“ บรมครูสุนทรภู่ “ ท่านมิใช่เป็นเพียงจินตกวีผู้ทรงคุณประเสริฐของไทยเท่านั้น    หากแต่ท่านยังได้รับการยกย่องจาก “องค์การยูเนสโก” ในฐานะที่เป็นหนึ่งในบุคคลที่เป็นกวีสำคัญของโลกอีกด้วย 

   ชวลิต ผู้ภักดี  ค้นหาความคิดที่แยบคายอันแฝงฝังอยู่ในนิทานที่ยังมีผู้อ่านส่วนหนึ่งน้อยนิดเห็นว่า นั่นก็เป็นเพียงนิทานที่ประโลมโลกของคนเหงาเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว นิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” มีเงื่อนปมที่น่าค้นหา วิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นว่า มหากวีท่านนี้กอปร์ด้วยความรู้ ความคิดอันอุดมยิ่งเพียงใด…… ใน  “มองพระอภัยมณีในเชิงอุปลักษณ์”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต ผู้ภักดี

ข้าราชการบำนาญ

ปัจจุบันผู้ทรงคุณวุฒที่ปรึกษาสาขาวิชาภาษาไทย

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

อาจารย์ประจำสาขาการสอนวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย


 

มองพระอภัยมณีในเชิงอุปลักษณ์

ตอน

อาวุธของพระอภัยมณี

โดย ผศ. ชวลิต  ผู้ภักดี

 

สุนทรภู่ เป็นนักจินตนาการเท่านั้น  รึ……

   เรื่องราวอันที่เป็นความนำของบทวิเคราะห์ต่อไปนี้  ผู้วิเคราะห์นำมาเพื่อจะให้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความจริงที่ปรากฏในการแสดงละครรำเท่านั้น

   กล่าวคือในแทบทุกเรื่องของละครไทยที่จะขาดเสียมิได้คือ ต้องมีการแปลงกาย ไม่ว่าจะเป็นตัวดี ตัวร้าย ที่เป็นตัวเอก หรือมิฉะนั้นก็เป็นตัวสำคัญของเรื่องทั้งสิ้น แล้วละครนั้นๆ ก็จะสร้างบทร้อง บทรำ “ฉุยฉาย” เป็นหลักของละครไทย

   การรำฉุยฉาย กล่าวโดยท่ารำนับว่ายากมากที่ทุกคนต้องตลึงกับท่าทีลีลาการร่ายรำ ต่อความงามหรือเสน่ห์ของพระ นางนั้นๆ  ซึ่งรำได้สวยมาก พระหรือนางที่รำจะได้รับการปรบมือ บรรดาแม่ยกจะให้รางวัลกันล้นหลาม เล่าลือกันไปปากต่อปากว่าสวยมาก งามมาก เก่งมาก จนเป็นที่กล่าวขวัญกันถ้วนทั่วว่าพระหรือนางละครตัวนี้เท่านั้นที่จะรำฉุยฉายได้สวยที่สุด

แน่นอนเรื่องนี้ก็ต้องถือว่าสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะผู้รำที่ปรากฏต่อสายตาของผู้ชม ต้องดึงดูดความสนใจ หรือตรึงผู้ชมให้ประทับใจได้มากที่สุด  และหากไม่เก่งไม่สวยเป็นทุนย่อมไม่มีโอกาสได้รำแน่ๆ

สำหรับ “บทความ” นี้ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านลองทบทวนดูว่า เสน่ห์ของรำฉุยฉายที่แท้จริงคืออะไร หากพิจารณาให้ลึกเข้าไปแล้วจะพบว่า  อลังการครั้งนี้นั้น มีองค์ประกอบสำคัญคือ ๓ บุคคล กับอีก ๑  สิ่งที่คนเรามักมองข้ามไป

บุคคลแรกที่เป็นฐานสำคัญ คือ ผู้ประพันธ์เนื้อร้องที่สรรคำออกมาได้อย่างหมดจดงดงามทั้ง “กระบวนคำ กระบวนความ และ น้ำเสียงของถ้อยคำ” ล้วนส่งสารได้เสนาะเพราะพริ้ง แต่ทว่ากระชับมากจนหาที่ติมิได้

บุคคลที่สอง ผู้คิดประดิษฐ “ท่ารำ” ที่ตีบทของคำร้องได้เหมาะกับท่วงทำนองอันก่อให้เกิดลีลา และท่วงท่าที่สามารถสื่อสารได้อย่างมีศิลปะ  ทั้งนี้เพราะท่ารำย่อมมีบทบาทสำคัญของละครรำ เช่นเดียวกับระบำบัลเล่ต์ของฝรั่งหรือท่ารำของทุกชาติทุกภาษาในโลก

บุคคลที่สาม บุคลากรที่เป็นผู้สร้างสีสันให้กับการรำฉุยฉายที่สำคัญอีกผู้หนึ่งก็คือ “นักดนตรี” ผู้ที่ก่อให้เกิดลีลาและจังหวะอย่างครบครัน ดนตรีจะเป็นตัวการในการสร้างสีสันและอารมณ์ให้เลื่อนไหลไปตามบทบาทที่กำหนดได้นั้น ต้องอาศัยผู้ที่มากไปด้วยทักษะในการใช้เครื่องดนตรีแต่ละตัวแตะละชิ้น และสามารถหลอมรวมให้กระบวนของดนตรีทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนเสริมบรรยากาศได้อย่างเหมาะเจาะเป็นสำคัญ กล่าวโดยเฉพาะเครื่องเป่าที่ผู้เป่าจะต้องมีความชำนาญ ความสามารถที่จะกำหนดลมในการเป่าได้อย่างต่อเนื่อง รักษาระดับของเสียงได้ อย่างที่ภาษาเฉพาะอาชีพเรียกกันว่า “ทั้งลูกเล่นลูกเก็บ” ซึ่งต้องใช้ฝีมือระดับครูจริงๆ  เพราะนอกจากจะต้องเป่าคลอไปกับเนื้อร้องแล้ว ยังต้องแสดงเดี่ยวในการเป่าล้ออีกด้วย(ภาษาทางดนตรีจะเรียกอย่างไรไม่ทราบชัด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย)  และ

องค์ประกอบที่สำคัญที่มิใช่บุคคล สำหรับการรำฉุยฉาย นั่นคือ “ปี่” ใช่แล้วปี่เป็นเครื่องเป่าที่มีบทบาทสำคัญและสร้างความมหัศจรรย์ได้อย่างประหลาดยิ่งของการรำฉุยฉาย ปี่จะเป่าล้อเนื้อเพลงได้แนบและ เนียนสนิทมาก จึงนับว่าปี่ เป็นพระเอกตัวจริงแท้แน่นอน ที่น่าแปลกใจก็คือ เขาคิดได้อย่างไรที่ต้องใช้ปี่ ในเมื่อเครื่องดนตรีอื่นๆ อีกหลายชิ้นก็น่าจะหยิบหรือนำมาใช้ได้  ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนคิดได้ตรงกันก็คือ ดูเหมือนว่าปี่จะพูดได้ยังไงยังงั้น  ภาษาชาวบ้านเรียกว่า  “ตอด”  หรืออาจเรียกว่า “หยอด” ได้เฉียบจริงๆ  เสียงปี่นับว่าสร้างเสน่ห์ได้อย่างน่าทึ่ง รับรองได้ว่าทุกคนล้วนใจจดใจจ่อ และเอาใจช่วยไม่ให้เสียงปี่ขาดท่อนขาดตอนทุกเม็ดทีเดียว

   ท่านผู้อ่านที่รัก ขออนุญาตปรับเปลี่ยนอารมณ์สุนทรีย์ของละคร กลับเข้าเรื่องที่โหมโรงไว้เพราะถึงเวลาที่จะต้องเปิดนิทานคำกลอนของท่านสุนทรภู่กันไต่อไป เพื่อจะหาคำตอบอันเกี่ยวเนื่องกับพระเอกในนิทานคำกลอนของท่านบรมครู ซึ่งเป็นเชื้อวงศ์องค์กษัตริย์ ที่จะต้องไปศึกษาการรบ การเมืองการปกครอง เพื่อสารบ้านเมืองต่อไป แต่เหตุไฉน ท่านบรมครูผู้รจนาเรื่องนี้ จึงเอา “ปี่” ไปใส่พระอุ้งมือพระอภัยมณี  ผู้เขียนเคยสงสัยมานานนักหนาแล้วว่า ถ้าเจตนาของท่านสุนทรภู่จะเสกสร้างให้พระเอกเป็นนักดนตรีก็ตาม เครื่องเป่าในวงคนตรีไทยเราก็มีออกหลากหลาย  ท่านบรมครูเห็นดีเห็นงามอย่างไร จึงได้เอาปี่ไปใส่ปากพระอภัยมณีจนเป็นเรื่องเป็นราวที่ยาวยืดยาว นี่นับว่าปี่เป็นต้นเหตุของเรื่อง หรือเป็นสารัตถะสำคัญของนิทานเรื่องนี้

   ก่อนจะไปล้วงลึกเอา “ปี่ของพระอภัยฯ ออกมาเชยชมกัน ต้องขอย้ำว่า  “พระอภัยมณีคำกลอน”  นับเป็นวรรณคดีมรดกชิ้นหนึ่งในวงวรรณคดีไทย   ซึ่งวรรณคดีสโมสร ในพระบาทสมเด็จพระมงกงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว คัดสรรแล้วว่าเป็น ยอดของนิทานคำกลอน” ไม่ใช่ “นิยาย”

   ดังนั้น ผู้เขียนจำเป็นต้องกำหนดในข้อตกลงเบื้องต้นเสียก่อน คำว่า”นิทาน”  มีความหมายอย่างไร  ซึ่งผู้เขียนต้องขออภัยท่านผู้รู้บางท่านกล่าวว่าว่า นิทานเป็นเรื่องหลอกเด็กไร้สาระ ในเรื่องก็มี เทวดานางฟ้า แปลงกายเหาะเหิรเดินฟ้าได้นั้น  น่าจะเป็นความเข้าใจผิด  นั่นเข้าไปอยู่ในระดับ “นิยาย”  ไปแล้ว  แม้ว่าในเรื่องพระอภัยมณีนั้น ดูเหมือนจะมีอะไรที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์  เช่น  นางผีเสื้อสมุทร แปลงกายเป็นหญิงรูปราม พระฤษี ปรากฏกายในทันทีทันใด  นั่นเป็นเงื่อนที่ผูกขึ้นให้เข้าทางสนุกสนานน่าตื่นเต้น ซึ่งความจริงแล้วพฤติกรรมดังกล่าวนั้น หากอ่านอย่างพินิจ อ่านอย่างเข้าใจความหมายของคำว่า “นิทาน” แล้วจะพบว่า แท้จริงนั้นคืออำไร  ท่านบรมครูผู้รจนาท่านซ่อนนัยไว้อย่างไร  ลองอ่านบทต่อๆ  ไปแล้วจะวิเคราะห์ให้เห็นถ่องแท้เป็นฉากๆ ช้าๆ ก่อนที่จะตำหนิติเตียน

   มาพิจารณาคำว่า  “นิทาน”  นิทาน   แปลตามศัพท์ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า  “เหตุ”    ซึ่งเป็นชนวนให้ผู้เขียนต้องวิเคราะห์ และลองสร้างนิยามของคำว่า “นิทาน” ขึ้นมาเองบ้าง ได้ซึ่งความจริงแล้ว   

นิทาน ก็คือ  “เรื่องราวใดๆ ที่เกิดมาแต่รอยหยักในสมองของผู้เล่า โดยเฉพาะรอยนั้นเป็นรอยที่เป็นห้วงลึกของสมอง ผสานกับมโนสำนึกอย่างแท้จริง   ที่อยากจะแสดงออกมา แล้วจึงผูกขึ้นเป็นเรื่อง เป็นราวโดยมีจุดมุ่งหมายและเป้าประสงค์ที่แน่นอน”

   ดังนั้น   คำว่า  นิทาน”  จึงไม่ใช่เรื่องตื้นๆ สนุกปากเพื่อใช้สำหรับหลอกเด็ก หรือ คนเดินทางที่บังเอิญมาพบกัน และต่างคนต่างก็แบ่งปันกัน โดยแทรกความคิดไว้ ให้หลงเหลืออยู่ในความคิดคำนึงของผู้ได้ยินได้ฟัง ซึ่ง คนที่ผูกเรื่องขึ้นต้องเป็น“เธียร” ไม่ใช่เทียน”  เพราะ นิทานจะแฝงนัยไว้ในความสนุก ฝากคติ ข้อคิด ด้วยเหตุดังกล่าว หลังนิทานจบ ก่อนจากจะฝากคำว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า………………” หรืออาจปล่อยให้คนฟังคิดเอง

   นิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ของบรมครู ท่านผูกขึ้นอย่างวิเศษนี้ ประกอบด้วย  เสียดเสนาะ เซาะสัมผัส ซัดลีลา(Style) ของท่านจนถึงกับต้องพายเรือขายชาวบ้านติดกันงอมขนาดนั่งรอ ว่าเมื่อไรเรือพระอภัยมณีจะมาถึงแพ หรือท่าน้ำหน้าบ้าน เรียกว่าเป็น “ดีลีเวอรี” เลยทีเดียว ราคาหัวหนึ่งๆ(อ่านว่า หัวนึงหัวนึง โบราณเรียกนังสือว่า  “หัว”)ไม่กี่ อัฐ กี่ ฬส หรอก ซึ่งต่อเมื่อมีโรงพิมพ์เป็นนังสือก็พิมพ์ที่วัดเกาะขนาดพ้อกเก็ตบุค บางๆ มีทั้งปลาบู่ทอง โสนน้อยเรือนงาม คาวีหลวิไชย นี่นับเห็นเหตุสำคัญอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้คนในยุคนั้นลุกขึ้นมาเรียนหนังสือกันมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้อ่านนิทานเหล่านี้นี่เอง

   ท่านผู้อ่านที่รัก กลับมาช่วยกันวิเคราะห์หานัยที่ท่านบรมครูสุนทรภู่ท่านซ่อนเงื่อนงำไว้ใน ปี่ อันเป็น “เหตุ” ของเรื่องพระอภัยมณีกันต่อไป  ท่านสุนทรภู่ ท่านเปิดบทบาทของปี่ในตอนเริ่มต้น ก็ตอนที่พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณมาพบกับสามพราหมณ์ จับเอาเอาตอนที่พระอภัยฯ สำแดงความวิเศษของปี่ครั้งแรกนั้น ท่านไม่สงสัยบ้างหรือว่า พระอภัยฯ ท่านบรรเลงเพลงปี่ออกเป็นเนื้อความว่าเแล้วใครล่ะเป็นคนร้อง อย่างแรกของบทนี้ที่ท่านเปิดเผยว่า ปี่มีดีตรงที่เป่าให้เหมือนเสียงพูด

ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย
ถึงร้อยรสบุบผาสุมาไลย
พระจันทรจรสว่างกลางโพยม
แม้นได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย 
  ยังไม่เคยเชยชิดพิสมัย
 จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย
 ไม่เทียมโฉมนางงามเจ้าพราหมณ์เอ๋ย
 ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน

(๒๕๐๕ :๑๓)

เมื่อสามพราหมณ์ได้ฟังเพลงปี่พระอภัยฯ แล้วอาการใดที่เกิดขึ้น  นั่นก็คือ

เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่วเสียง
หวาดประหวัดสัตรีฤดีดาล
 สำเนียงเพียงการะเวกกังวานหวาน
 ให้ซาบซ่านเสียวสดับจนหลับไป

(๒๕๐๕ :๑๓)

  ดังที่เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า นิทานย่อมมีมาแต่ “เหตุ” เป็นที่ตั้ง ท่านบรมครูฯ ท่านไม่ลืมที่จะบอกที่มาที่ไปอันเป็นเหตุที่พระอภัยฯ เลือกเรียนวิชาดนตรี แม้ว่าจะต้องไปเสียเงินเสียทองตั้งแสนตำลึงทองเป็นค่าเรียนพิเศษ  อาจารย์ถึงกับอยู่ตึก แถมติดโป๊สเตอร์ไว้หน้าบ้านซะด้วย โชคไม่ดีของผู้เรียนต้องเดินไปอ่านประกาศเอง ตอนนี้แสดงให้เห็นว่า ยุคนั้นมีความเปลี่ยนแปลงจากโบราณ และก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งท่านผู้รจนาไม่ละเลยที่จะกล่าวถึง นับได้ว่าเป็น “จดหมายเหตุ” ทางประวัติศาสตร์ไว้ในนิทานโดยปริยาย  จากคำกลอนที่ว่า

“อันสองท่านราชครูนั้นอยู่ตึก
เป็นข้อความตามมีวิชาการ
แม้นผู้ใดใครจะเรียนวิชามั่ง
ถ้ามีทองแสนตำลึงมาถึงใจ
 จดจารึกอักขราไว้หน้าบ้าน
 แสนชำนาญเลิศลบภพไตร
 จงอ่านหนังสือแจ้งแถลงไข
 จึงจะได้ศึกษาวิชาการ”(๒๕๐๕  : ๓)

   บทที่ยกมานี้แสดงให้เห็นว่า การกวดวิชามามีแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว  เล่นสอนกันบนตึกดัวย แต่ไม่บอกชื่อว่าครูอะไรที่แน่ชัดก็เห็นจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชานั้นอย่างแท้จริง  ไม่เหมือนสมัยนี้ครู“ปิง” สอนสังคม ครู“ลิลลี่” สอนภาษาไทย ส่วนครู “สมศรี” สอนภาษาอังกฤษ   อีกหน่อยครู “สุธน กับครูมโนห์รา” จะเปิดสอนวิทยาศาสตร์ ครู“เสี่ยวเหมย” จะสอนวรรณคดีไทย     ส่วนครู“ทองอยู่” คงต้องสอนภาษาอาเซียนแน่ ๆ เลย นี่ก็แปลกเรื่องหนึ่งละ นับว่าท่านสุนทรภู่ คงจินตนาการล่วงหน้ากว่า ๒๐๐ ปี

   เมื่อพระอภัยฯ กับน้องชาย ดั้นเดินมาอ่านประกาศ ปรากฏว่า มีสองวิชาที่เปิดกวดที่ตึกดังกล่าว  อ่านแล้ววิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่า ท่านสุนทรภู่แอบบอกไว้เป็นนัยๆ ว่า“เมื่อริจะเป็นนักศึกษาก็ต้องอ่าน ไม่ทำเป็นเดิน“ดุ่มเดาเข้าไป”  เหมือนวัสการพราหมณ์  แต่ถึงกระนั้น ท่านวัสการพราหมณ์ ท่านยังเดินดุ่มๆ  แบบเดาๆ อ่านแล้วลองวิเคราะห์เทียบกับปัจจุบันแล้วจะเห็นความแตดต่างอย่างชัดเจน

ใบประกาศที่หน้าบ้าน(ตึก)บรรยายสรรพคุณไว้ว่า

“อาจารย์หนึ่งชำนาญในการยุทธ์
รำกระบองป้องกันกายสกนธ์
อาจารย์หนึ่งชำนาญในการปี่
ผู้ใดฟังวังเวงในวิญญา
 ถึงอาวุธซัดมาดังห่าฝน
รักษาตนมิให้ต้องคมศัสตรา
ทั้งดีดสีแสนเสนาะเพราะหนักหนา
เคลิ้มนิทราลืมกายดังวายปราณ”

(๒๕๐๕ : ๓)

   เจ้าชายทั้งสองคงต้องเลือกเรียน “กระบอง” แน่นอน แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งคู่ต่างเลือกคนละวิชาเอก  ศรีสุวรรณผู้น้องน่าจะคิดถูก  เพราะต้องไปดูแลบ้านเมืองรักษาประชาชนและมนตรี แต่พระอภัยมณีผู้พี่กลับเลือกที่จะเรียนดนตรี  เห็นอะไรบ้างล่ะท่าน  การเลือกวิชาเรียนน่ะมีมานานแล้ว พ่อแม่ไม่ได้กำหนด เข้าหลักจิตวิทยาในเรื่องเอกัตบุคคลอย่างแท้จริง

“อันท่านครูอยู่ตึกตำแหน่งนี้
จึงดำรัสตรัสแก่พระน้องยา
 ฝีปากปี่เป่าเสนาะเพราะหนักหนา
 อันวิชาสิ่งนี้พี่ชอบใจ

(๒๕๐๕ : ๓)

 ส่วน ศรีสุวรรณ ก็เลือกเรียนตามที่ตนถนัด

“อนุชาว่าการกลศึก
ถ้าเรียนรู้รำกระบองได้ว่องไว
 น้องนี้นึกรักมาแต่ไหน
 จะชิงไชยข้าศึกไม่นึกเกรง

(๒๕๐๕ :  ๔)

วิเคราะห์จากบทประพันธ์จะเห็นว่า สุนทรภู่ท่านไขความด้วยบทเจราดังนี้

๑. การเลือกเรียนวิชาใด ขึ้นอยู่กับความถนัดตามธรรมชาติ และความสนใจของผู้เรียน พระอภัยฯ ผู้พี่เมื่ออ่านประกาศแล้วจะแนะน้องก็เปล่า ว่า เจ้าต้องเรียนวิชานี้ แต่กลับถามและบอกว่า เลือกเอาตามความสนใจ ไม่เชื่อไปอ่านดู  ที่ผิดแปลกไปจากแนวคิดก็คือ เริ่องนี้ให้กษัตริย์ไปเรียนเป่าปี่  ที่ถูกก็ตรงที่ว่า จะเรียนอะไรดีก็อยู่ที่ตัวเองคิดว่า ตนเองชอบ หรืออีกนัยหนึ่งก็คงเจตนาจะชี้แนะว่า “ใจต้องนำตัว  ความสำเร็จนั้นไปกว่าครึ่งแล้วต้องเลือกในสิ่งที่ตนเห็น(ลึก)

๒.  “ปี่” นี้ดีไฉน  สุนทรภู่ครูท่านเห็นใครเป็นตัวอย่างว่า พระราชาชาติไหนที่เรียนดนตรี จากนิทานหลากหลาย นิยายอีกหลายหลากเรื่องก็ล้วนแต่ให้เจ้าชายไปเรียนรัฐศาสตร์  เรียนนิติศาสตร์  ยุทธศาสตร์เป็นหลัก แต่จะมีก็เรื่องระเด่นลันได ที่เป็นพระเอกนักดนตรี ทว่าไม่เป่าปี่  หากแต่สีซอ จะว่าไม่มีเสียเลยก็ไม่ใช่ ที่กษัตริย์เรียนวิชาปี่เหมือนกัน ปรากฏใน เรื่อง  “ไซ่ฮั่น” ที่มาจากพงศาวดารจีนนั่น ว่า

พระเจ้ายู้เต้เป็นต้นตำรับปี่ ตัดไม้ไผ่ยาวประมาณ ๒๒นิ้วกึ่ง แล้วเอาธาตุทั้ง ๕ เป็นกำลัง เอาเสียง ๑๒ นักษัตรเป็นต้นเพลงเป่าได้เป็นเสียงสัตว์ทุกภาษา ถ้าจะเป่าให้เป็นบทกลอนก็ได้ดุจดังตั้งใจ จนสืบมาถึงนางหลั่งหยกราชบุตรีของจิ๋นอ๋อง ว่านางพอใจเรียนวิชาปี๋ และในที่สุดนางก็ได้พบกับเซียวซู้ ซึ่งชำนาญในเพลงปี่ไม่แพ้กัน สามารถเป่าจนฝูงหงส์และนกยูงพากันมารำ

นี่ก็เป็นตำนานหนึ่งซึ่งวิเคราะห์กันว่า สุนทรภู่น่าจะได้เค้ามูลตรงนี้  แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นในการวิเคราะห์ครั้งนี้ บทความนี้มุ่งพยายามวิเคราะห์ให้เห็นว่า “ปี่” ต้องดีแน่ ขนาดนกยูงได้ยินเสียงปี่ยังเริงร่ากล้าออกมารำอย่างท้าทายให้คนเห็น นับได้ว่า “ลืมตัวกลัวตาย”  ในประการนี้น่าจะเห็นร่วมกันได้ว่า ปี่ ต้องมีคุณลักษณะพิเศษอย่างแท้จริง

. เครื่องดนตรีไทยมีหลากหลายชนิด วิเคราะห์หานัยที่ครูท่านอาจซ่อนอะไรไว้ หรือทำไมต้องเปิดวิชาเอกปี่ วิชาเดียว ฆ้อง  กลอง  ระนาด  เครื่องตี เครื่องเคาะดีดพิณ จะเข้  ขิม  หรือว่า เครื่องเป่าอื่นก็มี ขลุ่ยก็ออกดีทำไมไม่เปิดสอนปี่จะดีตรงไหน

   แนวทางการวิเคราะห์  คำว่า “ปี่”  ในแง่ของคำ และการออกเสียงคำว่า /ปี่/ ขณะที่ออกเสียงก็ดี หรือเพียงแค่นึกถึงคำว่า “ปี่”  ท่านลองส่องกระจกแล้วพิจารณาด้วยใจที่ปราศจากอคติ ท่านสังเกตใบหน้า  นัยน์ตา   ริมฝีปากปากของตัวท่าน ว่าเกิดอะไรขึ้น   ผู้เขียนบทวิเคราะห์เชื่อว่า ท่านจะเห็นรอยยิ้มเกิดขึ้น  นี่คือคำว่า “ปี่” เกิดจากสระ /อี/ ที่เป็นใจกลางของพยางค์  สระอี  เกิดตรงไหน  เมื่อพลิกตำราภาษาศาสตร์ดู แล้วท่านก็จะพบคำตอบ

   บทวิเคราะห์ที่สำคัญ ที่น่าพิจารณาว่าท่านบรมครูให้บทบาทของปี่ที่ควรแก่ความสนใจก็คือตอนพระอภัยฯ ใช้เสียงปี่หยุดยั้งนางผีเสื้อ ที่กำลังอยู่ในภาวะของความโกรธเกรี้ยว กร้าวร้าวพระฤๅษี พิจารณาให้ลึกแล้ว จะพบว่าท่านบรมกวีเอกใช้ความเสน่ห์แห่งความหวานของปี่เป็นเครื่องหยุดยั้งต่างหากมิใช่เพื่อสังหาร พินิจบทกลอนดูแล้วจะหาข้อยุติได้ มีบ้างสักคำหรือว่าเสียงปีกระโชกโฮกฮากไม่

“แล้วทรงเป่าปี่แก้วให้แจ้วเสียง
พวกโยธีผีสางทั้งนางมาร
แต่เพลินฟังนั่งโยกจนโงกหงุบ
พอเสียงปี่ที่แหบหายลงไป
สอดสำเนียงนิ้วเอกวิเวกหวาน
ให้เสียวซ่านซับซาบวาบหัวใจ
ลงหมอบซุบซวนซบสลบไสล
ก็ขาดใจยักษ์ร้ายวายชีวา

(๒๕๐๕   ๒๐๐)

ตรงข้อความนี้คือกูญแจไขความ ว่า ความตายของนางผีเสื้อเกิดจากสาเหตุใด  พินิจดูแล้วจะเห็นว่า  สุนทรภู่ท่านเปิดความด้วย “หวาน” ปิดด้วย “ตาย” ลองพิจารณาบาทที่ ๒  และ๓  ด้วย  นางผีเสื้อสมุทรขาดใจตาย หรืออกแตกตาย เพราะรักแรง หรือโกรธแรง เห็นอธิบายกันลั่นว่า อกแตกตาย ไหนท่านสุนทรภู่ท่านบอกไว้หรือว่านางอกแตกตาย  ในบทประพันธ์ท่านก็บอกไว้ชัดว่า

แต่เพลินฟังนั่งโยกจนโงกหงุบ       ลงหมอบซุบซวนซบสลบไสล

   วิเคราะห์แล้วจะเห็นว่า การตายของนางผีเสื้อสมุทรนั้น อันเนื่องมาแต่จิตดับไปด้วยความสงบนะ    ทั้งนี้พระอภัยฯ ใช้ความหวานจับใจเป็นเครื่องมือหยุดยั้งความโมโหโกรธาได้อย่างสิ้นเชิง  เป็นธรรมดา ปี่จะเป่าด้วยความโมโหเกรี้ยวกราดก็จะหาความไพเราะไม่ได้  เพราะนอกจากปากยิ้มแล้วตายังพริ้มด้วย……อีกทั้งใจต้องยิ้มด้วยจึงจะเป่าได้ดี   

เพื่อยืนยันในหลักความจริงโดยวิชาภาษาศาสตร์ เป็นเครื่องสนับสนุนการวิเคราะห์ ตารางสระไทย

ส่วนของลิ้น

ระดับของลิ้น

ลิ้นส่วนหน้า

รูปริมฝีปากไม่ห่อกลม

ลิ้นส่วนกลาง

รูปริมฝีปากไม่ห่อกลม

ลิ้นส่วนหลัง

รูปริมฝีปากห่อกลม

ลิ้นระดับ สูง

อิ               อี

อึ                  อื

อุ               อู

ลิ้นระดับ กลาง

เอะ            เอ

เออะ           เออ

โอะ           โอ

ลิ้นระดับต่ำ

แอะ           แอ

อะ              อา

เอาะ            ออ

ต้องพิจารณา พร้อมกับทดลองออกเสียง “สระ”ในช่องแรกแนวตั้ง แล้วท่านจะหาคำตอบได้

สระหน้า ทั้ง ๓ ระดับ  สูง กลาง และต่ำ( /อี/     /เอ/    /แอ/) ล้วนเป็นสระที่ต้องอาศัยรูปริมฝีปากแบน ตั้งแต่เกือบปิดสนิท เปิดกว้างเล็กน้อย  และเปิดกว้างมากขึ้น แต่ไม่ถึงกับอ้าปากกว้าง จะมีแววของรอยยิ้มและยิ่งมากับคำว่า /ปี่/ ซึ่งมีพยัญชนะต้นที่เริ่มด้วย /ป/ อาการริมฝีปากทั้งล่างและบนปิดสนิท กับอาการกักลมเพื่อระเบิดเสียง หรือที่เรียกว่า Stop or Plosive พร้อมๆ กับเลื่อนลิ้นส่วนหน้าขึ้นในระดับสูงแต่ไม่จดเพดานส่วนหน้า และกดระดับเสียงให้ต่ำและต่ำลงท่านจะได้เสียงพร้อมอาการแสดงออกของคำว่า   /ปี่ / ยาวๆ อย่างชัดเจน  นี่น่าจะเป็นคำตอบว่า ทำไม “ปี่” ของท่านสุนทรภู่ จึงสามารถสะกดจิตถึงขนาดผู้คนหลับไหลไปทั้งกองทัพ

กลอนบทนี้เป็นเครื่องชี้วัดที่สนับสนุนได้

“ผู้ใดฟังวังเวงในวิญญา เคลิ้มนิทราลืมกายดังวายปราณ” 

(๒๕๐๕ :  ๓)

หรืออีกตอนหนึ่งที่เป็นคำไขไปสู่ความจริงอันเป็นเจตนาของท่านมหากวี

“แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง

ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก ได้ดับโศกศูนย์หายทั้งชายหญิง”

(๒๕๐๕ : ๔)

ครั้งแรกที่เป่าปี่หลังเรียนจบก็เห็นจะเป็นตอนพบเพื่อนพราหมณ์๓ คน

ความหวานของเสียงปี่ก่อให้เกิดข้อความดังนี้

“เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่วเสียง     สำเนียงเพียงการะเวกกังวานหวาน

หวาดประหวัดถึงสัตรีฤดีดาล ให้ซาบซ่านเสียวสดับจนหลับไป

ศรีสุวรรณนั้นนั่งอยู่ข้างพี่ ฟังเสียงปีวาบวับก็หลับไหล

พระแกล้งเป่าแปลงเพลงวังเวงใจ เป็นความบวงสรวงพระไทรที่เนินทราย”

(๒๕๐๕ :๑๓ )

ที่เฉลยว่าปี่คืออะไรอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ปี่เป็นเสียงสระหน้า-สูง ก็ตอนนี้ไง

“วิเวกแว่ววังเวงด้วยเพลงปี่ ป่วนฤดีดาลดิ้นถวิลหวัง

เสน่หาอาวรณ์อ่อนกำลัง เข้าเกยฝั่งหาดทรายสบายใจ”

(๒๕๐๕  : ๑๕)

   ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าเพลงปี่ที่หวานแว่ว ทำให้นางผีเสื้อเคลิ้ม ใช่ว่า ได้เห็นรูปโฉมของพระอภัยฯ ก่อนก็เปล่า สุนทรภู่ท่านไม่ด่วนผลีผลาม แต่ท่านต้องการสำแดงอานุภาพของความเป็นปี่ที่เข้าไปปะทะใจนางต่างหาก อย่างที่ปัจจุบันใช้คำว่า “โดนใจ” อย่างไรล่ะท่าน ว่ากันเพียงจุดนี้ก็คงจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ท่านเจตนาให้  ปี่ เป็นอุปลักษณ์อย่างชัดเจน  ส่วนความหล่อเหลาเอาการของพระอภัยมณีนั้น นางได้ประจักษ์ก็ต่อเมื่อได้ประชิดตัวแล้วต่างหาก

   ท่านที่รักจะไม่เป็นการยุติธรรมเลย ถ้าคนส่วนใหญ่นั้นไม่เกิดปฏิพัทธ์ในตัวนักร้อง เพราะมีความสุขจากรอยยิ้ม แถมสื่อสายตากวาดคนฟังไปจนหมดสิ้นที่ลึกไปกว่านักร้องก็คือ  เสียงดนตรี และลึกที่สุดนั่นคือ นักดนตรีเป็นผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลัง (Back up) ต่างหาก ลองมองผ่านนักร้องไป  นักดนตรีทุกคนล้วนมีความสุข  โดยเฉพาะเครื่องเป่าที่เพียงเอาริมฝีปากจดกับปลายที่เรียกว่าลิ้นเช่น ปี่ แซ็กโซโฟน อาการที่แสดงออกในขณะนั้นคือ รอยยิ้ม  ความสุข  จนกระทั่งแววตา จะเปล่งประกายความมีเสน่ห์ และรอยยิ้มอันน่าประทับใจ

   ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบที่ไม่ต้องอ้างอิงผู้รู้ใดๆ เลยก็คือ ต้องโทษที่ต้นเหตุคือ เครื่องมือและที่สำคัญคือดนตรีอันเป็นภาษาสากล ไม่ว่า เซ่นเจ้า เข้าผี หรือการนักมวย หรือก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบแต่ครั้งโบราณ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบก็คือ “ปี่” เชิญยิ้ม ย้อมใจทั้ง ครู  นักมวย และคนดู  นั่นย่อมแสดงว่าดนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนั้น

ตอนที่พระอภัยฯให้สินสมุทร รับแขก ด้วยการเป่าปี

กรุงกษัตริย์ฟังปี่ให้วิเวก   เอกเขนกนั่งหาวทั้งสามศรี

ให้วาบวับหลับล้มไม่สมประดี    ทั้งโยคีผู้เฒ่าพลอยหาวนอน

(๒๕๐๕  ๑๗๓)

ไม่ใช่เพราะแปลกที่เป็นเด็กเป่า แต่เพราะความสุขความประทับใจโดยรวมและรอยยิ้มที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกลอนที่ยกมานั่นแหละ

   เมื่อนางผีเสื้อฯ ได้เห็นตัวนักดนตรีแล้วเกิดอะไรขึ้นกับหญิงผู้มีใจเยี่ยงยักษ์ในกมลสันดานยิ่งเข้าไปใกล้ตัวพระอภัยในระยะประชิด ท่านบรมครูสุนทรภู่ท่านไม่ได้ทิ้งปี่ให้ไกลตัวแม้แต่เพียงชั่วขณะจิต ดังที่ปรากฏในวรรครองและวรรคส่งของบทประพันธ์ข้างล่างนี้  ถึงขนาดรำพันว่า

“น้อยฤๅแก้มซ้ายขวาก็น่าจูบ   ช่างสมรูปนี่กระไรวิไลยเหลือ

  ทั้งลมปากลมปี่ไม่มีเครือ    นางผีเสื้อตาดูทั้งหูฟัง”

(๒๕๐๕  : ๑๕)

   ขออภัยที่ต้องด่วนสรุป แต่ย้ำเตือนว่า อย่าด่วนเชื่อ หรือยอมรับ เพราะยังขาดประสบการณ์ทางการณ์วิเคราะห์ และที่สำคัญคือ ไม่มีที่อ้างที่อิง  เยี่ยงนี้นักวิชาการคงยอมรับกันไม่ได้ คิดไป เขียนไป โดยมุ่งให้เป็นแนวในการทำวิจัยต่อไป และต้องการให้เห็นว่า การอ่านอย่างวินิจสารให้เข้าใจถึงก้นบึ้งแห่งหัวใจท่านบรมครู ผู้อาบความรักที่จะอ่านให้เอิบอิ่มไปในยุคนั้นสมัยนั้น โดยผสานความรู้ สู่..การวิเคราะห์

   การวิเคราะห์ครั้งนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของสำนึกที่เกิดตั้งคำถามถามตัวเองว่า เครื่องดนตรีมีหลากหลาย แต่เหตุไฉนท่านสุนทรภู่กวีผู้มีจินตทัศน์ใช้อะไรมาสัมผัส  ท่านจึงกำหนดให้ตัวละครตัวนี้เล่นปี่ ที่คล้ายคลึงแต่แตกต่างก็เห็นจะเป็น “ขลุ่ย” ทำไมไม่ให้พระอภัยมณีเรียน  ที่แน่ๆ ท่านต้องออกเสียง /ปี่/ กับ /ขลุ่ย/ แล้วพิจารณาหาความแตกต่างทางสรีระโดยเฉพาะที่ปรากฏบนใบหน้า ท่านก็คงจะนึกออกแล้ว

   ขณะเดียวกันใช้ตารางสระข้างต้นมาวิเคราะห์ก็จะพบว่า  ครูท่านคงเล็งไปที่ขลุ่ยด้วยเหมือนกัน และก็คงพบว่า ถ้าใช้ “ขลุ่ย” ก็คงไม่ตรงประเด็นที่ตั้งไว้แน่นอน   แม้จะเริ่มด้วย /ข/ มีฐานเสียงเดียวกับ  /ก/แต่พอเปิดปากจะเป่าขลุ่ยก็ดูอาการพิลึกแล้ว และ /ข/ ก็เป็นเสียงหนัก(ธนิต) คือ  /ก/ + /ห/ จะมีกลุ่มลมตามมาทันทีภาษาฝรั่งท่านเรียกว่าAssimilated จะเกิดเสียงจะเพี้ยนเป็น /ข/  /ค/  ส่วน  /ก/ เป็นเสียงเบา (สิถิล) เช่นเดียวกับ  /ป/ เป็นเสียงเบาถ้ามี /ห/ ตามมาจะเป็น /ผ/  /พ/ ทันที  เมื่อขลุ่ย มีพยัญชนะต้นเป็นเสียงหนัก ย่อมไม่เบาเท่า /ป/  และในเสียง /ปี่/  นี้ มีสระ/อี/ เป็นใจกลางของพยางค์  ซึ่งขณะเดียวกันเสียงสระของขลุ่ยที่เป็นไจกลางของพยางค์ คือ สระ /อุ/  เมื่อเปิดตารางสระดู  สระ/อุ/  / อู/ เป็นสระหลัง – สูง  ริมฝีปากห่อกลม รูปปาก จะโค้ง ทำให้รูปหน้า และตา เป็นวงโค้งตามไปด้วย รอยยิ้มที่ริมฝีปาก และใบหน้า จะไม่เกิดขึ้น   นี่นับจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่พึงสังเกต

   อีกสาเหตุ หนึ่งให้เป็นสาเหตุที่ ๒ พิจารณาจากเวลาเป่าขลุ่ย นั้น  แม้ปากจะเพียงแค่จดส่วนที่เรียกว่า  “ดากขลุ่ย” เป็นเหตุให้รูปปากไม่แบนเรียวแน่นอน  อาการที่แสดงออกต่างกันในทางตรงข้าม จากหน้ายิ้มจะเป็นหน้าดุ  ปากหวอห่อกลม ตาพอง ตรงนี้น่าจะเป็นข้อสังเกตที่ทำให้เสน่ห์ของผู้เป่าเครื่องดนตรี สองชนิด แตกต่างกัน

   ส่วนสาเหตุที่สาม  เท่าที่พยายามติดตามฟังเพลงที่เป็นเรื่องราวของขลุ่ย ล้วนแต่เป็นสำเนียงที่ชวนวิโยคโศกครวญ หวนโหยมากกว่าความสุข   เพราะเสียงขลุ่ยจะเป็นเสียงกลมๆ  ไม่แบนเหมือนปี่นี่กระมังที่ท่านจินตกวีเอกของไทย และของโลกคงจะพินิจแล้วพิเคราะห์อีกจนตกผลึก จึงสร้างเป็นเงื่อนงำแฝงไว้ในความสนุกสนานทั้งน้ำเสียง  อารมณ์ และเนื้อความ  ท่านที่ชื่นชมในบทเพลงเท่าที่ยังพอจำได้ว่า เพลงที่กล่าวถึงขลุ่ยที่มีอยู่หลากหลายนั้นล้วนโศก เศร้า ระทม คร่ำครวญหวนหาทั้งสิ้น เช่น “เสียงครวญเสียงขลุ่ย” โดยการถ่ายทอดของคุณสุเทพ วงศ์กำแหง “เสียงขลุ่ยระทม” ที่คุณสมยศ ทัศนพันธ์ขับร้อง “ขลุ่ยสัญญา” ขับร้องโดยก้าน แก้วสุพรรณ ฯลฯ เนื้อหาสาระจะเป็นอย่างไร น่าจะได้ลองติดตามฟัง ไพเราะแต่เคล้ากลิ่นอายของความว้าเหว่ เหงา และถ้าเมื่อใดมีเสียงขลุ่ยคลอตามดูเหมือนจะยิ่งตอกย้ำหนักเข้าไปอีก นี่แหละความแปลกของเครื่องเป่าระหว่างขลุ่ยกับปี่ที่คึกคักแต่หวาน

   สำหรับนัยแฝงของท่านสุนทรภู่นั้น น่าจะมองในเชิง อุปลักษณ์(Metaphor) มากกว่าเชิงอุปมาและหากไม่เจาะลึกให้เข้าในเนื้อ หรือถ้าเป็นเม็ดไม่ขบให้แตกพอเบาะๆ เบาๆ แล้ว นิทานเรื่องนี้  ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องประโลมโลกเท่านั้น ยุคหลังจึงกล่าวกันว่า“เสียเวลาเรียนไปทำไมต้องเรียนวรรณกรรมซีไรท์ซึ่งเป็นของร่วมสมัยจึงจะเป็นคนทันยุคทันสมัย  แต่อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่า หนังสืออ่านแล้วได้ประโยชน์ทั้งนั้น  หากตาปิด ปากก็ยังไม่เปิด ยิ่งหูไม่สดับศัพท์สำเนียงใดๆ แล้วปัญญาจะเกิดได้อย่างไร หนังสือทุกเล่มมีไว้เพื่ออ่านตื้นบ้าง ลึกบ้าง บางเล่มต้องมองผ่านแว่นขยาย นี่เรื่องจริงและแม้แต่ในคำคมของจีนยังกล่าวว่า

ถ้าโลกนี้ไม่มีเหล้าก็แล้วไปเถอะ แต่เมื่อโลกนี้มีเหล้าเราก็จงดื่ม

ถ้าโลกนี้ไม่มีผู้หญิงก็แล้วไปเถอะ แต่เมื่อโลกนี้มีผู้หญิงเราก็จงรัก

ถ้าโลกนี้ไม่มีเหล้าก็แล้วไปเถอะ แต่เมื่อโลกนี้มีเหล้าเราก็จงดื่ม

เมื่อโลกนี้ไม่มีหนังสือก็แล้วไปเถอะ แต่เมื่อโลกนี้มีหนังสือเราก็จงอ่าน

   ความจริงอยากจะย้ำว่า นิทานใช่แต่เพียงเรื่องเล่าสนุกปาก สนานอารมณ์ สนองความเงียบในยามว่าง ๆ ที่ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไรกัน  แต่แท้จริงแล้ว รากเหง้าของคำว่านิทาน มาจาก  “เหตุ”  ท่านต้องตีหรือทุบคำว่า เหตุ หรือ นิทานให้แตก ที่โบราณว่า ต้องขบให้แตกนั่นแหละ แล้วจึงจะรู้ “รสชาด”(อิ่มเอมด้วยสีสันทางความคิด)ของถ้อยคำที่อยู่ในปาก

   เพื่อความเข้าใจในเจตนาของผู้วิเคราะห์ครั้งนี้ยังมีข้อสนับสนุนทั้งในทางหลักภาษา ที่ต้องการจะชี้ ย้ำให้เป็นส่วนประกอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คงต้องนิยามคำว่า “ภาษา” นี่ต้องเพ่งเล็งที่  เสียง  พูด หรือ  พวก เป็นเรื่องของการตีความบนฐานแห่งความเป็นจริงตามธรรมชาติของมนุษย์ นับเป็นอัจฉริยภาพของมนุษย์ที่พินิจพิจารณ์มาแล้วก่อนกำหนดใช้ มนุษย์อยู่กับรอยยิ้มย่อมนับว่าประเสริฐ  รอยยิ้มเป็นเครื่องประเทืองใจมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยม

   มนุษย์ก็จะดูดี มีค่าความเป็นมนุษย์ นอกจากจะยืนทรงตัวอยู่บนขาทั้งสองข้าง แขนเหยียดตรงลงข้างลำตัวแล้ว  รูปปากของมนุษย์ยามปกติจะอยู่ในลักษณาการที่แบนราบ ริมฝีปากชิดเรียวโค้งขึ้น ไม่เรียวคว่ำลง ต้องปฏิบัติ หรือลองทำดู   จะเปิดกว้างหรือแคบขึ้นอยู่กับภาวการณ์ที่จะต้องใช้งาน เมื่อใดท่านปิดปากตาท่านจะเปิด เมื่อท่านเงยหน้าแล้วตาของท่านจะปิด ส่วนปากจะเปิดเองโดยอัตโนมัติ จึงมีสำนวนว่า“เงยหน้าอ้าปาก” แต่ทุกวันนี้ เรา “ลืมตาอ้าปาก”เราจึงหายใจไม่ออก อึดอัด หน้าตาไม่สบายแถมไม่สุภาพอีกด้วย

   ภาษากำหนดโดยธรรมชาติ ลองสังเกตคำคู่ของภาษาเรา มีลักษณะของคำ ในทุกสถานการณ์ จะจบลงด้วยรอยยิ้มทั้งสิ้นและก็เป็นที่น่าแปลก คำคู่จะเริ่มที่สระหลัง แล้วจบลงด้วยสระหน้าในระดับเดียวกัน  ลองทำเสียงและวิเคราะห์รูปปากของท่านทั้งตอนเริ่ม และตอนปิดเสียง พร้อมๆ กับดูตารางสระประกอบ(หน้า 17) ก็จะชัดเจนขึ้น“จู้จี้    จุกจิก   บุบบิบ  บ๊งเบ๊ง   โทงเทง   โย้เย้     โลเล    จ้อกแจ้ก  จอแจ  หงุดหงิด เหยาะแหยะ งอแง  จะเห็นว่าทุกคำล้วนจบลงด้วยรอยยิ้ม ลองพูดคำว่า โมโห  นั่งจ๋อหวอ  เย้โย้ซึ่งเป็นคำที่จบลงด้วยสระหลัง  ปากกับตาของผู้พูดจะอยู่ในลักษณะใด

   บรมครูสุนทรภู่เขียนเรื่องนี้ ท่านมีเจตนาสำคัญเป็นอันดับแแรก ด้วยชื่อตัวละครตัวเอก ว่า “อภัยมณี”  ท่านสมาชิกลองแปลให้งามซิ  อภัย  ไม่โทษไม่โกรธ ยกให้   มณีคือ แก้ว เพชร รัตนชาติ ลองหาคำมาทดแทดแทนแล้วจะพบว่าเรื่องนี้สมควรเป็นนิทานอย่างแท้จริง  หรือเป็นเพียงเขียนขึ้นเพื่อประทังชีวิตของท่านสุนทรภู่เมื่อยามตกยาก แต่สำหรับผู้วิเคราะห์มั่นใจอย่างมั่นคงว่า สุนทรภู่ตั้งใจจะประทังชีวิตคนทั้งโลก ให้รู้ว่า“เมื่อใดรู้รักรู้อภัยย่อมสดใสดุจได้เพชรนิลจินดาดังความตอนที่พระอภัยมณีตอบข้อสงสัยของสามพราหมณ์ จุดนี้ต้องถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ท่านบรมครูผู้กร้านโลกได้เห็นอย่างทะลุปรุโปร่ง

อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป   ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์(๑ )

ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช   จัตุบาทกลางป่าพนาสิน

แม้ปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน   ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา( ๒ )

ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ( ๓ )   อันลัทธิดนตรีดีนักหนา

ซึ่งสงไสยไม่สิ้นในวิญญา   จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง

(๒๕๐๕ :  ๑๑)

นี้มีคำสำคัญ ให้พิจารณาตีความจาก

(๑)  ใช้ได้ดังจินดา  นั้นต้องหมายว่า ดนตรีใช้ได้ดังใจนึก

(๒)  สิ้นสุดโทโสที่โกรธา  ต้องหมายว่า  ปี่สร้างสรรค์เสียงดนตรีให้รื่นรมย์  และ

(๓) ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ หมายถึง การโอนอ่อนผ่อนปรนย่อมหลับไปได้อย่างสบาย

ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้นว่า อย่าเชื่ออย่าปักหรือปลงใจเชื่อในทันที ท่านนักวิเคราะห์ที่รัก  กรุณารวบรวมให้ครบจบกระบวนปี่  ที่พระอภัยฯ ใช้ทุกครั้ง แล้วท่านจะพบคำตอบที่แท้จริง   ไม่ว่าตอนที่ใช้ปี่สยบนางผีเสื้อสมุทรก็ดี   ใช้ในการรบทัพจับศึกก็ดี  เพลงปีมิได้เกรี้ยวกราด  หากแต่ว่า  หวานจนคนฟังลืมสติ  แต่ไม่เสียสติแต่ประการใด

ท่านสุนทรภู่ยังเสริมเจตนาของท่านไว้ในตอนหนึ่งเพื่อยืนยันว่าปี่ไม่ใช่อาวุธที่ใช้เพื่อการประหัตประหาร ตั้งแต่เริ่ม แต่เนื่องจากความเป็นนิทานผู้อ่านจึงมุ่งไปที่ความสนุกมากกว่า

 

ถ้าแม้ว่าข้าศึกมันโจนจับ จะรบรับสารพัดให้ขัดสน(๑)

เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ(๒)

คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร

ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ จึงคิดอ่านเอาไชยเหมือนใจจง

(๒๕๐๕  หน้า  ๖)

บทวิเคราะห์  สุนทรภู่แสดงเจตนาถึงการใช้สติปัญญาเป็นอาวุธได้โดยผ่านการเจรจาของตัวละคร

ถ้าแม้ว่าข้าศึกมันโจนจับ  จะรบรับสารพัดให้ขัดสน(๑)

นัยที่(๑) ต้องพิจารณาในวรรครับว่า พระอภัยมณีชี้แจงถึงการวางแผนเท่านั้น ยังมิได้เกิดการรบแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาจากคำว่า “ถ้าแม้ว่าข้าศึกมันโจนจับ” และก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะใช้การรบพุ่งใดๆ ทั้งสิ้นดังความในวรรครับ

นัยที่(๒) แสดงให้เห็นว่าพระอภัยฯ ก็ยังยืนยันที่จะใช้ “ปี่” เป็นเครื่องมือในการระงับศึกได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด เพราะเพลงจะเป็นสื่อให้เข้าถึงจิตใจ ปรับเปลี่ยนความโกรธเป็นความรักได้แน่นอน ยืนยันได้จากวรรคที่กล่าวว่า “เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน

        บทกลอนที่ยกตามมาข้างล่างนี้ ก็เป็นอีกหนึ่ง คำยืนยันว่า อาวุธอันวิเศษสุดที่ท่านบรมครู “สุนทรภู่” หยิบยื่นให้นำไปใช้โดยแฝงมากับนิทานเรื่องนี้นั้นใช้ได้ในทุกสถานการณ์ นั่นเอง


วิเวกหวีดกรีดเสียงสำเนียงสนั่น
ให้หวิววาบซาบทรวงต่างง่วงงง
จึงทรงปี่เป่าห้ามปรามณรงค์
 คนขยั้นยืนขึงตะลึงหลง
 ลืมณรงค์รบสู้เงี่ยหูฟัง

(๒๕๐๕  : ๕๑๒ – ๕๑๓)


ดังได้กล่าวแล้วในช่วงของคำว่า “นิทาน” นั้น หมายถึงเรื่องราวที่ผูกขึ้นอันเนื่องมาแต่เหตุ  ผู้วิเคราะห์เห็นควรที่จะอ้างอิงเหตุการณ์สืบเนื่องจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ทำสงครามกับพม่าอันสร้างความตื่นกลัวได้อย่างยิ่ง คือ เรื่องศึกเก้าทัพ ซึ่งพม่ายกมาทุกทิศทุกทาง  นับว่าครั้งนั้นสร้างความเครียดให้ชาวไทยได้มาก  ท่านบรมครูจึงน่าจะเห็นเป็นโอกาสสร้างรอยยิ้มให้บังเกิดขึ้นโดยทั่วถ้วน   

   ดังนั้น อาจกล่าวโดยสรุปสำหรับช่วง “อาวุธของพระอภัยมณี”นี้ว่า ท่านผู้รจนาเรื่องนี้ ท่านมีนัยแฝงไว้ในอลังการของจินตนาการอย่างแยบยลในวาทะอย่างชัดเจนว่า “ปี่ จึงเป็นอุปลักษณ์ของรอยยิ้มอย่างแท้จริง”

   คำว่า“ปี่  คือ รอยยิ้มที่สร้างรอยพิมพ์ใจ ทั้งคนที่ถือ คนที่เห็นและคนที่ได้ยินเสียงปี่ ในวินาทีนั้นแล้ว  ยิ้มเถอะ ยิ้มให้เปื้อนโลก สุนทรภู่ท่านคงต้องการจะบอกว่า “ยิ้ม เป็นอาวุธสำคัญของคนไม่ต้องซื้อต้องหา ยิ้มมีติดตัวกันทุกคน แล้วทำไมไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์”   มีเพลงอยู่เพลงหนึ่งที่คนไทยเลิกร้องแล้ว หรือเพราะเห็นว่ามีน้อยสาระเกินไปก็ได้ เพลงนั้นชื่ออะไร บอกไม่ถูก เคยได้ยินมาแต่เด็กจำได้ว่าคนไทยจะร้องในวันปีใหม่กันคึกคักและครื้นเครง  ขออภัยด้วย หากว่าเนื้อเพลงผิดเพี้ยนไป

“ยิ้มเถิด  ยิ้มเถิด  ยิ้มแย้ม  ยิ้มแย้มแจ่มใส  ทุกสถาบันไป  ขอให้ไทยสวัสดี

ยิ้มเถิด ยิ้มเถิด  หน้าอิ่ม  ยิ้มแย้มแจ่มใส   ยิ้มให้กันเรื่อยไป แล้วชาติไทย..จะ ส..วัส…ดี”……”

ก่อนปิดตอนก็พอดีเปิดหนังสือของท่านเจ้าพระคุณพระพุทธวรญาณ(มงคล วิโรจโน)ท่านว่าไว้ในตำราสร้างเสน่ห์ ซึ่งหลวงพ่อเนื่อง จังหวัดระนอง ท่านบอกว่า เบื้องต้นให้กำจัดหลวงพ่อทั้ง ๔ เสียก่อนคือ

หลวงพ่อบูด(๑) หลวงพ่อเบี้ยว(๑) หลวงพ่อบึ้ง(๑) และ หลวงพ่อเบ้(๑) แล้วให้ต้อนรับหลวงพ่อทั้ง ๔  คือ

หลวงพ่อยิ้ม(๑) หลวงพ่อแย้ม(๑) หลวงพ่อแจ่ม(๑)  หลวงพ่อใส(๑)”

บูด เบี้ยว บึ้ง เบ้สระ /อู/  / อึ/  /เอีย /  ไม่ต้องพูดเพียงแค่นึกถึงก็  บูด เสียแล้ว

โดยเฉพาะ “เบี้ยว” /เอีย / ทำท่าจะยิ้มเพราะเริ่ม /อี/ ตามด้วย /อา/ แถมปิดด้วย  /ว/

ลองทำท่าออกเสียงดู และเมื่อเปรียบเทียบกับ  ยิ้ม  แย้ม  แจ่ม  ใส สวย

สุนทรภู่ท่านไม่ได้สั่งโดยตรงแต่ท่านแฝงในนิทานที่ให้ทั้งความสนุกเสนาะ

และเพลิดเพลินโดยใช้คำว่า  “ปี่”  โดยที่อ่านเอาเรื่องก็สนุกไปแบบหนึ่ง แต่

เมื่อใดที่ผู้อ่านแอบตั้งคำถามลึกๆ ว่า “ปี่” นั้นสำคัญไฉน ย่อมก่อให้เกิดการ

วิเคราะห์เจาะลึกเข้าไปถึงเจตนาของท่านย่อมสร้างปัญญาให้เกิด นับว่าท่าน

บรมครูผู้นี้ได้สร้างวิสัยทรรศน์อย่างมีกุศโลบายอันแยบยลทีเดียว

 

ยิ้ม   ยิ้ม ยิ้ม  ยิ้มสร้างสันติสุข สวัสดี ดี  ดี…ปราชญ์ท่านใด

ท่านผู้อ่านที่รัก ถ้าหากว่าแนววิเคราะห์นี้ไปพ้อง หรือไปขัดกับความคิด

ความรู้ของปราญช์ท่านใดก็ต้องขออภัยอย่างสูง มิได้ลอกเลียนหรือ

จงใจขัดแย้งความคิดของท่าน หากแต่เพราะเพิ่งเริ่มหัดคิด  หัดเขียน และ

หัดวิเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางในการวิจัยขั้นสูงที่จะได้ตำตอบที่แท้จริงต่อไป

“””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

เอกสารอ้างอิง

พระพุทธวรญาณ. (มงคล  วิโรจโน)  เก็บเล็กประสมน้อยฉบับสมบูรณ์ วัประยุรวงศาวาสวรวิหาร  ๒๕๔๗.

วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.  ประวัติวรรณคดีไทย,  มปพ.

ชวลิต  ผู้ภักดี.  ภาษาศาสตร์เบื้องต้น  เอกสารประกอบการสอน ภาควิชาภาษาไทยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, ๒๕๓๙.

ชวลิต  ผู้ภักดี.  ภาษาเฉพาะกิจ  ภาควิชาภาษาไทย  คณะมนษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, ๒๕๓๙.

ณรุทธ์  สุทธิจิตต์.  สังคีตนิยม  สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๗.

พรรัตน์  ดำรุ่ง.  ละครประยุกต์ การใชละครเพื่อการพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๗.

http://sites. Google.com.> site< hom. เครื่องดนตรีไทยประเภทเป่า,  ๒๕๖๐.

 

………………………………………………..