ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ พญามือเหล็ก หรือ พญามูลเหล็ก เป็นพืชพื้นเมืองที่พบในป่าหลายท้องถิ่นในประเทศไทย ทั้งภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน ชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นก็รู้จักกันดีในสรรพคุณทางยา หมอสมุนไพรไทยก็กล่าวถึงกันเสมอจนแพร่หลาย ได้รับการยกย่องว่าเป็น “มหัศจรรย์แห่งสมุนไพรไทย” ทั้งนี้เพราะได้ผลดีมากเมื่อนำมารักษาให้ถูกโรค ที่นำบทความทางวิชาการเรื่องนี้มาเผยแพร่ก็เนื่องจากน้อยคนนักที่จะรู้จักหน้าตาของ พญามือเหล็ก หรือ พญามูลเหล็ก ต้นนี้ ภาพสวยงามและชัดเจนเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เข้ามาอ่านได้รู้จักพืชที่มีคุณค่าของไทยต้นนี้

พญามือเหล็ก

ชื่อสามัญ Saintignatus Bean

ชื่อวิทยาศาสตร์ Strychnos roborans A.W. Hill., S. lucide R. Br.

ชื่ออื่น   พญามูลเหล็ก ย่ามือเหล็ก กะพังอาด เสี้ยวดูก

ชื่อวงศ์ STRYCHNACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์   เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เมื่อเล็กจะมีกิ่งก้านทอดยาวเหมือนไม้พุ่มรอเลื้อย  ลำต้นเปลา เปลือกสีดำ กิ่งก้านแก่จะมีหนาม ไม่มีมือเกาะ ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ใบรูปไข่ ปลายใบแหลม  ผิวใบมัน มีเส้นใบโดดเด่น3เส้นออกจากโคนใบเห็นชัดเจน ตามแนวยาวของใบ  ใบกว้าง 3.5-5 ซม. ยาว 5-8 ซม. ดอกขนาดเล็ก มี 5 กลีบสีเขียวอ่อนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ออกเป็นช่อสวยงามตามซอกใบใกล้ปลายยอด ผลกลมผิวเกลี้ยงเป็นมัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 – 2.5 ซม.  สีเขียว เมื่อสุกจะเหลืองแกมส้ม หรือสีน้ำตาลเข้ม มีหลายเมล็ด เมล็ดแบนหนา กว้าง 0.2 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0 ซม. มีขนเพาะกล้าได้ง่าย

สรรพคุณ มีสรรพคุณทางสมุนไพรหลายด้าน เช่น แก้ฟกบวม ดับพิษไข้ แก้ไข้เรื้อรัง แก้กระษัยเลือด แก้ไข้จับสั่น แก้คัน แก้รังแค แก้ไข้ แก้พิษดีและโลหิต