกอบ

3. การธำรงอัตลักษณ์ผ่านการขับไทดำ   การขับไทดำมีบทบาทในฐานะเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเพื่อธำรงความเป็นไทดำในบริบทสังคมสมัยใหม่ดังต่อไปนี้

        1) การตอกย้ำจิตสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ องค์ประกอบทางดนตรีในขับไทดำจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และสร้างสัญญะใหม่ๆให้กับคนในวัฒนธรรมทุกครั้งที่ชาวไทดำร่วมกิจกรรมทางสังคม สัญญะเหล่านี้จึงเป็นการตอกย้ำจิตสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ของชาวไทดำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ ได้แก่ ความทรงจำร่วม ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน การตระหนักถึงพรมแดนชาติพันธุ์ ระหว่างกลุ่มตนเองและกลุ่มอื่น จึงมีการสืบทอดในรูปแบบของการคงสภาพองค์ประกอบทางดนตรีที่พบใน บันไดเสียง ทำนอง ฉันลักษณ์และภาษา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการตอกย้ำความเป็นชาติพันธุ์ไทดำในสภาวะสังคมที่เปลี่ยนไป

        2) การต่อรองคุณค่าเชิงสุนทรียะ การคงสภาพองค์ประกอบทางดนตรีแบบดั้งเดิม ถึงแม้จะเป็นการตอกย้ำจิตสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ของชาวไทดำได้ดี แต่สังคมกระแสหลักได้สร้างคุณค่าเชิงสุนทรียะและดึงดูดกลุ่มผู้ฟังให้หันไปบริโภคดนตรีสมัยนิยมมากขึ้น และสร้างความหมายให้ดนตรีชาติพันธุ์กลายเป็น ดนตรีล้าสมัย” ชาวไทดำ ได้ต่อรองคุณค่าเชิงสุนทรียะเหล่านั้นด้วยการนำจังหวะที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสังคมกระแสหลัก ผสมผสานกับองค์ประกอบทางดนตรีแบบดั้งเดิม เพื่อสร้างคุณค่าให้การขับไทดำแบบใหม่มีความทันสมัยมากขึ้น กลายเป็น ขับไทดำประยุกต์ที่พบในลาว

        3) การช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าสังคมกระแสหลักจะมีบทบาทต่อกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำในปัจจุบัน แต่ชาวไทดำรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ก็จำเป็นต้องช่วงชิงพื้นที่ในการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตน และบางครั้งอาจต้องแลกกับการสูญเสียพื้นที่ทางวัฒนธรรมของตนเอง
                   – บทบาทการขับไทดำในพื้นที่สาธารณะ
การขับไทดำและการแซไตเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีบทบาทในพื้นที่วัฒนธรรมบันเทิงของชาวไทดำมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันพื้นที่วัฒนธรรมบันเทิงชาวไทดำได้เปลี่ยนแปลงไป โดยสังคมกระแสหลักเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ชาวไทดำได้ช่วงชิงพื้นที่ดังกล่าวผ่านการนำเสนอการขับไทดำประยุกต์ซึงทำให้การขับไทดำมีโอกาสที่จะได้รับการสืบทอดต่อไป อีกทั้งยังสร้างกลุ่มผู้ฟังใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากงานกินดองหรืองานแต่งงานของไทดำในลาว นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัจจุบันการขับไทดำได้เข้าไปมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ กรณีของงานประเพณีรวมชนเผ่าที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลลาว มีการขับไทดำและการแซไตโดยให้ทุกชนเผ่าเข้ามามีส่วนร่วม แสดงถึงความสามัคคีและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่า ชาวไทดำช่วงชิงพื้นที่สาธารณะโดยการนำเสนอสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมว่าด้วยการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้เกิดการเรียนรู้สำหรับคนต่างวัฒนธรรมผ่านวัฒนธรรมดนตรีของตน
                 – การช่วงชิงพื้นที่ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่และโลกออนไลน์
กรณีของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอการขับไทดำให้มีรูปแบบที่ทันสมัยในเวียดนาม สะท้อนให้เห็นถึงการช่วงชิงพื้นที่ในการใช้เทคโนโลยีที่ถูกผลิตขึ้นจากสังคมกระแสหลัก มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างเว็บไซต์YouTube.comทำให้อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทดำมีพื้นที่บนโลกเสมือนมากขึ้น และทำให้ชาวไทดำต่างพื้นที่มีโอกาสในการบริโภคการขับไทดำมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

สรุปและอภิปรายผล
            ในสภาวะสังคมที่ต่างกันและมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นพลวัต งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า ไทดำทั้ง 3 พื้นที่มีลักษณะของการสืบทอดการขับไทดำที่เหมือนกัน ได้แก่ ลักษณะของการคงสภาพองค์ประกอบทางดนตรีที่พบในการขับพิธีกรรมและขับในวัฒนธรรมบันเทิง ซึ่งลักษณะดังกล่าวทำให้สัญญะต่างๆในองค์ประกอบทางดนตรีทำหน้าที่ตอกย้ำจิตสำนึกความเป็นไทดำ สร้างความทรงจำร่วม และสร้างพรมแดนชาติพันธุ์ระหว่างกลุ่มภายใต้บริบทสังคมสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

             แต่ลักษณะของการคงสภาพเพียงรูปแบบเดียวที่พบในการขับในพิธีกรรมกลายเป็นข้อจำกัดในการสืบทอด เนื่องจากมีขั้นตอน รายละเอียด และข้อกำหนดสำหรับผู้สืบทอดมาก จึงทำให้การขับไทดำขาดการสืบทอดดังที่ปรากฏในการขับมดของทั้ง 3 ประเทศ และการลดบทบาทของการขับในไทยที่หลงเหลือเพียงการสาธิต

              เมื่อเปรียบเทียบกับการขับในวัฒนธรรมบันเทิง เนื่องจากองค์ประกอบทางดนตรีมีลักษณะที่ค่อนข้างอิสระ ไม่มีข้อกำหนดในการสืบทอดมากเท่าการขับในพิธีกรรมจึงทำให้มีโอกาสสืบทอดมากกว่า อีกทั้งยังสามารถสร้างสรรค์ปรับเปลี่ยนโดยการผสมผสานคุณค่าเชิงสุนทรียะ การปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้การขับมีความทันสมัย นำไปสู่การมีบทบาทบนพื้นที่ทางสังคม และขยายกลุ่มผู้ฟังใหม่ๆให้เกิดการบริโภคและสืบทอดขับไทดำต่อไป

             การศึกษาครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนของการธำรงอัตลักษณ์ผ่านดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการขับลำนำร่วมกับการเป่าปี่เป็นวัฒนธรรมร่วม เมื่อเปรียบเทียบจะเห็นได้ว่าบางกลุ่มเริ่มมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในลักษณะเดียวกัน เช่น การขับลื้อในสิบสองปันนา มีการประยุกต์เข้ากับดนตรีสากลและปรับรูปแบบเผยแพร่เป็นวีซีดี มีมิวสิควีดีโอประกอบ การขับซอแบบล้านนามีการนำทำนองการขับมาทำเป็นเพลงลูกทุ่ง เป็นต้น

              การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมดนตรีด้วยการผสมผสานคุณค่าเชิงสุนทรียะให้เป็นดนตรีสมัยใหม่เทียบเท่าดนตรีกระแสหลัก จะต้องควบคู่กับการตอกย้ำจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์อย่างสมดุล การนำดนตรีกระแสหลักเข้ามาผสม