การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่อง พระรัตนตรัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

โรงเรียนทวีธาภิเศก สำนักงานเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มัธยมศึกษา เขต 1

THE DEVELOPMENT OF COMPUTER ASSISTED INSTRUCTION LESSONS ON THE TRIPOLE GEM

LEARNING ESSENCED GROUP OF SOCIAL SCIENCES RELIGIONS AND CULTURES SECONDARY LEVEL 1ST YEAR,

พงษ์สรร จันลิ้ม


 

บทคัดย่อ

       การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย สาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนทวีธาภิเศก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80  2)  เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย  จัดทำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนโรงเรียนทวีธาภิเศก จำนวน40 คน สำหรับนักเรียน 1 ห้องเรียน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1)  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย กลุ่มสาระ   การเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 3 หน่วย คือ หน่วยที่ 1 พระพุทธ หน่วยที่ 2 พระธรรม และหน่วยที่ 3 พระสงฆ์  2)  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 1 ฉบับ 40 ข้อ เรื่อง พระรัตนตรัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3) แบบประเมินคุณภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

ผลการวิจัยพบว่า

       1. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระ     การเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีค่าประสิทธิภาพ 80.26/82.56 สูงกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

 

Abstract

       The present research aims at the development of computer-assisted instruction lessons on the topic of the Triple Gems (Phra Rattanatray) under the subject group of Social, Religious and Cultural studies for students of Matthayom Suksa I.

       The objectives of this research was as follows: 1) To develop the computer-assisted instruction lessons for the students of Matthayom Suksa I, Thweethapisek School, Bangkok Educational Area 3, in order to comply with the 80/80 efficiency standards, 2)  To compare, before and after their study, the learing achievements on using the computer-assisted instruction lessons on the Triple Gems topic of the students of Matthayom Suksa I study, through positive samplings, the satisfaction of 40 students from one classroom on the computer-assisted instruction lessons used for the Triple Gems topic, under the subject group of Social, Religious and Cultural studies.

       The instruments used in the study comprise:  1) The computer assisted instruction lessons on the Triple Gems topic (Phra Rattanatray) for Matthayom Suksa I under the subject group of Social, Religious and Cultural studies, which are divided into three units:  Unit 1: The Buddha; Unit 2: The Dhamma; and Unit 3: The sagha;  2) The learning achievement test containing 40 questions on the Triple Gems.

       3) the questionnaire on the satisfaction of learners towards the computer-assisted instruction lessons used for the Triple Gems topic under the subject group of Social, Religious and Cultural studies.

Through this research, it has been found that:

       1. The computer-assisted instruction lessons for the Triple Gems topic for the Matthayom Suksa I, under the subject group of  Social, Religious and Cultural studies, had efficient value of 82.56/80.26 which is higher than the required standard value of 80/80.  It is therefore more efficient than the standards value.

2. Learning achievements after the study by using the computer-assisted instruction lessons for the Triple Gems topic for the Matthayom Suksa I, under the subject group of social, religious and Cultural studies, was significantly and statistically higher by .01 than the period prior to the study.

 

1. บทนำ

       ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นมรดกอันล้ำค่า ที่มีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 79 บัญญัติว่า รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่    นับถือมาช้านาน ทั้งต้องส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต

       ภิกขุ ปัญญานันทะ (2528: 27-28) กล่าวว่า พุทธศาสนาสอนให้คนมีความรัก มีความเมตตาต่อกัน และให้ช่วยเหลือกันตามความสามารถจักช่วยได้…พุทธศาสนาสอนคนให้ทำตนเป็นประโยชน์แก่สังคม ด้วยการสร้างตนให้เป็นหลักก่อน เมื่อตนมีหลักฐานดีแล้ว ก็เฉลี่ยส่วนแห่งความสุขนั้นแก่ส่วนรวมต่อไป ส่วนพุทธทาสภิกขุ (2511: 1) กล่าวเมื่อ 40 ปีล่วงมาแล้วว่า ในสมัยปัจจุบันนี้ นักศึกษาหนุ่มสาวสนใจศึกษาธรรมะเพื่อใช้เป็นหลักในการครองชีวิตประจำวัน สนใจศึกษาธรรมะเพื่อเข้าถึงหลักธรรมะมากขึ้น อันเป็นนิมิตอันดีว่าจะมีผู้เข้าถึงธรรมะชักนำเพื่อนมนุษย์ให้เข้าถึงธรรมะ ช่วยกันทำให้โลกนี้แม้สักมุมน้อย ๆ มุมหนึ่งในเมืองไทยเรานี้ ให้เป็นมุมแห่งความสงบสุข เป็นมุมที่แสดงออกถึงการทำงานทางโลกด้วยจิตสงบ การครองชีวิตอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายด้วยความสงบสุขได้เป็นอย่างดี

       ในขณะเดียวกัน ศ.น.พ. ประเวศ วะสี (มปป: 213-214) ที่กล่าวถึงความสำคัญของ         พุทธศาสนาที่มีบทบาทต่อสังคมไทยว่า คุณภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสังคม ถ้าเรามีคนที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคติธรรมสูง ก็มีทางที่จะพัฒนาสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ง่าย คุณภาพของคนกับการพัฒนาระบบและสิ่งแวดล้อม ต้องควบคู่และประสานสอดคล้องกัน ระบบการเมือง เศรษฐกิจ ระบบราชการ ระบบการศาสนา สถาบันทางศาสนาในสภาพปัจจุบันไม่อยู่ในฐานะที่จะพัฒนาคุณภาพของประชาชนไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขได้ ประเทศไทยมีโอกาสที่จะสรรค์สร้างทั้งทางวัตถุ ทางระบบระเบียบในสังคม และทางจิตใจ เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขได้ หากประเทศมีสัมมาทิฐิและสัมมามรรคา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ชาวพุทธจะเข้าใจพุทธธรรมแท้ยิ่งกว่าพุทธเทียม หรืออพุทธะที่ระบาดอยู่ทั่วไป และนำมาประยุกต์ใช้ได้ทันการทันเวลาหรือไม่เพียงใด

       จากคำกล่าวของ ศ.น.พ. ประเวศ วะสี บ่งบอกให้เห็นว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเพราะชาวพุทธส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ ภิกขุ ปัญญานันทะ (2528: 1) ที่ว่าภาวะของโลกในปัจจุบันนี้ เป็นภาวะที่สุดแสนจะทนทานได้ในกระแสข่าวประจำวัน เราจักได้ยินได้เห็นแต่ข่าวอันเต็มไปด้วยความเดือดร้อน ความหวาดระแวง ภัยได้เกิดมีแก่ประชาชนทั่วไปทุกหมู่เหล่า และภัยที่เกิดแก่ประชาชนนั้นเกิดจากภายในประเทศบ้าง ภายนอกบ้าง จากเพื่อนบ้านกันเองบ้าง จากข้าราชการที่ทำงานไม่ถูกต้องตามกฎหมายบ้าง ไม่ว่าที่ไหน ๆ ในโลกนี้เป็นเช่นเดียวกันหมด เมื่อคนมีความเดือดร้อน เขาก็ต้องหาทางออกจากความเดือดร้อนนั้น บางคนก็ออกถูกทางพ้นทุกข์ไปได้ แต่บางคนก็ออกผิดทาง จึงยังวนเวียนอยู่ในกองทุกข์นั้นอีก ยิ่งพยายามแก้ทุกข์เท่าใด ก็ดูเหมือนว่าจักเป็นการหาทุกข์ใส่ตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ศ.น.พ. ประเวศ วะสี (มปป: 2) ยังได้กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีวัดกว่า 25,000 วัด พระกว่า 200,000 รูป สามเณรกว่า 100,000 รูป พุทธศาสนิกชนอีกเต็มประเทศ ไฉนเราจึงมีปัญหาทางสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ บางอย่างถึงขั้นวิกฤติ ก็คงจะต้องลงความเห็นทางใดทางหนึ่งในสองทาง คือหนึ่ง พระพุทธศาสนาไม่เกี่ยวกับความดีความเลวในสังคม หรือสอง ประเทศของเราไม่ได้ประยุกต์พระพุทธศาสนาในสังคมมาใช้อย่างถูกต้อง

       หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2544: 12) ได้กำหนดให้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐานที่ผู้เรียนต้องเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกอบด้วยศาสตร์ต่าง ๆ หลายสาขา มีลักษณะเป็นสหวิทยาการมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ มีทักษะกระบวนการ มีคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยมที่พึงประสงค์ รวมทั้งได้แสดงบทบาทและความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและต่อสภาพแวดล้อม และกำหนดคุณภาพของผู้เรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม คือ  1)  ยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ สามารถนำหลักธรรมคำสอนไปใช้ปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันได้ เป็นผู้กระทำความดี มีค่านิยมที่ดีงาม พัฒนาตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์กับสังคมส่วนรวม  2)  ยึดมั่น ศรัทธา และธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตามกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย รวมทั้งถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามไว้เป็นมรดกของชาติ เพื่อสันติสุขของสังคมไทยและสังคมโลก 3) มีความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ และสามารถนำหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ  4)  เข้าใจพัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ภาคภูมิใจในความเป็นไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน สามารถใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ และนำไปสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้  5)  มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เป็นผู้สร้างวัฒนธรรม มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัญหาในการสอน แต่เดิมเป็นการสอนแบบบรรยาย ซึ่งเป็นนามธรรม ผู้เรียนเข้าใจยาก จึงทำให้การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เพราะเป็นรูปธรรม ทำให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ดีมาก เหมาะกับการสอน เน้นเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามระดับความสามารถและความสนใจของตนได้ (วิชชุดา รัตนเพียร, 2536: 39) สอดคล้องกับ ถนอมพร เลาหจรัสแสง (2541: 7) ที่ได้ให้ความหมายของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนว่า หมายถึง สื่อการเรียนการสอนทางคอมพิวเตอร์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งใช้ความสามารถของคอมพิวเตอร์ในการนำเสนอสื่อประสม อันได้แก่ ข้อความ ภาพนิ่ง กราฟิก ภาพเคลื่อนไหว วีดิทัศน์ และเสียง เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาบทเรียน หรือองค์ความรู้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและโครงสร้างของเนื้อหา โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การได้มาซึ่งคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่สามารถดึงดูดเอาความสนใจของผู้เรียน และกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะเรียน

       จากความสำคัญดังกล่าว ผู้วิจัยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องพระรัตนตรัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนทวีธาภิเศก

 

2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย

       2.1  เพื่อพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย สาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนทวีธาภิเศก สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80

       2.2  เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย

 

3. วิธีดำเนินการวิจัย

     1. ประชากร

          ประชากรที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนทวีธาภิเศก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 จำนวน 12 ห้องเรียน นักเรียน 580 คน

     2. กลุ่มตัวอย่าง

          กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนทวีธาภิเศก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 3 จำนวน 1 ห้องเรียน 40 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)

     3. เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัย

          เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัย เรื่องพระพุทธศาสนา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 จำนวน3 หน่วย คือ

            หน่วยที่ 1 พระพุทธ
หน่วยที่ 2 พระธรรม
หน่วยที่ 3 พระสงฆ์

     4. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 1 ฉบับ 40 ข้อ เรื่องพระรัตนตรัย

5. ระยะเวลาในการวิจัย

          เวลาที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ดำเนินการวิจัยในภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา 2553 โดยสอนวันละ 1 ชั่วโมง จำนวน 18 ชั่วโมง ซึ่งรวมการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน

     6. ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย

          ตัวแปรต้น ได้แก่ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย สาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนทวีธาภิเศก

          ตัวแปรตาม ได้แก่

               1. ประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย สาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนทวีธาภิเศก

2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังการเรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย สาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนทวีธาภิเศก

 

4.  การเก็บรวบรวมข้อมูล

ผู้วิจัยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ดังนี้

       1. ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ทำวิจัย ถึงผู้อำนวยการสถานศึกษา
2. ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการดำเนินการศึกษาค้นคว้าแก่นักเรียนกลุ่มทดลอง
3. ให้นักเรียนกลุ่มทดลองทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ฉบับก่อนเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัยที่พัฒนาขึ้น
4. นักเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนครบทุกบทเรียน ทั้ง 3 หน่วย
5. นักเรียนทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนฉบับหลังเรียน
6. เก็บข้อมูลก่อนเรียน ระหว่างเรียน และหลังเรียนของนักเรียนกลุ่มทดลอง โดยระหว่างเรียนจะเก็บคะแนนจากการทำแบบฝึกหัดท้ายบทเรียนแต่ละบท และหลังเรียนจะทำการเก็บคะแนนจากแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ภายหลังที่นักเรียนได้เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนครบทุกบทเรียนแล้ว
7. นำข้อมูลจากการทดลองมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ เพื่อหาประสิทธิภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียน

 

5. ผลการวิจัย

       5.1 ผลการหาประสิทธิภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 นักเรียนจำนวน 40 คน ได้ประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) ระหว่าง 80.00 86.57 และค่าประสิทธิภาพของผลลัทธ์ (E2)  ระหว่าง 80.33 93.33 รวมผลเฉลี่ยของกระบวนการ (E1) 83.73 และผลลัพธ์ (E2)  87.34 ผลประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัยอยู่ระหว่าง 83.73  – 87.34 สามารถนำผลของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไปพัฒนาความก้าวหน้าทางการเรียนของนักเรียนได้เป็นอย่างดี

       5.2 แสดงผลการวิเคราะห์การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

การทดสอบ

n

D

D2

t

ก่อนเรียน

40

309

2,569

13.66**

หลังเรียน

40

t.01 (df = 39) = 2.70

**มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

       ผลการวิเคราะห์ข้อมูลดังตารางที่ 4.5 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

 

6. อภิปรายผล

จากการวิจัยในครั้งนี้มีประเด็นที่ควรนำมาอภิปรายผล ดังนี้

       6.1 สมมติฐานที่ 1 กล่าวว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด 80/80 ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลในตารางที่ 4.4 พบว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีค่าประสิทธิภาพอยู่ระหว่าง 83.73-87.34 สูงกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ 80/80 ดังนั้น บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้

       บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ผู้ศึกษาค้นคว้าพัฒนาขึ้นได้ผ่านกระบวนการขั้นตอนในการจัดทำอย่างเป็นระบบ และใช้วิธีการที่เหมาะสม โดยการศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 (ฉบับปรับปรุง 2546) คู่มือการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เนื้อหา เทคนิคการสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และได้ผ่านการตรวจสอบแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ ผ่านกระบวนการทดลองใช้ และนำเอาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไปปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปเก็บรวบรวมข้อมูล

บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ผู้ศึกษาค้นคว้าพัฒนาขึ้น ก่อนจะนำไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่างได้ผ่านการหาประสิทธิภาพกับกลุ่มนักเรียนกลุ่มทดลองที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง และผ่านการประเมินตรวจสอบคุณภาพและความเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 คน ด้านเนื้อหา ด้านบทเรียน และด้านเทคนิคการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น จนสามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของจันทร์ฉาย คุมพล (2547: บทคัดย่อ) ได้พัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย เรื่องพระรัตนตรัย สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 เป็นการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียเรื่องวันสำคัญและประเพณีปฏิบัติ สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 และหาประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 85/85 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 (ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4) โรงเรียนสารสาสน์พิทยา ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2546 จำนวน 46 คน โดยทำการทดลอง 3 ครั้ง เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ คือ บทเรียนคอมพิวเตอร์ เรื่องวันสำคัญและประเพณีปฏิบัติ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินคุณภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียสำหรับผู้เชี่ยวชาญ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือร้อยละ และค่าเฉลี่ย ผลการศึกษาค้นคว้าได้บทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย เรื่องวันสำคัญและประเพณีปฏิบัติ สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ตอน คือ ตอนที่ 1 วันสำคัญในเดือนมกราคมถึงมีนาคม ตอนที่ 2 วันสำคัญในเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ตอนที่ 3 วันสำคัญในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ตอนที่ 4 วันสำคัญในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม บทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียทั้งด้านเนื้อหาและด้านเทคนิคการผลิตสื่อมีคุณภาพในระดับดีมาก และมีประสิทธิภาพเป็น 86.08/88.08

       6.2  สมมติฐานที่ 2 กล่าวว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพระรัตนตรัย มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน พบว่าค่าการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างการทดสอบก่อนเรียน (Pretest) และการทดสอบหลังเรียน (Posttest) โดยการทดสอบค่าที (t-test) มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของลักษณาพร           โรจน์พิทักษ์กุล (2540) ได้พัฒนาและหาประสิทธิภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนระบบมัลติมีเดีย วิชาเทคโนโลยีการศึกษา เรื่องโสตทัศนูปกรณ์ สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ผลการวิจัยพบว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอนระบบมัลติมีเดีย บทที่ 1 มีประสิทธิภาพ 91% บทที่ 2 มีประสิทธิภาพ 94.5% บทที่ 3 มีประสิทธิภาพ 94% และบทที่ 4 มีประสิทธิภาพ 95.5% ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

 

7. ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะทั่วไป

       1. ก่อนทำการเรียนการสอนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนควรมีการตรวจสอยอุปกรณ์ให้มีความพร้อมในการเรียนการสอนที่สุด ซึ่งจะทำให้การเรียนการสอนไม่ล่าช้า และนักเรียนจะสามารถเรียนได้ทุกคน
2. ผู้สอนควรเอาใจใส่ ให้กำลังใจ และคอยช่วยเหลือนักเรียนในการเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เพราะนักเรียนบางคนตื่นเต้น และมีความรู้ทักษะเบื้องต้นทางคอมพิวเตอร์น้อย ผู้สอนต้องคอยสังเกตว่านักเรียนคนใดที่มีการเรียนรู้ได้ช้า หรือใช้คอมพิวเตอร์ไม่ค่อยคล่อง ต้องคอยช่วยเหลือเป็นพิเศษ
3. ผู้สอนควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการทบทวน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมาใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนในชั่วโมงที่นักเรียนว่าง หรือศึกษาด้วยตนเอง เพื่อให้นักเรียนได้มีการทบทวนความรู้อยู่เสมอ ๆ ทำให้นักเรียนเข้าใจในเนื้อหายิ่งขึ้น

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป

       1. ควรมีการศึกษาค้นคว้าบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนโดยทำการทดลองกับเนื้อหาอื่น ๆ และระดับชั้นอื่น ๆ
2. ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างวิธีสอนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและวิธีการอื่น

 

8. อ้างอิง

ภิกขุ ปัญญานันทะ. (2528). 25 ปี วัดชลประทานรังสฤษฎ์. วัดชลประทานรังสฤษฎ์. กรุงเทพฯ

ศึกษาธิการ, กระทรวง. (2542). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ.

________. (2544). หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

ถนอมพร เลาหจรัสแสง. (2541). คอมพิวเตอร์ช่วยสอน. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโสตทัศนศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.