การบัญชีชั้นต้น 2 (Accounting Principles II)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพพร ลิ้มสุขวัฒน์


ชื่อผลงานทางวิชาการ   การบัญชีชั้นต้น 2 (Accounting Principles II)

ประเภทผลงานทางวิชาการ ตำรา

ปีที่พิมพ์ ฉบับปรับปรุง  2555

มูลเพิ่มเติม สาขาวิชาการบัญชี คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ                                       

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพพร ลิ้มสุขวัฒน์

ตำราการบัญชีขั้นต้น 2 ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพพร ลิ้มสุขวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบัญชี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นผู้เขียนและได้ปรับปรุง ตำราเล่มนี้ เมื่อ พ.ศ. 2555  เพื่อใช้ประกอบการบรรยาย วิชาการบัญชีขั้นต้น 2 (Accounting Principles 2) สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  โดยเฉพาะการเขียนตำราเล่มนี้ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาสาระของหลักการบัญชีเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานการบัญชีที่เกิดขึ้น รวมทั้งได้พิจารณาปรับปรุงเนื้อหาที่สอดคล้องกับแม่บทการบัญชีและมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

   ตำราเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 10 เรื่อง ประกอบด้วย (1)เงินสดและการควบคุมภายใน  (2)ระบบใบสำคัญจ่าย  (3)เงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามความต้องการของตลาด (4)ลูกหนี้การค้าและตั๋วเงินรับ (5)สินค้าคงเหลือ (6)ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์  (7)ทรัพยากรธรรมชาติและสินทรัพย์ไม่มีตัวตน  (8)หนี้สินหมุนเวียนและหนี้สินระยะยาว  (9)ส่วนของเจ้าของ  และ(10)การบัญชีกิจการผลิตสินค้า  ผู้เขียนได้พยายามเรียงลำดับเนื้อหาจากความรู้พื้นฐานไปสู่เนื้อหาที่สลับซับซ้อน  โดยมีแบบฝึกทักษะท้ายบทเรียนในแต่ละเรื่องสำหรับฝึกการนำข้อมูลทางการบัญชีไปใช้  เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่ได้ศึกษามา  และจะเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจด้านการบัญชีสำหรับใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาวิชาการบัญชีระดับสูงต่อไปในอนาคต  สามารถสรุปเนื้อหาแต่ละบทย่อๆ ดังนี้

 

สรุปบทที่ 1  เงินสดและการควบคุมภายใน

เงินสด  หมายถึง  จำนวนเงินที่กิจการสามารถนำมาใช้ได้ทันทีโดยไม่มีข้อจำกัดในการใช้เงินใดๆ ทั้งสิ้น  เช่น  ธนบัตร  เงินเหรียญ  เอกสารทางการเงินที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันทีตามที่ต้องการ

การควบคุมดูแลรักษาเงินสด  สรุปได้ดังนี้

1. แบ่งแยกหน้าที่การรับ-จ่ายเงินสด  และการบันทึกบัญชีออกจากกัน
2. เงินสดที่กิจการได้รับควรนำฝากธนาคาร  และบันทึกบัญชีทันที
3. เงินสดที่กิจการได้รับไม่ควรนำมาจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายแต่ควรจ่ายเป็นเช็ค  หรือจ่ายจากวงเงินสดย่อยของกิจการ
4. ควรจัดให้มีการตรวจสอบเงินสดเป็นครั้งคราว  โดยพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรับ-จ่ายเงินสดและการบันทึกบัญชี

งบพิสูจน์ยอดเงินฝากธนาคาร  เป็นงบที่แสดงสาเหตุความแตกต่างระหว่างยอดคงเหลือ

ตามรายงานของธนาคารและยอดคงเหลือตามสมุดบัญชีของกิจการ  ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. รายการที่กิจการได้บันทึกไว้แล้วแต่ธนาคารยังไม่ได้บันทึก  เช่น เงินฝากระหว่างทางเช็คค้างจ่าย  เป็นต้น
2. รายการที่ธนาคารได้บันทึกไว้แล้ว  แต่กิจการยังไม่ได้บันทึก เช่น ค่าธรรมเนียมธนาคาร ค่าดอกเบี้ย  เช็คคืน  และค่าใช้จ่ายที่กิจการขอให้ทางธนาคารจ่ายแทนกิจการ เป็นต้น
3.  รายการที่ทั้งกิจการ และธนาคารบันทึกไว้ผิดพลาด

การจัดทำงบพิสูจน์ยอดเงินฝากธนาคาร  สามารถทำได้  3  วิธี  ดังนี้

1.งบพิสูจน์ยอดเงินฝากธนาคารคงเหลือจากกิจการไปหาธนาคาร
2.งบพิสูจน์ยอดเงินฝากธนาคารคงเหลือจากธนาคารไปหากิจการ
3.งบพิสูจน์ยอดเงินฝากธนาคารที่ถูกต้อง

เงินสดย่อย  หมายถึง  จำนวนเงินที่กิจการตั้งไว้สำหรับค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ  ที่ต้องจ่าย

ทันทีไม่สะดวกที่จะใช้เช็ค  ระบบเงินสดย่อยที่นิยมใช้กันมาก คือ Impress System  โดยกำหนดวงเงินจำนวนหนึ่งคงที่  เพื่อให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายช่วงระยะเวลาหนึ่ง  โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้รักษาเงินสดย่อย  การบันทึกรายการเกี่ยวกับเงินสดย่อย  มีดังนี้

  1. การตั้งเงินสดย่อย  ให้เดบิต บัญชีเงินสดย่อย และเครดิต บัญชีเงินฝากธนาคาร
  2. การจ่ายเงินสดย่อย  ไม่มีการบันทึกบัญชีเพียงแต่ผู้รักษาเงินสดย่อยบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการจ่ายเงินสดย่อยในสมุดเงินสดย่อย
  3. การเบิกชดเชยเงินสดย่อย  ให้เดบิต บัญชีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น  และเครดิต บัญชีเงินฝากธนาคาร

 

สรุปบทที่ 2 ระบบใบสำคัญจ่าย

ระบบใบสำคัญ  เป็นวิธีการควบคุมภายในเกี่ยวกับการจ่ายเงินสดวิธีหนึ่ง  ปกติใช้กับธุรกิจขนาดใหญ่  ตามระบบนี้ใหถือว่ารายการที่จะต้องจ่ายเงินทุกรายการจะต้องบันทึกไว้เป็นหนี้สินก่อน  ด้วยการจัดทำใบสำคัญจ่าย

วิธีการบัญชีตามระบบใบสำคัญจ่ายมีดังนี้

1. เมื่อได้รับหลักฐานที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินทั้งหมด  เช่น  ใบแจ้งหนี้ ใบส่งของ ใบเสร็จรับเงิน  ใบกำกับภาษี  เป็นต้น    ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องจัดทำหลักฐานการจ่ายเงินทุกครั้ง เรียกว่า ใบสำคัญจ่าย

2. บันทึกใบสำคัญจ่ายลงในทะเบียนใบสำคัญจ่าย  ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสมุดรายวันขั้นต้นที่ใช้แทนสมุดรายวันซื้อ  สำหรับบันทึกรายการเกี่ยวกับการซื้อสินค้า  วัตถุดิบ  สินทรัพย์อื่นๆ  การจ่ายชำระหนี้  รวมทั้งรายการค่าใช้จ่ายค้างจ่ายทุกประเภท กำหนดให้นำบัญชีช่องอื่นให้ผ่านรายการไปยังบัญชีแยกประเภททุกครั้งที่เกิดรายการ    สำหรับช่องบัญชีเฉพาะให้ผ่านรายการทุกวันสิ้นเดือน

3. การจ่ายเงินตามใบสำคัญจ่ายต้องจ่ายเป็นเช็คเท่านั้น  และบันทึกการจ่ายนั้นในทะเบียนเช็คซึ่งเป็นสมุดรายการขั้นต้นที่ใช้แทนสมุดเงินสดจ่าย แต่ถ้าเป็นรายจ่ายจำนวนไม่มากให้จ่ายจากเงินสดย่อย

4.  ใช้บัญชีใบสำคัญจ่ายซึ่งเป็นบัญชีคุมยอดแทนบัญชีเจ้าหนี้ทุกประเภท

5. ใบสำคัญค้างจ่ายแต่ละฉบับใช้แทนบัญชีแยกประเภทเจ้าหนี้รายตัว  และเก็บในแฟ้มเรียก ว่า แฟ้มใบสำคัญค้างจ่าย

6. สามารถจัดทำรายละเอียดหนี้สิน  และสามารถพิสูจน์ความถูกต้องได้จากบัญชีใบสำคัญจ่าย โดยยอดคงเหลือในบัญชีใบสำคัญจ่ายจะเท่ากับจำนวนเงินของใบสำคัญจ่ายที่ยังไม่ได้จ่ายเงินแต่ละฉบับรวมกันหรือพิสูจน์จากทะเบียนใบสำคัญจ่ายกับใบสำคัญค้างจ่าย

 

สรุปบทที่ 3  เงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามความต้องการของตลาด

เงินลงทุนในที่นี้  หมายถึง  เงินลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ที่เป็นหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด  ที่กิจการตั้งใจจะถือไว้ไม่เกิน 1 ปี  นับแต่วันที่ในงบแสดงฐานะการเงิน

ต้นทุนของเงินลงทุน  คือ เงินสดที่จ่ายซื้อ  หรือราคาตลาดของหุ้นทุน  หรือมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่นำไปแลก  รวมรายจ่ายโดยตรงทั้งสิ้นที่กิจการได้จ่ายเงินไปเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทุนนั้น เช่น ราคาซื้อเงินลงทุน  ค่านายหน้า  ค่าธรรมเนียม  ค่าภาษี   ทั้งนี้  ต้นทุนของการจัดทำรายการไม่รวมถึงส่วนเกินหรือส่วนลดของตราสารหนี้  ต้นทุนทางการเงิน  ต้นทุนของการบริหารและต้นทุนภายในที่ได้รับการแบ่งปันมา

ในวันที่กิจการได้รับเงินลงทุนมา จะต้องจัดประเภทตราสารทุนและตราสารหนี้เป็นหลักทรัพย์เพื่อค้า   หรือหลักทรัพย์เผื่อขาย  หรือตราสารหนี้ที่จะถือไว้จนครบกำหนด ณ วันสิ้นงวดบัญชี  กิจการจะต้องแสดงราคาเงินลงทุนชั่วคราวไว้ดังนี้

1. ตราสารทุนและตราสารหนี้ในความต้องการของตลาด  ทั้งที่เป็นหลักทรัพย์เพื่อค้าและหลักทรัพย์เผื่อขาย  จะต้องแสดงในงบแสดงฐานะการเงินด้วยมูลค่ายุติธรรม

      ผลต่างระหว่างราคาตามบัญชีกับมูลค่ายุติธรรมให้บันทึกเป็นรายการกำไรหรือ

ขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น  และให้แสดงไว้ในงบการเงินดังนี้

  • หลักทรัพย์เพื่อค้า ให้รับรู้เป็นรายได้หรือขาดทุนในงบกำไรขาดทุนสำหรับงวดบัญชีนั้น
  • หลักทรัพย์เผื่อขาย ให้แสดงเป็นรายการแยกต่างหากไว้ในส่วนของผู้ถือหุ้นในงบแสดงฐานะการเงิน  และบัญชีนี้จะโอนปิดไปกำไรขาดทุนเมื่อมีการขายเงินลงทุน

 ตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ในงบแสดงฐานะการเงิน ให้ถือเป็นเงินลงทุนชั่วคราว และแสดงในงบแสดงฐานะการเงินด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย

    การตัดส่วนเกินหรือส่วนลดมูลค่าของตราสารหนี้  ให้ใช้วิธีดอกเบี้ยแท้จริงหรือวิธีอื่นที่ให้ ผลไม่แตกต่างจากวิธีดอกเบี้ยแท้จริงอย่างมีนัยสำคัญสำหรับการจำหน่ายเงินลงทุน

  1. ให้รับรู้ผลกำไรหรือขาทุนจากการขายเงินลงทุนในงบกำไรขาดทุนในงวดนั้นทันที
  2. ให้ใช้ราคาตามบัญชีที่คำนวณโดยวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก

 

สรุปบทที่ 4  ลูกหนี้การค้าและตั๋วเงินรับ

ลูกหนี้  หมายถึง  สิทธิเรียกร้องของกิจการที่มีต่อบุคคลอื่น  ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเงิสด สินค้า หรือบริการ  ลูกหนี้ของกิจการแบ่งได้ 3 ประเภท  คือ (1) ลูกหนี้การค้า  (2) ลูกหนี้อื่นๆ  และ (3) รายได้ค้างรับ

การประมาณการหนี้สงสัยจะสูญ  คือ การประมาณจำนวนลูกหนี้ที่คาดว่าจะเก็บเงินไม่ได้  ซึ่งมีวิธีปฏิบัติ  ดังนี้

1. ประมาณเป็นร้อยละของยอดขายเชื่อสุทธิ  วิธีนี้ไม่ต้องนำยอดคงเหลือของบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในวันสิ้นงวดมาประกอบการพิจารณา

2. ประมาณเป็นร้อยละของยอดลูกหนี้ค้างชำระในวันสิ้นงวดบัญชี  วิธีนี้จะต้องนำยอดคงเหลือของบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในวันสิ้นงวดมาประกอบการพิจารณา

    • ถ้ายอดคงเหลือทางด้านเครดิต ให้นำไปหักออกจากจำนวนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่คำนวณได้จากยอดลูกหนี้
    • ถ้ายอดคงเหลือทางด้านเดบิต  ให้นำไปบวกกับจำนวนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่คำนวณได้จากยอดลูกหนี้

3. ประมาณเป็นร้อยละของยอดลูกหนี้ค้างชำระในวันสิ้นงวดบัญชี โดยจำแนกตามอายุลูกหนี้ที่ค้างชำระวิธีนี้ปฏิบัติเช่นเดียวกับวิธีที่ 2  แต่จำนวนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ต้องการจะคำนวณจากกลุ่มลูกหนี้ตามระยะเวลาค้างชำระ

การบันทึกบัญชี เมื่อคำนวณหนี้สงสัยจะสูญได้แล้ว ให้บันทึกเดบิตหนี้สงสัยจะสูญ   ซึ่งเป็นบัญชีประเภทค่าใช้จ่าย    และเครดิตค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ  ซึ่งเป็นบัญชีปรับมูลค่า

การจำหน่ายหนี้สูญ  เมื่อกิจการได้ตัดจำหน่ายลูกหนี้ที่เก็บเงินไม่ได้  จะบันทึกบัญชีดังนี้

1. กรณีที่กฎหมายภาษีอากรยอมรับ  โดยเดบิตหนี้สูญ  และเครดิตลูกหนี้  พร้อมทั้งโอนกลับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ตั้งไว้

2. กรณีที่ไม่เข้าข่ายการยอมรับตามกฎหมายภาษีอากร  โดยเดบิตค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและเครดิตลูกหนี้

หนี้สูญรับคืน ในกรณีที่กิจการได้รับชำระเงินจากลูกหนี้ที่ได้ตัดจำหน่ายเป็นหนี้สูญแล้วกิจการจะบันทึกลูกหนี้นั้นกลับเป็นลูกหนี้ใหม่ดังนี้

1. กรณีที่กฎหมายภาษีอากรยอมรับ  โดยเดบิตลูกหนี้     และเครดิตหนี้สูญรับคืน  และบันทึกการรับชำระเงินตามปกติ โดยเดบิตเงินสด และเครดิตลูกหนี้

2. กรณีที่ไม่เข้าข่ายการยอมรับตามกฎหมายภาษีอากร โดยเดบิตลูกหนี้  และเครดิตค่า เผื่อหนี้สงสัยจะสูญ  และบันทึกการรับชำระเงิน  โดยเดบิตเงินสด  และเครดิตลูกหนี้

ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเกินความต้องการ หมายถึง   ยอดคงเหลือทางด้านเครดิตของบัญชี

ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมีมากกว่าจำนวนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่คำนวณได้  ในกรณีนี้ ให้ลดยอดบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญโดยเดบิตค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ  และเครดิตหนี้สงสัยจะสูญ  และแสดงรายการหนี้สงสัยจะสูญเป็นรายการเครดิตในหัวข้อค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในงบกำไรขาดทุน

ตั๋วเงินรับ  คือ  ตราสารแสดงสิทธิที่ผู้ทรงตั๋วจะได้รับเงินจำนวนเงินที่แน่นอนภายในเวลาที่กำหนด  ตั๋วเงินรับประกอบด้วย  (1) ตั๋วสัญญาใช้เงิน  (2) ตั๋วแลกเงิน  และ (3) เช็คลงวันที่ล่วงหน้า

การบันทึกบัญชี  การบันทึกบัญชีมีขั้นตอนดังนี้

1. เมื่อรับตั๋วเงิน  ให้บันทึกไว้เป็นสินทรัพย์ในบัญชีตั๋วเงินรับตามมูลค่าที่ปรากฏในหน้าตั๋ว
2. เมื่อตั๋วถึงกำหนด  ให้บันทึกรับเงินสดตามมูลค่าในหน้าตั๋ว บวก ดอกเบี้ย(ถ้ามี)
3. เมื่อสิ้นงวดบัญชี  ถ้าตั๋วเงินชนิดที่มีดอกเบี้ยถึงกำหนดชำระในงวดบัญชีถัดไปให้ปรับปรุงดอกเบี้ยเป็นรายได้ในงวดปัจจุบัน
4. เมื่อนำตั๋วเงินรับไปขายลด  ให้บันทึกในบัญชีตั๋วเงินรับขายลดเท่ากับมูลค่าในหน้าตั๋ว แทนการบันทึกลดยอดบัญชีตั๋วเงินรับ  จำนวนเงินที่กิจการได้รับจากการขายลดให้บันทึกตามมูลค่าที่จะได้รับเมื่อตั๋วถึงกำหนดหักด้วยส่วนลดที่ผู้ซื้อได้หักไว้ล่วงหน้า  ถ้าจำนวนเงินที่ได้รับสูงกว่ามูลค่าในหน้าตั๋วให้บันทึกไว้ในบัญชีดอกเบี้ยรับ  ถ้าจำนวนเงินที่ได้รับต่ำกว่าให้บันทึกไว้ในบัญชีดอกเบี้ยจ่าย
5. เมื่อตั๋วเงินขาดความเชื่อถือ  ให้บันทึกผู้จ่ายเงินกลับมาเป็นลูกหนี้  และบันทึกลดยอดตั๋วเงินรับ  พร้อมบันทึกดอกเบี้ยรับ(ถ้ามี)  ถ้าเป็นตั๋วเงินรับขายลดขาดความเชื่อถือให้บันทึกผู้จ่ายกลับมาเป็นลูกหนี้  เท่ากับจำนวนเงินที่กิจการจะต้องจ่ายให้กับธนาคาร  พร้อมทั้งให้โอนปิดบัญชีตั๋วเงินรับขายลด

การแสดงตั๋วเงินรับในงบแสดงฐานะการเงิน ตั๋วเงินรับให้แสดงรวมกับลูกหนี้การค้า หรือแสดงแยกเป็นรายการต่างหาก  สำหรับตั๋วเงินรับขายลดให้แสดงเป็นรายการหักจากตั๋วเงินรับ  หรือแสดงเป็นหมายเหตุประกอบงบแสดงฐานะการเงิน

 

สรุปบทที่  5  สินค้าคงเหลือ

สินค้าคงเหลือ หมายถึง สินค้าสำเร็จรูปที่กิจการมีไว้เพื่อขาย หรือใช้ในการผลิตหรือบริการ  รวมถึงสินค้าระหว่างผลิต  วัตถุดิบ และวัสดุโรงงาน  ทั้งนี้เป็นการประกอบการสร้างรายได้จากการค้าขายตามปกติของกิจการ  ระบบบัญชีที่ใช้บันทึกรายการสินค้าคงเหลือมี 2 ระบบ คือ  ระบบบัญชีสินค้าคงเหลือแบบต่อเนื่อง  และระบบบัญชีสินค้าคงเหลือแบบสิ้นงวด  กรณีตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวดผิดพลาดจะทำให้งบการเงินแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง  กล่าวคือ  ถ้ากิจการตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวดสูงไปจะทำให้กำไรสุทธิประจำงวดสูง  งบแสดงฐานะการเงินก็จะแสดงรายการสินทรัพย์หมุนเวียนและส่วนของเจ้าของสูง  ตรงกันข้ามถ้ากิจการตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวดต่ำไปจะทำให้ กำไรสุทธิประจำงวดต่ำในขณะที่การแสดงรายการสินทรัพย์หมุนเวียนและส่วนของเจ้าของต่ำตามไปด้วย

การตีราคาสินค้าคงเหลือในราคาทุน  มี  4  วิธี คือ

1. วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO)  วิธีนี้สมมติว่าราคาสินค้าที่ซื้อมาก่อนจะขายออกไปก่อน  ในขณะราคาสินค้าคงเหลือจะเป็นราคาที่ซื้อเข้ามาทีหลัง
2. วิธีเข้าหลังออกก่อน (LIFO)  วิธีนี้สมมติว่าราคาสินค้าที่ซื้อมาที่หลังจะขายออกไปก่อน  ในขณะที่ราคาสินค้าคงเหลือจะเป็นราคาที่ซื้อมาก่อน
3. วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted average method)  วิธีนี้สมมติว่าราคาสินค้าคงเหลือ คือ ราคาทุนถัวเฉลี่ยของสินค้าที่มีไว้ขายระหว่างงวดบัญชี
4. วิธีต้นทุนด้วยคอมพิวเตอร์ (Computerized perpetual inventory method) วิธีนี้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการบันทึกบัญชีสินค้าโดยการประมวลผลเพื่อแสดงข้อมูลสินค้าคงเหลือและต้นทุนสินค้าขายได้รวบเร็วและเป็นปัจจุบัน

การตีราคาสินค้าคงเหลือตามราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับที่ต่ำกว่า  วิธีนี้สมมติว่าถ้ามูลค่าสุทธิที่จะได้รับต่ำกว่าราคาทุนให้ใช้มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ  ซึ่งเป็นการยอมรับผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากราคาลดลงเนื่องจากสินค้านั้นล้าสมัยหรือมีตำหนิ  แต่ถ้าราคาทุนต่ำกว่าก็ให้ใช้ราคาทุนโดยถือว่าไม่มีกำไร เกิดขึ้น

การตีราคาสินค้าคงเหลือโดยประมาณ  วิธีนี้จะใช้ในกรณีไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับราคาทุนที่จะนำมาใช้ในการคำนวณสินค้าคงเหลือได้  เช่น  กรณีสินค้าถูกไฟไหม้ เป็นต้น

 

สรุปบทที่ 6  ที่ดิน  อาคาร  และอุปกรณ์

สินทรัพย์ถาวร หมายถึง สินทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 1 ปี  ซึ่งกิจการจัดหามาเพื่อใช้ในการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการมิได้มีไว้เพื่อจำหน่าย   สินทรัพย์ถาวรแบ่งเป็นสินทรัพย์ถาวรที่มีตัวตน เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์  และสินทรัพย์ถาวรที่ไม่มีตัวตน  เช่น สิทธิบัตร สัมปทาน เครื่องหมายการค้า ค่าความนิยม เป็นต้น

ราคาทุนของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์  คือ  ประกอบด้วยราคาซื้อที่หักส่วนลดแล้ว และรวมต้นทุนทางตรงอื่นๆ  ที่ทำให้สินทรัพย์นั้นอยู่ในสภาพร้อมที่จะใช้งานตามวัตถุประสงค์  สำหรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังที่ได้สินทรัพย์มาใช้งานทำให้กิจการได้รับผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มขึ้นนั้น  การบันทึกรายการให้บันทึกเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์นั้น

การวัดมูลค่า การวัดมูลค่าเริ่มแรกให้แสดงในราคาทุน สำหรับการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้มูลค่าเริ่มแรกให้รับรู้ด้วยราคาทุนหักค่าเสื่อมราคาสะสมและค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์  สำหรับทางเลือกปฏิบัติอาจแสดงด้วยราคาที่ตีใหม่  ราคาที่ตีใหม่  หมายถึง มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่มีการตีราคาใหม่หักด้วย ค่าเสื่อมราคาสะสมที่คำนวณจากมูลค่ายุติธรรมนั้นและค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์

ค่าเสื่อมราคา  คือ การปันส่วนมูลค่าเสื่อมสภาพของสินทรัพย์อย่างมีระบบตลอดอายุการใช้งาน  ปัจจัยในการคิดค่าเสื่อมราคาประกอบด้วย  ราคาทุน  ราคาซาก(ถ้ามี)  และอายุการใช้งาน  ค่าเสื่อมราคาสามารถบันทึกบัญชีได้โดย เดบิตบัญชีค่าเสื่อมราคา  และเครดิตบัญชีค่าเสื่อมราคาสะสม  สำหรับวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาที่นิยม  แยกได้เป็น 3 วิธี  คือ (1) วิธีคิดค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง  (2)  วิธีคิดค่าเสื่อมราคาตามจำนวนผลผลิตหรือชั่วโมงการทำงาน  และ (3) วิธีคิดค่าเสื่อมราคาในอัตราลดลง  ซึ่งแยกย่อยได้ 3 วิธี  คือ  วิธีผลรวมจำนวนปี  วิธียอดลดลงทวีคูณ  และวิธีอัตราคงที่ของราคาตามบัญชีที่ลดลง

การจำหน่ายสินทรัพย์ หมายถึง การเลิกใช้  การขาย และการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์  ซึ่งการจำหน่ายสินทรัพย์มีขั้นตอนดังนี้

1. คำนวณค่าเสื่อมราคาตั้งแต่วันต้นงวดบัญชีของปี     ที่มีการจำหน่ายสินทรัพย์จนถึงวันจำหน่ายพร้อมทั้งบันทึกบัญชี
2. โอนปิดบัญชีค่าเสื่อมสะสมของสินทรัพย์      ที่จำหน่ายตั้งแต่วันที่เริ่มใช้งาน  จนถึงวันจำหน่าย
3.  บันทึกการจำหน่ายสินทรัพย์   พร้อมบันทึกรายการกำไรหรือขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์ จากการเปรียบเทียบระหว่างราคาสุทธิตามบัญชีกับราคาจำหน่ายสินทรัพย์ถาวร หรือมูลค่ายุติธรรม

   สำหรับการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ที่มีลักษณะไม่คล้ายคลึงกัน ให้บันทึกราคาทุนของสินทรัพย์ที่ได้มาด้วย มูลค่ายุติธรรม ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่นำไปแลกปรับปรุงด้วยเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด ที่กิจการจะต้องโอนหรือรับโอนอันเนื่องมาจากการแลกเปลี่ยนจะมีรายการกำไรหรือขาดทุนเกิดขึ้น

   สำหรับการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายคลึง  การบันทึกราคาทุนของสินทรัพย์ใหม่ให้ใช้ราคาตามบัญชีที่ปรับปรุงการด้อยค่าของสินทรัพย์แล้ว(ถ้ามี)  ดังนั้น จึงไม่มีรายการกำไรหรือขาดทุนเกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยน

 

สรุปบทที่ 7  ทรัพยากรธรรมชาติและสินทรัพย์ไม่มีตัวตน

ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง  ทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจัดเป็นสินทรัพย์ถาวรที่มีตัวตนประเภทหนึ่ง ตัวอย่างเช่น  ป่าไม้  เหมืองแร่ ถ่านหิน น้ำมัน เป็นต้น  แต่มีลักษณะเป็นสินทรัพย์ สิ้นเปลือง เนื่องจากถ้านำมาใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแล้วจะทำให้สินทรัพย์นั้นลดปริมาณลงหรือหมดไป ต้นทุนของทรัพยากรธรรม ชาติ เช่น ค่าทุนที่ซื้อ และรวมค่าใช้จ่ายที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาตินั้น อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ เช่น ค่าสัมปทาน  ค่าสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ  ค่าปรับปรุงพื้นที่  เป็นต้น  ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้ทรัพยากรนั้นสามารถใช้ได้ตามวัตถุประสงค์

แต่ละปีที่กิจการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีปริมาณ ลดลง  ดังนั้น กิจการจะต้องปันส่วนต้นทุนของทรัพยากรธรรมชาติเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละงวด เรียกว่า การตัดค่าสูญสิ้น   โดยทั่วไปการคำนวณมูลค่าสูญสิ้นจะใช้วิธีตามหน่วยผลผลิตดังนี้

      • ค่าสูญสิ้นต่อหน่วย  =  (ราคาทุน ราคาซาก) ÷  จำนวนผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับทั้งหมด
      • ค่าสูญสิ้นสำหรับงวด  =  ค่าสูญสิ้นต่อหน่วย X ปริมาณที่ได้รับจริงในแต่ละงวดสำหรับการบันทึกบัญชี  โดย เดบิตค่าสูญสิ้น  และเครดิตค่าสูญสิ้นสะสม

สินทรัพย์ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้และไม่มีรูปธรรม จับต้องไม่ได้แต่ให้ประโยชน์เกินกว่า 1 ปี   เป็นสินทรัพย์ที่กิจการมีไว้เพื่อใช้ในการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ  เพื่อให้ผู้อื่นเช่า  หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารงาน  เช่น สิทธิบัตร  ลิขสิทธิ์  เครื่องหมายการค้า  ค่าความนิยม  สิทธิการเช่า  รายจ่ายรอการตัดบัญชี เป็นต้น  ต้นทุนของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนประกอบด้วยราคาที่จ่ายซื้อ  รวมถึงค่าใช้จ่ายโดยตรงที่จะทำให้สินทรัพย์นั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานได้  สินทรัพย์ไม่มีตัวตนแบ่งได้เป็น  2  ประเภท  คือ

1. สินทรัพย์ไม่มีตัวตนมีอายุการใช้งานจำกัด    อายุการใช้งานถูกกำหนดโดยสภาพของสินทรัพย์  ข้อตกลง  ข้อบังคับ  หรือข้อกฎหมาย  เช่น  สิทธิบัตร  สัมปทาน  เป็นต้น  สินทรัพย์ประเภทนี้จะต้องตัดจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่ายประจำปีที่ได้รับผลประโยชน์  โดยคำนวณจากอายุการใช้งานหรือระยะเวลาที่กำหนด  และบันทึกบัญชี  โดยเดบิตค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตน  และเครดิตสินทรัพย์ไม่มีตัวตน

2.  สินทรัพย์ไม่มีตัวตนมีอายุการใช้งานไม่จำกัด เช่น เครื่องหมายการค้า ค่าความนิยมเป็นต้น สินทรัพย์เหล่านี้ไม่ต้องตัดจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่าย เว้นแต่ถ้าปรากฏในภายหลังว่าประโยชน์ที่จะได้รับเกิดการเปลี่ยนแปลงลดลง  ก็ให้ตัดจำหน่ายให้หมดไปภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

สรุปบทที่ 8  หนี้สินหมุนเวียนและหนี้สินระยะยาว

หนี้สิน หมายถึง  ภาระผูกพันในปัจจุบันของกิจการอันเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีตที่จะ

ทำให้กิจการจะต้องเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อปลดเปลื้องภาระผูกพันนั้นโดยจ่ายเงินสด  โอนสินทรัพย์ให้บริการ ก่อหนี้ทดแทน และการแปลงสภาพหนี้เป็นทุน  หนี้สินอาจสามารถจำแนกได้  2  ประเภท  ดังนี้

1. หนี้สินหมุนเวียน  หมายถึง  ภาระผูกพันที่กิจการจะต้องจ่ายชำระคืนภายใน 1 ปี  นับจากวันที่งบแสดงฐานะการเงิน  หรือภายในรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามปกติของกิจการและรวมถึงส่วนของภาระผูกพันระยะยาวที่คาดว่าจะต้องชำระภายใน 1 ปี  นับจากวันที่ในงบแสดงฐานะการเงิน  มูลค่าของหนี้สินหมุนเวียนจะบันทึกบัญชีด้วยจำนวนเงินสดหรือต้นทุนของสินค้าหรือบริการที่ได้รับโดยไม่คำนึงถึงมูลค่าปัจจุบัน  นอกจากนี้  หนี้สินหมุนเวียนอาจจำแนกตามลักษณะความแน่นอนของหนี้สินได้  3  ประเภท  ดังนี้

1.1  หนี้สินหมุนเวียนที่แน่นอน  หมายถึง  หนี้สินที่เกิดขึ้นแล้ว  สามารถกำหนดมูลค่าที่เป็นหนี้และวันครบกำหนดชำระได้ถูกต้องแน่นอน  ตัวอย่างเช่น  เงินเบิกเกินบัญชี  เจ้าหนี้การค้า ตั๋วเงินจ่าย  ส่วนของหนี้สินระยะยาวมี่ครบกำหนดชำระในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไป  ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย  รายได้รับล่วงหน้า  เป็นต้น

1.2  หนี้สินหมุนเวียนโดยประมาณ  หมายถึง  หนี้สินที่เกิดขึ้นแน่นอนแต่ไม่ทราบมูลค่าและกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระอย่างแน่นอน  จำเป็นต้องประมาณมูลค่าที่เกิดขึ้นในงวดบัญชีปัจจุบันอย่างสมเหตุสมผล  ตัวอย่างเช่น  หนี้ค่าสมนาคุณลูกค้า  หนี้ค่าประกันคุณภาพสินค้า  หนี้ค่าบัตรกำนัลหรือบัตรของขวัญ  เป็นต้น

1.3  หนี้สินหมุนเวียนที่อาจเกิดขึ้น  หมายถึง     หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในอดีตแต่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต  ตัวอย่างเช่น  การขายลดตั๋วเงินให้กับธนาคาร  ถ้าผู้ออกตั๋วเงินไม่จ่ายเงินตามตั๋วเงิน  ผู้ขายลดตั๋วเงินจะต้องรับผิดชอบชดใช้เงินให้กับธนาคารแทน  ในกรณีนี้ถือว่ากิจการมีหนี้สินเกิดขึ้น  แต่ถ้าผู้ออกตั๋วเงินได้จ่ายเงินตามตั๋วเงิน  ในกรณีนี้หนี้สินก็ไม่เกิดขึ้น  หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นไม่ต้องรับรู้รายการ  แต่ให้เปิดเผยเป็นหมายเหตุประกอบงบการเงิน

2. หนี้สินไม่หมุนเวียน   หมายถึง  หนี้สินซึ่งมีระยะเวลาการชำระเกินกว่า 1 ปี  นับจากวันที่ในงบแสดงฐานะการเงิน  หรือเกินกว่ารอบระยะเวลาดำเนินงานตามปกติของกิจการ  กิจการจะบันทึกมูลค่าของหนี้สินด้วยมูลค่าปัจจุบัน  พิจารณาแยกได้เป็น  2  ประเภท คือ

2.1  เงินกู้ยืมระยะยาว  หมายถึง  กิจการที่ต้องการเงินทุนระยะยาว อาจขอกู้ยืมเงินระยะยาวจากสถาบันการเงิน  บริษัทในเครือ หรือบริษัทร่วม  หรือขอกู้ยืมจากกรรมการและลูกจ้างของกิจการ

2.2  ตราสารหนี้ : หุ้นกู้ เป็นสัญญาขอกู้ยืมเงินระยะยาวจากประชาชนโดยทั่วไป กิจการที่จะออกหุ้นกู้ได้ในปัจจุบันต้องเป็นบริษัทมหาชนเท่านั้น  หุ้นกู้ราคาจำหน่ายอาจสูงหรือต่ำกว่ามูลค่า  ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดกับดอกเบี้ยหุ้นกู้  ถ้าอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดในวันจำหน่าย  ราคาหุ้นกู้จะสูงกว่ามูลค่าและเพื่อให้ดอกเบี้ยหุ้นกู้เป็นดอกเบี้ยที่แท้จริงจึงปรับบัญชีส่วนเกินหรือส่วนลดมูลค่าหุ้นกู้กับบัญชีดอกเบี้ยจ่าย

การแสดงรายการหนี้สินในงบการเงิน  จะพิจารณาแยกหนี้สินหมุนเวียน  และหนี้สินไม่หมุนเวียน โดยหนี้สินหมุนเวียนจะเรียงตามอายุของหนี้ที่ครบกำหนดชำระก่อนขึ้นก่อน  แต่ถ้าระยะเวลาของหนี้ใกล้เคียงกัน  ให้เรียงตามมูลค่าของหนี้จากมากไปยังน้อย  ส่วนหนี้สินไม่หมุนเวียนมีไม่มากรายการจะมีเงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้

 

สรุปบทที่ 9  ส่วนของเจ้าของกิจการ

รูปแบบของธุรกิจ  มี  3 รูปแบบ  คือ

1. เจ้าของคนเดียว  เป็นกิจการที่บุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของ  การจัดตั้งทำได้ง่าย  เจ้าของเข้าดำเนินงานเองและต้องรับผิดชอบในหนี้สินของร้านโดยไม่จำกัดจำนวน

 

 

2. ห้างหุ้นส่วน   เป็นกิจการที่มีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป        ร่วมกันเป็นเจ้าของโดยมีสัญญาตกลงรวมทุนกันเป็นหุ้นส่วนประกอบการค้าเพื่อหวังผลกำไร  ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนช่วยกันบริหารงานหรือให้     ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งรับมอบบริหารงานแต่ผู้เดียวก็ได้   ห้างหุ้นส่วนแบ่งเป็น  2 ประเภท   คือ

 

2.1 ห้างหุ้นส่วนสามัญ      ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนรับผิดชอบในหนี้สินร่วมกัน  โดยไม่จำกัดจำนวน  ห้างหุ้นส่วนประเภทนี้จะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้

2.2  ห้างหุ้นส่วนจำกัด  เป็นกิจการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประกอบด้วยผู้เป็นหุ้นส่วน  2  ประเภทคือ (1) หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบ  คือ  หุ้นส่วนที่รับผิดชอบในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับว่าจะลงทุนในห้างหุ้นส่วน (2)  หุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดชอบ  คือ  หุ้นส่วนที่รับผิดชอบในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน  หุ้นส่วนประเภทนี้มีสิทธิเป็นผู้บริหาร

3. บริษัทจำกัด   คือ  กิจการที่จัดตั้งขึ้นในรูปของนิติบุคคล   ด้วยการแบ่งทุนออกเป็นหุ้น  แต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กัน  ผู้ที่ลงทุนซื้อหุ้นของกิจการเรียกว่าผู้ถือหุ้น  ผู้ถือหุ้นทุกคนต่างรับผิดชอบจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบตามมูลค่าหุ้นที่ตนถืออยู่  ผู้ถือหุ้นแต่ละคนคือเจ้าของกิจการส่วนหนึ่งในจำนวนที่แน่นอนและได้รับส่วนแบ่งกำไรในรูปของเงินปันผล

ส่วนของเจ้าของ  หมายถึง  ส่วนได้เสียคงเหลือในสินทรัพย์สุทธิทั้งสิ้นของกิจการ   ส่วนประกอบในส่วนของเจ้าของพิจารณาแยกตามประเภทของธุรกิจได้ดังนี้

    • กิจการเจ้าของคนเดียว   ส่วนของเจ้าของประกอบด้วยบัญชีทุน   ใช้บันทึกการเปลี่ยนแปลงเงินทุน  และบัญชีเงินถอน   สำหรับบันทึกการถอนเงินหรือสินทรัพย์ไปใช้ส่วนตัว
    • กิจการห้างหุ้นส่วน  กิจการที่ใช้วิธีทุนคงที่  ส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบด้วยบัญชีทุน ใช้บันทึกการลงทุน  ถอนทุน  เพิ่มทุน  ของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน  บัญชีกระแสทุนหรือบัญชีเดินสะพัด  ใช้บันทึกสิทธิส่วนได้เสียของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน  เช่น  เงินเดือน  ดอกเบี้ยเงินทุน  ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม  โบนัส  และผลตอบแทนการลงทุน   สำหรับกิจการที่ใช้วิธีทุนเปลี่ยนแปลง  มีบัญชีทุนและบัญชีเงินถอน  ใช้บันทึกเช่นเดียวกับกิจการเจ้าของคนเดียว  แต่แยกบัญชีเป็นของหุ้นส่วนแต่ละคน
    • กิจการบริษัทจำกัด ส่วนของผู้ถือหุ้นประกอบด้วย  ทุนเรือนหุ้น  อาจประกอบไปด้วยหุ้นสามัญ  หรือหุ้นบุริมสิทธิที่จดทะเบียนและออกจำหน่ายแล้ว  ส่วนเกินมูลค่าหุ้นหรือส่วนลดมูลค่าหุ้น  จะแสดงถึงจำนวนเงินที่ขายสูงหรือต่ำกว่ามูลค่าของหุ้นทุน  และกำไรสะสม  จะบันทึกผลกำไรหรือขาดทุนจากการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงานจนถึงปัจจุบันและนำมาพิจารณาจัดสรรเป็นเงินสำรองต่างๆ  เช่น สำรองตามกฎหมาย  สำรองเพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้  สำรองเพื่อขยายกิจการ  รวมถึงนำมาจัดสรรเงินปันผลและเงินโบนัส

 

สรุปบทที่ 10  การบัญชีกิจการผลิตสินค้า กิจการการผลิต  คือ กิจการที่ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย  รายได้จากการดำเนินงานก็คือรายได้จากการ

ขายสินค้าที่ผลิตได้  ส่วนต้นทุนขายจะประกอบด้วยต้นทุนการผลิต  ต้นทุนการผลิต (Cost of goods Manufactured)  จะประกอบด้วยส่วนต่างๆ  ดังนี้ 1. วัตถุดิบทางตรง (Direct Material)  หมายถึง วัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของสินค้า  สามารถคิดเข้าเป็นต้นทุนของสินค้าที่ผลิตได้ง่าย 2.  ค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor)  หมายถึง  ค่าแรงงานที่จ่ายให้กับผู้ที่ทำการแปรสภาพวัตถุดิบให้เป็นสินค้าโดยตรง  ซึ่งสามารถคิดเข้าเป็นต้นทุนของสินค้าที่ผลิตได้ง่าย 3.  ค่าใช้จ่ายในการผลิต (Manufacturing Overhead)  หมายถึง  ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าที่เกิดขึ้นในโรงงาน  ซึ่งประกอบด้วยรายการ 3 กลุ่ม  คือ  วัตถุดิบทางอ้อมหรือ วัสดุโรงงาน (Indirect Material or Factory Supplies)  ค่าแรงงานทางอ้อม(Indirect Labor)  และค่าใช้จ่ายการผลิตในโรงงาน(Manufacturing Overhead Factory) สินค้าคงเหลือ (Inventory)   สำหรับสินค้าคงเหลือของกิจการการผลิตสินค้า  จะประกอบด้วย

   1. วัตถุดิบทางตรง (Direct Materials)  ก็คือ  วัตถุดิบที่กิจการจัดหามาเพื่อผลิตสินค้าที่ป้อนเข้ากระบวนการผลิตแล้ว  แต่ยังคงเหลืออยู่สามารถนำไปใช้ในการผลิตงวดต่อไป 2.  วัตถุดิบทางอ้อม หรือ วัสดุโรงงาน (Indirect Material or Factory Supplies) คือ สิ่งของที่กิจการจัดมาสนับสนุนการผลิตให้สมบูรณ์ขึ้น  ซึ่งยังใช้ไม่หมด 3.  สินค้าระหว่างผลิต (Work in Process)  หรืองานระหว่างทำ  คือ สินค้าที่ผ่านกระบวนการผลิตแล้วแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ไม่สมารถนำออกจำหน่ายได้  จำเป็นต้องดำเนินการผลิตต่อให้เสร็จต่อไป 4.  สินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) คือ  สินค้าที่ผลิตเสร็จสมบูรณ์แล้ว  พร้อมที่จะนำออกจำหน่ายได้  แต่ในงวดบัญชีนี้ยังนำออกจำหน่ายได้ไม่หมด            หลักการบัญชีสำหรับกิจการการผลิต  สามารถบันทึกบัญชีได้  2  ระบบ  คือ 1.  ระบบทึกบัญชีสินค้าแบบต่อเนื่อง (Perpetual Inventory Method)  วิธีนี้จะมีบัญชีคุมวัตถุดิบ  บัญชีคุมงานระหว่างทำ  บัญชีคุมสินค้าสำเร็จรูป  บัญชีต้นทุนขาย  ใช้บันทึกแสดงการเคลื่อนไหวของวัตถุดิบ  งานระหว่างทำ  สินค้าสำเร็จรูป  และต้นทุนขาย

   2.  ระบบบัญชีสินค้าแบบสิ้นงวด (Periodic Inventory Method)  วิธีนี้ในวันสิ้นงวดจะทำการตรวจนับวัตถุดิบ  งานระหว่างทำ  สินค้าสำเร็จรูป  เพื่อคำนวณต้นทุนสินค้าที่ผลิต  และต้นทุนขาย

ข้อแตกต่างระหว่างกิจการซื้อสินค้าสำเร็จรูปมาขายกับกิจการการผลิต

กิจการซื้อสินค้าสำเร็จรูปมาขาย

กิจการการผลิต

1.  ซื้อสินค้าสำเร็จรูปจากผู้ผลิตหรือพ่อค้าขาย ส่งมาขาย

1.  ผลิตสินค้าโดยการซื้อวัตถุดิบมาแปรสภาพ เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อขาย

2.  ต้นทุนขาย คือ สินค้าสำเร็จรูปที่ซื้อมา

2.  ต้นทุนขาย  ประกอบด้วย  วัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรง  ค่าใช้จ่ายในการผลิต

3.   สินค้าคงเหลือ  คือ สินค้าสำเร็จรูปที่ซื้อมา

3. สินค้าคงเหลือ  ประกอบด้วย  วัตถุดิบ  งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตเสร็จ

………………………………………………………………………………………………………………………………………………….

พิมพ์ที่ บริษัท สหธรรมิก จำกัด

๕๔๑๖๗-๖๘, ๗๑-๗๒  ซอย จรัญสนิทวงศ์ ๑๒  ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงท่าพระ  เขตบางกอกใหญ่  กรุงเทพฯ 10600สนใจติดต่อ  โทร. 080-9501234