ชื่อผลงานทางวิชาการ : กลยุทธ์การผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล
ประเภทผลงานทางวิชาการ : บทความ
ปีที่พิมพ์ : 2560
ข้อมูลเพิ่มเติม : ได้รับการตีพิมพ์ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2560 ครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์พัชนี แสนไชย สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
บทความวิชาการ เรื่อง “กลยุทธ์การผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัลThai Film Production Strategy in the Digital Age” เรียบเรียงโดย อาจารย์พัชนี แสนไทย สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จุดเน้นของบทความนี้ มีส่วนสำคัญในการช่วยสะท้อนภาพการทำงานและเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวิเคราะห์กลยุทธ์ในการผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การให้ความสำคัญในขั้นตอนของกระบวนการผลิตภาพยนตร์ การวางแผนการตลาดยุคดิจิทัล การวางแผนการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานของภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์ไทยกับการเล่าเรื่องข้ามสื่อ ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับการบทความนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตภาพยนตร์จะต้องพัฒนาและปรับกลยุทธ์รูปแบบใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีการสื่อสาร ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจภาพยนตร์ที่รายล้อมไปด้วยคู่แข่งขันรอบด้าน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการเข้าใจบริบทของสังคมในความแปรเปลี่ยนไปของกระบวนการสื่อสาร และการเข้าใจการตลาดในยุคดิจิทัล จนกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านภาพยนตร์ให้เติบโตขึ้นในอนาคตต่อไป
บทความวิชาการ
กลยุทธ์การผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล
Thai Film Production Strategy
in the Digital Age
พัชนี แสนไชย
Patchanee Sanchai
อาจารย์สาขาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
บทคัดย่อ
บทความวิชาการเรื่อง “กลยุทธ์การผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล” เป็นเครื่องมือหนึ่งในการวิเคราะห์กลยุทธ์ในการผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัลตั้งแต่การให้ความสำคัญในขั้นตอนของกระบวนการผลิตภาพยนตร์ การวางแผนการตลาดยุคดิจิทัล การวางแผนการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานของภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์ไทยกับการเล่าเรื่องข้ามสื่อ เพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตภาพยนตร์จะต้องพัฒนาและปรับกลยุทธ์รูปแบบใหม่ๆให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการเข้าใจบริบทของสังคมในความแปรเปลี่ยนไปของกระบวนการสื่อสาร และการเข้าใจการตลาดในยุคดิจิทัลกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านภาพยนตร์ให้เติบโตขึ้นในอนาคตต่อไป
คำสำคัญ: กลยุทธ์ ,การผลิตภาพยนตร์ไทย ,ยุคดิจิทัล
ABSTRACT
The academic article “Thai Film Production Strategy in the Digital Age” was written as a tool to analyze strategies for the recent Thai film production. This article focus on many key processes of film production, for instance; Filmmaking, Administration, Marketing planning, Advertising and Film Promotion, Integrated Marketing Communication and Thai Film Trans media Storytelling. There is a critical need among Thai film-makers for develop and apply new strategies and new forms to suit the modern communications technology. In particular, to understand marketing and the social context of communication process changing in the digital age becomes an important part in driving the film business to grow in the future.
KEYWORD: Strategy, Thai Film Production, Digital Age
บทนำ
ตลอดปี 2559 ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์วิกฤติของวงการสื่อไปทั่วโลกรวมทั้ง(บริษัท)บีบีซี (BBC)ของประเทศอังกฤษที่มีการปรับลดพนักงานกว่า 1,000 ตำแหน่งส่วนในประเทศไทยเองก็มีการปรับผังโครงสร้างใหม่ เช่น โครงการให้พนักงานสมัครใจลาออกและยินยอมเกษียณอายุก่อนกำหนด การประกาศปิดตัวขององค์สื่อต่างๆทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ฯลฯ เรียกได้ว่ากลายเป็นปรากฏการณ์ที่แต่ละสื่อจะต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรสื่อสามารถอยู่รอดได้ ไม่เว้นแม้แต่ “สื่อภาพยนตร์”เป็นสื่อที่มีความเก่าแก่มีต้นกำเนิดมากว่า 100 ปี มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และเกิดคลื่นมรสุมมาหลายระรอก จากยุคเฟื่องฟูสู่ยุคขาลงเพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ดังนั้น ภาพยนตร์จึงต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆในการผลิตอยู่ตลอดเวลาเพื่อเป็นการธำรงไว้ซึ่งผลงานอันศิลปะแขนงที่ 7 ของโลก ที่มีความสร้างสรรค์และเป็นสื่อที่มีคุณค่าต่อสังคม
นอกจากนั้นสื่อภาพยนตร์ยังเป็นเครื่องมือทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและมีบทบาทในการเป็นภาพสะท้อนสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย ถ่ายทอดความคิด เผยแพร่วัฒนธรรม สร้างความบันเทิงและเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ โดยในปี 2554 รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างโอกาสการขยายฐานการผลิตและการตลาดในระดับภูมิภาค ธุรกิจภาพยนตร์จึงเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริม โดยมีการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน และการส่งเสริมงานด้านการตลาดด้วย
ทั้งนี้ บทความวิชาการเรื่อง กลยุทธ์การผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล จะมีส่วนสำคัญในการช่วยสะท้อนภาพการทำงานของภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล สะท้อนให้เห็นกระบวนการผลิตงานภาพยนตร์ในยุคดิจิทัล การวางแผนการตลาดยุคดิจิทัล การวางแผนการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานของภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์ไทยกับการเล่าเรื่องข้ามสื่อ เพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตภาพยนตร์จะต้องพัฒนาและปรับกลยุทธ์รูปแบบใหม่ๆให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีการสื่อสาร ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจภาพยนตร์ที่ รายล้อมไปด้วยคู่แข่งอย่างรอบด้าน
กระบวนการผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล (Thai Film Production in Digital Age)
ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องนั้นมีกระบวนการผลิตและการดำเนินงานที่กว้างขวาง และครอบคลุมกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน มีความซับซ้อนของกระบวนการทำงานและบทบาทคนทำงาน ดังนั้นต้องมีความเข้าใจในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนอย่างละเอียด
กระบวนการผลิตภาพยนตร์นั้น ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจปัจจัยพื้นฐานของการทำงาน ความเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตด้วยกัน 7 ประการ ได้แก่ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หรือแหล่งเงินทุน (producer/finance) นักแสดง(Actor) บทภาพยนตร์ (script) ผู้กำกับภาพยนตร์(director) โรงภาพยนตร์ (theatre) การโฆษณาภาพยนตร์(film advertising) และการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ (film public relations) ซึ่งองค์ประกอบของกระบวนการทำงานทั้ง 7 ประการนี้มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตภาพยนตร์ โดยในวงการภาพยนตร์เรียกองค์ประกอบเหล่านี้ว่า “ฟอร์มหนัง”
ผู้บริหารระดับสูงที่มีความต้องการผลิตภาพยนตร์จึงจำเป็นต้องนำเอาส่วนผสมที่ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานของการสร้างการตลาดของภาพยนตร์นั้นๆหรือเรียกอีกอย่างว่าการ “ปั้นหน้าหนัง” ไว้เป็นกลยุทธ์เพื่อสร้าง “จุดขาย” ให้แก่ภาพยนตร์ที่ตนผลิต ซึ่งอาจสร้างขึ้นตั้งแต่แรกเริ่มโดยอาศัยการสื่อสารการตลาดเพื่อให้ “หน้าหนัง” เป็น “หนังฟอร์มใหญ่” อันเป็นการก่อกระแสกระตุ้นความอยากชมให้กับคนดู
ปัจจัยพื้นฐานในการผลิตภาพยนตร์ยุคดิจิทัล
ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หรือแหล่งเงินทุน การผลิตภาพยนตร์แต่ละเรื่องต้องมี ”เงินทุน” อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการผลิต ซึ่งเงินทุนดังกล่าวขึ้นกับอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารของบริษัทภาพยนตร์ที่จะกำหนดให้ผู้อำนวยการสร้างไปเป็นผู้ควบคุมการผลิตหรือการสร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆด้วย การควบคุม”เงินทุน” ที่ใช้ในการผลิตภาพยนตร์ เพราะในการบริหารงานถือว่าการควบคุมทางการเงินจัดเป็นการควบคุมอย่างสมบูรณ์ (absolutely control) กล่าวคือ เส้นทางการเงินในการควบคุมการใช้จ่ายมีผลต่อการตัดสินใจในการบ่งชี้ ทิศทางการผลิตภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ทั้งในการคัดเลือกเรื่อง การคัดเลือกผู้กำกับภาพยนตร์ การคัดเลือกผู้เขียนบทภาพยนตร์ การคัดเลือกดารานักแสดง การประสานงานการสร้างภาพยนตร์ การตรวจสอบงาน การสร้างภาพยนตร์ การเผยแพร่และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์จัดเป็นผู้ที่มีอำนาจที่มีผลต่อ “ฟอร์มของหนัง” เพราะเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่ตนรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่โดยเฉพาะการควบคุมเงินทุนที่เกี่ยวพันโดยตรงต่อการผลิตภาพยนตร์ และความน่าเชื่อถือของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ดังเช่น ถ้าผู้ชมรับทราบว่าใครเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีผลงานโดดเด่นก็เกิดรับรู้ว่า “ฟอร์มของหนัง” เรื่องนั้นจะเป็นฟอร์มใหญ่หรือไม่ การ “ปั้นหน้าหนัง” จึงนิยมนำเอาชื่อเสียงของผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไปใช้ในการสื่อสารการตลาด เพื่อสร้างกระแสความต้องการชมภาพยนตร์ดังกล่าว
ดาราหรือผู้แสดงนำ จัดเป็นปัจจัยพื้นฐานของการผลิตที่มีความสำคัญต่อ “ฟอร์มของหนัง” เช่นกัน โดยเฉพาะผู้แสดงนำที่เป็น “ดารา” มีพื้นฐานที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมอยู่แล้ว ดังนั้นหากได้ดาราที่เป็นที่ชื่นชอบของคนดู มาแสดงภาพยนตร์ย่อมส่งผลต่อความสำเร็จหรือทำให้ผู้ชมหันมาสนใจภาพยนตร์ในเรื่องนั้นๆมากกว่านักแสดงที่ไม่มีคนรู้จัก โดยเฉพาะ ดาราที่มี “แฟนคลับ” จำนวนมาก ก็จะยิ่งดึงดูดให้ผู้ชมเข้ามาชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว อันเป็นการช่วยประกันความเสี่ยงที่จะไม่มีผู้เข้าชมภาพยนตร์ ขณะเดียวกันการคัดเลือกนักแสดงประกอบที่เล่นประกอบในภาพยนตร์ก็มีความสำคัญเช่นกัน จึงต้องพิจารณาจากผู้ที่มีชื่อเสียงและแสดงบทบาทได้เหมาะสมให้เข้าร่วมแสดง เพื่อช่วยดึงดูดผู้ชมด้วย การ“ปั้นหน้าหนัง” ให้เป็น “หนังฟอร์มยักษ์” ด้วยการหยิบยกเอาชื่อเสียงของดาราและผู้แสดงมาเป็น “จุดขาย” โดยการสร้างกระแสให้เป็นข้อมูลข่าวสารในด้านการสื่อสารการตลาดอย่างแยบยลและต่อเนื่องจึงนิยมทำกันอย่างแพร่หลาย
ดาราและผู้แสดงนำในภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ผลิตภาพยนตร์เลือกที่จะนำมาใช้ และเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ผลิตภาพยนตร์เลือกนำมาใช้เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับผู้ชมภาพยนตร์มากยิ่งขึ้น โดยจัดให้นักแสดงและ ผู้กำกับเดินสายมาร่วมชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ด้วย แตกต่างจากเมื่อก่อนที่นักแสดงและผู้กำกับจะมาร่วมชมภาพยนตร์แค่เฉพาะวันแถลงข่าวเท่านั้น ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของค่าย GDH “ภาพยนตร์เรื่องพรจากฟ้า”ที่เหล่านักแสดงและผู้กำกับรวมตัวกันเพื่อมาชมภาพยนตร์ในโรงเดียวกันกับผู้ชมทั่วไป มีการแสดงความใกล้ชิดด้วยการถ่ายรูปร่วมกันทั้งโรงภาพยนตร์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ชมภาพยนตร์ออกมาชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์อีกทางหนึ่งด้วย
ภาพที่ 1 เว็บไซต์ : อินสตราแกรม GDH
ที่มา : instagram.com, เข้าถึงเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก:
https://www.instagram.com/p/BN1IVa4jSMC/?taken-by=gdh559
บทภาพยนตร์ เนื้อหาของภาพยนตร์ส่วนใหญ่นั้น มักจะนำมาจากบทประพันธ์นวนิยายของนักเขียนที่มีชื่อเสียง ซึ่งเขียนขึ้นสำหรับผู้อ่านงานวรรณกรรม โดยเฉพาะเรื่องที่ได้รับความนิยมและชื่นชอบจากมหาชน ก็จะได้รับการหยิบยกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เสมอ เช่น เรื่องทวิภพ คู่กรรมและแม่นากพระโขนง เป็นต้น โดยจะมีการโหมโฆษณาให้กลายมาเป็นหนังฟอร์มยักษ์ เพื่อเร้าความสนใจให้ชวนแก่การติดตามหรือยั่วยุให้เกิดความรู้สึกอยากดู ทั้งนี้เพราะเรื่องราวอันเป็นเนื้อหาที่มีผู้อ่านจำนวนมาก ย่อมจะช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายนี้ให้เข้าดูภาพยนตร์ เมื่อผนวกกับความโด่งดังของนวนิยายเรื่องนั้นๆก็ย่อมมีส่วนกระตุ้นให้คนดูเกิดความอยากเข้าชมเพื่อลิ้มอรรถรสดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น สำหรับภาพยนตร์ที่เขียนขึ้นเพื่อเป็นบทภาพยนตร์โดยตรงก็จะมีการสื่อสารการตลาดอย่างต่อเนื่องในการ “ปั้นหน้าหนัง”
แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานของผู้เขียนบทภาพยนตร์ในยุคการสื่อสารศตวรรษที่ 21 ก็ต้องอาศัยการ พลิกแพลง มองมุมใหม่ เสริมความคิดสร้างสรรค์และสามารถขายวัฒนธรรมให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น ด้วยการคัดเลือกนักแสดงที่เป็นลูกครึ่งอย่างภาพยนตร์เรื่องพี่มาก….พระโขนง ที่รื้อสร้างวิธีการดำเนินเรื่องของวรรณกรรมเรื่อง แม่นากพระโขนงแบบเดิมซึ่งสร้างความแปลกใหม่ ปรากฏการณ์ใหม่ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำสถิติภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยทำรายได้กว่า 1,000 ล้านบาททั่วประเทศ ถึงแม้วรรณกรรมเรื่อง นางนากจะถูกทำมาตีความใหม่หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับชื่อดังอย่างนนทรี นิมิตบุตร ที่สร้างเรื่อง นางนากหรือพิมพกา โตวิระ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่า“พี่มาก พระโขนง”
ภาพที่ 2 : เว็บไซต์ : GDH
ที่มา : gdh.com, เข้าถึงเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก : http://gth.co.th/films-and-series/-pee-mak/
ผู้กำกับภาพยนตร์ ผลงานของภาพยนตร์แต่ละเรื่องย่อมมีความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของผู้กำกับภาพยนตร์ปรากฏเป็น “สไตล์” ให้รับรู้ ทั้งนี้เพราะผู้กำกับภาพยนตร์ คือ ผู้ที่รังสรรค์โดยการตกแต่งและสร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆให้มีชีวิต เพื่อบอกเล่าหรือถ่ายทอดเรื่องราวและอรรถรสให้แก่ผู้ชมได้เสพ ซึ่งความสามารถในการกำกับเพื่อชุบภาพยนตร์ให้มีชีวิตชีวาของแต่ละผู้กำกับภาพยนตร์ย่อมมีลักษณะโดดเด่นเป็นการเฉพาะของตน เพื่อให้การผลิตหรือการสร้างภาพยนตร์ของตนนั้นสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย จนปรากฏเป็นภาพยนตร์ที่ผู้ชมได้รับรู้สาระและความเพลิดเพลิน เมื่อภาพยนตร์แต่ละเรื่องเปรียบเสมือนชิ้นงานที่เป็นตัวแทนความคิดของผู้กำกับภาพยนตร์แต่ละคน และเมื่อผู้ชมเกาะติดภาพยนตร์อยู่เป็นประจำก็จะเกิดการยึดติดกับผลงานการกำกับของผู้กำกับภาพยนตร์ จนกลายเป็นรูปแบบของการกำกับภาพยนตร์ของผู้กำกับคนดังกล่าว ฉะนั้นภาพยนตร์ก็ต้องอาศัยชื่อเสียงของผู้กำกับด้วยเช่นกัน โดยนำมาใช้ในการ “ปั้นหน้าหนัง”และ กำหนด “ฟอร์มของหนัง” ด้วยเช่นกัน
โรงภาพยนตร์ ในปัจจุบันโดยเฉพาะจังหวัดหรือพื้นที่ธุรกิจเชิงพาณิชยกรรมหนาแน่นจะพบว่า โรงภาพยนตร์มักตั้งอยู่ในแหล่งหรือสถานที่ที่สะดวกต่อการเข้าชม เช่น ตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆหรือบริเวณจุดรวมของชุมชน ซึ่งโรงภาพยนตร์เหล่านี้ล้วนมีสายสัมพันธ์ในลักษณะความเป็นเครือข่ายและมีการวางโปรแกรมการฉายไว้แล้ว ฉะนั้นจึงถือว่าโรงภาพยนตร์จัดได้ว่าเป็นองค์ประกอบประการหนึ่งของการ “ปั้นหน้าหนัง” ที่เกี่ยวข้องกับ “ฟอร์มของหนัง” กล่าวคือ ภาพยนตร์ที่ผลิตหรือสร้างเสร็จแล้วไม่สามารถบรรจุโปรแกรมเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ที่ตั้งอยู่ในทำเลที่อำนวยความสะดวกในการเข้าชมได้ง่ายและอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมย่อมส่งผลกระทบรุนแรง ต่อรายได้ในการจัดฉายภาพยนตร์ เมื่อเช่นนั้นจะเห็นได้ว่า “หนังฟอร์มใหญ่” มักจะได้รับเลือกให้บรรจุเข้าฉาย ในโปรแกรมของโรงภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ซึ่งมีแฟนภาพยนตร์สามารถเข้าดูได้จำนวนมากและกระจายไปอย่างกว้างขวางทั่วถึง ทั้งในกาลเทศะที่นำออกฉายได้อย่างเหมาะสม
การโฆษณาภาพยนตร์ มีคำกล่าวไว้ว่า “การโฆษณาของภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีผลต่อการคงอยู่หรือ ล่มสลายของธุรกิจภาพยนตร์แต่ละบริษัทผู้สร้างนั้นๆโดยมีความสำคัญเท่าๆกับเนื้อหาและคุณภาพของภาพยนตร์เลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จากงบประมาณที่สร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งๆอาจต้องหมดไปกับงบประมาณค่าโฆษณาเกือบครึ่งหนึ่งหรืออาจมากกว่างบประมาณในการสร้างเสียด้วยซ้ำไป” ซึ่งการโฆษณาภาพยนตร์นอกจากจะต้องดำเนินการตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มเมื่อมีการผลิตหรือสร้างภาพยนตร์แล้ว ยังต้องโหมหนักทำการโฆษณาผ่านสื่อ และกิจกรรมโฆษณาอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ช่วงตัดสินใจเริ่มคิดสร้างภาพยนตร์ไล่เรียงไปถึงก่อนเข้าโรงภาพยนตร์ ด้วยความแยบยลแบบหลากหลายวิธีและต่อเนื่อง โดยสามารถทำได้โดยตรง เช่น เผยแพร่ผ่านสื่อโฆษณา การเดินสายไปสัมภาษณ์ตามสื่อหรือรายการต่างๆทางวิทยุหรือโทรทัศน์ ตลอดจนจัดทำของที่ระลึกหรือของชำร่วย เป็นต้น
การประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ การออกข่าวอย่างต่อเนื่องในเชิงสร้างสรรค์เพื่อรายงานความก้าวหน้าอย่างมีประเด็นและสาระ ย่อมส่งผลต่อความเตรียมพร้อมของผู้ชม อันเป็นการสร้างกระแสได้เป็นอย่างดี โดยการประชาสัมพันธ์ เป็นเหมือน “ทัพหน้า”ของการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ผลิตหรือสร้างขึ้น ถือเป็นการ “ปั้นหน้าหนัง” ให้เป็นหนังฟอร์มใหญ่ได้เช่นกัน ดังเช่นภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท
ภาพที่ 3 เว็บไซต์ : pantip
ที่มา : pantip.com, เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก:
http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2012/09/
ที่มีการนำเสนอข่าวสารเป็นระยะๆเพื่อปลุกกระแสให้เกิดความต้องการในการดูภาพยนตร์ในแต่ละมุมมองที่ผ่านการนำเสนอในข่าว เช่น การบ่งบอกว่าเป็นการกำกับภาพยนตร์ที่มีหลายผู้กำกับ หรือบอกว่ามีการเตรียมอุปกรณ์เพื่อประกอบฉากอย่างพิถีพิถัน เป็นต้น
จากปัจจัยพื้นฐานของการผลิตภาพยนตร์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่า จัดเป็นแนวทางสำหรับการผลิตภาพยนตร์บันเทิง อาจต้องปรับเปลี่ยนแนวทางหรือวิธีการที่เปลี่ยนไปตามประเภทภาพยนตร์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา ภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์ทดลองและภาพยนตร์โฆษณา ฯลฯ อาจจะไม่สามารถนำปัจจัยพื้นฐานแบบดังกล่าวมาใช้ได้ทั้งหมด ต้องมีการปรับเปลี่ยนและพลิกแพลงเพื่อให้เข้ากับบริบทการทำงานต่อไป
นอกจากการศึกษาปัจจัยพื้นฐานในการผลิตภาพยนตร์แล้ว การวิเคราะห์ผู้ชมภาพยนตร์ก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นประสบผลสำเร็จเพราะจะทำให้เรามีแนวทางในการผลิตให้เหมาะสมกับผู้รับสาร โดยมีแนวทางในการวิเคราะห์ 2 แนวทาง คือ
- การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาของผู้ชม เป็นการวิเคราะห์กลุ่มผู้ชมเป้าหมายของตนว่าต้องการให้เขามีความต้องการรับรู้อะไร มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ค่านิยมและรสนิยมอย่างไร อาทิ ผู้ชมประเภทที่ชอบ ชมภาพยนตร์ที่สนุกสนาน ก็มักจะเลือกชมภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิง สนุกสนาน คลายเครียด เป็นต้น
- การวิเคราะห์ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของผู้ชม เป็นการพิจารณาถึงสภาพที่เป็นอยู่ของผู้ชม อาทิ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เพศ อายุ ระดับการศึกษา ศาสนา และภูมิลำเนา เป็นต้น ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะทางประชากรศาสตร์ที่แตกต่างกัน ความต้องการในการเลือกชมภาพยนตร์ย่อมแตกต่างกันไปด้วย อาทิ ภาพยนตร์ที่ผูกพันกับเรื่องราวในอดีตกลุ่มผู้ชมมักเป็นผู้สูงอายุ หรือภาพยนตร์ที่สนุกสนาน ครื้นแครง เรื่องความรัก อกหัก มักมีกลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่น กลุ่มนิสิตนักศึกษา หรือนักเรียน เป็นต้น
การคัดเลือกทีมงานในการผลิตภาพยนตร์การคัดเลือกทีมงานในการผลิตภาพยนตร์นั้น มีความจำเป็น อย่างมากเพราะจะเป็นการกำหนดทิศทางในการทำงาน มองเห็นทิศทางและช่วยในการวางแผนให้เป็นไปตามเป้าหมายของผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำงาน 4 ส่วนด้วยกัน คือ การคัดเลือกเรื่อง การคัดเลือกผู้กำกับ การคัดเลือกผู้เขียนบท และการคัดเลือกนักแสดง
การคัดเลือกเรื่อง การคัดเลือกเรื่องที่จะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เป็นหัวใจสำคัญอย่างมาก ผู้ผลิตจะต้องมีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน และมองเห็นถึงกลไกการตลาด มองเห็นความต้องการของผู้บริโภคหรือผู้ชมภาพยนตร์
การคัดเลือกผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้กำกับมีส่วนสำคัญในการสร้างสุนทรียภาพและความงดงามของภาพยนตร์ ภายใต้เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์ ดังนั้นผู้กำกับภาพยนตร์จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนภาพยนตร์หนึ่งเรื่องให้สมบูรณ์ตรงตามความต้องการของผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์ ที่สำคัญจะต้องเป็นนักแก้ปัญหาที่ดีด้วย
การคัดเลือกบทภาพยนตร์ หลังจากคัดเลือกเรื่องและผู้กำกับที่เห็นว่าเหมาะสมแล้วขั้นตอนต่อไป คือ การคัดเลือกผู้เขียนบทภาพยนตร์โดยผูกเนื้อหาที่มีอยู่นั้นออกเป็นบทภาพยนตร์ที่เหมาะสมต่อการถ่ายทอดสาระผ่านสื่อภาพยนตร์ได้อย่างน่าสนใจชวนแก่การติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้เขียนบทภาพยนตร์จะต้องพิจารณาตรวจสอบ แก้ไข พิจารณาบทจนเป็นที่พอใจ จึงนำไปสู่การถ่ายทำ การแยกบทภาพยนตร์และตารางถ่ายทำภาพยนตร์ โดยดูว่ามีความเป็นไปได้และมีความสมเหตุสมผลเพียงใด
การคัดเลือกนักแสดง นักแสดงจัดเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของความสำเร็จ ทั้งด้านการแสดงและธุรกิจภาพยนตร์ โดยที่นักแสดงนั้นจะต้องมีบทบาทเหมาะสมกับเนื้อหาของภาพยนตร์ โดยที่การคัดเลือกนักแสดงนั้นต้องได้ผลลัพธ์ทั้งแง่ของการตลาดและการแสดงบทบาทที่เหมาะสม
ดังนั้นในการคัดเลือกทีมงานการผลิตภาพยนตร์นั้นจึงมีความสำคัญ เพราะจะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นได้รับความนิยมจากผู้ชม หรือรายได้ดีหรือไม่นั้นขั้นตอนนี้จึงมีความสำคัญ เช่น 5 อันดับหนังไทยที่ทำเงินน้อยที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา บางเรื่องมีรายได้หลักหมื่นต้นๆ เท่านั้น
ข้อมูลจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ภาพยนตร์เรื่อง “หมวยจิ้นดิ้นก้องโลก” เพิ่งทำลายสถิติใหม่ของภาพยนตร์ที่ทำเงินต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพพยนตร์ไทยในรอบหลายสิบปี เข้าฉายวันที่ 30 มกราคม 2557 เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แนวคอมเมดี้ เรื่องราวของมิตรภาพของวัยรุ่นสุดฮา ที่ต้องปฏิบัติภารกิจกอบกู้ร้านขายของชำของตระกูล ในวันที่มินิมาร์ทครองเมือง เรื่องนี้ทำรายได้แค่ 29,000 บาทเท่านั้น คิดเป็นจำนวนผู้เข้าชม 200 คน
ภาพที่ 4 เว็บไซต์ : pantip
ที่มา : pantip.com, เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก:
http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2012/09/
อันดับ 2 เรื่อง “หล่อลากไส้” หนังแนวแฟนตาซีกึ่งแอนิเมชั่น ตัดสลับเหตุการณ์ที่เป็นคนแสดงกับเหตุการณ์ในการ์ตูน เป็นการต่อสู้ระหว่างเสือสมิงกับมนุษย์หมาป่า นำแสดงโดยดาราหน้าใหม่ เรื่องนี้ทำรายได้ 5 หมื่นบาท เข้าฉายวันที่ 25 เมษายน 2556
อันดับ 3 หนังทำรายได้ต่ำสุด คือเรื่อง “เด็กสาว” เรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของมิตรภาพอันงดงามของ 5 เด็กสาวในช่วงมัธยมปลาย รับบทนำโดยนักแสดงหน้าใหม่ เรื่องนี้เข้าฉาย 8 พฤศจิกายน 2555 ทำเงินไป 56,000 บาท
อันดับ 4 “เก๋าเกรียน” หนังผีตลกขบวนการปราบผี นำแสดงโดยบอย เอเอฟ3 ที่ไม่มีอะไรโดดเด่น แม้จะได้ดาวตลกอย่างค่อม ชวนชื่น, โย่ง เชิญยิ้มมาช่วย แต่ก็ไม่ช่วยดันรายได้ เรื่องนี้เข้าฉาย 29 กันยายน 2555 ทำเงินเพียง 57,000 บาท
อันดับ 5 คือเรื่อง “สมาน-ฉัน” ภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ ชูโรงโดยนางเอกสาว จิ๊บ ปกฉัตร เป็นเรื่องราวของความรักหนุ่มสาว หลังเหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 หวังว่าจะสร้างความปรองดองในชาติ เข้าฉาย 3 กันยายน 2553 ทุนสร้างถึง 50 ล้านบาท ทำรายได้ไปเพียง 60,000 บาท เท่านั้น
ปัจจัยที่ส่งผลให้ภาพยนตร์เหล่านี้ทำรายได้ต่ำ เกิดมาจากหลายองค์ประกอบไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของการผลิตภาพยนตร์ ดารานำแสดงที่ไม่ดึงดูดผู้ชม การออกแบบโปสเตอร์ของภาพยนตร์ คลิปตัวอย่างภาพยนตร์ที่ปล่อยออกมาเพื่อโปรโมทภาพยนตร์ที่ยังไม่มีความน่าสนใจ ตลอดจนการเผยแพร่และการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง เมื่อคนดูน้อย ทางโรงภาพยนตร์จึงตัดจำนวนรอบฉายลง และเมื่อไม่มีคนดู ในที่สุดภาพยนตร์ก็ต้องถูกถอดออกจากโปรแกรม ทั้งที่ฉายได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการผลิตภาพยนตร์หนึ่งเรื่องนั้นจะต้องคำนึงถึงกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนอย่างละเอียด โดยเฉพาะการคัดเลือกทีมงานในการผลิตภาพยนตร์ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลิตภาพยนตร์ให้ออกมาอย่างมีคุณภาพไม่ว่าจะเป็นบุคลากรหลัก อาทิ ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ช่างกล้อง ผู้แสดง ผู้ตัดต่อ ผู้บันทึกเสียง ไล่เรียงไปถึงทีมงานในแต่ละฝ่ายล้วนมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการผลิตภาพยนตร์ด้วยกันทั้งสิ้น
การสื่อสารตลาดภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล(Marketing Communication Thai Film in Digital Age)
การสื่อสารการตลาด (Marketing Communication) เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่สามารถบอกถึงความสำเร็จของภาพยนตร์ได้ การที่ผู้ชมจะทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับภาพยนตร์ได้นั้น เจ้าของภาพยนตร์ไทยจำเป็นต้องทำการสื่อสารกับผู้ชมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในรูปแบบใดก็ตาม การสื่อสารที่ประสิทธิภาพนั้นไม่เพียงแต่จะใช้วิธีการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นแต่เป็นการใช้เครื่องมือการสื่อสารที่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการขาย การใช้พนักงานขาย การตลาดทางตรง เป็นต้น มาผสมผสานกันเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสาน (Integrated Marketing Communication: IMC)จึงเป็นแนวคิดการตลาดที่ถูกนำมาใช้ในยุคปัจจุบัน
การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสาน (IMC)เป็นแนวคิดการตลาดสมัยใหม่ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางจิตใจกับผู้ชมภาพยนตร์ ซึ่งไม่ใช่เพียงเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยตรง แต่เป็นลักษณะของการติดต่อสื่อสารที่ดีเพื่อให้ผู้สร้างภาพยนตร์ได้รับการยอมรับจากผู้ชม การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานมีการใช้สื่อมวลชน อาทิ การติดป้ายโฆษณาตามโรงภาพยนตร์ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารต่างเกี่ยวกับภาพยนตร์กับผู้ชมว่ามีภาพยนตร์เรื่องใดเข้าฉายบ้าง การลงโฆษณาตามสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเครือข่ายของสังคมออนไลน์ที่สามารถแชร์ไปยังผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกับการบอกต่อกันแบบปากต่อปากในอดีต หรือแม้แต่การสร้างกลยุทธ์โดยการขาย เช่น เสื้อยืด กระเป๋า แก้วน้ำ พวงกุญแจ ที่มีการพิมพ์ลายจากภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ เป็นต้น
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานเข้ามามีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน เนื่องจากการสื่อสารแบบผสมผสานกันแบบครบวงจรจะทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสารแบบละเอียด ทำให้ผู้ชมรู้จักภาพยนตร์เรื่องนั้นมากขึ้น เกิดความสนใจที่อยากจะชมภาพยนตร์และท้ายที่สุดนำไปสู่พฤติกรรมการตัดสินใจเลือกชมภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ
การบริหารงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ (Administration Advertising and Promotion Films)
ก่อนที่ภาพยนตร์จะถูกนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์นั้น จะต้องมีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆเพื่อให้กลุ่มผู้ชมเป้าหมายทราบว่าจะมีภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย ณ โรงภาพยนตร์ใด และเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะเลือกชมภาพยนตร์เรื่องใดดี ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่จะต้องพยายามหาจุดขาย (Selling Point) ที่เป็นจุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนั้น เพื่อเป็นจุดที่จะทำให้ผู้ชมภาพยนตร์เกิดความสนใจและเกิดความต้องการที่อยากชมภาพยนตร์ โดยพิจารณาจากการวิเคราะห์ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉายและวิเคราะห์กลุ่มผู้ชมเป้าหมาย
ภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่จะนำออกฉายนั้น จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถนำมาเป็นจุดขาย (Selling Point) ของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆได้ คือ
ดารานำแสดง ภาพยนตร์บางเรื่องจะเน้นดาราที่มีชื่อเสียงเป็นจุดขาย บทบาทการแสดงของดารา ข่าวความเคลื่อนไหวของดารานำแสดง
แนวของภาพยนตร์ แนวของภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมีด้วยกันหลายแนว ดังนั้น จะต้องพยายามจับแนวภาพยนตร์เรื่องนั้นๆให้ออกว่าเป็นภาพยนตร์แนวใด
ความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ อาจเกิดจากการลงทุนสร้างสูง หรือเทคนิคการถ่ายทำขั้นสูง เป็นฉากที่มีความยิ่งใหญ่อลังการ เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมและทำรายได้สูงจากทั่วโลก เป็นภาพยนตร์ที่รับรางวัลเกียรติยศจากสถาบันภาพยนตร์ อาทิ ภาพยนตร์ไทยเรื่องสุริโยไท และภาพยนตร์ไทยเรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีฉากที่แสดงถึงแสนยานุภาพของกองทัพที่ยิ่งใหญ่ เป็นต้น
ผู้กำกับภาพยนตร์มีชื่อเสียงฝีมือดี ไม่ว่าจะกำกับภาพยนตร์เรื่องใดมักจะได้รับความเชื่อถือว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นๆย่อมมีคุณภาพ บทประพันธ์ของภาพยนตร์ อาจพิจารณาถึงจุดเด่นของบทประพันธ์ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในแง่มุมต่างๆ อาทิ เป็นบทประพันธ์ของใคร ผู้ประพันธ์มีชื่อเสียงในระดับใด ระดับความนิยมของประชาชนต่อบทประพันธ์เป็นอย่างไร แนวคิดของบทประพันธ์มีจุดเด่นอะไรที่แตกต่างไปจากบทประพันธ์ของภาพยนตร์ที่เข้าฉายพร้อมๆกัน ฯลฯ
ผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้สร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างภาพยนตร์มักจะได้รับความเชื่อถือจากผู้ชมอย่างมากเช่นกัน
ผู้ชมภาพยนตร์ เมื่อผู้สร้างภาพยนตร์ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ต่อมาผู้ชมภาพยนตร์ก็เกิดความศรัทธาและความเชื่อมั่นในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆว่าต้องมีคุณภาพ
นอกจากผู้ผลิตภาพยนตร์จะต้องหา จะต้องหาจุดขาย (Selling Point) ของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆได้แล้ว ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยสร้างการจดจำในภาพยนตร์เรื่องนั้น คือ “การตั้งชื่อภาพยนตร์”
การตั้งชื่อภาพยนตร์
ชื่อ ของภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้นจะมีความสำคัญ คือ ช่วยทำให้ผู้ชมเกิดความสนใจและสามารถระบุเรื่องของภาพยนตร์ที่ต้องการดูได้ การตั้งชื่อมีผลต่อรายได้ของภาพยนตร์ ลักษณะการตั้งชื่อของภาพยนตร์ไทย โดยทั่วไปหากภาพยนตร์ไทยสร้างเรื่องมาจากบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียง ก็มักจะใช้ชื่อบทประพันธ์นั้นๆเป็นชื่อภาพยนตร์ แต่บางครั้งชื่อบทประพันธ์บางเรื่องอาจจะต้องมีการดัดแปลงเสียใหม่ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น ส่วนภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นมาจากบทที่เขียนขึ้นใหม่โดยมิได้นำจาก บทประพันธ์ จะมีการตั้งชื่อภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่ ให้มีความน่าสนใจและแสดงถึงแนวคิดของภาพยนตร์และความคิดรวบยอดของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ
การวางแผนการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานของภาพยนตร์ไทย (Integrated Marketing Communication)
การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย(Target) ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่จะมีกลุ่มผู้ชมเป้าหมายหลักและกลุ่มเป้าหมายรองที่แตกต่างกัน
การกำหนดวัตถุประสงค์และกลยุทธ์ในการสื่อสาร (Communication Objective and Strategies) ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ ไม่มีการกำหนด วัตถุประสงค์และกลยุทธ์ ในการสื่อสารที่เป็นแบบแผนมากนัก โดยมาก กลยุทธ์ที่ใช้ในการสื่อสาร คือ การโปรโมทหรือแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ให้ผู้ชมรับทราบ ผ่านตัวอย่างภาพยนตร์หรือเทรลเลอร์ โปสเตอร์ ไปตามสื่อๆต่างๆทั้งสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ เพื่อให้ผู้ชมรับทราบ รับรู้และเกิดการตัดสินใจในการรับชมภาพยนตร์
การกำหนดวัตถุประสงค์ทางการตลาด (Marketing Objective) ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่มักจะเน้นวัตถุประสงค์เรื่องรายได้หรือยอดขายภาพยนตร์ ซึ่งแต่ละบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ไทยจะมีการกำหนดเกณฑ์ตัวเลขรายได้ที่เป็นตัวชี้วัดถึงความสำเร็จของภาพยนตร์ที่แตกต่างกัน
การกำหนดสัดส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารการตลาด (Marketing Communication) บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะใช้การโฆษณาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารการตลาดไปยังกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์มากที่สุด โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่ภาพยนตร์ตัวอย่างใน โรงภาพยนตร์ก็สามารถทำให้ผู้รับสารอยากชมภาพยนตร์เรื่องนั้น ดังนั้น เครื่องมือทางโฆษณาสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน
กำหนดวิธีการสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภค (Marketing Communication Tactics) นอกจากการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆทั้งสื่อมวลชนและออนไลน์แล้ว การส่งเสริมการขายมีการให้ผู้ชมภาพยนตร์ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ ตลอดจนกระแสการแชร์ (Share)เป็นกลยุทธ์แบบวิธีการบอกแบบปากต่อปากแต่ได้ผลรวดเร็วและมีการแชร์ไปได้อย่างกว้างขวาง การที่จะสามารถสื่อสารการตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายนั้น นักการตลาดจะต้องศึกษาถึงวิถีชีวิต (Life Style)ตลอดจนพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้ชมกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด เนื่องจากจะมีผลต่อการกำหนดวิธีการสื่อสารและพิจารณาจากการเลือกใช้สื่อของกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย โดยปัจจุบันจะเห็นได้ว่านักการตลาดส่วนใหญ่หันมาใช้เครื่องมือทางสื่อออนไลน์มากขึ้น เพราะมีการลงทุนต่ำแต่ได้ผลเยอะ
ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามตาย ห้ามรักหมอ” ของผู้กำกับ “เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” ที่เป็นกระแสก่อนที่ภาพยนตร์จะเข้าโรง จากการที่มีการออกแบบฟ้อนต์ให้เลียนแบบภาพยนตร์เรื่องนี้ จนเกิดกระแสเต็มฟีด ติดอันดับแฮชแท็ค#ในทวิตเตอร์ด้วย แม้แต่คนดังๆก็ยังร่วมเล่นกิจกรรมนี่ด้วย
ภาพที่ 5 เว็บไซต์ : facebookfreelancethemovie
ที่มา : facebook.com/Freelancethemovie/ 27 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก:
https://www.facebook.com/Freelancethemovie/
โดยกิจกรรมนี้จัดทำขึ้นโดย The Book (ซึ่งทำงานเป็นฟรีแลนซ์) เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพราะมีความประทับใจในภาพยนตร์เรื่องฟรีแลนซ์ฯ มีเจตนาเพียงให้ทุกคนสามารถสร้างป้ายล้อเลียนภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงซึ่งมิได้มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์หรือสร้างความเสื่อมเสียใดๆ ทั้งสิ้น โดยที่เจ้าของผลงานครั้งนี้ได้ชี้แจงเจตนารมณ์เอาไว้ผ่านเว็บไซต์ของเขา
ภาพที่ 5 เว็บไซต์ : freelance.splendith
ที่มา : freelance.splendith.com/, เข้าถึงเมื่อ 8 ธันวาคม 2559, เข้าถึงได้จาก
http://freelance.splendith.com/
ด้วยรูปแบบที่เป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้สื่อในสังคมออนไลน์อยากร่วมสนุก และบวกกับโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่ใช้โปรโมทมีเอกลักษณ์ในการออกแบบ จึงทำให้นักสร้างแอพพลิเคชั่นสามารถต่อยอดพัฒนาความคิด หยิบเอาไป สร้างเว็บ ผลิตป้ายสร้างจุดยืนให้แต่ละคนได้เข้าไปกรอกถ้อยคำได้ตามรูปแบบของตนเอง จนเกิดเป็นกระแส “คิดสนุก-แชร์สนั่น” ไปทั่วโลกออนไลน์ภายในเวลาไม่กี่วัน เลยส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับกระแสการต้อนรับที่ดีตั้งแต่ภาพยนตร์ยังไม่เริ่มฉาย
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ค่อนข้างทำงานได้เป็นอย่างดีและเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผู้บริโภครับรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ จนเกิดการชื่นชอบ นำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลภาพยนตร์กับเพื่อนหรือกลุ่มคนในสังคมเดียวกัน จากนั้นจะมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคกับบริษัทและสุดท้ายคือการที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผูกพันกับองค์กรหรือผลิตภัณฑ์มากที่สุด เช่น การใช้รูปแบบการส่งเสริมการขายต่างๆของบริษัทเพื่อทำให้ผู้บริโภคอยากร่วมกิจกรรม โดยระยะเวลาในการสร้างกลยุทธ์ดังกล่าวคือ ช่วงสัปดาห์แรกที่ภาพยนตร์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เพื่อสร้างการรับรู้ ให้คนรู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้ กระตุ้นและตอกย้ำให้ผู้บริโภคที่ยังไม่รับชมไปชมภาพยนตร์ และพอถึงช่วงเวลาที่ภาพยนตร์จะออกจากโรงภาพยนตร์ บริษัทก็จะมีการพูดคุยกับผู้บริโภคที่ได้รับชมไปแล้ว ให้เกิดความรู้สึกผูกพันซึ่งกันและกัน แล้วอยากดูภาพยนตร์เรื่องต่อไปของบริษัท
ซึ่งหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง“ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามตาย ห้ามรักหมอ” ออกจากโรงภาพยนตร์ก่อนที่จะวางจำหน่ายแผ่นดีวีดีและวีซีดี ผู้ผลิตก็จะเพิ่มการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์อีกรอบ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการกระตุ้นการตลาดให้กับผู้ชมได้รับชมภาพยนตร์นั้นต้องมีการสื่อสารตลอดเวลาผ่านช่องทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ นอกจากนั้นยังขยายขอบเขตไปยังการซื้อขายลิขสิทธิ์ให้กับช่องโทรทัศน์ดิจิทัลบางช่อง หรือกล่อง TV ของค่ายต่างๆเช่น AIS หรือ TOT เป็นต้น
ภาพยนตร์ไทยกับการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (Thai Film Trans media: Story telling)
ภาพยนตร์บางเรื่องหลังจากที่ออกจากโรงภาพยนตร์ การจัดจำหน่ายเป็นแผ่นวีซีดีและดีวีดี การขาย ลิขสิทธ์ในการออกอากาศแล้วยังมีการต่อยอดพัฒนาจากบทภาพยนตร์ มีการพัฒนาเรื่องราวกลายมาเป็นละครซีรี่ส์เพื่อออกอากาศและขายลิขสิทธิ์ต่ออีกรอบ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ATM เออรัก…เออเร่อ เป็นภาพยนตร์ไทยแนว โรแมนติก – คอมเมดี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555 กำกับโดย เมษ ธราธร ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้รวม 152.5 ล้านบาท เป็นอันดับ 7 ของภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้ตลอดกาล จากเวลาเข้าฉาย 4 วันและยังเคยเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุดของจีทีเอชมาประมาณ 1 ปี โดยมีนักแสดง คือ เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี, ไอซ์-ปรีชญา พงษ์ธนานิกร,แจ็ค แฟนฉัน,เผือก-พงศธร จงวิลาส และโจ๊ก โซคูล จนกระทั่งปี (2556) ภาพยนตร์พี่มาก พระโขนงทำรายได้แซงเป็นอันดับหนึ่งทะลุ 1,000 ล้านบาททั่วประเทศ
ภาพที่ 6 เว็บไซต์ : GDH
ที่มา : gdh.com, เข้าถึงเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก:
http://gth.co.th/films-and-series/atm
ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 มีละครซีรีส์ที่ดำเนินเนื้อเรื่องต่อจากภาพยนตร์เรื่องนี้ในชื่อเรื่องATM 2 “คู่เวอร์ เออเร่อ เออรัก” ออกอากาศทางช่อง GTH ON AIR ในระบบ HD ผ่านกล่อง GMM Z โดยมีนักแสดง ชุดเดิมและตัวละครใหม่ๆมาร่วมแสดง
ภาพที่ 7 เว็บไซต์ : GDH
ที่มา : gdh.com, เข้าถึงเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก:
http://gth.co.th/films-and-series/atm
ดังนั้นภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นตัวอย่างของการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (Transmedia: Story telling)ซึ่งในอดีต สื่อมวลชนเรียนวิชาเล่าเรื่องตามรูปแบบช่องทางสื่อ เช่น เล่าเรื่องผ่านหนังสือพิมพ์ ผ่านวิทยุ ผ่านโทรทัศน์ ผ่านโฆษณา ผ่านภาพยนตร์หรือ ผ่านนิตยสาร ภาพถ่าย ฯลฯ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องผ่านสื่อเดียว
(one channel) หรือเล่าเรื่องผ่านรูปแบบเนื้อหาเดี่ยวๆ เช่น เล่าเรื่องข่าว ละคร เกมโชว์ เรียลลิตี้ ฯลฯ ซึ่งเน้นไปที่ “รูปแบบเดียว” (one genre/format)
แต่ในวันนี้ การหลอมรวมสื่อ(Convergence)และการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ(Media Landscape) ทั้งหมด การเล่าเรื่องจึงจำเป็นต้องเล่าแบบข้ามสื่อ (cross media platform) ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณในฐานะ นักเล่าเรื่อง จำเป็นต้องเรียนรู้ “วิธีการขยายเรื่อง” ให้มีการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ มากขึ้น (trans media) ทั้งใน สื่อเก่าและสื่อใหม่
เพราะในโลกสื่อสารปัจจุบัน มีความท้าทายสองอย่างที่ต้องคิดให้หนัก หนึ่ง คือ เรื่องเล่ามีมากขึ้น ผู้คนในโลกออนไลน์กำลังเล่าเรื่องตัวเองกันอย่างคึกคักสนุกสนาน และ สอง พวกเขาบางคนอาจเล่าเรื่องเก่งกว่า นักสื่อสารมวลชนบางคน ดังนั้นในฐานะคนทำสื่อมืออาชีพ ที่ตอนนี้กำลังเจอความท้าทายจากผู้รับสารในโลกสื่อใหม่ที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่อย่างท้าทาย ดังนั้นผู้ผลิตภาพยนตร์หรือนักสื่อสารมวลชนในสื่ออื่นๆต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์วิธีการเล่าเรื่องให้น่าสนใจและดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น แน่ว่าหลักการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป
บทสรุป กลยุทธ์กระบวนการผลิตภาพยนตร์ยุคดิจิทัล ผู้ผลิตภาพยนตร์ต้องเลือกแหล่งทุนที่มีความน่าเชื่อถือที่สามารถปั้นหน้าหนังและฟอร์มของหนังได้ และนิยมเอาชื่อผู้อำนวยการสร้างไปใช้ในการสื่อสารการตลาด ส่วนดาราหรือผู้แสดงนำนั้นมีการสร้างกลยุทธ์ด้วยการสร้างความใกล้ชิดให้กับผู้ชมภาพยนตร์มากขึ้น ด้วยการเดินสายไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เพื่อกระตุ้นการออกไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ บทภาพยนตร์ต้องมีความคิดสร้างสรรค์และต้องมีมุมมองใหม่ๆในการเขียนบทภาพยนตร์ ซึ่งในส่วนของผู้กำกับภาพยนตร์นั้นมีส่วนสำคัญในการปั้นหน้าหนังและฟอร์มของหนังและสร้างอัตลักษณ์ให้กับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ส่วนในโรงภาพยนตร์นั้นผู้ผลิตควรเลือกที่ตั้งให้อยู่ในทำเลที่อำนวยความสะดวกในการเข้าชมได้ง่ายและอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะช่วยส่งผลกระทบรุนแรงต่อรายได้ในการจัดฉายภาพยนตร์ การโฆษณาภาพยนตร์ มีความสำคัญเท่าๆกับเนื้อหาและคุณภาพของภาพยนตร์ซึ่งจะต้องดำเนินการตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มเมื่อมีการผลิตหรือสร้างภาพยนตร์แล้ว ยังต้องโหมหนักทำการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ และสร้างกิจกรรมโฆษณาอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ช่วงตัดสินใจเริ่มคิดสร้างภาพยนตร์ ไล่เรียงไปถึงก่อนเข้าโรงภาพยนตร์ ด้วยวิธีการแยบยลแบบหลากหลายวิธีและต่อเนื่อง การประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ การออกข่าวอย่างต่อเนื่องในเชิงสร้างสรรค์เพื่อรายงานความก้าวหน้าอย่างมีประเด็นและสาระย่อมส่งผลต่อความเตรียมพร้อมของผู้ชม และเป็นการสร้างกระแสได้เป็นอย่างดี การวิเคราะห์ผู้ชมภาพยนตร์ มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นประสบผลสำเร็จเพราะจะทำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์มีแนวทางในการผลิตภาพยนตร์ให้เหมาะสมกับผู้รับสาร โดยมีแนวทางในการวิเคราะห์ 2 แนวทาง คือ 1.การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาของผู้ชม 2.การวิเคราะห์ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของผู้ชม นอกจากนั้นการคัดเลือกทีมงานการผลิตภาพยนตร์นั้นมีความสำคัญ เพราะจะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นได้รับความนิยมจากผู้ชม หรือรายได้ดี การคัดเลือกทีมในการผลิตภาพยนตร์เป็นกลยุทธ์สำคัญมากเพราะทีมงานในการผลิตภาพยนตร์นั้นเป็นฟันเฟือนสำคัญอย่างมากในการสร้างภาพยนตร์ในแต่ละเรื่องให้ประสบผลสำเร็จ
กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสาน (IMC)เป็นแนวคิดการตลาดสมัยใหม่ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางจิตใจกับผู้ชมภาพยนตร์ ซึ่งไม่ใช่เพียงเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยตรง แต่เป็นลักษณะของการติดต่อสื่อสารที่ดีเพื่อให้ผู้สร้างภาพยนตร์ได้รับการยอมรับจากผู้ชม การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานมีการใช้สื่อมวลชน อาทิ การติดป้ายโฆษณาตามโรงภาพยนตร์ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับภาพยนตร์กับผู้ชมว่ามีภาพยนตร์เรื่องใดเข้าฉายบ้าง การลงโฆษณาตามสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเครือข่ายของสังคมออนไลน์ที่สามารถแชร์ไปยังผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกับการบอกต่อกันแบบปากต่อปากในอดีต การสื่อสารแบบผสมผสานกันแบบครบวงจรจะทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสารแบบละเอียด ทำให้ผู้ชมรู้จักภาพยนตร์เรื่องนั้นมากขึ้น เกิดความสนใจที่อยากจะชมภาพยนตร์และท้ายที่สุดนำไปสู่พฤติกรรมการตัดสินใจเลือกชมภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ
กลยุทธ์การบริหารงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ก่อนที่ภาพยนตร์จะถูกนำออกฉายตาม โรงภาพยนตร์นั้น จะต้องมีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆเพื่อให้กลุ่มผู้ชมเป้าหมายทราบว่าจะมีภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย ณ โรงภาพยนตร์ใด และเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้ชมว่าจะเลือกชมภาพยนตร์เรื่องใดดี ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่จะต้องพยายามหาจุดขาย (Selling Point) ที่เป็นจุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนั้น เพื่อเป็นจุดที่จะทำให้ผู้ชมภาพยนตร์เกิดความสนใจและเกิดความต้องการที่อยากชมภาพยนตร์ โดยพิจารณาจากการวิเคราะห์ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉายและวิเคราะห์กลุ่มผู้ชมเป้าหมาย คือ ดารานำแสดง แนวของภาพยนตร์ ความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงและ ฝีมือดี ผู้สร้างภาพยนตร์ และผู้ชมภาพยนตร์
กลยุทธ์การวางแผนการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานของภาพยนตร์ไทยโดยมีวิธีการ คือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย(Target) การกำหนดวัตถุประสงค์และกลยุทธ์ในการสื่อสาร (Communication Objective and Strategies) การกำหนดวัตถุประสงค์ทางการตลาด (Marketing Objective) การกำหนดสัดส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารการตลาด (Marketing Communication) และกำหนดวิธีการสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภค (Marketing Communication Tactics)โดยเฉพาะการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้เกิดการแชร์ส่งต่อกันไปอย่างกว้างขวางและตรงกลุ่มเป็นหมายซึ่งเป็นการลงทุนต่ำแต่ได้ผลเยอะ
กลยุทธ์ภาพยนตร์ไทยกับการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (Thai Film Transmedia: Story telling)มีการใช้กลยุทธ์ของการเล่าเรื่องข้ามสื่อหลังจากที่ภาพยนตร์ออกจากโรงภาพยนตร์ โดยมีการจัดจำหน่ายเป็นแผ่นวีซีดีและดีวีดี การขายลิขสิทธ์ในการออกอากาศ นอกจากนั้นยังมีการต่อยอดพัฒนาจากบทภาพยนตร์ มีการพัฒนาเรื่องราวจากภาพยนตร์ให้กลายมาเป็นละครซีรี่ส์โทรทัศน์เพื่อออกอากาศและขายลิขสิทธิ์ต่ออีกรอบทางช่องทางอื่นๆ เช่น ไลน์ทีวี, ทีวีดิจิทัล, TV BOX ฯลฯ สะท้อนให้เห็นการหลอมรวมสื่อ การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทั้งหมด การเล่าเรื่องจึงจำเป็นต้องเล่าแบบข้ามสื่อ (cross media platform) ดังนั้นนักเล่าเรื่อง จำเป็นต้องเรียนรู้ “วิธีการขยายเรื่อง” ให้มีการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆมากขึ้น (trans media)
บรรณานุกรม
กาญจนา แก้วเทพ. (2554). สื่อสารมวลทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพฯ:
หุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์.
คณะผู้ผลิต. (2551). การผลิตภาพยนตร์เบื้องต้น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ฐิติภา สัมพันธ์พร. (2556). กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ของบริษัท จีเอ็ม
เอ็ม ไท หับจำกัด (จีทีเอช) กรณีศึกษา ภาพยนตร์เรื่อง ATM เออรัก..เออเร่อ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
สมสุข หินวิมานและคณะ. (2558). ธุรกิจสื่อสารมวลชน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อัญญลักษณ์ บัวศรี. (2549). กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาดของภาพยนตร์
แอนิเมชั่นไทย. นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ไทยซีนีม่า. (2559). สืบค้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559. จาก http://www.thaicinema.org/
พันทิป. (2559). สืบค้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559. จาก www.pantip.com
โพซิชั่นนิ่ง. (2559). สืบค้นเมื่อเดือนธันวาคม 2559. จาก http://positioningmag.com/58244
เพชรมายา. (2559). สืบค้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559. จาก http://petmaya.com
เฟซบุ๊กภาพยนตร์ฟรีแลนซ์. (2559). สืบค้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559. จาก
https://www.facebook.com/Freelancethemovie/
ผู้จัดการออนไลน์.(2559). สืบค้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 จาก
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000096110
อินสตราแกรม. (2559). สืบค้นเมื่อเดือนธันวาคม 2559. จาก
https://www.instagram.com/gdh559/
Atkinson, D . (2010). Alternative Media and Politics of Resistance. New York:
Peterlang Atton. C. (2002). Alternative Media, London: Sage
Bailey, O. et al. (2008). Understanding Alternative Media, Berkshire: Open
University Press.