ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนกิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3
ชื่อผู้วิจัย : พิษณุ  พรหมวาทย์
สาขาวิชา : หลักสูตรและการสอน
ปีการศึกษา : 2557


 

สาระโดยย่อ

               การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนามีวัตถุประสงค์การวิจัย  1)  เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนกิจกรรมแนะแนว    ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  และ 2) เพื่อเปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียน ก่อนและหลังที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบการเรียนการสอนกิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา ดำเนินการวิจัย   5 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1   การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ศึกษาสภาพปัจจุบัน การจัดการศึกษา คุณภาพและปัญหาการจัดการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา และแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษา แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ขั้นที่ 2   การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน สังเคราะห์แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่ได้จากขั้นที่ 1             สร้างรูปแบบการเรียนการสอน

ขั้นที่ 3   การสร้างเครื่องมือวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 12 แผน  และแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์  ผู้วิจัยใช้แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ขั้นที่ 4   การทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดท่าบันเทิงธรรม จังหวัดนนทบุรี จำนวน 16 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้และแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่าที

ขั้นที่ 5   การประเมินรูปแบบการเรียนการสอนกิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3

 

ผลการวิจัย

  • ได้รูปแบบการเรียนการสอนกิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา เพื่อพัฒนาความ

ฉลาดทางอารมณ์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมี 5 องค์ประกอบ    คือ

(1) หลักการ/แนวคิดของรูปแบบการเรียนการสอนฯ
(2) ขอบข่ายการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ผ่านกิจกรรมแนะแนว มีขอบข่าย 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการศึกษา ด้านการงานและอาชีพ  ด้านชีวิตและสังคม
(3) วัตถุประสงค์ของรูปแบบการเรียนการสอนฯ  เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองในด้านความฉลาดทางอารมณ์ ใน 3 ด้าน คือ ด้านดี ประกอบด้วย การควบคุมตนเอง เห็นใจผู้อื่น และมีความรับผิดชอบ ด้านเก่ง ประกอบด้วยการมีแรงจูงใจ การตัดสินใจแก้ปัญหาและสัมพันธภาพ ด้านสุข ประกอบด้วย ความภูมิใจในตนเอง ความพอใจในชีวิต และความสงบสุขทางใจ
(4) กระบวนการจัดการเรียนการสอนมี 6 ขั้น ได้แก่

1. ขั้นตระเตรียม (Prepare)
2. ขั้นตระหนักตน (Realize the self)
3. ขั้นเติมเต็ม (Fulfill)
4. ขั้นตรึกตรอง (Reflect)
5. ขั้นตกแต่ง (Decorate)
6. ขั้นติดตาม (Follow)

(5)  ผลที่ผู้เรียนจะได้รับ  ผู้เรียนได้รับการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ 3 ด้าน คือ ด้านเก่ง ด้านดี และด้านสุข

  • หลังได้รับการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบการเรียนการสอนกิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา ผู้เรียนมีความฉลาดทางอารมณ์สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

คำสำคัญ: กิจกรรมแนะแนว จิตตปัญญาศึกษา ความฉลาดทางอารมณ์