ชื่อผลงานทางวิชาการ การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ประเภทผลงานทางวิชาการ บทความวิชาการ
ปีที่พิมพ์ 2560
ข้อมูลเพิ่มเติม เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ครั้ง่ที่ 1 (วันที่ 16 มิถุนายน 2560)
ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดถนอม ตันเจริญ
บทความ เรื่อง การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ( Community Based Tourism Management for Sustainable Tourism Development)ผู้เขียน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดถนอม ตันเจริญ สาขาการเป็นผู้ประกอบการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้กล่าวถึง ลักษณะสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยเน้นคนในชุมชนต้องเป็นศูนย์กลาง ยึดมั่นต่อความเป็นธรรม มีประชาธิปไตย มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมด้วยกระบวนการส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่คนรุ่นต่อๆ ไป รวมทั้งต้องมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จึงจะส่งผลให้ชุมชนมีอาชีพและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง สู่ความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป
การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
Community Based Tourism Management for Sustainable Tourism Development
ดร.สุดถนอม ตันเจริญ[*]
บทคัดย่อ
ด้วยลักษณะสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประกอบด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนโดยรวม ด้วยกระบวนการทางสังคมที่มุ่งการพัฒนาโดยมีคนในชุมชนเป็นศูนย์กลาง การรวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชนที่ยึดมั่นต่อความเป็นธรรมในการจัดการ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงสะท้อนมิติเชิงการเมือง รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรม ด้วยกระบวนการส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งเป็นผลของการจัดการทรัพยากรในชุมชนด้วยสมาชิกของชุมชนนั้น ๆ ลักษณะสุดท้ายคือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผลของความร่วมมือกันในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะส่งผลให้ชุมชนมีอาชีพและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ปราศจากการทำลายสิ่งแวดล้อม ทุกปัจจัยจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการก้าวไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
คำสำคัญ: การท่องเที่ยวโดยชุมชน การมีส่วนร่วม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
Abstract
The essential aspects of Community Based Tourism (CBT) which consists of community economy which provide benefits to the community as a whole. For social aspect, as community organizations that they focus on people-centered development, social justice. Community participation, responsiveness for community needs and democratization are required as the political aspect. And cultural aspect, local culture passes on to the next generation and cultural preservation. The final aspect of environmental preservation and natural resource management rights with environmental responsibility and natural resource preservation are required. Such result of Community Based Tourism will effect to more career and continuous income without evvironment damages. All mention is vital factors of Community Based Tourism Management leading to the success of real sustainable tourism development.
Keywords: Tourism Based Tourism, Participation, Environmental Preservation, Sustainable Tourism
บทนำ
การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism หรือ CBT) เป็นแนวคิดที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนำมาจัดการในชุมชนท้องถิ่น ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยรูปแบบของการจัดการโดยคนในชุมชน หรือเจ้าของพื้นที่ (Host Management) เช่น ประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ Etsuko (2008) แห่งมหาวิทยาลัย Okazaki Kobe ได้ศึกษาและพบว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นตัวแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ กระบวนการความร่วมมือ และความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มสังคม การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนขยายตัวอย่างรวดเร็วและในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงภายในและภายนอกชุมชนมากขึ้น ทั้งนี้รูปแบบของการจัดการโดยชุมชนถูกคาดหวังว่าเป็นวิธีการจัดการท่องเที่ยวแบบหนึ่งที่มีศักยภาพ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ และสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งทรัพยากรการท่องเที่ยวในตัวเอง (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2559)
สำหรับประเทศไทย กระแสการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของคนในท้องถิ่น รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 (มาตรา 46 และ 56) โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพึ่งตนเอง และการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจชุมชน (มาตรา 78) รวมถึงแนวโน้มการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ตามแนวคิดการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วม (กอบกุล รายะนาคร, 2550) แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในหลายพื้นที่ที่นักวิจัยศึกษารูปแบบและแนวทางการพัฒนาการจัดการการท่องเที่ยวประเภทต่าง ๆ และการท่องเที่ยวโดยการจัดการร่วมกันของชุมชนเองก็พบว่า ปัญหาเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการจัดการ ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ท่ามกลางกระแสท้องถิ่นนิยม ที่มุ่งเน้นให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 พอสรุปได้ว่า ในมาตรา 46 และมาตรา 56 กล่าวถึงการให้สิทธิชุมชนท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและการตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นตามมาตรา 78 รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
แนวคิดของการเดินทางท่องเที่ยวในโลกปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจะคำนึงถึงความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าด้านอื่น โดยเฉพาะเรื่องของการตอบสนองความพึงพอใจที่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ในขณะที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มก็เห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มุ่งปกป้องสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมประเพณีที่สื่อจากโบราณสถาน ศิลปวัตถุ การแสดง ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสกับวิถีชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และดูเหมือนจะเป็นกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในภาพรวม เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนถูกกล่าวขานและมุ่งพัฒนาอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อนประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อความตระหนักในการอยู่รอดและอยู่ได้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากความเชื่อมโยงขององค์ประกอบสำคัญในกระบวนการมีส่วนร่วม คือร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาอุปสรรคของการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในหลายพื้นที่ เช่น การศึกษาศักยภาพชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ชุมชนมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการเมือง พบว่า ไม่สามารถดำเนินการจัดการอย่างเป็นระบบและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจนได้ ด้านเศรษฐกิจ พบว่า ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน และ ด้านสังคมและวัฒนธรรม พบว่า มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างชุมชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว เพื่อตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ พบว่า ชุมชนขาดการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการได้รับประโยชน์ พบว่า ชุมชนไม่มีการรวมตัวกันเพื่อประกอบธุรกิจ ร่วมกัน และส่วนใหญ่ชุมชนจะมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว (วรรณวิมล ภู่นาค, 2557) ชี้ให้เห็นว่าชุมชนตระหนักถึงการเรียนรู้ ทั้งด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และการอนุรักษ์วัฒนธรรม แต่ขาดความร่วมมือ เช่นเดียวกับผลการวิจัยเรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น (สุดถนอม ตันเจริญ, 2559) ซึ่งพบว่า องค์กรชุมชนถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีการจัดการและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ภายใต้จิตสำนึกในการพัฒนาตนเอง แต่ความความเข้มแข็งในชุมชนที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนยังขาดความร่วมมือร่วมใจและแรงสนับสนุนความเข้มแข็งของกลุ่มในระยะยาว
นอกจากปัญหาและอุปสรรคในชุมชนเองแล้ว การท่องเที่ยวยังประสบกับปัญหามลภาวะและส่งผลกระทบต่อสังคมหรือชุมชนนั้น ๆ เพราะการเติบโตของการท่องเที่ยวที่มีผลดีทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เช่น ปัญหาการทําลายทัศนียภาพ ค่าครองชีพสูงขึ้น วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไปเป็นสังคมเมืองและสูญเสียความเป็นตัวตนหรือเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้ การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับการลดและขจัดปัญหานี้ เพราะการท่องเที่ยวโดยชุมชนในบริบทของพื้นที่แหล่งทรัพยากรอันหลากหลายของชุมชน การพิจารณาการใช้ประโยชน์ในประเด็นนี้เป็นการเน้นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติเป็นหลัก มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น รวมถึงแหล่งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศในพื้นที่ ดังนั้น การท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงตั้งอยู่บนฐานคิดที่เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการผสมผสานจุดมุ่งหมายของการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อม รวมทั้งอัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆของชุมชนอันมีวิถีชีวิตและจารีตประเพณีแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายให้คนในชุมชนรู้จักการสร้างสำนึกท้องถิ่น เร่งเร้าความภาคภูมิใจในความเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมประเพณีของตน รวมทั้งสามารถให้คำอธิบายกับคนนอกหรือนักท่องเที่ยวได้รับรู้ และเข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ความสวยงามและคุณค่า ตลอดจนการสื่อให้เห็นพัฒนาการของวัฒนธรรม จารีตประเพณีทั้งนี้เพื่อให้คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การเคารพต่อความเชื่อ ศักดิ์ศรีและสิทธิในการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ วัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรมของชุมชน โดยเน้นการจัดการท่องเที่ยวบนเงื่อนไขของการจัดการที่มีความรับผิดชอบที่จะช่วยกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งนี้มุ่งให้มีการจัดการที่ยั่งยืนครอบคลุมถึงการอนุรักษ์
การท่องเที่ยวโดยชุมชน
ด้วยลักษณะสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยชุมชนเอง ซึ่งประกอบด้วยมิติการจัดการและการพัฒนา 5 ด้านคือ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม (Mintzberg, 2009) สรุปได้ว่า การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องมีการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน โดยการพัฒนาที่มีคนในชมชนเป็นศูนย์กลาง และมีลักษณะด้านการเมืองคือรูปแบบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งเป็นผลของการจัดการทรัพยากรในชุมชนด้วยสมาชิกของชุมชนนั้น ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในความหมายของการเป็นผู้ประกอบการ มีการจ้างงาน การจัดการที่ดิน จัดหาสินค้าและบริการให้แก่นักท่องเที่ยว ไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชนนั้นก็มีอาชีพและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ประสบความสำเร็จยังแสดงให้เห็นถึงการที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เป็นองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจบริการที่ชุมชนนำเสนอแก่นักท่องเที่ยวทุกประเภท (Middleton, 1998) ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ปราศจากการทำลายสิ่งแวดล้อมที่นำมาซึ่งความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การท่องเที่ยวโดยชุมชนจัดว่าเป็นการมุ่งบทบาทสำคัญของการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน จำเป็นต้องมีหน่วยงานรัฐและเอกชนทุกส่วนสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานการท่องเที่ยวมีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง
การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว ในความหมายที่ครอบคลุมทรัพยากรการท่องเที่ยว ซึ่งหมายความถึง พื้นที่ สิ่งของ กิจกรรม และหรือมิติอื่นใดที่สามารถให้คุณค่าเชิงการท่องเที่ยว เช่น ความสวยงามตามธรรมชาติคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ เป็นต้น แก่นักท่องเที่ยว ทั้งนี้ ทรัพยากรการท่องเที่ยวสามารถปรากฏได้ทั้งในลักษณะของรูปธรรมที่สามารถสัมผัสได้ด้วยการจับต้อง เช่น สิ่งก่อสร้าง ของที่ระลึก ถ้ำ และน้ำตก เป็นต้น และในลักษณะของนามธรรมที่ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยการจับต้องแต่สามารถสัมผัสได้ด้วยทางอื่น เช่น ภูมิปัญญาทอ้งถิ่น ภาษาความเป็นชนเผ่า และการเล่นการแสดงพื้นบ้าน เป็นต้น รวมถึงสถานที่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่ มีลักษณะเด่นดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว (มนัส สุวรรณ และคณะ, 2541)
พจนา สวนศรี (2546: 15) กล่าวถึง องค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยวโดยชุมชนว่ามีอยู่ 4 ด้าน คือ 1) ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม 2) องค์กรชุมชน 3) การจัดการ 4) การเรียนรู้ จากผลการวิจัย เรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น (สุดถนอม ตันเจริญ, 2559) ชี้ให้เห็นว่า องค์กรชุมชนถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีการจัดการและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ภายใต้จิตสำนึกในการพัฒนาตนเอง พึ่งพาตนเอง คิดเป็นทำเป็น มีความพยายามในการเรียนรู้พัฒนา เกิดรายได้เพิ่มขึ้นมีการรวมตัวกัน สร้างความเข้มแข็งในชุมชน นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามความคาดหวังและความพยายามที่จะดำเนินการเพื่อให้เป็นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามที่ วีระพล ทองมา (2555) อธิบายไว้คือ 1) ด้านเศรษฐกิจ 2) ด้านสังคมวัฒนธรรม 3) สิ่งแวดล้อม และสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนคือการรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา สืบสานสืบทอด ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ได้ เกิดความรัก ความภาคภูมิในความรู้สึกเป็นเจ้าของ มีส่วนร่วมในทรัพยากรของชุมชน และเกิดกระบวนการเรียนรู้การทำงานร่วมกันในที่สุด ในความหมายของผลกระทบด้านบวกของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
จากแนวคิด หลักการ ความหมาย ลักษณะสำคัญและองค์ประกอบของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น พอสรุปได้ว่า ความสำเร็จของการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจหรือการยกระดับรายได้และกระจายงานหรือผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ผ่านกระบวนการจัดการ การมีส่วนร่วม และการดำเนินงานขององค์กรชุมชนที่เป็นทางการ เช่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เป็นต้น ที่เข้าใจและพึงพอใจในเป้าหมายเดียวกัน โดยใช้ทรัพยากรของชุมชนเอง รวมถึงสถานที่ และการนำเสนอบริการท่องเที่ยวหรือข้อมูลเชิงวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างชัดเจน
แนวทางป้องกันและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้เสื่อมโทรม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการจัดการท่องเที่ยว โดยให้ชุมชนเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมในการแสดงความต้องการ ความริเริ่ม เสนอความคิดเห็น ร่วมประชุม ให้ข้อมูล วิเคราะห์ตัดสินใจ และพัฒนากระบวนการ/ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง และเป็นการกระจายรายได้การยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นด้วย โดยการสร้างฐานความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ ให้กับชุมชนก่อน เช่น หลักการ แนวทาง ลักษณะของทรัพยากรการท่องเที่ยว ลักษณะและพฤติกรรมของกลุ่มตลาด เพื่อให้ชุมชนมีความสามารถในการ จัดการและพัฒนาทรัพยากรและการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ ถูกต้องและเหมาะสม (อริสรา เสยานนท์, 2552)
จากผลการวิจัยของสุดถนอม ตันเจริญ (2559) ศักยภาพด้านการจัดการเกี่ยวกับการกระจายผลประโยชน์ที่เกิดจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างเป็นธรรม และศักยภาพด้านองค์กรชุมชน เกี่ยวกับชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของและเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา สร้างเสริมงานและรายได้ให้แก่ชุมชน มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด แสดงว่า สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าผลประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ยังไม่มีความเป็นธรรมเท่าที่ควร อีกทั้งพวกเขายังต้องการการมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านต่าง ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับผลการวิจัยของ นรินทร์ สังข์รักษา สุภาภรณ์ พรหมฤาษี และ ธีรังกูร วรบำรุงกุล (2559) ที่พบว่า แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวต้องการบทบาทของ 5 ส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน นักท่องเที่ยว และสถาบันการศึกษา ซึ่งจะช่วยกันสร้างแรงจูงใจแก่นักท่องเที่ยว ทั้งด้านความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมต่าง ๆ ความปลอดภัย ความเป็นมิตร และสิ่งอำนวยความสะดวก ล้วนต้องการผู้บริหารและคนจากทุกฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ดังนั้นองค์ประกอบสำคัญของความร่วมมือในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องอาศัยสมาชิกในชุมชนรวมทั้งภาครัฐ (ท้องถิ่น) และเอกชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยคำนึงการผลิต การใช้ไป จากทรัพยากร (การท่องเที่ยว) ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ในขณะที่ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครองให้คงอยู่และมีมากขึ้น มิใช่เพียงแต่สมาชิกในชุมชนเท่านั้น ดังภาพที่ 1
การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
การพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืนเกิดจากการร่วมคิดร่วมทำด้วยความเต็มใจเพราะมีเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข พร้อม ๆ ไปกับความเจริญงอกงามเชิงวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เพราะการท่องเที่ยวเป็นที่มาของรายได้ เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตอันดีงาม และเป็นเครื่องมือ ในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนนั้น ได้แก่ นักท่องเที่ยว เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงผู้ประกอบการทุกประเภท
การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
แนวคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) หลักการที่สำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ของ World Tourism Organization (2016) (1) มีการดำเนินการจัดการภายใต้ ขีดความสามารถของระบบธรรมชาติมีการทดแทนการฟื้นฟูให้สามารถผลิตและ ให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ตลอดไป โดยไม่ลดถอยหรือเสื่อมโทรมลง ตระหนัก ถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและความต้องการของชุมชน (2) มีการกระจาย ประโยชน์อย่างเป็นธรรมสู่ท้องถิ่น (3) ให้ประสบการณ์นันทนาการที่มีคุณค่าแก่นักท่องเที่ยว (4) ให้ผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ ทรัพยากรและวิถีชีวิต (5) การออกแบบที่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่น และใช้วัสดุในท้องถิ่น (6) เน้นการผสมผสานการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนสู่แผนพัฒนา ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ (7) เน้นข้อมูลพื้นฐานเพื่อเป็นฐานการ ตัดสินใจและการติดตามตรวจสอบ
องค์การการท่องเที่ยวแห่งโลก (WTO, 2016) ได้ให้คำจำกัดความล่าสุดของการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (sustainable Tourism) ว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่การท่องเที่ยวขนาดเล็กหรือการตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche tourism segments) หากแต่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจะต้องครอบคลุมถึงการตลาดโดยรวมหรือที่เรารู้จักกันในชื่อที่เรียกว่า “การท่องเที่ยวแบบมวลชน” (Mass tourism) โดยทั่วไปการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน หมายถึง การท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญต่อการเสมอภาคระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสังคมและวัฒนธรรมของคนทั้งในรุ่นปัจจุบันต่อไปจนถึงคนในอนาคต ดังนั้น หลักการและแนวคิดที่สำคัญของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในคำจำกัดความของ WTO จึงประกอบด้วย
- การท่องเที่ยวต้องตระหนักและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด
- การเคารพในสังคม วัฒนธรรม และประเพณีของประชาชนพื้นเมือง รวมไปถึงการรู้จักปรับตัวและเข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละชุมชน
- การสร้างความเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนควรก่อให้เกิดการกระจายของรายได้อย่างเป็นธรรมและทั่งถึงแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการท่องเที่ยว (tourism stakeholder) นอกจากนี้ ยังควรที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานและการสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น รวมไปถึงการมีส่วนสำคัญในการช่วยลดความยากจนในท้องถิ่นด้วย
การพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งหมดต้องมุ่งสู่ความยั่งยืน (All tourism should be Sustainable Tourism) ตามคำกล่าวของ Dowling (1995) เขาอธิบายภาพรวมว่า หลักการที่ต้องปฏิบัติจริงจัง ได้แก่ การดําเนินกิจการการท่องเที่ยวในขอบเขตความสามารถการรองรับของธรรมชาติชุมชน ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนกับกิจกรรมการท่องเที่ยว ภายใต้การตระหนักในกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ดังนั้นจึงต้องมีการประสานการจัดการร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ชุมชน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน อีกทั้งป้องกันปัญหาเรื่องผลประโยชน์และความขัดแย้งด้วยการประสานความต้องการและกําหนดแผนงานทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของการดำรงอยู่และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น
สรุปและข้อเสนอแนะ
ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ยั่งยืน โดยการจัดการการท่องเที่ยวที่มีจิตสำนึกและมีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศโดยเฉพาะแม่น้ำลำคลอง การจัดการท่องเที่ยวที่สร้างความรู้และให้ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และต้องการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน สอดคล้องกับแนวคิดของ อุษาวดี พูลพิพัฒน์ (2545) ที่ว่า การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนโดยชุมชนมีส่วนร่วม เป็นการท่องเที่ยวที่มีความต่อเนื่อง มีคุณภาพ และมีความสมดุลด้านความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและขีดความสามารถของทรัพยากรที่มี และผลการวิจัยของเทพรัตน์ จันทพันธ์ และวิวัฒน์ ฤทธิมา (2556) พบว่าการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนของตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีรูปแบบของฐานการเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งลักษณะของฐานองค์ความรู้ ประกอบด้วยกิจกรรมของแหล่งเรียนรู้ การท่องเที่ยวโดยชุมชนของตำบลบ้านขาว คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม มีการกำหนดทิศทางโดยชุมชน การจัดการโดยชุมชน เพื่อชุมชน โดยที่ชุมชนมีบทบาทในฐานะเจ้าของ มีสิทธิในการจัดการดูแลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กร ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เข้ามาร่วมคิดร่วมวางแผน มีส่วนร่วมในการดำเนินการในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เช่นเดียวกับผลการวิจัยของ สุดถนอม ตันเจริญ (2558) พบว่าการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และป้ายประชาสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์เผยแพร่ความรู้ด้านการสื่อสารการตลาดกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทย เป็นที่สนใจของชุมชนอย่างมาก รวมถึงการเรียนรู้ของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนได้คือสามารถพึ่งตนเองได้ด้วยการจัดการร่วมกันของสมาชิกในชุมชน (สุดถนอม ตันเจริญ, 2559)
หลายพื้นที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องของการกระจายผลประโยชน์ ดังนั้นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนนั้น ได้แก่ นักท่องเที่ยว เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงผู้ประกอบการทุกประเภท การเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับการสร้างงานสร้างรายได้ภายในชุมชน ต้องมีการวางแผนร่วมกันของทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสามัคคีและร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อส่วนรวม และสร้างความสามารถพึ่งตนเองได้ ยังต้องการการแนะนำจากผู้นำชุมชน รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนั้น ผู้บริหาร ผู้นำชุมชน ธุรกิจชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเน้นการสร้างตราสินค้าแหล่งท่องเที่ยว (Destination Branding) เพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนอย่างยั่งยืน ได้กลายเป็นแนวคิดที่สำคัญแนวคิดหนึ่งในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พร้อม ๆ กับ การรณรงค์เพื่อป้องกันและลดการต่อต้านการเจริญเติบโต อันเนื่องมาจากการพัฒนา แต่ต้องเน้นข้อจำกัดของการเจริญเติบโต และการท่องเที่ยวต้องจัดการบริหารภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรของชุมชน
ด้านสมาชิกของชุมชนและผู้นำชุมชนควรร่วมหารือกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการวางแผนและจัดการการท่องเที่ยว มุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นหลักและคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับงานต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง โดยอาศัยการแสดงความคิดเห็นด้วยฉันทามติทุกขั้นตอน และเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ชุมชนทุกพื้นที่ทุกจังหวัดมีจุดเด่นทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนั้น ๆ อยู่แล้ว ควรศึกษาและทำความเข้าใจในความเป็นมาอย่างลึกซึ้งและจริงจัง เพื่อดึงออกมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้มุกประเภท เช่น แหล่งท่องเที่ยวโดดเด่นเชิงวัฒนธรรม วัดและโบราณสถาน ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและจูงใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีเอกลักษณ์และมีความเป็นระเบียบที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้
เอกสารอ้างอิง
กอบกุล รายะนาคร. (2550). กฎหมายกับสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน.
เทพรัตน์ จันทพันธ์ และวิวัฒน์ ฤทธิมา. (2556). เรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชนของตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัด
พจนา สวนศรี. (2546). คู่มือการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน. กรุงเทพมหานคร: โครงการท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ.
มนัส สุวรรณ และคณะ. (2541). โครงการศึกษาแนวทางและการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลและสภาตำบล. กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
วรรณวิมล ภู่นาค. (2557). ศักยภาพชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน: กรณีศึกษาตลาดนํ้าอัมพวา. วารสารบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลา ปีที่ 26(1) หน้า 63-74.
วีระพล ทองมา. (2555). การท่องเที่ยวสีเขียว: เรื่องจริงหรือแค่ภาพลวงตา รายงานผลการดำเนินโครงการสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2 จังหวัดเชียงใหม่.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. (2559). การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2559 จาก http://www.trf.or.th/index.php?option=com _content&view=article &id=957:2012-07-01-03-23-01&catid=35:research-orum&Itemid=146
สุดถนอม ตันเจริญ. (2558). ประเพณีลอยกระทงกับการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและการอนุรักษ์วัฒนธรรม. รายงานสืบเนื่องการประชุมวิชาการระดับชาติสหวิทยาการเอเชียอาคเนย์ 2558 วันที่ 25 มิถุนายน 2558 กรุงเทพฯ (หน้า 496-502) กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์.
สงขลา. รายงานสืบเนื่องการประชุมหาดใหญ่วิชาการ ครั้งที่ 4 วันที่ 10 พฤษภาคม 2556 หน้า 71-78..
นรินทร์ สังข์รักษา สุภาภรณ์ พรหมฤาษี และ ธีรังกูร วรบำรุงกุล. (2559). รูปแบบและพฤติกรรมท่องเที่ยวที่ไร้ความรีบเร่งของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยการหอการค้า ไทย มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์. 36, 2: 1-19.
อริสรา เสยานนท์. (2552). การป้องกันการเสื่อมโทรมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตลาดน้ำ
อัมพวา . วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. ปีที่ 29 ฉบับที่ 4 หน้า 163-172, สืบค้นจาก http://www.utcc.ac.th/public_content/files/001/29_4-13.pdf29(4) 52
อุษาวดี พลพิพัฒน์. (2545). การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน: กรณีศึกษาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนในประเทศไทย. จุลสารการท่องเที่ยว. 21(4) หน้า 38-48.
Dowling, R.K. (1995). Regional ecotourism development plans: Theory and practice. Paperpresented in the regional Symposium of the geography of sustainable tourism: In Australia, New Zealand, SouthWest Pacific and South-East Asia, Canberra, Australia, September.
Etsuko, Okazaki. (2008). A Community-Based Tourism Model: Its Conception and Use. Journal of Sustainable Tourism, 16(5) pp. 511–529. Retrieved from http://www.tandfonline.com/doi/abs/10. 1080/09669580802159594#.VfAGANJVhBc
Middleton, V. T. C., & Hawkins, R. (1998). Sustainable tourism: A Marketing perspective.Massachusetts: Butterworth-Heinemann.
Mintzberg, H. (2009). Rebuilding companies as communities. Harvard Business Review (July–August 2009).
WTO. (World Tourism Organization). Tourism, a factor of sustainable development. Retrieved on 10 November 2016 from http://ethics.unwto.org/en/content/global-code-ethics-tourism-article-3